วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
ตำนานๆ 009019 : อนาคตจักรีไม่มี...เสื่อม
ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/gmlnRuuU/The_Royal_Legend_019_.htm
หรือที่ : http://www.mediafire.com/?8z0bz33v8b0ar7k
...............
ในปี 2543 พระเจ้าอยู่หัวทรงมีทีท่าว่าจะถอนพระองค์ เพื่อไปสู่ความสันโดษ คือจะทรงปลีกวิเวกที่วังไกลกังวลริมชายหาดทะเลหัวหิน เหมือนพระมหาชนกในวรรณคดีที่ทรงนำมาเผยแพร่ใหม่ เพื่อการปฏิบัติธรรมขั้นสุดท้ายที่จะนำไปสู่การรู้แจ้ง พระองค์ทรงทำท่าเหมือนจะปล่อยวาง ความดิ้นรนกระเสือกกระสนที่เคยได้ทรงปฏิบัติมาตลอดในอดีตที่แสนจะยาวนาน
แต่พระเจ้าอยู่หัว ก็ไม่สามารถที่จะละทิ้งพระราชภารกิจได้โดยสิ้นเชิงเหมือนกับว่า พระราชภารกิจยังมิืได้บรรลุผลสำเร็จครบถ้วนบริบูรณ์ มีหลายครั้งที่ทรงปรากฏพระองค์ในการถวายสัตย์ปฏิญญาณของรัฐมนตรีใหม่ ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะคนสำคัญ และโปรดเกล้าฯให้ผู้บริจาคหรือกลุ่มข้าราชการเข้าเฝ้าฯ เช่นในวาระการเลื่อนยศนายทหารประจำปี ในเดือนกันยายน 2543 ทรงเสด็จออกเป็นข่าวทางโทรทัศน์
ในการให้นักวางแผนของกทม.เข้าเฝ้า ทรงกำชับกำชาพวกเขาอย่างยืดยาว เรื่องการจัดการจราจร และเมื่อเกิดน้ำท่วมหาดใหญ่ในสองสามสัปดาห์ต่อมา ก็ยังได้ทรงบรรยายออกโทรทัศน์ยืดยาวอีกครั้ง ต่อเจ้าหน้าที่รับผิดชอบงานด้านภัยพิบัติสาธารณะ
ได้เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อพระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงเล่าเรื่องศีลธรรมทั่วๆไป และเรื่องขำขันถ่อมพระองค์ และทรงเหน็บแนมนักการเมืองเช่นเคย แต่ส่วนใหญ่แล้วทรงแยกพระองค์ประทับอย่างสันโดษ
พระราชกรณียกิจหลักดูเหมือนจะเป็นการนิพนธ์ หรือเขียนหนังสือ เรื่องของสุนัขที่มีชื่อเรียกว่าคุณทองเเดง อันเป็นชีวประวัติของสุนัข ที่ทรงรับเลี้ยงมาสี่ปีแล้ว คุณทองแดงมีชื่อเสียงโด่งดัง จากการเป็นสุนัขทรงโปรดของพระเจ้าอยู่หัว และหนังสือชีวประวัติของคุณทองแดงที่พิมพ์ในปี 2545 ก็มีพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัว ทรงกอดและเล่นกับคุณทองแดง ในหลายภาพทรงแย้มพระสรวลอย่างที่ไม่ค่อยมีใครได้พบเห็นกันบ่อยนัก
ดูผิวเผินแล้ว หนังสือหนา 84 หน้าทั้งภาษาอังกฤษและไทย ว่าด้วยสุนัขพันธุ์ทาง หรือหมาไทยตัวหนึ่งที่อาจถูกมองข้าม ว่าเป็นเพียงพระเกษมสำราญหรืองานอดิเรกของในหลวงเท่านั้น ที่ทรงเตือนพสกนิกรว่า แม้แต่สุนัขข้างถนนก็ไม่ได้ต่ำต้อยกว่าสุนัขฝรั่งพันธุ์แท้
แต่หนังสือเล่มนี้มีความหมายมากกว่านั้นเพราะได้ทรงบรรยายอบรมสั่งสอนพสกนิกรให้เห็นเป็นตัวอย่าง โดยทรงบรรยายว่าคุณทองแดงเป็น “หมาธรรมดาที่ไม่ธรรมดา” คือมันมีสำนึกเคารพต่อพระเจ้าอยู่หัวอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว รู้จักที่ต่ำที่สูง รู้จักการวางตน รู้กาลเทศะ ไม่ตีตนเสมอท่าน
ทรงได้มันมาเมื่อมันเกิดมาได้ไม่กี่วัน ก่อนนั้นมันร้องทั้งวัน แต่ พอถูกนำมาถวายพระเจ้าอยู่หัว มันก็หยุดร้องและคลานเข้าไปหมอบอยู่บนพระเพลาหรือตักของพระองค์ ราวกับขอฝากชีวิตไว้ แล้วมันก็หลับไปเลย ไกลจากความกังวล ความเหงาและความกลัว
คุณทองแดงคล่องแคล่วว่องไว ฉลาดและสนอกสนใจ ปฏิบัติตามคำสั่งของพระเจ้าอยู่หัวโดยไม่เคยตั้งคำถาม หรือแสดงความสงสัย มันถวายการปกป้องในหลวงจากสุนัขตัวอื่นๆ โดยไม่ต้องสั่ง หรือต้องการประจบเพื่อหวังรับเกียรติยศ หรือเครื่องราชย์ใด ๆ ที่น่าทึ่งสำหรับสุนัขที่มีชาติกำเนิดแบบไพร่ หรือสุนัขข้างถนนก็คือ มันเดินอย่างผู้ดี มีท่วงท่าของชาววัง กลิ่นไม่เหม็นสาบ ไม่เห่า
และทั้งที่เป็นสุนัขตัวโปรดของพระเจ้าอยู่หัว แต่มันกลับถอมเนื้อถ่อมตัว มันรู้จักการวางตัวที่พอเหมาะ เวลาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว มันจะเข้าเฝ้าในหลวงก็ต่อเมื่อมีพระบรมราชโองการรับสั่งเท่านั้น และมันก็มีกิริยามารยาทอันงดงามอยู่ตลอดเวลา และปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติอย่างเป็นทางการทุกประการ โดยไม่เคยวางตนอยู่เหนือพระเจ้าอยู่หัว
ส่วนสุนัขตัวอื่นๆ แม้แต่ลูก ๆ ของคุณทองแดงเอง จะแสดงอาการปลื้มปิติดีใจ ตลอดเวลาที่เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการโดดขึ้นพระเพลา(ตัก) และเลียพระพักต์พระเนตรของในหลวง
แต่คุณทองแดงไม่เคยและไม่มีวันทำอย่างนั้น ต่อให้ในหลวงทรงดึงตัวมันขึ้นมาเพื่อกอด ทองแดงก็จะรีบหมอบกราบบนพื้นอย่างรวดเร็ว หูหลุบในอาการแสดงความเคารพนบนอบ... ข้าราชการในวังรายหนึ่งบอกว่า หากอยากรู้ว่าจะนั่งอย่างไรให้งามเวลาเฝ้า่ในหลวง ก็ให้ดูตัวอย่างจากคุณทองแดง
คนไทยบางคนอาจรับไม่ได้ กับการประชดเปรียบเปรยให้ยกย่องเทิดทูนพระเจ้าอยู่หัว โดยยกสุนัขให้เป็นแบบอย่าง แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็รักคุณทองแดง และหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มนี้ มีคนซื้อหนังสือเล่มนี้ไปมากกว่าห้าแสนเล่ม กลายเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดของไทยตลอดกาล
เสื้อยืดคุณทองแดง ก็มียอดขายในปริมาณใกล้เคียงกัน โดยถวายผลกำไรจากการขายโดยเสด็จพระราชกุศล
หนังสือเรื่องของคุณทองแดงจึงสะท้อนพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าอยู่หัว แม้ว่าจะทรงแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารประเทศมาโดยตลอด รวมทั้งเป็นการสยบบรรดาผู้ที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของพระราชวงศ์
พระเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นที่รักและเทิดทูนของพสกนิกรส่วนใหญ่ ด้วยพระปรีชาสามารถอันชาญฉลาดในการปกป้องพระราชวงศ์จักรี ไม่ให้ต้องถูกเบียดขับโดยวิถีแห่งทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่
แต่ความสำเร็จนี้ กลับกลายเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านเพื่อพัฒนาจากการเป็นราชอาณาจักรไปสู่ความเป็นประเทศสมัยใหม่ เพราะถึงแม้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจะยังอยู่รอดไม่สิ้นพระราชวงศ์เหมือนกับสถาบันกษัตริย์ของลิเบียและเอธิโอเปีย แต่สถาบันกษัตริย์ของไทยก็ไม่เคยปรับตัวเพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบันกษัตริย์ ตามอย่างญี่ปุ่นหรือยุโรป ในศตวรรษที่20
แต่พระเจ้าอยู่หัวกลับได้ทรงสถาปนาลัทธินิยมเจ้า ซึ่งเป็นระบอบของการแสวงหาอำนาจในระบบการเมืองของไทยโดยพระราชวงศ์ เป็นการเมืองการปกครองแบบโบราณ ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์กลางของอำนาจยังคงดำรงอยู่ต่อไป
ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะการขึ้นครองราชย์ของพระองค์มาจากของการสืบเชื้อสายพระราชวงศ์ที่เป็นเรื่องบังเอิญแท้ๆ น่าจะทำให้พระองค์เป็นได้แค่สัญญลักษณ์ในทางการปกครองเท่านั้น
แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ได้ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองตามระบอบรัฐธรรมนูญ และกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยตลอดเวลา นับแต่การขึ้นครองราชย์ของพระองค์ การต่อต้านแข็งขืนต่อการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นกันได้ทั่วไป เช่น บรูไน เนปาลและตะวันออกกลาง ต่างก็ได้ขัดขวางการปรับปรุงระบบการปกครองเหมือนกัน
แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยนั้่น มีข้อแตกต่างตรงที่ว่า แทนที่จะรักษาอำนาจไว้ด้วยการบังคับและปราบปรามมวลชน แต่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลกลับทรงใช้ภาษาและโวหารชักจูงพสกนิกรให้เคลิบเคลิ้มว่า ประเทศไทยนั้นต้องพึ่งพาสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งในเชิงสังคมวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง และให้คนไทยมีความพึงพอใจต่อสภาพที่เป็นอยู่
ความสำเร็จของพระองค์นั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง แต่เป็นผลมาจากความพยายามที่ยอดเยี่ยมของพระองค์ และข้าราชบริพารในวังนับร้อยๆคน รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้บรรจงสร้างกันขึ้นมา จนทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีสถานะเป็นเทพเจ้าผู้สูงส่ง มีสองปัจจัยที่ทำให้การสถาปนาระบอบกษัตริย์ประสบผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม
ปัจจัยแรก คือในหลวงภูมิพลทรงเป็นบุคคลในอุดมคติสำหรับการฟื้นคืนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่ต่อไป หลังการสวรรคตอันน่าสลดของในหลวงอานันท์ ในหลวงภูมิพลทรงยอมรับหน้าที่ในการครองราชบัลลังก์อย่างไม่มีเงื่อนไข ทรงมีศักยภาพสูงในการเรียนรู้ และไม่มีข้อเกี่ยงงอนใดๆ และไม่ยอมพระองค์ต่อความโลภ ความเมินเฉย หรือการเสพสุขและความหรูหราฟุ้งเฟ้อมากเกินไป
ปัจจัยที่สองคือ ความเป็นชาวพุทธในสายเลือดของคนไทย ที่แม้ว่าจะมีการปฏิวัติ 2475 มาหลายปีแล้ว แต่คนไทยยังคงมองตนเองว่า เป็นชนชาติไทยที่มีรากเหง้าของพุทธศาสนา และมีความรักใคร่สมัครสมานสามัคคีในความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์
คณะราษฎร 2475 โดยเฉพาะจอมพลป. พยายามอย่างมากที่จะตัดการเชื่อมโยงระหว่างพุทธศาสนากับสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากกัน เพื่อจะได้ลบล้างภาพอันสวยงามของความเป็นธรรมราชา ที่ถูกปลุกให้ฟื้นชีพขึ้นมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยพวกกษัตริย์นิยมที่เล็งเห็นว่ามันเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเชื่อมความเป็นเทพและธรรมราชาเข้าด้วยกัน และสถาปนาความขลังความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนขึ้นมาใหม่
โดยมีทีมงานที่ปรึกษาคนสำคัญของพระเจ้าอยู่หัว คือกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร และพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ที่ได้เน้นย้ำความสำคัญของพิธีกรรมเหนืออื่นใดในฐานะเครื่องแสดงวัตรปฏิบัติอันบริสุทธิ์ ด้วยการปฏิบัติพิธีกรรมที่สำคัญที่สุด อย่างเช่น พระราชพิธีกฐินหลวง
และพระราชพิธีในวัดที่สำคัญที่สุดที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกตซึ่งเป็นพระพุทธรูปบูชาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดพร้อมด้วยพระเถระที่เป็นที่เคารพสูงสุดอยู่เบื้องข้างพระเจ้าอยู่หัวที่ไม่มีผู้ใดอาจเทียบพระบารมีได้ ในระหว่างนั้น ทีมงานคณะที่ปรึกษาของพระเจ้าอยู่หัวก็ทำหน้าที่ปกป้องพระองค์ ไม่ให้ถูกสาธารณะมองได้ว่าทรงลดพระองค์ลงมาเล่นการเมือง ตั้งแต่จุดเริ่มแรกสุดของรัชกาลจนถึงทศวรรษ 2530
โดยการแทรกแซงของพระเจ้าอยู่หัว มักจะทรงกระทำเบื้องหลังม่านหนา ที่ปิดคลุมด้วยเหล่าพระราชวงศ์ องคมนตรีและข้ารับใช้ในวังที่จงรักภักดีอย่างที่สุด โดยใช้วิธีป้องปาก กระซิบบอก ถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ เฉพาะกับผู้ที่พวกเขาไว้ใจได้เท่านั้น และเขียนพระราชโองการด้วยสำนวนโวหารที่รุ่มร่าม
ราวกับว่าเป็นภาระยุ่งยากที่พระเจ้าอยู่หัวจำใจต้องทำ แทนที่มันเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์เอง นโยบายที่ทรงชักใยอยู่เบื้องหลังนี้ทำให้พระองค์ทรงมีจุดขายที่แตกต่างไปจากนักการเมือง ที่อยากมีอำนาจทางการเมือง ที่มักจะพูดมากกว่าทำ โดยไม่สนใจเรื่องพิธีกรรมและการผูกโยงกับคนและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สูงส่งด้วยบุญบารมี
เป็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างพระเจ้าอยู่หัวผู้ศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง กับนักการเมืองผู้ต่ำช้าเลวทราม พระเจ้าอยู่หัวทรงผูกสัมพันธ์เฉพาะกับข้าราชการและทหาร และทรงหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกมองว่าทรงเกลือกกลั้วกับนักการเมือง เว้นเสียแต่ว่าเขาเหล่านั้นจะสวมเครื่องแบบนายพล อย่างจอมพลสฤษดิ์และพลเอกเปรม
พระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยที่จะสร้างพระองค์ให้แตกต่างจากนักการเมืองโดยถือเป็นเรื่องของพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงเสียสละเพื่อประเทศชาติและประชาชนตามหลักแห่งทศพิธราชธรรม แต่เวลาที่นักการเมืองหรือนักธุรกิจทำอย่างเดียวกัน ก็จะถูกมองว่าเป็นแค่สร้างภาพเพื่อผลประโยชน์
ในช่วงทศวรรษ 2530 วังได้เริ่มได้รับเงินบริจาคก้อนใหญ่โดยตรงจากวัดที่ร่ำรวยหลายแห่ง เพื่อถวายโดยเสด็จพระราชกุศล กลายเป็นวงจรของการทำบุญแบบใหม่ จากประชาชนทำบุญผ่านวัด นำไปถวายต่อให้วัง และไม่ใช่จากเดิมที่วังไปทำบุญถวายแก่วัด
กลายเป็นว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมีสถานะที่สูงกว่าพระและสูงกว่าวัด เพราะแม้แต่พระยังต้องรวบรวมเงินไปถวายแด่พระองค์ ( 11มกราคม 2538 รับเงินจากหลวงพ่อคูณ 72 ล้านบาท ) เป็นการสำแดงความสูงส่งเป็นเลิศ เหนือบรรดาคู่แข่งที่เป็นมนุษย์รวมทั้งเรื่องระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องถือว่ามีความสำคัญรองลงมาจากพระเจ้าอยู่หัวด้วยเช่นเดียวกัน
เมื่อแรกเริ่มนั้นประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าประชาธิปไตย หมายถึงการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ทำหน้าที่ตามความต้องการของประชาชนที่เสรี โดยมิได้มีการเอ่ยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในปี 2520 รัฐบาลได้ใช้คำว่า “ ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข ”
แต่พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ ที่จะแสดงให้เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ในอดีตนั้นเป็นประชาธิปไตยโดยเนื้อหา มิหนำซ้ำยังยิ่งใหญ่กว่าและกว้างขวางกว่าประชาธิปไตยที่นำเข้าจากตะวันตกที่คับแคบ จึงได้มีการอ้างหลักศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแห่ง ว่าเป็นแถลงการณ์ประชาธิปไตย (Democratic manifesto)
ทรงต้องย้ำแล้วย้ำอีก ว่าพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของประชาชน และต้องทำให้ประชาชนเชื่อให้จงได้ว่ารัชกาลที่ 7 ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญด้วยพระองค์เองในปี 2475
ในปี 2535 พระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งแก่นักเขียนฝรั่งสองคนว่ารัชกาลที่ 4 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้ทรงแนะนำความคิดประชาธิปไตย มาสู่สยามให้คนไทยได้รู้จัก และหลังจากนั้นรัชกาลที่ 7 ได้ทรงสานต่อพระราชภารกิจจนสำเร็จ ด้วยการพระราชทานประชาธิปไตยเต็มรูปแบบแก่ราษฎรตามพระราชประสงค์ของพระองค์เอง
คำแอบอ้างและการอธิบายดังกล่าวนี้ ได้รับการเผยแพร่โฆษณากรอกหูกรอกตา ตามงานเขียนทางวิชาการ ตำราเรียนและละครโทรทัศน์
จนเป็นความเชื่อความเข้าใจของคนไทยทั่วไปว่าพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงทศพิธราชธรรม ที่ทรงอุทิศพระองค์ด้วยความเสียสละ คือเนื้อแท้ของประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์ ที่ได้ทรงรับใช้พสกนิกรอาณาประชาราษฎรของพระองค์โดยไม่ใช่เพียงเพื่อพระองค์เองหรือเพื่อหวังคะแนนเสียงจากเขตเลือกตั้ง เนื่องจากว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ จึงมีข้อมูล หรือพระปรีชาสามารถที่สืบมาจากบุรพมหากษัตริย์ ที่ทรงทราบว่าประชาชนต้องการอะไร
กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบขุนศึกศักดินาโบราณ ได้ถูกสถาปนาให้เป็นองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยสมัยใหม่ ในทางตรงข้าม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลับไม่มีความสำคัญในโครงสร้างระบอบประชาธิปไตย
ในปลายทศวรรษ 2500 พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงดูถูกดูแคลนนักการเมืองอย่างเปิดเผย ว่าเป็นแค่พวกที่รับใช้แต่ตนเองกับกลุ่มผลประโยชน์แคบๆ และทรงอวดผลงานจากโครงการพระราชดำริของพระองค์ว่าดีกว่า
การสร้างภาพว่าสถาบันกษัตริย์เป็นประชาธิปไตยมาแต่เดิมเป็นเรื่องยาก เพราะ คนไทยเข้าใจว่าประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งตัวแทนของประชาชน อันเป็นคุณสมบัติที่กษัตริย์ไม่มี ดังนั้น วังจึงต้องยืนยันว่ากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ประชาชนนิยม และจะไม่นั่งอยู่บนบัลลังก์ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน หรือไม่ได้ปกครองด้วยความเที่ยงธรรม
ในหลวงภูมิพลจึงมักจะอ้างว่าทรงได้รับการเลือกตั้งมานั้นเอง อย่างที่ได้พระราชทานสัมภาษณ์ว่า “ เราเป็นกษัตริย์ที่ได้รับการเลือกตั้งมา หากประชาชนไมต้องการ พวกเขาสามารถไล่เราออกได้ ”
แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ไม่เคยเชื่อมั่นการเลือกตั้ง และไม่ทรงเห็นสาระประโยชน์จริงๆ สำหรับการเลือกตั้งผู้แทนมาเป็นผู้นำ และพระองค์ก็ไม่เคยสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทรงพระเกษมสำราญโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งในช่วงจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอม ทรงสนับสนุนให้มีวุฒิสภาแต่งตั้งและพระองค์มักจะทรงเป็นคนแต่งตั้งเองเพื่อครอบงำสภาผู้แทนราษฎร
ทรงสนับสนุนนายกรัฐมนตรี อย่างพลเอกเปรมที่คุมทั้งสองสภา ท่าทีของในหลวงมีอิทธิพลให้สาธารณชนไทยเกิดอคติต่อการเลือกตั้ง เวลารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งประสบความล้มเหลว จากการบ่อนทำลายของพระองค์เอง
ทรงผนวกเอาประชา ธิปไตยเข้าไว้ในความเป็นธรรมราชาของพระองค์ ซึ่งเป็นเรื่องตัวบุคคลมากไป เป็นการสร้างแนวคิดทำให้พลเมืองยึดถือตัวบุคคล คือยึดพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นศูนย์กลาง ในฐานะที่มีบุญบารมีที่ก้าวหน้ามากที่สุดในราชอาณาจักร
ทรงเน้นย้ำความสามัคคีให้เป็นทั้งหน้าที่พลเมืองและคุณธรรม ทรงสอนว่าประชาธิปไตยเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อประโยชน์ของทั้งชุมชน จึงต้องไม่แก่งแย่งแข่งขันเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ทุกคนต้องทำงานร่วมกันด้วยเป้าหมายเดียวกัน ดังนั้นความสามัคคี ที่ไม่ใช่การแข่งขันกันของพรรคการเมือง จึงเป็นหนทางสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง
ส่วนในเรื่องของธรรมะ พระองค์ทรงตีความว่าชะตาของคนไทยล้วนผูกอยู่กับชุมชน และการกระทำของบุคคลจะต้องถูกพิจารณาในแง่ผลที่มีตอคนอื่นๆ ชะตากรรมของประชาชนนั้นผูกกับรัฐ และชะตากรรมของรัฐผูกอยู่กับสถาบันกษัตริย์
แต่ความสามัคคีและความจงรักภักดียังไม่พอเพียงสำหรับการแก้ปัญหาทั้งหมด ทรงสรุปว่าความเฉื่อยเนือยหรือความขี้เกียจของชาวบ้านทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา โดยไม่ทรงโยงเรื่องนี้เข้ากับการขาดโอกาส การศึกษาหรือข้อมูลข่าวสาร
ไม่ว่าจะอย่างไร ชาวบ้านไม่ได้ทำงานหนักพอสำหรับประเทศชาติ ดังนั้นในหลวงภูมิพลจึงเติมความอุตสาหะเข้าไปในรายการคุณธรรมประจำใจ โดยเน้นงานส่วนรวมมากกว่างานส่วนตน ทรงตำหนิคนที่ไม่ทำงานหนักว่าขัดขวางการพัฒนาของตนเองและทำร้ายประเทศชาติ
“ เด็ก ๆ จะต้องรู้ว่าความสุข และความงดงามในชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง หากมาจากการทำงานที่ดี และความประพฤติที่ดีอย่างต่อเนื่อง คนที่ทำตัวไม่ดีไม่ยอมทำงานอย่างอุตสาหะจะไม่มีวันมีความสุข ”
ในอีกด้านหนึ่งทรงตีตราความอยากความปรารถนาอันเป็นลักษณะของทุนนิยม ว่าเป็นอุปสรรคต่อความสามัคคีและความก้าวหน้า นายทุนนั้นเห็นแก่ตัว แบ่งเขาแบ่งเราและเอาเปรียบ มีพระราชดำรัสในปี 2523 ว่า “ คนที่หวังแต่ประโยชน์ส่วนตัวจะไม่ได้รับการสรรเสริญ เราต้องพยายามร่วมมือในการทำงานเพื่อให้ประโยชน์ที่ทุกคนต้องการจะกลายเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ”
หลังวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2540 ทรงสรุปว่าการเน้นกิเลสแบบทุนนิยมนั้นเป็นความผิดพลาดหลักในระบบของไทย ทรงเสนอทฤษฎีใหม่ คือเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ขึ้นแทน ซึ่งจะจัดการระงับความอยากและความโลภ
ตรัสว่า “ ความพอเพียง คือความพอประมาณ หากเราพอประมาณ เราก็จะมีความอยากน้อยลง หากเราอยากน้อยลง ก็จะเอาเปรียบคนอื่นน้อยลง หากทุก ๆ ชาติยึดความคิดนี้ โดยไม่สุดโต่งหรือไม่รู้จักพอในความปรารถนา โลกก็จะความสุขกว่านี้ ”
อุปสรรคสำคัญที่สุดสำหรับการรุดหน้าไป ในแนวทางประชาธิปไตยของธรรมราชาหรือ ธรรมาธิปไตยคือ รัฐธรรมนูญและหลักกฎหมาย หรือหลักนิติธรรม (rule of law) คนทั่วไปเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญของประชาธิปไตย
หลักการนี้ได้รับการหนุนเสริมโดยนิทานของวังเอง ที่สดุดีรัชกาลที่ 7 ว่าเป็นผู้ประทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก ให้แก่ปวงชนชาวไทย ทำให้ราชอาณาจักรเป็นประชาธิปไตย แต่วังก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของหรือกุมรัฐธรรมนูญได้ เมื่อจอมพล ป. เพิ่มรัฐธรรมนูญเข้าไปในสถาบันของประเทศ “ ชาติ -ศาสน์ -กษัตริย์ -รัฐธรรมนูญ ” โดยจอมพลป.ได้เน้นที่รัฐธรรมนูญ ในฐานะคู่แข่งเชิงสถาบันต่ออำนาจกษัตริย์ คนไทยทุกคนสามารถอ้างสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ และวังไม่สามารถโต้แย้งได้
ในช่วง 2488-2500 พวกนิยมเจ้าพยายามใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นประโยชน์กับวัง แต่หลังจากนั้นพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ทรงเอาแต่จะบ่อนทำลายรัฐธรรมนูญ ทรงรู้สึกว่าเสรีภาพทางโลกียเป็นสาเหตุของการแตกความสามัคคี และความระส่ำระส่ายของคนในชาติ เป็นช่องทางให้พวกคอมมิวนิสต์เข้ามายึดอำนาจ เพื่อจะชักนำประชาชนไปในทางของพระองค์ได้ทรงนำคติพุทธว่าด้วยอนิจจังหรือความไม่จีรังเข้ามาในเรื่องรัฐธรรมนูญ
ตรัสว่า การประกาศใช้ การแก้ไขและการฉีกรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเป็นสถิติประจำรัชกาลของพระองค์นั้น เป็นข้อพิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงง่ายเกินไปที่จะเป็นเสาหลักของชาติได้ การที่ไทยอยู่รอดมาได้ผ่านรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่จำเป็น มีแต่ธรรมะเท่านั้น อันเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์ที่เป็นฐานธรรมปฏิบัติของพระเจ้าอยู่หัว ที่แน่นอนและถาวร และเป็นพื้นฐานสำคัญของชาติไทย
“ เมื่อรัฐธรรมนูญถูกฉีกไป หรือรัฐสภายุบไป... อำนาจของประชาชนกลับมาทีเรา รวมถึงกฎหมายแพ่งและอาญาทั้งหมดด้วย กฎหมายถูกใช้อย่างไม่เป็นธรรมอย่างไร เพื่อประโยชน์ของคนจำนวนน้อยที่มีอำนาจและรังแกคนอ่อนแอ "
ขณะที่การกระทำของพระเจ้าอยู่หัวทั้งเที่ยงตรงและเป็นธรรม การใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดต้องมีแรงจูงใจหรือความตั้งใจที่ดี และคำนึงถึงผลของการกระทำ แม้บางอย่างละเมิดกฎหมายแต่จริง ๆ แล้วเป็นประโยชน์แก่ชุมชนโดยรวม ดังนั้นกฎหมายทางโลกย์และรัฐธรรมนูญจึงเป็นเครื่องมือที่ไร้มโนธรรม ที่สามารถทำลายความสามัคคีและทำให้ผู้คนทำลายกันได้
ทรงให้คำแนะนำกับสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี 2540 เพื่อให้รัฐธรรมนูญใหม่สั้นและเรียบง่ายที่สุด อย่างที่บริวารของวัง มรว. ทองน้อย ทองใหญ่ เขียนในทศวรรษ 2520 ว่ารัฐธรรมนูญเดียวที่จำเป็น คือฉบับที่เชิดชูความปรองดองภายใต้ร่มเศวตฉัตรของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล
ความสำเร็จของพระเจ้าอยู่หัวในการทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางรัฐ มีรากเหง้าส่วนใหญ่มาจากพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย และความสามารถอันเยี่ยมยอดของวังในการใช้ประโยชน์ และดัดแปลงความเชื่อทางพุทธศาสนา ทำให้แนวทางของพระองค์มีอำนาจนำเหนือประชาชนอยู่เสมอ เนื่องจากประชาชนเชื่อว่าพระองค์ทรงปฏิบัติธรรมชั้นสูงเหมือนรัชกาลที่ 4
ทรงหลอมรวมทั้งภูมิปัญญาของธรรมราชาตามขนบ และความรู้สมัยใหม่เข้าด้วยกัน ที่หาญกล้ายิ่งกว่านั้นคืออุดมการณ์ของรัฐ และสังคมที่ปกครองแบบพุทธสมัยใหม่ ที่ถือความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ และกำกับพฤติกรรมของประชาชนด้วยหลักธรรมที่ทรงเผยแผ่ คืออาณาจักรสุโขทัยที่อยู่ในอุดมคติแบบไตรภูมิพระร่วง ที่มีผู้นำที่ศักดิ์สิทธิ์ปกครองตามหลักศาสนา และปฏิบัติธรรมในระดับสูงสุด
ทรงควบตำแหน่งผู้นำ ทั้งทางการเมืองและทางจิตวิญญาณ และปกครองตามการตีความหลักธรรมของพระองค์เอง การหยั่งรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนไม่ได้เกิดจากประสบการณ์การบริหารงานสมัยใหม่ แต่เกิดจากการถือปฏิบัติทศพิธราชธรรมของพระองค์
หัวใจสำคัญในการสร้างฐานระบบการเมืองที่อิงศาสนา คือการบรรจงสร้างภาพแห่งกษัตริย์จักรีโดยเฉพาะพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ให้เป็นทั้งธรรมราชาและเทวราชาไปพร้อมกัน ประทับอยู่ตรงจุดที่สวรรค์บรรจบกับพื้นโลก
การสร้างภาพอย่างนี้ดำเนินมา โดยไม่เคยหยุดหย่อนตลอดรัชกาลที่ 9 แม้ว่าโดยทางการแล้วในหลวงจะเป็นกษัตริย์สมัยใหม่ที่มีอำนาจจำกัด
แต่หนังสือหนังหาตำราเรียนนับไม่ถ้วน พิธีกรรมทั้งของวังและวัด การยกย่องจากผู้คนต่าง ๆ โดยเฉพาะพระชั้นผู้ใหญ่ วาดภาพให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงอยู่ในฐานะผู้นำสุดขลัง ที่มีอำนาจพิเศษตามพันธุกรรมและวิสัยทัศน์ที่ไปพ้นโลกีย์
แถมด้วยการสร้างภาพด้วยพระองค์เอง ที่แสดงการหลุดพ้นไปจากโลกีย์นี้ เช่น อัศจรรย์เรื่องตัวเลข การปฏิบัติพิธีกรรมพราหมณ์ - ฮินดูสุดขลังดั้งเดิม การมองข้ามคนและกลไกของรัฐบาลสมัยใหม่ และการสนพระทัยแต่พระและชาวพุทธในการโฆษณาวิสัยทัศน์ของพระองค์เอง
การสร้างภาพดังกล่าว ไม่ได้โจ่งแจ้งเห็นชัดเจนจับต้องได้เสมอไป ในวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมไทย กษัตริย์ไม่สามารถที่จะระบุอย่างตรง ๆ ได้ว่าเป็นเทพ หรือกระทั่งว่าบรรลุนิพพานเป็นพระอรหันต์แล้ว คนไทยพูดถึงกษัตริย์ว่าเป็น สมมติเทพ ซึ่งมีความคลุมเครืออย่างจงใจ ว่าพระองค์ทรงอยู่ในระดับเดียวกับพระอรหันต์ หรือพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นตำแหน่งว่าที่พระพุทธเจ้า
ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 เต็มไปด้วยสัญลักษณ์บ่งชี้ความเป็นสมมุติเทพหรือเทพเจ้าของในหลวงภูมิพล พระระดับสูงสุดต้องก้มกรานต่อพระเจ้าอยู่หัว
ในหลวงทรงปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญที่สุดอยู่พระองค์เดียว ทรงสามารถเสกฝนและแก้ปัญหาที่ไม่อาจแก้ได้ เช่น ปัญหาความยากจน ทรงสามารถสยบคนที่ชั่วร้ายไร้เหตุผลที่แม้จะทรงอำนาจแต่ก็ต้องสยบอยู่แทบพระเท้าของพระองค์
ทรงมีทรัพย์ศฤงคาร และความงามสง่าอันไร้คู่เปรียบ ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศล้วนต้องการพึ่งโพธิสมภารของพระองค์ อย่างที่เห็นในโทรทัศน์เกือบทุกวัน และชาวพุทธต่างชาติก็ยอมรับความเป็นธรรมราชาของพระองค์ เมื่อพิธีกฐินหลวงขยายกิจการไปถึงจีน กัมพูชา ลาว พม่าและศรีลังกา
ปรากฏการณ์ที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นธรรมราชา - เทวราชา ของในหลวงภูมิพลมีหลากหลาย ทั้งโขลงช้างเผือก กับฝูงรถยนต์โรลส์รอยซ์สีทองของพระองค์ ตลอดจนพระเครื่องของพระองค์ ที่ปกปักทหารหาญในสมรภูมิ ความบังเอิญของวาระครบ 10,000 วันของการครองราชย์ในปี 2520 ที่ตรงกับพระราชสมภพของรัชกาลที่ 5 และ 8 ที่พระญาณสังวรสรรเสริญการยึดมันในทศพิธราชธรรมของพระองค์
การอุปสมบทหมู่ของคนนับพันคน เนื่องในวาระสำคัญๆ ของพระองค์ การปลุกเสกพระราชชนนีให้กลายเป็นนักบุญ หรือแม่ฟ้าหลวง และการออกหวย 999 ถึงสองครั้งในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาในปี 1999 หรือ 2542
ที่เสริมส่งเรื่องประดานี้ทั้งหมดคือเหตุการณ์สำคัญและอัศจรรย์ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้จักหยุดหย่อน ตลอดช่วงรัชกาลที่ละม้ายกับพระพุทธเจ้า ตลอดจนความรุ่มรวยของวงวัฏอัศจรรย์แห่งการทำบุญร่วมเสด็จพระราชกุศล พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงสร้างภาพสมมติเทพนี้โดยตรง ในพระราชดำรัสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงสำแดงญาณทัศนะแบบพระพุทธเจ้าถึงอุบัติการณ์เหนือธรรมชาติ และปาฏิหาริย์ในรัชสมัยของพระองค์ สำแดงบุญญาธิการและปรีชาญาณอันไมอาจหยั่งถึงของผู้เป็นสมมติเทพ
ในการบรรยายเรื่องความเป็นกษัตริย์แก่ผู้ฟัง ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ที่สยามสมาคมในปี 2542 บริวารใกล้ชิดพระองค์ คือ ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ( นามเดิมคือมรว.บุตรี กฤษดากร ภริยาของนายมีชัย วีระไวทยะเจ้าของโครงการถุงยางอนามัยมีชัย ) อธิบายว่าในหลวงภูมิพลเป็นสมมติเทพ ต้องคอยจัดการให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเสด็จพระราชดำเนินอยู่บนพรมเพื่อพระบาทจะได้ไม่สัมผัสดิน เหมือนพระศิวะ และเวลาเสด็จจะมีสัญลักษณ์ครุฑปรากฏอยู่หน้ารถ หรือเฮลิค็อปเตอร์พระที่นั่งเสมอ
ท่านผู้หญิงบุตรีเล่าเรื่องด้วยท่าทีเคร่งขรึมอย่างที่สุด ถึงพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลในฐานะพระพรหมที่ขี่หงส์ เวลาเสด็จประทับขบวนเรือแห่กฐินประจำปีไปยังวัดอรุณ ต้องประทับเรือสุพรรณหงส์
ในพิธีปี 2539 เสด็จกลับโดยเรือครุฑ ที่กองทัพเรือต่อถวายใหม่เป็นการเฉพาะ ผลจากการไม่ยึดในวิถีปฏิบัติแห่งพรหมนี้ ท่านผู้หญิงบุตรีบอกว่า คือพายุฝนฟัาคะนองที่ทำให้ขบวนเรือต้องเปียกโชก แต่พอหรือพระที่นั่งถึงวัดอรุณ ฝนก็พลันหยุด เนื่องจากว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล คือพระศิวะ ดังนั้นฝนจึงไม่อาจกล้ำกรายได้ “ เราจึงมักจะพูดว่ามีอะไรบางอย่างข้างบนนั้น แม้ว่าเขาจะเป็นเทพในจินตนาการก็ตาม ” มันคงง่ายที่จะอ้างว่าเป็นเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี หรือการพูดกันเล่นๆ ไม่จริงจังหรือแค่คุยกันในบรรดาสาวกผู้คลั่งไคล้ทั้งหลาย
แต่พอมาดูหนังสือที่ทรงนิพนธ์และพิมพ์ในทศวรรษ 2533 สองเล่มแรกคือ นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ ( แปลจาก A Man Called Intrepid ของ William Stevenson )
กับ ติโต ( Tito ) หนังประวัติของประธานาธิบดีตีโต้ (Josip Broz Tito) แห่งยูโกสลาเวียต่างเป็นเรื่องราวของผู้นำที่ปรีชาสามารถและอุทิศตน และเล่มที่สามคือ มหาชนก ซึ่งชัดเจนว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลคือมหาชนก ที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกและทวยเทพ คือในหลวงภูมิพลเป็นสมมติเทพ
มีหนังสือเล่มที่สี่ พระอัตชีวประวัติภาษาอังกฤษ ของในหลวงภูมิพล The Revolutionary King หรือกษัตริย์นักปฏิวัติ ที่อำนวยการเขียนโดยในหลวงภูมิพลเองและพิมพ์ที่ลอนดอนในปี 2542 สิบปีก่อนหน้านั้น ในหลวงภูมิพลได้เชิญวิลเลียม สตีเวนสัน William Stevenson ผู้เขียนเรื่องนายอินทร์ให้มาเขียนหนังสือ สตีเวนสันพักอยู่ในวังสระปทุมของพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และได้รับการสนับสนุนการค้นคว้า และได้รับโอกาสพระราชทานสัมภาษณ์ในวังอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ผลลัพธ์คือหนังสือที่นำเสนอพระเจ้าอยู่หัวเป็นเทพ ที่วิเศษอัศจรรย์ และล่วงละเมิดมิได้อย่างแท้จริง The Revolution ary King โดยบอกเล่าเรื่องราวของกษัตริย์ที่ปรีชาสามารถ แต่คนมักไม่ค่อยรู้คุณผู้ที่กอบกู้ประเทศของพระองค์ด้วยตัวของพระองค์คนเดียว หลังจากสงครามและนำพาประเทศชาติฟันฝ่าพลังอันชั่วร้ายอีกมากมาย ด้วยทักษะอันมีมาแต่กำเนิด
ทรงพยายามนำประชาชนของพระองค์ให้หลีกหนีจากความโลภ และความทะยานอยากไปสู่คุณความดีแบบพุทธ ที่จะพาราชอาณาจักรไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข ชาวบ้านในชนบทเข้าใจถึงความพยายามของกษัตริย์ แต่นักการเมือง พ่อค้าวาณิชย์ชาวจีน ข้าราชการไร้หัวคิด และนายพลที่มักใหญ่ใฝ่สูง และข้าในวังกลับไม่เข้าใจ
The Revolution ary King แทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากงานอาเศียรวาทสดุดีชีวประวัติภาษาไทยจำนวนมากที่เกี่ยวกับราชสกุลมหิดลและรัชกาลที่ 9 เลยแม้แต่น้อย มันจัดเรียงเกร็ดเรื่องราวประวัติศาสตร์ และถ้อยคำจากพระโอษฐ์ในหลวงภูมิพล พระราชวงศ์และบริวาร เต็มไปด้วยเรื่องราวปานเทพนิยายมาตรฐานในรัชกาลที่ 9 สอดรับกับทัศนะของวังและพระราชวงศ์ที่นำเสนออยู่ตามสื่อต่าง ๆ ทั้งหนังสือ เอกสาร รายการโทรทัศน์และการโฆษณาชวนเชื่อ
หนังสือ The Revolutionary King หรือกษัตริย์นักปฏิวัติ ของสตีเวนสันก็เช่นเดียวกับหนังสือเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวเล่มอื่นๆ ที่ล้วนสอดแทรกไปด้วยความลี้ลับและปาฏิหาริย์ เริ่มด้วยเรื่องราวของเด็กหญิงกำพร้า สังวาลย์ ที่ฟันฝ่าอุปสรรคกลายเป็นแม่ของกษัตริย์สองคน
ตอนเป็นเด็กเจ้าฟ้าภูมิพลแสดงความสนใจเกินธรรมชาติในเรื่องไฮดรอลิก ป่าไม้ และวิศวกรรม และสามารถแปลบทกวีภาษายุโรปได้ห้าภาษา
ความตายอันเป็นปริศนาของพระเชษฐาอานันทมหิดล และการขึ้นนั่งบัลลังก์ของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นโองการสวรรค์ มีลางบอกเหตุเกิดขึ้นก่อนในวัง ในหลวงภูมิพลที่กลัวว่าวิญญาณของในหลวงอานันท์จะลองลอยร่อนเร่ไปตลอดกาล จึงผนึกเป็นหนึ่งเดียวกับวิญญาณของพระเชษฐาเพื่อสานฝันของในหลวงอานันท์ให้เป็นจริง นั่นคือ “ พุทธประชาธิปไตย (Buddhlst democracy) ”
ในหลวงภูมิพลทรงเล่าในหนังสือถึงการพบวิญญาณของในหลวงอานันท์ในวังหลายสัปดาห์หลังการสวรรคต “ ได้ยินเสียงฝีเท้าตามหลัง หลังเดินจากโกศมา ในงานพิธีต่าง ๆ เราเคยมักจะต้องเดินตามหลังพี่ชายอยู่เสมอ ในชั่วขณะนั้น เราลืมไปวาเขาตายไปแล้ว บอกเขาวา “เราต่างหากที่ต้องเดินตามพี่ อย่างนั้นจึงเหมาะสม ” พี่ชายตอบว่า “ ตั้งแต่บัดนี้ พี่เดินตามหลัง เล็ก ”
หลังจากเสด็จครองราชย์ในช่วงทศวรรษ 2490 พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงพุ่งทะยานสู่ระดับสูงทางจิตวิญญาณอย่างรวดเร็ว ด้วยการทรงค้นพบโลกอภิปรัชญาแห่งสยาม ทรงมีพระปรีชาญาณที่ชัดแจ้งอันไม่ปกติธรรมดา อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ คนของวังบอกกับสตีเวนสันว่า ในหลวงภูมิพลเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า “ เป็นภาคหนึ่งช่วงต้นๆ ของพระพุทธเจ้า ต่อสู้กับอสูรและต้านทานการยั่วยวน ”
เมื่อถึงทศวรรษ 2500 ปรีชาญาณของในหลวงภูมิพลแผ่ขยายครอบคลุมทั้งโลกุตระและโลกียะ ตอนนี้ทรงสำแดงภูมิธรรมอันลึกซึ้งชนิดที่เพื่อนรวมอาชีพเดียวกันในยุโรปไม่สามารถเข้าใจได้
ทรงสอนการนั่งสมาธิแก่ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ลูกน้องที่ลึกซึ้งในรสพระธรรมอยู่แล้ว และแก้ไขความบกพร่องของการออกแบบของปืนไรเฟิลเอ็ม-16 ได้อย่างน่าฉงน
ทรงมีประสบการณ์เหนือโลกอีกมาก ทรงสัมผัสถึงวิญญาณของพระเชษฐาตลอดเวลา เมื่อมจ.วิภาวดี รังสิตสิ้นชีพิตักษัยในปี 2520 เนื่องจากเฮลิค็อปเตอร์ถูกทหารปลดแอกพรรคคอมมิวนิสต์ไทยยิงตก ในหลวงภูมิพลทรงอ้างว่าวิญญาณของเธอมาปรากฏต่อพระองค์เพื่อเตือนถึงอันตราย
ตลอดเวลาหลายสิบปี พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงเชิดชูอุดมคติสังคมพุทธของพระองค์อย่างแข็งขัน ว่าเหนือกว่าวัฒนธรรมตะวันตก ต้องอาศัยการละวาง สมาธิและวัตรปฏิบัติอันบริสุทธิ์ ทรงอธิบายว่า “ ศาสนาพุทธมีความซับซ้อนมาก มีหลายระดับ ระดับสูงสุด คือการบรรลุความบริสุทธิ์สัมบูรณ์ในตัวตนของเรา การบรรลุความบริสุทธิ์นี้ เราต้องทำทุกสิ่งที่ไม่เป็นการเห็นแก่ตัว ปล่อยวางทุกสิ่งที่เรานึกว่าเป็นของเรา ”
สตีเวนสันอ้างพระญาณสังวรพูดว่า “ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงเป็นมหาบุรุษ ทรงมีพลังอำนาจและญาณวิเศษที่จะเห็นเรา ไม่เพียงแต่ในภพนี้เท่านั้น ยังในภพก่อนๆ อีกด้วย ทรงเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตาที่มีสายพระเนตรจับจ้องทะลุทะลวงไปถึงตัวตนชั่วกัล์ปของเรา ”
สตีเวนยังได้รับการบอกเล่าว่าในหลวงภูมิพลทรงทำนายว่า จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือน และเมื่อประชาชนละเลยคำเตือนของพระองค์ พระองค์จึงตัดสินพระทัยลดค่าเงินบาทเองในที่สุด หลังจากนั้นทรงปลอบโยนประชาชน ด้วยการให้คำแนะนำถึงวิธีการตั้งต้นใหม่ด้วยการเสนอทฤษฎีใหม่ที่หนังสือบรรยายว่าเป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่สร้างสรรค์แปลกใหม่ไฉไลที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ในหลวงภูมิพลเป็นมหาชนกในมหาสมุทร ที่ทรงว่ายน้ำตะเกียกตะกายเพื่อความอยู่รอด ความฝันถึงสังคมที่ปกครองด้วยหลักพุทธอยู่แค่เอื้อมแต่ก็เอื้อมไม่ถึงสักที เขาพากเพียรเหมือนมหาชนก โดยรู้สึกว่า “ เราไม่อาจตายได้ ”
พอหนังสือของสตีเวนสันพิมพ์ออกมาออกมา มันกลับกลายเป็นความน่าอับอาย สตีเวนสันเขียนตามใจตนเอง และข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนมากจนทำให้วังขายหน้า ความคลาดเคลื่อนมีอยู่เพียบ หนังสือเปิดเล่มด้วยแผนที่ที่แสดงประเทศไทยกินแดนลึกเข้าไปในลาวกับพม่า แถมวังไกลกังวลอยู่ห่างจากสถานที่จริงข้ามอ่าวไทยไปสามร้อยกิโลเมตร ปิดเล่มด้วยแผนภูมิวงศาคณาญาติที่ระบุว่ารัชกาลที่ 7 เป็นพระโอรสของรัชกาลที่ 6 ซึ่งที่จริงเป็นพระอนุชา
ตรงระหว่างกลางนั้น สตีเวนสันก็สร้างความดาลเดือดแก่วัง ด้วยข้อความพาดพิงถึงพระราชินีสิริกิติ์ ว่าทรงคิดว่าเป็นสุริโยทัยกลับชาติมาเกิด ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ทรงขัดเคืองกับฟ้าหญิงสิรินธรเรื่องการสืบราชบัลลังก์
และที่สำคัญที่สุดคือ ผู้เขียนใช้คำเรียกที่รับไม่ได้โดยเรียกพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลด้วยชื่อเล่นในวัยเด็ก คือ เล็ก เรียกพระเชษฐาว่า นันท์ และเรียกพระราชชนนีศรีสังวาลย์ว่า แม่ เพราะตามราชประเพณีแล้ว จะต้องใช้คำเรียกขานพระราชวงศ์เต็มรูป เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เท่านั้น ห้ามเรียกชื่อเล่น
ทำให้วัง ต้องสั่งห้ามขายหนังสือเล่มนี้ในประเทศไทย และห้ามสื่อเขียนถึง โดยไม่ได้อ้างข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นผู้สนับสนุนนายสตีเวนสันตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งกลับกระตุ้นคนไทยที่คล่องภาษาอังกฤษ ไปเสาะหาหนังสือเล่มนี้ในต่างประเทศ ทำให้มีหนังสือนี้หลายพันเล่มในเมืองไทย และปฏิกริยาทั่วไป คือการประนามความผิดพลาดของผู้เขียน แต่ไม่ตั้งคำถามถึงสาระของเรื่องราวของในหลวงภูมิพล ที่เปี่ยมบุญญาภินิหารที่หนังสือของสตีเวนสันตั้งใจนำเสนอ
การกล่าวอ้างว่าในหลวงภูมิพลเป็นถึงเทพเจ้า ทำให้คนไทยจำนวนมากคล้อยตาม ถึงขั้นปฏิเสธรูปแบบสังคมทุนนิยมและรัฐธรรมนูญแบบตะวันตก และส่งผลอย่างลึกซึ้ง ให้เกิดความขัดแย้งพื้นฐานสองประการที่ยังคงเป็นสาเหตุของความตึงเครียดในสังคมไทย
อันแรกเกี่ยวกับระบบการบริหารประเทศ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงบัญชาการผ่านทางองคมนตรีและทหาร โดยไม่ทรงจัดเตรียมระบบการเมืองให้เป็นระบบเข้าที่เข้าทางในระยะยาว แต่กลับทรงกระตุ้นให้เกิดอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมือง
บรรดานักปฏิรูปก็อึดอัดคับข้อง คนไทยยังคงฝากศรัทธาไว้กับพระมหากษัตริย์วัยชรา และประชาชนโดยทั่วไปมีทัศนะว่านักการเมืองทั้งหมดเห็นแก่ตัวและโกงกิน มีแต่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเท่านั้นที่ประชาชนหวังพึ่งได้
ความขัดแย้งหลักอีกอย่างหนึ่งในรัชสมัยของในหลวงภูมิพล คือการสนับสนุนระบบศีลธรรมที่กว้างขวาง ยืดหยุ่น และขึ้นกับพระองค์เองเป็นสำคัญ ทรงมีส่วนช่วยบ่อนทำลายหลักกฎหมาย อาชญากรรมร้ายแรง ความชั่วร้ายและการทุจริตมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง เช่นเดียวกับทัศนะไม่ถือกฎหมายจริงจังในหมู่ผู้กระทำผิด และผู้บังคับใช้กฎหมาย เกิดสำนึกร่วมในการไม่ยึดมั่นกฎหมาย ถึงขนาดมีอุตสาหกรรมทางเพศโดยเปิดเผย เครือข่ายค้ายาเสพติด และซุ้มมือปืนต่าง ๆ กฎหมายสมัยใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อป้องปรามการกระทำเหล่านี้ ไร้ประสิทธิภาพ เพราะทั้งกฎหมาย ทั้งผู้นำวังและวัดต่างก็ไม่ได้สร้างการเชื่อมโยง ระหว่างกฎหมายสมัยใหม่และธรรมะเข้าด้วยกัน
ด้วยการไม่ให้ราคาแก่กฎหมายสมัยใหม่ พวกที่แอบอิงธรรมะ จึงเท่ากับส่งเสริมผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย โดยอ้างความสำนึกผิดชอบชั่วดีส่วนตน การขาดการบังคับใช้กฎหมาย และอาชญากรรมที่มีอยู่ดาษดื่น อันเป็นผลตามมา เป็นเรื่องที่คนไทยกังวลบ่อยครั้ง คนที่ไม่มีอำนาจจะหันไปหาระบบศีลธรรมของภูมิพลที่ว่าด้วยชะตากรรมและกฎแห่งกรรม
บางครั้งในหลวงภูมิพลทรงหงุดหงิดเดือดดาลกับอาชญากรรม แต่ขณะที่ทรงประณามอาชญากรรม และโดยเฉพาะการคอรัปชัน พระองค์แทบไม่ปกปัองหรือเชิดชูตัวบทกฎหมายเลย กลับทรงตำหนิความไม่เป็นธรรม และการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เมื่อทรงเริ่มเห็นชอบการประหารชีวิตหลังจากว่างเว้นไปนานหลายปี การประหารดำเนินไปและถูกรายงานไป ยิ่งกว่านั้น ในหลวงภูมิพลยังดูท่าเห็นด้วยกับสงครามยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณ ที่ใช้ความเด็ดขาดในต้นปี 2546
แทนที่จะทรงช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับกฎหมายด้วยพระบารมีต่อสาธารณะ แต่ในหลวงภูมิพลกลับแทรกแซงอำนาจตุลาการอย่างลับ ๆ ตัวอย่าง ในปี 2542 ในหลวงภูมิพลทรงปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่งแก่ผู้พิพากษาอาวุโสสามคน หนังสือพิมพ์รายงานว่า เป็นปฏิกิริยาของในหลวงภูมิพลต่อกิตติศัพท์ในเรื่องทุจริตของผู้พิพากษาสามคนนี้ แต่แปลกที่พระองค์ไม่นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายหรือแสดงหลักฐานความผิดของคนทั้งสาม การทำอย่างนี้เท่ากับเรียกร้องให้ยอมรับในหลวงภูมิพลอย่างมืดบอดในฐานะผู้ประทานความยุติธรรมสูงสุด ซึ่งเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีเพราะไม่มีใครรู้ว่าความผิดของผู้พิพากษาทั้งสามคนคืออะไร
ความขัดแย้งระหว่างวิถีทางของในหลวงภูมิพลกับรัฐธรรมนูญนิยมสมัยใหม่ ส่งผลอย่างชัดเจนต่อการบริหารประเทศของไทย มันเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เมื่อบรรดาคนที่พึ่งพิงวังหลีกเลี่ยงการสนับสนุนจากไอเอ็มเอฟ ที่ต้องการแนวทางที่เป็นระบบและกฎหมายที่เคร่งครัดโปร่งใส เพื่อจะแก้ปัญหาด้วยความยืดหยุ่นกว่า และได้ผลกว่าการแก้ปัญหาแบบไทยๆ
แต่จุดอ่อนที่สุดของในหลวงภูมิพล คือจุดตายที่มีอยู่ในสถาบันกษัตริย์ทุกที่คือ พระองค์ไม่สามารถรับประกันได้ว่า ราชบัลลังก์จะถูกส่งผ่านไปยังกษัตริย์ที่ปรีชาสามารถ อุทิศตนและมีมหากรุณาธิคุณเช่นเดียวกับพระองค์ จุดอ่อนนี้ก่อตัวเป็นเมฆหมอกครอบคลุมประเทศเมื่อพระองค์ทรงโรยแรงลงไปทุกที
แม้จะสันนิษฐานกันว่า จะทรงมอบราชบัลลังก์ให้ฟ้าชายวชิรลงกรณ์ แต่ไม่มีหลักประกันใด ๆ เพราะรัฐธรรมนูญเปิดทางให้กษัตริย์เลือกผู้สืบราชบัลลังก์เอง ด้วยการอ้างว่าสถาบันกษัตริย์เป็นประชาธิปไตย ในหลวงภูมิพลได้เปิดทางให้คนคิดว่าพวกเขามีส่วนกำหนดการสืบตำแหน่งนี้ได้ “ ประชาชน จะเป็นผู้ตัดสินใจ ” เขาพูดในการพระราชทานสัมภาษณ์ปี 2535 “ เราเองไม่คิดว่าเพศจะเป็นเรื่องสำคัญนัก ”
พระราชดำรัสที่คลุมเครืออย่างตั้งใจนี้ ทำให้คนไทยที่มีความหวังเชื่อว่าฟ้าหญิงสิรินธรซึ่งเป็นมือวางอันดับสอง อาจจะเป็นกษัตริย์จักรีองค์ต่อไป ฟ้าหญิงสิรินธรทรงมีจุดแข็งอยู่ที่คนมองว่าพระองค์ดี ทรงสร้างคุณงามความดี ทำการกุศล และใส่ใจในความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแท้จริง ทรงถูกผูกกับเรื่องศิลปะ การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมไทย ขณะที่พระเชษฐาไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ฟ้าหญิงสิรินธรทรงได้รับมอบหมายให้ดูแลมูลนิธิการกุศล การเงิน พระราชภารกิจต่าง ๆ ของในหลวงภูมิพล ทรงสะสมบุญจนเต็มโกดัง และนอกจากฐานเสียงอันกว้างขวางแล้ว ทรงได้รับการสนับสนุนจากนักเรียนนายร้อย และทหารจากจปร. ที่ทรงสอนหนังสือ เช่นเดียวกับในแวดวงราชการ
ถึงอย่างนั้นก็ตาม สัญญาณส่วนใหญ่บ่งชี้ว่า ฟ้าชายวชิราลงกรณ์จะได้ขี้นครองราชย์ ด้วยวัยย่าง 53 ในปี 2548 ทรงทำตัวดีพอสมควรในปีที่ผ่านๆ มา ดูรับผิดชอบมากขึ้น ด้วยการยินยอมอย่างเปิดเผยจากพระชนกพระชนนีให้อภิเษกสมรสครั้งที่สามในปี 2544 และดูจะลงหลักปักฐานในชีวิตส่วนตัวกับพระชายา สามัญชนแสนสวยคนใหม่ชื่อ ศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา ได้รับการเปิดตัวต่อสาธารณะ และดูจะได้รับการยอมรับ ดูชำนาญงานสังคมมากกว่าสุจาริณี และใกล้ชิดกับฟ้าชายวชิราลงกรณ์มาตั้งแต่ปี 2535 ตามรายงานในหนังสือพิมพ์ กระทั่งก่อนที่ฟ้าชายจะแต่งงานกับสุจาริณีเสียอีก
เมื่อในหลวงภูมิพลทรงปลีกวิเวกไปประทับอยู่วังไกลกังวลหัวหิน พระภารกิจถูกแบ่งในหมู่พระโอรสพระธิดา โดยฟ้าชายวชิราลงกรณ์ได้ทรงงานหลักๆ เป็นส่วนใหญ่ คือเสด็จแทนในหลวง ในโทรทัศน์จะเห็นฟ้าชายก้มหน้าก้มตาเพ่งดูแผนที่และตรวจตราเขื่อนต่าง ๆ ขณะเดินเสด็จชนบท และยังเห็นฟ้าชายเสด็จตามพระชนนี ซึ่งเป็นกำลังเสริมที่ฟ้าหญิงที่สิรินธรดูจะขาดไป การเสด็จออกงานชุมนุมลูกเสือชาวบ้านเป็นประจำโดยที่ฟ้าชายที่วชิราลงกรณ์มักแต่งชุดทหารพร้อมคาดปืนที่เข็มขัด เป็นการจัดวางตำแหน่งที่สำคัญที่สัมพันธ์โดยตรงกับการสืบทอดราชบัลลังก์
แต่ความสามารถในการนำของฟ้าชายวชิราลงกรณ์เป็นเรื่องที่น่าวิตกมาก เพราะไม่เคยฉายแววเลยไม่ว่าจะเป็นทั้งความเป็นธรรมราชา หรือประมุขของรัฐสมัยใหม่ในความเป็นพุทธกษัตริย์ อำนาจเกิดมาจากการบรรลุในทางจิตวิญญาณของตัวกษัตริย์เอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวและไม่ถาวร
แม้ว่าในหลวงภูมิพลจะทรงถ่ายทอดพลังลมปราณของพระองค์แก่พระราชโอรสได้บ้าง ถึงที่สุดแล้วฟ้าชายวชิราลงกรณ์จะต้องสำแดงบุญบารมีของพระองค์เองในกรอบทศพิธราชธรรม ในความเชื่อเรื่องเทวราชาของฮินดู ถือว่าฟ้าชายวชิราลงกรณ์เป็นผู้สืบทอดคุณสมบัติเทพจากพระบิดา เมื่อหักกลบลบหนี้กับบัญชีบุญกรรมอันติดลบของพระองค์ อาจทำให้ฟ้าชายมีบุญเหลือเป็นทุนรอนในการขับเคลื่อนราชอาณาจักรค่อนข้างน้อย ต้องทรงประคับประคองพระองค์ให้ดี ไมมีใครเชื่อว่าฟ้าชายได้ทรงสำรวจค้นหาปริศนาธรรมและจิตวิญญาณของพระองค์ แต่ถูกมองว่ายังทรงลุ่มหลงในโลกแห่งเนื้อหนังมังสา เสาะแสวงหาสาวๆ และทรงมีอารมณ์เกรี้ยวกราดดุร้าย
ในแง่ความเป็นกษัตริย์สมัยใหม่ ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ยังขาดประสบการณ์และทักษะที่จำเป็นในการรับช่วงต่อจากในหลวงภูมิพล ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถอันสุดยอด แต่ฟ้าชายกลับทรงคลุกคลีอยู่กับคนที่ทะเยอทะยานและคนที่วังไม่ไว้ใจมากที่สุด คือ พตท. ทักษิณ ชินวัตร ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ได้อาศัยฐานสนับสนุนอันคับแคบของพระราชินี กรมกองบางส่วนในกองทัพและลูกเสือชาวบ้าน ไม่ใช่ด้วยพระบารมีทั่วทั้งประเทศ
ความไม่พร้อมนี้ ไม่ใช่ความผิดของฟ้าชายวชิราลงกรณทั้งหมด เพราะฟ้าชายทรงอาศัยพระบารมีของพระบิดามาตลอด เหมือนฟ้าชายชาร์ลส์แห่งอังกฤษ ที่ 50 ปี ผ่านไปก็ยังคงไร้ความสามารถ
เพราะได้ใช้เวลาช่วงวัยเยาว์ และส่วนแรกของการเป็นมนุษยไปกับการอยู่เฉย และมันผิดวิสัยที่จะคาดหวังให้เขาทำงานหนัก สิ่งที่เหมาะสมสำหรับกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญมีอย่างเดียว คือเจ้าชายที่เริ่มปกครองตั้งแต่ยังหนุ่ม ที่ในวัยเยาว์อยู่เหนือความเพลิดเพลิน ที่ในวัยเยาว์เต็มใจทำงานอย่างกระฉับกระเฉง ที่มีอัจฉริยะในดุลพินิจโดยธรรมชาติ กษัตริย์เช่นนี้เป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่จากพระเจ้า แต่ก็หาได้ยากยิ่ง
คนไทยเห็นข้ออ่อนต่าง ๆ เหล่านี้ ในตัวฟ้าชายวชิราลงกรณ์ ไม่ค่อยมีใครติดรูปฟ้าชายวชิราลงกรณ์บนผนังบ้าน และน้อยคนที่จะเสาะหาพระเครื่องของฟ้าชายหรือต้องการบริจาคให้การกุศลของฟ้าชาย บางคนถึงกับตีความการเสียชีวิตของพี่เลี้ยงทางจิตวิญญาณของฟ้าชายวชิราลงกรณ์ในอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 2542 ว่าเป็นสัญญาณของเส้นทางตันทางจิตวิญญาณของเขา
จุดอ่อนของฟ้าชายวชิราลงกรณ์ และความอ้ำอื้งของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าการสืบราชบัลลังก์จะปันป่วนวุ่นวาย หากในหลวงภูมิพลไม่สละราชบัลลังก์เพื่อควบคุมกระบวนการ การสืบทอดจะตกไปอยู่ในมือขององคมนตรีโดยเฉพาะพลเอกเปรม ประธานองคมนตรี และองคมนตรีส่วนใหญ่ก็เป็นคนของพลเอกเปรม
ในทางทฤษฎีองคมนตรีจะทำหน้าที่ปฏิบัติตามที่ในหลวงภูมิพลทรงมีกระแสรับ หรือหากไม่มีกระแสรับสั่ง ก็ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญกับกฎมณเฑียรบาล 2467 ปัญหาคือ พลเอกเปรมซึ่งแก่กว่าในหลวงภูมิพล 7 ปี อาจถึงแก่อสัญกรรมก่อนพระเจ้าอยู่หัว องคมนตรีรายอื่นไม่มีใครมีบารมีเหมือนพลเอกเปรมที่จะรับมือกับแรงกดดันทางการเมือง ทั้งภายในและภายนอกที่จะมาพร้อมการเปลี่ยนผ่านพระเจ้าอยู่หัวได้
หากปราศจากคนที่มีบารมีอย่างในหลวงภูมิพลหรือพลเอกเปรมแล้ว คนไทยกลัวว่าฝักฝ่ายของฟ้าชายวชิราลงกรณ์กับของฟ้าหญิงสิรินธรในกองทัพอาจลุกขึ้นมาห้ำหั่นกันได้ หลายคนหวั่นใจจากการสังหารหมู่กษัตริย์เนปาลและพระราชวงศ์ โดยฝีมือของรัชทายาทในปี 2544
พวกเขายังพูดกันถึงคำพยากรณ์เก่าแก่สองร้อยปีที่อาจเป็นของรัชกาลที่ 1 เอง ว่าราชวงศ์จักรีจะมีกษัตริย์เพียงเก้าพระองค์ มีเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ล้วนบอกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 9 ทั้งบอกว่าจะเกิดความระส่ำระส่าย นำไปสู่การปฏิวัติ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติไปสู่สาธารณรัฐ จะไม่มีกษัตริย์ คล้ายกับเหตุการณ์ 2475 ซึ่งในเวลานั้นเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับคำทำนายอีกอันหนึ่ง ที่ว่าราชวงศ์จักรีจะอยู่เพียง 150 ปี ซึ่งตรงกับปี 2475
ด้วยความแพร่หลายอย่างจงใจ คำทำนายนี้มีส่วนช่วยการปฏิบัติที่ปิดฉากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลายเป็นคำทำนายที่เป็นจริง แต่ยังมีคำทำนายอีกว่าราชวงศ์จักรีจะสิ้นสุดใน 230 ปี คือในปี 2555...ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะจริงหรือไม่ จะช้าหรือเร็วกว่าคำทำนาย หรือไม่
พระปรีชาสามารถเฉพาะพระองค์ของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพระองค์ และสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นความขัดแย้งและเป็นปัญหาสำคัญของการสถาปนาความเข้มแข็งและการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย
ขณะที่ระบอบการปกครองที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางก็กำลังถึงทางตัน ที่ไม่มีผู้สืบทอดพระราชอำนาจที่เหมาะสม กลายเป็นวิกฤติของระบอบราชาธิปไตย แต่อาจเป็นโอกาสของการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงเสียที....ทั้งนี้ คงอยู่ที่ความพร้อมของประชาชนไทย ที่จะต้องสร้างระบอบ และจัดระบบเพื่อสร้างประเทศไทยใหม่ของเสรีชน ที่ไม่เป็นทาสไพร่ของสมมุติเทพพระองค์ใดอีกต่อไป
................
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น