ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/lVfL3JJI/The_Royal_Legend_031_.html
หรือที่ : http://www.mediafire.com/?qipmctm72f2ky2t
..............
..............
นิตยสาร นิวสวีค News week ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2510 ไปไกล ถึงขนาดบอกว่าในหลวงภูมิพลนั้นทรงขี้ขลาดหวาดกลัวบทความได้บรรยายภาพอันน่าหวาดหวั่นของการรุกคืบของคอมมิวนิสต์ และบอกว่าในการเสด็จเยี่ยมค่ายทหารแถวอำเภอแม่สอด จังหวัดตากใกล้ชายแดนพม่าในเดือนตุลาคม ในหลวงภูมิพลไม่กล้าลงจากเฮลิค็อปเตอร์มาพบกับทหาร
ทำให้การเสด็จของพระองค์อาจไม่ได้ประโยชน์อะไรนัก โดยนิวสวีค News week เสริมว่า ในการแวะแต่ละจุด ทรงเลือกที่จะอยู่แต่ในเฮลิค็อปเตอร์ ในขณะที่ผู้ตามเสด็จจะทำหน้าที่แจกจ่ายของที่ระลึกเนื่องในวาระการเสด็จเยือนของพระองค์ รัฐบาลเผด็จการถนอมเต้นผาง โกรธมาก และปฏิเสธเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง
นายกรัฐมนตรีถนอมตั้งข้อกล่าวหา ว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นิตยสารนิวสวีค Newsweek ได้กล่าวคำขอโทษ ซึ่งอาจเป็นเพราะแรงกดดันจาก State Department หรือกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ แต่ไม่ได้ถอนคำพูด และเรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาคาใจอยู่ จอมพลถนอมยืนยันว่าในหลวงได้เสด็จลงจากเฮลิค็อปเตอร์
แต่เอกอัคราชทูตไทยประจำวอชิงตันได้เขียนถึง Newsweek ชี้แจงว่า ในหลวงยังคงต้องประทับอยู่ข้างในเฮลิค็อปเตอร์เพื่อไม่ให้ทหารต้องถอนจากแนวรบมาเพื่อปกป้องคุ้มกันพระองค์ (Newsweek November 6 ,1967 และ December 4, 1967 ) ตกลงงานนี้ไม่รู้ใครโกหกกันแน่
พระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มมีความเข้าใจในเรื่องของประชาธิปไตยและการมีรัฐบาลที่ดี หลังจากเสด็จกลับจากกรุงวอชิงตันในครั้งนั้น พระองค์ได้ทรงตระหนักถึงกระแสต่อต้านสงครามเวียตนาม ที่กำลังลุกลามขยายออกไปในอเมริกา
และมีผลกัดกร่อนบ่อนทำลายพันธกรณีที่สหรัฐฯมีต่อไทย หลังจากสหรัฐฯได้ให้ความช่วยเหลือมาเป็นเวลา 20ปี กับเงินหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่าสองหมื่นล้านบาท สื่อมวลชนอเมริกันได้บรรยายถึงประเทศไทย ว่ามีผู้นำทหารเผด็จการที่ทุจริตคอรัปชั่นและไร้ความสามารถ ที่ครองอำนาจอยู่เหนือการค้ายาเสพติดที่แพร่ระบาด ธุรกิจทางเพศและการค้าประเวณีที่คึกคักและความยากจนข้นแค้น
นายวิลเลียม ฟุลไบร์ท William Fulbright วุฒิสมาชิกนักต่อต้านสงครามคนสำคัญได้กล่าวประณามไทยว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่สมควรจะได้รับความช่วยเหลือ ประธานาธิบดีจอห์นสันก็พูดเช่นกันว่าไทยจำต้องปรับปรุงภาพลักษณ์ ด้วยการให้จอมพลถนอมนำรัฐธรรมนูญกลับคืนมาและจัดให้มีการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย
พระเจ้าอยู่หัวไม่สามารถปฏิเสธคำวิพากษ์วิจารณ์ได้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่เคยเป็นรูปเป็นร่าง หรือเป็นจริงเป็นจังเลยนับแต่ปี 2501 ขณะเดียวกัน การทุจริตคอรัปชั่นก็ระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง ยิ่งช่วยให้ พคท.ขยายเติบโต ทรงบอกแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยในปี 2510 ว่า ถ้าจับคนโกงไปประหารชีวิตให้หมด ก็คงจะเหลือคนอยู่ไม่กี่คน และ เราเองหมดปัญญา ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรดี พอเสด็จกลับจากกรุงวอชิงตันก็ทรงเร่งให้จอมพลถนอมรีบประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้ง กำหนดประกาศใช้รัฐธรรมนูญในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2510 เพื่อตอกย้ำความคิดที่ว่าประชาธิปไตยของไทยมาจากพระมหากษัตริย์เท่านั้น
แต่จอมพลถนอมก็ดำเนินการอย่างเชื่องช้า โดยส่วนหนึ่งก็กังวลว่า รองนายกฯ จอมพลประภาสจะยึดอำนาจไปเสียเอง ในที่สุดก็ได้ทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนได้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511
แม้จะเป็นประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบ คือได้ชื่อว่ามีรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลทหารของจอมพลถนอม รัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 มีไม่กี่มาตราพอๆกับ ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวปี 2501 ของจอมพลสฤษดิ์ กำหนดให้มีสองสภา สภาล่างมาจากการเลือกตั้ง 219 คน สภาสูงมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ 164 คน ในหลวงภูมิพลทรงเห็นชอบรายชื่อวุฒิสมาชิกของจอมพลถนอมที่มาจากทหารเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้จอมพลถนอมที่มี สส.หรือสมาชิกสภาล่างจำนวนไม่มากนัก สามารถควบคุมรัฐสภาได้โดยง่ายเพราะมีสว.ของตนในมืออยู่แล้ว ส.ส.ถูกห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา และวุฒิสภามีอำนาจหน่วงเหนี่ยวร่างกฎหมายได้หนึ่งปี นอกเหนือไปจากอำนาจยับยั้งของพระมหากษัตริย์
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 ยังได้รับรองกฎหมายทุกฉบับที่ออกโดยรัฐบาลชุดก่อนๆ ทำให้กฎหมายเผด็จการที่จอมพลสฤษดิ์ใช้ในการปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วยยังคงอยู่ต่อไป เช่น กฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ จอมพลถนอมมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการประกาศกฎอัยการศึกในภาวะฉุกเฉินเหมือนจอมพลสฤษดิ์
ในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2512 ด้วยความช่วยเหลือทางการเงิน จากวอชิงตันและจากพระราชวัง คนของจอมพลถนอมก็ชนะการเลือกตั้ง ในสภาผู้แทนราษฎร และได้จัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลใหม่ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่การมีรัฐธรรมนูญ กับการเลือกตั้ง ก็เพียงพอแล้วสำหรับวอชิงตัน เจ้าหน้าที่สหรัฐฯได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่อาวุโสไทยว่าสหรัฐฯจะทุ่มเงินเพื่อกำหนดผลการเลือกตั้งโดยพร้อมให้เงินสนับสนุนนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนพอใจ
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ทรงเริ่มเปลี่ยนท่าทีหันมาเป็นนักประชาธิปไตยอย่างชนิดผิดหูผิดตา ซึ่งอาจเป็นเพราะความยิ่งใหญ่แข็งแกร่งของตระกูลกิตติขจรและจารุเสถียร ที่รวมกันเป็นปึกแผ่นโดยมีข่าวว่า จอมพลประภาสกุมความลับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 และก็ไม่ค่อยจะเกรงพระทัยในหลวงภูมิพลนัก
พระองค์จึงทรงฉวยโอกาสสวมรอยแสดงบทบาทของนักประชาธิปไตย ที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งและหลักนิติธรรมขึ้นมา อย่างไม่เคยมีวี่แววมาก่อน ทำให้คนไทยจำนวนมากกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ฝ่ายค้านในสภาก็ถล่มรัฐบาลในเรื่องทุจริตและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเกินเหตุกับสหรัฐฯ และมีการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น การพิจารณางบประมาณประจำปี ต้องคั่งค้างนับเดือนเนื่องจากมีผู้ต้องการตัดงบประมาณของกองทัพ ถนอมและประภาสตอบโต้ด้วยการจับกุมผู้วิพากษ์วิจารณ์บางคน และสั่งปิดหนังสือพิมพ์ แต่พวกเผด็จการถนอมประภาสก็ยังต้องระแวดระวังมาก เพราะไม่เพียงแต่สื่อของสหรัฐที่รายงานโจมตีรัฐบาลเผด็จการอย่างเสียหายเท่านั้น
ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศยังอ้างว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ข้างเดียวกับตนด้วยเหมือนกัน งานนี้ทำเอาในหลวงภูมิพลทรงกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และวางพระองค์ไม่ถูกระหว่างท่าที่เชิดชูประชาธิปไตย กับท่าทีสนับสนุนการปราบปรามคอมมิวนิสต์ และผู้เห็นต่างอย่างเด็ดขาด ทรงเข้าพระทัยความสำคัญของธรรมาภิบาล (การปกครองที่สุจริตโปร่งใสและมีหลักการ) แต่การเติบโตของคอมมิวนิสต์และเหตุการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ถูกใช้เป็นข้ออ้างของพวกขวาจัด ที่ชอบแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางการทหาร
ถึงปี 2510 พคท. ขยายไปถึงบริเวณเทือกเขาทางภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายและน่าน ที่ติดกับประเทศลาวและมีชาวม้งอาศัยอยู่จำนวนมาก ปี 2511 พคท.ยึดเขาค้อเป็นฐานที่มั่น ผู้ต่อต้านรัฐบาลเพิ่มจำนวนขึ้นในภาคใต้ ตรงพรมแดนตะวันตกติดประเทศพม่าเกิดความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงในป่ากับคนไทยพื้นราบ การต่อสู้ส่วนใหญ่กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ พคท.เชื่อมประสานเป็นแค่เครือข่ายหลวมๆ การปะทะระหว่างผู้ต่อต้านรัฐบาลกับตำรวจและทหารเพิ่มเป็น 372 ครั้ง
ในเดือนเมษายน ปี 2511 ที่เชียงราย กองทหาร 18 นายถูกสังหารทั้งหมด โดยกองกำลังชาวเขาของ พคท. ซึ่งไม่มีความสูญเสียเลย
สองสามเดือนต่อมา คอมมิวนิสต์โจมตีฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ที่จังหวัดอุดรธานี เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายนาย และเครื่องบินสองลำได้รับความเสียหาย แต่ในปี 2511 เครือข่ายพคท.ยังมีกำลังติดอาวุธไม่ถึง 4,000 คน ไม่มีฐานที่มั่นในพื้นที่ราบ หรือในเมือง และมีความสัมพันธ์ที่จำกัดกับพรรคคอมมิวนิสต์อื่นๆนอกประเทศ พคท.ขาดแคลนอาวุธและบุคลากรที่พร้อมจะสู้รบกับรัฐบาลแบบเผชิญหน้า และไม่ได้แสดงท่าทีที่พร้อมจะปะทะชนิดเต็มรูปแบบ
แต่หลังต้นปี 2511 เมื่อฮานอยโจมตีไซ่ง่อน ชนิดสายฟ้าแลบในช่วงเทศกาลปีใหม่ของเวียตนาม ที่เรียกว่าตรุษญวน กองอำนวยการปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอปค.) ก็ล้มเลิกนโยบายเกลี้ยกล่อมชาวบ้านที่ใช้การปฏิรูปและให้ความช่วยเหลือ คือเลิกใช้ไม้อ่อน เลิกใส่ใจบทเรียนในเวียตนามอีกต่อไปแล้วและได้เริ่มลงมือปฏิบัติการใช้ไม้แข็ง โดยการ ค้นหาและทำลาย ใช้วิธีกวาดล้าง ทรมานและศาลเตี้ยกับชาวบ้านที่ถูกสงสัยว่าให้การสนับสนุน พคท.
กองทัพและตชด.เริ่มเข่นฆ่าคุกคาม สร้างความสยดสยองด้วยการถีบผู้ต้องสงสัยว่าเป็นพคท.ลงมาจากเฮลิค็อปเตอร์ และที่ภาคใต้มีการจับนักโทษยัดเข้าไปเผาในถังแดง (ถังใส่น้ำมัน200 ลิตร) ตชด. เล่นบทโหดมากขึ้นกับชาวเขาด้วยเช่นกัน ใช้วิธีบุกตะลุยโจมตีหมู่บ้าน ที่สงสัยว่าปันใจให้คอมมิวนิสต์ โดยไม่เสียเวลาสร้างความสัมพันธ์อีกแล้ว รัฐบาลใช้วิธีบังคับอพยพชาวเขาลงมาพื้นราบ ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการแย่งที่ดินและทรัพยากรกับคนพื้นราบเพิ่มขึ้นอีก
ในปี 2511 ประธานาธิบดีจอห์นสันได้รับความนิยมที่ตกต่ำลงมากจากนโยบายสงครามเวียตนาม และประกาศว่าจะไม่ลงสมัครในตำเหน่งประธานาธิบดีอีก ขณะที่ทั้งฮิวเบิร์ต ฮัมฟรีย์ Hubert Humphreyและริชาร์ด นิกสัน Richard Nixon ได้หาเสียง ด้วยการประกาศจะถอนกำลังทหารออกจากเวียตนาม
เมื่อนิกสันชนะการเลือกตั้ง และรับตำแหน่งประธานาธิบดี ในเดือนมกราคม 2512 ก็ได้ประกาศให้การดูแลป้องกันเวียตนามใต้เป็นเรื่องของคนเวียตนามเอง หรือนโยบายเวียตนามเพื่อเวียตนาม (Vietnamization of South Vietnam’s defense)
อีกสองเดือนต่อมา ก็ประกาศแผนลดกำลังทหารสหรัฐในไทย ที่มีอยู่ 50,000 นาย ระหว่างนั้น วุฒิสภาสหรัฐฯห้ามทหารเหล่านั้นทำการสู้รบในไทยหรือลาวอีกต่อไป วุฒิสมาชิกฟุลไบร์ท Fulbright ได้โจมตีประเทศไทยอีกครั้งว่าเป็นประเทศบริวารของสหรัฐฯ ที่ทุจริตคอรัปชั่นและไม่เป็นประชาธิปไตย บรรดาชนชั้นนำของไทยพากันตกตะลึงหรือช็อคไปตามๆ กัน เพราะดูเหมือนสหรัฐฯกำลังจะทิ้งไทย เหมือนที่ทิ้งเวียตนาม
การถอนทหารของสหรัฐฯ จะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นก็คือ การมีกำลังทหารไทยกว่า 10,000 นายในเวียตนาม ทำให้รัฐบาลที่กรุงเทพฯ กลัวว่าจะสร้างความเป็นปฏิปักษ์หรือการเผชิญหน้ากันโดยตรงระหว่างสองประเทศซึ่งจะบานปลายขยายใหญ่โต หากปราศจากการคุ้มครองของสหรัฐฯ สงครามระหว่างไทยและเวียตนามเหนือ ก็อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ
รัฐบาลจอมพลถนอมได้เร่งมือปราบปรามคอมมิวนิสต์ รุนแรงหนักขึ้นไปอีก ที่เขาค้อ เชียงใหม่ เชียงรายและพื้นที่อื่นๆ กองทัพระดมใช้อาวุธหนัก ทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิด ปืนใหญ่และเฮลิค็อปเตอร์โจมตีฐานที่มั่นของ พคท. ยิงขีปนาวุธ จรวดและทิ้งระเบิดนาปาล์มบริเวณป่าและหมู่บ้านที่ต้องสงสัย เหมือนที่สหรัฐเคยทำกับเวียตนาม
