ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/1HR2CTv6/The_Royal_Legend_018_.html
หรือที่ : http://www.mediafire.com/?l52z3w7juoqbxdz
ตำนานๆ 009018 : คนไทยโชคดีจริงหรือ
ช่วงยี่สิบปีแรกที่ในหลวงภูมิพลขึ้นครองราชย์ พระองค์มีความเชื่อฝังพระทัย ว่าประเทศไทยจะไม่สามารถอยู่รอดได้หากปราศจากพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงทศพิธราชธรรม และพระมหากษัตริย์ก็ต้องเป็นเชื้อสายจักรีแท้ ที่สืบสายเลือดและจิตวิญญาณจากพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมองค์ก่อนๆ ด้วยสิทธิจากการสืบสันตติวงศ์ของพระองค์อันติดตัวมามาแต่ชาติกำเนิด เช่นนี้ พระองค์ก็จะครองแผ่นดินโดยธรรม และพสกนิกรก็จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข
ทรงเชื่อมั่นในความคิดนี้และได้รับการย้ำเตือนเสมอว่า พระองค์ทรงมีคุณสมบัติพิเศษที่มีทั้งความทันสมัยแบบตะวันตกและความเชื่อแบบไทยๆ ทั้งทันสมัยทันโลกและลึกซึ้งกับขนบธรรมเนียมประเพณีไทย คล้ายกับรัชกาลที่ 4 ผู้เป็นทวดของพระองค์ ทรงสามารถสนทนาเรื่องทางจิตวิญญาณและทางโลกได้อย่างดีทัดเทียมกับประมุขประเทศอื่นๆและผู้นำศาสนาต่างๆ
ทรงเข้าใจสาเหตุ ของความทุกข์ยากของประชาชนทั้งในฐานะนักสังคมวิทยา และผู้แตกฉานในพุทธธรรม ท่ามกลางนักการเมืองโกงกิน ทหารที่ทุจริต และพ่อค้านักธุรกิจที่ละโมบโลภมาก ทรงเสียสละ ไม่มีความเห็นแก่ตัว และด้วยการที่ทรงศึกษาพระธรรม และปฏิบัติภาวนาชั้นสูง ทำให้พระองค์ได้บรรลุฌานสมาบัติขั้นสูงที่หยั่งรู้ ฟ้าดินและจักรวาล
พื้นฐานทางความคิดและความเชื่อดังกล่าว ทำให้ในหลวงภูมิพลทรงมีความมั่นใจในการวิเคราะห์การเมืองการปกครองสมัยใหม่ เกือบสามสิบปีที่ทรงเผชิญคนโลภที่เอาแต่ได้ ทรงสรุปว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรกและไม่มีสาระ ไม่ดึงดูดคนดีและไม่ทำให้ได้ผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ
ประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่รับมาในปี 2475 นั้นก่อให้เกิดการเผชิญหน้า และความแตกแยก เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ ทางเลือกที่ถูกต้องคือ การปกครองดั้งเดิมของไทยภายใต้พระมหากษัตริย์ที่ทรงคุณธรรม และมีพระปรีชาสามารถ ที่จะทรงเลือกสรรคนที่มีคุณธรรมสูงสุด มาบริหารประเทศชาติบ้านเมือง ระบบเช่นนี้จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ตามที่กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรได้พร่ำสอนในหลวงภูมิพลมาตลอด
ในหลวงภูมิพลทรงมองว่า โครงการพระราชดำริเป็นข้อพิสูจน์อย่างดี เมื่อทรงเลือกคนดีๆเข้ามาช่วยทำงานการกุศลกับสังคมสงเคราะห์ของพระองค์ที่ได้รับเงินบริจาคมหาศาลจากประชาชน และได้สร้างประโยชน์มากกว่ารัฐบาล
พระองค์สามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างทันท่วงที ตรงจุด และเห็นผลอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเสียเวลาโต้เถียงที่ยืดเยื้อเหมือนอย่างในสภาและระบบราชการ
ทั้งยังได้ทรงสรุปว่า ระบบกฎหมายแบบตะวันตกเป็นอุปสรรคมากกว่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมาย ถูกใช้เพื่อเอาเปรียบและข่มเหงรังแกคนดี โดยปกป้องผู้มีอำนาจที่ทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมแต่อย่างใด มีพระบรมราโชวาทในปี 2516 เรื่องปัญหาสิทธิในที่ดินว่าฝ่ายบังคับใช้กฎหมายเป็นฝ่ายผิด มากกว่าฝ่ายที่ถูกกฎหมายบังคับใช้จะเป็นฝ่ายผิด ทรงอ้างถึงกฎหมายดั้งเดิม เหนือกฎหมายที่ออกมาภายหลังว่า :
ในป่าที่เจ้าหน้าที่กำหนดให้เป็นเขตป่าสงวนหรือหวงห้ามนั้น มีคนอาศัยอยู่มาก่อนการประกาศ ดูค่อนข้างแปลกที่เราบังคับใช้กฎหมายป่าสงวนกับประชาชนที่อยู่ในป่า ที่กลายมาเป็นป่าสงวนด้วยการแค่ลากเส้นบนกระดาษ...เมื่อลากเส้นเสร็จ คนเหล่านี้กลายเป็นผู้ละเมิดกฎหมาย จากมุมมองของกฎหมายมันเป็นการทำผิดเพราะกฎหมายออกมาโดยชอบ แต่ตามกฎหมายธรรมชาติผู้ละเมิดก็คือคนที่ลากเส้นเพราะประชาชนที่อยู่ในป่ามาก่อนมีสิทธิมนุษย์ชน หมายความว่าเจ้าหน้าที่ได้ละเมิดประชาชน ไม่ใช่ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
ทรงสรุปว่าโครงสร้างลำดับชั้นทางสังคมภายใต้พระบรมโพธิสมภาร และคนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกให้มาเป็นผู้ปกครอง จะสนองความต้องการของประชาชนได้ดีที่สุด เกิดความสงบเรียบร้อย ความยุติธรรมและความผาสุก รวมถึงเรื่องของเศรษฐศาสตร์ซึ่งพระองค์ทรงเริ่มพินิจพิจารณาในต้นทศวรรษ 2510
ความยากจนของประชาชนที่เชื่อมโยงกับขบวนการลุกขึ้นต่อสู้ ทำให้พระองค์ไม่เชื่อถือทุนนิยมแบบอเมริกัน ทรงตรัสว่าในตลาดเสรี ชาวนาได้ประโยชน์น้อยที่สุดจากแรงงานของตนเอง ขณะที่พ่อค้าคนกลางที่ทำงานน้อยกว่ากลับได้ผลประโยชน์มากที่สุด ชาวนาที่ไร้ที่ดินคือผู้ทุกข์ยากมากที่สุด ต้องแบ่งผลผลิตจำนวนมากให้กับเจ้าของที่ดินที่ไม่ได้ลงแรง
ทำนองเดียวกัน แรงงานในเมืองได้ค่าตอบแทนไม่ค่อยจะพอกิน ขณะที่เจ้าของโรงงานเอากำไรไปทั้งหมด และใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ชาวนากับกรรมกรไทยไม่ใช่คนโลภมาก พวกเขาเพียงต้องการได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับแรงงานของตนเองเพื่อชีวิตที่ไม่อัตคัดขัดสน
เป็นแนวคิดที่ได้จารึกไว้ในศิลาจารึกปลอมที่ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่พระองค์ได้เรียนมาตั้งแต่วัยเยาว์ คือ ภายใต้พระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม บ้านเมืองก็จะมีแต่ความผาสุกร่มเย็น ปัญหาของทุนนิยมในทัศนะของพระองค์ก็เหมือนกับระบบรัฐสภาที่เอาแต่การทะเลาะเบาะแว้ง เห็นแก่ตัวและทะยานอยาก ที่ทำให้ผู้คนแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเอารัดเอาเปรียบกัน
พระองค์ทรงพบสิ่งยืนยันรับรองความคิดของพระองค์ในทฤษฎีการการพัฒนาที่ยั่งยืน (จิ๋วแต่แจ๋ว) Small is Beautiful
ของ อี. เอฟ. ชูมาคเก้อร์ E. F. Schumacher ตีพิมพ์ในปี 2516 ชูมาคเก้อร์สอนว่า การพัฒนาไม่ควรจะถูกกำหนดโดยอัตราการเจริญเติบโตและการบริโภค แต่มันควรเน้นที่การพึ่งตนเอง และความพอเพียง โดยมุ่งปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนทีละเล็กทีละน้อยแต่มั่นคงยั่งยืน การสนับสนุนความต้องการแบบทุนนิยมและบริโภคนิยมคือหายนะ
หากประชาชนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และสุภาพแล้ว พวกเขาก็จะทำงานหนัก และเป็นสุขกับสิ่งตอบแทนทางวัตถุที่น้อยลง และประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง สิ่งนี้เป็นรากฐานแห่งสังคมในอุดมคติของพระองค์ ทุกคนทำงานหนักและปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ในปี 2518 ทรงแปลทฤษฎีบทหนึ่งของชูมาคเก้อร์ คือ เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เป็นภาษาไทย
