ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/36yuJ0xQ/The_Royal_Legend_011.htmlหรือที่ : http://www.mediafire.com/?cjsjjm1w9ios1h6
ตำนานๆ 009011 : รสช.ตามพระราชประสงค์
...........
พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ
(Chatichai Choon havan ) นายกรัฐมนตรีต่อจากพลเอกเปรม
นายกชาติชายได้สร้างบรรยากาศคึกคักในวงการเมือง ไม่ใช่แค่วางมาดซิ่งมอเตอร์ไซค์กับท่าทางเพลย์บอยชอบพูดเล่นกับคนทั่วไปเท่านั้น
แต่พลตรีชาติชายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงตัวจริงที่ประกาศว่าการบริหารประเทศตามแบบพลเอกเปรมนั้นล้าสมัยแล้ว
สงครามเย็นต่อต้านคอมมิวนิสต์ได้จบสิ้นแล้วและถึงเวลาสำหรับการผูกมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน และหมดยุคของรัฐบาลที่มุ่งเน้นแต่ความมั่นคงแห่งชาติแบบคลั่งเจ้าบูชาวัง
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพลเอกเปรมเป็นองคมนตรีเพื่อแสดงการสนับสนุนพลเอกเปรมอย่างชัดเจน
นายกชาติชายก็แต่งตั้งคนของตนเองแทนที่พวกนักวิชาการสายเปรมและวัง ที่ปรึกษาของนายกชาติชายประกอบด้วยคนที่เคยต่อสู้กับขบวนการขวาพิฆาตซ้ายในช่วง 2516 -2519 รวมทั้งนายไกรศักดิ์ลูกชายของนายกชาติชายที่เคยสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย และ มรว.สุขุมพันธ์ นักวิจารณ์ระบอบเปรม
รัฐบาลชาติชายได้เปลี่ยนชุดพระราชทานของพลเอกเปรมมาเป็นสูทอิตาเลียนกับเนคไทยี่ห้อดังโดยไม่ให้ความสำคัญกับการเทิดทูนพระเจ้าอยู่หัวและวัฒนธรรมคลั่งเจ้า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตอนนี้ได้กลายเป็นคู่แข่งบารมีกับวังไปแล้ว
รัฐบาลชาติชายได้รับผลบุญทางเศรษฐกิจจากการปรับระบบเงินตราของโลกและเม็ดเงินลงทุนจากเอเชียตะวันออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการจัดระบบการบริหารสมัยใหม่เพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานกับทรัพยากรบุคคล เช่นการเพิ่มการแข่งขันเสรีและการแปรรูปให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้น ตลอดจนการตัดสินใจอย่างรวดเร็วต่อโครงการขนาดใหญ่ที่ถูกหน่วงเหนี่ยวให้ล่าช้าในระบบราชการสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม
ภาวะฟองสบู่สร้างความร่ำรวยแก่คนไทยจำนวนมากและส่งผลถึงชนบทโดยทั่วไป นายกชาติชายอยู่ในสภาพเหมือนขี่หลังเสือหลายตัว ทหารที่ทะเยอทะยานอย่างพลเอกชวลิตหรือจปร. 5 อย่างพล.อ.สุจินดา คราประยูรกับพล.อ.อิสระพงษ์ หนุนภักดี ต่างคิดหาหนทางขื้นมาผงาดทางการเมือง
นายกชาติชายประคองตัวอยู่ในอำนาจด้วยการทำให้ทุก ๆ ฝ่ายพอใจกับส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่มากขื้นเรื่อย ๆ และรัฐบาลก็ได้รับสมญาว่าบุฟเฟต์แคบิเน็ท หรือรัฐบาลเสือหิวจอมสวาปาม ตรงตามที่ในหลวงทรงย้ำมาตลอดเรื่องนักการเมืองโกงกิน และนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง
นายกชาติชายยอมรับบทบาทในเชิงพิธีกรรมของกษัตริย์ เนื่องจากเคยเป็นนักการทูตที่เจนีวามาก่อนหลายปี เขากับคุณหญิงบุญเรือนผู้เป็นภรรยาเคยทำหน้าที่ดูแลพระราชวงศ์อยู่เป็นประจำ แต่รัฐบาลชาติชายไม่คิดว่าจำเป็นต้องทำงานร่วมกับพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิดอย่างที่รัฐบาลเปรมเคยทำ ด้วยความเป็นพ่อค้านักธุรกิจและนักการเมืองนายกชาติชายจึงไม่เคยได้คบค้าสมาคมกับวังแบบที่พวกนายพลทำ
ขณะที่ยังคงรองรับโครงการพระราชดำริและพระราชพิธีต่างๆของพระราชวงศ์ รัฐบาลชาติชายได้รื้อถอนกลไกที่พระเจ้าอยู่หัวและพลเอกเปรมสร้างขื้นมา โดยสับเปลี่ยนโยกย้ายพรรคพวกและบริวารของวัง ให้พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลารัฐมนตรีต่างประเทศของเปรมทำงานต่อไปสองปีก็บีบให้ออก แล้วในหลวงก็รีบโปรดเกล้าฯตั้งพล.อ.อ.สิทธิเป็นองคมนตรีทันทีแบบย้อนศรกันไปเลย พรรคพวกสมุนบริวารของระบอบเปรมและวังที่อยู่ตามสำนักวางแผนของรัฐ การบินไทย ธนาคารแห่งชาติก็ถูกรัฐบาลชาติชายย้ายออกไป บอร์ดกฟผ.ที่มีองคมนตรีอยู่สองคนก็ถูกให้ออกทั้งชุด
รัฐบาลชาติชายเริ่มโครงการพัฒนาของตนเองโดยไม่มีวังหรือกองทัพมาเกี่ยวข้อง โครงการอีสานเขียวถูกแทนที่ด้วยนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้านักการเมืองกับรัฐบาลพลเรือนกำลังจะเอาหน้าเอาชื่อจากงานพัฒนาแทนที่พระเจ้าอยู่หัว ต้นปี 2532 รัฐบาลชาติชายปฏิเสธการเรียกร้องจากวังและกองทัพที่จะคืนทรัพย์สินแก่จอมพลถนอมที่ถูกยึดหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และอนุมัติงบสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาที่ถูกวังแตะถ่วงมานาน ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้าเริ่มไม่พอใจ พลเอกสุจินดาขุนพลเริ่มส่งเสียงขมขู่ออกมาดัง ๆ
มีการแย่งผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจ โดยนายกชาติชายเป็นเพื่อนกับนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์จากกลุ่มทีพีไอได้ให้สัมปทานผลิตปูนซิเมนต์แข่งกับเครือซีเมนต์ไทยของสำนักงานทรัพย์สินฯ เพราะนายประชัยเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายแรกของประเทศ และไม่พอใจที่เครือซีเมนต์ไทยเข้ามาผลิตปิโตรเคมีแข่งกับทีพีไอที่เคยผูกขาดมาก่อน จึงแก้เผ็ดด้วยการขอรัฐบาลชาติชายให้ผลิตปูนซีเมนต์ แย่งลูกค้าของเครือซีเมนต์อย่างดุเดือด
นายประชัยยังได้สิทธิพิเศษเหนือเครือซีเมนต์ไทยในการลงทุนปิโตรเคมีใหม่ ๆ บริษัทอื่นๆ ก็ได้รับโอกาสที่ดีกว่าเครือซีเมนต์ไทยในการลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กและโทรคมนาคม
นายกชาติชายไม่เอาใจใส่วัง สนับสนุนโครงการขนส่งมวลชนโฮปเวลล์ (Hopewell Project)ทางรถไฟยกระดับวิ่งผ่านสวนจิตรลดากับสถานที่สำคัญๆของพวกเจ้า ล้วงล้ำความศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นการลบหลู่และสมุนบริวารของวังในระบบราชการก็ไม่ให้ความร่วมมือและโครงการโฮปเวลล์ก็ถูกยกเลิกไปในที่สุด รัฐบาลชาติชายปฏิเสธการครอบงำของกองทัพโดยลดอำนาจของวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง ให้ประธานรัฐสภามาจากสส. เปลี่ยนอำนาจการเสนอชื่อนายกให้เป็นของส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง
ภาพลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลไม่ได้ฟู่ฟ่ารุ่งเรืองเจิดจรัสเหมือนยุคสมัยพลเอกเปรม ในหลวงภูมิพลเคยได้รับการทูลเกล้าฯถวายรางวัลมากมาย เช่น รางวัลแม็กไซไซ ปี 2531 ปี 2533 มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดตั้งชื่อจตุรัสแห่งหนึ่งตามพระนาม
2532 เจ้าชายฟรานซ์-โจเซฟที่สองแห่งลิคเทนสไตน์(Furst Franz Joseph II Liechtenstein)สิ้นพระชนม์ทำให้ในหลวงภูมิพลเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในโลกที่ยังมีพระชนม์อยู่
พระญาณสังวรพระพี่เลี้ยงขึ้นเป็นสังฆราชในปี 2532 หลังจากรับใช้พระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ปี 2498
โครงการหลวงวัดญาณสังวรารามที่บางละมุง ชลบุรี ได้พัฒนาขยับขยายอยู่ตลอดเวลา
สร้างสวนสาธารณะใหญ่ในกรุงเทพสวนหลวงร.9 มีอาคารแสดงนิทรรศการโครงการในพระราชดำริ
มีการตัดถนนสายใหม่เรียกว่าถนนพระรามเก้า
บึงที่อยู่บริเวณนั้นบนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินของในหลวงภูมิพลกลายเป็นบึงพระรามเก้า
ในหลวงภูมิพลรับสั่งให้พัฒนาที่ดินแถบนั้นรอบๆวัดและโรงเรียนที่ตั้งชื่อตามพระนามพระรามเก้ากาญจนาภิเษก เลขานุการของพระสังฆราชญาณสังวรได้เป็นเจ้าอาวาสของวัดนั้น
มีสถานปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ของพระชนนีศรีสังวาลย์สร้างโดยกองทัพบนดอยตุงจังหวัดเชียงราย
ช่วยชาวเขาพัฒนาสหกรณ์ในพระราชดำริ ครอบคลุมพื้นที่ 92,500 ไร่ ของชาวเขา 27หมู่บ้านที่อยู่มาหลายชั่วอายุคนแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่มีสัญชาติไทย แถมเป็นจำเลยข้อหาบุกรุกป่าสงวน
ด้วยงบประมาณจากรัฐบาลและวัง ดอยตุงถูกเปลี่ยนเป็นชุมชนสหกรณ์ขนาดใหญ่ดำเนินการโดยมูลนิธิของพระชนนีศรีสังวาลย์ เหมือนอาณาจักรของศักดินาสมัยเก่า
ปี 2533 กองทัพจัดโครงการณ์ปลูกต้นไม้ 90 ล้านต้นทั่วประเทศถวายพระชนนีศรีสังวาลย์ ให้เป็นผู้รักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทั้งที่พระนางทรงประทับต่างประเทศมาตลอด
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพลเอกเปรมเป็นประธานองคมนตรีแทนนายสัญญา ธรรมศักดิ์ที่ชราแล้ว และตั้งพลเอกเปรมเป็นรัฐบุรุษอาวุโส เทียบชั้นนายปรีดี พนมยงศ์ ทำให้พลเอกเปรมยังคงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้
จากนั้นสองสามปี โปรดเกล้าฯตั้งพล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลากับพล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ ลูกน้องของพลเอกเปรมให้เป็นองคมนตรี
มล.อัศนี ปราโมช ลูกชายของมรว.เสนีย์ ประสานงานร่วมกับ นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นทีมงานหลักที่คอยปกป้องระบอบเจ้าจากรัฐบาลนายทุนของพลตรีชาติชาย
วังต้องใช้จ่ายเงินมากในพระราชกรณียกิจของพระโอรสและพระธิดาเพื่อส่งเสริมบารมีของราชวงศ์ จึงต้องมีฐานทางเศรษฐกิจและรายได้ที่มากพอ เศรษฐกิจเติบโตสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปี และตลาดหุ้นไทยคึกคักติดอันดับโลก
รายได้ของวังเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ตลาดที่อยู่อาศัยเฟื่องฟูทำให้เครือซีเมนต์ไทยต้องเร่งผลิตวัสดุก่อสร้างเต็มที่หลายปีติดต่อกัน ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯมีราคาสูงขื้นมาก
สำนักงานทรัพย์สินของในหลวงภูมิพลโหมเร่งการลงทุนทั้งลงทุนเองและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ร้านอาหารเล็กๆ ถึงคอนโดมิเนียมหรู ห้างสรรพสินค้า โรงแรมและอาคารสำนักงาน
โครงการใหญ่ คือให้เช่าที่ดิน 35ไร่กลางกรุงเทพ แก่นายอุเทน เตชะไพบูลย์เจ้าของธนาคารที่วางแผนสร้างคอมเพลกซ์ครบวงจรทั้งโรงแรม สำนักงานและห้างสรรพสินค้ามูลค่านับแสนล้านบาทที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย คือเวิร์ลด์เทรดเซ็นเตอร์บริเวณแยกราชประสงค์ ต่อมาเตชะไพบูลย์ล้มต้องปล่อยทรัพย์สินไปเป็นของวังซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งทำสัญญาใหม่กับกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา
สำนักงานทรัพย์สินของในหลวงภูมิพลมีรายได้เพิ่มขึ้นนับพันล้านบาทต่อปีจากสัญญาเช่าที่ดินรายใหม่ๆรวมทั้งธุรกิจมหาศาลแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ของสำนักงานทรัพย์สินฯรวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆที่ร่วมลงทุนด้วย
บริษัทในเครือซีเมนต์ไทยราว 35 บริษัท กับบริษัทของสำนักงานทรัพย์สินกว่ายี่สิบบริษัท ได้เงินปันผลกว่าพันล้านบาทในปี 2533 โดยไม่ต้องเสียภาษี บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของพระราชวงศ์มีมูลค่ามากกว่าสองหมื่นเจ็ดพันล้านบาท
สำนักงานทรัพย์สินฯของในหลวงภูมิพลเป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐกับเอกชน เพราะรัฐบาลต้องเกรงใจวัง พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน
เศรษฐกิจที่เติบโตทำให้มีเงินไหลเข้าสู่งานเสด็จพระราชกุศลมากขื้น พอรัฐบาลชาติชายถูกโจมตีเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น พระเจ้าอยู่หัวได้โอกาสย้ำว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งนั้นสิ้นหวัง
ปลายพฤศจิ กายน 2531 พายุถล่มภาคใต้ในเขตอำเภอพิปูน และฉวาง นครศรีธรรมราช มีคนเสียชีวิตนับร้อย มูลนิธิ ราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมถ์ ได้แสดงบทบาทได้ชื่อเสียงไปมาก
ต้นพฤศจิ กายน 2532 ไต้ฝุ่นเกย์พัดขึ้นฝั่งในเขต อ.ปะทิว อ.เมือง และ อ.ท่าแซะ ชุมพร มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 900 คน พระเจ้าอยู่หัวรีบให้นายกชาติชายเข้าเฝ้าเพื่อตำหนิและว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเฝ้าดูแลพสกนิกรตลอดเวลา แต่นักการเมืองไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนแม้แต่น้อย เครือข่ายวังได้ทุ่มกำลังบรรเทาทุกข์และได้ชื่อได้หน้าไปทั้งหมด ทั้งๆที่รัฐบาลได้ทุ่มเทให้ความช่วยเหลือมากกว่า ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ให้มูลนิธิจุฬาภรณ์ฟื้นฟูหมู่บ้าน
รัฐบาลชาติชายยังคงแตกแยกทะเลาะกัน พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผบ. สูงสุดและผบ. ทบ. กับพลเอกสุจินดารองผบ.ทบ.ฉวยโอกาสจากความไม่พอใจของวังโดยหวังที่จะขึ้นเป็นรัฐบาลตามแบบพลเอกเปรม
สิงหาคม 2532 มรว.สุขุมพันธ์ที่ปรึกษาพลเอกชาติชายตอบโต้ทหารให้กลับไปกวาดบ้านตัวเองก่อนที่จะโจมตีกล่าวหาคนอื่น
ทำให้พลเอกชวลิตและพลเอกสุจินดาสั่งระดมนายทหาร 1,000 นายตบเท้าชุมนุมข่มขู่ในโรงแรมกลางกรุงเทพ นายกชาติชายรีบตัดปัญหาด้วยการให้มรว.สุขุมพันธ์ลาออกและแต่งตั้งพลเอกชวลิตเป็นรัฐมนตรีกลาโหม พลเอกชวลิตเห็นเป็นโอกาสที่จะก้าวขื้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงลาออกจากราชการทหารและรับตำแหน่งรัฐมนตรี
ผบ.สูงสุดคนใหม่คือพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ นายทหารขี้ฉ้อจอมเสเพลและโอนเอนไม่มีหลักการ
พลเอกสุจินดาผู้มักใหญ่ใฝ่สูงและกระหายอำนาจขื้นมาเป็นผบ.ทบ.กุมอำนาจกองทัพโดยมีฐานสนับสนุน คือ จปร. 5 ซึ่งเป็นรุ่นที่เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น มักใหญ่ใฝ่สูงและฉ้อฉลมากที่สุดเท่าที่โรงเรียนนายร้อยจปร.เคยผลิตออกมา ได้ขื้นมาผงาดยกแผงตามแผนที่วางไว้ โดยอยู่ข้างพลเอกเปรมและแวดล้อมพระราชินีสิริกิติ์
พวกจปร.5 ปฏิบัติการราวกับพรรคการเมืองและกลุ่มธุรกิจที่มีเอกภาพสูง ทั้งลงทุน เล่นหุ้น ทุจริตคอรัปชั่นและอื่นๆ ที่ทำให้แต่ละคนร่ำรวยมาก เป็นภัยคุกคามรัฐบาลชาติชาย พลเอกสุจินดาโอบอุ้มเพื่อนจปร. 5 โดย 4 ใน 5 เสือของกองทัพเป็นของจปร. 5 ทำให้กองทัพอยู่ในมือของพวกเขาไปอีก 5 ปี
มีนาคม 2533 พลเอกสุจินดาเตือนว่าจะไม่ยอมให้นักการเมืองแทรกแซงกองทัพ และไม่ยืนยันว่าจะไม่มีการรัฐประหารอีก เมื่อสมาชิกสภากล่าวหาว่ามีการทุจริตในกองทัพ พลเอกสุจินดาข่มขู่ว่าไม่ใช่ธุระของส.ส.
พอพลเอกชวลิตถูก รตอ.เฉลิม อยู่บำรุง ถามในสภาว่าพลเอกชวลิตจะเอาคนโกงมาตัดหัวแต่ภรรยา(คุณหญิงพันธุ์เครือ)กลับเป็นตู้เพชรเคลื่อนที่ น่าจะส่องกระจกดูตนเองก่อนที่จะเที่ยวไปชี้หน้าว่าคนอื่นทุจริตคอรัปชั่น
พลเอกสุจินดารีบกลับจากสิงคโปร์และพาพลเอกชวลิตและนายกชาติชายเข้าพบพลเอกเปรม พลเอกเปรมและพระเจ้าอยู่หัวถูกขอให้บีบนายกชาติชายลาออกและมอบตำแหน่งแก่นายทหารเหมือนที่วังเคยช่วยพลเอกเปรมบีบให้พลเอกเกรียงศักดิ์ลาออกในปี 2523 แต่นายกชาติชายปฏิเสธและเดินทางเข้าเฝ้าในหลวง แล้วก็กลับออกมาเป็นนายกต่อไป
พลเอกชวลิตลาออกจากรัฐบาลด้วยความแค้นเคืองที่ภรรยาคุณหญิงพันธุ์เครือถูกกล่าวหาว่าเป็นตู้เพชรเคลื่อนที่ ทหารหลายจังหวัดแสดงการสนับสนุนพลเอกชวลิต
แม้ว่าพระเจ้าอยู่หัวพร้อมจะเอานายกชาติชายออกเพื่อเอารัฐบาลทหารเข้ามาแทน แต่ทรงระแวงแนวคิดทางการเมืองของพลเอกชวลิต ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ในหลวงจะโปรดให้มีการรัฐประหารหรือไม่ แต่อยู่ที่พระองค์ไม่ไว้วางพระทัยพลเอกชวลิต
เพราะพลเอกชวลิตเคยออกความเห็นเกี่ยวกับระบบการเมืองไทยหลายครั้งที่ชวนให้สงสัยว่าสนับสนุนการปฏิวัติโดยประชาชน และชมชอบระบบที่มี สภาเปรซิเดียม กับ ประธานาธิบดี คล้ายคอมมิวนิสม์ และระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งสร้างความกังวลให้วังอย่างมากและพลเอกชวลิตมีก็ที่ปรึกษาเป็นอดีตระดับสูงของพคท.
ความมั่นคงของรัฐบาลขึ้นกับการสนับสนุนของพระเจ้าอยู่หัวและพลเอกเปรมซึ่งเป็นตัวแทนพระองค์ นายกชาติชายต้องแต่งตั้งคนของระบอบเปรมและวังสามคนคือนายวีระพงษ์ รามางกูร นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตผู้บริหารเครือซีเมนต์ไทย กับพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นายตำรวจที่รับใช้ในหลวงภูมิพลมาเกือบยี่สิบปี
พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธพลเอกชวลิตอย่างไม่ใยดี พลเอกชวลิตจึงต้องเลือกเส้นทางเดินทัพทางไกลด้วยการตั้งพรรคความหวังใหม่หวังบรรลุจุดหมายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ส่วนพลเอกสุจินดายังคงข่มขู่คุกคามรัฐบาลต่อไป เมื่อนายกชาติชายเดินทางไปต่างประเทศในเดือนพฤศจิกายน พลเอกสุจินดาประกาศควบคุมความมั่นคงในพื้นที่กรุงเทพฯและสั่งห้ามการชุมนุม จากนั้นกองทัพก็เรียกร้องให้นายกชาติชายปลดรัฐมนตรีที่วิพากษ์วิจารณ์กองทัพ(รตอ.เฉลิม อยู่บำรุง) พอกลับจากต่างประเทศนายกชาติชายก็ตรงไปเข้าเฝ้าในหลวงที่ต่างจังหวัด โดยมีพลเอกสุจินดาตามเข้าเฝ้าไปติด ๆ เมื่อกลับออกมาก็ไม่มีการแถลงที่ชัดเจน
เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพ 2 ธันวาคม 2533 เพื่อฉลองพระชนมพรรษา มีพระบรมราโชวาทให้กองทัพและรัฐบาลสามัคคีกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจา โดยคำนึงถึงประเทศชาติและประชาชน
ดูคล้ายจะทรงเป็นกลางไม่เข้าข้างใคร แต่การที่ไม่ได้ทรงตำหนิพวกทหารที่ออกมาข่มขู่จะยึดอำนาจ และไม่ทรงบอกให้พวกเขากลับเข้ากรมกอง เท่ากับว่าทรงให้ท้ายกองทัพข่มขู่รัฐบาล ในวันถัดมาเสด็จเป็นประธานในพิธีสวนสนามประจำปีของกองทหารรักษาพระองค์(ราชวัลลภ)โดยมีผู้นำเหล่าทัพทหารและนายกชาติชายในฐานะรัฐมนตรีว่าการกลาโหมเข้าร่วมในพิธี กล้องโทรทัศน์ของสถานีที่อยู่ใต้การควบคุมของทหารไม่ยอมจับภาพนายกชาติชาย
แต่กลับเน้นแสดงภาพพระราชวงศ์กับเหล่าแม่ทัพนายกองที่อยู่ด้วยกัน ทรงมีพระราชดำรัสว่า “กองทัพควร ใช้ความรู้ของตนอย่างเต็มกำลังในการพัฒนาประเทศ กองทัพได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีมาตลอดในการธำรงเสรีภาพและเอกราชของประเทศ” และทรงตำหนิรัฐบาลชาติชายในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาว่า “ไม่มีใครสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว กษัตริย์ในปัจจุบันไม่ได้มีหน้าที่ในการบริหารประเทศ มีคนอื่นทำหน้าที่นี้”
รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสมัยใหม่ตามแบบตะวันตกนั้นไม่ดีเท่ารูปแบบดั้งเดิมของไทย ปัญหาสำคัญเร่งด่วนจำต้องอาศัยความยืดหยุ่นพลิกแพลง ไม่ใช่ยึดติดกับหลักการทฤษฎี ขั้นตอนระบบราชการสมัยใหม่ งานการกุศลกับโครงการหลวงของพระองค์นั้นดีที่สุด เพราะไม่ต้องเสียเวลากับวิธีการทำบัญชีแบบตะวันตก ทรงตำหนิรัฐบาลที่ไม่สร้างเขื่อนและคลองที่จะป้องกันน้ำท่วม การแก้ปัญหาแบบยึดตำราของรัฐบาลเป็นการซ้ำเติมให้เกิดความเสียหายมากขึ้น...
ผู้ฟังและสื่อมวลชนเข้าใจได้ทันทีว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธรัฐบาลชาติชาย แต่ละฝ่ายต่างเริ่มเตรียมการปฏิบัติการห่ำหั่นกัน
พลเอกชวลิตดึงเอาตัวนาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นสิริ สมุนพลเอกเปรมที่ทำงานด้านความมั่นคงมาเป็นเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ส่วนพล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ก็ถอนพรรคกิจสังคมออกจากการร่วมรัฐบาลพร้อมกับพรรคประชาธิปัตย์
นายกชาติชายต้องรวบรวมพรรคอื่นๆ รวมทั้งพรรคเล็กของพลเอกอาทิตย์แล้วตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรี
พร้อมทั้งดึง พ.อ. มนูญ รูปขจร อดีตนักรัฐประหารโดยเลื่อนยศให้เป็นพลตรีและให้ทำงานในกระทรวงกลาโหม
พวกแก๊งค์จปร.5 พากันเดือดดาล ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวและพลเอกเปรมก็คงตกใจเช่นกัน พลเอกสุจินดาถือว่าการท้าทายของนายกชาติชายครั้งนี้เพียงพอแล้วที่พวกตนจะทำรัฐประหาร แต่ก็ยังต้องหาเหตุสร้างเรื่องเพื่อใช้เป็นข้ออ้าง
มกราคม 2534 พล. ต.ท. บุญชู วังกานนท์ นายพลตำรวจแก๊งค์จปร.5 ที่มีประวัติเป็นนักฆ่า มือเปื้อนเลือด และเคยดูแลเรื่องแชร์แม่ชม้อยให้กับวังและพลเอกเปรม ก็หาเรื่องก็รื้อฟื้นคดีเก่าเมื่อปี 2527
กล่าวหาว่ายังเติร์กกับพคท. วางแผนลอบสังหารพระราชินี พลเอกเปรมและพลเอกอาทิตย์ เมื่อนายกชาติชายสั่งย้าย พล.ต.อ. บุญูชู พลเอกสุจินดากับพวกก็กล่าวหานายกชาติชายว่าปกป้องคนที่เคยพยายามลอบสัหารพระราชินี 23 กุมภาพันธ์ 2534
ขณะที่เครื่องบินของนายกชาติชายจะบินขึ้นเพื่อไปเข้าเฝ้าในหลวงที่เชียงใหม่ คอมมานโดทหารอากาศก็เข้าจับกุมตัวนายกชาติชาย วันถัดมาพลเอกสุจินดาเข้าเฝ้าในหลวง จากนั้นก็ออกมาประกาศว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงรับรองการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว โดยทรงกำชับว่า อย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง
พระเจ้าอยู่หัวพยายามรักษาบทบาทที่คลุมเครือเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของพระองค์ แต่ข้อเท็จจริงก็คือพระองค์กับพลเอกเปรมทำตัวเป็นผู้ให้คะแนนระหว่างทหารกับนายกชาติชาย ทรงเปิดทางให้มีการรัฐประหารมาหลายเดือนก่อนหน้านั้นแล้ว โดยได้แสดงความเห็นที่ชัดเจนว่าการรัฐประหารเป็นทางเลือกที่ยอมรับได้ในการเมืองไทยสมัยใหม่ ประชาชนทั่วไปได้เห็นนายกชาติชายวิ่งเข้าเฝ้าในหลวงทุกครั้งที่ถูกพลเอกสุจินดาข่มขู่ จนพากันรู้สึกชินชา
หลายคนโทษนายกชาติชายว่าเป็นต้นเหตุให้ทหารต้องยึดอำนาจ ในหลวงก็ทรงดูหมิ่นรัฐบาลชาติชายว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้เรื่องพระองค์ไม่ใช้พระราชอำนาจเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ด้วยการยุบสภาตามวิถีทางประชาธิปไตยเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ไม่เคยสนพระทัยที่จะเดินตามกรอบของประชาธิปไตย
คณะรัฐประหารเล่นบทยึดอำนาจแบบเก่า ตั้งชื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผบ.สูงสุดเป็นประธานรสช.แต่อำนาจแท้จริงอยู่ในมือของพวกจปร..5 คือ พลเอกสุจินดา คราประยูร พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี พวกรสช.ยุบสภา ฉีกรัฐธรรมนูญ และตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีสมาชิก 292 คนเต็มไปด้วยทหาร ข้าราชการ นักธุรกิจและนักวิชาการที่เป็นพรรคพวก
ประธานสภานิติบัญญัตินายอุกฤษ มงคลนาวิน นักกฎหมายรับใช้เผด็จการตั้งแต่ยุคจอมพลถนอม ยุคนายธานินทร์ถึงพลเอกเปรม โดยนายอุกฤษรับใช้รัฐบาลเปรมในตำแหน่งประธานรัฐสภาเป็นเวลาถึง 5 ปี ภริยาของนายอุกฤษคือท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน (บุณยประสพ) เป็นนางสนองพระโอษฐ์ราชินีสิริกิติ์
พวกรสช. ท่องคาถาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ตามเคย และแพร่ภาพเทปโทรทัศน์คำสารภาพของพ.อ.บุลศักดิ์ โพธิเจริญ ผู้วางแผนลอบสังหารราชินี ซึ่งภายหลังถูกเปิดโปงว่าเป็นการบังคับขู่เข็ญและเป็นเท็จ กล่าวหานายกชาติชายว่านำประเทศไปสู่ เผด็จการรัฐสภา ซึ่งกลายเป็นคำที่พวกนิยมระบอบวังและเปรมใช้โจมตีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
นายกชาติชายกับพรรคพวกอีก 24 คนถูกสอบสวนในข้อหาทุจริตและร่ำรวยผิดปกติโดยแต่งตั้งพล.อ. สิทธิ จิรโจน์เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวน รสช.ยังกำราบคนต่อต้านขัดขวาง เช่น พวกพ้องของพลเอกชวลิต ยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ข่มขู่สื่อ และคุกคามนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักศึกษา นักวิชาการและนักเคลื่อนไหว
ผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจ นายทนง โพธิ์อ่าน หายตัวไปอย่างเป็นปริศนา จากการเคลื่อนไหวต่อสู้เผด็จการทหารตามของเขา นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ที่ปราศรัยโจมตีรสช. ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยรสช.อ้างว่าพลเอกสุจินดาได้รับการรับพระบรมราชานุญาตแล้ว การโจมตีรสช.จึงเท่ากับไม่เคารพพระเจ้าอยู่หัว แต่นายสุลักษณ์ฟ้องกลับว่าการรัฐประหารของรสช. เป็นการระคายเคืองต่อเบื้องยุคลบาท นายสุลักษณ์หนีการจับกุมไปยุโรป
พลเอกสุจินดาได้เป็นที่โปรดปรานของวัง โดยเฉพาะในหมู่สาวชาววัง เพราะมีบุคลิกและหน้าตาดี แต่ไม่ใกล้ชิดวังแบบเปรม
จึงต้องเสนอพลเรือนที่วังโปรดคือ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี นายอานันท์เป็นอดีตนักการทูตและเป็นนักธุรกิจผู้มีวินัยและจริงจัง ประวัติดีไม่มีด่างพร้อย เป็นที่เคารพนับถือทั้งในแวดวงราชการและธุรกิจอุตสาหกรรม
ขณะที่นายอานันท์รังเกียจนักการเมืองทุจริตของรัฐบาลชาติชาย แต่ก็ไม่ค่อยถูกกับพวกนายทหารขุนศึก จึงเป็นหน้ากากอย่างดีให้กับรสช. และบริหารประเทศแนวอุดมคติตามพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว คณะรัฐมนตรีรัฐบาลอานันท์ประกอบด้วยนักวิชาการยุคพลเอกเปรมและทหารจากรสช.จำนวนหนึ่ง เมื่อเศรษฐกิจเติบโต
หลายคนทั้งในวังและภายนอกก็เชื่อได้ว่านี่คือรัฐบาลในฝันสำหรับประเทศไทย คือ กองทัพมีวินัยและเป็นระเบียบ นักวิชาการทำงานด้วยความเสียสละ โดยมีพระเจ้าอยู่หัวทรงคอยดูแลอยู่อย่างเป็นห่วงเป็นใย แต่ก็มีวาระที่ไม่ยาว เนื่องจากการเลือกตั้งที่กำหนดไม่เกินเดือนเมษายน 2535 เพื่อลดความไม่พอใจของประชาชนรวมทั้งท่าทีของรัฐบาลต่างชาติ
คณะรสช.ได้แสดงให้เห็นว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นไม่น้อยไปกว่านักการเมืองที่พวกเขาไล่ออกไป โดยเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงในโครงการมากมายเพื่อหาผลประโยชน์ นายบรรหาร ศิลปอาชา สมุนรับใช้เก่าแก่ของพลเอกเปรมซึ่งทุจริตมากกว่าใครทั้งหมดหลุดรอดจากการตรวจสอบของรสช. และได้เป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยแทนพลเอกชาติชาย และนำพรรคไปรับใช้รสช.
รสช.ทำให้โครงการพัฒนาชนบทกลายเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ ประกาศโครงการแก้ปัญหาไม่มีที่ทำกินและการบุกรุกป่าสงวน ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระทัยมานานแล้ว โครงการจัดสรรที่ทำกิน (คจก) ดำเนินการโดยกองทัพ จะย้ายชาวบ้านกว่าหนึ่งล้านสองแสนคนในอิสานไปอยู่ในที่ใหม่พร้อมที่ทำกิน ในระยะยาววางแผนย้ายอีกสิบล้านคนทั่วประเทศแบบเดียวกับโครงการอีสานเขียวของพลเอกชวลิต เพื่อสนองพระราชประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นไปตามพระราชดำริ ด้วยการให้สถานะทางกฎหมายและความมั่นคงในชีวิต เป็นการรักษาป่าไม้
แต่กลายเป็นการไล่ชาวบ้านออกจากป่าเสื่อมโทรมและเอาที่ดินไปให้ธุรกิจปลูกป่ายูคาลิปตัสเพื่อป้อนโรงงานกระดาษ ชาวบ้านที่อยู่ทำกินมานานก็ยังถูกบังคับให้ย้ายออกไป โดยไม่มีที่ทำกินแห่งใหม่ให้ประชาชนและไม่ได้มอบอาหารและให้สิ่งของต่างๆตามสัญญา พระประจักษ์ซึ่งเป็นพระอนุรักษ์ป่าดงใหญ่ได้นำชาวบ้านเรียกร้องต่อสู้อย่างสงบ แต่กองทัพก็ส่งอันธพาลเข้าไปทำร้ายและจับกุม
ผ่านไปหกเดือน คนไทยได้รู้ได้เห็นว่ารสช. เป็นแค่แก๊งทหารขี้โกงแบบเดิมๆอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลที่เคยโจมตีรัฐบาลชาติชาย กลับทรงเงียบกริบไม่วิจารณ์พวกรสช.แม้แต่น้อย
รสช.ก็แสดงการสนับสนุนวังอย่างเต็มที่โดยจัดงานเอิกเกริกและร่วมงานเลี้ยงส่วนพระองค์ในพระราชวัง เมื่อฟ้าหญิงสิรินธรมีพระชนมพรรษาครบสามรอบในวันที่ 2 เมษายน 2535 โรงเรียนนายร้อย จปร. จัดให้นักเรียนนายร้อย 117 คนบวชถวายเป็นพระราชกุศลโดยมีพระญาณสังวรเป็นเจ้าภาพ
กองทัพอากาศถวายเครื่องบินไอพ่นเอฟ 16 เอ แด่ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ ทั้งๆยังไม่ถึงขั้นที่จะบินด้วยพระองค์เอง แต่ฟ้าชายทรงบินร่อนไปทั่วประเทศพร้อมกับนักบินอีกคนหนึ่ง ต้นปี 2535 รสช.ได้ถวายพระยศแด่ฟ้าชายวชิราลงกรณ์เป็นนายพลสี่ดาวของทั้งกองทัพบก เรือและอากาศ และทรงเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
กุมภาพันธ์ 2535 พลเอกสุจินดาบริจาคที่ดินของกองทัพเกือบสิบไร่ให้วังนนทบุรีของฟ้าชายวชิราลงกรณ์
กันยายน 2534 พลเอกสุนทร คงสมพงษ์เกษียณราชการ และพลเอกสุจินดาก็ควบตำแหน่งผบ.สูงสุด แก๊งจปร. 5 ผงาดคุมกองทัพอย่างเบ็ดเสร็จ
พล. อ.อ. เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ.ตั้งพรรคสามัคคีธรรม และจับมือกับพรรคชาติไทยที่ยกตำแหน่งหัวหน้าพรรคให้นายพลจอมทุจริตพล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เดือนพฤศจิกายน 2534 พล.อ.อ.เกษตรเปิดเผยว่าจะให้ทหารเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหมายถึงพลเอกสุจินดา หรือไม่ก็ตัวเขาเอง แต่เมื่อถูกนักข่าวคาดคั้น พลเอกสุจินดาก็เผลอพูดไปว่าตนจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
รสช.ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่ให้อภิสิทธิ์แก่กองทัพไว้ในบทเฉพาะกาลที่รัฐบาลพลเอกเปรมเคยพยายามให้บัญญัติเป็นการถาวร เพิ่มอำนาจและขนาดของวุฒิสภา พรรคสามัคคีธรรมของพล.อ.อ.เกษตรจับมือกับสมาชิกวุฒิสภาสายรสช.เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยมีประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภาทำหน้าที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีได้
พลเอกสุจินดาจึงสามารถอยู่ในตำแหน่งผบ.ทบ.โดยไม่ต้องลงเลือกตั้ง และเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต่อให้เสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรไม่เลือกก็ตาม รสช.หรือแก๊งจปร.5 จะสืบทอดอำนาจต่อไปได้อีกหลายปี กระแสความไม่พอใจแพร่สะพัดเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระแรกไปได้ด้วยเสียงเอกฉันท์ในสภานิติบัญญัติที่เต็มไปด้วยคนของทหาร
19 พฤศจิกายน 2534 มีคนมาชุมนุมประท้วงที่สนามหลวงอย่างน้อย 50,000 คน ร่างรัฐธรรมนูญที่อัปลักษณ์ถูกต่อต้านอย่างหนัก ปลายพฤศจิกายน 2534 สื่อโจมตีรสช.อย่างไม่กลัวเกรงและนักศึกษาเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้อง
พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้นายกอานันท์และพลเอกสุจินดาเข้าเฝ้าเป็นประจำ เมื่อเกิดสถานการณ์ตึงเครียดเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ในการเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณของนายทหารและตำรวจที่รับพระราชทานยศ ซึ่งคนที่อยู่แถวหน้าเป็นพวกแก๊งจปร.5 เกือบทั้งแผง
ทรงมีพระบรมราโชวาทต่อนายทหารนายตำรวจให้เพิกเฉยต่อคำวิจารณ์ที่ว่ากองทัพควรลดขนาดลงเพราะสงครามในอินโดจีนสิ้นสุดลงแล้วโดยถือเป็นความคิดที่น่าเย้ยหยัน เพราะกองทัพได้สู้ศึกสงครามและรักษาสันติภาพ ทั้งได้สร้างความเจริญก้าวหน้าและอำนวยความผาสุกแก่อาณาประชาราษฎร์ นี่คือภารกิจของกองทัพที่ทำได้ดีและจะต้องดำเนินต่อไป
แต่กระแสคัดค้านเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์ในกรุงเทพตึงเครียดและอาจเกิดการปะทะ พระเจ้าอยู่หัวทรงยื่นมือมาช่วยรสช.อีก โดยมีพระบรมราโชวาทประจำปี 4 ธันวาคม 2534 โจมตีหลักการประชาธิปไตยว่าเป็นเพียงแค่อุดมคติของพวกหัวสูงที่อาจทำให้สังคมอ่อนแอ พระองค์ไม่คอยใส่พระทัยกับรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องไม่จีรังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และไม่มีคุณค่าพอที่จะต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญ ทรงตรัสว่ารสช.ไม่ได้เป็นฝ่ายยั่วยุให้เกิดเรื่อง หากแต่เป็นฝ่ายตรงข้ามของรสช.ที่ทำให้เกิดปัญหา
ทรงมีพระบรมราโชวาทไปเรื่อยเปื่อยเป็นชั่วโมงตามแบบฉบับของพระองค์โดยทรงกระโดดจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนพระแก่ๆที่นั่งเทศน์หรือพล่ามอยู่บนธรรมาสน์ ทรงฝึกฝนลีลาการเทศนาแบบนี้มานานหลายสิบปี เริ่มด้วยการโต้แย้งหลักวิชาการ เพื่อปกป้องมาตรฐานการดำรงชีพที่ทำให้ประชาชนมีความสงบสุข มั่นคง มีความปลอดภัย ภายใต้การปกครองที่เป็นธรรม
ปัญหาคือประเทศไทยได้รับเอาความคิดที่ไม่เหมาะสมจากต่างประเทศ ไม่เหมาะกับเมืองไทยหรืออุปนิสัยของคนไทย ประเทศไทยจำต้องรู้รักสามัคคีเพื่อจะอยู่รอดต่อไป คือการประนีประนอมปรองดอง ยอมรับในสิ่งที่ยอมรับได้ แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์พร้อม
ดังนั้น เราจึงต้องใช้สิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เพื่อความสมานฉันท์และความอยู่รอดของประเทศชาติ จริงๆแล้วประเทศที่ยึดมั่นในหลักการที่สมบูรณ์แบบอย่างแข็งตัวอาจพังทลายได้ ทรงอธิบายเถไถไปถึงเรื่องวิถีทางของพระองค์ที่สุดยอด ว่าเป็น วิถีทางของคนยากคนจน การเสียสละมาก่อนผลประโยชน์ใดๆ และไม่ยอมให้กฎเกณฑ์ทางราชการใดๆมาเป็นอุปสรรค
โครงการหลวงของพระองค์คือตัวอย่าง เราเสียคือเราได้ การทำตามอย่างประเทศร่ำรวยนั้นไม่ดี เรามีพอเพียงที่จะอยู่รอด ถ้าเรากลายเป็นประเทศที่เจริญแล้ว เราก็มีแต่จะถอยหลังเรามีระบอบแบบคนจน คือไม่ยึดติดกับทฤษฎีมากเกินไป มีความสามัคคีและถ้อยทีถ้อยอาศัย เราก็จะอยู่รอดตลอดไป
ในนิวยอร์คที่มีระบบรัฐสวัสดิการ จ่ายให้คนที่ไม่ต้องทำงาน คนจึงไม่มีแรงกระตุ้นที่จะทำงาน จึงไม่เกิดประโยชน์แก่สังคมและแก่ประชาชน แต่เป็นสิทธิของประชาชนอเมริกันตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐ ถ้าเรายึดตามกฎหมายอย่างนี้จะสิ้นเปลืองงบประมาณ
ตรงข้ามกับโครงการส่วนพระองค์ที่แสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถในการที่ทรงหลีกเลี่ยงหลักการจากต่างชาติ ทำให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพสามารถช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่ารัฐบาล
ประชาชนจะมีรายได้ตอนสิ้นปีมากพอและไม่ต้องพึ่งรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริงตามพระราชดำริ คนที่บริจาคให้โครงการหลวง เมื่อเห็นความสำเร็จก็จะยิ่งบริจาคมากขึ้น เป็นวงจรมหัศจรรย์ของการร่วมเสด็จพระราชกุศล ที่ทำให้การให้เป็นการได้
แล้วก็ทรงวกกลับมาสาธยายเปรียบเปรยว่าประชาชนจะเลือกใครเป็นตัวแทนก็ได้ในระบบที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำซี่งไม่แน่ว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงก็แค่หามติร่วมกัน แต่อย่าสู้กันถึงขั้นเลือดตกยางออก ทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญดีอยู่แล้ว ปัญหาแก้ไขได้ ประเทศอื่นๆก็มักจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎเกณฑ์อยู่เสมอและไม่ได้ยึดติดอย่างเอาเป็นเอาตาย
ทรงอ้างว่าแม้แต่สหรัฐยังเคยมีรัฐประหาร คือประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยทรงยกกรณีการลาออกของประธานาธิบดีนิกสัน กรณีวอเตอร์เกต ( Watergate )
เป็นการตีความเอาเองของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอย่างข้างๆคูๆเพื่อปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยของพระองค์ เพราะริชาร์ด นิกสันเป็นประธานาธิบดีที่ลาออกจากตำแหน่ง ก่อนที่สภาจะลงมติถอดถอน โดยรองประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนจนครบวาระตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐ ไม่ใช่การรัฐประหารอย่างที่ในหลวงทรงโมเมเอาเอง
ทรงสรุปว่า “ทุกอย่างแก้ไขได้ แต่ต้องไม่ต่อสู้กันถึงหัวร้างข้างแตกเลือดตกยางออก พูดอย่างนี้เพราะในเวลานี้เรากำลังปวดหัวว่า จะแก้ ไม่แก้ดี หรือ รับหรือไม่รับ หรือ รับแล้วคอยแก้ หรือ แก้แล้วคอยรับ ไม่รู้วาจะเอาอย่างไร ถ้ามันใช้การได้ดี ก็ใช้ไป ถ้าใช้ไม่ดี ไม่ราบลื่น ก็แก้ไขได้ และหนทางในการแก้ไขก็ไม่ยากเย็น ”
ทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ยาก และการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นไม่มีอะไรยืนยงถาวร รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่อนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ ขณะเดียวกันทรงตรัสว่า หากไม่สามัคคีวันนี้ ก็จะไม่มีวันพรุ่งนี้ แม้พระราชดำรัสจะยืดยาวและวกวน แต่เข้าใจกันดีว่าทรงสนับสนุนรัฐธรรมนูญของรสช. ในวันถัดมาหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่พาดหัวทำนองเดียวกันว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกร้องให้ประนีประนอมรับรัฐธรรมนูญ สามวันต่อมา รัฐธรรมนูญฉบับรสช.ก็ผ่านการลงมติด้วยเสียง 262-7 เพราะมันเป็นพระราชประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัว ตามด้วยการข่มขู่จากรสช.
รสช.ได้เพิ่มจำนวนองคมนตรีเป็น 19 จาก 16 คน แต่ขบวนประชาธิปไตยก็ทราบดีว่าในหลวงภูมิพลทรงมีพระราชดำรัสที่เป็นเรื่องโกหกทั้งสิ้นว่าสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่าย เพราะกองทัพสามารถยับยั้งการแก้ไขได้อย่างง่ายดายเป็นเวลาหลายปี โดยที่พลเอกสุจินดากับแก๊งจปร.5 สามารถสืบทอดอำนาจไปได้อีกหลายปี ด้วยเหตุที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย พรรคใหญ่ๆเดินหน้าเต็มที่เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 โดยทุ่มทุนอย่างหนักเพื่อซื้อ สส. และคะแนนเสียง
พรรคสามัคคีธรรมกับพรรคชาติไทยของรสช.พยายามเอาชนะการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 อย่างไร้ความละอายด้วยการกว้านเอานักการเมืองที่มีอิทธิพลและฉ้อโกงที่สุดในประเทศเข้ามาไว้ด้วยกัน พรรคสามัคคีธรรมได้นายณรงค์ วงศ์วรรณ เจ้าพ่อทางภาคเหนือที่มีสส.จำนวนมากในสังกัดมาเป็นหัวหน้าพรรค
อีกฝั่งหนึ่งเป็นพันธมิตรกันเพียงเพราะต่อต้าน รสช.เท่านั้นคือพรรคความหวังใหม่ของพลเอกชวลิต พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยนายชวน หลีกภัย และพรรคพลังธรรมของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่ากทม. ทั้งสามพรรคหาเสียงด้วยการเรียกร้องประชาธิปไตยและลดอำนาจทหาร โดยเน้นว่านายกฯ ควรจะมาจากสส. ทำให้จุดสนใจพุ่งไปที่พลเอกสุจินดาที่ไม่ลงเลือกตั้ง และได้ยืนยันว่าไม่ต้องการเป็นนายกฯ
ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง รสช.ได้แต่งตั้งวุฒิสมาชิกของพวกตนเต็มไปด้วยทหารและตำรวจจากทั้งหมด 270 คน และเป็นพลเรือนสายนักธุรกิจกับข้าราชการที่มีสายสัมพันธ์กับทหาร พลเอกสุจินดาได้สั่งวุฒิสมาชิกที่กองบัญชาการทหารสูงสุดหลังการเลือกตั้งหนึ่งสัปดาห์ ให้ลงคะแนนเลือกนายกเป็นเสียงเดียวกันตามที่เขาต้องการ
ผลการเลือกตั้ง พรรคของรสช.ชนะหวุดหวิด คืนนั้น พลเอกสุนทรกับพล.อ.อ.เกษตรเรียกหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ชาติไทย กิจสังคม และประชากรไท(พรรคเล็กๆ ของสมัคร สุนทรเวชที่เป็นพวกขวาตกขอบ) ไปประชุมที่กองทัพอากาศเพื่อตั้งรัฐบาล
พรรคของรสช.เสนอชื่อนายณรงค์ วงษ์วรรณหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมเป็นนายกฯ สามวันต่อมา สถานทูตสหรัฐฯ เปิดเผยว่านายณรงค์เคยถูกปฏิเสธวีซ่าเนื่องจากถูกสงสัยว่าพัวพันกับแก๊งค้าเฮโรอีน พอเหมาะกับภาพของนายณรงค์และความร่ำรวยผิดปกติของเขา
พอมีข้ออ้าง วันที่ 3 เมษายน 2535 รสช.กับหัวหน้าพรรคร่วมจึงเสนอชื่อพลเอกสุจินดาแทน พรรคฝ่ายค้านโจมตีรัฐบาล นักศึกษาใช้ผ้าสีดำห่อคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 7 เมษายน 2535 พลเอกสุนทรกับนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาฯ คนใหม่เสนอชื่อพลเอกสุจินดา
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งพลเอกสุจินดาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ใส่พระทัยเสียงคัดค้านของประชาชน
วันถัดมา อดีตสส.ประชาธิปัตย์ เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตรประกาศอดอาหารประท้วงที่หน้ารัฐสภาจนกว่าพลเอกสุจินดาจะลาออก เรืออากาศตรีฉลาดที่เคยประท้วงพลเอกเปรมในลักษณะเดียวกันนี้เมื่อสองปีก่อน ได้จุดชนวนการต่อต้านรัฐบาลสุจินดา นักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ เข้าร่วมการอดอาหารประท้วง ต้องเผชิญการก่อกวนและคุกคามจากอันพาลพวกกระทิงแดง
ผู้ออกมาประท้วงเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน 16 เมษายน 2535 สภาเปิด โทรทัศน์แพร่ภาพฝ่ายค้านสวมชุดดำประท้วง วันถัดมามีประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรี โดยพลเอกสุจินดาควบกระทรวงกลาโหม ตั้งแก๊งจปร.5 และพวกในตำแหน่งสำคัญๆ นักวิชาการสมัยเปรมและอานันท์มาดูแลด้านเศรษฐกิจ มีรัฐมนตรี 11 คนที่เป็นส.ส.ในรัฐบาลชาติชายที่รสช.กล่าวหาว่าทุจริต
20 เมษายน 2535 พรรคฝ่ายค้านจัดชุมนุมประท้วงสุจินดาหน้ารัฐสภามีผู้มาร่วมถึง 50,000 คน นายชวนกับพลเอกชวลิตเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง เพิ่มอำนาจสภาผู้แทนฯ และลดขนาดวุฒิสภา รัฐบาลห้ามวิทยุโทรทัศน์รายงานการชุมนุม แต่หนังสือพิมพ์ก็รายงานเต็มเหยียด
มีการชุมนุมประท้วงสุจินดาครั้งใหญ่ ที่สนามหลวงวันที่ 4 พฤษภาคม 2535 หนึ่งวันก่อนวันฉัตรมงคล คืนนั้นผู้ชุมนุมราว 60,000 คนร่วมประณามกองทัพกับพลเอกสุจินดา และเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พลตรีจำลองหัวหน้าพรรคพลังธรรมอ่าน
จดหมายฉบับสุดท้ายจากจำลอง ศรีเมือง ประกาศว่าจะประท้วงอดอาหารและตัดสินใจเอาชีวิตตัวเองจนกว่าจะได้ชัยชนะ ทำให้มวลชนรู้สึกสะเทือนใจ รัฐบาลกับวังตกใจมาก ระหว่างงานพระราชพิธีฉัตรมงคลวันถัดมา พลเอกสุจินดาบอกนักข่าวอย่างแข็งกร้าวว่า มันไม่ยากที่จะปลุกระดมมวลชน ผมจะระดมมาห้าล้านพรุ่งนี้เลยก็ยังได้ อยากเห็นมั้ยล่ะ
รัฐบาลสุจินดาห้ามสื่อรายงานข่าว โทรทัศน์รายงานแต่เพียงรัฐมนตรีกับพระพยอมที่วิจารณ์พฤติกรรมของพลตรีจำลองว่าเป็นภัยต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์
นายปีย์ มาลากุลที่ปรึกษาด้านสื่อของในหลวงภูมิพลได้ให้วิทยุจส.100 โจมตีพลตรีจำลองกับผู้ชุมนุม ใครที่โทรเข้ารายการแล้ววิจารณ์รัฐบาลก็จะถูกตัดสาย
6 พฤษภาคม 2535 นายกสุจินดาแถลงนโยบายแพร่ภาพสดทางโทรทัศน์ ฝ่ายค้านประท้วงเดินออกจากห้องประชุม ประชาชนได้เห็นการต่อต้านนายกสุจินดาไม่ใช่แค่ขบวนเล็กๆ คืนนั้น ผู้ประท้วง 80,000 คนชุมนุมอย่างสงบบริเวณใกล้สภา
มีการถวายฎีกาขอให้ในหลวงแทรกแซง โดยนักวิชาการนำโดยนายแพทย์ประเวศ วะสี นักเรียนทุนอานันทมหิดลคนแรกที่รู้จักกับในหลวงภูมิพลมาตั้งแต่ก่อน 2500 และเคยถวายการรักษา โดยกราบบังคมทูลว่าทหารได้ทรยศต่อความเชื่อถือของประชาชนด้วยการสืบทอดอำนาจและบ่อนทำลายประชาธิปไตย ถ้าพลตรีจำลองตาย จะเกิดการนองเลือด แต่ในหลวงทรงนิ่งเฉยไม่มีคำตอบแต่อย่างใด
กองทัพได้วางแผนไว้ในวันที่พรรคฝ่ายค้านประท้วงเดินออกจากห้องประชุม พลเอกอิสระพงษ์ หนุนภักดี ผบ.ทบ.คนใหม่ พี่เมียของนายกสุจินดาได้ประชุมกับตำรวจและทหารที่ดูแลความมั่นคงในกรุงเทพ
กำหนดแผนไพรีพินาศ ทหารติดอาวุธกว่าพันนายถูกสั่งเคลื่อนเข้ากลางกรุงเทพฯ เตรียมพร้อมปฏิบัติการที่ไม่มีการใช้กำลังตำรวจหรืออุปกรณ์ปราบจลาจลสมัยใหม่ ไม่มีกระบองยาง โล่หวาย หรือรถฉีดน้ำ แต่มุ่งการกำหราบและทำลายล้างด้วยวิธีการต่างๆ ที่รวมถึงการลอบสังหารแกนนำคนสำคัญ
กำลังทหารได้รับแจกจ่ายกระสุนปืนจริง และได้รับการถ่ายทอดว่าผู้ชุมนุมเป็นภัยต่อประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งพระเจ้าอยู่หัวและพลเอกเปรมต่างก็รู้เรื่องปฏิบัติการนี้ นายกสุจินดากับพลเอกอิสระพงษ์มีการติดต่อส่งข่าวเป็นประจำกับคนของวังและพลเอกเปรมยังมีแหล่งข่าวในกองทัพ แต่ก็ทรงเพิกเฉยต่อการเคลื่อนกำลัง
วันถัดมาในสภา ฝ่ายค้านวิจารณ์การแถลงนโยบายรัฐบาลของนายกสุจินดา นายกสุจินดาลุกขึ้นชี้แจงต่อสภาขณะที่โทรทัศน์ถ่ายทอดสดกล่าวประณามอย่างเผ็ดร้อนเป็นเวลาห้านาที โดยโจมตีพลตรีจำลองว่าทำลายพุทธศาสนา พลเอกชวลิตก็เป็นคอมมิวนิสต์และนิยมระบอบประธานาธิบดี
ตนมีหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์จากภัยคุกคามเหล่านี้
คนทั้งกรุงเทพฯตกตะลึงกับการแถลงที่ดุเดือดเผ็ดร้อนของนายกสุจินดา ตลาดหุ้นตกวูบลงทันที และสภาต้องยุติการประชุมไปในลักษณะเอะอะโกลาหล นายกสุจินดาประกาศพร้อมสู้ เพราะมีกำลังติดอาวุธอยู่ในมือ และมีแผนที่กำหนดไว้แล้ว
การตอบโต้กล่าวหาในสภาของนายกสุจินดากระตุ้นให้คนออกมาร่วมชุมนุมราว 70,000 คนในวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 โดยไม่สนใจคำประกาศของพล.อ.อ.เกษตรที่สั่งห้ามการชุมนุมโดยเด็ดขาด นักวิชาการมหาวิทยาลัยกว่า 200 คนถวายฎีกาต่อพระเจ้าอยู่หัวให้ยุบสภาหรือบีบนายกสุจินดาให้ลาออก แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงไม่อยากเป็นธุระ
ขณะที่พลตรีจำลองกับพลเอกชวลิตติดต่อพลเอกเปรมได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าในหลวงยังทรงได้รับทราบความคิดของพวกเขา
ขณะที่นายกสุจินดายังคงท่องบทองครักษ์พิทักษ์พระเจ้าอยู่หัว วิทยุและโทรทัศน์ที่อยู่ในการควบคุมของกองทัพทำการ
ปลุกระดมว่าพลตรีจำลองกับพลเอกชวลิตเป็นคอมมิวนิสต์ นิยมระบอบสาธารณรัฐประธานาธิบดี ต่อต้านศาสนาพุทธ (สันติอโศก)โดยไม่ยอมรับว่ากระแสการต่อต้านนายกสุจินดาได้แพร่ขยายออกไปมากแล้ว
พระเจ้าอยู่หัวค่อยๆแสดงท่าทีอย่างระมัดระวัง ขณะที่พระองค์ทรงปฏิเสธไม่ให้คนจากฝ่ายต่อต้านเข้าเฝ้า แต่ทรงโปรดให้นายกสุจินดากับผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าเฝ้า หลังจากการเข้าเฝ้าแล้ว นายกสุจินดาแถลงทางโทรทัศน์ว่าจะไม่ลาออก แต่จะไม่สั่งสลายการชุมนุม กองทัพประกาศเตรียมสนามหลวงสำหรับพิธีทางศาสนาที่ฟ้าหญิงสิรินธรจะเสด็จ วันที่ 10 พฤษภาคม และ 14 พฤษภาคม 2535มีพระราชพิธีพืชมงคล คงเป็นผลจากการเข้าเฝ้า
หัวค่ำค์นวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม 2535 มีผู้ชุมนมที่สนามหลวงกว่า 100,000 คน พลตรีจำลองที่ยังคงอดอาหาร บอกกับผู้ชุมนุมให้เดินขบวนไปรัฐสภา พอผ่านถนนราชดำเนิน ก็ถูกสกัดที่สะพานผ่านฟ้าด้วยแผงรั้วลวดหนาม ด้านหลังมีแถวทหารติดอาวุธ ปิดเส้นทางไปรัฐสภา
เช้าวันต่อมาพลตรีจำลองที่อ่อนแรงได้ประกาศยอมเสียสัตย์ด้วยการเลิกอดอาหารโดยอ้างว่าเป็นความต้องการของมวลชน รัฐบาลไม่ยอมอ่อนข้อ แถมขู่จะกวาดล้างเพื่อเปิดการจราจรในเช้าวันจันทร์
ถึงตอนนี้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงแสดงบทบาทอย่างเปิดเผยให้พรรคการเมืองยอมประนีประนอมกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการที่นายกฯต้องมาจากสส. ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และขั้นตอนอื่นๆ ที่ทำให้สภาผู้แทนมีอำนาจมากขึ้น แต่เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ให้สัญญาว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อใด ผู้ประท้วงราว 25,000 คนจึงยังคงชุมนุมอยู่บนถนนในวันถัดมา คือบ่ายวันอาทิตย์ 10 พฤษภาคม 2535 ฟ้าหญิงสิรินธรมีกำหนดเสด็จผ่านถนนราชดำเนินเพื่อทำพิธีเปิดสัปดาห์ส่งเสริมพุทธศาสนาที่สนามหลวงในเวลาห้าโมงเย็น
รัฐบาลบอกว่าผู้ชุมนุมที่ไม่ยอมสลายตัวขัดขวางเส้นทางเสด็จ และละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ สถานีวิทยุ จส. 100 ของนายปีย์ มาลากุลรายงานว่าพลตรีจำลองกำลังขัดขวางเส้นทางเสด็จ แต่ แต่ขบวนรถเสด็จก็เปลี่ยนเส้นทางอ้อมไปทางอื่น ฝูงชนเพิ่มจำนวนขึ้นอีก
กลางดึกคืนวันอาทิตย์พรรคร่วมรัฐบาลยอมรับปากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผู้ชุมนุมก็สลายตัว แต่คืนวันจันทร์ ที่ 11 พฤษภาคม 2535 นายบรรหารกับพล.อ.อ.เกษตร กลับคำและประกาศว่าไม่เคยมีการตกลงใดๆ เท่ากับปฏิเสธคำขอของพระเจ้าอยู่หัว นายกสุจินดาขู่จะใช้กำลังอย่างเฉียบขาดหากผู้ชุมนุมก่อความรุนแรง แต่เป็นช่วงวิสาขบูชาและผู้นำการชุมนุมได้ตัดสินใจลดกิจกรรมลง
เหตุการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้นทุกที แต่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลผู้ไม่เคยเลื่อมใสหรือเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแม้แต่น้อย ก็ยังคงดำเนินนโยบายใช้ความคลุมเคลือเป็นเครื่องอำพรางโดยอาศัยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องป้องกันพระองค์
ทำให้กษัตริย์ภูมิพลผู้สนับสนุนเผด็จการทหารมาตลอดสามารถพลิกกลับกลายมาเป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตยจอมปลอมได้อย่างไม่น่าเชื่ออีกครั้งหนึ่ง
..............
วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น