แต่ผลที่ได้รับก็เหมือนกับในเวียตนาม ยุทธการของฝ่ายรัฐบาลไม่ค่อยได้ผลมากนัก นักรบของพคท.รู้สภาพพื้นที่ภูมิประเทศดีกว่าฝ่ายทหารของรัฐบาล กองทัพประสบความสูญเสียจากการปะทะมากกว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์ ยิ่งกว่านั้น การสู้รบก็ดูจะยิ่งผลักดันให้ชาวบ้านเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น กรณีทหารฝ่ายรัฐบาลถล่มหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เชียงรายในเดือนกุมภาพันธ์ 2511 จากการที่กองกำลัง พคท.ได้เข้าไปในหมู่บ้านคืนหนึ่งเพื่อโจมตีตำรวจหมู่เล็กๆหมู่หนึ่งที่มาเยือนหมู่บ้าน
ชาวบ้านยืนยันว่า พวกเขาไม่ได้ให้การช่วยเหลือพวกคอมมิวนิสต์ โดยอ้างถึงความจงรักภักดีว่าไม่นานก่อนหน้านั้นในหลวงภูมิพลยังได้พระราชทานรางวัลเกียรติยศให้แก่ปู่ของผู้ใหญ่บ้าน และปีก่อนนั้นพระราชชนนีศรีสังวาลย์ก็เพิ่งพระราชทานโรงเรียนให้กับหมู่บ้าน ถึงกระนั้น เครื่องบินกองทัพอากาศ ก็ยังทิ้งระเบิดถล่มหมู่บ้าน และทหารราบก็ได้เผาทำลายโรงเรียนและยุ้งฉางของชาวบ้าน
ปี 2512 พคท.ประกาศสถาปนากองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) อย่างเป็นทางการ แม้จะดูน่าตื่นตระหนกสำหรับคนในกรุงเทพฯ แต่ก็เป็นแค่กองทัพที่ขาดแคลนยุทโธปกรณ์ ไม่มีศักยภาพพอที่จะเคลื่อนกำลังลงจากป่าเขามาได้เลย ภัยคุกคามจากพวกเขาในฐานะขบวนการคอมมิวนิสต์นั้นเป็นได้แค่กระแสเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้นเอง
เจฟฟรีย์ เรซ Jeffrey Race ผู้เชี่ยวชาญเรื่องขบวนการต่อสู้กับรัฐบาลในเอเชียกล่าวในช่วงนั้นว่า คนที่คิดว่าพคท.เป็นคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงนั้น ก็มีแต่บรรดาระดับหัวหน้าของ พคท.เองและของรัฐบาลไทยเท่านั้น ที่จริงพวกเขา ก็คือชาวเขาที่ต่อสู้กับการกดขี่เท่านั้นเอง มวลชนของพคท. เองก็ยังมีความจงรักภักดีอย่างเหนียวแน่นต่อพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล มีรายงานในปี 2515 ว่า การขยายฐานมวลชนในเมืองไทยของพคท.ทำได้ยากเนื่องจากประชาชนยังเคารพรักนับถือกษัตริย์ และด้วยลักษณะของชาวพุทธที่ชอบความสงบรักสันติและไม่อยากยุ่งเรื่องการเมือง พคท.จึงมีนโยบายไม่โจมตีพระมหากษัตริย์หรือวงการสงฆ์
ทั้งสองพระองค์ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพระราชพิธีและงานพระราชกุศลต่อไป พระราชพิธีเทิดพระเกียรติพระราชวงศ์จักรีได้ดำเนินไปตามกำหนด ทรงฟื้นพระราชพิธีแห่เรือสำหรับกฐินหลวงขึ้นมาอีกครั้งในปี 2510 เมื่อมีการค้นพบช้างเผือก ที่ภาคใต้ในปี 2511 และได้นำช้างเข้าในวังด้วยพิธีฉลองใหญ่โต ในวันฉลองพระราชสมภพครบสามรอบของสมเด็จพระบรมราชินีนาถสิริกิติ์ในเดือนสิงหาคม ทรงพิมพ์หนังสือรวมบทความทางประวัติศาสตร์ที่สดุดีพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแต่ละพระองค์
ทั้งสองพระองค์ทรงแสดงการสนับสนุนกองทัพ ด้วยการเสด็จเยี่ยมทหารที่ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาลและทหารที่อยู่ในแนวรบ โดยมักจะทรงชุดทหารเสมอ
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลจะทรงทดสอบอาวุธต่างๆ และให้คำแนะนำเชิงกลยุทธแก่ทหาร ในขณะเดียวกันก็ยังได้ทรงตำหนิวิธีการปราบปรามคอมมิวนิสต์ของรัฐบาล ด้วยการทรงใช้โครงการพัฒนาส่วนพระองค์เป็นแบบอย่างและทรงขยายโครงการต่างๆ
โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี พระสหายแล่นเรือของพระองค์เป็นผู้จัดการ ทรงให้ความสนพระทัยมากขึ้นต่อความเป็นอยู่ของชาวเขาที่ส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทรงตั้งสหกรณ์ในหมู่บ้านชาวเขา โดยเริ่มที่ธนาคารข้าวของชุมชน
มีโครงการปลูกพืชทดแทน เพื่อหันเหชาวเขาจากการปลูกฝิ่น แม้จะมีการอ้างว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ ที่จริงโครงการเหล่านี้ ได้เริ่มมีขึ้นจากการปฏิบัติการของหน่วยงานสหรัฐฯ และโครงการพัฒนาของสหประชาชาติ UNDP ที่ได้ทำอยู่แล้วและกว้างขวางกว่ามาก แต่ด้วยพระบุญญาบารมีและพระเดชานุภาพที่สูงส่ง จึงต้องถวายพระเกียรติยศให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงเป็นผู้ริเริ่มและหัวหน้าของโครงการทั้งหมดแต่เพียงพระองค์เดียว คือต้องยกคุณงามความดีทั้งหมดถวายแด่พระองค์เท่านั้น
ในหลวงภูมิพล พร้อมด้วยองค์กรระหว่างประเทศ ได้บีบให้รัฐบาลมอบสัญชาติไทยแก่ชาวเขา ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิในการได้รับบริการต่างๆ ของรัฐด้วย
ในระยะสี่ปีจนถึงปี 2516 มีชาวเขาราว 200,000 คน ได้รับสัญชาติไทย แต่กลายเป็นว่าไม่ใช่สถานะพลเมืองไทยโดยสมบูรณ์จริงๆชาวเขาได้รับแจกเหรียญรูปในหลวงภูมิพลโดยมีหมายเลขสลักไว้ด้านหลังซึ่งไม่ได้ให้สิทธิอะไรมากมายเลย แต่ได้กลายเป็นเครื่องรางของขลังสำหรับชาวเขาจำนวนมาก แต่พวกเขายังคงถูกจำกัดการเดินทาง และลูกๆ ที่เกิดใหม่ก็ยังคงไม่ได้รับสัญชาติไทยแต่อย่างใด
พระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงวิพากษ์วิจารณ์ แนวทางการพัฒนาและความเกินพอดีของยุทธการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ของรัฐบาลถนอม โดยทรงมีพระราชดำรัสแนะนำในหลายโอกาสว่า กองทัพควรมีความอดทนอดกลั้นมากขึ้นและรัฐบาลก็ควรมีความจริงใจมากขึ้น แทนที่จะเอาแต่โฆษณาชวนเชื่อชื่นชมตนเองอย่างเดียว หลังจากเสด็จเยี่ยมหมู่บ้านม้งในภาคเหนือที่ถูกกองทัพถล่มช่วงปลายปี 2511 ทรงตำหนิรัฐบาลว่ากระทำผิด ทรงยืนยันว่ามีชาวเขาไม่กี่พื้นที่เข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ มีอยู่น้อยคนที่แดงจริงๆ ถ้าเราทำผิดพลาดชาวเขาทั้งเผ่าจะกลายเป็นแดงและสร้างปัญหาให้เราไม่จบสิ้นในภายหลัง
ในปี 2512 ทรงวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้น ทรงตรัสกับนักศึกษา ที่จุฬาลงกรณ มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2512 เกี่ยวกับหมู่บ้านในประจวบคีรีขันธ์ ที่ชาวบ้านอยู่อาศัยในเขตป่าสงวน คนเหล่านี้อยู่อาศัยหาเลี้ยงชีพอย่างสงบ มีกฎเกณฑ์ของตัวเอง ไม่มีอาชญากรรม อาจเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่จากทางการ อันที่จริง ไม่มีเจ้าหน้าที่พวกเขาจะเป็นประชาธิปไตยมากกว่ามี (ตอนมีเจ้าหน้าที่)
แต่พวกเขาถูกมองเป็นพวกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เราไม่ต้องการอยู่แล้วที่จะให้มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย แต่เราเองก็ได้สร้างพวกเขา (คอมมิวนิสต์) ขึ้นมา ด้วยการกล่าวหาชาวบ้านที่ปกครองตนเองอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นประชาธิปไตยว่าเป็นผู้บุกรุกเขตป่าสงวน และ(ขับไล่)ผลักดันพวกเขาออกมา
ทรงตรัสกับกลุ่มนักธุรกิจว่าการก่อความไม่สงบนั้นเป็นฝีมือการปลุกปั่นของคนต่างชาติ โดยอาศัยเงื่อนไขที่แย่อยู่แล้วภายในประเทศ ..ถ้าประเทศปราศจากความยุติธรรมอย่างถ้วนทั่วแล้ว ก็จะเกิดความระส่ำระสาย หลายคนถูกผลักให้เป็นผู้ก่อความไม่สงบด้วยสถานการณ์บีบบังคับ กำลังทหารนั้นเราสู้ได้เพราะเราเป็นชาตินักรบ
แต่การเอาชนะการก่อการร้ายที่เกิดจากน้ำมือของเราเองนั้นยากกว่ามาก... ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชนบทให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ด้วยความยุติธรรม อย่างมีสติและเสียสละ มิฉะนั้นแล้วเราคงต้องยอมแพ้แก่ผู้ก่อการร้าย
ทรงวิจารณ์พ่อค้านักธุรกิจที่เกื้อหนุนการทุจริตและการรังแกชาวบ้าน ทรงตรัสว่าพ่อค้าคนกลางกดชาวบ้านให้ยากจนด้วยการกดราคารับซื้อผลผลิต ทรงตำหนินักเก็งกำไรที่ดินอีกด้วย คือเมื่อที่รัฐบาลสร้างถนน นายหน้าที่ดินก็จะพากันไปกว้านซื้อที่ดินจากชาวนาที่ไร้การศึกษาด้วยเงินจำนวนไม่มากแต่ก็เย้ายวนใจ ในที่สุดเงินก็ถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็วและครอบครัวที่ไม่มีที่ดินก็จำต้องเช่าที่ดินที่ทำกินหรือย้ายไปหางานรับจ้างในเมือง หรือไม่ก็ไปหักร้างถางป่าบุกรุกที่สาธารณะโดยผิดกฎหมาย
ทรงห้าวหาญขึ้นไปอีกโดยทรงชักชวนให้นักศึกษากดดันรัฐบาลให้บริหารงานด้วยความเป็นธรรมมากขึ้น ตามประเพณีโบราณ ของการถวายฎีการ้องทุกข์ขอความยุติธรรมจากกษัตริย์ โดยได้มีพระราชดำรัสต่อนักศึกษาประสานมิตรในปี 2512 ว่า เราจึงบอกกับท่านนายพลเหล่านั้นว่า พวกท่านจงเรียนรู้ที่จะรับฟังประชาชน ทรงแนะนำนิสิตจุฬาฯว่า ให้คิดด้วยตัวเอง แทนที่จะถูกบงการโดยข้าราชการที่ไร้วิญญาณ เพื่อที่ประเทศของเราจะได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน
สำหรับนักศึกษาและนักกิจกรรมแล้ว พระราชดำรัสเหล่านี้ ทำให้ในหลวงภูมิพลทรงอยู่ข้างเดียวกับพวกเขา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลทหารของถนอม-ประภาส
แต่ว่านักศึกษาเข้าใจผิด เพราะในหลวงภูมิพล ทรงกำลังมุ่งหน้าไปยังอีกทิศทางหนึ่ง ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย และแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง เพราะหลักการปกครองของพระองค์มีรากฐานอยู่ที่การเทิดทูนพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ยกย่องพระเจ้าแผ่นดินว่ามีบุญญาธิการสูงสุดที่จะปกครองประเทศที่แท้จริงเท่านั้น
หลักการของพระองค์ก็คือ พื้นฐานความคิดหรือพระราชดำริที่รัชกาลที่ 6 ได้ทรงวางรากฐานไว้ให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่สูงสุดในการธำรงไว้ซึ่งความสามัคคีของชาติภายใต้พระมหากษัตริย์ องค์ประกอบง่ายๆ คือความขยันอุตสาหะ ความเสียสละและความรับผิดชอบต่อครอบครัวซึ่งหมายถึงทั้งครอบครัวของแต่ละคน และครอบครัวแห่งชาติที่มีในหลวงและพระราชินีเป็นพ่อและแม่ของคนทั้งชาติ ทรงเน้นความสามัคคีเช่นเดียวกับรัชกาลที่ 6 จนแทบจะเป็นบทบัญญัติทางศาสนา
ทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ เพื่อความสามัคคีของชาติ เพราะชาติประกอบด้วยสถาบันต่างๆ เช่นเดียวกับร่างกายที่ประกอบขึ้นด้วยอวัยวะส่วนต่างๆ ชีวิตของเราดำรงอยู่ได้ เนื่องจากอวัยวะน้อยใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ได้ปกติ เช่นเดียวกับชาติที่ดำรงอยู่ได้เนื่องจากสถาบันต่างๆ เข้มแข็งและปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่
ในพระบรมราโชวาทวาระต่างๆ ได้ทรงระบุสาเหตุหลัก ที่ทำให้ชาติขาดความสามัคคี ก็คือระบอบทุนนิยมที่เห็นแก่ตัว ขาดจริยธรรมและแบ่งแยกสังคม ซึ่งก็แปลกที่ไปตรงกับคำโฆษณาของพคท. ทรงโจมตีระบอบทุนนิยมว่าไม่ได้ให้ผลตอบแทนมากที่สุด แก่ผู้ที่ทำงานมากที่สุดหรือผู้ที่ปฏิบัติตามหน้าที่ แต่มันกลับให้ประโยชน์แก่ผู้ที่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นมากกว่า และมันเป็นการทำลายความสามัคคี
ทรงตรัสว่าพ่อค้าและนักเก็งกำไรที่ดินที่เอาเปรียบชาวนา อาจอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ก่อการร้าย ทรงวิจารณ์ความผิดพลาดของรัฐบาลที่ให้เครื่องมือหนักแก่เกษตรกรที่เพียงแต่ต้องการความช่วยเหลือพื้นฐาน ทรงบอกว่า ไม่ใช่ทุกคนจะมีรถแทร็คเตอร์ได้ ยกเว้นนายทุนที่ไม่คำนึงถึงชาวบ้านทั่วไปอยู่แล้ว
นักปฏิวัติแห่ง พคท. ถือว่าเรื่องของการเอาเปรียบเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่ในหลวงภูมิพล ทรงถือว่าเป็นเรื่องของธรรมะ ทรงมองว่าความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้จากแรงกระตุ้นที่ไม่เห็นแก่ตัวเท่านั้น พูดแบบธรรมะก็คือ ความตั้งมั่นอันบริสุทธิ์ ทรงบรรยายว่าการพัฒนาชนบทควรกระทำโดยใช้ ความสามารถ ภูมิปัญญาและสติปัญญาระดับสูง ควบคู่ไปกับความสุจริตโดยปราศจากความคิดหาผลประโยชน์ใดๆ
ใครที่อยากหาเงินควรจะลาออกจากราชการ และไปทำธุรกิจ มีแต่คนที่ฉลาดและครุ่นคิด (รู้จักคิด)เท่านั้นที่จะสามารถแยกแยะระหว่างผู้ที่ต้องการพัฒนาจริงๆ กับผู้ที่ต้องการทำเพื่อผลประโยชน์ของพรรคพวกตน ไม่เพียงแต่นักธุรกิจนายทุนเท่านั้นที่มีวิธีคิดที่เห็นแก่ตัว และเป็นอันตรายอย่างนี้ แต่มันยังได้ระบาดไปในหมู่นักวิชาการ นักการเมืองแล้วข้าราชการอีกด้วย ซึ่งมักจะกระทำการที่เป็นการที่บ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ทรงมีพระบรมราโชวาทแก่นักศึกษา และข้าราชการ ให้ทำงานหนักโดยไม่คิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัว และทรงชื่นชมการทำงานของแพทย์ที่อยู่ในชนบท ว่าเป็นการกระทำที่ก้าวหน้าที่สุด การต้องเผชิญกับความยากลำบาก การเสี่ยงภัยอันตราย ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เป็นการเสียสละของแพทย์ที่ดี คนที่ดีและผู้รักชาติ