พระองค์ทรงเผชิญหน้าและต่อสู้กับทุนนิยมการตลาด ทรงใช้เงินบริจาคและจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำโครงการพัฒนาชนบท ซึ่งส่วนใหญ่มีสหกรณ์เป็นแกนกลางโดยได้รับแรงบันดาลใจจากตัวอย่างในประเทศอิสราเอลและจีนคอมมิวนิสต์
หลังจากที่ทรงประสบความสำเร็จแบบผักชีโรยหน้า หรือขี่ช้างจับตั๊กแตนในโครงการหุบกะพงเมื่อปี 2510 ทรงชูสหกรณ์เป็นจุดขายในแนวคิดของพระองค์ ได้มีพระราชดำรัสอธิบายเรื่องสหกรณ์ว่า “ ไม่ควรมีใครอยู่ใต้คำสั่งของใคร ” แต่ “ สมาชิกทุกคนจะต้องมีวินัยที่เข้มงวด… หากทุกคนสามารถมีวินัยของตัวเองแล้ว ก็จะเป็นกฎเกณฑ์ที่แข็งแกร่งและคงทน จะเป็นการดีกว่าที่จะให้คนอื่นมาบงการ ”
พระองค์ทรงตั้งธนาคารควายสำหรับชาวนาที่ไม่มีทุนทรัพย์ และทรงสนับสนุนการใช้รถไถนาที่บังคับด้วยมือสำหรับชาวนาที่มีทุนทรัพย์บ้าง โดยได้ทรงทดสอบในแปลงข้าวทดลองที่สวนจิตรดา
และจากนั้นให้บริษัทในเครือซีเมนต์ไทยของพระองค์ ผลิตและขายในราคาถูก ที่เรียกว่าควายเหล็ก เป็นรถไถหน้าดินเดินตามประเภท 2 ล้อ ในนามไทยแทรกเตอร์
ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล มักจะได้รับการยกย่องเทิดพระเกียรติ ว่าทรงประดิษฐ์รถไถนาแบบนี้ ทั้งๆที่มันได้รับความนิยมอยู่ก่อนแล้วที่ประเทศญี่ปุ่นในเวลานั้น ในปี 2514
ทรงตั้งโรงสีข้าวขนาดเล็กขึ้นมาสองโรง ในบริเวณสวนจิตรลดาโดยได้รับบริจาคจากรัฐบาลต่างชาติ สี่ปีต่อมา ทรงสร้างโรงงานทำเชื้อเพลิงราคาถูกจากแกลบ โดยหวังว่าโรงงานนี้จะเป็นต้นแบบให้สร้างกันทั่วประเทศเพื่อช่วยให้ชาวนาสร้างมูลค่าเพิ่มจากแกลบที่ได้จากการสีข้าว
ในปี 2512 ทรงสร้างโรงงานผลิตนมผงในสวนจิตร เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่โครงการสหกรณ์นมหนองโพราชบุรี ที่ทรงก่อตั้งในปี 2505
ทรงใช้สหกรณ์ ความรู้ทางเทคนิคใหม่ๆ และการให้ความช่วยเหลือที่ไม่พึ่งพานายทุนในโครงการส่วนพระองค์ให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น แนวพระราชดำริ คือการทดแทนฝิ่นด้วยพืชเศรษฐกิจ อย่างเช่น ถั่วแดงและกาแฟ ในการนี้พระราชวัง ตชด. และกองทัพได้ร่วมกันดำเนินโครงการแปรรูป และการตลาดโดยทุ่มเทเงินอุดหนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าชาวเขาจะได้เงินจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้มากกว่าที่ได้จากฝิ่น
แนวพระราชดำริอีกอย่างหนึ่ง คือการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งได้กลายมาเป็นภาพลักษณ์สำคัญที่ติดตัวพระองค์ตลอดมา งานพัฒนาแหล่งน้ำของพระองค์ได้เริ่มจริงจังเต็มที่เมื่อปลายทศวรรษ 2500 การทดลองทำฝนเทียมประสบความสำเร็จครั้งแรกในปี 2512 หลังจากนั้นพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลจึงได้ทรงผลักดันให้เป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณอย่างเต็มที่
โดยในปี 2514 ได้มีการทำฝนเทียมเป็นประจำโดยเรียกกันติดปากว่า ฝนหลวง ได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับ ใช้เครื่องบินบรรจุสารเคมีขึ้นโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของเมฆ และสภาพทิศทางลมประกอบกัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมเทิดทูนภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ เสมอองค์เทวราชา ผู้สามารถดลบันดาลฟ้าฝนยังความอุดมสมบูรณ์แก่พระราชอาณาจักร ทรงสาธิตการทำฝนเทียมให้นักการทูตต่างชาติได้ชมที่เพชรบุรี ในเดือนตุลาคม 2515
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน พระองค์ทรงเริ่มพัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน โครงการหุบกะพงแสดงให้เห็นว่าถังเก็บน้ำประจำครอบครัว และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กประสบผลสำเร็จด้วยดี
ทรงรับสั่งให้บริษัทเครือซีเมนต์ไทยของสำนักงานทรัพย์สินของพระองค์ผลิตโอ่งน้ำราคาถูกเพื่อแจกจ่ายไปทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาคอยู่เสมอ ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับกรมชลประทานของกระทรวงเกษตร และทรงผลักดันการขยายโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ถังกักเก็บน้ำและโครงการผันน้ำต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญและแรงผลักดันทั้งในและนอกประเทศจากหลายๆฝ่าย
แต่ผลงานและความดีความชอบทั้งหมด ก็ต้องถวายเป็นพระเกียรติคุณของในหลวงภูมิพลแต่เพียงผู้เดียว สิ่งที่พระองค์ทรงหวังยิ่งกว่านั้น คือ การแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซากในหลายพื้นที่ทั่วประเทศซึ่งรัฐบาลไม่ได้ทำอะไรมากนัก
โครงการใหญ่อันดับแรกของพระองค์ คือที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมี ป่าพรุ หรือ ป่าบึง (Peat Swamp) คือ ป่าที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำขัง ดินเป็นหล่มเลนมีซากอินทรีย์วัตถุทับถมทำให้ดินยุบลงตัวได้ง่าย มีลักษณะเป็นดินหยุ่นๆ เป็นกรดสูง
น้ำภายในป่าพรุจึงเป็นกรดจัด พื้นที่พรุบาเจาะเป็นหนองน้ำหรือพรุ ที่ไร้ประโยชน์จำนวนมากและน้ำมักเอ่อล้นจากป่าพรุ เข้าไปยังพื้นที่เพาะปลูก ทำให้พืชผลเสียหาย เนื่องจากน้ำป่าจากภูเขาไหลลงสู่พรุ และท่วมล้นเอ่อไร่นาบริเวณขอบพรุ เสียหายปีละประมาณ 60,000 ไร่ เป็นประจำทุกปี ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและมีจำนวนมากให้การสนับสนุน พคท.ในพื้นที่ รวมทั้งมีบางพวกที่ต้องการแยกตัวจากไทยเพื่อไปรวมกับมาเลเซีย
ทรงมีพระราชดำริให้ตัดคลองระบายน้ำจากป่าพรุไปยังอ่าวไทย เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกได้ด้วย ทรงติดตามและกำกับการดำเนินการของกรมชลประทานในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
ไม่นานหลังจากขุดคลองเสร็จและมีการระบายน้ำ มกราคม 2517 ภาคใต้ประสบน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ยกเว้นพื้นที่บาเจาะ ทรงพระราชทานสัมภาษณ์หลายปีให้หลังว่า วันที่พระองค์มีความสุขที่สุดในชีวิตคือวันที่นายมนัส ปิติวงษ์อธิบดีกรมชลประทานกระหืดกระหอบมาถวายรายงานว่า “ บาเจาะประสบความสำเร็จ ” เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2519
โครงการพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามเสมอไป เพราะสหกรณ์ต่างๆ ยังคงต้องผลักต้องดันตลอดเวลาเพื่อให้ดำเนินงานต่อไปได้ และยังต้องเผชิญกับบรรดาพ่อค้าและนายทุนเจ้าเล่ห์อยู่เช่นเดิม ฝนหลวงก็มักจะตกผิดที่อยู่เป็นประจำ ครั้งหนึ่งตกลงบริเวณทำนาเกลือชายฝั่งทะเล
