ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/XccBbRkt/The_Royal_Legend_014_.html
หรือที่ : http://www.mediafire.com/?ps5yml5r6s09p3w
ตำนานๆ 009014 : ทรงพระเก่งแต่ผู้เดียว
..............
ปี 2538 ประชาธิปัตย์ถูกมรสุมเรื่องทุจริตสปก.4-01
และถูกอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ทำให้นายชวนต้องยุบสภาเนื่องจากพลตรีจำลองหัวหน้าพรรคพลังธรรมประกาศถอนตัวกลางดึก
บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีพรรคร่วมรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช พลเอกชวลิต
และเศรษฐีรุ่นใหม่เจ้าของธุรกิจคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและดาวเทียม พตท.ทักษิณ ชินวัตรในนามหัวหน้าพรรคพลังธรรม
วังต้องลดบทบาทไปนั่งทอดพระเนตรข้างสนามการเมือง พระเจ้าอยู่หัวและราชวงศ์จำเป็นต้องมีบทบาทในสังคมเพื่อรักษาความเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมและการเมืองราชวงศ์ทุกพระองค์จึงหมั่นปฏิบัติราชกรณียกิจเป็นประจำมิได้ขาดแต่ยังไม่เพียงพอ
จึงต้องทรงหันไปใช้วิธีการเชิงรุกมากกว่าเดิมในการเน้นย้ำให้ประชาชนได้สำนึกถึงพระบุญญาบารมี ทรงเริ่มตอบโต้เต็มที่เมื่อทรงเห็นว่าแนวทางของพระองค์ถูกโจมตี เป้าหมายของพระองค์คือพวกนักการเมืองรวมเอานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย
ทรงตำหนิรัฐบาลนายชวนแบบเดียวกับรัฐบาลชาติชายคือทรงประเมินว่ารัฐบาลนายชวนทำงานผิดพลาดและเห็นแก่ตัว มีการแก่งแย่งตำแหน่งกันในการปรับครม.กลางปี 2536 โดยมีพลเอกชวลิตเป็นหัวหน้าทีม
ปลายเดือนกันยายนพระเจ้าอยู่หัวทรงตำหนิรัฐมนตรีของนายชวนที่ทะเลาะวิวาทกัน และในเดือนธันวาคมทรงย้อนกลับไปตำหนิเรื่องเดิม โดยทรงรับสั่งแกนนำรัฐบาลให้หยุด“กัดกันเอง" พูดอย่างนี้ก็คงพอเข้าใจว่าหมายถึงอะไร ไม่ใช่หมายถึงเรื่องอะไร” ทรงมีพระบรมราโชวาทอย่างเคร่งขรึมขณะหลายคนมองไปที่พลเอกชวลิต
“ ท่านถึงหัวเราะ หัวร่อหมายถึงท่านเองก็รู้ ว่าการเถียงกันอย่างข้างๆ คูๆ นี้ไม่ดี เดี๋ยวนี้ข้างคู ทำคูแล้ว ก็ต้องระบายน้ำออก เพราะถ้าขุดคูกลางถนนมันก็ไปไม่ได้ ไม่ถูก อันนี้ก็คงพอเข้าใจ ไม่ต้องพูดให้ยืดยาวเกินไป แต่ว่า ความสามัคคีหรือความปรองดองนั้น ก็ให้เหตุว่า อันไหนควรจะพูด อันไหนไม่ควรจะพูด พูดไปแล้วให้ยอมรับว่าพูดอย่างนั้น ไม่ถูกก็บอกว่าไม่ถูก ไม่ต้องมาหัวชนฝาว่าถูกๆๆ ลงท้าย ตัวเองก็รู้ว่าไม่ถูก ”
มีพระราชดำรัสรุนแรงมากต่อพวกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเอ็นจีโอ ทรงโกรธที่โครงการพระราชดำริได้รับผลกระทบ เช่น ปี 2535 โครงการพระราชดำริบ้านวัดจันทร์ใกล้เชียงใหม่ ดำเนินการโดย มจ. ภีศเดช รัชนี อ้างว่าจัดหาไม้ป้อนโครงการหัตถกรรมของราชวงศ์ ซึ่งคือการตัดไม้ในป่าสนดั้งเดิมที่เป็นเขตป่าสงวน หลังจากกลุ่มต่างๆ ออกมาประท้วง โดยสื่อได้รายงานข่าวอย่างเข้มข้น ทำให้วังต้องยกเลิกโครงการ
พระเจ้าอยู่หัวทรงหงุดหงิดไม่พอพระทัยมากที่ขบวนการนักสิ่งแวดล้อมไทยรณรงค์ต่อต้านโครงการเขื่อนหลายแห่งที่มีพระราชประสงค์ให้สร้าง ทรงมีชื่อเสียงพระเกียรติคุณด้านการจัดการทรัพยากรน้ำของชาติเพื่อแก้ปัญหาความยากจน เขื่อนขนาดใหญ่ถูกโจมตีว่าไล่ที่ทำกินของชาวบ้านและทำลายสิ่งแวดล้อมโดยไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
นักอนุรักษ์ที่ล้มโครงการเขื่อนน้ำโจนในปี 2531 ได้เข้าร่วมต่อสู้กับโครงการเขื่อนต่างๆ
หยุดยั้งโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ในหลวงกับกฟผ.จะสร้างเขื่อนบนโตรกน้ำตกเหวนรกในอุทยานเขาใหญ่ที่ประชาชนคัดค้าน
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังต่อต้านโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่อีกสามแห่ง ปากพนังที่เป็นปากน้ำบริเวณกว้างในภาคใต้เป็นโครงการหลวงอยู่แล้ว หลังฝนตกหนัก น้ำท่วมบริเวณปากน้ำและทำลายพื้นที่นาบริเวณนั้น
ในปี 2532 มีรับสั่งให้ทำการขุดลอกเพื่อให้น้ำไหลลงทะเลได้สะดวก
ผลที่เกิดขึ้นคือ ทำให้น้ำเค็มหนุนเข้าไปมากกว่าเดิมในช่วงหน้าแล้งสร้างความเสียหายแก่ไร่นา มาคราวนี้ในหลวงมีพระประสงค์สร้างทำนบกันน้ำเค็ม
โครงการที่สองเป็นการสร้างเขื่อนป่าสักซึ่งจะทำให้น้ำท่วมที่นาเดิมจำนวนมาก เพื่อควบคุมปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และชลประทานฤดูแล้ง ต้นทุนสูงเกือบหนึ่งหมื่นสี่พันล้านบาท ฝ่ายต่อต้านเขื่อนว่ามีวิธีการที่ดีกว่าในการใช้งบประมาณให้เกิดผลอย่างเดียวกัน
โครงการที่สามคือเขื่อนท่าด่านเป็นเขื่อนสูงที่นักอนุรักษ์ว่าทำลายป่าแคระบริเวณขอบของอุทยานเขาใหญ่ ทั้งๆที่ในหลวงทรงผลักดันอย่างหนัก โครงการนี้ก็ไม่ก้าวหน้าเพราะรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญแล้ว
พวกนักอนุรักษ์มองว่าในหลวงภูมิพลทรงคลั่งไคล้การสร้างเขื่อน จากความผิดพลาดของโครงการพระราชดำริที่เขื่อนปากพนังยิ่งทำให้พวกนักอนุรักษ์มองว่าทรงทำผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทรงคิดแบบวิศวกรที่เชื่อว่าตนสามารถเอาชนะธรรมชาติได้
ส่วนในหลวงภูมิพลก็ทรงมองพวกนักสิ่งแวดล้อมว่าเป็นพวกอวดดี และชอบพระทัยกับการ เรียกเอ็นจีโอ NGO ว่าโง่
มีพระราชดำรัสต่อนักการทูตไทยถ่ายทอดโทรทัศน์เดือนสิงหาคม 2536 ว่าเขื่อนมีประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประชาชน ทรงสาธยายข้อดีของโครงการเขื่อนน้ำตกเหวสุวัฒน์หรือเหวนรกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ถูกยับยั้งไปสองรอบ
ตรัสว่าประชาชนจะยอมรับต่อเมื่อได้ตระหนักถึงคุณค่าของเขื่อน ช้างป่านั้นสามารถถูกโยกย้ายไปยังที่ใหม่ได้ซึ่งไม่ได้ทรงระบุว่าที่ไหน สามเดือนต่อมาในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงโจมตีพวกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ขัดขวางโครงการเขื่อนป่าสัก เขื่อนปากพนังและเขื่อนท่าด่านหกปีแล้ว
ทั้งหมดเป็นโครงการพระราชดำริ ที่จริงเป็นเพราะรัฐบาลสามชุดอ้างว่าโครงการเหล่านี้ไม่คุ้มค่า ตามข้อมูลที่ได้จากนักวิชาการของรัฐบาลเอง
มีพระบรมราโชวาทว่า“ธรรมชาติเป็นอย่างนี้ บางทีก็มาก บางทีก็น้อย แต่ถ้าสร้างเขื่อน ไอ้บางทีก็มาก บางทีก็น้อยนั้น เขื่อนก็จะเป็นเครื่องมือสำหรับเฉลี่ยน้ำ ปีไหนน้ำมากก็เก็บเอาไว้ไม่ต้องใช้ เพราะน้ำที่ลงมาพอใช้แล้ว ก็เก็บเอาไว้ ปีไหนที่น้ำน้อยก็เอาออกมาใช้ ทำให้ภัยแล้งบรรเทาลง อุทกภัยก็บรรเทาลงด้วย”
ทรงถามว่าคงจะต้องทรงบ่นเรื่องเดิมอีกหรือไม่ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาอีกหกปีข้างหน้า เมื่อถึงเวลานั้นคนกรุงเทพฯต้องลดการใช้น้ำถึง 90%
หลังจากทรงโยนปัญหาน้ำท่วมให้กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ทรงอุ้มทั้งสามโครงการไว้ในพระบรมราชูปถัมถ์อันล่วงละเมิดมิได้ของพระองค์
ทรงประกาศว่าเขื่อนปากพนังจะต้องเสร็จทันการฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีในปี 2539 และเขื่อนป่าสักกับเขื่อนท่าด่านต้องเสร็จทันการฉลองครบหกรอบ 72 ปีในปี 2542 “ถ้าเราทำที่ไหนมีการคัดค้าน เราก็ไม่อยากเผชิญการคัดค้าน มันเหนื่อยเปล่าๆ” ทรงทราบดีว่าคงไม่มีใครกล้าขัดขวางพระองค์อีกแล้ว
หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้สร้างเขื่อน โดยนายปราโมทย์ ไม้กลัดที่ปรึกษาเรื่องน้ำของในหลวงได้เปิดเผยรายละเอียดเขื่อนทั้งสามโครงการทันที กองทัพอาสาจะช่วยสร้าง รัฐบาลนายชวนเร่งรัดโครงการโดยด่วนและสองสัปดาห์ต่อมาคณะรัฐมนตรีก็อนุมัติโครงการเขื่อนป่าสักโดยไม่ต้องมีการวางแผนลงรายละเอียด
ผู้อำนวยการโครงการในพระราชดำริ คือ นายสุเมธ ตันติเวชกุลได้โหมความรู้สึกเร่งด่วนเต็มที่โดยประกาศว่า ประเทศกำลังป่วยอย่างสาหัสและในหลวงทรงทราบถึงอันตรายใหญ่หลวงหากไม่ทรงทำอะไร พระองค์ทรงอดทนมาก แต่เวลาใกล้เข้ามาทุกที..เขื่อนก็เหมือนกับการผ่าตัดมะเร็งเพื่อรักษาร่างกายที่เจ็บป่วย
ขบวนการของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องตลึงงันเพราะในหลวงภูมิพลไม่เคยคิดจะเจรจาพูดคุยหรือทำความเข้าใจกัน ทั้งไม่ทรงยอมรับพวกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแถมมีการให้ร้ายป้ายสีเหมือนพวกคอมมิวนิสต์เมื่อยี่สิบปีก่อน ทรงกล่าวหาว่าเป็นพวกไม่มีเหตุผล ขัดขวางผลประโยชน์ของประชาชนและมีความโอหังบังอาจ
ตอนนี้ไม่ว่าพวกนักอนุรักษ์จะเถียงอย่างไรก็อาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หกสัปดาห์ต่อมาได้เสด็จบริเวณเขื่อนท่าด่าน ได้มีพระราชดำรัสต่อประชาชนว่า“อย่าขายที่ เรากำลังสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อพวกท่าน ”
ปี 2537 เสียงคัดค้านการสร้างเขื่อนค่อยๆเริ่มคืนมาอย่างระมัดระวัง ไม่ดุเดือดเหมือนแต่ก่อนเน้นไปที่ข้อโต้แย้งทางเทคนิคที่มีการวิจัยทางวิชาการรองรับ
ในหลวงภูมิพลสดับคำถามเหมือนเป็นการลองภูมิรู้ของพระองค์ และทรงตอบในงานเฉลิมพระชนมพรรษาเดือนธันวาคมปีนั้น ทรงกำราบไปทีละประเด็นว่าผิดทั้งหมด และทรงมีความสุขมากที่โครงการเขื่อนป่าสักมีความคืบหน้า
เป็นการสะท้อนว่าพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระบรมเดชานุภาพในการแทรกแซงการบริหารบ้านเมือง แต่ยังต้องทำให้ประชาชนคล้อยตามว่าแนวทางของพระองค์นั้นดีกว่าของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และพระองค์ก็จำต้องชักจูงคนไทยในเมืองที่ได้ทรงละเลยมาหลายปีเพราะที่ผ่านมาทรงสนพระทัยแต่การช่วยเหลือคนในชนบท
จึงทรงต้องหันไปวิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรงเรื่องการแก้ปัญหาการจราจรและปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯเพื่อเอาใจคนเมือง การแก้ปัญหาที่ผิดพลาดหลายครั้งของรัฐบาลยิ่งเป็นการหนุนเสริมโครงการพระราชดำริของพระองค์
กรุงเทพในปี 2535 มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากเหตุการณ์วุ่นวายพฤษภา2535 ทรงเริ่มออกโทรทัศน์บ่อยขึ้น มีพระบรมราโชวาทแก้ปัญหาจราจรแก่กทม.และตำรวจ รับสั่งให้เดินรถทางเดียวหรือห้ามกลับรถ เป็นต้น
โทรทัศน์พยายามแพร่ภาพข้าราชการนั่งพับเพียบคอยรับฟังกระแสรับสั่งอย่างต่อเนื่อง ทรงชี้ไปบนแผนที่และรับสั่งเกี่ยวกับปัญหาการจราจร ทรงแนะนำการแก้ปัญหาจราจรตรงนั้นตรงนี้ โดยไม่มีใครรู้ว่าพระราชดำริมีความเป็นมาอย่างไร คนทั่วไปไม่รู้ว่ามีทีมงานข้าราชการที่ทำงานเรื่องนี้อยู่แล้วโดยได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ
ภาพที่ปรากฏออกมาจึงเหมือนกับว่ามีแต่พระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่ทรงกำลังแก้ปัญหานี้ และมีการโหมการโฆษณาชวนเชื่อด้วยการขยายข่าวที่แสดงภาพให้เห็นว่าในหลวงภูมิพลทรงแก้ไขปัญหาแต่ผู้เดียว
ข่าวราชการเดือนตุลาคม 2536 ระบุว่าในหลวงภูมิพลทรงมอบหมายงานให้อธิบดีกรมตำรวจเป็นรายการยาวเหยียด เช่น สร้างอุโมงค์ลอดทางแยก 23 แห่ง เพิ่มการขนส่งทางเรือเพื่อลดการใช้รถบรรทุกในกรุงเทพฯ จัดหารถจักรยานยนต์ตำรวจมากขึ้น ปรับปรุงเฮลิค็อปเตอร์ตำรวจ และการสำรวจผู้ใช้รถ
รับสั่งให้กทม.ดำเนินการตามแผนแม่บทที่จัดทำโดยสถาบันเทคโนโลยีแมสสาจูเซท Massa chusetts Institute of Technology ราชินีสิริกิติ์ก็ทรงมีราชเสาวณีย์ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2536 ให้ลดจำนวนรถยนต์ เลิกใช้รถคันใหญ่ และเพิ่มจำนวนรถเมล์
ในหลวงแสดงความไม่สบพระอารมณ์ เพราะปัญหาจราจรทำให้เสด็จออกจากวังไม่ค่อยได้เพราะขบวนเสด็จจะทำให้รถติด มีการโฆษณาว่ากำลังทรงหาทางออกด้วยพระองค์เอง ปล่อยข่าวลือว่าในหลวงทรงแอบขับรถออกมาตะลุยตอนรถติดโดยไม่ให้ใครรู้และทรงสำรวจการจราจรบนเฮลิค็อปเตอร์
รวมทั้งรับสั่งพระโอรสพระธิดาไม่ให้ใช้ขบวนรถ และให้ทนสภาพรถติดเหมือนกับคนอื่นๆซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงแก้ปัญหาจราจร ระหว่างปี 2535-38 พระราชทานเงิน90ล้านบาทซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ตำรวจจราจร ปรับปรุงถนนและช่วยเหลือตำรวจจราจร ทางวังโฆษณาว่าการพระราชทานเงินครั้งนี้เป็นความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าอยู่หัวเหนือระบบราชการที่เฉื่อยเนือย
มีพระบรมราโชวาทออกทีวี สิงหาคม 2536เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาจราจรโดยเร็ว ไม่ว่าจะต้องลงทุนมากเพียงใด เพราะต้นทุนไม่มีทางสูงขนาดนี้หากมีการจัดการเมื่อ 20 ปีก่อน
ซึ่งพระองค์ได้ทรงทำนายไว้แล้ว ทรงเตือนว่าในอีกห้าหรือหกปีข้างหน้าปัญหาจราจรจะท่วมทั่วประเทศ “เราต้องแก้ไขต้นทางไปปลายทางหมายความว่า จัดให้ต้นทางกับปลายทางอยู่ในระยะที่ใกล้ขึ้น ถ้าใกล้ขึ้นแล้ว การใช้ถนนก็จะน้อยลง การใช้ถนน จำนวนของถนนหรือความยาวของถนนที่ถูกใช้นั้นก็น้อยลง ก็เท่ากับถนนมีมากขึ้น และรถน้อยลง” หมายความว่าให้บ้านและที่ทำงานอยู่ใกล้ๆกัน ซึ่งก็ฟังดูดีดูเท่ แต่ไม่ได้มีความหมายมากนัก
พระราชดำริบางอย่างก็เป็นประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ทำกันอยู่แล้ว พระราชดำริบางเรื่องก็ผิดเต็มๆ เช่น การทำอุโมงค์ลอดทางแยกหลายแห่งกับการที่พระองค์ทรงคัดค้านการขึ้นภาษีรถยนต์
ในหลวงภูมิพลไม่เคยตรัสถึงปัญหาหลัก เช่นการก่อสร้างที่ไร้การวางผังควบคุม ความจำเป็นที่ต้องมีระบบขนส่งมวลชน หรือการเพิ่มจำนวนรถอย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วงหนึ่งมีรถใหม่ออกสู่ท้องถนนในกรุงเทพฯมากกว่า 15,000 คันต่อเดือนหรือมากกว่าวันละห้าร้อยคัน
แต่การนำเสนอการแก้ปัญหาสู่สาธารณะนั้น ต้องทรงแน่ใจว่าไม่มีใครอื่นที่จะแย่งเอาความดีความชอบของพระองค์ไปได้ คือทรงต้องการเอาหน้าสร้างความนิยมชมชอบแต่เพียงพระองค์เท่านั้น
ต้นปี 2538 ในหลวงทรงวิตกอาการประชวรเรื้อรังของพระชนนีศรีสังวาลย์ ต่อมาก็เป็นอาการประชวรของพระองค์เอง ซึ่งหวุดหวิดแทบจะพระทัยวายทำให้ต้องเสด็จรับการผ่าตัดขยายหลอดเลือดพระหทัย
แทนที่จะทำให้พระองค์ลดการแทรกแซงทางการเมืองลงบ้าง แต่ทรงกลับรู้สึกว่ายิ่งต้องเร่งมือ ช่วงประทับพักฟื้นในโรงพยาบาลศิริราช ทุกสองสามวันจะทรงปรากฏพระองค์ทางโทรทัศน์ ทรงพิจารณาศึกษาแผนที่กับนักวางแผนของกทม.
โดยมักจะมีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าเฝ้าในช่วงค่ำ บางทีหลังเที่ยงคืน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทรงงานแก้ไขปัญหาทั้งวันทั้งคืน แต่มีคนไทยน้อยคนที่จะรู้ว่าในหลวงมักจะบรรทมตอนเช้าและทำงานเฉพาะช่วงบ่ายและกลางคืน คือพระองค์บรรทมดึกและตื่นราวๆเที่ยงวัน เวลาทรงออกหน้าจอโทรทัศน์ จะมีพระสุรเสียงที่หงุดหงิดและเกือบจะดุด่าว่ากล่าวเจ้าหน้าที่ ไม่มีที่ท่าว่าจะผ่อนคลายลง
จนกระทั่งสมเด็จพระราชชนนีสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงได้เสด็จงานพระบรมศพเป็นเวลาหลายเดือนเกือบทุกวัน แต่ในเวลาที่คนอื่นฟังพระสวดพระอภิธรรม ก็จะเห็นในหลวงทรงศึกษารายงานการจราจรและทรงร่วมประชุมอย่างคร่ำเครียดกับเจ้าหน้าที่กทม.
ช่วงที่สมเด็จพระราชชนนีสิ้นพระชนม์ตรงกับรัฐบาลบรรหารที่มีประวัติไม่ค่อยสะอาดนัก รองนายกรัฐมนตรีสองคนคือ นายสมัคร สุนทรเวชกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงฐานคะแนนในกรุงเทพฯรวมถึงการแก้ปัญหาจราจร
ในหลวงภูมิพลทรงกริ้วและตำหนิรองนายกรัฐมนตรีทั้งสองคนว่าแก้ไขปัญหาจราจรไม่ได้เลย “ระหว่างสองฝ่าย มีแต่พูดพูด พูด และก็เถียง เถียง เถียง” การที่ทรงตำหนิไม่ไว้หน้าได้เป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทั้งพตท.ทักษิณ นายสมัครและนายบรรหารต้องร้อนตัวไปหลายวันเพื่อแสดงความสำนึกผิด
นายกบรรหารประกาศว่าจะน้อมรับใส่เกล้าฯและประสานงานกับรองนายกฯทั้งสอง นายสมัครกับพตท.ทักษิณให้สัญญาว่าจะทำงานร่วมกัน
สี่วันต่อมาพวกเขาเข้าเฝ้าในหลวงหลายชั่วโมง ไล่ดูแผนที่กรุงเทพฯ และลงรายละเอียดปัญหาในแต่ละพื้นที่ พตท.ทักษิณกล่าวยอมรับอย่างสิ้นสภาพว่า“เราไม่เคยคิดในสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงให้การแนะนำมาก่อนเลย”
มีอีกครั้งที่ในหลวงภูมิพลได้แสดงให้เห็นว่านักการเมืองเป็นพวกไร้ความสามารถและไม่ใส่ใจประชาชน ทรงแสดงความเกรี้ยวกราดที่ไม่ปกติและออกจะไม่งาม แต่ประชาชนเข้าใจว่าทรงมีปัญหาพระสุขภาพและพระราชชนนีศรีสังวาลย์สิ้นพระชนม์ และยังต้องเสด็จบรมมหาราชวังเพื่อทรงเฝ้าพระบรมศพสมเด็จพระราชชนนีทุกวัน
แต่พระองค์กลับอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญในฐานะพลเมืองทั่วไปที่จะตำหนิผู้นำ ซึ่งเป็นการอ้างที่ประหลาดมากและแสดงถึงความเก็บกดและความอึดอัดของพระองค์ในสถานะพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระราชดำรัสว่า“ที่พูดอย่างนี้ก็ไม่ค่อยดีนัก เพราะเกือบจะเป็นการพูดเรื่องการเมือง และพวกเขาก็อาจไม่พอใจได้ว่า ทำไมกษัตริย์พูดเรื่องการเมือง ในความเป็นจริง กษัตริย์ก็มีสิทธิ ในความเป็นจริง กษัตริย์ก็เป็นพลเมืองไทยที่มีสิทธิและเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ...
ตามรัฐธรรมนูญ ทุกๆ คนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะพูด ก็เลยขอใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะพูดอย่างนี้ ถ้าพวกเขาอยากจะหาความผิดทางกฎหมาย ก็เชิญ อยากได้ยินข้อหา ” เป็นเพียงเวลาสั้นๆที่ในหลวงได้ทรงลากพระราชบัลลังก์ลงมาอยู่ในระดับเดียวกับสามัญชน
ทรงถอดเกราะพิเศษออกอย่างน่าหวาดเสียว ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอ้างสิทธิของพลเมือง แต่มันก็ได้ผลชะงัด เมื่อเสด็จเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งในเดือนกันยายนเพื่อรักษาแผลที่กำเริบจากการผ่าตัด ผู้คนพากันพูดว่านายกบรรหารทำให้พระอาการโรคพระหทัยของพระองค์กำเริบ
ต้นเดือนกันยายน 2538 กรุงเทพเกิดน้ำท่วมหนัก พระเจ้าอยู่หัวที่ยังทรงอ่อนระโหยจากการผ่าตัดได้โปรดเกล้าฯให้เจ้าหน้าที่ กทม.และกรมชลประทานเข้าเฝ้าเป็นเวลาสามชั่วโมงซึ่งได้รับการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ ทรงชี้ไปที่แผนที่ที่กองเป็นตั้ง ทรงอยากรู้ว่าทำไมคนที่อยู่ชานกรุงเทพฯ จึงไม่ได้รับการป้องกันจากภัยน้ำท่วม ซึ่งพระองค์ก็ตรัสถูกในระดับหนึ่ง ว่ารัฐบาลสามารถทำได้มากกว่านี้ในการที่จะลดผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น ขุดลอกคลองและคูระบายน้ำ และน่าจะขุดคลองให้มากตั้งแต่สิบปีที่แล้ว เป็นเพียงโวหารมากกว่าคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เป็นแค่การสรรหาถ้อยคำมาเชือดเฉือนเพื่อบ่อนทำลายรัฐบาลและนักการเมืองเท่านั้นเอง
ปลายปี 2538 แม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นสูงมาก บวกน้ำทะเลหนุนและฝนทำให้การระบายน้ำช้าผิดปกติ ปัญหาที่สะสมเป็นสิบปีจากการก่อสร้างที่ไร้การวางผังและกีดขวางทางระบายน้ำยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ชานเมืองถูกน้ำท่วมมากกว่าเขตชั้นในเนื่องจากรัฐบาลปิดประตูน้ำเพื่อรักษากรุงเทพฯชั้นในอันเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการและพระราชวัง ทำให้ผู้คนไม่เชื่อถือรัฐบาลบรรหารรวมไปถึงระบบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ทำงานแก้ปัญหาไม่ได้ผล ซึ่งเป็นไปตามที่พระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสไว้
หลังจากน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์บรรเทาลง นายปราโมทย์ ไม้กลัด ผู้ช่วยเรื่องน้ำของเจ้าได้ประกาศว่าจะต้องสร้างเขื่อนอีกสองแห่งในภาคเหนือ คือ เขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนแควน้อย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในอนาคต
ทรงกวดขันให้เร่งมือโครงการเขื่อนป่าสักและเขื่อนปากพนังแม้ว่าต้นทุนของเขื่อนปากพนังบานปลายไปถึง 16,000 ล้านบาท รัฐบาลต้องจำยอมโดยไม่มีคำถามใดๆ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไทยที่เคยคัดค้านแก่งเสือเต้นอย่างแข็งขัน ก็คัดค้านอะไรไม่ได้มากนัก หนึ่งปีต่อมา ก่อนนายบรรหารลาออกจากตำแหน่งนายกฯไม่กี่ชั่วโมง ได้ถวายงานสนองวังด้วยการเร่งออกมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยไม่สนใจผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ออกมาในแง่ลบ
ปี 2539 พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมีพระชนม์ย่าง 69 ชันษาเป็นวัยที่ต้องพักผ่อนหรือหันหน้าเข้าวัด หากเป็นข้าราชการก็เกษียณมาเก้าปีแล้ว ถ้าเป็นกษัตริย์หรือพระราชินีก็น่าจะวางมืออยู่สบายๆในหอพระเกียรติยศ
พระบรมราโชวาทในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในช่วงท้ายการเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกครองราชสมบัติ 50 ปีน่าจะเป็นพระราชดำรัสเพื่อการกล่าวอำลาพระราชภารกิจ แต่หนังสือพระมหาชนกฉบับในหลวงกลับสะท้อนพระราชประสงค์อีกแบบหนึ่ง คือพระราชกรณียกิจยังไม่เสร็จสิ้น ทรงเป็นห่วงว่า หากไม่มีการเขี่ยวเข็ญกวดขัน โครงการเขื่อนและการจราจรในพระราชดำริจะหยุดชะงักเนื่องจากระบบราชการหรือถูกพวกนักเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้าน
เช่น โครงการก่อสร้างสะพานพระราม 8 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังถูกต่อต้านซึ่งพระองค์ต้องจำต้องงัดพระบารมีออกมาสู้เต็มที่เพื่อให้สะพานได้สร้างเสร็จสมบูรณ์
ทรงขุ่นพระทัยที่พสกนิกรไม่พร้อมใจเชื่อทฤษฎีใหม่ว่าด้วยการเกษตรและพระราชดำริทางเศรษฐศาสตร์ของพระองค์ และทรงเอาจริงต่อปัญหาการทุจริตซึ่งที่ผ่านมามิได้สนพระทัยเสมือนว่าการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นทั่วไป
แต่มีบางกรณีที่มากระทบวังมากในปี 2539 คือการปิดธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ สร้างความเสียหายแก่รัฐถึง 8 หมื่นล้านบาท เป็นธนาคารของพวกเจ้า พวกขุนนางและขุนศึกที่มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเคยเป็นประธาน และเรื่องบริษัทก่อสร้างของนายบรรหารได้สัญญาสามพันล้านบาทสร้างเขื่อนปากพนังในพระราชดำริ เกิดความไม่แน่นอนไปทั้งโครงการ
ขณะที่เกิดการต่อสู้กันระหว่างตุลาการคณะผู้พิพากษาสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งนำโดยนายประมาณ ชันซื่อประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นอดีตคนโปรดของวัง ขณะที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายปี 2539 ในหลวงทรงทำอะไรไม่ได้มากนักในแต่ละกรณี แต่ทำให้พระองค์ทรงเลือกเฟ้นคนที่ทำงานให้วังมากขึ้นและทรงเข้มงวดมากขึ้นในการเลื่อนตำแหน่งข้าราชการ
ในปี 2536 รัฐบาลนายชวนเผชิญกับการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากพวกขวาจัด กลุ่มนักวิชาการและผู้นำทางสังคมได้รวมตัวกันกดดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องการให้สังคมและรัฐบาลทำงานอย่างถูกต้องและเป็นระบบ แต่นักกฎหมายรายหนึ่งอธิบายว่า “รัฐธรรมนูญไทยไม่เคยเป็นสัญญาประชาคมหรือข้อตกลงสำหรับผู้มีอำนาจที่จะต้องรับใช้ประชาชน แต่มันเป็นแค่กฎกติการะหว่างผู้มีอำนาจด้วยกัน” โดยมีพระเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มชูอุปถัมภ์ระบบเนื่องจากรัฐธรรมนูญมาแล้วก็ไป ไม่ใช่กลไกที่จะพึ่งพาได้สำหรับอนาคต ต่างจากสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มั่นคงยืนยงมาตลอด
นายอานันท์ ปันยารชุน อธิบายว่าเป้าหมายหลักว่าคือการลดทอนอำนาจทางการเมืองของกองทัพ เพราะระบบของไทยปล่อยให้กองทัพมีบทบาทมากเกินไป เป็นเรื่องที่ไม่สมควร
นายแพทย์ประเวศ วะสีได้อธิบายเป้าหมายของพวกเขาด้วยการใช้วาทกรรมที่ว่าอำนาจเงินครอบงำการเมืองหรือธนกิจการเมือง ความไม่โปร่งใสในการบริหารงานที่เรียกว่าธรรมาภิบาล (Good Governance)
การทุจริตคอรัปชั่น
ความไร้วินัยของสภาและความไร้เสถียรภาพอันแก้ไม่หาย ต้องมีการทำงานเป็นขั้นตอนเพื่อก้าวไปสู่การบรรลุความสามัคคีภายใต้คาถาชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยมีทศพิธราชธรรมเป็นหลักธรรมนำชัย
พอปลายปี 2539 รัฐสภาก็มอบหมายให้พวกนักปฏิรูปทำการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญภายใต้การดูแลของหมอประเวศ นายอานันท์เเละนักปฏิรูปนิยมเจ้าอีกหลายคน รวมถึงนายกระมล ทองธรรมชาติ เจ้าตำรับรัฐบาลแห่งชาติของพระเจ้าอยู่หัวยุคเปรม
ด้วยการเกี่ยวข้องของคนเหล่านี้ ในหลวงภูมิพลทรงเกิดความสนพระทัยถึงกับทรงลงทุนศึกษารัฐธรรมนูญและระบบสภาของประเทศอื่นๆ ในวันที่ 18 มกราคม 2540 มีพระบรมราโชวาทแก่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยทรงกำชับให้สอดคล้องพระราชดำริให้เขียนรัฐธรรมนูญให้สั้น เพราะยิ่งยาวก็จะยิ่งจำกัดในการตีความ
เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีจนทำให้ข้าราชการ นักธุรกิจและนักการเมืองประมาทชะล่าใจไปกับความรุ่งเรืองฟุ้งเฟื่องของเศรษฐกิจไทย แต่พอถึงปลายปี 2539 เศรษฐกิจของไทยเริ่มทรุดฮวบ
เงินทุนสำรองของประเทศทั้งหมด 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯหรือกว่าหนึ่งล้านล้านบาทได้ลดน้อยลงมาก จนทำให้ต้องลอยตัวค่าเงินบาทอย่างมโหฬารในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 วันแรกค่าเงินบาทอ่อนตัวจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ลงไปเป็น 32 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าที่สุดเมื่อเดือนมกราคม 2541 ถึง 56 บาทต่อดอลลาร์
ส่งผลให้ธุรกิจในประเทศต้องล้มกันระนาว โดยเฉพาะคนที่กู้เงินดอลลาร์ กู้มาดอลลาร์ละ 25 บาท แต่ใช้หนี้ดอลลาร์ละ 56 บาท คนทั้งประเทศรวมทั้งวังอยู่ในอาการช็อคเมื่อเศรษฐกิจพังพาบในช่วงปีถัดมา ธนาคารขาดสภาพคล่องไม่มีเงินให้กู้ บริษัทไทยนับพันแห่งล้มละลาย เศรษฐกิจไทยพังพินาศ จนเกิด “พิษต้มยำกุ้ง” ระบาดไปทั่วโลกได้เผยให้เห็นความผิดพลาดเชิงระบบจำนวนมาก การบริหารงานผิดพลาดเเละลัทธิพวกพ้องที่ทุจริตฉ้อฉลที่ได้หยั่งรากลึกหนุนเสริมภาวะฟองสบู่ที่ดำเนินมาหลายปี
คนไทยไม่สนใจคำเตือนจากนักเศรษฐศาสตร์และกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาหลายปี จะโทษนักการเมืองฝ่ายเดียวก็คงไม่ถูก แต่ต้องโทษกลุ่มชนชั้นนำ พวกข้าราชการระดับสูงและนายธนาคารที่ใช้ระบบการเงินเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพรรคพวกจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติไปแล้ว
มหาเศรษฐีและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เกือบทั้งหมด ข้าราชการ นักการเมืองและชนชั้นสูงของไทยจำนวนมากต้องเสียหายยับเยินจากการลดค่าเงินบาท ซึ่งรวมถึงพวกเจ้า ข้าราชการในวังและธุรกิจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เครือซีเมนต์ไทยกู้เงินต่างประเทศมากที่สุดเกือบ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่าสองหมื่นล้านบาท ขณะเกิดวิกฤต หลังลดค่าเงินบาท บริษัทเครือซีเมนต์ไทยได้ล้มละลายไปแล้วในทางบัญชี
ที่หนักกว่าคือธนาคารไทยพาณิชย์ในเครือพระมหากษัตริย์พึ่งเงินทุนต่างประเทศจำนวนมหาศาล ลูกค้าใหญ่ของธนาคารมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ประเมินราคาสูงเกินจริงอย่างมาก อสังหาริมทรัพย์พังทลายขายไม่ออก มูลค่าลดลงมาก ราคาเหลือไม่ถึงครึ่ง ปัญหาของธนาคารไทยพาณิชย์พันกันเป็นงูกินหางหรือล้มละลายเป็นลูกโซ่ เพราะ ปล่อยกู้แก่บริษัทพัฒนาที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
โดยผู้พัฒนาโครงการใช้ผู้รับเหมาที่ได้เงินกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์เช่นกัน (เช่น บริษัทคริสเตียนนี่เนลสันประเทศไทย Christiani & Nielsen Thailand เจ้าของคือธนาคารไทยพาณิชย์และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)ซื้อวัสดุก่อสร้างจากเครือซีเมนต์ไทยที่รับเงินกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ และขายให้กับลูกค้าที่จำนองหลักทรัพย์กับธนาคารไทยพาณิชย์หรือไม่ก็เป็นบริษัทลูก
พอเกิดวิกฤต กระแสเงินหมุนเวียนของโครงการที่ยังสร้างไม่เสร็จก็ต้องหยุดชะงัก ในแต่ละขั้นตอนก็จะเกิดหนี้เสียขึ้นมาเรื่อยๆ ธนาคารจึงไม่เหลืออะไรที่จะยึดฉวยเอาไว้ได้เลย เป็นหายนะกันทั้งขบวนที่ธนาคารไทยส่วนใหญ่ประสบ แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ดูจะถลำลึกไปไกลกว่าธนาคารอื่นๆเพราะผูกโยงกันไปหมด ขณะที่เครือซีเมนต์ไทยมีทรัพย์สินที่พอจะขายมาใช้หนี้ได้ แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ของในหลวงภูมิพล และธนาคารอื่นๆแทบไม่เหลืออะไรเลย
รายได้ของวังหายไป จากเดิมที่เคยอยู่ในระดับสองสามพันล้านบาทต่อปี กลายเป็นไม่มีเงินปันผลเพราะขาดทุน ผู้เช่าที่ดินก็หยุดจ่ายค่าเช่า วังไม่มีทุนที่จะไปอุ้มกิจการที่สำคัญๆของตน รายได้จากเงินการกุศลก็ลดน้อยลง วิกฤตนี้ก่อให้เกิดแรงกดดันที่จะต้องสร้างระบบใหม่ที่น่าเชื่อถือ โปร่งใสและเปิดเผยมากขึ้น
กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ เสนอให้เงินกู้ฉุกเฉินกว่า 15 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่าหกแสนล้านบาท โดยมีเงื่อนไขเข้มงวดสำหรับการปฏิรูปกฎหมายระบบการเงินและการบริหารเศรษฐกิจ ไทยจะพ้นจากวิกฤตโดยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น แต่ต้องยอมให้ธุรกิจใหญ่ๆ ล้มและมีการลงโทษผู้กระทำผิด ทำให้ชนชั้นนำของไทยหลายคนจ่อคิวล้มละลาย พวกเขาต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินของตนเอง
ในหลวงควรต้องให้การสนับสนุนแผนการปฏิรูปตามคำสั่งของไอเอ็มเอฟ แต่พระองค์กลับทรงแทรกแซง ด้วยการพยายามที่จะฟื้นรัฐบาลเปรมของพระองค์ให้กลับฟื้นคืนมา หลังจากการลดค่าเงินบาท รัฐบาลพลเอกชวลิตถูกกดดันอย่างหนักจากบรรดาชนชั้นนำไทยให้ปฏิเสธแผนของ ไอเอ็มเอฟ แต่เงินบาทกับเศรษฐกิจยิ่งร่วงหนักลงไปอีก
พรรคประชาธิปัตย์ที่สนับสนุนแนวทางของ ไอเอ็มเอฟก็โจมตีรัฐบาลพลเอกชวลิตในสภา ว่าไร้ความสามารถและไม่มีผลงาน หวังไล่รัฐบาลพลเอกชวลิตออกไป เพื่อเป็นรัฐบาลแทน จากนั้นก็จะดำเนินการทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจและการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่พอรัฐบาลพลเอกชวลิตทำท่าจะร่วงจริงๆ พลเอกชวลิตก็เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวและออกงานร่วมกับผบ.สามเหล่าทัพ แสดงความเเน่นเเฟ้นระหว่างวัง กองทัพและรัฐบาล โดยมีพลเอกเปรม ตัวแทนของในหลวงเป็นผู้ประสานงาน การแทรกแซงของวังไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ปัญหา แต่เป็นการขัดจังหวะกระบวนการทางรัฐสภาที่ยังคงทำหน้าที่ กลุ่มนักอุตสาหกรรมที่มีพลังสูงก็ขอให้พลเอกเปรมยื่นมือเข้ามาปกป้องรัฐบาล
หลังจากการเข้าพบพลเอกเปรม รัฐบาลพลเอกชวลิตก็ซื้อเวลาด้วยการยอมรับเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ เสนอชื่อนายวีรพงษ์ รามางกูรที่ปรึกษาเศรษฐกิจส่วนตัวของพลเอกเปรมมาแก้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ พลเอกชวลิตกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้เข้ามาถ่วงเวลาการทำงานตามแผนไอเอมเอฟ เพราะไม่มีเหตุผลที่จะอ้างได้เลย เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ของนายชวนได้พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาสามารถบริหารประเทศอย่างมีความรับผิดชอบมากกว่า และก็เป็นไปตามคาด คือรัฐบาลพลเอกชวลิตชะงักในการดำเนินการตามแผนอันเข้มงวดของไอเอ็มเอฟและเศรษฐกิจก็ทรุดหนักดำดิ่งลงไปอีกจนเอาไม่อยู่
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์โจมตีรัฐบาลอีก พลเอกเปรมก็ยื่นมือเข้ามาอย่างเปิดเผยมากขึ้นในฐานะผู้ค้ำประกันของรัฐบาลพลเอกชวลิต ในงานวันเกิดของพลเอกเปรมในวันที่ 25 สิงหาคม ที่เต็มไปด้วยผู้มาอวยพรทั้งทหารและนักการเมืองรวมทั้งพลเอกชวลิตด้วย พลเอกเปรมได้เรียกร้องให้มีความร่วมมือและความสามัคคี “เราจะแตกแยกไม่ได้ โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลและฝ่ายค้าน..หากเราต้องการเห็นประเทศชาติฟื้นฟูกลับสู่ความรุ่งเรืองโดยเร็ว”
พลเอกเปรมพูดสำนวนของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล แต่คราวนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่หวั่นเกรงอีกต่อไปแล้ว มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตรที่เป็นสส.ประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น ได้ตอบโต้การแทรกแซงของพลเอกเปรมว่าเป็น “รัฐประหารเงียบ” โดยอ้างบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าองคมนตรีต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณซึ่งเป็นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อีกคนก็พูดว่า “ดูเหมือนว่าทหารกำลังปกครองประเทศอยู่ มันไม่เป็นลางดีสำหรับกระบวนการประชาธิปไตย” คำวิจารณ์นี้เป็นการทิ่มแทงไปที่พลเอกเปรม และก็แถมเผื่อไปถึงพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลด้วยเช่นเดียวกัน
การต่อสู้ไม่ได้มีแต่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จตอนปลายเดือนสิงหาคม พรรคความหวังใหม่ของพลเอกชวลิตต่อสู้เพื่อล้มร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นหนึ่งที่ใช้โต้แย้งคือรัฐธรรมนูญนี้ลดอำนาจของพระมหากษัตริย์และกองทัพ ด้วยการสนับสนุนจากปีกอนุรักษ์นิยมที่ทรงอิทธิพลในวุฒิสภาและกองทัพ พลเอกชวลิตพยายามบีบให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คราวนี้วิกฤตเศรษฐกิจทรุดหนักเข้าทางพวกนักปฏิรูปที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง
พระเจ้าอยู่หัวทรงมีท่าทีว่าจะไม่ซ้ำเติมสถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ทรงมีรับสั่งให้นายสุเมธ ตันติเวชกุลออกมาพูดว่าวังไม่มีปัญหากับร่างรัฐธรรมนูญนี้ ไม่มีกฎหมายใดที่จะสั่นคลอนความจงรักภักดีของประชาชนที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลได้ ปัญหาสามารถแก้ไขได้ภายหลัง การส่งสัญญาณนี้ทำให้พลเอกชวลิตรับรองร่างรัฐธรรมนูญและกราบบังคมทูลถวายในวันที่ 11 ตุลาคม 2540
แต่รัฐบาลพลเอกชวลิตก็ไปไม่รอด ต้นเดือนตุลาคม ค่าเงินบาทยังคงร่วงลงไปอีกเเละการทำข้อตกลงกับไอเอ็มเอฟต้องสะดุด ตลอดทั้งประเทศเกิดความรู้สึกว่ามีเคราะห์กรรม ผู้คนทำบุญหวังล้างเคราะห์กรรม พระสังฆราชจัดสวดมนต์หมู่โดยพระกว่าร้อยรูปที่วัดพระแก้ว ร่วมด้วยรัฐมนตรีและข้าราชบริพารในวัง หลายคนเรียกร้องให้พระเจ้าอยู่หัวทรงปกป้องคุ้มครองประเทศให้แคล้วคลาดปลอดภัย
พลเอกเปรมเสนอให้ถอยหลังกลับไปสู่รัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัวที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง วันที่ 6 ตุลาคม พลเอกเปรมเรียกบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชั้นนำของประเทศมาพบที่บ้านสี่เสาและบอกว่าฝ่ายค้านในสภาควรเห็นชอบกับการตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่เป็นเอกภาพไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ที่ประกอบด้วยผู้ที่ไม่ใช่นักการเมือง โดยมีผู้นำที่เป็นอิสระ ซึ่งเข้าใจกันว่าหมายถึงตัวพลเอกเปรมหรือเป็นพวกตัวแทนของพลเอกเปรม
โดยยืนยันว่าไม่มีวาระซ่อนเร้นและความคิดนี้เป็นทัศนะส่วนตัว ไม่ใช่ในฐานะองคมนตรี หมายความว่าไม่ได้มาจากพระเจ้าอยู่หัว โดยกล่าวว่า “อาจถือได้ว่าเป็นทัศนะของรัฐบุรุษในช่วงเวลาอันไม่ปกติอย่างนี้ ในยามวิกฤตเศรษฐกิจ” พลเอกเปรมก็ยังได้พูดแบบเดียวกับในหลวงภูมิพลในเชิงว่าสภาไม่มีประโยชน์ “เวลาคนพูดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ เขาเข้าใจผิด คิดไปว่า 393 คนในสภาผู้แทนฯ จะไม่มีแบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายค้าน ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมบอกว่ารัฐบาลแห่งชาติคือการนำเอาคนที่เยี่ยมที่สุดของประเทศมาเป็นรัฐบาลไม่ใช่แค่ 393 คน ถึงจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ถ้าคุณเป็นพลเมืองไทยหมายเลข 1 คุณก็จะเป็นนายกฯ ที่เหลือ 2, 3, 4, 5 ก็จะเป็นรัฐมนตรี” เมื่อไล่เรียงไปตามแนวคิด
พลเอกเปรมได้เอ่ยชื่อคนสามคนซึ่งล้วนมาจากแวดวงของตน ที่บอกว่าเป็นมือดีที่สุดสำหรับการรักษาอาการป่วยไข้ของเศรษฐกิจ (ได้แก่คนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี คือ นายวีระพงษ์ รามางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายทนง พิทยะ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์
ภายหลังนายชัยวัฒน์ วิบูลสวัสดิ์ต้องรับผิดชอบมากที่สุดสำหรับเงินคงคลังที่สูญเสียไปเกือบเกลี้ยง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐจากการแทรกแซงค่าเงินบาทในตลาด การสนับสนุนคนเหล่านี้เท่ากับเป็นการรักชาติ เท่ากับพลเอกเปรมกำลังเสนอให้เดินถอยหลังกลับไปเมื่อยี่สิบปีก่อน โดยสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับหลักการประชาธิปไตยที่ระบุในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังใส่พานรอการลงพระปรมาภิไธยจากพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล
และเป็นเหมือนเดิม คือ ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นพระราชประสงค์ของในหลวงหรือเป็นแค่ความคิดของพลเอกเปรมคนเดียว แต่พลเอกเปรมเป็นประธานองคมนตรี เเละได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมีความสำนึกเป็นอย่างดีมุ่งปกป้องประโยชน์และพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวอย่างสุดจิตสุดใจเสมอมา จึงเป็นเรื่องยากที่พลเอกเปรมพูดเองโดยมิได้กราบบังคมทูลปรึกษาพระเจ้าอยู่หัว การขยับรุกเข้าแทรกแซงทางการเมืองของวังในคราวนี้ทำให้ขบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยสั่นไหว
มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตรผู้มีเชื้อเจ้าตอบโต้ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่าแนวคิดเรื่องรัฐบาลเเห่งชาติมีจิตวิญญาณประชาธิปไตยน้อย เป็นการชูรัฐบาลผู้ชำนาญการของนายอานันท์ ปัญญารชุนในช่วงปี2534-35 ให้เป็นอุดมคติที่เลอเลิศ ซึ่งรัฐบาลแห่งชาติจะมีอยู่ก็แต่ในภาวะที่ปราศจากรัฐธรรมนูญและรัฐสภาเท่านั้น แต่ตอนนี้ประเทศไทยมีทั้งสองอย่างแล้ว
และพลเอกเปรมก็ทำเกินหน้าที่ เพราะในฐานะที่เป็นองคมนตรี พลเอกเปรมต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและต้องมีมารยาทอย่างเคร่งครัดที่จะไม่ข้องเกี่ยวกับการเมืองรวมทั้งการแบ่งฝ่ายทางการเมือง การให้สัมภาษณ์ของพลเอกเปรมจึงต้องไม่เป็นเรื่องการเมือง แต่สิ่งที่พลเอกเปรมพูดอาจเป็นถ้อยแถลงปลอดการเมืองที่มีนัยทางการเมืองมากที่สุดในปีแห่งความยุ่งยากนี้ และพลเอกเปรมกำลังเตรียมตัวจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกโดยกล่าวว่า “ถ้าให้เป็นไปตามความประสงค์ของคนบางส่วน องคมนตรีรายนี้อาจจะแปลงร่างจากการเป็นบุคคลปลอดการเมืองที่ทรงอิทธิพลการเมืองมากที่สุดในประเทศกลายเป็นผู้นำทางการเมืองที่ทรงอำนาจมหาศาลอีกคำรบหนึ่งก็เป็นได้”
มรว.สุขุมพันธ์หลีกเลี่ยงการเอ่ยถึงพระเจ้าอยู่หัว โดยเน้นแต่เพียงว่าไม่มีเหตุผลที่ควรเชื่อได้เลยว่ารัฐบาลแห่งชาติจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดีกว่ารัฐบาลอื่น แต่ในตอนท้าย เขาก็กล้าส่งเสียงถึงในหลวงโดยท้าวความถึงการที่สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษ(กษัตริย์จอร์ชที่ 5)ได้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติในปี 2474 เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกซึ่งเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อหลังจากแนวคิดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติถูกนำเสนอและได้รับการเห็นชอบภายในสภามาก่อนแล้วเท่านั้น
ความหมายก็คือให้รัฐสภาไทยตกลงกันได้ข้อยุติเสียก่อน จึงค่อยเข้ามาแทรกแซง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งในหลวงและพลเอกเปรมไม่เคยมีความอดทนดังกล่าวมาก่อนเลย ทางเลือกนี้ทำให้รัชกาลที่เก้าทรงตกอยู่ในภาวะที่วางพระองค์ไม่ถูกเหมือนรัชกาลที่เจ็ดในปี 2475 ที่ต้องทรงเผชิญกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ต่างก็ไม่เข้าใจบรรดาที่ปรึกษาของพระองค์ต่างก็เห็นกันไปคนละทาง
ภายนอกรัฐบาลเกิดแรงกดดันให้มีการปฏิรูปอย่างกว้างขวางเพื่อรับมือปัญหาเศรษฐกิจ แต่จะไปลดอำนาจของกษัตริย์และอำนาจเศรษฐกิจของพวกเจ้าและขุนนาง ซึ่งรัชกาลที่เจ็ดได้ทรงตัดสินพระทัยครั้งสำคัญที่ส่งผลเลวร้ายตามมา คือทรงยอมรับคำแนะนำของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ที่แนะให้ปฏิเสธการปฏิรูปและทำการปกป้องชนชั้นนำซึ่งก็คือพวกเจ้านั่นเอง หกสัปดาห์หลังจากนั้นก็เกิดการปฏิวัติโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ปี 2540 ในหลวงรัชกาลที่เก้าทรงเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกับต่างชาติที่มีความซับซ้อนเป็นวิกฤตที่ทั้งพระองค์และที่ปรึกษาไม่สามารถเข้าใจได้ อาจต้องเปิดทางให้รัฐบาลนายชวน รัฐธรรมนูญใหม่และการปฏิรูปตามคำสั่งของไอเอ็มเอฟที่เข้มงวด ซึ่งอาจช่วยรักษาเศรษฐกิจได้ แต่วังกับชนชั้นนำที่อยู่รายรอบวังจะเสียหายหนัก และอำนาจพระมหากษัตริย์ก็จะถูกลดทอน หรือว่าพระองค์อาจรับสั่งให้พลเอกเปรมเข้ามาระงับรัฐธรรมนูญ เเละเจือจางมาตรการของไอเอมเอฟซึ่งจะช่วยปกป้องทรัพย์สินและผลประโยชน์ของชนชั้นสูง เเละรักษาโครงสร้างที่ปกป้องอำนาจของวัง
แต่มันก็เป็นการเสี่ยงมากต่อเศรษฐกิจอย่างที่เกิดในปี2475 และระบบทั้งระบบอาจพังทลาย ดูเหมือนว่าจะทรงทราบบทเรียนที่เกิดสมัยรัชกาลที่เจ็ดและทรงต้องเลือกเส้นทางปฏิรูป ระหว่างที่พรรคประชาธิปัตย์กับพลเอกเปรมกำลังประลองเชิงกันอยู่
3 พฤศจิกายน พลเอกชวลิตลาออก เสียงเรียกร้องให้มีรัฐบาลพระราชทานของพลเอกเปรมเพื่อแก้วิกฤตก็หายเงียบไป เปิดทางให้นายชวนเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจแผ่ขยายไปทั่วเอเชีย และปัญหาเศรษฐกิจก็หนักหนาสาหัสเกินจะเยียวยาได้ในเวลาอันสั้น
รัฐบาลนายชวนต้องกระเสือกกระสนและหัวทิ่มหัวตำไม่เป็นท่าขณะที่ในหลวงภูมิพลทรงสบายพระองค์และทรงวิพากษ์วิจารณ์โดยวางพระองค์เสมือนพระผู้ทรงพระปรีชาญาณและพระปัญญาที่ล้ำเลิศเหมือนหนังเก่าที่กลับเอามาฉายใหม่แบบเมื่อช่วงต้นทศวรรษปี 2530 เมื่อตอนเกิดน้ำท่วมทั่วที่ภาคใต้ของไทย
สิงหาคม 2540 ก็ยังทรงเล่นบทเดิมๆอีกเช่นเคย คือมูลนิธิต่างๆในพระบรมราชูปถัมถ์ก็รับเอาชื่อเสียงและความดีความชอบไปเกือบทั้งหมดในการให้ความช่วยเหลือ แม้ว่ารัฐบาลจะทำได้มากกว่าวังก็ตาม เมื่อโรงงานเริ่มลอยแพคนงานจำนวนมาก ทางวังประกาศว่ามูลนิธิชัยพัฒนาของพระเจ้าอยู่หัวจะประสานหน่วยงานราชการกับเอกชนเพื่อหางานให้ใหม่ การโฆษณาโอ้อวดอย่างนี้ไม่เกิดผลอะไร เพราะไม่มีตำแหน่งงานเหลือและต้นเหตุจริงๆของการว่างงานคือการขาดการจัดระบบประกันสังคมเพื่อรองรับ แต่วังก็ยังทำท่าเป็นห่วงเป็นใยต่อคนตกงานมากกว่ารัฐบาลเสียอีก
รัฐบาลชวนทำงานได้เพียงเดือนเดียว พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทในวันฉลองพระชนมพรรษาโดยสรุปว่า“บอกแล้วไม่ฟัง” ทรงโจมตีผู้นำทางการเมืองที่นำพาประเทศไทยไปบนเส้นทางทุนนิยมและการบริโภคนิยมที่เสรีเต็มที่และไม่มีการยับยั้งชั่งใจ
และถ้าหากผู้คนยอมรับแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวว่าด้วยเรื่องสังคมที่เรียบง่ายกว่านี้ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตไปได้ ทรงเริ่มด้วยการเปรียบเทียบประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยมของโครงการพระราชดำริของพระองค์อีกเช่นเคยโดยทรงหยามหยันงานของรัฐบาล จากนั้นก็เป็นเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ
พระองค์ทรงโจมตีทุนนิยมและตลาดโลกสมัยใหม่ที่ได้ท่วมทับพระราชดำริของพระองค์ที่ว่าด้วยแผ่นดินธรรมอันเรียบง่ายด้วยเกร็ดส่วนพระองค์หลายๆเรื่อง ว่าคนเรามีความกระหายอยากได้ใคร่มีในทางวัตถุมากเกินไปและไม่คิดถึงผลการกระทำของตน
เช่น การกู้ยืมเงินมาใช้โดยไม่มีปัญญาชำระหนี้คืนว่า “การกู้เงิน ที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงิน และทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับ จะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ ”
พระองค์ยังตำหนิความทะยานอยากเกินพอเพียงของผู้คน อย่างคนที่สร้างโรงงานใหญ่โตขณะที่โรงงานเล็กๆ ก็พอเพียงแล้ว ความโลภที่พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่ามาจากทุนนิยมที่เผยแพร่โดยไอเอ็มเอฟ ที่เป็นต้นเหตุของวิกฤติ ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้หากประเทศไทยปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจของพระองค์
โดยตรัสว่า “ความจริง เคยพูดเสมอ ในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจ แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้ก็เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัว จะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้น มันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียง พอสมควร บางสิ่งบางอย่าง ที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก”
นักเศรษฐศาสตร์มองว่าพระราชดำริของพระองค์นั้นล้าสมัย แต่พระองค์ก็ทรงโต้แย้งว่าการไล่ตามตลาดโลกเพื่อขายผลผลิตส่วนเกินนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิต และมีแต่จะนำไปสู่ความทุกข์ ทรงอธิบายว่า“แต่ถ้าทำแบบที่เคยมีนโยบายมา คือผลิตสิ่งของทางอุตสาหกรรมมากเกินไปก็จะไม่สำเร็จ โดยที่ในเมืองไทยตลาดมีน้อยลงเพราะคนมีเงินน้อยลง แต่ข้อสำคัญ นักเศรษฐกิจบอกว่า ให้ส่งออก ส่งออกไปประเทศอื่นๆ ซึ่งก็เดือดร้อนเหมือนกัน เขาก็ไม่ซื้อ ถ้าทำผลิตผลทางอุตสาหกรรม และไม่มีผู้ซื้อ ก็เป็นหมันเหมือนกัน ...
ต้องถอยหลังเข้าคลอง จะต้องอยู่อย่างระมัดระวัง และต้องกลับไปทำกิจการที่อาจจะไม่ค่อยซับซ้อนนัก คือใช้เครื่องมืออะไร ที่ไม่หรูหรา .. แต่ก็ อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นที่จะถอยหลัง เพื่อที่จะก้าวหน้าต่อไป ถ้าไม่ทำอย่างที่ว่านี้ ก็จะแก้วิกฤตการณ์นี้ยาก”
การถอยหลังคือการหันไปสู่ทฤษฎีใหม่ของพระเจ้าอยู่หัวโดยทรงย้ำว่า “แต่ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไปทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะอยู่ได้ การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายๆ โดยมากคนก็ใจร้อน เพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้”
เนื้อหาที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงโปรดนำเสนอนั้นอย่างดีที่สุดเป็นเพียงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ปลอมที่มันล้าสมัยสายเกินไปเป็นเวลาร่วมร้อยปีแล้วสำหรับประเทศไทยที่จะถอนตัวออกจากเศรษฐกิจโลก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีความอ่อนด้อยทางทฤษฎีเนื่องจากไม่ปรากฎเป็นทฤษฎีหรืออยู่ในตำราทางเศรษฐศาสตร์ใดมาก่อน และมีข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์
ที่ถูกนำมาตีความหรือขยายความตามความต้องการของนักการเมืองและกลุ่มนักวิชาการบางกลุ่มที่ต้องการเอาใจพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมากกว่ามีความศรัทธาต่อหลักการเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ รวมไปถึงการนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีคู่ต่อสู้ที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม
พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชดำรัสที่จริงจังและกระทบอารมณ์ของผู้คนทั้งชาติที่สับสนมึนงงกับคำอธิบายที่ซับซ้อนจากรัฐบาล จึงพร้อมที่จะหันไปพึ่งพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจกันว่าทรงวิจารณ์คนที่มีความโลภไม่รู้จักพอเพียงและพวกนักการเมืองที่พาประเทศมาอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ และระบบทุนนิยมโลกที่เอาประเทศไทยเป็นเหยื่อ เหมือนกับพระมหาชนกที่ต้องลอยคออยู่กลางมหาสมุทร พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงประทานบทเรียนที่สมบูรณ์แบบทั้งในทางปฏิบัติและในทางจิตวิญญาณ
ถ้าประชาชนได้ปฏิบัติตามเเนวพระราชดำริก็จะไม่ต้องมาทุกข์ร้อนในตอนนี้ แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริได้กลายเป็นหัวข้อที่ได้รับการเผยแพร่ถกเถียงออกความเห็นกันไม่รู้จบตลอดปีถัดไปตามสื่อต่างๆ แม้แต่กัณฑ์เทศน์ตามวัดและการปราศรัยทางการเมือง บรรดาผู้ต่อต้านโลกาภิวัฒน์ ทุนต่างชาติและการบริโภคนิยมต่างพากันอ้างพระเจ้าอยู่หัว
บรรดานักเรียนนักศึกษาต้องศึกษาแนวพระราชดำริของพระองค์ กองทัพพยายามหาหนทางนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติ เช่นปลูกผักกินเอง ซึ่งเป็นการแย่งลูกค้าของเกษตรกร
เกิดความนิยมใหม่ในการกินอาหารที่ถูกและดีต่อสุขภาพ จากการที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่าทรงโปรดเสวยข้าวกล้องเหมือนชาวนาที่ยากจนทั้งหลาย ทรงตรัสว่า “ กินข้าวกล้องทุกวันเพราะดีต่อสุขภาพ... บางคนบอกว่ามันเป็นข้าวของคนจน เราก็คนจนเหมือนกัน ”แต่ระหว่างนั้นวังในฐานะที่เป็นสถาบันก็แทบไม่ได้หวนกลับสู่ชีวิตที่เรียบง่ายตามพระราชดำรัสเลย
ในหลวงรัชกาลที่เก้าทรงทำตัวเป็นสรรพพัญญูผู้รอบรู้สารพัด ทรงเห็นผู้อื่นด้อยสติปัญญาไปหมดโดยเฉพาะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่ทรงมองว่ามีแต่พวกทุจริตคอรัปชั่น โง่เขลาเบาปัญญาและไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรอย่างไรก็ล้วนแล้วแต่ไม่สบพระทัยทั้งสิ้น สู้โครงการพระราชดำริของพระองค์ไม่ได้
พระองค์เชื่อมั่นมาตลอดว่าทรงดีกว่าผู้อื่นเสมอ และคงเกรงว่าคนอื่นจะดีกว่าหรือเก่งกว่าพระองค์ เข้าข่ายพระทัยแคบ อวดฉลาดทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยแม้แต่น้อย
.............
วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น