วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตำนานๆ 009002 : เศรษฐกิจพอเพียงจริงๆหรือ

ฟังเสียง : http://www.mediafire.com/?a47avd0ol57276j     

http://www.4shared.com/mp3/SXi4tc8n/_009002.html

.............

ตำนานๆ 009002 : เศรษฐกิจพอเพียงจริงๆหรือ

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 และทรงตรัสอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัฒน์และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมอุดมการณ์นิยมกษัตริย์ในสังคมไทย โดยมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ขนานใหญ่ทั่วประเทศ มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และบรรจุลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) รวมทั้งได้มีการบัญญัติให้เป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญ 2550

เนื้อหาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดนำเสนอนั้นเป็นแค่ข้ออ้างที่ล้าสมัยร่วมร้อยปีแล้วสำหรับประเทศไทย ที่จะถอนตัวออกจากเศรษฐกิจโลก เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว การค้าขายและการลงทุนจากต่างประเทศก็เป็นหัวใจสำคัญของเเผนพัฒนาเศรษฐกิจปี 2502 ที่วังเคยอ้างเองว่าเป็นผลจากพระราชดำริของในหลวงและได้เป็นตัวสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยนับแต่นั้นมา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่ปรากฎเป็นทฤษฎีหรืออยู่ในตำราทางเศรษฐศาสตร์ใดมาก่อน และถูกนำมาตีความหรือขยายความตามความต้องการของนักการเมืองและกลุ่มนักวิชาการบางกลุ่มที่ต้องการเอาใจพระเจ้าอยู่หัวมากกว่ามีความศรัทธาต่อหลักการเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ รวมไปถึงการนำมาใช้โจมตีฝ่ายตรงข้ามหรือทุนนิยมสมัยใหม่

คำว่า พอเพียงตามความหมายเดิมแบบศักดินา หรือสมัยที่มีศักดินาปกครองบ่าวไพร่ กำหนดฐานะคนตามยศฐาบรรดาศักดิ์และตามจำนวนการถือครองที่ดินและการควบคุมทาส-ไพร่ โดยที่ความมั่งคั่งของกษัตริย์และขุนนางมาจากการบังคับเกณฑ์แรงงานและการเก็บส่วย ทำให้พวกทาส-ไพร่หลบหนีการเกณฑ์แรงงานและก่อกบถ ดังนั้นพวกเจ้าจึงต้องยอมให้ทาสและไพร่มีเวลาทำมาหากินเลี้ยงตนเองพอที่จะมีชีวิตอยู่ได้ในระดับต่ำของสังคมแบบเกษตรกรรม ที่เรียกว่าแบบยังชีพ ในขณะที่พวกกษัตริย์และขุนนาง มีชีวิตที่หรูหรา ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ เกินความพอดี ไม่ต้องประมาณตนเอง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสมัยศักดินาจึงหมายถึง ความพอเพียงในระดับของความเป็นทาสไพร่ ที่ยังคงทุกข์ยากแสนสาหัส

หลังการทำสนธิสัญญาบาวริ่ง (Sir John Bowring) สมัยรัชกาลที่ 4 เศรษฐกิจแบบเลี้ยงตนเองจึงเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด เป็นการผลิตสินค้า นำมาแลกเป็นเงินแล้วไปซื้อสินค้าที่ตนเองผลิตไม่ได้ มีเครื่องจักรทำการผลิต แรงกดดันจากการล่าเมืองขึ้นของทุนนิยมทำให้ต้องยอมรับกรรมสิทธิ์เอกชน มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานรับจ้างมากขึ้น จึงต้องยกเลิกระบบทาสไพร่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ขุนนาง และ ชาวจีนที่เคยเก็บภาษีให้กษัตริย์ ได้หันมาทำธุรกิจการผลิตการค้า เศรษฐกิจไทยกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมโลก มีการพัฒนาจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่สังคมอุตสาหกรรมและก้าวสู่สังคมเทคโนโลยีข่าวสาร หรือโลกยุคไร้พรมแดน บรรษัทข้ามชาติเคลื่อนย้ายการลงทุนไปทุกหนแห่ง เข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยี มีระดับการบริโภคที่สูงขึ้น ด้วยมาตรฐานชีวิตแบบใหม่

แต่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ได้ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น ในปี 2540 อันเป็นผลมาจากการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์และที่ดิน การผลิตล้นเกินในอสังหาริมทรัพย์ การเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน และดอกเบี้ยธนาคาร ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำ มีการเลิกจ้างแรงงานและอัตราการว่างงานสูงขึ้น อำนาจซื้อและการบริโภคต่ำ ในที่สุดจึงมีการเสนอในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้หันกลับไปสู่วิถีการผลิตในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นเพียงการปัดภาระความรับผิดชอบของรัฐบาลและพวกนักเก็งกำไรให้มาเป็นความผิดของประชาชนโดยปกปิดพวกทุจริตโกงกินหรือพวกอาชญากรทางเศรษฐกิจที่เป็นต้นเหตุของเศรษฐกิจตกต่ำที่แท้จริง โดยที่แนวความคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่สามารถนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นมาได้เนื่องจาก

1.เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกิน และต้องเช่าที่ดินทำกิน ทั้งมีหนี้สินล้นพ้นตัวอยู่แล้ว ไม่มีเงินลงทุนพัฒนาที่ดินเพื่อการผลิตแบบพอเพียง จากการวิจัยพบว่าครอบครัวหนึ่งต้องใช้เงินประมาณ 6 ล้านบาทบนพื้นที่ 15 ไร่ ในการขุดบ่อน้ำ เตรียมดิน พันธุ์พืชและสัตว์ จึงขาดแรงจูงใจในกลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ และเกษตรกรตัวอย่างนั้นก็ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและต้องทำเพื่อเป็นเพียงตัวอย่างของการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ได้สะท้อนชีวิตจริงของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ ในปี 2540 พบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศมีอัตราการถือครองที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ไม่มีเอกสารสิทธิการถือครองที่ดิน กว่า 500,000 ครอบครัวที่เช่าที่ดินทำกิน โดยในปี 2550 เกษตรกรสูญเสียที่ดินทำกินมากกว่าปี 2540

2.ภาวะทางภูมิศาสตร์ในภาคเกษตรกรรมมีความแตกต่างกัน และยังประสบกับปัญหาความผันผวนทางธรรมชาติ การนำทฤษฎีใหม่ไปใช้ในทุกพื้นที่จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง การอนุมัติเงินงบประมาณนับหมื่นนับแสนล้านบาทของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นการโฆษณาที่สิ้นเปลืองสูญเปล่า เป็นแค่การสร้างภาพเอาใจในหลวงเท่านั้น