และอำเภอบาเจาะหลายปีจากนั้น กลับปรากฏว่าส่งผลเสียโดยไม่คาดคิด คือ กรดถูกชะจากป่าพรุที่ถูกระบายน้ำออกสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตที่อยู่ใกล้เคียง และตัวป่าพรุที่ถูกระบายน้ำออกไปก็ไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก ดินของป่าพรุเมื่อขาดน้ำก็อัดตัวแน่น และลดการดูดซับน้ำ ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมกลับคืนมาใหม่ จากรายงานโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ ปี 2531 ระบุว่า“ โชคไม่ดี ที่แนวทางการระบายน้ำออกจากป่าพรุไม่ประสบความสำเร็จ "
การระบายน้ำทำให้ดินพรุชั้นบนที่เกิดจากซากใบไม้ทับถมแห้งสนิทในหน้าแล้ง ซึ่งติดไฟได้ง่าย และดินก็จะอัดตัวแน่น
ระดับน้ำใต้ดินต่ำในช่วงหน้าแล้งทำให้สารประกอบกำมะถันที่อยู่ใต้ดินสัมผัสกับอากาศ และเกิดปฏิกิริยาสันดาบกับออกซิเจนกลายเป็นเกลือกำมะถันปล่อยกรดกำมะถันเข้มข้นออกมาทำให้ดินเปรี้ยว และน้ำที่ไหลออกจากป่าพรุช่วงหน้าฝนมีความเป็นกรด ยิ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกรอบข้าง
ชั้นที่อัดแน่นยิ่งทำให้เกิดน้ำท่วมมากขึ้นด้วย ในบริเวณใกล้เคียงป่าพรุจะปลูกข้าวไม่ได้ในหน้าฝน ยิ่งกว่านั้น…ป่าพรุที่แห้งก็ติดไฟได้ง่ายขึ้น...การระบายน้ำจากป่าพรุในจังหวัดนราธิวาส จึงแทบไม่ประสบความสำเร็จในวัตถุประสงค์ที่จะลดน้ำท่วมในบริเวณใกล้เคียง วัตถุประสงค์ข้อที่สองก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน คือการเพิ่มพื้นที่ทำกิน
โครงการส่วนพระองค์ ส่วนใหญ่ต้องอาศัยการอุดหนุนอัดฉีดในปริมาณมากและไม่สิ้นสุด สหกรณ์ต่างๆ ต้องพึ่งการสนับสนุนทางการเงินจากภายนอกเพื่อให้อยู่รอด โครงการฝนหลวงก็มีราคาแพงมาก ส่วนพืชทดแทนฝิ่น คือถั่วแดง ก็มีการตั้งราคาสูงเกินจริงเพื่อจูงใจ ผลผลิตถั่วแดงถูกส่งออก โดยรัฐบาลและโครงการหลวงเป็นผู้แบกรับการขาดทุน
มีแต่พระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่ทรงได้รับประโยชน์เกินคุ้มจากการสดุดีถวายพระเกียรติคุณ ว่าทรงมีพระอัจฉริยภาพที่สามารถแก้ปัญหาให้แก่พสกนิกรของพระองค์ แต่ความพยายามของพระองค์ก็มีผลเพียงเล็กน้อย ที่เป็นได้แค่ผักชีโรยหน้า เพราะไม่ได้มีการขยายโครงการไปสู่ที่อื่น และรัฐบาลก็ไม่ได้นำไปดำเนินการสานต่อแต่อย่างใด
และในทศวรรษ 2510 พระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ ก็ทรงเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ พอใกล้สิ้นปี 2518 ในหลวงภูมิพลได้ละทิ้งความสนใจเกือบทั้งหมดต่อโครงการพัฒนาและทรงหันมาจดจ่อกับการต่อสู้ทำสงครามกับฝ่ายซ้ายอย่างเอาเป็นเอาตาย
ในเรื่องเศรษฐกิจของวังที่ผ่านมามีหม่อมทวีวงศ์ ถวัลย์ศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) เป็นคนจัดการการลงทุนของวัง และวังก็มีรายได้ปีละหลายสิบล้านบาท จากค่าเช่าและเงินปันผลต่างๆ ซึ่งพร้อมสำหรับการลงทุนใหม่ๆ
หม่อมทวีวงศ์เสียชีวิตในปี 2513 ผู้รับช่วงต่อคือ นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เลขาธิการสำนักพระราชวัง แต่ในหลวงภูมิพลก็ทรงเข้ามากำกับการลงทุนของวังมากขึ้น ด้วยทรงประสงค์จะมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศไทย และจะสาธิตการทำธุรกิจที่สร้างสรรค์เป็นแบบอย่างต่อพสกนิกร
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เจ้าของที่ดินหมู่บ้านเทพประทานถนนพระรามสี่ คลองเตย ซึ่งเป็นสลัมที่อยู่มานาน ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 วังได้เก็บค่าเช่าจากผู้อยู่อาศัยพอเป็นพิธี โดยไม่มีสัญญาเช่า
มาเมื่อต้นทศวรรษ 2510 บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สั่งให้ผู้อยู่อาศัยย้ายออกไป เพราะสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ทำสัญญาให้เอกชนเช่าที่ดินผืนนั้นเพื่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์ การต่อสู้เรื่องไล่ที่สลัมที่ปรากฏต่อสาธารณชน เมื่อนักศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้องและโจมตีว่าสำนักงานทรัพย์สินเป็นพวกศักดินาเจ้าที่ดินเหมือนกัน ทำให้ทางพระราชวังกลัวเสียชื่อจึงต้องระงับโครงการพัฒนาที่ดิน ซึ่งทำให้พระเจ้าอยู่หัวยิ่งไม่ชอบขบวนการนักศึกษาหนักขึ้นไปอีก
ขบวนการแรงงานก็ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีภาพลักษณ์ไม่ดีเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2515 การประท้วงหยุดงานของกรรมกรส่งผลกระทบต่อโรงงานสิ่งทอ อาคารและโรงแรมที่พระราชวังมีหุ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่แล้วทางวังสามารถแยกตัวออกห่างและรักษาภาพลักษณ์จากข้อกล่าวหาเอารัดเอาเปรียบแรงงานมาได้ แต่ก็หลบไม่พ้นกรณีการประท้วงที่โรงแรมดุสิตธานีเมื่อปี 2517 โดยโรงแรมไม่ยอมจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการเท่าเทียมกับโรงแรมอื่นๆ
งานนี้ทางวังปฏิเสธไม่ออก เพราะโรงแรมอยู่บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คนของสำนักงานทรัพย์สินฯ อยู่ในคณะกรรมการบริหารของโรงแรม มีพระญาติพระวงศ์ถือหุ้นอยู่โดยตรง และโรงแรมก็เป็นศูนย์กลางสมาคมพระราชวงศ์ เมื่อผู้ประท้วงหาญกล้าชี้ถึงเส้นสายสัมพันธ์ระหว่างโรงแรมกับพระราชวัง รัฐบาลก็จำต้องเข้ามาจัดการเจรจา เพื่อป้องกันไม่ให้พระนามของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในที่สุดโรงแรมก็ยอมปรับค่าจ้างให้อย่างเสียไม่ได้
ในหนึ่งปีต่อมาเมื่อพนักงานโรงแรมดุสิตธานีประท้วงหยุดงานอีก ประเด็นเรียกร้องเป็นแบบเดิม ค่าจ้างและสวัสดิการในสถานการณ์เงินเฟ้อสูง แต่คราวนี้ผู้บริหารโรงแรมเรียกกระทิงแดงมาข่มขู่พนักงานและให้หยุดการประท้วง
โรงแรมปิดดำเนินการจนหาพนักงานแทนได้ทั้งหมด เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนั้น นักศึกษาและพนักงานก็เริ่มอย่างพูดตรงไปตรงมามากขึ้นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นพวกนายทุนที่เอารัดเอาเปรียบนั่นเอง มีอีกสองกรณีสำคัญที่แสดงว่าผลประโยชน์ของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลขัดกับรัฐบาล ขัดกับทิศทางเศรษฐกิจ โดยเกี่ยวพันกับเงินจำนวนมหาศาล
กรณีแรกเริ่มจากนักธุรกิจที่ทรงอิทธิพลจากแคลิฟอร์เนีย นายเฮนรี่ เคิร์นส Henry Kearns เจ้าของคฤหาสน์ที่พระราชวงศ์ประทับคราวเสด็จเยือนลอสแองเจลิสในปี 2503 นายเคิร์นได้ใช้ประโยชน์จากสายสัมพันธ์กับพระราชวงศ์ ในการลงทุนหลายกิจการในไทยโดยบรรษัทเงินทุนอเมริกัน American Capital Corporation ของเขา
เริ่มด้วยนิคมอุตสาหกรรม กับโรงงานยางรถยนต์ไฟร์สโตน Fire Stone หุ้นส่วนหลักในทั้งสองกิจการคือสำนักงานทรัพย์สินฯ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทยางสยาม Siam Tyre and Rubber ในเครือซีเมนต์ไทย)
จากนั้นนายเคิร์นส ได้วางโครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือโรงงานเยื่อกระดาษ มูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว 600 ล้านบาท) นายเคิร์นสได้หว่านล้อมพระเจ้าอยู่หัวว่าโรงงานผลิตเยื่อกระดาษสยามคร้าฟท์ Siam Kraft Paper ของตนจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่จะปลูกต้นไม้เป็นวัตถุดิบสำหรับทำเยื่อกระดาษ เป็นการทดแทนการนำเข้ากระดาษคราฟต์สีน้ำตาลที่ใช้ทำถุงห่อของ และอาจจะมีเหลือเพื่อส่งออกได้ด้วย
ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นดีเห็นงามไปด้วย เพราะจะได้ทั้งกำไรงาม และได้พระเกียรติคุณมากยิ่งๆขึ้นไป บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรมได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของสหรัฐ US Export-Import Bank แต่พระราชวังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ผ่านทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารไทยพาณิชย์และเครือซีเมนต์ไทย เมื่อโรงงานเริ่มการผลิตในปี 2512 ทรงพระราชทานเครื่องราชชั้นสูงแก่นายเคิรนส์
แต่หลังจากนั้นไม่นาน โครงการนี้ก็ประสบปัญหายุ่งยากและบานปลายอย่างรวดเร็ว จากการที่นายเคิร์นส ได้นำบริษัทของตนเองเข้ามา คือพาร์สันไวท์มอร์ Parsons & Whittemore โดยถือหุ้น 35 เปอร์เซ็นต์ มีอำนาจเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและบริหารกิจการ พอถึงเวลาเริ่มทำการผลิต ปรากฏว่าบริษัทพาร์สันของนายเคิร์นสสามารถถอนทุนคืนและทำกำไรได้จากการจ่ายค่าตอบแทนในการบริหารจัดการให้กับตนเองอย่างงามและฉ้อโกงด้วยโก่งราคาอุปกรณ์ที่จัดซื้อ
บริษัทพาร์สันของนายเคิร์นสได้ถลุงเงินทุนของบริษัทแม่ คือสยามคราฟท์ไปจนหมด เมื่อเริ่มดำเนินกิจการบริษัทสยามคราฟท์ไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยที่นายเคิร์นสได้ถอนทุนคืนพร้อมกำไรจากค่าตอบแทนในการให้คำปรึกษา จึงเหลือแต่หุ้นส่วนฝ่ายไทย ที่หลักๆ ก็คือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงทั้งหมด บริษัทพาร์สันของนายเคิร์นสถูกฟ้องข้อหาบริหารงานผิดพลาดและยักยอก ขณะที่หนังสือพิมพ์ก็รายงานว่าคนอเมริกันพวกนี้ฉ้อโกงประเทศไทยกับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล
ในที่สุด นายเคิร์นส ก็ต่ออายุโครงการไปได้อีก เมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของสหรัฐ (US Export-import Bank ) และปรับกำหนดระยะเวลาการใช้หนี้ที่ยาวกว่าปกติ ให้กับบริษัทสยามคราฟท์ และบริษัททำกำไรได้เล็กน้อยในปี 2515 เพราะรัฐบาลห้ามการนำเข้ากระดาษคราฟท์จากต่างประเทศและยอมให้บริษัทตั้งราคาสูงๆ ถึงขนาดนั้นแล้วก็ตาม บริษัทสยามคราฟท์ก็ยังต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนกับการชำระหนี้
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนไว้ในหนังสือแม่ : กลับจากบ้านโป่ง ถึงปากน้ำ ว่าโรงงานสยามคราฟท์ (ที่ ต. ท่าผา อ. บ้านโป่ง จ. ราชบุรี )ได้ทับพื้นที่ศูนย์กลางของเมืองโกสินารายณ์อายุนับพันปีที่มีการพบซากโบราณสถานขนาดมหึมา เรียกจอมปราสาท (ที่ถูกขุดพบโดยกรมศิลปากรในปี 2509)
ถึงตอนนั้นนายเคิร์นสก็ล้างมือไปแล้ว และเขยิบขึ้นไปพัวพันในกรณีอื้อฉาวที่ใหญ่โตกว่าเดิมเสียอีก คือ การทุจริตคอรัปชั่นระหว่างบรรษัทนอร์ททรอป (Northrop Corporation)บริษัทผลิตเครื่องบินชั้นนำของสหรัฐ ซึ่งเป็นของกลุ่มนายพลกองทัพอากาศไทย กับบริษัทก่อสร้างอิตัลไทยในโครงการก่อสร้างสนามบินระหว่างประเทศแห่งใหม่ ที่หนองงูเห่า
ในปี 2518 บริษัทสยามคราฟถูกตีกระหน่ำจากสามด้าน คือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ การบริหารงานที่ผิดพลาดซ้ำซาก และการเข้ามาของคู่แข่งที่เอาจริงและมีฝีมือเหนือกว่า หุ้นส่วนต่างชาติต่างถอนตัว และทางวังก็ทำการฟ้องร้องนายเคิร์นส หลังจากที่นายเคิร์นสขายหุ้นของเขาทิ้งทั้งในบริษัทสยามคราฟท์กับ และบริษัทยางไฟร์สโตนให้กับบริษัทมิตซุยของญี่ปุ่น ทำให้ในหลวงภูมิพลต้องให้เครือซีเมนต์ไทยเข้าถือหุ้นของบริษัทสยามคราฟท์
แต่ก็ทำได้ลำบาก แม้ว่าเครือซีเมนต์ไทยจะผูกขาดการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักประกันผลกำไรหลายร้อยล้านบาทที่พระราชวังได้รับในแต่ละปี แต่ในปี 2518 รัฐบาลคึกฤทธิ์ได้ตรึงราคาปูนซีเมนต์ และเครือซีเมนต์ไทยก็ขาดทุน ทำให้ไม่มีเงินที่จะไปผ่อนชำระหนี้สินหลายร้อยล้านบาทของบริษัทสยามคราฟท์ ในที่สุดบริษัทสยามคราฟท์ก็ต้องประกาศล้มละลาย ในเดือนพฤศจิกายน 2518
เรื่องยังไม่จบ ในปีต่อมาวังกับเครือซีเมนต์ไทยร่วมมือกับรัฐบาลไทยและสหรัฐฯ ปรับโครงสร้างหนี้อีกครั้งและฟื้นฟูกิจการของบริษัทสยามคราฟท์ และการเจรจาได้ข้อยุติ
แต่พอต้นปี 2520 ศุลกากรไทยดำเนินคดีกับบริษัทด้วยข้อหาหลบเลี่ยงภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ช่วงหลายปีก่อนหน้านั้น แม้ว่าบริษัทสยามคราฟท์ จะแก้ตัวว่าเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ทุจริต ศาลก็สั่งปรับเป็นเงินก้อนโตถึง 66ล้านบาท ซึ่งมากพอที่จะทำให้บริษัทล้มละลายไปอีกรอบหนึ่ง นายกฯ ธานินทร์กับสถานทูตสหรัฐฯ ต้องยื่นมือเข้ามาล้วงลูกประคองบริษัทของพระเจ้าอยู่หัวเอาไว้อีกครั้งหนึ่ง
เรื่องที่เกิดควบคู่ไปกับเรื่องราวของบริษัทสยามคราฟท์ ก็คือเรื่องบริษัทแอร์สยาม Air Siam ซึ่งเป็นสายการบินของพระราชวงศ์ที่เริ่มดำเนินกิจการในปี 2508 มีราชสกุลมหิดลเป็นผู้ลงทุนหลัก แข่งขันกับการบินไทยของรัฐบาล บริษัทแอร์สยามควบคุมดูแลโดยบริษัทระบบการบินสแกนดิเนเวีย Scandinavian Air System กับนายพลกองทัพอากาศไทย
หัวหน้าโครงการหรือประธานบริษัทแอร์สยาม คือพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช สามีของเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา หรือพี่เขยของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล บริษัทแอร์สยามเกือบจะไม่ได้เปิดกิจการ เนื่องจากต้นทุนไม่พอ ขณะที่การบินไทยควบคุมเส้นทางการบินระหว่างประเทศเกือบทั้งหมด แถมแอร์สยามยังขาดแคลนนักบินกับช่างนักเทคนิค ปี 2513 บริษัทแอร์สยาม เริ่มกิจการขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯและฮ่องกง ด้วยเครื่องบินเช่า
ปี 2514 แอร์สยาม ทำท่าจะประสบความสำเร็จเมื่อเริ่มบินจากกรุงเทพฯ ไปลอสแองเจลิส สัปดาห์ละสองครั้ง ซึ่งเป็นเส้นทางหลัก ของทหารสหรัฐฯที่ประจำอยู่ประเทศไทย แต่แอร์สยามต้องจ้างคนต่างชาติค่าตัวแพงมาบริหารจัดการและขับเครื่องบิน ในปี 2515 เศรษฐกิจย่ำแย่ สหรัฐฯเริ่มลดกำลังทหารในไทย และเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรกของโอเปก ราคาน้ำมันถีบตัวสูง การบินไทยแทบเอาตัวไม่รอด และแอร์สยามต้องหยุดบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิค
บริษัทต้องหาทุนเพิ่มจากกลุ่มของพท.ณรงค์ กิตติขจร ที่มีแต่คนเกลียดชัง แอร์สยามจึงรอดตายแต่ก็มีภาพที่แปดเปื้อน และเมื่อพท.ณรงค์ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศในปี 2518 รัฐบาลคึกฤทธิ์ถูกบีบให้ต้องใช้เงินของรัฐบาลมาช่วยอุ้มแอร์สยาม
ทำให้เกิดการคัดค้านจากพนักงานของการบินไทยที่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนไม่แพ้กัน พวกเขาไม่พอใจว่ารัฐบาลให้การช่วยเหลือแก่คู่แข่งโดยไม่ให้ความเป็นธรรมต่อการบินไทย รัฐบาลจึงต้องทำข้อตกลงอัดฉีดเงินให้การบินไทยเข้าเทคโอเวอร์แอร์สยามเพื่อรับภาระหนี้สินทั้งหมด
ผู้ถือหุ้นเดิมของแอร์สยามจะได้รับเงินคืน หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลและพระราชวงศ์จะไม่ขาดทุน ผู้บริหารการบินไทยกับกองทัพอากาศไม่พอใจ ในเดือนสิงหาคม 2519 ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย พนักงานทั้งหมด 5,300 คนของการบินไทยหยุดงานประท้วงหนึ่งวัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2520 บริษัทแอร์สยามปิดกิจการ ภาระหนี้สินจะถูกจัดการอย่างไรนั้นไม่เป็นที่ชัดเจน
การดำเนินธุรกิจต้องอาศัยความเพียรพยายามและประสบการณ์ความเฉลียวฉลาด เกินกว่าที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลจะมีได้ เมื่อการลงทุนของพระองค์เริ่มประสบความล้มเหลว ทรงต้องยอมรับความสูญเสีย หรือไม่ก็ทรงต้องปกป้องผลประโยชน์ของพระองค์เอง ทำให้พระองค์ต้องมีปัญหากับพนักงาน กับระบบราชการ กับหุ้นส่วนและรัฐบาลต่างชาติ กับธุรกิจคู่แข่ง กับกลุ่มผลประโยชน์ในกองทัพและกับรัฐบาลเอง
เป็นความขัดแย้งอย่างลึกๆ ในจิตสำนึกของพระองค์ ในหลวงภูมิพลทรงต้องการส่งเสริมการพัฒนาชนบท ในขณะที่พวกนักศึกษาตีตราพระองค์ว่าเป็นศักดินาใหญู่ ความอึดอัดคับข้องใจอย่างนี้คงเป็นส่วนสำคัญในการทำให้พระองค์ถอยหลังเข้าคลองกลายเป็นพวกล้าหลังที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
บรรดาทีมงานที่ปรึกษาของพระราชวังรุ่นดั้งเดิมนั้นแต่ละคนมีระดับของความคิดอ่านทางการเมืองที่แตกต่างกัน ตั้งแต่พวกหัวเก่านิยมสมบูรณาญาสิทธิ์ไปจนถึงพวกสนับสนุนประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญและกษัตริย์ที่มีอำนาจจำกัด หลังจากที่บรรดาทีมงานที่ปรึกษารุ่นอาวุโสของพระองค์เสียชีวิตไปแล้ว ในหลวงต้องพึ่งพาความคิดของพระองค์เอง ทรงต้องแก้ปัญหาเองโดยไม่มีที่ปรึกษาชั้นผู้ใหญ่ที่คอยเสนอแนะเหมือนแต่ก่อน ในหลวงทรงรู้เรื่องภายในพระราชวังมากกว่าใครๆ ทั้งอดีตและปัจจุบัน
ทรงแต่งตั้งข้าราชการที่มีภาพลักษณ์ที่ซื่อสัตย์สุจริตและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์เป็นองคมนตรี หรือที่ปรึกษาส่วนพระองค์ แต่คนพวกนี้เป็นแบบเดียวกันหมดและหมอบกราบเกินเหตุ ไม่มีพวกหัวเสรีนิยมหรือพวกหัวก้าวหน้า เพื่อถ่วงดุลความเป็นเผด็จการขวาจัดคลั่งเจ้า จึงมีแต่จะพากันตื่นตระหนกหวาดกลัว และพร้อมลงมืออย่างบ้าระห่ำโดยไม่มีการประนีประนอม
ทรงมองว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกนั้นล้มเหลว และพระองค์ก็เลิกสนใจพวกแนวร่วมที่เป็นเสรีนิยม และที่สำคัญ คือพระเจ้าอยู่หัวไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอีกต่อไปแล้ว พระองค์ทรงยืนเคียงข้างและสนับสนุนพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดเต็มที่ ทรงเชื่อว่ารัฐบาลสัญญากับรัฐบาลคึกฤทธิ์ คือความล้มเหลวของประชาธิปไตยแบบตะวันตก พระองค์ต้องแก้ปัญหาของการบริหารประเทศและตอบสนองความต้องการของประชาชนในสมัยรัฐบาลสัญญา ขณะที่การเมืองก็มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ระบบราชการที่เฉื่อยชา และการชุมนุมประท้วงโหวกเหวกโวยวายบนท้องถนนสมัยนายกคึกฤทธิ์ที่มากกว่านายกสัญญา
เมื่อถึงตอนปลายรัฐบาลคึกฤทธิ์ ในหลวงภูมิพลก็ไม่ได้สนับสนุนแนวทางปฏิรูปประชาธิปไตยอีกต่อไปแล้ว ทรงสรุปว่าการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยมีแต่จะเอื้อให้ฝ่ายซ้ายได้ขึ้นมามีอำนาจ และทำลายประเทศชาติ
เหตุการณ์สำคัญที่ผลักดันในหลวงภูมิพลกับวังต้องตื่นตระหนก คือสัญญาณบ่งบอกถึงความไม่อยู่ยงคงกระพันของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเอง เดือนมกราคม 2518 ขณะที่รัฐบาลเสนีย์จะรับตำแหน่ง ในหลวงภูมิพลทรงประชวรหนักด้วยโรคที่ติดมาจากภาคเหนือ
ภายหลังรายงานว่าเป็นไข้รากสาด (Scrub Typhus) พระปรอทขึ้นสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสเป็นเวลาสิบวันติดต่อกัน และทางพระราชวังวิตกว่าอาจถึงสวรรคต ทรงฟื้นขึ้นมาในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็กลับทรุดลงไปอีกในเดือนเมษายนจนต้องยกเลิกงานพิธีต่างๆ มากมายและทรงหายเป็นปกติดีอีกหลายสัปดาห์หลังจากนั้น ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงความไม่แน่นอนของสังขารของกษัตริย์ภูมิพล
เป็นเรื่องประจวบเหมาะของสิ่งต่างๆ ที่บีบรัดมากขึ้นทุกที จากภัยคอมมิวนิสต์ สุขภาพของพระองค์เอง พระราชโอรสกับการสืบราชบัลลังก์ ความไม่สบอารมณ์กับระบอบทุนนิยม ที่กำลังขยายตัวและการพัฒนาชนบทที่ไม่ได้ดั่งใจ การถูกทิ้งโดยประเทศพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐ และการแผ่อำนาจของคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน
สถานการณ์ดังกล่าว ได้ผลักให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลและพระราชินีสิริกิติ์ต้องขวัญผวาตื่นตระหนกจนต้องถลำไปสู่แนวอนุรักษ์นิยมที่รุนแรงและป่าเถื่อน ไม่ปรานีปราศรัย และนำไปสู่การสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ในที่สุด การล่มสลายของสถาบันกษัตริย์ลาว ในเดือนธันวาคม 2518 เป็นฟางเส้นสุดท้าย จากนั้นในหลวงทรงปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อทัศนะของผู้เชี่ยวชาญ และรายงานข่าวกรองต่างๆ ที่ว่า พคท.ไม่มีความสามารถจะบ่อนทำลายรัฐบาลได้เลย และเวียตนามไม่มีความประสงค์จะบุกไทย
ปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้ในหลวงภูมิพลล้มเลิกความสนใจในการปกครองแบบเสรี และกระโจนสู่ปีกขวาจัด ก็คือการที่ทรงเชื่อมั่นในการสืบราชสันตติวงศ์แห่งธรรมราชาและปรีชาญาณที่สูงล้ำของพระองค์ หลังจากที่ได้ทรงศึกษาพุทธศาสนาและวิปัสสนามาหลายปี ทำให้ทรงบรรลุธรรมของพระโพธิสัตว์
ทรงสรุปว่า กฎหมายและอำนาจทางโลกียรวมกับเศรษฐกิจการตลาดสมัยใหม่ จะยิ่งเพิ่มความไม่เป็นธรรมและบิดเบือนธรรมะ การเเก้ไขต้องอาศัยการฟื้นฟูภาวะธรรมชาติ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของพระธรรม อันเป็นแนวทางถาวรที่อยู่บนฐานของคุณธรรมจริยธรรม เสริมด้วยผลกรรมของแต่ละบุคคล ด้วยโครงสร้างลำดับชั้นทางอำนาจ ที่อยู่บนพื้นฐานของธรรมะ จำต้องอาศัยพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระราชอำนาจ ทรงปราดเปรื่องและทรงคุณธรรม
รวมทั้งความมีวินัยความอุตสาหะและความเสียสละ ทรงอบรมเรื่องนี้ให้คณะสงฆ์ และทรงสนับสนุนโครงการ “ พระนักพัฒนา ” ที่ตระเวนสั่งสอนว่าการทำงานหนักคือการได้บุญ แนวคิดเหล่านี้ยังเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ของพระเจ้าอยู่หัวกับพระกิตติวุฒโท ที่จิตตภาวันวิทยาลัย ที่ใช้เป็นที่ฝึกอบรมพระในการทำการเกษตร วิศวกรรมและธุรกิจ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการอุทิศตนแก่ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งได้กลายเป็นลัทธิใหม่ของพวกขวาจัด
6 ตุลาคม 2519 เป็นการแสดงตัวตนของพระมหากษัตริย์ที่โจ่งแจ้งชัดเจนที่สุด นับแต่กบฏบวรเดชในปี 2476 ที่พวกเจ้าสนับสนุนทหารบางคนก่อการกบฏเพื่อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงก่อตั้งและสนับสนุนการโจมตีเข่นฆ่าประชาชน โดยกองกำลังติดอาวุธของพระองค์ ทรงปลุกปั่นพสกนิกรให้เผชิญหน้ากัน นักศึกษาและฝ่ายซ้ายถึง 10,000 คนต้องหนีเข้าป่าไปร่วมกับ พคท. ทำให้ขบวนต่อสู้ของพคท.กับรัฐบาลมีขนาดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และนำประเทศชาติเข้าใกล้สงครามกลางเมือง มีการล้มเลิกรัฐธรรมนูญและยุบเลิกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และตั้งรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารที่เป็นเผด็จการทหาร
รัฐบาลเผด็จการธานินทร์กับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ไม่สามารถชี้แจงต่อประชาชนและประชาคมระหว่างประเทศ ที่ประณามความโหดร้ายป่าเถื่อนที่เกิดขึ้น และพระองค์ก็ไม่สามารถหลอกลวงให้ผู้คนเข้าใจว่าทรงเป็นธรรมราชาที่เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณอีกต่อไปแล้ว
แม้ว่าในหลวงภูมิพลทรงต้องสนับสนุนความรุนแรงของฝ่ายขวาจัดเพื่อปกป้องและธำรงสถาบันพระมหากษัตริย์ของตนเองให้อยู่รอดต่อไป เพราะคอมมิวนิสต์ได้เถลิงอำนาจในประเทศข้างเคียงและขบวนการต่อสู้ของพคท.ในไทยก็กำลังขยายเติบโต ราชสกุลมหิดลจึงจำเป็นต้องร่วมมือกับพลังอนุรักษ์บูชาเจ้าที่จะปกป้องราชบัลลังก์เหนือสิ่งอื่นใด
แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลและพระราชินีสิริกิติ์จะต้องไปไกลถึงขนาดปลุกระดมความเกลียดชังให้สังคมไทยต้องเผชิญหน้าฆ่าฟันกันเหมือนไม่ใช่คนชาติเดียวกัน มันได้สร้างตราบาปสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์เอง พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติไทยอีกต่อไปแล้ว แต่ทรงเป็นได้แค่ศูนย์รวมของพวกขวาจัดที่บ้าคลั่งเท่านั้น
การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ทำให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงมีโอกาสตั้งรัฐบาลของพระองค์เอง และปกครองราชอาณาจักรอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก โดยมีร่างทรง คือนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี
การแทรกแซงบงการรัฐบาลได้กลายมาเป็นพระราชกรณียกิจ หรือกิจวัตรประจำวันโดยมีการวางแผนและมีเป้าหมาย ดังที่มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตรเขียนว่า “ มุ่งเพิ่มพูนอำนาจการเมืองของสถาบันกษัตริย์เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับรับมือกับความวุ่นวายและคอมมิวนิสต์ " วังพยายามปรับตัวเองให้เป็นสถาบันที่มีอำนาจครอบงำสูงสุด ก่อให้เกิดการต่อต้านและคัดค้านรัฐบาลขวาตกขอบของนายธานินทร์ในเวลาแทบไม่ถึงหนึ่งปี ซึ่งทำให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลถึงกับตกตะลึง เมื่อรัฐบาลธานินทร์ของในหลวงถูกปฏิเสธเต็มๆโดยเหล่านายพลสายกลาง นักธุรกิจ ข้าราชการและคนทั่วไป
กลุ่มที่ยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ประกอบด้วยนายทหารที่ค่อนข้างกลาง เชื่อมโยงกับ พลเอกกฤษณ์ สีวะราที่เสียชีวิตไปก่อน มีการอ้างว่าพวกเขาต้องชิงทำรัฐประหารเพื่อตัดหน้าปีกขวาสุดโต่งที่เชื่อมโยงกับถนอม ประภาส ประมาณ อดิเรกสารและสมัคร สุนทรเวช คณะรัฐประหารเรียกตัวเองว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่
ผู้อยู่เบื้องหลังพล.ร.อ.สงัด คือพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ที่มาในแนวกลางๆ แบบพล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เพื่อที่จะได้รับการรับรองจากวัง คณะรัฐประหารจำต้องตั้งคนที่ในหลวงภูมิพลทรงเลือกเป็นนายกฯ การที่ในหลวงยืนยันเลือกนายธานินทร์ซึ่งเป็นพลเรือนแสดงถึงทั้งความไม่ไว้วางพระทัยต่อคณะรัฐประหารและความกังวลต่อสายตาของต่างประเทศที่จะมีต่อรัฐบาลใหม่
ในฐานะผู้พิพากษาศาลฎีกา นายธานินทร์เป็นข้าราชการสายพันธุ์ที่ในหลวงภูมิพลโปรดปรานมากที่สุด ทั้งซื่อสัตย์และทุ่มเท ไม่แสดงอาการทะเยอทะยานหรือตะกละตะกราม อายุเท่ากับในหลวง จบกฎหมายจากอังกฤษ แต่งงานกับหญิงชาวเดนมาร์ก และนิยมกษัตริย์ชนิดแทบจะมากกว่าตัวพระเจ้าอยู่หัวเองเสียอีก นายธานินทร์เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดจากการต่อต้านคอมมิวนิสต์ เขียนหนังสือ การใช้กฎหมายเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์
และร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนจิตวิทยาชื่อ นายดุสิต ศิริวรรณ จัดรายการโทรทัศน์ที่มีนวพลเป็นผู้อุปถัมถ์คือ สนทนาประชาธิปไตย ทั้งสองโจมตีคอมมิวนิสต์ นักศึกษาและนักการเมืองหัวก้าวหน้าอย่างดุเดือดว่าเป็นภัยต่อราชอาณาจักร
หนังสือว่าด้วย สถาบันกษัตริย์ของธานินทร์ ในปี 2518 ทำให้เขากลายเป็นพี่เลี้ยงรุ่นใหม่ชั้นนำแห่งราชวงศ์จักรี เขาอธิบายว่ากษัตริย์ราชวงศ์จักรีเป็นพ่อขุนที่ยังความผาสุกแก่ทวยราษฎร์ตราบใดที่พวกเขายังจงรักภักดี เชื่อฟังและสงบเรียบร้อย โดยอ้างถึงการปฏิรูปต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นข้อพิสูจน์
นายธานินทร์ได้พูดชัดเจนแบบฟันธง ว่าประชาชนไทยไม่สามารถอยู่รอดได้หากปราศจากสถาบันกษัตริย์ เพราะเผ่าพันธุ์ไทยไม่ได้กำหนดโดยลักษณะทางพันธุกรรมหรือภูมิศาสตร์การเมือง แต่โดย “ ความเป็นไทย ” อันเป็นแนวคิดที่จะไม่ดำรงอยู่หากแยกขาดจากกษัตริย์ หากปราศจากกษัตริย์แล้ว แผ่นดินและประชาชนก็จะตกอยู่ในห้วงอเวจี อันไม่มีลักษณะเฉพาะของตนแบบที่พวกคอมมิวนิสต์จะนำมา
ก่อนหน้านี้นักผลิตอุดมการณ์แห่งรัชกาลที่ 9 คือ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรกับพระยาศรีวิสารวาจาได้เคยเสนอว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมมีความเป็นประชาธิปไตยสุดยอดแล้วโดยธรรมชาติ แต่นายธานินทร์ก้าวไปไกลกว่าโดยกล่าวว่า สามสิบปีที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลครองราชย์ย่อมเป็นข้อพิสูจน์ว่าสถาบันอย่างรัฐสภากับระบบตัวแทนจากการเลือกตั้ง แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญล้วนไม่มีความสำคัญ
การมีส่วนร่วมของมวลชนในการบริหารงานแผ่นดินไม่มีความจำเป็น เพราะสถาบันกษัตริย์ทรงทำนุบำรุงสุขให้พวกเขาได้ดีที่สุดอยู่แล้ว นั่นคือประชาธิปไตยที่แท้จริง
นายธานินทร์ ยอมรับการลุกฮือ 14 ตุลา เพียงเพราะว่านักศึกษาในคราวนั้นอยู่ฝ่ายพระเจ้าอยู่หัว สำหรับการสังหารโหด 6 ตุลา 19 นั้น ในหลวงภูมิพลกับนายกธานินทร์ต่างปฏิเสธไม่สนใจที่จะลดแนวทางแข็งกร้าวลงเลยแม้แต่น้อย ฝ่ายซ้ายมากกว่า 10,000 คนจึงต้องหนีเข้าป่าเพื่อไปร่วมกับ พคท. ทำท่าจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาจริงๆ
เศรษฐกิจตกต่ำจากการถอนตัวของนักลงทุน ขณะที่วอชิงตันพันธมิตรเก่าแก่ของไทยก็ตัดความช่วยเหลือ พร้อมทั้งวิจารณ์รัฐบาลว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่นายกธานินทร์กลับอธิบายในภายหลังอย่างไม่สำนึกว่า “ เมื่อคุณจัดการกับเรื่องการเมือง คุณต้องระวังพื้นที่ตรงกลางเนื่องจากว่ามันเป็นบริเวณที่พวกคอมมิวนิสต์คืบคลานเข้ามา โดยอำพรางอยู่ในคราบพวกเสรีนิยม ”
รัฐบาลใหม่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขนาดสั้น ที่ให้อำนาจเกือบเบ็ดเสร็จแก่นายกธานินทร์ โดยมีสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มีแต่ข้าราชการและทหาร จากการแต่งตั้ง คำสั่งนายกรัฐมนตรีถือเป็นกฎหมาย และมีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งลงโทษ แบบเดียวกับเผด็จการสฤษดิ์ในปี 2501 จะต่างกันก็ตรงที่ นายกธานินทร์คือร่างทรงหรือหุ่นเชิดของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล เจตจำนงของวังที่จะปกครองประเทศดูได้จากการที่รัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจกษัตริย์อันใหม่ขึ้นมาคือ กษัตริย์สามารถเสนอกฎหมายเข้าสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้โดยตรง
นายกธานินทร์ไม่ค่อยให้เกียรติหรือเกรงใจพวกนายพลในคณะรัฐประหาร โดยปฏิเสธโพยรายชื่อคณะรัฐมนตรีของพวกนายพลและเสนอแต่คนของตนเอง พิธีกรคู่หูรายการโทรทัศน์ของเขาคือ นายดุสิต ศิริวรรณ ได้เป็นรัฐมนตรีที่ดูแลงานนโยบายการเมือง
นายสมัคร สุนทรเวชที่นักศึกษาหลายคนเกลียดแต่พระราชินีสิริกิติ์ทรงโปรดได้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ที่มีอำนาจสั่งการตำรวจ นอกจากรัฐมนตรีด้านกลาโหมและความมั่นคงสามที่นั่งเป็นคนจากคณะรัฐประหารแล้ว รัฐมนตรีที่เหลือล้วนเป็นเพื่อนฝูงของนายธานินทร์กับข้าราชการฝ่ายเทคนิคทั้งสิ้น
การที่นายธานินทร์เป็นเหมือนตัวแทนพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ทำให้คณะรัฐประหารต้องคล้อยตามนายธานินทร์ ในการจัดการปราบปรามฝ่ายซ้ายอย่างไม่ปรานีปราศรัย นายธานินทร์โอนคดีอาญาไปไว้ใต้อำนาจศาลทหารและตำรวจได้รับอำนาจมากมายที่จะจับใครกักขังก็ได้ รัฐบาลตีตราทุกคนที่สนับสนุนการลุกขึ้นสู้ของประชาชนว่าเป็นคนทรยศและคอมมิวนิสต์ และสามารถขังพวกเขาได้ถึงหกเดือนโดยไม่ต้องแจ้งข้อหา มีหลายพันคนถูกจับกุมในช่วงนั้น โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ที่วางแผนโค่นล้มรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ถูกปรับให้โหดยิ่งขึ้น ก่อนตุลาคม 2519 โทษหมิ่นฯ คือจำคุกสูงสุดไม่เกินเจ็ดปี ทำให้ศาลสามารถยืดหยุ่นได้มาก และหลายคนที่ถูกเล่นงานด้วยข้อหานี้ก็โดนแต่เพียงเบาะๆ คือรอลงอาญาหรือไม่ก็ติดคุกไม่กี่เดือน
ผู้พิพากษาหลายคนเข้าใจว่าข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายขวา ที่บ่อยครั้งเหลวไหลไร้เหตุผล เพียงสองสัปดาห์ที่ครองอำนาจ นายกธานินทร์จัดการแก้ไขให้มีโทษต่ำสุดจำคุกสามปีและสูงสุดไม่เกิน 15 ปี การจับกุมข้อหาหมิ่นฯ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี 2518 มี 10 คน ปี 2519 มี 21 คน ปี 2520 ในรัฐบาลธานินทร์ 42 คน ชายคนหนึ่งถูกข้อหาหมิ่นฯ เพราะใช้ผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้านเช็ดโต๊ะ
นายกธานินทร์ทำแบบเผด็จการสฤษดิ์ โดยสั่งประหารชีวิตอาชญากรอุกฉกรรจ์ไปสองสามคนเพื่อข่มขวัญไม่ให้มีใครกล้าหือ รัฐบาลกวดขันกับการนำเสนอข่าวของสื่ออย่างเข้มงวดและสั่งห้ามการประท้วงทั้งหมด ตำรวจบุกค้นตามบ้านเรือน โรงเรียนและที่ทำงานต่างๆ เพื่อยึดหนังสือ “ต้องห้าม” เลยเถิดไปถึงขนาดเผาหนังสือทุกเล่มที่มีหน้าปกสีแดง
การพูดคุยทางการเมืองในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นมาร์กซิสม์ สังคมนิยม หรือประชาธิปไตย ถูกสั่งห้าม ตำราเรียนถูกเขียนใหม่และมีการสร้างภาพยนตร์เชิดชูคุณค่าแบบไทยๆ (ซึ่งกำหนดว่าคือความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ) เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ หนังสือของธานินทร์ว่าด้วยเรื่องกษัตริย์ไทยได้รับการตีพิมพ์ใหม่โดยรัฐบาลและแจกจ่ายไปตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ
ในชนบท การปราบปรามคอมมิวนิสต์ทวีความรุนแรงจนเกือบถึงขั้นสงครามเต็มรูปแบบ แต่มีรายงานว่าชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าตายไปมากกว่าพลพรรค พคท.เสียอีก
ที่ภาคใต้ ระเบิดนาปาล์มทำลายหมู่บ้านเรือกสวนไร่นา แต่ฐานกำลังของพคท.แทบไม่กระเทือน การซุ่มโจมตีดำเนินต่อไปอย่างมีขั้นตอน และตัวเลขการสูญเสียของฝ่ายรัฐบาลพุ่งขึ้นเป็น 550 นาย ในสามเดือนแรกของปี 2520
นายกธานินทร์ยังมีท่าทีที่แข็งกร้าว ต่อเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย โดยยกเลิกการริเริ่มฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับจีนและเวียตนามของนายกคึกฤทธิ์และนายกเสนีย์ และประกาศเป็นศัตรูกับรัฐบาลทั้งสองประเทศอีกครั้ง
ประเทศไทยเลยกลายเป็นนักเลง หาเรื่องพิพาทกับเพื่อนบ้าน เป็นการเหวี่ยงสุดโต่งไปทางเผด็จการทหารขวาจัดที่อันตราย ซึ่งนักวิชาการ นักการทูตต่างชาติและสื่อมวลชนก็รายงานอย่างนั้น รัฐบาลธานินทร์ได้สร้างความแตกแยกแก่สังคมไทยส่วนใหญ่ เป็นที่ชัดเจนว่านายกธานินทร์ไม่รับใช้ใครทั้งนั้นนอกจากพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล
ส่วนในหลวงภูมิพลก็มิได้น้อยหน้าไปกว่านายกธานินทร์ ทรงประกาศว่าการรัฐประหาร 6 ตุลานั้นเป็น “ การแสดงถึงสิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างชัดเจน...ในช่วงเวลาที่ประเทศของเราประสบภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องจากศัตรู เสรีภาพและการดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นคนไทยอาจถูกทำลาย หากคนไทยไม่มีสำนึกรักชาติและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการต้านทานศัตรู
กองทัพไทยจึงมีหน้าที่สำคัญที่สุดในการปกป้องประเทศในทุกเวลา เตรียมพร้อมเสมอในการปฏิบัติภารกิจเพื่อป้องกันประเทศชาติ ” ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ได้มีพระราชดำรัสกล่าวต้อนรับการกลับมาของจอมพลประภาส จารุเสถียร ในระหว่างการออกงานที่ได้รับการรายงานผ่านสื่อเป็นอย่างดี
การที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมีท่าทีแข็งกร้าวออกแนวขวาจัด ทำให้พระองค์เสียภาพลักษณ์ของความเป็นนักประชาธิปไตยหลังจากที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้แย่งชิงตำแหน่งนี้มาครองเป็นเวลาหลายสิบปีจากผู้ก่อการ 2475 และกล่อมคนไทยจนเชื่อว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่รัชกาลที่ 7 ทรงดำริจะพระราชทานให้แต่แรกแล้ว รัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ที่วอชิงตันตำหนิไทยอย่างแข็งกร้าวที่ละทิ้งประชาธิปไตย และพคท.ก็เรียกรัฐบาลว่าเป็นเผด็จการกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา
ระบอบธานินทร์และวังพยายามประคองตนเองท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างหนัก ด้วยการพยายามอ้างว่าตนเองก็เป็นประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญไป นายกธานินทร์ บอกว่าตนเชื่อใน“รูปแบบหนึ่งของสังคมนิยมประชาธิปไตยตามแบบอังกฤษและเดนมาร์ก ไม่ต่างจากพวกเจ้ารุ่นเก่ายุคก่อน 2475
โดยรัฐบาลของเขาจะจัดการเลือกตั้งและเคารพสิทธิ์ของประชาชน แต่ว่าประชาชนจะต้องได้รับการศึกษามากกว่านี้เสียก่อน ซึ่งต้องใช้เวลา12 ปี เรียกว่า แผนจุฬาลงกรณ์ และนายธานินทร์โฆษณาชวนเชื่อตอกย้ำว่า สถาบันกษัตริย์เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูประชาธิปไตย มาตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหง รัฐบาลท่องวลีจากรัฐธรรมนูญฉบับสั้นราวกับเป็นบทสวดมนต์ว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองรูปแบบหนึ่งที่มี “ กษัตริย์เป็นประมุข ”
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ยังหันมาอธิบายว่าประชาธิปไตยเป็นระบบที่มีระเบียบวินัย เท่ากับบอกเป็นนัยว่าช่วง 2516-2519 นั้นไม่เป็นประชาธิปไตย มีข่าวว่านายกธานินทร์วางแผนจะแปรรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่สร้างโดยจอมพล ป.และเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาให้กลายเป็นอนุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์
เปลี่ยนจากที่มาดั้งเดิมที่เกี่ยวกับการล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้กลายมาเป็นประชาธิปไตยที่รัชกาลที่ 7 พระราชทานมาให้ หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ทางวังเล็งเห็นว่า จะต้องยึดฉวยพลังเชิงสัญลักษณ์ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือไม่ก็ต้องทำลายเสีย นายกธานินทร์จัดงบประมาณก้อนใหญ่สำหรับสร้างรูปหล่อขนาดใหญ่ของรัชกาลที่ 7 เพื่อจะนำไปไว้บนยอดอนุสาวรีย์แทนที่รัฐธรรมนูญ
แต่มันประสบปัญหาทางวิศวกรรม รัฐบาลจึงตัดสินใจนำรูปหล่อไปไว้หน้ารัฐสภาแทน มันมีคำจารึกวรรคทองที่รัชกาล 7 มีพระราชดำรัสกล่าวสละราชสมบัติ ที่ทำให้พระองค์ยืนยงเป็นบิดาแห่งระบอบรัฐสภาและรัฐธรรมนูญของไทยว่า “ ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร ”
สำหรับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของเดิมนั้น รัฐบาลธานินทร์ตัดสินใจที่จะทำลายทิ้ง คณะกรรมการชุดที่จัดการเรื่องนี้ตัดสินใจอย่างง่ายดายว่า อนุสาวรีย์นี้ไม่ควรค่าแก่การรักษาไว้ เนื่องจากมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเลย
ในสมัยของรัฐบาลเผด็จการธานินทร์ ทั้งพระเจ้าอยู่หัว พระราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงเสด็จออกงานมากกว่าเดิมเป็นพิเศษ ทรงพยายามสร้างฐานมวลชนที่เป็นของพระองค์เอง ทั้งเพื่อปกป้องรัฐบาลธานินทร์และปกป้องราชวงศ์หากรัฐบาลธานินทร์ไปไม่รอด
พระราชวงศ์ต่างพากันเสด็จไปทั่วประเทศสัมผัสกับคนไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อตอกย้ำว่าประเทศกำลังตกอยู่ในภยันตราย พวกพระราชวงศ์เสด็จเยี่ยมทหารกรมกองต่างๆ ข้าราชการและโดยเฉพาะลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าสามล้านคนและเป็นฐานมวลชนหลักของในหลวง พระราชวงศ์ยังเสด็จเยี่ยมวัดและพระต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งแน่นอนต้องมีกิตติวุฒโทที่จิตตภาวันวิทยาลัยรวมอยู่ด้วย และทรงเลื่อนฐานะของวัดจำนวนมากให้กลายเป็นวัดหลวง ซึ่งเป็นครั้งแรกนับจากทศวรรษ 2500 ส่วนใหญ่แล้วเป็นวัดในภาคอีสานที่มีปัญหาคอมมิวนิสต์รุนแรงที่สุด
พวกเขาไปเยี่ยมทหารที่อยู่ตามแนวหน้าบ่อยขึ้นและเยี่ยมทหารที่ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาล ทรงสวมชุดออกรบ และบางทีก็ทรงคาดปืนด้วย ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ที่เพิ่งสำเร็จวิชาการรบแบบกองโจร ก็เสด็จเยี่ยมทหารโดยมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นอย่างดี
คนไทยช่างแสนจะโชคดีจริงๆ ที่มีในหลวงภูมิพลที่ทรงทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนจงรักภักดีต่อพระองค์มากที่สุด และใครที่พระองค์เชื่อได้ว่า ไม่จงรักภักดีเท่าที่ควรก็ไม่สมควรที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป อย่างที่บางคนชอบถามว่า คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า คนไทยทุกคนต้องรักในหลวงภูมิพล ไม่มีสิทธิ์ที่จะคิดเป็นอย่างอื่น ทั้งนั้น
............
วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น