ทรงยกพระองค์และพระราชวงศ์เป็นตัวอย่าง ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท ให้นักศึกษาเล่าเรียนเพื่อรับใช้ประเทศชาติ เหมือนฟ้าหญิงอุบลรัตน์ พระราชธิดาของพระองค์ที่ได้ทรงตั้งพระทัยจะเรียนนิวเคลียร์ฟิสิกส์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสสาจูเซทส์ Massachusetts Institute of Technology หรือ เอมไอที เพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติบ้านเมือง
พระองค์ตรัสว่าระบบราชการและกฎหมายสมัยใหม่ก็มีส่วนบ่อนทำลาย การพัฒนาและความสามัคคีของประเทศชาติไม่แพ้ระบอบทุนนิยมเช่นกัน จากพระบรมราโชวาทในช่วงปลายทศวรรษที่ 2500 ถึงต้นทศวรรษ 2510 ได้ทรงตำหนิข้าราชการที่เรื่องมาก และไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และการยึดกฎหมายอย่างเข้มงวดตายตัวของพวกข้าราชการ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การก่อการร้ายขยายตัว แม้ว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
แต่สิ่งที่พระองค์ทรงยกมาเป็นบทเรียนนั้นมันกลายเป็นคนละเรื่องกัน เพราะพระองค์ทรงสรุปว่า การบริหารประเทศแบบสมัยใหม่นั้นไม่ดีเท่าการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรีแบบที่เคยเป็นมาในอดีต ตามที่พวกเจ้าจากระบอบเก่าได้อบรมสั่งสอนพระองค์มาโดยตลอด โดยกล่าวหาว่าระบบการบริหารงานแผ่นดินของไทยสมัยใหม่นี้เป็นสิ่งนำเข้าจากตะวันตก และไม่สอดคล้องกับคนไทย
ในขณะที่กฎหมาย (ก็เหมือนกับทุนนิยม)อาจมาจากแนวคิดที่ดี แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นเครื่องมือของการเอารัดเอาเปรียบ ที่ทำให้ประเทศชาติของเราอ่อนแอ ทรงมีพระราชดำรัสต่อนักนิสิตคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในเดือนมีนาคม 2512 ว่า เราได้ปฏิรูประบบการบริหารประเทศบนพื้นฐานหลักการของต่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตของประชาชน กฎหมายกับความเป็นจริงอาจแตกต่างกัน และมีช่องโหว่อยู่ไม่น้อยเลย
ทรงมักจะยกตัวอย่างชุมชนที่ประจวบฯ ( สหกรณ์หุบกระพง ในพระบรมราชูปถัมถ์ ) ขึ้นมาประกอบพระบรมราโชวาทเสมอ ชุมชนที่พระองค์ตรัสว่า มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยแต่ถูกรังแกโดยเจ้าหน้าที่ ที่ยึดกฎหมายอย่างเข้มงวด เราเรียกร้องให้พวกเขาต้องรู้กฎหมาย แต่กฎหมายอย่างนี้ ไม่ใช่กฎหมายที่แท้จริง ไม่ใช่เรื่องที่จะไปโทษชาวบ้านว่าไม่รู้กฎหมาย
ถ้าเราจะปกครอง และช่วยให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เราไม่สามารถยึดกฎหมายตามตัวอักษรได้ พิจารณาในแง่ที่เป็นความรับผิดชอบของตนเอง ไม่ใช่งานตามหน้าที่ที่ติดอยู่ในกรอบตายตัวของราชการที่มีลำดับชั้นอำนาจของผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญญัติ ...กฎหมายไม่พูดถึงคนที่อยู่ในป่าอยู่แล้ว เมื่อมีการเปิดป่าสงวน คนใหม่ก็เข้ามา เบียดขับคนที่อยู่มาก่อนออกไป บางทีก็ค่อนข้างโหดร้าย อาจจะยิ่งทำให้มีผู้ก่อการร้ายมากขึ้น ควรต้องคำนึงถึงมนุษยธรรม ความเอื้ออาทรและการกระทำเพื่อส่วนรวมจริงๆ และต้องต่อต้านการใช้กฎหมายที่ไปสนับสนุนผู้กดขี่รังแกประชาชน
ในส่วนของระบบราชการ ได้ทรงยกตัวอย่างมากมายถึงความอืดอาด ความสูญเปล่าและการขาดแนวทางแก้ปัญหาชนบทที่มีเหตุมี พระบรมราโชวาทต่อสโมสรโรตารีกรุงเทพฯ ปี 2512 ทรงชี้ว่าหน่วยงานราชการ ติดขัดอยู่ในระเบียบราชการตลอดเวลา จึงไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนจริงๆ แต่โครงการในพระราชดำริของพระองค์ จะมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยที่ไม่มีต้นทุนมากนัก ช่วยลดความยากจน หยุดการตัดไม้ทำลายป่าและการค้ายาเสพติด ปกป้องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และทำให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่ดี
โครงการในพระราชดำริของพระองค์ทำอย่างนี้ได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการประชุมบ่อยๆ ตลอดจนระเบียบขั้นตอนที่เทอะทะ และการสูญเสียทรัพยากรไปกับคนที่ทุจริตคอรัปชั่น หรือพูดได้ว่าโครงการในพระราชดำริของพระองค์ยอดเยี่ยมกว่าเพราะพระองค์ไม่ได้ทำงานแบบเดียวกับรัฐบาล
เรื่องนี้กลายมาเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งของรัชสมัยของในหลวงภูมิพล เพราะมักจะทรงเปรียบเทียบความล้มเหลวของระบบราชการ และกฎหมาย และความเห็นแก่ตัวของระบอบทุนนิยม กับความสำเร็จของโครงการพระราชดำริของพระองค์ ซึ่งเป็นผลมาจากทศพิธราชธรรมและพระปรีชาสามารถของพระองค์ล้วนๆ แต่พระองค์ทรงเข้าพระทัยว่าความสามัคคีและความไม่เห็นแก่ตัวที่อิงอยู่บนธรรมะนั้นยังไม่เพียงพอที่จะสร้างชาติที่แข็งแกร่งและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้
ทรงมองว่าคนไทยนั้นยอมรับโชคชะตา หรือเวรกรรมโดยไม่คิดดิ้นรนขวนขวาย และเป็นจุดอ่อนของสังคมไทย จึงได้ทรงดัดแปลงหลักศีลธรรมที่ชี้นำคนไทยโดยทรงสนับสนุนแนวคิดของการทำงานหนัก ที่เป็นมากกว่าหน้าที่ เข้าไปในหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่ปกติจะยอมรับเรื่องของเวรกรรม เนื่องจากมันสอดคล้องเข้ากับหลักธรรมคำสอนเรื่องความวิริยะอุตสาหะ ไม่ใช่แค่กายกรรมและมโนกรรมที่ดีเท่านั้น
นี่เป็นพระราชดำริ ที่ผิดแปลกไปจากคำสอนในพระพุทธศาสนา เพราะการทำงานหนัก หมายถึงการตั้งเป้าหมายและทุ่มเทความพยายาม เพื่อความต้องการและความสำเร็จทางวัตถุซึ่งขัดแย้งกับหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาที่มุ่งสู่การลดละเลิกกิเลสทั้งปวง ทรงย้ำว่า การทำงานหนักจะก่อให้เกิดประโยชน์สุข และเมื่อรวมกับความตั้งใจที่บริสุทธิ์ ก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใกล้ความสุข เข้าใกล้พระนิพพานมากขึ้น ไม่เชิงเป็นเรื่องส่วนบุคลแต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทยและยังส่งผลบุญคุ้มครองปกป้องผู้ปฏิบัติจากความชั่วร้ายและความทุกข์ทั้งจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และการกดขี่ของทางราชการ
พระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสให้ประชาชน มีความขยันหมั่นเพียร ทำงานให้หนักขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2500 ทรงชี้แนะทั้งคนเมืองที่มีการศึกษาที่ทรงมองว่ามักเป็นพวกที่เห็นแก่ตัว และชาวบ้านที่ทรงมองว่ามักเป็นพวกที่เกียจคร้านไม่ขยันหมั่นเพียรและไม่ขวนขวาย ฟังดูแล้วเหมือนพระองค์จะทรงเป็นนักปฏิรูปทางศาสนาผู้ให้กำเนิดหลักคำสอนใหม่ๆคล้ายพวกนิกายโปรเตสตันท์ (Protestant) ที่แยกตัวออกมาจากพวกแคทอลิค (Catholic)เดิม มีพระบรมราโชวาทให้ประชาชนขยันหมั่นเพียรเพื่อความเจริญก้าวหน้า และจะได้ปกป้องตนเองได้
มีพระราชดำรัสในเดือนมิถุนายน 2512 ต่อผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา ว่าการใช้รถแทร็คเตอร์สมัยใหม่ช่วยเกษตรกรยากจนในการทำนาทำไร่นั้น จะทำให้พวกชาวไร่ชาวนาขี้เกียจและคอยแต่พึ่งพาเครื่องมือสมัยใหม่ เพราะโดยปกติชาวนาชาวไร่ก็มีนิสัยเกียจคร้านอยู่แล้วแม้แต่จะดายหญ้าในไร่สวน ก็ไม่อยากทำอยู่แล้วทั้งๆที่มีจอบเสียมที่ยังใช้ได้อยู่ และถ้าพวกชาวนาชาวไร่พวกนี้รู้จักทำงานด้วยมือของตนเอง ก็คงจะประสบความสำเร็จและความเจริญมากกว่านี้
ยังได้ทรงดัดแปลงหลักธรรม ว่าด้วยเรื่องความตั้งใจที่ดีหรือกุศลเจตนา โดยมีพระราชดำรัสว่าแม้จะมีความตั้งใจบริสุทธิ์หรือเจตนาที่ดี เมื่อรวมกับการทำงานหนักแล้วก็ตาม แต่ถ้ากระทำโดยความเขลาเบาปัญญา ก็จะทำให้เกิดความผิดพลาดและความล้มเหลว อันเป็นการบ่อนทำลาย ทำให้คนจนอ่อนเเอ และยังทำให้ประเทศชาติอ่อนแอไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งความสามัคคี และการปกป้องประเทศชาติได้
ทรงมีพระราชดำรัสต่อกลุ่มข้าราชการในปี 2512 ว่า ถ้ามีความผิดพลาดที่เกิดจากความตั้งใจที่บริสุทธิ์แล้ว ก็ไม่ทรงถือโทษ แต่ถ้ากระทำโดยความเขลาเบาปัญญา ก็จะเป็นเรื่องใหญ่เนื่องจาก ผู้ดำเนินโครงการพัฒนานั้นจะต้องชำนาญมีความสามารถและต้องไม่โง่เขลาโดยเด็ดขาด ความผิดพลาดถ้ากระทำโดยเจตนาบริสุทธิ์ก็สามารถมองข้ามไปได้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็อาจถือเป็นการทรยศ ผู้ที่ทำงานล้มเหลวจะต้องถือเป็นผู้ทรยศ ซึ่งอาจฟังดูแรงไป แต่มีเหตุผล เพราะช่องโหว่ใดๆ ที่เป็นการเปิดช่องให้ผู้ก่อการร้ายหรือผู้ไม่หวังดีได้ฉวยโอกาสนำไปใช้นั้นถือเป็นการทำผิดต่อประเทศชาติ
ได้มีพระบรมราโชวาทต่อนักศึกษาว่า สิ่งที่ทรงพระประสงค์ไม่ใช่ความโง่เขลาที่ปรารถนาดี แต่เป็นการคิดใช้เหตุผลและความรู้ เมื่อมีภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ก็จงหยุดพิจารณาก่อน จากนั้นให้ใช้ความคิดหรือใช้เหตุผล ทุกสิ่งจะต้องมีเหตุผล เมื่อสงสัย ก็ต้องถามเพื่อจะได้รู้ การเงียบอาจจะเป็นผลเสียต่อตัวเอง ต่อชุมชนและต่อประเทศชาติ
พระบรมราโชวาท หรือหลักคำสอนของในหลวง ได้มีหลักการใหม่ๆที่พระองค์ทรงตรัสรู้จากการที่ได้ ทรงสาธายยายแสดงพระปัญญาบารมีที่ล้ำลึกกว่าใครในพระราชอาณาจักร
ทรงเชื่อมั่นว่า พระองค์ได้ค้นพบข้อบกพร่องในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา และพระองค์ก็ได้ทรงทำหน้าที่แก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ในฐานะที่ทรงเป็นธรรมราชา หรือมหาราชผู้ทรงธรรมอันล้ำลึกกว่าใคร ในประเทศนี้ แต่คนที่ได้ฟังพระบรมราโชวาทก็คงไม่ค่อยเข้าใจอะไรที่ชัดเจนนัก เพราะในหลวงมีพระบรมราโชวาทที่เหมือนพระเทศน์ไปเรื่อยๆ ทรงยกเหตุยกผลไล่เรียงไปอย่างยืดยาดเพื่อแสดงสัจจธรรมของพระองค์
ทรงเตือนให้ทุกคนยึดมั่นภาระหน้าที่ รักษาความสามัคคีและความสงบเรียบร้อย แต่พระองค์ไม่เคยตรัสให้ใครทำอะไรอย่างชัดเจน ทรงปล่อยให้ผู้ฟังไปตีความกันเอง เหมือนคำทำนายของศาสดาพยากรณ์ ผู้เร้นกายอยู่บนยอดเขา หรือพวกหมอดูราคาถูก ที่อาศัยการทำนายที่คลุมเครือ ที่หาความชัดเจนอะไรไม่ได้เลย
พระบรมราโชวาทของพระเจ้าอยู่หัวทำให้นักการเมืองเสรีนิยม นักศึกษาและผู้นำแรงงานพากันหลงเข้าใจว่าพระองค์ทรงโจมตีรัฐบาลตรงๆ ซึ่งก็คงไม่ตรงกับพระราชประสงค์ แต่คนเหล่านั้นถูกกดหัวมานานนับสิบปีก็เลยทึกทักกันเอาเองว่าพระองค์กำลังสนับสนุนการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาชน ในขณะที่ประชาชนไทยมีความตื่นตัวและมีความต้องการเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น จากจำนวนประชากรของกรุงเทพฯที่เพิ่มจำนวนเป็นสองเท่า จากสองล้านคนเป็นสี่ล้านคนในปลายทศวรรษ 2490
ชนชั้นกลางก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่า หรือกว่า 200,000 คน และจำนวนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มจาก 20,000 คน เป็นกว่า 100,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ชนชั้นกลางในเมืองที่มีการศึกษา ต่างก็มีความหวังต่ออนาคต แม้พวกเขาอาจกังวลเรื่องคอมมิวนิสต์ แต่พคท.มุ่งเน้นแต่การเคลื่อนไหวในชนบท โดยไม่ได้มีปฏิบัติการรุนแรงในเมือง พวกชนชั้นกลางจึงให้ความสนใจเรื่องเศรษฐกิจ การทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาล และผลเสียของการมีฐานทัพสหรัฐอยู่ในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มจำนวนผู้ใช้แรงงานในเมือง แรงงานนอกภาคการเกษตรของไทยเพิ่มจำนวนขึ้น เป็นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลาสิบปี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คนงานเหล่านี้ได้ค่าแรงต่ำ อาศัยอยู่ในสลัมที่ไม่มีบริการสาธารณะ และแทบไม่ได้รับการคุ้มครองจากการเอาเปรียบของนายจ้าง
การประท้วงหยุดงานของกรรมกรแม้จะยังมีไม่มากนักแต่ก็เพิ่มจำนวนขึ้นในปลายทศวรรษ 2500 ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานที่มาจากชนบท รวมทั้งนักศึกษาไทยที่กลับมาจากยุโรปและอเมริกา ที่ได้ซึมซับกระแสต่อต้านสงคราม และเชิดชูประชาธิปไตย กระแสนี้ไหลบ่าเข้าไปยังรัฐสภา โดยสส.ที่ต้องการงบประมาณสำหรับการบริการทางสังคมได้คัดค้านรัฐบาลจอมพลถนอมในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณทางทหาร
การที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงสนับสนุนให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง รวมทั้งการที่ได้ทรงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ยิ่งก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลจอมพลถนอมหนักขึ้น นักศึกษารุ่นนั้นเติบโตมาด้วยการปลูกฝังในความยึดมั่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีความเชื่อความเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ คือผู้พระราชทานประชาธิปไตยและระบอบรัฐธรรมนูญแก่ประเทศนี้แต่เพียงผู้เดียว และได้ทรงสนับสนุนสิทธิและข้อเรียกร้องของประชาชน พระบรมราโชวาทแสดงให้พวกนักเคลื่อนไหวเห็นว่า ข้อเรียกร้องของตนสอดคล้องกับพระราชประสงค์ของเบื้องบน ซึ่งสร้างความชอบธรรมให้กับพวกเขา
ความเชื่อนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เมื่อ มรว.เสนีย์และ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมชวิพากษณ์วิจารณ์โจมตีรัฐบาล ในปี 2513 โดยเขียนในหนังสือพิมพ์สยามรัฐว่า เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของเรา ประชาชนยิ่งจนลงและทุกข์เข็ญมากขึ้นเรื่อยๆ อาชญากรรมและโจรผู้ร้ายชุกชุม โจรการเมืองก็ดูจะมีอยู่ทุกหัวระแหง ผมมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อพิจารณาสภาพในปัจจุบันแล้ว ผมมีแต่จะรู้สึกว่าประเทศของเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีนโยบายซ้ายได้ (คงหมายความว่าคงต้องพ่ายแพ้และตกเป็นของพวกคอมมิวนิสต์ในที่สุด) ด้วยสถานภาพของมรว.คึกฤทธิ์ ผู้ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาท ที่เป็นกระบอกเสียงของวังและปัญญาชนเสรีนิยม ทำให้บรรดานักเคลื่อนไหวจำนวนมาก เชื่อว่านี่คือพระราชประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง
เรื่องนี้ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากพระองค์ทรงให้การสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารอยู่แล้ว กองทัพและรัฐบาลก็ยังเป็นผู้คุ้มครองปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยความจงรักภักดีอย่างที่สุด และเป็นที่ทราบกันดีว่าทรงโปรดปรานจอมพลถนอมเป็นการส่วนพระองค์ แม้ว่าจะไม่ค่อยพอพระทัยจอมพลประภาส ซึ่งอาจเนื่องมาจากการที่จอมพลประภาสกำความลับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 และมีการเปรย หรือขู่ให้ทรงได้ยินเป็นระยะๆ
ในขณะที่นักศึกษา ผู้ใช้แรงงานและนักการเมืองกำลังฮึกเหิมส่งเสียงดังมากขึ้นทุกที ทำให้ในหลวงภูมิพลทรงวิตกว่า อาจเกิดความรุนแรงขึ้น ดังนั้นในปี 2513 จึงทรงเปลี่ยนท่าที และมีพระบรมโชวาท เตือนนักศึกษาให้สะกดกั้นระงับความร้อนแรง ไม่ให้ซ้ำรอยตามแบบอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและให้มีความอดทน ทรงเน้นว่าหน้าที่ของนักศึกษา คือต้องเรียนให้สำเร็จก่อนแล้วจึงค่อยเปลี่ยนแปลงสังคมในภายหลัง และนักศึกษาก็ควรปล่อยเรื่องของบ้านเมือง ให้เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจรับผิดชอบไป
ทรงมีพระราชดำรัสที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนมีนาคม 2513 ตำหนินักศึกษาที่จัดการชุมนุมที่กระทรวงยุติธรรมคัดค้านประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299 ซึ่งให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้าไปแทรกแซงอำนาจของศาล ด้วยการให้คุณให้โทษต่อคณะผู้พิพากษาได้ ผลการประท้วงทำให้คณะปฏิวัติต้องยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ในหลวงทรงปรามว่าเรื่องราวในกระทรวงยุติธรรมไม่ใช่หน้าที่ของนักศึกษา เมื่อไหร่เกิดความบกพร่องในหน่วยงาน ผู้ที่จะทำหน้าที่แก้ไขได้ดีที่สุด ก็คือผู้ที่อยู่ในหน่วยงานนั้น ยกตัวอย่างถ้าศาลเดินไปผิดทิศผิดทาง ก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมจะแก้ปัญหานั้น
ปีถัดมา ทรงต่อว่านักศึกษาที่ประท้วงในมหาวิทยาลัย กรณีนิสิตและคณาจารย์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กำลังต่อสู้กับจอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้เป็นอธิการบดี ที่ตกลงขายที่ดินบางส่วนของมหาวิทยาลัยให้กับพวกพ้องในราคาถูก นิสิตจุฬาได้เรียกร้องให้พระเจ้าอยู่หัวเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ในขณะที่พระองค์กำลังพระราชทานพระบรมราโชวาทที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พระองค์ทรงตอบว่าพวกนิสิตนักศึกษาควรต่อสู้กับการทุจริต แต่ในกรณีนี้ ไม่ควรประท้วง แต่ควรนำเรื่องไปหารือกับนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม สองเดือนต่อมา นักศึกษาได้ถวายฎีกาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้รับนักศึกษารายหนึ่งที่ถูกไล่ออก แต่กลับมีพระบรมราโชวาทให้นักศึกษามีเหตุมีผลมากขึ้นและคิดให้รอบคอบ ก่อนที่จะทำอะไร
แต่เหตุการณ์ได้ขยายบานปลายมากขึ้นไปอีก เมื่อรัฐบาลจอมพลถนอมเกิดความหวั่นวิตก จากการที่ประธานาธิบดีนิกสันของสหรัฐ ได้หันมาสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ในกลางปี 2514 ทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่า สหรัฐอเมริกาจะยังคงเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นและพึ่งพาอาศัยได้ต่อไป อีกหรือไม่ มีการวิพากษณ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างดุเดือดรุนแรงมากขึ้นในกรุงเทพฯ นักศึกษาและผู้ใช้แรงงานประท้วงบ่อยขึ้น และรัฐสภาก็เริ่มประสบภาวะไม่มีความมั่นคง โดยสมาชิกสภาหรือสส.จำนวนมากมีความเห็นว่า ควรเปลี่ยนตัวผู้บริหารประเทศจากจอมพลถนอมและจอมพลประภาสเสียที
จอมพลถนอมตัดสินใจ รัฐประหารรัฐบาลตนเอง เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 โดยอ้างภัยจากต่างชาติบางประเทศที่เข้ามาแทรกแซงยุยงส่งเสริมให้ผู้ก่อการร้ายกำเริบเสิบสาน สถานการณ์ภายในประเทศเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง ซึ่งคณะปฏิวัติเห็นว่าหากปล่อยให้มีการแก้ไขตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญแล้ว จะเป็นการล่าช้า จึงตัดสินใจปฏิวัติเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ของประเทศให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว
เมื่อทำรัฐประหารแล้ว จอมพลถนอมได้จัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติเพื่อปกครองประเทศ โดยจอมพลถนอม ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาบริหารคณะปฏิวัติ มีผู้อำนวยการสี่ฝ่ายคือ 1.พล.อ. ประภาส จารุเสถียร เป็นผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง 2. นายพจน์ สารสิน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจและ การคลัง 3. พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรและคมนาคม 4. พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาและสาธารณสุข
รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีถูกยุบ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก อำนาจทั้งหมดตกอยู่ในมือสภาบริหารคณะปฏิวัติ จอมพลถนอมยึดอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรัฐมนตรีต่างประเทศ
จอมพลประภาสเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีมหาดไทย อธิบดีกรมตำรวจ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบกและผู้อำนวยการกองอำนวยการปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอปค.) ตลอดจนเป็นประธานหรือรองประธานรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนอีกหลายแห่ง ท่านจอมพลทั้งสองรีบแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และอ้างความจำเป็นของการรัฐประหารเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากทั้งในและนอกประเทศ
ในขณะนั้นจอมพลประภาส จะต้องเกษียณอายุราชการเนื่องจากอายุครบ 60 ปี อีกทั้งจอมพลประภาส ก็มิได้รับการยอมรับเหมือนจอมพลถนอม แต่กลับต่ออายุราชการให้ตนเอง ประกอบกับข่าวคราวเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการต่าง ๆ สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ประชาชน ในช่วงที่คณะปฏิวัติบริหารประเทศได้มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนอยู่เสมอ ให้คณะปฏิวัติรีบประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ให้ถูกต้องตามขั้นตอน
โดยในปี 2515 เป็นปีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ซึ่งมีพระชนมายุครบ20 ชันษาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารฯ จึงจำเป็นต้องมีรัฐบาลให้ถูกต้องตามธรรมเนียมนิยม เพราะจะจัดให้มีพระราชพิธีในขณะที่บ้านเมืองยังอยู่ในระหว่างการปกครองของคณะปฏิวัติไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรเมื่อ วันที่ 15 ธันวาคม 2515
มีบทบัญญัติทั้งสิ้นเพียง 23 มาตรา กำหนดให้มี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพียงสภาเดียว สมาชิกมีสิทธิ์ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลได้ แต่ห้ามอภิปรายหรือซักถามเพิ่มเติม ไม่มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ส่วนรัฐมนตรีห้ามเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติสภานิติบัญญัติแห่งชาติและมีมติเลือก พล.ต. ศิริ สิริโยธิน เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งจอมพลถนอม เป็นนายกรัฐมนตรี
แม้จอมพลถนอมจะเปลี่ยนฐานะจากหัวหน้าคณะปฏิวัติมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลก็ตาม ก็ไม่ได้ช่วยให้วิกฤตการณ์ต่างๆคลายความตึงเครียดลงไปแต่อย่างใด ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ ระหว่างกลุ่ม พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ กับกลุ่มของจอมพลถนอม และจอมพลประภาส เช่น กรณีการบุกพังป้อมตำรวจ ซึ่งมีข่าวว่าเป็นการกระทำของคนของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร และไม่มีการต่ออายุราชการให้พล.ต.อ.ประเสริฐ เมื่อครบเกษียณแล้วทั้งที่ก่อนหน้านั้น
ได้มีการต่ออายุราชการ ให้จอมพลถนอม รวมทั้งการที่รัฐบาลจอมพลถนอมไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนได้ เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อรุนแรง รัฐบาลลดรายจ่าย ทำให้นักศึกษาที่จบใหม่ไม่สามารถหางานทำได้ง่ายๆ อีกต่อไป ผลผลิตข้าวตกต่ำ ในปี 2516 คนกรุงเทพฯต้องเข้าแถวยาวเหยียดตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อซื้อข้าวสารปันส่วนที่ทางราชการนำมาจำหน่ายในราคาควบคุมและซื้อได้คนละไม่เกิน 10 กิโลกรัม ตามมาด้วยขาดแคลนน้ำตาลทรายอีก การประท้วงของผู้ใช้แรงงานก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 34 ครั้งในปี 2515 เพิ่มเป็นหลายร้อยครั้งในปี 2516 รวมผู้ใช้แรงงานเกือบถึง 180,000 คน
ทางวังก็ยังลังเลที่จะแสดงการสนับสนุนการรัฐประหารอย่างชัดเจน แต่จอมพลถนอมก็ได้ชื่อว่าเป็นจอมพลคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล และเมื่อจอมพลถนอมออกรายการทางโทรทัศน์โดยได้อัญเชิญพระบรมราชโองการที่ประดิษฐานเหนือพานทอง ก็เป็นอันรู้กันว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมิได้ทรงผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ในทางตรงข้ามวังมีความจำเป็นต้องให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารจอมพลถนอม เนื่องจากมีความปั่นป่วนวุ่นวายมากขึ้น และจอมพลถนอมได้สัญญาที่จะนำความสงบเรียบร้อยกลับคืนมาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลยังทรงรักษาภาพของกษัตริย์นักประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดีเสมอมา พอๆกับพระปิตุลา (พระเจ้าลุง) รัชกาลที่ 7 ที่อุปโลกน์กันว่า เป็นพระผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งๆได้ทรงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดไม่แพ้กันทั้งสองพระองค์
แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงพริ้วไหวแนบเนียน ชนิดที่แม้แต่ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยยังต้องถือพระองค์เป็นธงชัย มีการชูรูปในหลวงนำหน้าขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย โดยแยกแยะไม่ออกว่าอะไรเป็นของจริงอะไรเป็นของปลอม ................
............
วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น