3. จากตัวเลขประชากรไทย 65.34 ล้านคน เป็นวัยทำงาน 33.8 ล้านคน ภาคเกษตร 14.03 ล้านคน หรือ 42% นอกภาคเกษตร 19.77 ล้านคน หรือ 58% คือ ประชากรส่วนใหญ่ทำงานนอกภาคเกษตรกรรม แรงงานจริงในภาคเกษตรเป็นคนสูงอายุ แรงงานหนุ่มสาวมีจำนวนน้อย ชาวนาแบบพอเพียงต้องทำงานหนักตั้งแต่เตรียมทำคันดิน การไถพรวนแปลงนา ทดน้ำ เตรียมพันธุ์พืช เพาะข้าวกล้า ไถหว่าน ดำนา เตรียมปุ๋ยหมักชีวภาพ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู ปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ฯลฯ ยิ่งไม่ยอมใช้เครื่องจักรทันสมัยแล้ว ยิ่งช้าไม่ทันทำกินแน่


การเสนอหลักเศรษฐกิจพอเพียงกลับหลังหันไปสู่ชีวิตเกษตรกรรมพึ่งตนเอง จึงเป็นเรื่องที่เหลวไหล ไร้สาระ เพราะการดำรงอยู่ของสังคมชนบทภาคเกษตรทุกส่วนหนึ่งมาจากแรงงานหนุ่มสาวอพยพมาทำงานในเมือง และส่งเงินกลับไปจุนเจือครอบครัวในชนบท ซึ่งมีระดับการบริโภคสูงขึ้น มีความจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร และความสะดวกสบายด้านต่างๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ทีวี ตู้เย็น เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และคนไทยสมัยใหม่ได้กลายเป็นมนุษย์พันธุ์ทุนนิยมไปแล้ว แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ทุนนิยมของคนไทยในปัจจุบัน
แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่อาจเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ ไม่สามารถแก้ไขความยากจนในสังคมไทย แต่ได้ปิดบังการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม โยนภาระความยากจนให้กับคนยากจน สร้างแนวความคิดให้คนยากจนยอมจำนนด้วยความเชื่อว่าต้องดำรงชีวิตอย่างพอประมาณเท่านั้นและ ใช้จ่ายบริโภคตามฐานะของตนเอง

แต่ในความเป็นจริงผู้ที่ออกมายัดเยียดแนวความคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นล้วนแล้วแต่เป็นพวกที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ร่ำรวยเป็นคนชั้นสูงในสังคมทั้งสิ้นเช่น คณะรัฐมนตรี 29 คนของรัฐบาลเผด็จการทหารพลเอกสุรยุทธ์ ที่ประกาศขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง มีทรัพย์สินที่แสดงต่อป.ป.ช. หกพันกว่าล้านบาท เฉพาะของ พล.อ.สุรยุทธ์ และพ.อ.คุณหญิง จิตรวดี จุลานนท์ ภริยา มีทรัพย์สินรวมกว่า 90 ล้านบาท โดยมีเครื่องเพชร และเครื่องประดับรวม 14 ล้านบาท มีคฤหัสถ์หลังใหญ่อยู่ในบ้านพักหมู่บ้านเดอะรอยัลกอล์ฟคลับ และครอบครองบ้านพักตากอากาศส่วนตัวที่เขายายเที่ยง นครราชสีมาซึ่งเป็นเขตป่าสงวนสะท้อนให้เห็นลักษณะมือถือสาก ปากถือศีล ของพวกฝักใฝ่เผด็จการทหารที่ยึดนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงแต่ปาก ยิ่งให้สามเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นแกนนำของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ยิ่งเลอะเทอะไปกันใหญ่ เพราะพวกนี้เรียนรู้แต่เรื่องการรบย่อมไม่อาจเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจหรือผลักดันเศรษฐกิจพอเพียง

แม้แต่พระราชวงศ์ก็ไม่ได้หวนกลับสู่ชีวิตที่เรียบง่ายตามพระราชดำรัสเลย และพระเจ้าอยู่หัวเองก็ยังทรงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของประเทศรายหนึ่ง ที่ตกเป็นเหยื่อของการกู้หนี้และเก็งกำไรถึงขั้นต้องล้มละลายเหมือนกัน แต่ก็ทรงรอดมาได้ราวปาฏิหารย์ท่ามกลางความหายนะของประเทศและกลายเป็นภาระของพสกนิกรต่อไป โดยเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 เครือปูนซีเมนต์ต้องเผชิญกับขาดทุนอย่างขนานใหญ่ถึง 52,551 ล้านบาท มีหนี้สินรวมเพิ่มจาก 53,953 ล้านบาท ในปี 2538 เป็น 155,175 ล้านบาท ในปี 2540 ขณะที่สำนักงานทรัพย์สินฯมีกองทุนสำรองแค่ 7พันล้านบาท แต่การเพิ่มทุนตามโครงการ14สิงหาต้องใช้เงินถึง 32,500 ล้านบาท โดยที่ในหลวงไม่ยอมขายหุ้น 37 เปอร์เซ็นต์ในเครือซีเมนต์ไทย แต่กระทรวงการคลังถูกบีบให้อัดฉีดเงินประมาณกว่าสี่หมื่นล้านบาทให้ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งทำให้รัฐบาลเสียเปรียบ
โดย ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้นำที่ดินย่านทุ่งพญาไท ที่ให้หน่วยงานราชการเช่า 484.5 ไร่ มูลค่า16,500 ล้านบาท แลกกับหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ที่กระทรวงการคลังถืออยู่ ทั้งๆที่เป็นธนาคารของเอกชนแต่กระทรวงการคลังก็ยอมและเงินที่กระทรวง การคลังนำมาเพิ่มทุนในธนาคารไทยพาณิชย์ในปี 2542 ก็มาจากการออกพันธบัตรซึ่งมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 4.25 ต่อปี เป็นเวลา 10 ปีจนถึงปี 2552

เครือซิเมนต์ไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่ต้องล้มละลายหรือถูกยึดกิจการ แต่กิจการเอกชนรวมทั้งธนาคารอื่นๆต่างก็โดนเจ้าหนี้ฟ้อง หรือโดนยึดกิจการ เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ของเครือซิเมนต์ไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ คือพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ และมีพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่แก้ไขสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ของนายควง อภัยวงศ์ได้บัญญัติให้ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะโอนหรือจำหน่ายได้โดยได้รับพระบรมราชานุญาตเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีทางที่ใครจะกล้าฟ้องร้อง และก็คงไม่มีศาลใดกล้ายึดทรัพย์สินของพระเจ้าอยู่หัว คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ล้วนประกอบด้วยท่านผู้ยิ่งใหญ่ทั้งนั้นมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยมีผู้อำนวยการหนึ่งคน

ตัวอย่างล่าสุดของคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง
นายเชาวน์ ณ ศีลวันต์ (อดีตรัฐมนตรีคมนาคม,สมาชิกวุฒิสภาและองคมนตรี)
นายสุธี สิงห์เสน่ห์(อดีตรัฐมนตรีการคลัง,สมาชิกวุฒิสภา)
เรืออากาศโทศุลี มหาสันทนะ(อดีตรัฐมนตรีสำนักนายกที่ดูแลเรื่องการพลังงานสมัยรัฐบาลเปรม)
นายพนัส สิมะเสถียร (อดีตอธิบดีกรมสรรพากรและปลัดกระทรวงการคลัง)
นายเสนาะ อูนากูล(อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย,สมาชิกวุฒิสภาและรองนายกรัฐมนตรี)
นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ และ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
และ ม.ร.ว. ยงสวาสดิ์ กฤดากร เป็น รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

นิตยสารฟอร์บของสหรัฐได้จัดอันดับความร่ำรวยของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ทั่วโลก โดยจัดให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงร่ำรวยมั่งคั่งที่สุดในโลก ทรงมีพระราชทรัพย์ราว 3 หมื่น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.4 ล้านล้านบาท สำนักข่าวบลูมเบิร์กที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกการเงินการลงทุนทั่วโลกได้ถวายพระเกียรติให้พระเจ้าอยู่หัวทรงครองตำแหน่งนักลงทุนอันดับ1ในตลาดหุ้นของไทย แค่หุ้น 2 ตัวหลักก็มีมูลค่าเกินกว่าแสนล้านบาทแล้ว คือ
-บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มหาชน (SCC) ทรงถือหุ้น 360 ล้านหุ้น หรือร่วม 6 หมื่นล้านบาท
-ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน(SCB)ทรงถือหุ้นกว่า 723 ล้านหุ้น หรือกว่า 56,000ล้านบาท
เครือซีเมนต์ไทย เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและใหญ่ที่สุดของภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงปี 2530-2540 มีบริษัทร่วมลงทุน มากกว่า 130 บริษัท มีพนักงานกว่า 35,000 คน ธุรกิจในเครือซีเมนต์ไทยได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลเป็นระยะเวลายาวนานทำให้ไม่ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพ ไม่ต้องส่งออกเพราะขายในประเทศได้กำไรดีกว่า คุณภาพของสินค้าและการบริการก็ไม่จำเป็นต้องดีนัก ข้าราชการระดับสูงและรัฐบาลก็สนับสนุนอย่างเต็มที่เสมอมา และก็มีบทบาทสำคัญในสมาคมและสภาหอการค้าไทย

เครือซีเมนต์ไทยขยายตัวขนานใหญ่โดยการกู้หนี้จากต่างประเทศ โดยในปี 2539 มีหนี้สินทั้งสิ้น 137,517 ล้านบาท เป็นหนี้ระยะยาว 63,312.8 ล้านบาท เป็นหนี้สินกู้ยืมจากต่างประเทศถึง 61,523.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.2 ของหนี้ระยะยาวทั้งหมด
ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารแห่งแรกของคนไทยใหญ่เป็นอันดับ 4 มีการขยายการลงทุนที่สำคัญในช่วงปี 2535 –2540 โดยได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ (BIBF) เป็นแห่งแรกของไทย และขยายการเปิดสาขาของธนาคารในต่างประเทศ ในปี 2540ได้กระจายธุรกิจและการลงทุนใน 87 บริษัท เท่ากับ 8,303.3 ล้านบาท โดยปล่อยสินเชื่อจำนวนมหาศาลในช่วงปี 2535 –2540 แต่การปล่อยค่าเงินลอยตัวในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และวิกฤตการณ์เศรษฐกิจทำให้ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทำให้มีภาระหนี้ระหว่างประเทศสูงมาก

การลงทุนทางธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม
และบริการอื่น ๆ
ในปี 2540
สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้เข้าไปถือหุ้นโดยตรงของบริษัทต่างๆ มากกว่า 70 บริษัท ซึ่งครอบคลุมในกิจการต่าง ๆ ที่สำคัญคือปูนซีเมนต์ ธนาคารพาณิชย์ โรงแรม พลังงาน เหมืองแร่ อสังหาริมทรัพย์ ประกันภัย/ประกันชีวิต ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังได้ลงทุนโดยอ้อมในรูปของบริษัทในเครือหรือบริษัทร่วมทุน เกือบ 300 บริษัท และในจำนวนนี้ 43 บริษัท ได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น ร่วมทุนกับกลุ่มโอบายาชิ ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น โดยตั้งกิจการร่วมทุนในนามบริษัท นันทวัน หรือไทยโอบายาชิ
ถือหุ้นร่วมกับ บริษัทเซโรกราฟฟิค ซิสเต็มหรือ ไทยฟูจิ ซีรอคขายเครื่องถ่ายเอกสาร ร่วมลงทุนกับบริษัทไทยโอยาเล็นซ์ สยามคูโบตาดีเซล วาย เค เค ซิปเปอร์ ไว เค เค เทรดดิ้ง
ร่วมลงทุนกับกิจการการผลิตขนาดใหญ่ของภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกรุงไทย ปิโตรเคมีแห่งชาติ(ป.ต.ท.)ไทยออยส์ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทำให้ได้ควบคุมการผลิตที่เป็นปัจจัยการผลิตสำคัญของประเทศที่มีมูลค่านับหลายหมื่นล้านบาทและมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมากเนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของประเทศ

การขยายธุรกิจของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในธุรกิจปิโตรเคมีในช่วง 2530 เนื่องจากธุรกิจปูนซีเมนต์เริ่มผลิตเกินความต้องการภายในประเทศ คู่แข่งคือ ซีเมนต์นครหลวงไทยและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยหรือทีพีไอ เพิ่มการผลิตปูน เครือซีเมนต์ไทยจึงขยายไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี เพราะไทยมีศักยภาพและความพร้อม สามารถสร้างผลกำไรได้เร็ว โดยเข้าไปถือหุ้น ร้อยละ 10 ของบางจากปิโตรเลียม ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของปตท. รวมทั้งร่วมลงทุนกับปตท.อีกหลายแห่ง เช่น การขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อร่วมทุนบริษัท สยามเคมิคัล ในโครงการปิโตรเซนไทยแลนด์ ถือหุ้นในบริษัทไทยพลาสติก และเคมีภัณฑ์ (ทีพีซี) ผู้ผลิต PVC รายแรกและใหญ่ที่สุดของไทย ธุรกิจปิโตรเคมีที่เกี่ยวข้องกับเครือซีเมนต์ไทยมีทั้งหมด 27 บริษัททั้งในเครือและร่วมทุนกับต่างประเทศ

สำนักงานทรัพย์สินฯ ( Crown Property Bureau หรือ CPB) ในฐานะเป็นเจ้าของที่ดินที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ประมาณ 1 ใน 3ของที่ดินในกรุงเทพฯ เป็นของสำนักงานทรัพย์สินฯ มีการนำเอาที่ดินในย่านทำเลทองให้โรงแรมชั้นนำเช่า รวมทั้งโรงแรมที่สำนักงานทรัพย์สินฯเข้าไปถือหุ้น เช่น ดุสิตธานี ราชดำริ รอยัลออคิด บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตัล รีเจนส์ ดอนเมืองอินเตอร์เนชันแนล โอเรียลเต็ล บริเวณถนนวรจักร ถนนพระราม 4 แขวงสีลม ถนนจักรพรรดิพงษ์ ถนนเจริญกรุงแขวงป้อมปราบ ถนนสีลมแขวงสีลม ซอยหลังสวนถนนเพลินจิต ถนนพิษณุโลกแขวงสวนจิตรลดา ซอยต้นสนถนนเพลินจิต ซอยพิพัฒน์ถนนสีลม ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์แขวงบางขุนพรหม ซอยสนามคลีหรือซอยโปโลถนนวิทยุ ถนนสามเสนแขวงวชิระพยาบาล โครงการอาคารซิกโก้(บริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม)ของธนาคารไทยพาณิชย์ โครงการเสริมมิตรเทาเวอร์ โครงการสามยอด โครงการเทพประทาน โครงการตลาดเจริญผล โครงการบางกอกบาซาร์ อาคารสินธรถนนวิทยุ ที่ดินบริเวณโรงเรียนเตรียมทหารเดิมจำนวน 120 ไร่ให้เช่าชั่วคราวเป็นสวนลุมไนท์บาซาร์และพัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ โครงการพัฒนาบริเวณถนนราชดำเนินกลางเพื่อพัฒนาเป็นกิจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
เข้าซื้อกิจการโรงแรมเคมพินสกี้ 23 แห่งในประเทศต่างๆ ลงทุนบริษัทฟิลลิปปินโฮเตลไลเออร์ ที่ฟิลลิปปินส์ ถือหุ้นในดุสิตแปซิฟิค ถือหุ้นบริษัทโรงแรมเมลโรสที่สหรัฐอเมริกา และให้เช่าที่ดินแก่หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ ประชาชนทั่วไป ในย่านที่สำคัญ คือ พญาไท เจริญผล เยาวราช แพร่งสรรพศาสตร์ ถนนพระอาทิตย์ เป็นต้น สำนักงานทรัพย์สินฯ มีที่ดินทั่วประเทศ 40,105 ไร่ 8,835 ไร่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และ 31,270 ไร่ อยู่ต่างจังหวัด และโดยมีหลายพันไร่กระจุกตัวอยู่ในย่านธุรกิจที่สำคัญในกรุงเทพฯ มีจำนวนสัญญาเช่าราว35,000 สัญญา ในกรุงเทพฯ 22,000 ราย ในเขตต่างจังหวัด 13,000 ราย มีชุมชนแออัดที่อยู่ในที่ดิน 73 ชุมชน

ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการสะสมทุน
อย่างขนานใหญ่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ


สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นกลุ่มทุนที่ทรงพลังและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินทรัพย์ในเครือเท่ากับ 34,912 ล้านบาทในปี 2538 และเพิ่มขึ้นเป็น474,759 ล้านบาท ในปี 2540 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 13 เท่า ในเวลา18 ปี หากนับรวมมูลค่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อาจมีสูงถึง 600,000 ล้านบาทในปี 2540 จึงเป็นสถาบันการลงทุนทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของไทยและมีการร่วมมือกับกลุ่มทางธุรกิจชั้นนำโดยการถือหุ้นระหว่างบริษัทและการควบคุมการบริหารใช้การถือหุ้นไขว้กันระหว่างบริษัทในเครือควบคู่กันไปด้วยเสมอ เช่น
-บริษัทปูนซีเมนต์ไทยจำกัด มหาชน มีสำนักงานทรัพย์สินและ ธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้น
-ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชนมีสำนักงานทรัพย์สิน (CPB)ถือหุ้นและปูนซีเมนต์ไทย ถือหุ้น
-เทเวศประกันภัย -เยื่อกระดาษสยาม -ไทยเศรษฐกิจประกันภัย -อ่าวขาวไทย -ทุ่งคาร์ฮาเบอร์
-ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส -เงินทุนหลักทรัพย์บุคคลัภย์ -เงินทุนหลักทรัพย์ธนสยาม
-เงินทุนสินอุตสาหกรรม -ยางสยาม -อะโรเมติกส์
-สยามสินธร -วาย เค เค ซิปเปอร์

เครือซิเมนต์ไทยได้เข้ายึดหรือซื้อหุ้นบริษัทต่างๆและควบคุมการบริหารงานด้วย ในปี 2519 – 2528 ช่วงที่นายสมหมาย ฮุนตระกูล และนายจรัส ชูโต เป็นผู้จัดการใหญ่ ตั้งบริษัทเซรามิค อุตสาหกรรมไทย ซื้อกิจการโรงงานผลิตกระเบื้องโมเสคของบริษัทโรยัล โมเสค เอ็ก
เช่น บริษัทสยามคราฟท์ ผู้ผลิตกระดาษ คราฟท์
ซ์สปอร์ต
สยามบรรจุภัณฑ์ ซึ่งผลิตกระดาษลูกฟูก
บริษัท ยางไฟร์สโตน (ประเทศไทย)
บริษัท แพนซัพพลาย ตัวแทนขาย รถขุด และรถเครน
บริษัทอามิเกจแซงค์ (กรุงเทพฯ) ผู้ผลิตสุขภัณฑ์ หรือ สยาม ซานิตารีแวร์
บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนลแอนยิเนียริ่ง (ไอ อี ซี) ตัวแทนจำหน่าย เครื่องจักรกล สื่อสาร และโทรคมนาคม
บริษัท ธารา ซื้อกิจการผลิตซีเมนต์ใยหิน
บริษัทไทยวนภัณฑ์ซื้อกิจการไม้อัดจากบริษัทศรีมหาราชาและบริษัทไทยทักษิณป่าไม้
บริษัทกระเบื้องทิพย์ ซื้อกิจการผลิตกระเบื้องมุงหลังคา
บริษัท กระดาษสหไทย โรงงานผลิตกระดาษพิมพ์เขียน
บริษัท เอส พี แบตเตอรี หรือสยามฟูรูกาวา
บริษัทไทยอินดัสเตรียลฟอร์จจิงส์ผลิตอะไหล่มอเตอร์ไซต์ ฯลฯ

การถือหุ้นไขว้ทำให้ สำนักงานทรัพย์สินฯ สามารถควบคุมการบริหารของบริษัทเหล่านั้นไว้ได้ โดยเฉพาะบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนมาก หรือเป็นรูปมหาชน การถือหุ้นเพียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 หรือในบางทีเพียง 1 ใน 10 ก็คุมการบริหารได้ เพราะผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมตัวกันไม่ติดและมักจะไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ถือหุ้น ที่ต้องคุมการบริหารเพราะต้องการรักษาผลกำไรในระดับสูง การกระจายหุ้นยังช่วยลดภาษีเงินได้และการหักค่าใช้จ่าย รวมถึงการถ่ายเทกำไรระหว่างบริษัทในเครือและทำให้เสียภาษีน้อยลง คณะกรรมการที่มาจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้กระจายไปคุมบริษัทในเครือแทบทุกแห่ง
รวมทั้งได้กระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจและ ตระกูล ต่าง ๆ เช่น ธนาคารกสิกรไทยของ ล่ำซำ
ธนาคารเอเซียของเอื้อชูเกียรติ/ภัทรประสิทธิ์
ธนาคารนครหลวงไทย ของมหาดำรงกุล/กาญจนพาสน์
อิตัลไทย ของกรรณสูต
บุญรอดบริวเวอรี ของภิรมย์ภักดี
แลนด์แอนด์เฮ้าส์ของ อัศวโภคิน
ศุภาลัย ของ ตั้งมติธรรม
สยามซินเทคคอนสตรัคชันของ ลีสวัสดิ์ตระกูล
ชินวัตรแซทเทลไลท์ของ ชินวัตร
ทางด่วนกรุงเทพฯ ของวิศวเวทย์
สามัคคีประกันภัย ของ สารสิน ฯลฯ

การเกาะกลุ่มกันทางธุรกิจโดยการเป็นกรรมการร่วมกันทำให้ไม่ค่อยมีการการแข่งขันกัน เพราะแต่ละฝ่ายย่อมพยายามที่จะรักษาส่วนแบ่งหรือผลประโยชน์ทางธุรกิจให้มากที่สุดโดยร่วมมือกัน
โดยกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับสำนักงานทรัพย์สินฯ มานับหลายสิบปีและเติบโตมาภายใต้โครงสร้างและความคุ้มครองทางกฎหมายจากนโยบายรัฐบาล รวมทั้งกลุ่มทุนใหม่ๆเช่น อัศวโภคิน ชาญวีรกูลและชินวัตร ซึ่งธได้สิทธิประโยชน์จากการคุ้มครองของรัฐเช่นเดียวกัน กลุ่มทุนทางธุรกิจได้พยายามอาศัยความร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ธุรกิจของตน เพราะการที่มีบุคคลจากสำนักงานทรัพย์สินฯ หรือในเครือ เข้าไปเป็นกรรมการของบริษัทจะทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทดีขึ้นที่สำคัญคือ มีอำนาจในทางการเมืองและการบริหารประเทศคอยสนับสนุนและคุ้มครอง

ลักษณะพิเศษของการบริหารงาน
ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์


พ.ร.บ.จัดระเบียบฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2491 ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้รับการยกเว้นการเสียภาษี และเป็นองค์กรเหนือการตรวจสอบจากสาธารณะ ให้อำนาจพระมหากษัตริย์แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ได้ตามอัธยาศัย โดยไม่มีผู้ใดถอดถอนได้ ผู้อำนวยการของสำนักงานทรัพย์สินฯ ยังดำรงตำแหน่งรองราชเลขาธิการอีกด้วย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีสถานภาพและบทบาทที่คลุมเคลือ คณะกรรมการกฤษฎีกาในปี 2544 ได้ตีความว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่ใช่หน่วยราชการ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่เป็น หน่วยงานของรัฐ หากพิจารณาในทางปฏิบัติน่าจะมีฐานะเป็น หน่วยงานหรือ กองทุน เพื่อการลงทุนของสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่าเพราะมี เป้าหมายทางธุรกิจที่มุ่งเน้นผลตอบแทนสูงสุด เช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจโดยทั่วไป

ในหลวงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้อำนวยการทรัพย์สินฯตาม พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฯ 2491 ดังต่อไปนี้
1.พลตรีหม่อมทวีวงศ์ ถวัลย์ศักดิ์ 18 กุมภาพันธ์ 2491 – 27 ตุลาคม 2513 (ถึงแก่อนิจกรรม)
2. นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ 8 ธันวาคม 2513 – 27 กรกฎาคม 2530
3. นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา 28 กรกฎาคม 2530 - ปัจจุบัน
การบริหารและจัดการของสำนักงานทรัพย์สินฯในช่วงระยะเวลา 60 ปี มีผู้อำนวยการทรัพย์สินฯ เพียง 3 ท่านและมีดำรงตำแหน่งนานคือเป็นข้าราชบริพารที่รับใช้ราชสำนักที่ยาวนานและต่อเนื่อง โดยที่ผู้อำนวยการคนแรกได้ทำงานจนถึงแก่อนิจกรรม ส่วนคนที่สองคือนายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ได้เกษียณอายุการทำงานเมื่ออายุ 65 ปี เนื่องจากปัญหาทางด้านสุขภาพ ส่วนผู้อำนวยการคนปัจจุบันคือ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ก็ดำรงตำแหน่งมาแล้วมากกว่า 20 ปี
ซึ่งเป็นแบบเดียวกับการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของบริษัทหรือธุรกิจดั้งเดิมของสำนักงานทรัพย์สินฯ
ซึ่งผู้บริหารระดับสูงจะดำรงตำแหน่งยาวนานจนเกษียณ ผู้อำนวยการของสำนักงานทรัพย์สินฯเป็นผู้ใกล้ชิดกันกับราชสำนักทั้งสิ้น นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ (Poonperm Krairiksh) สืบเชื้อสายมาจากพระยาโกษา (ต้นตระกูลไกรฤกษ์) และพระยาโชดึกราชเศรษฐี ส่วนบิดาคือ พระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์)เคยรับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 5 และเป็นรองอธิบดีกรมมหาดเล็ก นายพูนเพิ่มเข้ารับราชการในสำนักพระราชวังตำแหน่งหัวหน้ากองมหาดเล็ก ได้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินถึง 17 ปี และเป็นเลขาธิการสำนักพระราชวัง 9 ปี ส่วน ดร.จิรายุ บิดาคือนายจรูญพันธ์เป็นองคมนตรีทำงานใกล้ชิดในหลวงมาโดยตลอด

พระเจ้าอยู่หัว มักจะทรงแต่งตั้งให้ผู้อำนวยการทรัพย์สินฯ ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญเพื่อรับใช้พระองค์อย่างใกล้ชิด เช่น นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เป็นเลขาธิการสำนักพระราชวัง ส่วน ดร.จิรายุ เป็นรองราชเลขาธิการสำนักพระราชวัง ซึ่งล้วนทำงานใกล้ชิดกับราชสำนักและเป็นตำแหน่งข้าราชการระดับสูง การควบทั้ง 2 ตำแหน่ง มีผลให้ตำแหน่งหน้าที่การงานของผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯเป็น ข้าราชบริพาร และ ข้าราชการ รับใช้ราชสำนักโดยตรง ทรงแต่งตั้งกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่า 4 คน จากผู้ที่ประสพความสำเร็จในตำแหน่งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของประเทศ ทำให้ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากภาคธุรกิจเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ ที่มักสนใจร่วมลงทุนด้วย หรือพยายามดึงกรรมการของสำนักงานทรัพย์สินฯ เข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารของตน
อำนาจสูงสุดในการบริหารสำนักงานทรัพย์สินฯ ยังอยู่ที่พระมหากษัตริย์ เช่น การให้เช่าที่ทรัพย์สินฯ เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการ แต่การขายที่ทรัพย์สินฯ ก็ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ขณะที่กฎหมายไทยให้ความุค้มครองพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐเหนือบุคคลทั่วไป ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 ได้มีบทบัญญัติเรื่องการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ 2491 ก็มีบทบัญญัติคุ้มครองทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อไม่ให้ตกไปสู่บุคคลอื่น หากสำนักงานทรัพย์สินฯ ถูกฟ้องดำเนินคดีและแพ้คดี เจ้าหนี้จะไม่สามารถบังคับคดีโดยยึดที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ หากไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โอนก็โอนไม่ได้ ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วเท่านั้น และมีกฎหมายให้ความคุ้มครองสถานะของพระมหากษัตริย์ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะและเป็นประมุขของชาติ การดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบสำนักงานทรัพย์สินฯ จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตและไม่พึงดำเนินการสอบสวนให้เป็นที่กระทบกระเทือนต่อพระราชอำนาจ ทำให้พระเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่ตลอดมาและตลอดไป โดยเฉพาะในย่านธุรกิจของกรุงเทพฯนั้นได้กลายเป็นสินทรัพย์มูลค่ามหาศาล เช่นในปี 2544 วังได้ใช้ที่ดินบริเวณสวนมิสกวัน และบริเวณคุรุสภา จำนวน 14,100 ตารางวา ซึ่งมีมูลค่า 1,198.5ล้านบาท ไปแลกกับหุ้นของกระทรวงการคลังในบริษัทการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จำนวน กว่า 34 ล้านหุ้น (ที่ราคาหุ้นละ 35 บาท) โดยต้นปี 2547 ราคาหุ้นของ ปตท. มีราคาเพิ่มขึ้นมาถึง 5 เท่าตัว มายืนอยู่ที่ราคา 140 – 170 บาท ทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ มีกำไรจากการเพิ่มมูลค่าหุ้นปตท. มากกว่า 5,000 ล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีกฎหมายบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งกระจายหุ้น ตามพ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 เพื่อลดแรงกดดันจากสาธารณะเรื่องธนาคารเป็นธุรกิจของครอบครัว หรือทำให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ โดยกฎหมายบังคับให้ธนาคารพาณิชย์กระจายหุ้นให้เสร็จภายในวันที่ 7 มีนาคม 2527 ซึ่งวันดังกล่าวสำนักงานทรัพย์สินฯ มีหุ้นในธนาคารไทยพาณิชย์ร้อยละ 36 เกินจำนวนสูงสุดร้อยละ 5 ตามกฎหมายกำหนด แต่ได้มีการตีความว่า การถือหุ้นของสำนักงานทรัพย์สินฯ อยู่ในข้อยกเว้นของกฎหมายเช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงยังควบคุมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์และยังสามารถขยายตัวอย่างรวดเร็วในภาคธนาคารและบริษัทในเครือเหนือกว่ากลุ่มอื่นๆ

การปรับตัวของสำนักงานทรัพย์สินฯหลังวิกฤตการณ์ปี 2540
การปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540
ทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯขาดทุนอย่างหนัก ธนาคารไทยพาณิชย์ขาดทุนสูงถึง 15,555, 35,550 และ 12,487 ล้านบาท ในปี 2541, 2542 และ 2543
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 18,153 ล้านบาท ในปี 2540 และเพิ่มเป็น 25,938, 82,579 และ 74,794 ล้านบาท ในปี 2544 – 2546 หนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการปล่อยกู้ให้บริษัทในเครือและบริษัทที่สำนักงานทรัพย์สินฯถือหุ้นอยู่ด้วย ในปี 2541 ยอดเงินสูงถึง 45,027.87 ล้านบาท และยังการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะกู้จากต่างประเทศจาก 79,797.3 ล้านบาท ในปี 2537 เป็น 134,554 ล้านบาทในปี 2540 ทำให้ธนาคารงดจ่ายเงินปันผล 5 ปี ในช่วง 2541 – 2545
เครือซีเมนต์ไทย ปี 2540 มียอดขาดทุนถึง 52,551ล้านบาท และในปี 2542 ยอดขาดทุนเท่ากับ 4,785 ล้านบาท เพราะกู้เงินจากต่างประเทศมาก

สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ลงทุนในธนาคารพาณิชย์สามแห่งที่ถูกลดมูลค่าหุ้นเหลือสตางค์เดียว คือ ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารนครธน (ปัจจุบันคือสแตนดาร์ดชาร์เตอร์นครธน) ธนาคารมหานคร รวมทั้งเงินลงทุนที่สูญไปในไฟแนนซ์ที่ถูกปิดกิจการ เช่น บงล. สินทรัพย์อุตสาหกรรม บงล. ธนสยาม ความเสียหายราว 1,800 ล้านบาท
ธุรกิจในเครือของสำนักงานทรัพย์สินฯ หลายแห่งต้องเข้าสู่โครงการฟื้นฟู ทำให้รายได้ลดลงถึงร้อยละ 75 และทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องกู้เงินธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารอื่นๆถึงเก้าพันล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในพระราชกิจของพระมหากษัตริย์
ภายหลังวิกฤตการณ์ปี 2540 สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ถือหุ้นระยะยาวเพียง 3 บริษัท คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ปูนซีเมนต์ไทย และ เทเวศประกันภัย เท่านั้น จึงตั้งบริษัท บริษัททุนลดาวัลย์ จำกัด (CPB Equity Co., Ltd.) โดยถือหุ้น 100% ทุนจดทะเบียน 7,510 ล้านบาทเพื่อทำหน้าที่บริหารการลงทุนของสำนักงานฯ ทั้งหมด มียอดเงินลงทุน 20,000 ล้านบาทเน้นการลงทุนระยะสั้น

และตั้งบริษัทบริษัทวังสินทรัพย์ จำกัด (CPB Property Co., Ltd.)โดยถือหุ้น100% เน้นการเพิ่มมูลค่าที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินเพื่อการพาณิชย์หรือผู้เช่ารายใหญ่ โดยปรับเพิ่มค่าเช่าให้ใกล้ราคาตลาด คอยดูแลเรื่องการลงทุนทางด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ โดยฟ้องขับไล่บริษัทวังเพชรบูรณ์ ของตระกูลเตชะไพบูลย์ผู้พัฒนาโครงการเวิล์ดเทรดเซนเตอร์ บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ บริเวณสี่แยกปทุมวันเมื่อปี 2544 โดยระบุว่าทำผิดสัญญาพร้อมเรียกค่าเสียหาย 6,701 ล้านบาท และเซ็นสัญญาใหม่กับ บจม.เซ็นทรัลพัฒนา ของตระกูลจิราธิวัฒน์ มีการต่อสัญญาและปรับอัตราค่าเช่าที่ดินของโรงแรมดุสิตธานี โดยปรับให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดมากขึ้น
แต่ยังไม่ได้เร่งเพิ่มค่าเช่าจากที่อยู่อาศัยรายย่อย แต่มีแนวโน้มปรับค่าเช่าผู้เช่าทำการค้าหรือผู้เช่ารายใหญ่ รวมถึงหน่วยราชการรัฐวิสาหกิจ มีการปรับการบริหารเพื่อสร้างผลกำไรมากขึ้นและได้ดึงมืออาชีพจากภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาทำงานในรูปคณะกรรมการและทำงานเต็มเวลา มีนายยศ เอื้อชูเกียรติ เป็นประธาน มีกรรมการอีก 6 คน ไมเคิล เซลชี ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล นายศิรินทร์ นิมมาเหมินทร์ นายสานติ กระจ่างเนตร์ นายบดินทร์ อัศวาณิชย์ และเดวิท เจมส์ มัลลิแกน และ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล (ต่อมาได้ลาออกไปเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย)


เครือทรัพย์สินฯมีทิศทางการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีมากขึ้น สิ้นปี 2546 มีเงินลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ 128,883 ล้านบาท โดยลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมี 46,586 ล้านบาท (หรือร้อยละ 38.5) ธุรกิจซีเมนต์ 33,9987 ล้านบาท (ร้อยละ26.4)
ทรัพย์สินและรายได้จากการประกอบการในธุรกิจปิโตรเคมีขยายตัวอย่างรวดเร็วและล้ำหน้าธุรกิจซีเมนต์ไทย และมีการร่วมกับกลุ่มธุรกิจทั้งภายในและต่างประเทศ ที่สำคัญคือ พันธมิตรที่มาจากกลุ่มทุนรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และครอบครองธุรกิจมีมูลค่านับแสนล้านบาท
ทั้งธนาคารไทยพาณิชย์และเครือซิเมนต์ไทยได้มีกำไรเพิ่มขึ้นมากหลังผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ
เครือซิเมนต์ไทยมีกำไรถึง14,604 19,954 36,483 32,236 ล้านบาทในปี 2545,46,47และ 48
โดยที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีกำไรถึง12,459 18,489 18,883 ล้านบาทในปี 2546, 47 และ 48

ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกและเป็นความมั่งคั่งที่ค่อนข้างมั่นคงถาวร เหนือการเมืองการปกครองของไทย แต่ประชาชนไทยยังต้องร่วมทำบุญโดยเสด็จพระราชกุศลมิได้ขาดและต้องจ่ายเงินภาษีกรเพื่อเลี้ยงดูพระราชวงศ์เพื่อให้เป็นศักดิ์ศรีของชาติมิให้น้อยหน้าพระราชวงศ์ใดๆในโลกด้วยงบประมาณแผ่นดินที่ค่อนข้างสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับพระราชวงศ์ในอารยประเทศที่ประชาชนมีมาตรฐานการกินอยู่ที่ดีกว่าประชาชนไทยหลายเท่า

ในปี2551 รัฐบาลได้จัดงบประมาณรายจ่ายของสํานักพระราชวังโดยตรงกว่าสองพันล้านบาท
เพื่อถวายความสะดวกสบายแด่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น
-จ่ายในพระราชฐานที่ประทับ 308,000,000 บาท
-พระราชฐานที่ประทับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ 198,000,000 บาท
-ค่าใช้จ่ายในพระองค์ 65,625,000 บาท
-เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ 57,856,000 บาท
-ค่าใช้จ่ายในพระราชฐานต่างจังหวัด 110,000,000 บาท
-เงินเบี้ยหวัดข้าราชการฝ่ายใน 8,908,200 บาท
-เงินพระราชกุศลตามพระราชอัธาศัย 9,900,000 บาท
-ค่าใช้จ่ายประสานงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ19,380,000 บาท
-ค่าใช้จ่ายโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา 25,350,000 บาท
-ค่าใช้จ่ายปรับปรุงพระราชฐาน 11,000,000 บาท
-ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงพระตําหนักจิตรลดารโหฐาน 16,500,000 บาท
-ค่าบูรณาการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต 5,000,000 บาท
-ค่าใช้จ่ายให้ข้าราชการสํานักพระราชวังเดินทางไปต่างประเทศ 2,000,000 บาท
-ค่าใช้จ่ายในการจัดการปัญหาแมลงและสัตว์รบกวนในเขตพระราชฐาน 1,000,000 บาท
-ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาความรู้ภายในสํานักพระราชวัง 500,000 บาท
ได้มีการจัดงบประมาณเพื่ออำนวยความสดวกสบายแก่พระมหากษัตริย์รวมอยู่ในงบของหน่วยงานต่างๆรวมเป็นเงินงบประมาณไม่ต่ำกว่า 6032 ล้านบาท ในปี 2551 และยังมีงบประมาณที่แฝงอยู่ในกระทรวงต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และค่ารับรอง เช่น
-ค่าใช้จ่ายการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 500,000,000 บาท
-งบถวายการอารักขาแด่พระราชวงศ์ โดยกองทัพบก 185,000,000 บาท
-กรมราชองครักษ์ 465,842,600 บาท
-สํานักงานตํารวจแห่งชาติ เพื่อถวายความปลอดภัย 349,117,700 บาท
-กองบัญชาการทหารสูงสุด งบถวายความปลอดภัย 120,000,000 บาท
-หน่วยรักษาพระองค์ 120,000,000 บาท
-สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ค่าราชพาหนะและโรงเก็บ
เครื่องบินพระราชพาหนะขนาดกลาง 4 เครื่อง พร้อมโรงเก็บ 2 โรง 381,450,000 บาท
เฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ จำนวน 3 เครื่อง และโรงจอดอากาศยาน 1,220,000,000 บาท
ค่าใช้จ่ายเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง 601,594,700 บาท

เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายสำหรับพระราชวงศ์อังกฤษ 74 ล้านเหรียญสหรัฐ ราว 2200 ล้านบาทต่อปี พระราชวงศ์ของไทยมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าถึงสามเท่า ในขณะที่ประเทศอังกฤษมีผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงกว่าไทย 4 เท่า


นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเพื่อให้สมฐานะองค์พระมหากษัตริย์ผู้สูงส่ง จากการที่พระเจ้าอยู่หัวทรงบ่นว่าประทับรถพระที่นั่งโรลส์รอยส์ไม่สะดวก คือทรงปวดพระปฤษฎางค์(หลัง) นายกทักษิณได้ใช้เงินจากการขายหวยบนดิน เพื่อซื้อรถที่หรูหราทันสมัยและแพงมากๆถวายพระเจ้าอยู่หัวสนองพระราชประสงค์ (เงินจากการขายหวยบนดินได้ใช้ไถ่ถอนหนี้สินร่วมพันล้านบาทให้แก่ฟ้าชายเพื่อไถ่ถอนวังสนามบินน้ำซึ่งสร้างจากการไล่ยึดและถอนสภาพวัดเดิมรวมทั้งการสมทบทุนสร้างภาพยนต์เรื่องพระนเรศวรตามพระราชประสงค์ของพระราชินี)
รถพระที่นั่งที่รัฐบาลนายกทักษิณจัดซื้อถวาย ก็คือรถไมบาคหรือ MAYBACH ที่มีราคาสูงกว่าคันละ 60-80 ล้านบาท ราคารวมภาษีสูงถึง 127 ล้านบาท เป็นรถยนต์หรูหราระดับสูงสุดของ เดมเลอร์ไครสเลอร์ ใช้วัสดุพิเศษจากเหล็กกล้าผสม ที่เบามาก มีเกราะกันกระสุนติดตั้งจากโรงงาน เก้าอี้โดยสารอัจฉริยะปรับเอนนอนได้ สามารถเปลี่ยนห้องโดยสารด้านหลังเป็นห้องบันเทิงส่วนตัว หรือเป็นห้องทำงานได้รถไมบาคที่ใช้เป็นรถยนต์พระที่นั่งในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมี 4 คัน คือ
1. มายบัค 62 สีครีม เลขทะเบียน ร.ย.ล.1
2. มายบัค 62 สีครีม เลขทะเบียน 1ด-1992
3. มายบัค 62 สีน้ำเงิน-ทอง เลขทะเบียน 1ด-1991
4. มายบัค 62 สีน้ำตาล-ทอง เลขทะเบียน 1ด-1993
วิกฤตทางเศรษฐกิจหรือพิษต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้สอนให้ทั้งวังและกองทัพได้สำนึกว่าพวกเขาขาดความรู้และความสามารถในการรับมือเรื่องทางเศรษฐกิจและสังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อน

แต่รัฐบาลก็ยังต้องทุ่มเทการรณรงค์โฆษณาประชาสัมพันธ์ฉลองพระชนมพรรษาครบหกรอบหรือ72 ชันษาในปี 2542 ทั้งๆที่รัฐบาลต้องประหยัดงบประมาณอย่างเต็มที่ เริ่มจากกลางปี 2541 มีการทยอยพิมพ์หนังสือที่ระลึกและสารคดีที่บรรจงสร้างเพื่อสดุดีพระเกียรติยศออกมาไม่ขาดสาย วัดธรรมกายจัดบรรพชาพระ 100,000 รูปถวายเป็นพระราชกุศล กองทัพประกาศสร้างพระมหาเจดีย์ถวายพระเจ้าอยู่หัวในภาคอีสาน การบินไทยที่ขาดทุนหนักก็ยังต้องสร้างวัดถวายพระเจ้าอยู่หัวที่เชียงราย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ(TDRI) ถูกวังสั่งให้เอาทฤษฎีใหม่ของพระเจ้าอยู่หัวกับเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหัวข้อในการประชุมประจำปี 2542 วิทยากรแต่ละท่านต่างพบความยิ่งใหญ่อันน่าอัศจรรย์ของเศรษฐศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ และต่างก็อ้างงานวิจัย ข้อมูลสถิติต่างๆ เพื่อสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว

พตท.ทักษิณยังได้ช่วยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในปี 2543 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ขายไอทีวีให้พตท.ทักษิณ ขณะที่ไอทีวีขาดทุนหนักไม่มีอนาคตและไม่มีมูลค่าใดๆ แต่พ.ต.ท.ทักษิณกลับจ่ายให้ธนาคารไทยพาณิชย์ กว่าสองพันห้าร้อยล้านบาทสำหรับหุ้นของไอทีวี เพราะต้องการช่วยธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อเอาใจวัง และนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่าพตท.ทักษิณครอบงำสื่อ นายปีย์ มาลากุลเจ้าพ่อสื่อซึ่งเป็นพระสหายคนสนิทของในหลวงก็ร่วมผสมโรงถล่มไปด้วย พตท.ทักษิณจึงบีบนายปีย์และบริวารคนอื่นๆ ของวังออกไปไอทีวี ทำให้คนพวกนั้นผูกใจเจ็บและร่วมกันวางแผนสร้างความวุ่นวายเพื่อล่มรัฐบาลทักษิณโดยอาศัยเผด็จการทหารและตุลาการตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวในเวลาต่อมา
การพัฒนาทุนนิยมไทย มีลักษณะเป็นทุนนิยมสองพวกซ้อนกันอยู่ ระหว่างฝ่ายที่เป็นทุนแบบโบราณที่อาศัยอิทธิพลทางการเมืองและระบบอุปถัมภ์ในการสะสมทุน กับฝ่ายทุนนิยมสมัยใหม่ ที่สะสมทุนโดยการเชื่อมโยงเข้ากับกระแสทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ทุนนิยมแบบโบราณเรียกทุนนิยมสมัยใหม่ว่าเป็นทุนนิยมสามานย์ เพราะทุนนิยมสมัยใหม่มักจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือชอบการค้าเสรี ยอมให้นายทุนต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจ สะสมทุนขึ้นมาจากการยึดครองอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง ทุนนิยมสมัยใหม่ก็เรียกทุนนิยมแบบโบราณว่าเป็นทุนนิยมด้อยพัฒนาหรือทุนนิยมแบบพอเพียง เป็นทุนนิยมที่ถูกข้าราชการทหาร และกลุ่มทุนขุนนางและคนชั้นสูงครอบงำ สะสมทุนแบบอภิสิทธิ์ชนใช้เส้นสาย เช่นเบียดบังงบประมาณของรัฐมาใช้ประโยชน์ในโครงการส่วนตัว ใช้อำนาจบารมีเรียกเก็บเงินค่าตำแหน่งและผูกขาดการดำเนินการทางธุรกิจ ครอบครองที่ดินและเรียกเก็บค่าเช่า ใช้อำนาจเผด็จการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องในการรับสัมปทานโครงการของรัฐ
ด้วยเหตุนี้โดยเนื้อแท้แล้ว การนำเสนอหลักเศรษฐกิจพอเพียงจากทุนนิยมแบบโบราณนั้น มีเป้าหมายเพียงต้องการที่จะต่อต้านและยับยั้งทุนนิยมสมัยใหม่ และใช้แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงครอบงำคนจน เพื่อรักษาไว้ซึ่งการเป็นอภิสิทธิชนทางเศรษฐกิจของทุนนิยมแบบโบราณ



การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือการต่อสู้กันระหว่างขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของทุนแบบโบราณ และขั้วอำนาจเศรษฐกิจของทุนสมัยใหม่ วัฒนธรรมเผด็จการของระบบศักดินา สร้างอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ทำให้สังคมไทยมืดบอดทางปัญญาครั้งใหญ่ ปัญญาชนที่โกรธแค้นทุนนิยมสมัยใหม่หันไปยกย่องสรรเสริญทุนนิยมแบบโบราณ สืบทอดประเพณีและอุดมการของสังคมศักดินาดั้งเดิม ทำให้ปัญญาชนจำนวนมากก้มหัวให้กับเผด็จการทหาร ทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้กับแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งๆที่เป็นแนวความคิดล้าหลังและ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง
.........

ไม่มีความคิดเห็น: