วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตำนานๆ 009025 : หว่านพระบารมี

ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/kJWcrnD4/The_Royal_Legend_025_.html         
หรือที่  http://www.mediafire.com/?d3tctdyf6ng6cbb

โปรดทราบ : ไฟล์เสียงที่เคยdownloadไม่ได้ บัดนี้ได้แก้ไขแล้ว  โปรดลองเข้าที่linkใหม่

...........



การรัฐประหารของสฤษดิ์ได้สร้างความลิงโลดแก่วังเป็นที่สุด เพราะหลังจากขับเคี่ยวกันมา 25 ปี คนที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือ นายปรีดีและจอมพลป.พิบูลสงครามมีอันต้องกระเด็นออกจากประเทศโดยไม่เคยได้กลับมาอีก

ยุคสมัยของพวกคณะราษฎรได้ถูกโยนทิ้งไว้ข้างหลัง เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สถาบันกษัตริย์ได้หวลกลับมาผงาดอย่างยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้ทุกคนจำเป็นต้องดิ้นรนหาทางให้พระมหากษัตริย์สนับสนุน จอมพลป.กลายเป็นเสือสิ้นลายที่ต้องวิงวอนขอให้วังคุ้มหัวให้แก่ตน จอมพลสฤษดิ์สำนึกว่าการรับรองจากพระเจ้าอยู่หัวมีความจำเป็นสำหรับการยึดอำนาจ เพราะแม้แต่ทูตสหรัฐฯก็ยังต้องรีบเข้าวังเพื่อให้ได้คำยืนยันที่ชัดเจนว่าคณะรัฐประหารยังคงอยู่กับฝ่ายอเมริกาในสงครามเย็นต่อต้านคอมมิวนิสต์

การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ทำให้รัชกาลที่ 9 ได้ข้อสรุปสำคัญสองประการ คือไม่มีการฝันถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไปแล้ว และพวกเจ้าต้องเลิกต่อสู้กับรัฐบาลทหาร โดยต้องเปลี่ยนเป็นอ้าแขนรับพวกขุนศึกขุนทหาร

ในอีกหลายสิบปีต่อมา ที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงอุ่นพระทัยมากที่สุดกับเผด็จการทหาร ที่ส่วนใหญ่ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารที่พระองค์ทรงให้การรับรองเอง ที่สำคัญคือพระราชวงศ์ก็ทรงหมดความสนใจในระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกมานานแล้ว พวกเจ้าเคยให้ความสำคัญต่อรัฐธรรมนูญและรัฐสภา แต่หลังจากปี 2500 เป็นต้นมาพวกเจ้าสรุปว่า ทั้งรัฐธรรมนูญและรัฐสภาไม่สำคัญ และกระทั่งเป็นอุปสรรคต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ให้การสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์เพราะจอมพลสฤษดิ์ได้ทำการยกเลิกทั้งรัฐธรรมนูญและรัฐสภา


จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นแบบอย่างจอมพลในประเทศล้าหลัง
เป็นคนยิ้มแย้ม เป็นขวัญใจประชาชน นักดื่มตัวยง พ่อค้าฝิ่น เสือผู้หญิง และเผด็จการผู้เหี้ยมโหด ที่สั่งประหารอาชญากรและฆ่าฟันศัตรูทางการเมืองเพื่อข่มขวัญคนอื่นๆ




แต่สิ่งที่พวกเจ้าพอใจมากที่สุด คือ จอมพลสฤษดิ์ผู้ซึ่งไม่เคยไปเรียนเมืองนอก ยึดถือคติไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินที่เชื่อฟัง และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณภายใต้พระมหากษัตริย์ และรัฐบาลที่จงรักภักดี กล่าวกันว่าความทรงจำอันงดงามที่สุดอันหนึ่งของจอมพลสฤษดิ์ คืองานพิธีจบการศึกษาของตนเมื่อปี 2470 ที่ได้เข้ารับพระราชทานกระบี่นายร้อยจบใหม่ จากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7

จอมพลสฤษดิ์มองตัวเองเป็นผู้นำ ในลักษณะพ่อขุน เช่นเดียวกับจอมพลป. แต่จอมพลป.ตีตนเสมอเจ้า หรือกระทั่งเหนือกว่าพระมหากษัตริย์ ขณะที่จอมพลสฤษดิ์ยกกษัตริย์ภูมิพลไว้เหนือตนเอง และสนับสนุนลำดับชั้นสูงต่ำตามประเพณี

ในขณะเดียวกันก็รวมเอาตนเองเข้ากับบารมีของกษัตริย์ จอมพลสฤษดิ์เข้าใจการแลกเปลี่ยนนี้ดี ถ้าเชิดชูกษัตริย์แล้ว เขาก็จะได้อำนาจตามที่เขาต้องการ และได้เรียงลำดับชั้นของอำนาจนี้ไว้ในถ้อยแถลงของเขา อันเป็นที่มาของคำขวัญยอดนิยม อย่างเช่น รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ กองทัพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ค่านิยมทางสังคมของจอมพลสฤษดิ์ เป็นแบบพวกนิยมเจ้าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เน้นระเบียบวินัย และความสามัคคีให้เป็นตัวเชื่อมประสานเอกภาพของความเป็นไทย คำเดิมอีกคำหนึ่งคือ ความเรียบร้อย

สำหรับทั้งสฤษดิ์และวังแล้ว ไม่มีที่ทางให้กับรถสามล้อถีบที่ไม่น่าดูบนท้องถนน และการประท้วงของสหภาพแรงงานที่โหวกเหวกโวยวาย พวกสังคมนิยมที่เอาแต่ประณามชนชั้นสูง หรือพวกนักเคลื่อนไหวเสรีนิยมที่น่ารำคาญ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์รับอาสาจัดระเบียบ ให้เป็นไปตามอุดมคติอย่างจริงจังและรุนแรงโดยไม่ต้องมีใครมาชี้นำ

หลังจากที่จอมพลสฤษด์ยึดอำนาจจากจอมพลป.แล้ว จอมพลสฤษดิ์ยอมเอาใจพวกนักวิจารณ์ ด้วยการตั้งนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพและกำหนดการเลือกตั้ง โดยเลือกคนที่ดูกลางๆที่สุด คือ นายพจน์ สารสิน อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ ซึ่งนายพจน์ยอมรับตำแหน่งเมื่อได้รับการยืนยันว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบกับการรัฐประหาร การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2500 ทำให้จอมพลสฤษดิ์ได้กุมอำนาจที่แท้จริงในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด สภาเต็มไปด้วยคนของสฤษดิ์ และกำลังเสริมจากพรรคประชาธิปัตย์

ลูกน้องคนสำคัญในกองทัพคือ พล.ท.ถนอม กิตติขจร และพล.ท. ประภาส จารุ เสถียรที่ได้เป็นนายก รัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีตามลำดับ พวกเขาจัดการกวาดล้างคนของจอมพลป.และพล.ต.อ.เผ่าอย่างรวดเร็ว ตัดงบและลดอาวุธของตชด.และตำรวจ ซึ่งเป็นขุมกำลังของพล.ต.อ.เผ่า

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว จอมพลสฤษดิ์ก็เดินทางไปสหรัฐเพื่อรักษาโรคตับอักเสบ ก่อนเดินทาง พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลได้พระราชทานดอกไม้ช่อใหญู่ และทรงอวยพรให้จอมพลสฤษดิ์หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งได้รับการประโคมเป็นข่าวใหญ่โดยที่ในหลวงไม่เคยแสดงพระท่าทียกย่องชื่นชมนักการเมือง อย่างเปิดเผยต่อสาธารณะเช่นนี้มาก่อนเลย

หลายสัปดาห์ต่อมา พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มของจอมพลสฤษดิ์ด้วยการโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศนายทหารฝ่ายสฤษดิ์กว่า 50 นาย ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานยศพลเอกแก่พลโทถนอมเพื่อสร้างสายสัมพันธ์กับเหล่านายทหาร



จอมพลสฤษดิ์ใช้เวลาอยู่ต่างประเทศนานเกือบแปดเดือน และตกลงเป็นแม่ทัพทำสงครามเย็นต่อต้านคอมมิวนิสต์ให้สหรัฐอเมริกา ต่างจากจอมพลป.ตรงที่จอมพลสฤษดิ์ไม่หลงไหลไปกับประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่จอมพลสฤษดิ์สรุปว่าประเทศไทยต้องการผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จตามประเพณี ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ทรงคิดเห็นแบบเดียวกัน ทรงเห็นว่ารัฐบาลที่หย่อนยาน ความวุ่นวายที่ไม่จบสิ้นในสภา และความระส่ำระสายที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่ประชาชนเป็นสิ่งตรงข้ามกับความเป็นชาติไทยที่สงบเรียบร้อยและเชื่อฟัง

จอมพลสฤษดิ์เดินทางกลับไทยหลังจากสุขภาพดีขึ้นแล้วในเดือนตุลาคม 2501 และทำรัฐประหารอีกครั้ง โดยทางวังไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด ในหลวงภูมิพลคงรับทราบเรื่องการทำรัฐประหารของสฤษดิ์ และทรงให้ความเห็นชอบ เนื่องจากไม่นานก็มีการลงพระปรมาภิไธยออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 ซึ่งเป็นการล้มล้างทั้งอำนาจการเมืองและตัวระบบการเมือง


จอมพลสฤษดิ์ยกเลิกสภานิติบัญญัติและประกาศใช้กฎอัยการศึก รวบอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียวและปกครองโดยผ่านทางสภาปฏิวัติที่นำโดยทหาร ปิดปากนักวิจารณ์ด้วยการจับกุมปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองเด่นๆ ไปกว่า 100 คน

จอมพลสฤษดิ์หันไปใช้ความคิดแบบโบราณดั้งเดิม เพื่ออ้างความชอบธรรมโดยอ้างความเสื่อมทรามทางศีลธรรมอันเป็นผลมาจากความคิดแบบตะวันตก ซึ่งมีจอมพลป.และนายปรีดีเป็นตัวแทน ประชาธิปไตยแบบรัฐสภานั้นใช้ไม่ได้ เพราะประชาชนขาดวินัยและความเคารพ

ความระส่ำระสายไม่มั่นคง และการเติบโตของคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องมีอะไรที่เป็นไทยมากกว่านี้ จอมพลสฤษดิ์เน้นว่าในการปฏิวัติครั้งนี้ บางสถาบันต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ สถาบันหนึ่งเดียวที่สภาปฏิวัติจะไม่มีวันยอมให้เปลี่ยนแปลงเป็นอันขาด คือสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นตัวแทนของคนทั้งชาติ

นายถนัด คอมันตร์ เอกอัครราชทูตนิยมเจ้าของจอมพลสฤษดิ์ประจำกรุงวอชิงตัน บอกว่าภาวะเกือบอนาธิปไตยหรือความโกลาหลวุ่นวายในสภานั้นพิสูจน์ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นสิ่งแปลกปลอมและไม่จำเป็น ที่จริงประชาชนไทยมีสังคมที่จัดโครงสร้างไว้อย่างชาญฉลาดอยู่แล้ว

สาเหตุรากเหง้าของความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของเราในอดีต ก็คือการที่อยู่ๆ ก็เอาสถาบันแปลกปลอมเข้ามาไว้ในผืนแผ่นดินของเรา โดยไม่ได้พิจารณาสภาพเงื่อนไขธรรมชาติและลักษณะนิสัยของคนของเรา ลักษณะเฉพาะของชาติเรา ถ้ามองดูประวัติศาสตร์ของชาติเรา จะเห็นได้ชัดเจนว่า ประเทศนี้เจริญรุ่งเรืองภายใต้อำนาจที่ไม่ใช่อำนาจเผด็จการ แต่เป็นอำนาจศูนย์รวมที่เป็นแกนกลางให้องค์ประกอบต่างๆ ของชาติร่วมมือกัน

นายถนัด คอมันตร์ได้โยนความผิด ให้กับระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก ว่าเป็นสาเหตุของปัญหาของประเทศ เหมือนกับที่ราชวงศ์จักรีปฏิเสธกรุงศรีอยุธยาที่รับวัฒนธรรมเขมรและฮินดูที่เป็นพิษ ซึ่งพระองค์เจ้าธานีนิวัติและพระยาศรีวิสารวาจาพยายามอธิบายว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นทั้งรัฐธรรมนูญและตัวแทนของประชาชน มาตอนนี้ก็ยังได้จอมพลสฤษดิ์กับนายถนัด คอมันตร์มาช่วยให้เหตุผลในการขจัดสภาออกไปโดยสิ้นเชิง

จอมพลสฤษดิ์ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน 2502 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งให้อำนาจล้นเหลือโดยเฉพาะมาตรา 17 แก่นายกรัฐมนตรีและสภาปฏิวัติ นี่ย่อมไม่ใช่การบริหารประเทศที่ก้าวหน้าอย่างที่ในหลวงภูมิพลทรงได้ร่ำเรียนมาถึงสิบหกปีในโลซานน์

ไม่ว่าพระองค์จะทรงคิดเห็นอย่างไร พระองค์ก็ยังอยู่ภายใต้การชี้นำขององคมนตรีและพวกเจ้า ที่ไม่เคยมีปัญหากับการที่ไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามสัญญาและไม่มีการเลือกตั้ง อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมชได้เขียนไว้ว่า คนไทยไม่ควรต้องกังวลมากนัก เพราะจอมพลสฤษดิ์ท่านได้ถือผลประโยชน์ของชาติเหนือสิ่งอื่นใด

วาระสำคัญอันดับแรกของจอมพลสฤษดิ์เมื่อได้รวบอำนาจไว้ในมือแล้ว ก็คือการทำสงครามเย็นต่อต้านคอมมิวนิสต์เนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศข้างเคียงกำลังรุนแรงขึ้น จีนได้ยึดครองทิเบต และในปี 2501 ก็ถล่มเกาะคีมอย (Quemoy หรือ Kinmen)ใกล้เกาะฟอร์โมซ่าหรือไต้หวันที่กองกำลังก๊กมินตั๋งยึดครองอยู่


คอมมิวนิสต์ชาตินิยมในลาวที่นำโดย เจ้าแดง หรือ เจ้าสุภานุวงศ์ ที่ทวีความเข้มแข็งด้วยการสนับสนุนจากฮานอย พรมแดนไทยลาวที่ยาวเหยียด และชาวอีสานยากจนเชื้อสายลาวที่มีมากกว่า 10 ล้านคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาระหนักที่จอมพลสฤษดิ์ ต้องเชื้อเชิญสหรัฐฯเข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มที่


สิ้นปี 2503 มีนาวิกโยธินสหรัฐฯ 250 นายเตรียมพร้อมอยู่ในภาคอีสาน






และในต้นปี 2505 สหรัฐฯและไทยทำข้อตกลงทางทหารโดยนายถนัด คอมันตร์ และนายดีน รัสก์ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแนวหน้าในการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการยึดครองประเทศไทยของอเมริกาในรูปแบบใหม่เพื่อดำเนินสงครามในอินโดจีน

ทหารอเมริกัน 10,000 นายที่รับปากโดยประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ มาถึงเมืองไทยภายในเวลาหนึ่งเดือนพร้อมด้วยเครื่องบินรบและเรือบรรทุกเครื่องบิน เป็นการเริ่มการไหลบ่าเข้ามาของเงิน อาวุธและที่ปรึกษาจากสหรัฐฯ ความขัดแย้งในลาวสงบลงชั่วขณะ แต่การวางกำลังทหารของสหรัฐฯ ในไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


สงครามเย็นต่อต้านคอมมิวนิสต์
กลายมาเป็นฐานอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ขุนทหารก็ได้กลายมาเป็นหุ้นส่วนกับราชบัลลังก์ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงเริ่มกล่าวเตือนถึงภัยคอมมิวนิสต์





สนธิสัญญาที่รัฐบาลสฤษดิ์ทำกับสหรัฐฯได้เน้นถึงภัยทุกคามที่มีต่อขนบประเพณีและสถาบันล้ำค่าของชาติไทย ตั้งแต่พุทธศาสนาไปจนถึงพระมหากษัตริย์และเสรีภาพของประชาชนไทย จอมพลสฤษดิ์ได้สั่งจับกุมคุมขังผู้ต่อต้านรัฐบาลหลายร้อยคนตั้งแต่นักศึกษา นักการเมืองเสรีนิยม ไปจนถึงพระนักกิจกรรม ในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์และบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

เศรษฐกิจของไทยขยายตัว ภายใต้แผนเศรษฐกิจที่ออกแบบโดยสหรัฐฯ และธนาคารโลกที่ส่งเสริมการแข่งขันและการลงทุนภาคเอกชน ภายใต้การกุมบังเหียนของนักเทคนิคนักวิชาการ ที่ส่วนใหญ่ทุ่มไปกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาและสาธารณสุข

พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลให้การรับรองแผนนี้ในพระราชดำรัสเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2500 ด้วยพระอาการตะกุกตะกักอันเป็นเอกลักษณ์ประจำพระองค์ว่า “รัฐบาลพยายามพัฒนาประเทศอย่างเต็มกำลังความสามารถ แผนพัฒนาเศรษฐกิจนี้จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ เราเชื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อชาติ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับการดำเนินโครงการต่างๆ ตามแผนด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย ชาติจึงจะได้ประโยชน์ เราหวังว่าพวกท่านจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องเหล่านี้ในอนาคต


ตอนแรก จอมพลสฤษดิ์ยังกลัวว่า พวกเจ้าจะเล่นไม่ซื่อกับตนเพราะ
เคยเห็นทางวังเล่นงานจอมพลป.มาแล้ว จึงลังเลไม่ยอมให้วังมีพื้นที่มากนัก แต่ยอมเรื่องทำบุญกุศล เช่น ให้เสด็จเดินสายชนบท หลังจากการเยือนอีสานที่ประสบความสำเร็จในปี 2498





โดยในเดือนมีนาคม 2501 ในหลวงและพระราชินีเสด็จภาคเหนือเป็นเวลาสองสัปดาห์ และทรงปฏิบัติเช่นเดิมคือ หยุดแวะตามจังหวัดต่างๆ วัดดังๆ สถานที่ราชการ สถานที่ที่มีชื่อเสียง และหมู่บ้านบางแห่ง ประชาชนเรียงรายสองฟากถนน โบกธงต้อนรับขณะขบวนรถเสด็จแล่นผ่าน งานแบบนี้มีการทำซ้ำอีกครั้งในปีถัดมาที่ภาคใต้ อันเป็นพื้นที่ของชาวมุสลิม ซึ่งส่วนมากรู้สึกภักดีต่อสุลต่านในมาเลเซียมากกว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไทย เป็นอันบรรลุพิธีกรรมในการครอบครองราชอาณาจักรของพระองค์

เมื่อเวลาผ่านไป จอมพลสฤษดิ์ก็ผ่อนปรนให้วังมากขึ้น หลังจากสองปีผ่านไปก็ยอมให้วังกลับมาทุ่มเทให้งานพระราชพิธี และวันสำคัญต่างๆ เพราะตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 วันสำคัญจำนวนมากถูกแยกขาดจากวัง โดยเพิ่มวันชาติ 24 มิถุนายนซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

แต่ในปี 2503 จอมพลสฤษดิ์สั่งย้ายวันชาติไปเป็นวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเขียนในสยามรัฐว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากวันก่อตั้งประเทศยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ และฝ่ายเจ้าต้องการลบล้างความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ออกจากความทรงจำของผู้คน

พิธีกรรม บวงสรวงเพื่อความอุดม สมบูรณ์ประจำปี ได้รับการขยับ ขยาย ให้พระมหา กษัตริย์เข้ามาสู่พระราชพิธี แรกนาขวัญ พฤศจิกายน 2502 รัฐบาล สฤษดิ์รื้อฟื้นพระราชพิธีเห่เรือเสด็จกฐินหลวงในแม่น้ำเจ้าพระยา


พร้อมทั้งเพิ่มบทบาทพระมหากษัตริย์ในฐานะจอมทัพไทย จากปกติที่ทหารถวายสัตย์ปฏิญาณต่อกษัตริย์ โดยเพิ่มพิธีดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา ต่อเบื้องพระพักต์พระมหากษัตริย์ หรือพระบรมฉายาลักษณ์ในทุกๆปี พร้อมทั้งข้าราชการระดับสูง ผู้พิพากษาและผู้รับเครื่องราชย์พร้อมครอบครัว


ปี 2502 พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานธงชัยเฉลิมพล ที่บรรจุเส้นพระเกศาของพระองค์(ที่ปลายด้ามธง)แก่ทหารกรมกองต่างๆ เรียกว่าราชวัลลภ หรือทหารรักษาพระองค์ อันเป็นเครื่องหมายแสดงความผูกพันระหว่างพระมหากษัตริย์และทหาร ซึ่งพระองค์ได้ทรงปฏิบัติมาก่อนแล้วในต้นทศวรรษ 2490 แต่ทรงปฏิบัติซ้ำอีกโดยมีจอมพลสฤษดิ์และเหล่านายพล พร้อมการโฆษณาเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง

ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพ เสด็จเปิดอนุสาวรีย์ยุทธหัตถีสมเด็จนเรศวรมหาราช ดอนเจดีย์ ตำบลหนองสาหร่าย สุพรรณบุรี ในวันกองทัพไทย ปี 2502 จนถึงปี 2513 เป็นอย่างน้อยที่เสด็จเปิดอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรในค่ายทหารต่างๆในวันกองทัพของทุกปี

จอมพลสฤษดิ์ให้วังควบคุมกององครักษ์หรือทหารรักษาพระองค์ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปี 2502 กรมทหารราบที่ 21 ถูกย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ให้พระราชวัง และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถก็ทรงเป็นผู้บังคับการกิตติมศักดิ์ หรือที่เรียกกันว่าทหารเสือราชินี (ค่ายนวมินทราชินี ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี)


ขุนศึกสฤษดิ์และวังร่วมมือกันป็นอย่างดีและแนบแน่นสร้างภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติตามทศพิศราชธรรม เป็นผู้นำที่ได้
รับการเทิดทูนสูงสุดเหนือหัวของคนไทยทั้งชาติ




ทรงพระปรีชาสามารถและใส่พระทัยในงานบริหารประเทศ ทรงแนะนำตักเตือนผู้นำรัฐบาล และผู้อื่นให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์เพื่อพัฒนาประเทศ และเพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร พระราชดำริต่างๆล้วนเป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจแก่รัฐบาลตลอดมา ทรงมีพระบุคลิกที่น่าเทิดทูน

การเสด็จเยือนชนบทของพระองค์ได้หล่อหลอมจิตใจของพสกนิกร ให้เกิดความสามัคคีภายในชาติ ชาวต่างชาติสรรเสริญในพระปรีชาญาณของพระองค์.. เป็นที่ระบือไกลไปทั่วทั้งโลกว่าประเทศไทยโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์ที่ควรค่าแก่การเทิดทูนบูชาเป็นอย่างยิ่ง

จอมพลสฤษดิ์เพิ่มงบประมาณให้วังอีกเกือบ 28 ล้านบาทในปี 2501 และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหลังจากนั้นช่วยหนุนเสริมการเงินของวังให้มั่นคงขึ้น และสนับสนุนการปรับปรุงพระตำหนักสวนจิตรดา ในเดือนมกราคม 2502 จอมพลสฤษดิ์ได้ยกเลิกกฎหมายการปฏิรูปที่ดินปี 2497 ของจอมพลป. ทำให้ชนชั้นสูงไม่ต้องสูญเสียการถือครองที่ดิน ถ้าหากเป็นห้าปีก่อนหน้านั้น การจะยกเลิกกฎหมายนี้คงได้รับการต่อต้านอย่างหนัก แต่ในสมัยยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ไม่มีใครกล้าต่อต้านการยกเลิกกฎหมายปฏิรูปที่ดินเลย

เมื่อได้โอกาสขยายอำนาจสร้างพระบารมี ทางวังก็ส่งเสริมพระราชพิธีและกำหนดการต่างๆ จากเดิมในปี 2500 ที่มีไม่เคยเกินปีละ 155 ครั้งได้เพิ่มเป็น 191 ครั้งในปี 2501 พอถึงปี 2505 มีถึง 377 ครั้ง ที่เพิ่มมากที่สุด คือการทรงพบปะกับนักธุรกิจอุตสาหกรรม บุคคลสำคัญและหน่วยงานจากต่างประเทศ ทรงขยายเครือข่ายการติดต่อและลงลึกในฐานเสียงของพระองค์เอง

หลังจากที่ได้เสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนต่างจังหวัดแล้ว พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็แทบจะไม่เคยได้เสด็จออกต่างจังหวัดอีกเลย ทรงเก็บเนื้อเก็บตัวต่อสาธารณะ เป็นแบบพ่อบ้านที่มีครอบครัวต้องดูแล

ต่อมาพระองค์กลับเริ่มการเสด็จตระเวนเยือนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2503-2506 เนื่องจากพระองค์ไม่ได้เสด็จต่างประเทศเลยตั้งแต่ปี 2494

การเสด็จเยือนต่างประเทศครั้งนี้ ช่วยส่งเสริมพระเกียรติยศและสร้างความเชื่อมั่นในพระองค์เองอย่างมาก และได้นำประเทศไทยไปอยู่ในกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ลึกเข้าไปอีก ทั้งช่วยกลบเกลื่อนโฉมหน้าเผด็จการระบอบสฤษดิ์ การไปเยือนสถาบันกษัตริย์หลักๆของโลก ทำให้ราชวงศ์จักรีและราชสกุลมหิดลได้รับการยอมรับ เคียงบ่าเคียงไหล่พระมหากษัตริย์ในอารยประเทศเหล่านั้น
การเสด็จเยือนต่างประเทศได้ทรงเน้นการต่อต้านคอมมิว นิสต์เป็นหลักตั้งแต่ การเสด็จ ครั้งแรก คือการเสด็จ เยือนเวียดนาม ใต้เป็นเวลาสามวันในเดือนธันวาคม 2502 อย่างเป็นทางการ

ประกอบด้วยการตรวจกำลังพล เยือนอนุสรณ์สถานที่สำคัญของชาติ รับปริญญาดุษฏีกิตติมศักดิ์ เยือนสถานที่สำคัญทางศาสนาและประวัติศาสตร์ตลอดจนสถาบันอื่นๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม หรือสถาบันวิทยาศาสตร์ และผลัดกันจัดเลี้ยงรับรองและแลกเปลี่ยนของที่ระลึกกับประเทศเจ้าภาพ


สองเดือนต่อมา เสด็จเยือนอินโดนีเซียแปดวัน ประธานาธิบดีซูการ์โนเป็นเจ้าภาพ เสด็จเยือนเกาะชวาและเกาะบาหลี โดยมีจุดสนใจอยู่ที่ประเพณีและวัฒนธรรม เช่นเดียวกับการเดินทางเยือนประเทศเอเชียอื่นๆ
ส่วนใหญ่ สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ที่แม้จะทรงรักแฟชั่น ฝรั่งเศสแต่ก็จะทรงชุดผ้าไหมไทย ขณะที่พระเจ้า อยู่หัวภูมิพลจะทรงสูทตะวันตกหรือไม่ก็เครื่องแบบทหาร



ต้นเดือนมีนาคม
ทั้งสองพระองค์เสด็จเยือนพม่า เป็นการหักหน้าจอมพลป.เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น ที่พระองค์ปฏิเสธที่จะเสด็จร่วมงานฉลอง 2,500 ปีพุทธศาสนาโดยอ้างว่าเพราะต้องถอดรองพระบาทก่อนเข้าวัด แต่คราวนี้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงถอดรองพระบาทอย่างเต็มพระทัย




เสด็จเยือนตะวันตก 15 ประเทศเป็นเวลาเจ็ดเดือน เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2503 โดยใช้เวลาหนึ่งเดือนเต็มในสหรัฐฯ ชาวอเมริกันให้ความสนใจการเสด็จเยือนครั้งนี้ ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเทียบชั้นได้กับผู้นำที่ทรงอำนาจที่สุดของตะวันตกในยุคนั้นเลยทีเดียว

สด็จเยือนฮอนโนลูลู ชมพิพิธภัณฑ์สงครามเพิร์ลฮาร์เบอร์ ในการเสวยพระกระยาหารค่ำทรงเป่าแคลริเน็ตร่วมกับวงดิกซีแลนด์แจ๊ซ ประทับในคฤหาสน์ของนายเฮนรี่ เคิร์นส Henry Kearns เพื่อนสนิทของนายริชาร์ด นิกสันและเป็นประธานธนาคารยูเอสเอ็กซ์พอร์ต-อิมพอร์ตหรือเอกซิมแบงค์ ที่แคลิฟอร์เนีย

เสด็จดิสนีย์แลนด์พบกับนายวอลท์ ดิสนีย์ (Walt Disney) ราชาการ์ตูน เสด็จชมโรงถ่ายภาพยนต์พาราเมาท์สตูติโอ
ทรงฉายพระฉายาร่วมกับเอลวิส เพรสลีย์ขณะถ่ายทำหนังเรื่อง จีไอบลูส์ (GI Blues) และเสด็จเยี่ยมดาราตลกบ็อบ โฮพกับลูซิล บอลล์


ทรงปล่อยพระโอรสไว้ที่คฤหาสน์ของ นายเฮนรี่ เคิร์นส และเสด็จกรุงวอชิงตัน ดี ซี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2503 เป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ ทรงโบกพระหัตถ์ให้ฝูงชนขณะประทับบนรถลิมูซีนเปิดประทุนในขบวนเสด็จบนถนนเพ็นซิลเวเนีย ประธานาธิบดีดไวท์ ดี ไอเซนฮาวร์ ถวายการประดับเหรียญ Legion of Merit ในฐานะทรงเป็นจอมทัพไทย

วันที่ 29 มิถุนายน 2503 พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงกล่าวสุนทรพจน์แก่สภาคองเกรส ทรงยกย่องหลักการทางการเมืองแบบอเมริกันและชื่นชมการที่สหรัฐฯ ห่วงใยประเทศเล็กๆทรงกล่าวว่าประชาชนสหรัฐได้มอบเสรีภาพและความเท่าเทียมอย่างเต็มที่แก่ประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้


เมื่อประเทศตะวันออกไกลถูกรุกราน สหรัฐก็เข้าร่วมสงครามโดยไม่ลังเลเพื่อช่วยเหลือประเทศเกาหลีใต้ มันคือการสละซึ่งตัวตนแบบพุทธ ในวัฒนธรรมไทย แม้ว่าผู้ที่รับการช่วยเหลือจะไม่แสดงออก แต่เขาก็ซาบซึ้งในบุญคุณ สำหรับผู้ให้ที่ไม่หวังคำยกย่องสรรเสริญหรือเกียรติใดๆ การให้ความช่วยเหลือก็คือคุณความดีในตัวมันเองอยู่แล้ว ในสถานการณ์ตึงเครียดของโลกปัจจุบันและความรู้สึกไม่แน่นอนที่ปรากฏอยู่ทั่วไป ความรู้สึกจากใจจริงก็คือ ถึงเวลาแล้วสำหรับการร่วมมือที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก

ต่อมาทั้งสองพระองค์เสด็จนิวยอร์ค โดยผู้ว่าการนครนิวยอร์คนายเนลสัน ร็อกกีเฟลเลอร์เป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงใหญ่ที่บ้านในวันที่ 4 กรกฎาคม 2503 นักแคลริเน็ตแจ๊ซระดับโลก เบนนี่ กูดแมน Benny Goodman ได้กราบบังคมทูลเชิญพระเจ้าอยู่หัวร่วมทรงบรรเลงดนตรีสองเพลง วันถัดมา ชาวนครนิวยอร์คนับหมื่นร่วมรับเสด็จ บ่ายวันนั้นทรงเข้าร่วมวงกับเบนนี่ กูดแมน จีน ครูปา เท็ดตี วิลสันและยอดนักดนตรีแจ๊ซคนอื่นๆ ร่วมเล่นเพลงเป็นเวลาสองชั่วโมง เบนนี่ กูดแมนถวายแซ็กโซโฟนตัวใหม่ ทรงถูกเรียกขานว่าเป็นราชาเพลงแจ๊ซ “ The King of Jazz ”

ได้เสด็จไปเยือนรำลึกความหลังที่บอสตัน ทรงพบหมอและพยาบาลที่ช่วยทำคลอดพระองค์ เสด็จโรงเรียนแพทย์ฮาร์เวิร์ดที่สมเด็จพระราชบิดาเคยศึกษา จากนั้นเสด็จเยือนรัฐเทนเนสซี มอนทานา และที่อื่นๆ ก่อนเสด็จกลับไปแคลิฟอร์เนีย ได้ชมอนุสาวรีย์ งานแสดงสำคัญต่างๆ เทคโนโลยีและบริษัทที่ก้าวหน้าที่สุดของอเมริกาเช่น บริษัทไอบีเอ็ม

สหรัฐอเมริกาไม่ค่อยได้จัดพิธีการต้อนรับผู้นำต่างชาติ อย่างใหญ่โตเต็มที่บ่อยครั้งนัก จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าสหรัฐ ให้ความสำคัญกับประเทศไทยมาก และพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลถือเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทรงมีโอกาสร่วมทรงดนตรีกับเบนนี่ กูดแมน ซึ่งมีกิตติศัพท์เรื่องความเป็นยอดฝีมือ ที่ไม่เคยมีความอดทนต่อคนที่ฝีมือไม่ถึงขั้นมาตรฐานทางดนตรี และที่จริงพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงมีฝีมือที่ไม่ได้ใกล้เคียงเลย

การจัดเตรียมดาราแจ๊ซระดับสุดยอดให้มาบรรเลงร่วมกับในหลวงภูมิพล ต้องถือว่าเป็นฝีมือของทำเนียบขาวโดยแท้ และช่วยให้การเสด็จเยือนสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น สื่อมวลชนอเมริกันประโคมข่าวยกย่องสดุดีชื่นชมทั้งสองพระองค์ ทรงเป็นที่จับตาจับใจผู้คนด้วยเสน่ห์และความงาม ในประเทศไทยเองหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อของสหรัฐฯเช่นสำนักข่าวสารอเมริกัน (หรือยูซิส USIS) ได้เผยแพร่ข่าวการเสด็จของทั้งสองพระองค์ให้คนไทยได้ชมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

การเสด็จประพาส 14 เมืองหลวงในยุโรปที่ตามมาก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน ชาวยุโรปโดยทั่วไปไม่ค่อยมีความสนใจประเทศไทยนัก แต่พวกเขามีธรรมเนียมของระบอบกษัตริย์ จึงมีการปูพรมแดงรับเสด็จ และสื่อก็รายงานข่าวการเสด็จเป็นอย่างดี พระโอรสประทับอยู่ในไทยไม่ได้ตามเสด็จด้วย ในช่วงห้าเดือนที่เสด็จเยือนยุโรป ส่วนใหญ่คราวละสามวัน ประกอบด้วยอังกฤษ เยอรมัน โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน อิตาลี วาติกัน เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์และสเปน

การเสด็จเยือนทุกครั้งจะมีพิธีการตามแบบแผน ทรงได้รับการต้อนรับจากประมุขของประเทศ ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ วางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์หรือสุสาน ทั้งสองฝ่ายผลัดกันจัดถวายเลี้ยงพระกระยาหาร ทรงแลกเปลี่ยนของที่ระลึก เสด็จเยือนสถานที่สำคัญทั้งทางวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์หรือเศรษฐกิจ เสวยมื้อเที่ยงหรือมื้อค่ำกับนายกเทศมนตรี บางประเทศมีรายการพิเศษ เช่น ที่ฝรั่งเศสมีการจัดแสดงแฟชั่นพิเศษสำหรับพระราชินีสิริกิติ์และตอนดึกเป็นคอนเสิร์ตเต้นรำทั้งแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่

ระหว่างการเสด็จ ทั้งสองพระองค์จะเสด็จกลับไปยังคฤหาสน์เช่าที่สวิตเซอร์แลนด์ หรือทรงพบปะสังสรรค์และเสด็จประพาสส่วนพระองค์ และทรงประทับอยู่ที่กรุงลอนดอนเป็นเวลาหลายวันหลังจากทรงปฏิบัติหน้าที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีเจ้าหญิงอเล็กซานดรา ( Alexandra of Kent ) ลูกพี่ลูกน้องของพระราชินีเอลิซาเบธพระสหายเก่าเป็นคนนำเที่ยว ประทับนั่งรถบัสเปิดหลังคาชมเมือง เสด็จเยือนเคมบริดจ์


ร่วมเสวยพระกระยาหารกับเชื้อพระวงศ์อังกฤษ เสด็จกลับอังกฤษอีกสองครั้งเพื่อช้อปปิ้ง ทอดพระเนตรละครและร่วมเสวยกับพระราชินีอลิซาเบธ ในงานเลี้ยงครั้งสุดท้ายที่สถานทูตไทยในวันที่ 14 ธันวาคม 2503 ทรงพาทุกคนอยู่จนถึงรุ่งเช้าด้วยการเป่าแซ็กโซโฟนร่วมกับวง

การเสด็จเยือนประเทศในยุโรปประสบความสำเร็จอย่างสูง ราชวงศ์ในยุโรปต้อนรับราชสกุลมหิดลในฐานะสมาชิกเต็มขั้นของชมรม ทั้งสองพระองค์ดูทันสมัย พระเจ้าอยู่หัวทรงสวมสูทชั้นดีจากลอนดอน พระราชินีก็ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ในชุดแฟชั่นหรูของฝรั่งเศส โดยเฉพาะเมื่อเสด็จเข้าเฝ้าองค์สันตปาปาจอห์นที่ 23 ทรงฉลองพระองค์ในชุดเสื้อคลุมระยิบระยับของปิแอร์ บัลแมงและรัดเกล้าประดับเพชร

สื่อมวลชนรายงานรสนิยมการแต่งตัวของพระราชินีสิริกิติ์ พอๆ กับรายงานเรื่องการทรงดนตรีแจ๊ซของในหลวงภูมิพล และไม่นานพระราชินีก็ทรงได้รางวัลมีชื่ออยู่ในสิบอันดับผู้หญิงที่แต่งตัวดีที่สุดในโลก สิ้นสุดลงด้วยการพักผ่อน ทรงเล่นสกีกับเจ้าหญิงอเล็กซานดรา ในวันปีใหม่ที่เมืองชต๊าด Gstaad ในสวิสเซอร์แลนด์ พอกลางเดือนมกราคม 2504 ก็เสด็จกลับประเทศไทยโดยมีการต้อนรับอย่างมโหฬาร ประชาชนราวหนึ่งล้านคนเรียงรายสองฟากถนนตั้งแต่สนามบิน พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ มีการย่ำระฆัง จุดพลุดอกไม้ไฟพุ่งเจิดจ้า

สองสามปีหลังจากนั้น ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จเยือนประเทศปากีสถาน มาเลเซีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์(ในปี 2505) ญี่ปุ่น ไต้หวันและฟิลิปปินส์(2506 ) ออสเตรีย (2507) อิหร่านและอังกฤษครั้งที่สอง(2509)และสหรัฐอีกครั้งกับแคนาดา(ในปี 2510) ทั้งหมดนี้คือมิตรประเทศที่เป็นพันธมิตรสำคัญที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ส่วนประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงก็ถูกข้ามไป เช่น อินเดีย เวียตนามเหนือ กัมพูชา ลาว และจีน รวมถึงสหภาพโซเวียต

การเสด็จเยือนต่างประเทศก็ไม่ถึงกับราบลื่นทั้งหมด ที่ออสเตรเลีย ทั้งสองพระองค์พบกับการประท้วงย่อยๆ หลายครั้ง มีสื่อมวลชนเขียนรายงานในทางไม่ดีกับชุดเสื้อผ้าและอัญมณีที่ฟุ้งเฟ้อของพระราชินีสิริกิติ์ และความวุ่นวายการที่รัฐบาลออสเตรเลียจะให้มหาวิทยาลัยแห่งชาติของออสเตรเลีย (Australia National University ) ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เเด่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพล

แต่ทางมหา วิทยาลัย ANU  ปฏิเสธ เนื่องจาก ในหลวง ภูมิพลไม่เคย ได้รับปริญญา ตรีมาก่อน ในที่สุด รัฐบาล ออสเตรเลีย ต้องหามหา วิทยา ลัยที่ด้อยกว่าคือมหา วิทยาลัยเมลเบิร์น Univer sity of Mel bourne เพื่อถวายปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ด้านกฎหมายแด่ในหลวงภูมิพลจนได้


คนไทยในประเทศ มีความรู้สึกว่าโลกทั้งโลกต่างให้ความสำคัญกับพระเจ้าอยู่หัวของตน
มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์พระเกียรติยศโดยได้ร่วมขบวนเสด็จด้วยในฐานะฝ่ายประชาสัมพันธ์ ได้รายงานการเสด็จเยือนยุโรปของทั้งสองพระองค์ราวกับเป็นเทพนิยายมหัศจรรย์ โดยเขียนลงสยามรัฐ เช่น เมื่อเสด็จถึงลอนดอน ฝนที่ไม่เคยหยุดตกของอังกฤษก็หยุดตกราวปาฏิหาริย์

การโหมโฆษณาพระราชวงศ์พร้อมพระโอรส ที่มีสี่พระองค์ (รวมฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ที่ประสูติในเดือนกรกฎาคม 2500) ก็เพริดแพร้วฟู่ฟ่ามากขึ้น โดยทีมงานของวังที่มีเส้นสายเครือข่ายลึกซึ้งในหนังสือพิมพ์ นิตยสารและภาพยนตร์ พระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคลและหม่อมทวีวงศ์ ถวัลย์ศักดิ์ก็ล้วนเป็นนักสร้างภาพยนตร์ชั้นนำ ส่วนสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็เป็นเจ้าของสหศินีมา (United cinema) ที่เป็นผู้ผลิตภาพยนตร์และเจ้าของโรงภาพยนตร์ จึงอุ่นใจได้ว่าหลักการชาติ ศาสน์ กษัตริย์จะถูกสอดแทรกผ่านเครือข่ายความบันเทิงตลอดไป

สหรัฐฯ ก็มีส่วนสำคัญในเรื่องการเผยแพร่สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่น้อยหน้าเช่นกัน ตอนต้นทศวรรษ 2503 US Information Service หรือสำนักข่าวสารอเมริกัน (USIS) (ปัจจุบันเลิกดำเนินการแล้ว) แทบจะรับเหมางานการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลไปทั้งหมด โดยให้งบประมาณสนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์ และป้อนรายการโทรทัศน์และวิทยุที่มีเนื้อหาต่อต้านคอมมิวนิสต์ และเชิดชูพระมหากษัตริย์ การเสด็จเยือนต่างประเทศของพระเจ้าอยู่หัวได้รับการบันทึกลงบนฟิล์มโดยช่างภาพอเมริกันและไทย และถูกนำออกฉายทางโทรทัศน์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ รวมทั้งในโรงภาพยนตร์และสถานที่อื่นๆทั่วประเทศ

องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (US Agency for Inter national Develop ment ) กับสำนักข่าวสารอเมริกัน ( USIS ) ยังได้พิมพ์โปสเตอร์และปฏิทินหลายแสนแผ่นที่มีรูปพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีในแต่ละปี เพื่อแจกจ่ายไปทั่วชนบท มันกลายเป็นสิ่งประดับฝาผนังอย่างเดียวที่ชาวบ้านจนๆจะมี นิตยสาร ไทม์ส เขียนบทความในปี 2509 ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวของอเมริกาในกรุงเทพฯ สรุปมาตั้งนานแล้วว่า เงินสนับสนุนของสำนักข่าวสารอเมริกัน USIS ไม่มีทางใช้จ่ายอื่นใดที่จะดีไปกว่าการแจกจ่ายรูปพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล

ยังมีความพยายามบางอย่างที่แปลกประหลาด เช่น สบู่ที่แจกจ่ายไปตามชนบท เมื่อใช้ไปก็จะเผยให้เห็นเป็นชั้นๆ มี 7 ชั้นแต่ละชั้นจะมีคำขวัญต่างๆ ให้ผู้อาบน้ำรักในหลวง ปฏิบัติตามคำสอนของพุทธศาสนา และต่อต้านคอมมิวนิสต์ เช่น ข้อความว่า“รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอแสดงความปรารถนาดีมายังประชาชนไทยทุกคน”

แต่สบู่ยังไม่เพียงพอสำหรับการสร้างศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ จำเป็นต้องสร้างกลุ่มคนที่อุทิศตน สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์จากชนชั้นนำในสังคม ที่ไม่ใช่เจ้าไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ ในอดีตใช้การแต่งงาน และสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ และการพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ให้กับสามัญชน แต่จอมพลป.ได้ยกเลิกระบบยศถาบรรดาศักดิ์ไปแล้ว

ในทศวรรษ 2500 ทางวังได้ขยายกลุ่มสมาชิกให้กว้างขวางออกไป ด้วยการเปิดโอกาสให้ครอบครัวชนชั้นสูง มิตรสหาย ผู้บริจาคเงินการกุศลรายใหญ่และอาสาสมัครต่างๆ ที่คัดเลือกแล้วได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี ได้รับเอกสิทธิ์เชิญไปงานเลี้ยงของวัง หรือพวกราชวงศ์เสด็จร่วมงานนอกวัง

รวมถึงการพาภรรยาและลูกสาวเข้าวัง ถวายตัวเป็นนางสนองพระโอษฐ์ (หรือคนรับใช้) พระราชินีหรือพระโอรสพระธิดา มีการตั้งโรงเรียนจิตรลดาภายในพระตำหนักจิตรดารโหฐาน เปิดโอกาสให้ลูกหลานของชนชั้นนำและคนต่างชาติได้มีโอกาสคบหาสมาคมกับลูกๆ ของราชสกุลมหิดลแห่งราชวงศ์จักรี

วังยังได้ขยายบริการ การเป็นเจ้าภาพงานศพ (งานพระราชทานเพลิงศพ ) และงานแต่งงาน (พระราชทานน้ำสังข์สมรส) ซึ่งในทศวรรษ 2500 เติบโตขึ้นเกือบสิบเท่า งานแต่งงานรวมๆ แล้วประมาณ 200 งานในช่วงปี 2507-2514่

ซึ่งจำนวนมาก หรืออาจจะส่วนใหญ่เป็นสามัญชนซึ่งสามารถนำไปโฆษณาได้ หนทางหนึ่งในการก่อร่างสืบสานกลุ่มสมาชิกของวัง คือการตัดสินใจของรัฐบาลเมื่อปี 2505 อนุญาตให้แต่เฉพาะเจ้าและพระสหายที่เลือกสรรแล้วของวังเท่านั้นที่สามารถตั้งชื่อห้าพยางค์ได้ ขณะที่คนทั่วไปจำกัดไว้ไม่เกินสี่พยางค์

เพื่อทดแทนยศถาบรรดาศักดิ์ที่ถูกล้มเลิกไป วังได้จัดลำดับชั้นของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นอกจากเครื่องราชชั้นสูงสำหรับผู้ที่อุทิศตนแก่วังและพระราชวงศ์แล้วยังมีเครื่องราชชั้นรองสำหรับกลุ่มเป้าหมายหรือการตลาดที่กว้างขึ้น โดยผู้รับเครื่องราชและภรรยาจะได้รับเหรียญ สายสะพายสีฉูดฉาดและเข็มทอง และผู้หญิงที่ได้รับเครื่องราชชั้นสูงสุดจะได้รับคำนำหน้าว่า คุณหญิง หรือ ท่านผู้หญิง การให้เครื่องราชอย่างเป็นระบบแก่ข้าราชการชั้นสูง นายพล นายทุนชั้นนำและผู้บริจาครายใหญ่นี้ ทำให้วังได้ยึดกุมฐานเสียงอย่างหนาแน่นในหมู่เศรษฐีและคนมีอำนาจ

ในการเสริมสร้างเครือข่าย และสายสัมพันธ์ระหว่างพระราชวัง และชนชั้นนำใหม่นี้ กิจกรรมของวังยิ่งเข้มข้นศักดิ์สิทธิ์และเป็นพิธีรีตองมากขึ้นกว่าเดิม หลังจากค่อยๆผ่อนคลายลดรูปเจือจางลงมาตลอดร้อยปี

ที่สำคัญคือ การรื้อฟื้นราชาศัพท์ อันเป็นภาษาในพระราชวังที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงอันสูงส่งเลอเลิศสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การกระทำและกระทั่งอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยมีรากมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ราชาศัพท์ถือเป็นตัวชี้วัดถึงความใกล้ชิดกับวัง แต่หลังจากการปฏิวัติ 2475 ราชาศัพท์ก็กลายเป็นเรื่องดัดจริตที่พ้นยุคสมัยไปแล้ว มีแต่พวกเจ้าเก่าๆ กับข้าราชบริพารเก่าแก่เท่านั้นที่ยังจำได้

สิ่งสำคัญที่เกิดผลต่อความศักดิ์สิทธิ์ของราชาศัพท์ คือ การใช้คำว่า พระ กำกับตลอดเวลา ทำให้เกิดความรู้สึกทั้งเลิศหรูอลังการ และศักดิ์สิทธิ์ อีกด้วย เพราะคำว่า พระ เป็นคำเรียกปกติสำหรับพระสงฆ์หรือนักบวช เช่นเดียวกับบรรดาศักดิ์ขุนนาง เมื่อนำหน้าคำอื่น แปลได้ว่า ประเสริฐ และยังมีความหมายว่า ศักดิ์สิทธิ์ อีกด้วย เมื่อคำว่าพระ รวมกับคำว่า เจ้า ก็กลายเป็นคำเรียก ทั้งพระเจ้าแผ่นดินและพระเจ้า


คำว่าพระ ถูกใช้กับราชาศัพท์ เรียกอวัยวะส่วนต่างๆ ทั้งการกระทำ และการเคลื่อนไหวของพระมหากษัตริย์ ทำให้เต็มไปด้วยความขลังความศักดิ์สิทธิ์ และยังเป็นคำสำคัญในชื่อเรียกทางการของกษัตริย์ด้วย เช่น พระมหากษัตริย์ ซึ่งแปลว่า ราชานักรบผู้ยิ่งใหญ่ และประเสริฐ/ศักดิ์สิทธิ์ หรือเรียกว่า พระเจ้าอยู่หัว คือพระเจ้าที่อยู่บนหัว

ความสูงต่ำนี้ จะถูกเน้นย้ำมากเป็นพิเศษในการเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ ฝ่ายเจ้าจะพูดด้วยภาษาธรรมดาในชีวิตประจำวัน ขณะที่สามัญชนต้องพูดกับพวกเจ้าด้วยราชาศัพท์ ความแตกต่างทางชนชั้นนี้เห็นได้ชัดในสรรพนามเมื่อพูดกับกษัตริย์ ผู้พูดจะแทนตัวเองว่า ข้าพระพุทธเจ้า แล้วเรียกพระมหากษัตริย์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แปลว่า “ เท้าอันประเสริฐของพระเจ้า (ท่าน)อยู่เหนือหัว (ของฉัน)

เมื่อประกอบด้วยการหมอบ กราบ มันบ่งบอก สำนึกของความ ต่ำต้อย อย่างที่สุด แต่ก็เป็นเกียรติ สูงส่งที่ได้เอาอวัยวะ สูงที่สุดในร่างกายของผู้พูดไปวางไว้แทบอวัยวะ ที่ต่ำที่สุดของ พระมหา กษัตริย์คำขึ้นต้นและลงท้าย ในการกล่าวต่อพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการยิ่งเลยเถิดเกินจริง และยิ่งเป็นภาพที่ชัดมากขึ้นเป็นคำว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม แปลว่า ขออำนาจละอองฝุ่นใต้ฝ่าเท้าของท่านปกป้องศีรษะและกระหม่อมของข้าพเจ้า ความหมายของมันไม่เพียงแต่การวางศีรษะผู้พูด ไว้ใต้ฝ่าเท้าของกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังลงลึกไปอีกว่าวางกระหม่อมของผู้พูดไปไว้ใต้ละอองของฝุ่นที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าของพระมหากษัตริย์อีกที พิลึกมากที่ถ้อยคำนี้ถูกใช้เป็นคำขึ้นต้นจดหมายฉบับแรกที่คณะราษฎรเขียนไปถึงรัชกาลที่ 7 และมันได้รับการกล่าวเป็นภาษาไทยสำเนียงอังกฤษที่ยังความฉงนฉงายแก่ทุกคนโดยหัวหน้าองครักษ์เกียรติยศที่ต้อนรับในหลวงภูมิพลในคราวเสด็จเยือนอังกฤษในปี 2504

การใช้ราชาศัพท์นี้จะมีการผ่อนปรนลงมาบ้าง สำหรับการพบปะระหว่างกษัตริย์และพระสงฆ์ พระสงฆ์ไม่จำเป็นต้องพูดแสดงความต่ำต้อยเช่นนั้น แบบเดียวกับสามัญชน แต่กระนั้นพระก็ยังคงต้องสังวรถึงความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ พระทั่วไปจะพูดกับกษัตริย์และสังฆราชด้วยคำเดียวกันคือ พระเจ้า

นักรัฐศาสตร์ชื่อ ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ เขียนไว้ว่า ในการใช้ราชาศัพท์นี้ กระทั่งพระมหากษัตริย์ของต่างประเทศหรือแม้แต่พระพุทธเจ้า ซึ่งมีเชื้อสายกษัตริย์ก็ยังไม่ได้รับการยกย่องเทิดทูนสูงส่งอย่างที่กษัตริย์ไทยได้รับ

จอมพลป.พยายามขจัดวัฒนธรรมเจ้าและราชาศัพท์ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง คนไทยที่มีการศึกษามีน้อยคนนักที่จะรู้แม้แต่ราชาศัพท์พื้นๆ และสื่อใช้คำเรียกพระมหากษัตริย์อย่างไม่เป็นทางการว่า ในหลวง แต่ในทศวรรษ 2500 ราชาศัพท์ ได้รับการฟื้นฟูกลายเป็นหลักยึดอันหนึ่งสำหรับการฟื้นคืนชีพของฝ่ายเจ้า หนังสือเกี่ยวกับพิธีต่างๆ มารยาทชาววังและราชาศัพท์เป็นธุรกิจที่เริ่มเติบโต ซึ่งจำนวนมากผลิตโดยกระทรวงศึกษาที่ฝ่ายเจ้าครอบงำอยู่ ตามโทรทัศน์และวิทยุ กิจกรรมของเจ้าได้รับการรายงานด้วยราชาศัพท์ที่ถูกต้อง ใครที่ไม่รู้ราชาศัพท์หรือใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้องก็ถือว่าเป็นคนไร้การศึกษา

ที่ฟื้นชีพมา พร้อมกับราชาศัพท์นี้ ก็คือการหมอบกราบ ซึ่งการบังคับให้หมอบกราบพระราชวงศ์นั้น ได้ถูกยกเลิกไปอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็ยังคงถือปฏิบัติตามความเคยชินเรื่อยมาจนกระทั่งจอมพลป.ขึ้นมามีอำนาจ คำให้การที่ใช้ปรักปรำในคดีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ก็คือนายปรีดีและราชเลขาธิการ นายเฉลียว ปทุมรสต่างถูกกล่าวหาว่าไม่เคารพในหลวงอานันท์เนื่องจากไม่คำนับพระมหากษัตริย์

ครั้นถึงทศวรรษ 2500 การหมอบกราบก็หวนกลับมาเป็นที่ยอมรับกัน ถ้าพระโอรสพระธิดา และคนรับใช้ของพระเจ้าอยู่ต้องหมอบคลานต่อพระองค์ในที่สาธารณะ และถ้านักการเมืองหัวแถวต้องทำแบบเดียวกัน ดังนั้นทุกคนก็ควรจะทำเช่นเดียวกัน ผลของการฟื้นวัฒนธรรมเจ้านี้เป็นการเมืองอย่างที่สุด อาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์เขียนไว้ว่า ระบบภาษาหรือราชาศัพท์ที่เรียกร้องความต่ำต้อยอย่างที่สุดในส่วนของพสกนิกรและทึกทักยกความสูงส่งราวพระพุทธเจ้าให้แก่ผู้ปกครองนี้ ทำงานได้ผลที่สุดในสังคมพุทธภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสังคมไทยก็กำลังเลื่อนถอยกลับไปในทิศทางนั้น

การฟื้นราชาศัพท์มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับคนของวัง ที่ยึดกลไกรัฐด้านการศึกษาและศาสนากลับคืนมา ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการตลอดทศวรรษ 2490 และ 2500 มือไม้หลักของพระราชวังคือ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่เคยเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 6 และรับราชการตำแหน่งสูงในกระทรวงศึกษาธิการก่อนมาเป็นรัฐมนตรี ตระกูลของหม่อมหลวงปิ่นสืบย้อนไปได้ถึงรัชกาลที่ 2 และคนในตระกูลก็ยังคงเป็นข้ารับใช้ที่เหนียวแน่นของวังในยุคสมัยใหม่

หม่อมหลวงปิ่นในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา ก็ทำงานรับใช้วังอย่างถวายหัว เขาสามารถจัดบทเรียนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้มุ่งเน้นแต่การเทิดทูนพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และความเชื่อมโยงไปถึงสุโขทัยได้ โดยลบเรื่องราวการปฏิวัติ 2475 ทิ้ง ศาสนาก็หวนกลับมาเป็นกิจกรรมที่มีวังเป็นศูนย์กลาง สนับสนุนส่งเสริมความคิดเรื่องธรรมราชาและเทวราชา

พระบุญญาบารมี ที่เกิดขึ้นมาอย่างท่วมท้นในรัชกาลที่ 9 เป็นผลงานที่ทีมงานฝ่ายเจ้า และพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะบากบั่นระดิษฐ์คิดสร้างมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของพระองค์และพระราชวงศ์ เรียกได้ว่าทรงก่อร่างสร้างพระองค์ขึ้นมาเองหลังจากที่สถาบันกษัตริย์ได้เสื่อมถอยลงไปมากในรัชกาลก่อนหน้าพระองค์ จึงมิใช่วัฒนธรรมเก่าแก่ที่สืบต่อกันมามาตั้งโบร่ำโบราณ มิใช่หลักการของพุทธศาสนาที่แท้และก็ไม่สอดคล้องกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใดทั้งสิ้น...


ไม่มีความคิดเห็น: