วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตำนานๆ 009022 : ก่อร่างสร้างในหลวง

ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ  : http://www.4shared.com/mp3/ZC7GieZL/The_Royal_Legend_022_.html
หรือที่  :  http://www.mediafire.com/?021p2a17a82331n
   

................



เจ้าฟ้า ภูมิพล อดุลยเดช Bhumibol Aduldejหรือทารกสงขลา Baby Songkla ประสูติท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บในวันที่ 5 ธันวาคม 2470 ที่บรูคลิน ย่านของผู้มีอันจะกินแถบชายเมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาจูเส็ตส์ สหรัฐอเมริกา ขณะที่รัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นลุงของพระองค์กำลังดิ้นรนต่อสู้กับกระแสความทันสมัยเพื่อความอยู่รอดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


รัชกาลที่ 7 รับช่วงราชบัลลังก์มาได้ไม่นานหลังจาก 15 ปีที่เป็นหายนะในสมัยรัชกาลที่ 6 ผู้เป็นพระเชษฐา ท้องพระคลังว่างเปล่า และความไม่พอใจที่คุกรุ่นต่อการผูกขาดอำนาจของราชวงศ์จักรี อำนาจของสถาบันกษัตริย์ในยุโรปถูกลิดรอนราชบัลลังก์ของรัสเซียและจีนถูกโค่น



เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาท พระอนุชาทรงมีจดหมายถึงรัชกาลที่ 6 ผู้เป็นพระเชษฐา เมื่อเดือนเมษายน 2460 เพื่อเตือนสติรัชกาลที่ 6 มีความว่า..สถานการณ์ที่บีบให้พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียต้องสละราชบัลลังก์นั้นเกิดจากน้ำมือของพระเจ้าซาร์เอง เพราะพระองค์ทรงปฏิเสธที่จะปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มก้าวหน้าต่างๆ ซึ่งกำลังเสียงดังมากขึ้นทุกขณะ และทรงปฏิเสธที่จะสมานฉันท์กับพวกเขาให้ทันต่อเวลา พระราชวงศ์ไม่สามารถต่อกรกับพวกฝ่ายก้าวหน้าได้หรอก ในท้ายที่สุด การณ์จะต้องเป็นไปตามที่พวกฝ่ายก้าวหน้าปรารถนา..


แต่รัชกาลที่ 7 ก็ยังพอมีเวลาหันเหความคิดของพระองค์ไปยังทารกในบอสตันที่อยู่ห่างไกล เลือกชี่อให้กับพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ประสูติมาได้ หนึ่งสัปดาห์ให้หลังโดย ชื่อนั้นถูกส่งไปทางโทรเลข
ภูมิพล อดุลยเดช หรือ พลังแผ่นดิน อำนาจไร้เทียมทาน และเป็นกษัตริย์ไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ทรงพระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา


พระราชบิดาคือ
เจ้าฟ้ามหิดล กรมหลวงสงขลานครินทร์ ผู้เป็นพระอนุชาต่างมารดาของรัชกาลที่ 7
เจ้าฟ้ามหิดลประสูติในปี 2435 เป็นพระโอรสองค์ที่ 69 ของรัชกาลที่ห้า กับพระนางเจ้าสว่างวัฒนา มเหสีองค์ที่สอง เจ้าฟ้ามหิดลจบการศึกษาและเสด็จกลับประเทศไปรับตำแหน่งสูงในกองทัพเรือที่กำลังเติบโตของสยาม
ในปี 2460 เสด็จไปศึกษาแพทย์ที่ฮาร์เวิร์ดและได้รักกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ นักศึกษาพยาบาล สามัญชนเชื้อสายจีนเกิดที่ฝั่งธนบุรี ย่านวัดอนงคารามในครอบครัวยากจนเมื่อปี 2443 เมื่อกำพร้าได้ไม่กี่ปี ก็ถูกถวายตัวเข้าวังเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เพื่อไปรับใช้พระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระราชมารดาของเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งต่อมาได้ส่งหญิงสาวสมองดีคนนี้ไปเรียนที่วิทยาลัยซิมมอนส์ บอสตัน สหรัฐอเมริกา แล้วทั้งคู่ก็รักกันที่เมืองบอสตัน ทั้งๆที่ทางพระราชวังคัดค้านการแต่งงานอย่างเป็นทางการกับคนนอกราชวงศ์



แต่เนื่องจากคุณสังวาลย์เป็นที่โปรดปรานของ
พระนางเจ้าสว่างวัฒนา และเจ้าฟ้ามหิดลเองก็คงไม่มีโอกาสขึ้นเป็นกษัตริย์เพราะอยู่ถึงลำดับที่หก ทั้งสองจึงได้แต่งงานกันอย่างเป็นทางการแล้วเธอได้รับฐานันดรที่แม้จะค่อนข้างต่ำแต่ก็เป็นที่นบนอบ เรียกว่าหม่อมสังวาลย์



หลังจากสมรส ในปี2463 ทั้งสองเดินทางไปทั่วทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย ทั้งเพื่อการศึกษา ท่องเที่ยวและเพื่อปฏิบัติภารกิจ มีลูกคนแรกเกิดที่ลอนดอนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2466 เป็นลูกสาวชื่อว่า กัลยาณิวัฒนา

เจ้าฟ้ามหิดลมักป่วยออดๆแอดๆ เหมือนพี่น้องของพระองค์ส่วนใหญ่ อาจเป็นเพราะการแต่งงานกันเองในราชวงศ์ที่เชื้อสายใกล้ชิดกัน พระอัครมเหสีทั้งสามพระองค์ ล้วนเป็นน้องสาวต่างมารดาของพระองค์เองคือ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ โดยที่พระโอรสหลายพระองค์ต่างก็เสียสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังเป็นทารกหรือยังทรงพระเยาว์

ในปี 2468 ราชสกุลมหิดลย้ายไปประทับที่ไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมัน เพื่อให้เจ้าฟ้ามหิดลได้เข้ารับการรักษาพระองค์ที่นั่น วันที่ 20 กันยายน 2468 หม่อมสังวาลย์ก็คลอดลูกชาย ชื่อว่า อานันทมหิดล ในอีกสองเดือนต่อมา เมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคตโดยปราศจากรัชทายาท โดยในช่วงห้าปีก่อนหน้านั้น พระเชษฐาต่างมารดาของเจ้าฟ้ามหิดลที่อยู่ในชั้นเจ้าฟ้าสิ้นพระชนม์ไปสามพระองค์



กษัตริย์องค์ใหม่คือ
รัชกาลที่ 7 ก็ไม่มีพระโอรส เจ้าฟ้ามหิดลจึงขยับมาอยู่ในลำดับที่สองของการสืบราชสมบัติ หลังจากพิธีราชาภิเษกของรัชกาลที่ 7 ในปี 2469 เจ้าฟ้ามหิดลก็เสด็จกลับฮาร์เวิร์ด เพื่อทรงศึกษาต่อในวิชาแพทย์ พระองค์มีพระประสงค์ที่จะนำการแพทย์สมัยใหม่สู่สยาม




ปลายปี 2470 รัชกาลที่ 7 ทรงประกาศว่าพระโอรสทุกพระองค์ของพระเชษฐาและพระอนุชาชั้นเจ้าฟ้า และที่ต่างพระมารดา ของพระองค์ ไม่ว่าจะเกิดจากพระมารดาที่มีสถานะใด จะได้รับการขนานนามเป็น พระองค์เจ้า และมีโอกาสยกสถานะสูงขึ้นไปอีก เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นนโยบายในการเปลี่ยนสายเลือดที่ถือว่าไม่บริสุทธิ์เพื่อความอยู่รอดของราชวงศ์จักรี พี่น้องทั้งหกของเจ้าฟ้ามหิดลมีพระโอรสเพียงแค่สองพระองค์ ทั้งยังไม่ใช่เลือดแท้ของราชวงศ์จักรีล้วนๆอีกต่างหาก

เจ้าฟ้าจักรพงษ์ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้วมีพระโอรสหนึ่งองค์ คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งมีมารดาเป็นสามัญชนชาวรัสเซีย (หม่อมคัทริน เดสนิคสกี Cathrine Desniksky )



สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว (พระชนม์ 31 ชันษา โรคไตพิการ) ก็มีพระโอรสหนึ่งพระองค์คือพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ซึ่งมีมารดาเป็นนางกำนัลหรือหญิงรับใช้ ไม่มีชาติสกุล
รัชกาลที่ 7 จึงทรงต้องยกสถานะของบรรดาเชื้อพระวงศ์ที่เป็นโอรสของชั้นเจ้าฟ้าเพื่อให้มีตัวเลือกระดับพระองค์เจ้า 11 พระองค์ ซึ่งรวมถึงพระโอรสทั้งสองจากราชสกุลมหิดล

แต่เจ้าฟ้ามหิดลไม่ประสงค์ให้พระโอรสของพระองค์ต้องผูกติดอยู่กับพิธีกรรมและได้รับการปฏิบัติเยี่ยงเทวดา เมื่อทรงประชวรอย่างหนักในปี 2471 พระองค์ทรงขอร้องให้ฟรานซิส แซร์ช่วยป้องกันไม่ให้พระโอรสของพระองค์ต้องขึ้นเป็นกษัตริย์หากพระองค์สิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้ามหิดลมีพระชนม์อยู่จนจบจากฮาร์เวิร์ด และเสด็จกลับกรุงเทพฯ ผู้คนมองว่าพระองค์เป็นคนฉลาด แต่ไม่หนักแน่นไม่เด็ดขาด และอ่อนเชิงทางการเมือง


บางคนก็วิจารณ์กำพืดพระชายาของพระองค์ และพระองค์ก็มักจะประชวรอยู่บ่อยๆ กล่าวกันว่าพระองค์มีพระทัยเอนเอียงไปทางดัานสาธารณรัฐหรือระบอบที่มีประมุขจากสามัญชนที่มาจากการเลือกตั้งหรือระบอบประธานาธิบดี โดยทรงชื่นชมการมีสิทธิและเสรีภาพของชาวอเมริกัน แต่พระองค์ก็ยังมีผู้สนับสนุนจำนวนมาก ส่วนหนึ่งด้วยความกลัวต่ออีกทางเลือกหนึ่ง คือ เจ้าฟ้าบริพัตร ที่ควบคุมกองทัพสยาม

เจ้าฟ้ามหิดลทรงหวังที่จะทำงานเป็นแพทย์ แต่สถานะความเป็นเจ้าฟ้าก็แทรกแซงไปทุกขั้นตอน การตรวจไข้ก็ต้องใช้ราชาศัพท์ ที่น้อยคนนอกราชสำนักจะเข้าใจ ในฐานะว่าที่เจ้าเหนือหัว เจ้าฟ้ามหิดลจะสัมผัสได้ก็แต่ส่วนสูงสุดของคนไข้เท่านั้น คือ ศีรษะ จากนั้นไม่นาน พระองค์ก็ประชวรจึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ และสิ้นพระชนม์ในเดือนกันยายน ขณะมีพระชนม์ 37ชันษาในวันที่ 24 กันยายน 2472 เป็นวันมหิดล

หม่อมสังวาลย์ผู้เป็นหม้ายได้รับฐานันดรใหม่ว่า หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยาเพื่อให้ดูว่ามีชาติสกุลของพวกศักดินาอยู่บ้าง ผู้ที่ปกป้องสถานะราชนิกูล ให้กับหม่อมสังวาลย์ก็คือพระนางเจ้าสว่างวัฒนาที่แน่วแน่ในการที่จะให้เลือดเนื้อเชื้อไขของพระนางเป็นผู้สืบราชบัลลังก์

ราชสกุลมหิดลพักอยู่ที่วังสระปทุมอันกว้างขวางของพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ในคฤหาสน์ไม้ริมคลองแสนแสบ ตรงสพานหัวช้าง ใกล้ศูนย์กลางกรุงเทพตรงข้ามสยามแสควร์ปัจจุบัน มีทั้งพยาบาล คนรับใช้ นางสนองพระโอษฐ์ และครูฝรั่ง หม่อมสังวาลย์เลี้ยงดูพระโอรสด้วยตนเอง ปี 2473 เจ้าฟ้าอานันท์ก็เข้าเรียนที่โรงเรียนคาธอลิคของชนชั้นสูงคือ มาแตร์เดอี และสองปีต่อมา เจ้าฟ้าภูมิพลก็ทรงตามไปเรียนที่เดียวกัน



ดูเหมือนว่า
เจ้าฟ้าอานันท์จะสืบทอดความอ่อนแอจากพระราชบิดาและพระประยูรญาติ พระองค์มักจะประชวรอยู่บ่อยๆ และฟกช้ำง่ายทำให้ต้องขาดเรียน แพทย์ประจำพระองค์เรียกภาวะนี้ว่า เลือดจาง





ชีวิตในวังสระปทุมเริ่มมีความยากลำบากในปี 2474-2475 หม่อมสังวาลย์ไม่สามารถทนอากาศร้อนของ กรุงเทพได้ การเมืองทวีความตึงเครียด เศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐฯส่งผลให้รัฐบาลประสบปัญหาทางการเงิน เชื้อพระวงศ์ชั้นสูงกำหนดภาษีใหม่ๆเอากับชนชั้นกลางแต่ปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง เมื่อรัชกาลที่ 7 ไม่สามารถรับมือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ระส่ำระสายได้ ข้าราชการพลเรือนและทหารกลุ่มหนึ่งก็ทำการยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ


แม้ว่ารัชกาลที่ 7 ทรงต้องยอมรับระบอบรัฐธรรมนูญ แต่
เชื้อพระวงศ์ไม่ยอมแพ้และวางแผนจะฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมา



เดือนเมษายน 2476 ราชสกุลมหิดลก็เก็บข้าวของและย้ายไปอยู่ เมืองโลซานน์สวิตเซอร์แลนด์เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อนจนถึงปี 2488 เป็นเวลากว่าสิบปี




แม้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย ต้องยอมแพ้คณะราษฎรในปี 2475 แต่ประเพณีและความเชื่อเป็นสิ่งที่ยากจะเปลี่ยนและแทนที่ด้วยรัฐสมัยใหม่ได้
ในหลวงอานันท์ทรงละล้าละลังในบทบาทของธรรมราชา แต่ในหลวงภูมิพลพระองค์ใหม่ได้แสดงความมุ่งมั่นในหน้าที่อย่างเข้มแข็งที่จะสืบราชบัลลังก์

การที่ในหลวงภูมิพลไม่แย้มพระสรวลในสาธารณะเกือบตลอดช่วงห้าสิบปีต่อมา แสดงให้เห็นว่าพระองค์มีความตั้งพระทัยที่จะครองราชสมบัติอย่างเต็มที่ โดยเด็ดขาดและถาวรแบบมืออาชีพโดยไม่ลังเลอีกต่อไป ในหลวงภูมิพลเหมาะกับการเป็นกษัตริย์มากกว่าในหลวงอานนท์เพราะทรงมีวินัยในการทำงานมากกว่าและเชื่อฟังผู้หลักผู้ใหญ่มากกว่า โดยเฉพาะพระราชชนนีศรีสังวาลย์

ช่วงที่ประทับอยู่กับพระชนนีที่ วิลลาวัฒนาเมืองโลซานน์เพื่อหลบคดีกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในระหว่างปี 2489-2493 เป็นเหมือนการรอเวลาเพื่อเตรียมตัวขึ้นครองราชบัลลังก์ ในหลวงภูมิพลทรงใช้เวลาเรียนรู้วัฒนธรรมไทยและราชสำนัก ทรงเลิกเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อหันมาศึกษาหลักสูตรวิชาการเมือง การปกครองและกฎหมายที่จัดถวายแด่พระองค์โดยเฉพาะ


ในหลวงภูมิพลได้กลายเป็นพระมหากษัตริย์เต็มขั้น
มีมหาดเล็กคุกเข่าปลุกพระองค์ทุกเช้า เสวยครัวซองต์และกาแฟบนพระแท่นบรรทม ทุกคนยกเว้นพระราชชนนีจะต้องกราบบังคมทูลต่อพระองค์ด้วยคำว่าพระองค์ และจะต้องระมัดระวังที่จะไม่ถูกต้องพระวรกายของพระเจ้าอยู่หัว


ในหลวงภูมิพลทรงได้รับการถวายรายงานจากผู้สำเร็จราชการฯที่กรุงเทพฯ เป็นประจำถึงการตัดสินใจต่างๆ ที่กระทำในพระปรมาภิไธย โดยมีราชเลขาธิการคอยดูแล มีผู้มาเข้าเฝ้าอยู่เนืองๆ ทำให้ในหลวงและพระราชชนนีทรงรับรู้ความเป็นไปทางการเมืองที่กรุงเทพฯ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์ (ท่านชิ้น) พระเชษฐาพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้เขียนบันทึกให้ในหลวงภูมิพลอ่าน

โดยบอกเล่าถึงการที่มรว. เสนีย์ ปราโมช กับพรรคประชาธิปัตย์ ใส่ร้ายนายปรีดีในกรณีสวรรคตเพื่อช่วงชิงอำนาจ ท่านชิ้นยังได้อธิบายว่าในหลวงอานันท์น่าจะยิงพระองค์เองโดยอุบัติเหตุ และเขียนถึงนายปรีดีว่า “จากการเข้าเฝ้าในหลวงและพระราชชนนีในครั้งนี้ ผมกล้าบอกคุณอย่างแน่ใจว่าทั้งสองพระองค์ไม่เชื่อว่าคุณปรีดีเป็นผู้บงการ...”

หลังการรัฐประหารพฤศจิกายน 2490 เหล่าขุนทหารกดดันให้พระราชวงศ์เสด็จกลับมาทำพิธีฌาปนกิจพระบรมศพในหลวงอานันท์ และทำพิธีราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ แต่พระราชชนนีศรีสังวาลย์ปฏิเสธ ที่โลซานน์อันเป็นที่พำนักลี้ภัยของราชวงศ์ต่างๆ ก็มีข่าวการจบสิ้นของสถาบันกษัตริย์ยุคหลังสงครามท่ามกลางความผันแปรในระบอบประชาธิปไตย พระราชวงศ์ยังมีเหตุให้ต้องกลัวกระแสชาตินิยมและคอมมิวนิสต์ที่ได้เกิดความรุนแรงในเอเชียหลายประเทศ ทั้งขับไล่เจ้าอาณานิคมและชนชั้นนำเก่าไปพร้อมๆกัน




พลพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตง
กำลังจะได้รับชัยชนะในประเทศจีน และเชื่อกันว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนขบวนการคอมมิวนิสต์ใต้ดิน สายจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้






ส่วนทางฝั่งตะวันตกของไทย แนวร่วมพม่าที่นำโดย
นายพล อองซาน (พ่อของอองซานซูจี ผ้ถูกตะวันตกตีตราอย่างไม่เป็นธรรมว่าเป็นคอมมิวนิสต์) ขับไล่อังกฤษออกไปได้ในเดือนมกราคม 2491 และปฏิเสธที่จะฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์พม่ากลับคืนมา




ทางฝั่งตะวันออก ความปั่นป่วนในลาวและกัมพูชาเป็นภัยคุกคามสถาบันกษัตริย์ ฝ่ายชาตินิยมของโฮจิมินห์ในเวียตนามกำลังต่อสู้กับจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสที่พยายามนำจักรพรรดิเบ๋าได๋กลับคืนมา บางกอกโพสต์รายงานข่าวจักรพรรดิเบ๋าได๋ ในเดือนกรกฎาคม 2492 ด้วยการพาดหัวว่า “ เมื่ออินโดจีนไป ไทยก็ไปด้วย

สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นที่หลบภัยของพระราชวงศ์ ช่วยกันในหลวงภูมิพลให้มีเวลาว่างที่จะเสด็จเดินทาง เล่นดนตรีและทรงพบปะสมาคม ทรงขับรถไปปารีสบ่อยๆ เพื่อช้อปปิ้งจับจ่ายและท่องราตรีในคลับเเจ๊ซ ทรงช่วยเป็นลูกมือให้พระองค์เจ้าพีระพงศ์พระเจ้าอานักแข่งรถ ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่กับการถ่ายรูปและดนตรี ทรงฝันจะเป็นนักดนตรีเเจ๊ซ ทรงสะสมเครื่องดนตรีครบครันมากที่สุดคนหนึ่งในยุโรป



และ ทรงมีวงดนตรีที่ประกอบด้วยคนไทยเป็นส่วนใหญ่ และมี พันเอกอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ พระสวามีคนใหม่ของเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาร่วมอยู่ด้วย พวกเขาเล่นดนตรีด้วยกันกันตลอดทั้งคืน




ราชสำนักประกาศข่าวความสำเร็จในเพลงพระราชนิพนธ์ ในเดือนกันยายน 2491 สื่อมวลชนประโคมข่าวว่าเพลงดวงใจกับความรักที่ในหลวงทรงพระราชนิพนธ์จะมาถึงกรุงเทพฯโดยมากับหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริที่เป็นคนเขียนเนื้อร้อง เพลงก่อนหน้านี้คือเพลงสายฝนที่ถูกทำให้เป็นที่นิยมด้วยวิทยุและการแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ



นิตยสาร ไทม์ได้ชี้เหตุผลหลักที่ทำให้พระราชวงศ์ต้องประทับในยุโรป เพราะที่
โลซานน์น่าจะเป็นสถานที่เหมาะต่อการหาคู่ครองให้ในหลวงภูมิพล ซึ่งเป็นงานสำคัญอันดับแรกสำหรับราชพระราชวงศ์เพราะมีรัชทายาทเหลืออยู่น้อยมาก



หลังจากเสด็จถึงโลซานน์ไม่นาน พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ก็จัดเตรียมรายชื่อหญิงสาวที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ขณะที่ในหลวงภูมิพลดูจะเต็มพระทัยโดยทรงรู้หน้าที่ ความสนพระทัยแรกของพระองค์ที่รับรู้กันคือหญิงสาวที่ชื่อสุพิชชา โสณกุลธิดาสาวของพระองค์เจ้าธานีนิวัติ (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) ซึ่งในหลวงภูมิพลได้พบในปี 2489 และอีกครั้งตอนต้นปี 2491 เมื่อเธอและพ่อแวะเยี่ยมโลซานน์ระหว่างทางไปอังกฤษ หนังสือพิมพ์ไทยรายงานเรื่องนี้ แต่พระองค์เจ้าธานีนิวัติต้องการให้สุพิชชาจบมหาวิทยาลัยก่อนจึงกั้นขวางความสัมพันธ์เสีย

ระหว่างนั้น ทรงพบพระธิดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำปารีส หม่อมเจ้านักขัตรมีความคุ้นเคยกับพระราชวงศ์ เคยเป็นอัครราชทูตประจำลอนดอน เป็นที่รู้กันดีว่าราชนิกูลกิติยากรพยายามผลักดันตนเองเข้าไปเป็นเชื้อพระวงศ์



พระบิดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล คือพระองค์เจ้ากิติยากร (พระเจ้าบรมวศ์เธอพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ) เป็นพระโอรสที่ไม่ใช่ชั้นเจ้าฟ้าของรัชกาลที่ 5 อันเกิดจากสนมคนโปรดคนหนึ่ง มีลูก 25 คนจากภรรยา 5 คน ซึ่งทำให้ราชนิกูลกิติยากรมีความสำคัญต่อราชวงศ์ บรรดาลูกๆได้แต่งงานอย่างมีการวางแผน/มีการจัดวางกับสกุลอื่นๆที่มีอิทธิพลอยู่ในราชสำนัก เช่น สารสินและสนิทวงศ์ ซึ่งเป็นสายที่มีจำนวนคนมากและร่ำรวยมาก สืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 2 และมุ่งมั่นที่จะเข้ามาร่วมพระราชวงศ์เช่นกัน

หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เกิดปี 2441 พระมารดาเป็นภรรยาหลวงของพระองค์เจ้ากิติยากร ซึ่งเป็นลูกของพระองค์เจ้าเทวะวงศ์ พระอนุชาต่างมารดาของรัชกาลที่ 5 ผู้เป็นต้นตระกูลเทวกุล หม่อมเจ้านักขัตรและในหลวงภูมิพลจึงเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน หม่อมเจ้านักขัตรสมรสกับหม่อมหลวงบัว สนิทวงศ์ ที่สืบสายเลือดจากทั้งรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 5 และเป็นนางสนองชั้นอาวุโสของพระนางเจ้ารำไพพรรณี


ลูกๆ ของหม่อมเจ้านักขัตร และหม่อมหลวงบัวก็ออกเหย้าออกเรือนได้ดีไม่แพ้กัน ลูกชายคนโต คือ มรว.กัลยาณกิติ์ เกิดในปี 2472 แต่งกับสกุลสนิทวงศ์ ลูกชายคนที่สอง มรว.อดุลกิติ์ แต่งกับหม่อมเจ้าพันธุ์สวลี ยุคล ลูกสาวของพระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคล เจ้าที่มีอาวุโสสูงสุดในยุคหลังสงครามโลก มีพระธิดาคือพระองค์เจ้าโสมสวลีธินัดดามาตุ และหม่อมหลวงสราลี กิติยากร (จิราธิวัฒน์)

หม่อมเจ้านักขัตรมีเป้าหมายที่สูงกว่านั้นสำหรับมรว. สิริกิติ์ (เกิด 2475) และมรว.บุษบา (เกิด 2477) เขาพาพระธิดาทั้งสองไปยุโรปเพื่อเป็นกุลสตรีไทยที่ทันสมัยแบบยุโรป และได้ใกล้ชิดกษัตริย์พระองค์ใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลยเนื่องจากในหลวงภูมิพลก็มักเสด็จเที่ยวปารีสบ่อยๆ
สิริกิติ์ ในวัย 15 ปีที่งดงามและ ฉลาดเกินวัยก็เป็นที่ต้องพระเนตรของในหลวงภูมิพลในปี 2490 แต่หม่อมเจ้านักขัตรถูกย้ายไปลอนดอนเมื่อกลางปี 2491 และในหลวงภูมิพล จะเสด็จนิวัติพระนครต้นปี 2492 เพื่อพระราชทานเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 8และเข้าพิธีราชาภิเษก ซึ่งเป็นโอกาสจะได้ทรงพบหญิงสาวอื่นๆ แต่เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้หม่อมเจ้านักขัตรมีโอกาสวางเบ็ดอ่อยเหยื่อได้สำเร็จ


คือ เมื่อเวลาสี่ทุ่มของวันที่ 4 ตุลาคม 2491 ในหลวงภูมิพลทรงขับรถเฟียตโทโปลิโนสปอร์ต (Fiat Topolino Sport) ชนท้ายรถบรรทุกบนทางด่านเจนืวา-โลซานนอกเมืองโลซานน์ราวสิบกิโลเมตร

ทรงกำลังขับรถเล่นกับพันเอกอร่าม รัตนกุล สามีของเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา(พันเอกอร่ามเป็นพี่เขยของในหลวงภูมิพล) สันนิษฐานว่าทรงขับเร็ว ( ปีถัดมา เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาทรงหย่ากับอร่าม รัตนกุลซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุครั้งนี้ )

สื่อมวลชนไทยรายงานอุบัติเหตุครั้งนี้ว่าแทบจะเป็นหายนะของประเทศ เนื่องด้วยสายเลือดราชวงศ์จักรีเหลือน้อยลงไปทุกที ในหลวงภูมิพลได้รับบาดเจ็บมาก มีการบาดเจ็บที่หลัง(พระปฤษฎางค์ หรือพระขนอง) พระพักตร์เป็นแผลจนพระเนตรข้างหนึ่งมองแทบไม่เห็น (ข่าวว่าพระเนตรขวาบอดสนิทต้องใส่ตาปลอม) ครอบครัวกิติยากรทุ่มเทอย่างมาก โดยส่งทั้งมรว.สิริกิติ์และมรว.บุษบา รุดมาจากลอนดอนเพื่อช่วยพระชนนีศรีสังวาลย์ถวายการดูแลในหลวงภูมิพล มรว.สิริกิติ์รั้งอยู่ต่อ โดยสมัครเข้าเรียนสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งที่โลซานน์ กล่าวกันในภายหลังว่าตอนในหลวงภูมิพลทรงฟื้นหลังอุบิตเหตุ ทรงถามหาแต่พระราชชนนีและมรว.สิริกิติ์

การรักษาพยาบาลพระเนตรของในหลวง ทำให้การเสด็จกลับต้องเลื่อนออกไป รัฐบาลชุดนิยมเจ้าได้จัดสรรงบประมาณไว้เพื่อการนี้ถึง 40 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงรถเดมเลอร์คันใหม่สำหรับพระมหากษัตริย์ กำหนดการนี้ยังเลื่อนออกไปอีก เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างในหลวงและมรว.สิริกิติ์ได้เจริญงอกงาม การผูกมัดพระทัยและเจรจาดำเนินไปอย่างรวดเร็ว วันที่ 19 กรกฎาคม 2492 ทั้งสองพระองค์ทรงหมั้นอย่างเงียบๆ ที่โรงแรมวินด์เซอร์ในเมืองโลซานน์


สามสัปดาห์หลังจากนั้น
มีการประกาศอย่างเป็นทางการในงานเลี้ยงวันเกิดครบ 17 ปีของมรว.สิริกิติ์ที่ลอนดอน โดยในหลวงภูมิพลทรงเล่นเปียโนเดี่ยว และเป่าแซ็กโซโฟนร่วมกับวงดนตรี ทรงประทานแหวน (ตามแบบตะวันตก) แก่มรว.สิริกิติ์ ซึ่งเป็นแหวนวงเดียวกับที่พระราชบิดาได้ใช้หมั้นนางสาวสังวาลย์เมื่อสามสิบปีก่อน
ข่าวการหมั้น ได้สร้างความตื่นเต้นให้แก่ประเทศไทยมาก มีกำหนดเสด็จนิวัติพระนคร ต้นปี 2493 โดยจะมีการพระราชทานเพลิงพระบรมศพ พระราชพิธีภิเษกสมรส และพระราชพิธีราชาภิเษกตามลำดับอย่างต่อเนื่อง ด้วยการมีรัฐธรรมนูญฉบับนิยมเจ้าอยู่แล้ว งานพระราชพิธีจะยิ่งใหญ่มโหฬารยาวนานถึงสองเดือนเพื่อเฉลิมฉลองสถาบันพระมหากษัตริย์และชัยชนะที่มีเหนือผู้ก่อการ คณะราษฎร 2475



หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2492 จอมพลป.และขุนทหารก็จ้องที่จะชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้ง โดยอธิบดีกรมตำรวจพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์จัดการสังหารและข่มขู่นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม มีการซื้อตัวสส.ที่ไม่สังกัดพรรค กลุ่มของจอมพลป.จึงได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

แต่พรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายเจ้ายังคงครอบงำวุฒิสภาอยู่ จอมพลป.จึงไม่สามารถรวบอำนาจได้ทั้งหมด พระองค์เจ้ารังสิตผู้สำเร็จการแทนพระองค์ได้ปฏิเสธคำขอที่จะเป็นองคมนตรีของจอมพลป.อีกครั้งหนึ่ง

สหรัฐอเมริกายังคงมีนโยบาย ให้ไทยเป็นพันธมิตรแนวหน้าในสงครามเย็น ในปี 2491 หน่วยข่าวกรองของสหรัฐ(ซีไอเอ) เริ่มติดอาวุธและฝึกฝนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นกองทัพของพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ความสัมพันธ์นี้กระชับแน่นขึ้นเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจได้ในปี 2492 เหล่านายพลได้พิสูจน์ตนในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยการใช้นโยบายโฆษณาชวนเชื่อของสหรัฐฯ และสังหารผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายซ้าย

กลางปี 2492 ทีมงานซีไอเอมาถึงกรุงเทพฯฝึกตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อให้การสนับสนุนพลพรรคก๊กมินตั๋งอย่างลับๆ ในการสู้กับคอมมิวนิสต์จีนตามแนวชายแดนพม่า-จีน ปลายปีเดียวกันสหรัฐฯสนับสนุนอาวุธและการฝึกทางทหารแก่กองทัพไทยทั้งให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ไทย


สิ่งที่เรียกกันว่าภัยคอมมิวนิสต์ กับการสนับสนุนจากสหรัฐฯสร้างความชอบธรรมให้กับการกุมอำนาจการเมืองของทหารในอีกสี่สิบปีต่อมา แต่สหรัฐก็ยังมองว่า
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นตัวเชิดที่มีประโยชน์ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ทรงถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ทรงพลังอันหนึ่งในสงครามเย็น และสหรัฐฯ ก็กลายมาเป็นผู้ค้ำจุนราชบัลลังก์แต่พระเจ้าอยู่หัวเองไม่ได้อุ่นพระทัยเท่าใดนัก ระหว่างที่เสด็จนิวัติพระนครบนเรือพระที่นั่ง ต้นปี 2493 ขณะมีพระชนมายุ 22 ชันษา แม้จะมีพระราชินีสิริกิติ์ แต่ผู้ที่เป็นกำลังใจหลักๆ ของพระองค์หายไปหมดแล้ว พระเชษฐาอานันทมหิดลก็สิ้นพระชนม์ไปแล้ว พระเชษฐภคนีกัลยาณิวัฒนาทรงปักหลักอยู่สวิตเซอร์แลนด์พร้อมพระธิดา พระราชชนนีก็ประชวรจนไม่สามารถร่วมเสด็จ



สิบสัปดาห์ที่ในหลวงภูมิพลประทับอยู่ในเมืองไทยนับเป็น
ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระราชวงศ์จักรี





ทรงได้รับการต้อนรับแห่แหน สมกับทรงเป็นพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักที่ห่างหายไปนาน สามวันก่อนเสด็จนิวัติพระนครได้เกิดเหตุการณ์ที่บรรดาโหรถือว่าเป็นลางดี มีลูกเห็บตกในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2476 รัฐบาลได้ใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการค้นหาช้างเผือก และในวันที่เสด็จมาถึงก็ได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุด และมีการจัดเตรียมฝูงเครื่องบินเจ็ทจากเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ที่ลอยลำอยู่ใกล้ๆ ให้บินมาเหนือท้องฟ้ากรุงเทพฯ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ

ครั้นพอเสด็จมาถึง ก็ทรงได้รับการถวายกระบี่ทองคำอันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นประมุข ทุกเหล่าทัพต่างได้กราบบังคมทูลถวายยศสูงสุดแก่พระองค์ โรงกษาปน์ได้ผลิตเหรียญรุ่นใหม่ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงภูมิพล เมื่อเสด็จก้าวขึ้นฝั่ง เครื่องบินก็โปรยข้าวตอกดอกไม้ไปทั่วกรุง หลังจากได้รับการถวายการต้อนรับจากรัฐบาลแล้ว ก็เสด็จไปพระบรมมหาราชวังเพื่อทรงจุดเทียนถวายสักการะพระแก้วมรกตและพระสยามเทวาธิราช จากนั้นก็เสด็จไปสักการะสมเด็จพระบุรพกษัตราธิราชและโกศทองคำที่บรรจุพระบรมศพในหลวงอานันท์

เช้าวันถัดมา ในหลวง พร้อมด้วยพระราชินีสิริกิติ์ทรงทำบุญถวายแด่พระสงฆ์ 64 รูปที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันจะเป็นที่ประทับของทั้งสองพระองค์ โดยมิได้เสด็จกลับไปหาความทรงจำเปื้อนเลือดที่พระที่นั่งบรมพิมานอีก ทรงนำเหล่าเชื้อพระวงศ์และพระสงฆ์ เสด็จพระราชดำเนินทักษิณาวรรตรอบพระที่นั่งอมรินทราวินิจฉัย จบด้วยพิธีชำระล้างพระบาท และรองพระบาทเท้า และยังได้เสด็จเป็นประธานในพิธีต่างหากของฝ่ายมหายานร่วมกับพระจีนและพระญวน

27 มีนาคม 2493 เริ่มพิธียกฉัตรเก้าชั้นเหนือพระเมรุของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ (ในหลวงอานันท์) ที่สนามหลวง มีการพระบรมโองการเพื่อจัดขบวนในพระราชสำนักใหม่ โดยพระองค์เจ้ารังสิตลงจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ มาเป็นประธานองคมนตรี โดยมีพระองค์เจ้าธานีนิวัติ (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) เป็นรองประธาน




เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาผู้ที่จำต้องสละฐานันดรเมื่อห้าปีก่อนเพราะไปแต่งงานกับสามัญชน ก็ได้คืนสถานะเดิมเนื่องจากทรงหย่าแล้ว
หม่อมเจ้านักขัตรพระบิดาของพระราชินีได้รับการเลื่อนชั้นเป็นพระองค์เจ้า และได้เป็นนายพล





วันที่ 30 มีนาคม 2493 ในหลวงภูมิพลและพระสังฆราชได้เสด็จพระดำเนินนำพระบรมวงศานุวงศ์ นายทหารและเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง ตลอดจนพระ พราหมณ์ อัญเชิญพระโกศบรรจุพระบรมศพในหลวงอานันท์ไปยังพระเมรุสนามหลวงท่ามกลางสายตาของประชาชนสองข้างทางนับแสนคน

พระเมรุถูกจัดสร้างลดหลั่นเป็นชั้นๆ เลียนแบบเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่สิงสถิตของเหล่าทวยเทพเทวดาของฮินดู ในหนังสืองานพระบรมศพในหลวงอานันท์ ทรงโปรดให้พิมพ์ประวัติของสมเด็จพระนเรศวร เพื่อแสดงให้เห็นว่าราชวงศ์จักรีสืบสายโลหิตจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และได้เสด็จกลับมาอีกครั้งในตอนบ่ายเพื่อทำพิธีจุดไฟถวายพระบรมศพ ทรงนำพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารนับร้อยวางเทียนใต้โกศ

จากนั้น ในตอนดึกจึงเสด็จพร้อมพระประยูรญาติและพระสงฆ์ เพื่อจุดไฟถวายพระเพลิงพระบรมศพจริง โดยมีการนำพระสรีระของในหลวงอานันท์ออกจากโกศและวางอยู่ในโลงไม้จันทน์ วันถัดมาจึงเสด็จมาเก็บพระอัฐิเพื่อนำไปประดิษฐานยังวัดหลวงและท้องพระโรงที่สงวนไว้สำหรับพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ

มีงานพระราชทานเพลิงศพเจ้านายอีกสองงานที่สนามหลวง คือ

เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ (ที่สิ้นพระชนม์ปี 2487 ขณะถูกจอมพลป.เนรเทศ) และกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์





6 เมษายน 2493 เป็นวันจักรี สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ผู้ทรงพระศิริโฉมงดงามได้เป็นจุดศูนย์รวมความสนใจ ขณะที่ทั้งสองพระองค์เสด็จเปิดงานกาชาดที่กินเวลาสามวัน และสัปดาห์ถัดมา ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จไปร่วมงานพิธีต่างๆ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ พิธีอภิเษกสมรสค่อนข้างเป็นส่วนพระองค์และเอิกเกริกน้อยกว่า หลังจากทรงจ่ายค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสมรส 10 บาท


ในตอนเช้าวันที่ 28 เมษายน 2493 ก็ทรงเสด็จไปยังวังสระปทุม เพื่อ
รับการถวายน้ำสังข์สมรสศักดิ์สิทธิ์ ที่ปลุกเสกมาแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จากพระนางเจ้าสว่างวัฒนา



ในตอนบ่ายก็เป็นงานพระราชพิธีเปิด โดยจัดขึ้นที่พระบรมมหาราชวัง โดยมีสมาชิกสภาและจอมพลป. เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ในตอนท้ายพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลพระราชทานเครื่องราชย์มหาจักรีแก่พระราชินีสิริกิติ์ ยกฐานะเป็นราชินี

เครื่องราชย์มหาจักรีมีเพชร 750 เม็ดประดับด้วยทองคำ ซึ่งรัฐบาลรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ตามประเพณีคู่บ่าวสาวจะต้องพำนักอยู่ในพระบรมมหาราชวังเป็นเวลาสามคืน แต่ในหลวงภูมิพลอาจจะยังคงมีความทรงจำถึงกรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์ จึงประทับอยู่เพียงหนึ่งคืน จากนั้นทั้งสองพระองค์ก็เสด็จไปประทับยังวังไกลกังวลที่หัวหินเป็นเวลาสี่วัน

พระราชพิธีราชาภิเษกวันที่ 4-5 พฤษภาคม 2493 ส่วนใหญ่เป็นพิธีกรรมฮินดูภายในราชสำนักตามธรรมเนียมลัทธิเทวราช ประกอบด้วยพิธีสรงน้ำกษัตริย์ ด้วยน้ำที่นำมาจากสถานที่สำคัญหลายแห่ง



ตามด้วยการเจิมโดยพระองค์เจ้ารังสิตในฐานะตัวแทนราชวงศ์ และโดยพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ทรงสวมชุดพระมหากษัตริย์และเสด็จขึ้นประทับบนบัลลังก์แปดด้านยกสูงโดยแต่ละด้านแทนทิศต่างๆ ของพระราชอาณาจักรของพระองค์ ทรงรับการถวายพระพรจากแต่ละด้านโดยพราหมณ์หลั่งน้ำมนต์จากสถูปศักดิ์สิทธิ์ 18 แห่ง จากนั้นประธานวุฒิสภาในฐานะตัวแทนประชาชนก็กล่าวถวายความจงรักภักดี

ต่อมาในหลวงภูมิพลก็ทรงย้ายไปประทับยังอีกบัลลังก์หนึ่งภายใต้นพปฎลเศวตฉัตรเก้าชั้น เหล่าพราหมณ์ถวายเครื่องราชกกุฏภัณฑ์ อันมี มงกุฎทองคำรูปกรวย ดาบและคทา แส้ทำจากขนหางช้างเผือก พัด รองเท้าแตะทองคำ และแหวนสองวง



พราหมณ์คุกเข่า สวดมนต์ภาษาสันสกฤต
อัญเชิญทวยเทพฮินดูให้ลงมาประทับยังร่างของพระมหากษัตริย์ ทรงหลั่งน้ำมนต์จากคนโทเล็กๆ ทรงสวมมงกุฎ ทรงกล่าวปฏิญาณที่จะครองแผ่นดินโดยธรรม พร้อมกับโปรยดอกไม้เงินดอกไม้ทองลงบนพื้น เป็นสัญลักษณ์ของการแผ่ความดีงามไปทั่วพระราชอาณาจักรของพระองค์



พิธีกรรมอื่นๆ เช่นการอ่านคำพยากรณ์และประทับนอนบนพระแท่นเป็นเวลาสองชั่วโมงก็ได้
ชุบพระองค์ให้เป็นเทวราชาโดยสมบูรณ์ หลังจากนั้นสองวัน พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลประทับเบื้องหน้าพสกนิกร วงมโหรีปี่พาทย์และปืนใหญ่ยิงสลุต




ทรงประกาศว่าจะยึดมั่นต่อประชาชนชาวสยาม และจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยและมหาวิทยาลัยรวม 7 แห่ง ทรงพระราชทานยศและเครื่องราชย์แก่ตำรวจและทหารระดับสูง ทรงแต่งตั้งให้หลายคนเป็นองครักษ์กิตติมศักดิ์ ทรงเป็นประธานในพิธีสำคัญทางศาสนา และพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษ 2,000 คนเนื่องในวโรกาสขึ้นครองราชย์

เสด็จเปิดอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชบิดากรมหลวงสงขลานครินทร์ที่โรงพยาบาลศิริราชในฐานะพระบิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ ทรงบริจาคเงินหลายแสนบาทให้กับโรงเรียนแพทย์ ซึ่งภายหลังมีชื่อว่ามหาวิทยาลัยมหิดล(โดยรวมโรงพยาบาลศิริราชกับรามาธิบดี)

ทรงบริจาคอีก 88,000 บาทมอบให้โรงพยาบาลแห่งใหม่ของกองทัพอากาศ คือโรงพยาบาลภูมิพล ทรงบริจาควัคซีนวัณโรค เป็นการส่วนพระองค์ อีก 3 กิโลกรัมให้กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งวัคซีนจำนวนนี้รับมาจากชาวสวิสแต่ในหลวงทรงได้อานิสงค์ผลบุญ ขณะเดียวกัน พระราชินีสิริกิติ์ก็ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์หรือสภานายิกาสภากาชาดและมูลนิธิคนตาบอด

การโหมโฆษณาสรรเสริญสถาบันกษัตริย์ดำเนินไปอย่างเข้มข้น เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลได้ถูกนำไปบรรเลงโดยวงออเคสตราของรัฐบาลและมหาวิทยาลัย


พระอัจฉริยภาพในการพระราชนิพนธ์เพลงของพระองค์ได้รับการยืนยันด้วยรายงานข่าวที่ว่า มีเพลงพระราชนิพนธ์ห้าเพลงจะถูกนำไปประกอบละครบรอดเวย์ เรื่อง
ถ้ำมอง (Peep Show) โดยผู้สร้างชื่อดัง ไมเคิ้ล ทอดด์ (Michael Todd) ผู้สร้างภาพยนต์ยอดเยี่ยม 80 วันรอบโลก รางวัลออสการ์ ปี1957หรือ 2500



ในหลวงภูมิพลทรงประกาศยกค่าลิขสิทธิ์ให้กับการกุศล ละครเพลงเรื่องถ้ำมอง (Peep Show) เปิดการแสดงเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2493 ท็อดด์ตั้งใจนำเพลงพระราชนิพนธ์ไปใช้เพื่อการโฆษณาละครของเขา แต่ในตอนหลังเพลงพระราชนิพนธ์ถูกตัดออกไปเกือบทั้งหมดยกเว้นเพลง Blue Day (อาทิตย์อับแสง) แต่สำหรับประชาชนไทยแล้ว ถึงอย่างไรก็ยังเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของพระราชวงศ์จักรีอยู่ดี

ในเดือนมีนาคม 2493 กษัตริย์ลีโอโปลด์ที่สามแห่งเบลเยี่ยม (King Leopold III) ทรงชนะการลงประชามติที่จะสถาปนาพระองค์ขึ้นมาใหม่อย่างฉิวเฉียด (เนื่องจากทรงถูกกล่าวหายอมจำนนต่อเยอรมันและต้อนรับพวกนาซี) หลังจากใช้เวลาอีกสามเดือนด้วยความยากลำบากในการให้สภาเห็นชอบกับการสถาปนาและทรงสละราชบัลลังก์ให้เจ้าชายโบดวง(Prince Baudouin) พระราชโอรส


ในหลวงภูมิพลได้ทรงเห็นเป็นบทเรียนแล้ว่าการปล่อยให้มีการแสดงความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจกษัตริย์นั้นเป็นเรื่องที่มีอันตรายมากและจะยอมไม่ได้เด็ดขาดแม้แต่น้อย


กรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์
ก็ยังมีการไต่สวนดำเนินคดีไปตลอดระยะเวลาที่ในหลวงภูมิพลประทับอยู่ในเมืองไทย สื่อมวลชนเสนอข้อมูลและข่าวลือใหม่ๆอย่างแข็งขัน นายควง อภัยวงศ์ มรว.คึกฤทธิ์ จอมพลป.พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์และแม้แต่พระสังฆราชต่างให้การปรักปรำนายปรีดี


ต้นเดือนพฤษภาคม 2493 ตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งให้รับผิดชอบการสืบสวนคดีโดยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม มรว.เสนีย์ ปราโมช ก็ คือพล.ต.อ.พระพินิจชนคดี (พินิจ อินทรทูต สามีของมรว.บุญรับ ปราโมช)ข้าราชการบำนาญ ซึ่งเป็นพี่เขยของมรว.เสนีย์และมรว.คึกฤทธิ์เอง ได้เบิกตัวพยานที่อ้างว่าได้รับการว่าจ้างจากนายปรีดีให้ปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ ความจริงปรากฏภายหลังว่าพยานรายนั้นเป็นเพื่อนของพระพินิจชนคดีเอง

พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงให้การต่อศาลเป็นเวลาสองวันในพระตำหนักสวนจิตรลดา
เช่นเดียวกับการให้การครั้งก่อนๆ ทั้งภายหลังเกิดเหตุและที่โลซานน์ โดยทรงหลีกเลี่ยงที่จะออกความเห็นไปทางใดทางหนึ่ง แต่ทรงให้ข้อมูลเพียงพอที่จะเอาผิดนายปรีดี คือ นายปรีดี ได้มีปากเสียงกับในหลวงอานันท์

ถือสิทธิใช้รถยนต์พระที่นั่งของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 (ขณะที่นายปรีดี เป็นผู้สำเร็จการแทนพระองค์ ) และนายเฉลียว ปทุมรส ต้องถูกออกจากราชเลขาธิการ ไปอย่างอัปยศ คือทรงให้การในทางที่ไม่เป็นผลดีต่อตัวนายปรีดีเลย ( ซึ่งไม่เกี่ยวกับการปลงพระชนม์แม้แต่น้อย เป็นแค่การพยายามกล่าวหาให้ร้าย )

นอกจากนี้ ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ทั้งที่เป็นของจริงและที่เกิดจากสร้างภาพก็เติบโตมากขึ้นเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถบุกยึดกรุงปักกิ่ง ได้ปกครองจีนทั้งประเทศ ฝ่ายซ้ายหรือพวกแนวสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ก็ดำเนินการการสังหารศัตรูทางการเมืองในสิงคโปร์ มาเลเซียอินโดนีเซียและเวียตนาม รัฐบาลสหรัฐที่วอชิงตันได้บอกรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ว่า ไทยอาจจะเป็นโดมิโนหรือตัวลูกระนาดตัวต่อไป

แม้ว่าจะมีภัยคอมมิวนิสต์อยู่ในประเทศรอบข้าง แต่ภัยคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยขณะนั้นปรากฏมีหลักฐานน้อยมาก เดอะเนชั่นThe Nation ฉบับวันที่ 25 ธันวาคม 2491 รายงานว่าจอมพลป.อ้างภัยคอมมิวนิสต์เพียงเพื่อค้ำยันสถานะตนเองเท่านั้น เมื่อจอมพลป.ถูกนักข่าวเดอะเนชั่นถามคาดคั้นเอา จอมพลป.ก็ยอมรับว่า อันที่จริง ไม่มีคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย หนังสือพิมพ์นิวรีพับลิค New Republic ของสหรัฐ ฉบับวันที่ 31 ตุลาคม 2492 เขียนถึงภัยที่โฆษณาเกินจริงนี้ว่า กรุงเทพฯ ธงแดงมีอยู่เต็มไปหมด แต่เป็นธงของร้านเหล้าของรัฐบาล

นิตยสารฉบับนี้บอกว่าปัญหาทางการเมืองสำคัญๆ ในไทยก็คือ การอ้ำอึ้งไม่เต็มพระทัยที่จะเสด็จกลับประเทศไทยของในหลวงภูมิพล ในขณะเดียวกัน ไทยกลับถูกฝรั่งเศสกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนเวียดมินห์ของโฮจิมินห์ในการต่อต้านจักรวรรดินิยม ซึ่งรัฐบาลไทยเรียกว่าเป็นการตอสู้เพื่อเอกราช

นายปรีดีในขณะนั้นถูกตีตราว่าเป็นนายหน้าของจีน มีรายงานว่ากำลังซ่องสุมกำลังในภาคอิสาน ทำให้ราชสำนัก พรรคประชาธิปัตย์ แล้วเหล่าขุนทหารต้องขยับใกล้ชิดกันมากขึ้น และราชสำนักก็ต้องยอมยกอำนาจบางส่วนให้แก่กองทัพ


ก่อนพระราชพิธีราชาภิเษก ทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์สองฉบับ ให้อำนาจรัฐบาลในการเคลื่อนย้ายกำลังพลในกรณีเกิดการลุกฮือของคอมมิวนิสต์ และให้อำนาจในการประกาศกฎอัยการศึก พระองค์ทรงกลายเป็นผู้ร่วมรบในศึกคอมมิวนิสต์



รัฐบาลประธานาธิบดี ทรูแมน (Harry S. Truman)ในวอชิงตันอนุมัติโครงการขยายความช่วยเหลือแก่ไทยโดยทันที
เป็นเงินก้อนแรก 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯสำหรับกองทัพไทย




พระราชพิธีสุดท้ายก่อนเสด็จกลับสวิส คือทรงเปิดสภาในวันที่ 1 มิถุนายน 2493 เป็นวาระพิเศษเพื่อแสดงพันธะและฐานะอันสูงส่งของสถาบันกษัตริย์ต่อฝ่ายนิติบัญญัติ ทรงฉลองพระองค์ในชุดจอมพล มีพระราชดำรัสเตือนถึง ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ที่ไม่แน่นอนและน่ากังวลในโลกและประเทศเพื่อนบ้าน แต่ทรงบอกว่าไทยดูดีกว่ามากและยังมีลู่ทางแจ่มใสแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ตื่นพระองค์เอาพระทัยใส่และมีสายพระเนตรกว้างไกล

ไม่แน่ชัดเจนว่า เหตุใดพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลจึงต้องเสด็จกลับไปสวิสเซอร์แลนด์อีก ฝ่ายเจ้าอาจต้องการกำจัดจอมพลป.และผู้ก่อการ 2475 ที่ยังเหลืออยู่ให้สิ้นอำนาจก่อนที่ในหลวงจะเสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์อย่างถาวรหรืออาจต้องการให้จบสิ้นคดีสวรรคตเสียก่อน โหรในราชสำนักเลือกวันที่ 6 มิถุนายนเป็นวันเสด็จกลับสวิส และพระองค์เจ้ารังสิตได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกครั้งหนึ่ง

ในหลวงภูมิพลทรงใช้เวลา 18 เดือนสุดท้ายในต่างประเทศเหมือนหนุ่มฐานะดีที่เพิ่งแต่งงานทั่วไป หลังเสด็จกลับถึงโลซานน์ได้ไม่นาน ราชินีสิริกิติ์ก็ตั้งพระครรภ์ ระหว่างนั้นทั้งสองพระองค์เสด็จประพาสทั่วยุโรป ทรงร่วมงานปาร์ตี้ชมคอนเสิร์ตภาพยนตร์และการแสดงต่างๆ


ในหลวงภูมิพล
ทรงเลิกเรียนมหาวิทยาลัย ขณะที่รับภาระงานเอกสารราชสำนักภายใต้การชี้แนะของพระองค์เจ้ารังสิตและองคมนตรี ในวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2494 ทรงบันทึกเสียงลงเทปเพื่อนำไปออกอากาศทางวิทยุและกลายเป็นแบบฉบับในการเรียกร้องความสามัคคีและความสงบสุข

ทรงกล่าวถึงสถานการณ์ในเอเชียที่ขมึงตึงมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ชาติจะสิ้นสลายเมื่อคนในชาติขาดความสามัคคี แตกแยก แก่งแย่งซึ่งกันและกัน ทรงขอให้ประชาชนไทยรำลึกบุญคุณของบรรพบุรุษที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันและพร้อมเสียสละเพื่อประโยชน์ของชาติ

พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระอุตสาหวิริยะบากบั่น ก่อร่างสร้างพระองค์ขึ้นมาเอง ไม่แพ้พระอัยกาหรือเสด็จปู่ รัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่พระมหากษัตริย์ แต่พระนัดดาหรือหลานปู่ของรัชกาลที่ 5 พระผู้ทรงพระนามว่าพลังแผ่นดินอำนาจที่มิอาจต้านทานได้ทรงมีพระปรีชาสามารถไม่แพ้กันจากการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์รูปแบบใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่พยายามโฆษณากันว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
..........

ไม่มีความคิดเห็น: