ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/rwSPqpmu/The_Royal_Legend_010.html
หรือที่ : http://www.mediafire.com/?w43jkahoughnarp
.........
ตำนานๆ 009010 : พลเอกเปรม ขุนพลคู่พระทัย
การรัฐประหารของพลเอกเกรียงศักดิ์ล้มรัฐบาลธานินทร์ที่เป็นตัวแทนของพระเจ้าอยู่หัวในปี 2520 ทำให้ในหลวงตระหนักว่าการมีร่างทรงที่เป็นพลเรือนนั้นไม่เพียงพอ พระองค์จำเป็นต้องมีขุนทหารที่เป็นมือเป็นเท้าและสามารถกุมกองทัพไว้ได้เต็มที่และมั่นคง บุคคลที่ดูจะมีคุณสมบัติเพียบพร้อมในสายพระเนตร คือ พลเอกเปรม รัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ซึ่งพระองค์ต้องหาทางผลักดันพลเอกเปรมให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
เปรม ติณสูลานนท์ (Prem Tinsulanonda) เกิดเมื่อ 26 สิงหาคม 2463 แก่กว่าในหลวงภูมิพล 7 ปี ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง สงขลา เป็นบุตรชายรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์)
จบจากโรงเรียนมหาวชิราวุธจังหวัดสงขลาและโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ 2480
ศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 เหล่าทหารม้า เข้ารบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ปอยเปต ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เชียงตุง
ติณสูลานนท์ คือนามสกุลพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 แก่หลวงวินิจทัณฑกรรม ติณ แปลว่า หญ้า /สูลา แปลว่า คม ยอด /นนท์ แปลว่า ความพอใจ ความยินดี
พระมหาเวก วัดชนะสงคราม อธิบายว่า ติณสูลานนท์ หมายถึงความยินดีในการปฏิบัติหน้าที่พะทำมะรง ( พัศดี ) ที่มีเครื่องหมายเป็นของมีคม เช่น หลาว หอก ดาบ
พลเอกเปรมเป็นทหารอาชีพ มีความเข้มงวดสูง เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติและวุฒิสภาหลายสมัยติดต่อกัน เป็นแม่ทัพภาคที่สองรับผิดชอบพื้นที่ภาคอิสาน ทำสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์โดยใช้การเมืองนำการทหารกับยุทธการทางทหารที่เด็ดขาด เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกอรมน.
มีเพื่อนคือพลตรีสุตสาย หัสดินหัวหน้ากระทิงแดง ทั้งคู่เข้าโรงเรียนมัธยม โรงเรียนเตรียมทหารและการฝึกอบรมพิเศษในสหรัฐมาด้วยกัน พลเอกเปรมเป็นคนพูดเบามากและเคารพระบบอาวุโสและลำดับฐานะบุคคลอย่างเข้มงวด
เป็นคนที่สุภาพเรียบร้อยมากจนไม่มีใครสามารถเปิดเผยรสนิยมรักร่วมเพศของเขาได้ พลเอกเป็นคนหนักแน่นและมีวินัยแต่ค่อนข้างเจ้าเล่ห์ ไม่ตรงไปตรงมา ถนัดเรื่องลับลวงพรางและปิดบังเส้นสายพรรคพวกของตน
ชอบเล่นพรรคเล่นพวกและการประจบสอพลอจากผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นพวกเจ้ายศเจ้าอย่างทำตัวเหมือนเป็นเชื้อพระวงศ์ ที่ไม่ส่งเสริมทหารอาชีพแบบที่ตนเองได้เคยเป็นมา
เป็นคนพูดน้อย ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี จะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก จนถูกหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นเรียกขานว่า เตมีย์ใบ้
พลเอกเปรมตั้งหน้าประจบทำงานถวายหัวให้ราชวงศ์จักรีและเทิดทูนในหลวงภูมิพลเป็นชีวิตจิตใจกลายเป็นตัวแทนของวังที่ชัดเจน
ได้เป็น ผบ.ทบ. สิงหาคม 2521 เมื่อนายกเกรียงศักดิ์เตรียมเสนอชื่อพลเอกเสริม ณ นครให้ควบตำแหน่งผบ.สูงสุดและ ผบ.ทบ. แต่มรว.คึกฤทธิ์เขียนลงสยามรัฐสนับสนุนพลเอกเปรม เชื่อกันว่าเป็นการส่งสัญญาณสนับสนุนจากวัง
นายกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ( Kriangsak Chomanan ) ก็เสนอชื่อพลเอกเปรมเป็น ผบ. ทบ. และให้พลเอกเสริมเป็นแค่ผบ.สูงสุดที่มีอำนาจน้อยกว่า เพราะพลเอกเสริมมีท่าทีที่ค่อนข้างเป็นกลางไม่ใช่พวกที่ทำงานถวายหัวให้วังอย่างเต็มที่และอาจเป็นเพราะตระกูล ณ นครสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าตากสินที่ถูกต้นตระกูลของราชวงศ์จักรีแย่งชิงราชสมบัติ
การแต่งตั้งพลเอกเปรมซึ่งเพิ่งเป็นผู้ช่วยผบ.ทบ.เป็นผบ.ทบ.ในครั้งนี้เท่ากับว่าพลเอกเปรมได้เลื่อนข้ามหัวนายทหารที่มีอาวุโสกว่าและในหลายปีต่อมาพลเอกเปรมก็ยังได้โยกย้ายคนของตนเองเข้ามากุมตำแหน่งสำคัญๆในกองทัพ ทำให้วุฒิสภาเต็มไปด้วยทหารสายพลเอกเปรม ในขณะที่รัฐบาลเกรียงศักดิ์กำลังตกอับ
พลเอกเปรมและวังได้โอกาสโจมตีรัฐบาลเกรียงศักดิ์ เรื่องน้ำมันขึ้นราคา ขณะที่พลตรีสุตสายหัวหน้ากระทิงแดงฉวยโอกาสปราศัยโจมตีรัฐบาลเกรียงศักดิ์ การที่ทางวังให้พลเอกเปรมติดตามพระราชินีสิริกิติ์และฟ้าชายเสด็จเยือนสหรัฐเป็นเวลาสามเดือนเป็นการประกาศให้เห็นว่าพลเอกเปรมเป็นคนของวังที่รับใช้เจ้าโดยตรง
ทั้งๆที่พลเอกเปรมเป็นผบ.ทบ.แต่วังให้ตามเสด็จเยือนสหรัฐเป็นเวลาถึงสามเดือน แทนที่จะเฝ้าระวังสถานการณ์ตึงเครียดจากการที่ทหารเวียตนามกำลังประจันหน้ากองทัพไทยแค่ข้ามพรมแดนไทย-กัมพูชา
มรว.คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคมยื่นเรื่องขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเกรียงศักดิ์ในตอนปี 2523 กลุ่มยังเติร์กที่เคยหนุนเกรียงศักด์ได้หันมาสนับสนุนให้พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี มีการโปรดเกล้าฯให้นายกเกรียงศักดิ์และพลเอกเปรมเข้าเฝ้าฯที่เชียงใหม่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2523 วันถัดมานายกเกรียงศักดิ์ลาออกและพระเจ้าอยู่หัวทรงสั่งมรว.คึกฤทธิ์เรียกประชุมสภาสนับสนุนพลเอกเปรมเป็นนายก
พลเอกเปรมจึงเป็นนายกรัฐมนตรีของพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริงโดยเทิดทูนในหลวงภูมิพลไว้เหนือหัวและปกครองประเทศตามแบบที่พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเหนือกว่านายกคนก่อนๆ
คือจอมพลสฤษดิ์มีความจงรักภักดีสูงแต่ทุจริตและมักมากในกามารมณ์
จอมพลถนอมและจอมพลประภาสผู้กักขละก็ไม่มีประสิทธิภาพและเป็นแค่หุ่นเชิดของสหรัฐ
สัญญากับคึกฤทธิ์ก็ไม่มีน้ำยา ยึดติดกับรูปแบบประชาธิปไตยและประชาชนมากไป
ธานินทร์เป็นคนไม่หยืดหยุ่นและไมมีปัญญาคุมทหาร
ขณะที่เกรียงศักดิ์เป็นตัวของตัวเองมากเกินไป ไม่ค่อยรับใช้พระเจ้าอยู่หัวเท่าที่ควร
แต่พลเอกเปรมเข้มแข็ง มีวินัย ไม่แสดงอาการอยากร่ำอยากรวยและความกระสันในอำนาจ พลเอกเปรมเข้าใจดีว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลไม่ประสงค์จะบริหารราชการแผ่นดินแบบวันต่อวัน แต่ทรงต้องการมีคนคอยรับสนองเวลาพระองค์มีพระบรมราชโองการหรือพระราชดำริ
ทั้งในหลวงภูมิพลและพลเอกเปรมต่างมีความเชื่อร่วมกันในโครงสร้างลำดับชั้นทางสังคมไทยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางสังคมที่ต้องใช้กำลังบังคับหากจำเป็น พลเอกเปรมเปิดศักราชใหม่ของการประจบประแจงเทิดทูนวัง โดยมีกองทัพและภาคเอกชนให้การสนับสนุน
ในช่วงแปดปีที่ครองอำนาจ พลเอกเปรมได้นำพระราชวงศ์ผ่านช่วงที่น่าตื่นเต้นขวัญผวาไปสู่ความเป็นพ่อแห่งชาติและแม่แห่งชาติ โดยทรงแทรกแซงการเมืองอย่างไม่กระดากพระทัยเป็นประจำด้วยร่างทรงที่ชื่อพลเอกเปรม ส่วนพลเอกเปรมก็ไม่มีความเหนียมอายที่จะเอาหลังพิงวัง เมื่อไหรก็ตามที่พลเอกมีรอยฟกช้ำดำเขียว เขาก็จะตรงเข้าวังเพื่อฉีดยาและกระชุ่มกระชวยกลับออกมา และเมื่อพลเอกเปรมโผล่ออกมาจากสวนจิตร บรรดาปรปักษ์ของเขาก็จะพากันหดหัวไปอย่างรวดเร็ว
การผงาดเติบใหญ่ของพลเอกเปรมได้เพิ่มการชิงดีชิงเด่นเล่นพรรคเล่นพวกที่ไม่มีคุณธรรมเพียงต้องการประจบเอาใจวัง ทำให้กองทัพเต็มไปด้วยการแบ่งพรรคแบ่งพวกกับความหย่อนยานทางวินัย การเมืองในยุคพลเอกเปรมจึงไม่มีเสถียรภาพและมีหลายครั้งที่ปั่นป่วนอย่างรุนแรง
พลเอกเปรมใช้ประโยชน์ในการสร้างอำนาจทางทหารให้กลายเป็นสถาบันขึ้นมา ขั้นแรกคือการวางกรอบหลักการ ในรูปของคำสั่ง 66/2523 ซึ่งเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี
เป็นการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้านโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ขนานใหญ่ ในการเอาชนะพคท. มีการอภัยโทษแก่ผู้แปรพักตร์จากพคท. เป็นการสานต่อนโยบายของพลเอกเกรียงศักดิ์ ซึ่งที่จริงแล้ว พคท.ก็กำลังตกต่ำและแตกกันเป็นเสี่ยงๆ พลเอกเปรมจึงดูประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคำสั่งเหล่านี้ทำให้กองทัพมีบทบาทครอบงำการบริหารประเทศและมีอำนาจเหนือรัฐสภา
พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2523 โดยควบทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมและผบ.ทบ.ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติมาก แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดเกล้าฯเห็นดีเห็นงามโดยมีเสียงบ่นพึมพำกันทั่วไป แต่ก็ยอมๆกันไปเพราะว่าพลเอกเปรมกำลังจะเกษียณจากกองทัพอยู่แล้วเมื่ออายุถึง 60 ในเดือนตุลาคมปีนั้น
แต่พอปลายสิงหาคม 2523 นายทหารระดับสูงที่นำโดยพล.ต. อาทิตย์ กำลังเอก นายทหารดาวรุ่ง และขวัญใจคนโปรดของพระราชินีสิริกิติ์ ได้เรียกร้องให้ต่ออายุราชการของพลเอกเปรมไปอีกหนื่งปี
พล.ต.อาทิตย์ผู้วางตนเองเป็นทายาทของพลเอกเปรม ต้องการสกัดคู่แข่งที่อาวุโสเหนือกว่าตนคือรองผบ.ทบ.พล.อ สัณห์ จิตรปฏิมา ในวันที่ 1 กันยายน 2523 พลเอกเปรมกลับจากการเข้าเฝ้าและประกาศว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนการต่ออายุราชการให้ตน เมื่อรัฐมนตรีเรียกร้องขอข้อพิสูจน์ พวกเขาก็ถูกเรียกให้เข้าเฝ้าในหลวง แล้วก็กลับออกมาสนับสนุนการต่ออายุราชการให้พลเอกเปรม
มกราคม 2524 มีประกาศว่าในหลวงมีโครงการส่วนพระองค์พัฒนาแม่น้ำที่เขาค้อ โดยมีพล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ ลูกน้องของพลเอกเปรม เปิดฉากการรบยุทธการเขาค้อ
ในเขตป่าเขารอยต่อของจังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลกและจังหวัดเลย มีฐานที่มั่นอยู่ที่ เขาค้อ ภูร่องกล้า ภูขัด โดยระดมสรรพกำลังทั้งภาคอากาศและภาคพื้นดินเป็นเวลาห้าเดือนเพื่อกวาดล้างคอมมิวนิสต์ให้ออกจากบริเวณนั้น
ทั้งๆที่พคท.กำลังจะพ่ายแพ้อยู่แล้ว เป็นการลงทุนลงแรงที่มากเกินจำเป็น รัฐบาลสูญูเสียกำลังพลไป 1,300 นายและเทือกเขาก็โล้นเลี่ยนเป็นแถบๆ
ขณะที่พลเอกเปรมต้องดิ้นรนเอาตัวรอดทางการเมืองเพราะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากเป็นรัฐบาลได้ไม่ถึงปี พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลก็เริ่มแตกแถวโวยวายจากการที่ไม่ได้ประโยชน์ที่คุ้มกับการให้การสนับสนุนพลเอกเปรม และรัฐบาลมีเรื่องทุจริตอื้อฉาวหลายกรณี ประชาชนไม่ค่อยพอใจ โดยพลเอกเปรมจะขอต่ออายุราชการในฐานะผบ.ทบ.อีกปีหนึ่งเมื่อต้นปี 2524 รัฐมนตรีหลายคนลาออกเพื่อดูเชิง ขณะที่มรว.คึกฤทธิ์ก็ถอนพรรคกิจสังคมออกจากการร่วมรัฐบาล
แต่พลเอกเปรมไม่ยอมถอย และได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยดึงพรรคการเมืองปีกขวาและพวกทหารเข้ามาร่วมรัฐบาล โดยเสนอพล.ต.สุตสาย กับ พล.อ. ประจวบ สุนทรางกูรเป็นรัฐมนตรี ซึ่งทำให้เกิดความวิตกไปทั่วว่าพวกขวาตกขอบจะหวนกลับมาอีก ในหลวงทรงเห็นชอบกับรายชื่อคณะรัฐมนตรีทันที
คืนวันที่ 31 มีนาคม 2524 นายทหารกุมกำลังพยายามก่อรัฐประหารเรียกว่า กบฏเมษาฮาวาย หรือ กบฏยังเติร์กเมื่อ 1-3 เมษายน 2524 เพื่อยึดอำนาจการปกครองของพลเอกเปรม
ผู้ก่อการเป็นนักเรียนนายร้อยจปร.รุ่น 7 หรือที่เรียกว่ารุ่น ยังเติร์ก ที่มีประสบการณ์สู้รบในลาวและเวียตนาม ได้แก่ พันเอกมนูญ รูปขจร พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร พันโทพัลลภ ปิ่นมณี
พวกยังเติร์กไม่พอใจการเลื่อนตำแหน่งนายทหารการเมืองขี้โกง รวมถึงบรรดาคนโปรดของวัง อย่างพลตรีอาทิตย์ กำลังเอก โดยมี พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ พันเอกมนูญกับ พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมาได้ติดต่อพลเอกเปรมในวันที่ 31 มีนาคม 2524 ขอให้ยุบสภากับยกเลิกรัฐธรรมนูญและการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ทีแรกพลเอกเปรมตกลง
พอคณะรัฐประหารยกกำลังออกมาคุมกรุงเทพฯ พระราชินีสิริกิติ์ก็ทรงเข้ามาแทรกแซงและเรียกพลเอกเปรมเข้าไปพบที่สวนจิตรเพื่อต้องการปกป้องพลตรีอาทิตย์
ทรงพูดคุยทางโทรศัพท์อยู่นานกับหัวหน้าคณะรัฐประหาร ( พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา ) เรียกให้พวกเขามาพูดคุยกันที่วัง
เมื่อพวกเขาปฏิเสธ ราชินีสิริกิติ์ก็ชักจูงพลเอกเปรมกับพระเจ้าอยู่หัวให้ถอนการสนับสนุนคณะรัฐประหาร คณะรัฐประหารประกาศยึดอำนาจในเช้าวันที่ 1 เมษายน
พวกก่อการได้จับตัว พลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลโทหาญ ลีนานนท์พลตรีชวลิต ยงใจยุทธ และพลตรีวิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก และออกแถลงการณ์คณะปฏิวัติ
พลเอกเปรมได้เชิญพระเจ้าอยู่หัว พระราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปประทับที่กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร
โดยได้กำลังสนับสนุนจาก พลตรี อาทิตย์ กำลังเอกรองแม่ทัพภาคที่ 2 และเปิดฉากสงครามโฆษณาชวนเชื่อ เรื่องความจงรักภักดี ออกอากาศว่าพระบรมวงศานุวงศ์อยู่กับตน และคณะรัฐประหารมีประสงค์ร้ายต่อแผ่นดินและสถาบันพระมหากษัตริย์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ปฏิเสธคำสั่งเรียกให้เข้าพบกษัตริย์
จากนั้นราชินีสิริกิติ์ทรงเรียกร้องความสามัคคีและวิจารณ์คณะรัฐประหารว่าพยายามโค่นล้มรัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัว
หนังสือพิมพ์ได้ตีพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์ของฟ้าหญิงสิริธรบนหน้าหนึ่งโดยมีคำบรรยายว่าพระองค์กำลังประทับอยู่กับพลเอกเปรมที่กองทัพภาคที่สอง
การกบฏสิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีการต่อสู้กัน โดยเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วเหมือนเป็นแค่การแสดง ผู้ก่อการเดินทางออกนอกประเทศ พันเอกมนูญ รูปขจร ลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี ก่อนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษได้รับนิรโทษกรรมทางการเมือง และได้รับการคืนยศทางทหารในเวลาต่อมา
พลตรีอาทิตย์ กำลังเอกกำลังสำคัญผู้คุมกำลังทหารต่อต้าน เลื่อนเป็นพลโท เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ใน 6 เดือนต่อมา เป็นผบ.ทบ.ในปี 2525 กลายเป็นทายาททางการเมืองของพลเอกเปรม
ช่วงเจ็ดปีต่อมาที่ปั่นป่วน พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงกางร่มฉัตรให้พลเอกเปรมได้มีที่กำบังหลบภัยจากทั้งกองทัพและสภา โปรดเกล้าฯให้พลเอกเปรมเข้าเฝ้าเป็นประจำ และก็ทรงกระแอมเตือนคนทั่วไปให้ทราบถึงการสนับสนุนของพระองค์อยู่เรื่อยๆ
เห็นชัดในเดือนกรกฎาคม 2525 ในหลวงประชวรหนักจากการติดเชึ้อในปอด และโรคปอดอักเสบ(นิวโมเนีย) วังกลัวว่าจะสวรรคต ทรงตรัสว่าได้เสด็จเข้าไปใกล้แดนสนธยา หลังจากบรรทมประชวรนานสามสัปดาห์ ก็เสด็จพระดำเนินไปรอบสวนในวังสวนจิตร เพียงลำพังโดยมีฟ้าชายวชิราลงกรณ์ ฟ้าหญิงสิรินธรและพลเอกเปรมเดินตามหลังเป็นแนว ทำให้พลเอกเปรมเป็นเหมือนเชื้อพระวงศ์รุ่นใหญ่พระองค์หนึ่ง
พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้หญิงในวังเก็บดอกบัวจากสระยื่นแก่พลเอกเปรมที่คุกเข่าและถวายดอกบัวแด่พระเจ้าอยู่หัว ทรงรับดอกบัวจากพลเอกเปรมแล้วพระราชทานคืนพลเอกเปรม ภาพนี้ได้เผยแพร่ตามโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นการยืนยันถึงระดับคุณธรรมอันสูงส่งของพลเอกเปรม
พระเจ้าอยู่หัวทรงฟื้นจากประชวร พลเอกเปรมมีอำนาจที่มั่นคงขึ้นจากท่าทีรับรองของในหลวงทั้งภูมิพลๆที่มีปัญหาเศรษฐกิจทั่วประเทศ ผู้นำทหารก็เพลิดเพลินไปกับการได้เข้าเฝ้าเข้าวังเนื่องจากการที่พระราชินีสิริกิติ์ทรงโปรดแวดล้อมด้วยบรรดานายพลตำรวจและนายทหาร
ภรรยาของพวกเขาก็กลายมาเป็นหญิงรับใช้หรือนางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ แขกรับเชิญขาประจำสำหรับงานเลี้ยงของพระราชวังคือนายทหาร และบรรดานายทหารก็จะผลัดกันเต้นรำกับพระราชินีสิริกิติ์และร้องเพลงโดยในหลวงภูมิพลทรงเป่าแซ็กโซโฟน
รัฐบาลพลเอกเปรมก็ยังคงกล่าวหาผู้วิจารณ์ตนว่าเป็นศัตรูของประเทศและเป็นคอมมิวนิสต์ ปลายปี 2525 นักศึกษาทำการประท้วงย่อยๆเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้านถูกระดมมาปราบพวกประท้วง ลูกเสือชาวบ้านมีส่วนพัวพันในการฆาตกรรมนักศึกษาคนหนึ่งที่ประจวบคีรีขันธ์ที่นำการประท้วงการขื้นค่ารถเมล์
รัฐบาลเปรมพยายามหาทางสถาปนากองทัพให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่ถาวรภายใต้กษัตริย์รัฐธรรมนูญ 2521 มีบทเฉพาะกาลที่ทำให้วุฒิสภาเต็มไปด้วยทหารให้ทหารประจำการควบตำแหน่งทางการเมืองได้ โดยบทเฉพาะกาลนี้จะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2526 และพรรคการเมืองจะถูกบีบให้ต้องรวมตัวกันเพื่อมีอำนาจต่อรองซึ่งไม่เป็นผลดีต่อพลเอกเปรม
วังและพลเอกเปรมได้วางแผนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้บทเฉพาะกาลมีผลถาวร ในเดือนมกราคม 2526 แต่เผชิญการต่อต้านที่รุนแรงในสภาและจากนายพลหัวก้าวหน้า คนสนิทของพลเอกเปรมคือพลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ก็ออกมาขู่ว่าอาจจะมีการเอ็กเซอร์ไซส์หรือการตบเท้าสำแดงกำลังหากกองทัพไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ
พระเจ้าอยู่หัวแสดงการสนับสนุนโดยโปรดเกล้าฯประกาศประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาที่เต็มไปด้วยทหารได้ผ่านวาระที่หนึ่งและสองซึ่งต้องการเพียงเสียงข้างมากของทั้งสองสภา วาระที่สามวันที่ 16 มีนาคม2526 ต้องอาศัยเสียงสองในสาม มีเสียงคัดค้านกันทั่วไปและการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ล้มไปอย่างเฉียดฉิว แต่ก่อนบทเฉพาะกาลจะสิ้นสุดในวันที่ 21 เมษายน 2526 พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ยุบสภา19 มีนาคม 2526 และกำหนดเลือกตั้ง 18 เมษายน 2526 ทำให้รัฐบาลใหม่อยู่ภายใต้บทเฉพาะกาลเดิม โดยมีวาระสี่ปี
พรรคประชาธิปัตย์กับกิจสังคมใช้เรื่องนี้เป็นประเด็นหาเสียงให้เลือกระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการทหารซึ่งหมายถึงพลเอกเปรมที่มีพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลสนับสนุน
พรรคชาติไทยได้สส.มากที่สุดจากต่างจังหวัด นำโดยพลตรีประมาณ อดิเรกสาร กับ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ คู่เขยจอมขี้โกงและทะยานอยากที่เกี่ยวข้องกับอันธพาลการเมืองปีกขวาพวกลูกเสือชาวบ้านและกระทิงแดงในปี 2519 เมื่อพลตรีประมาณท้าชิงตำแหน่งนายกฯ พลเอกเปรมก็ใช้ประโยชน์จากความกลัวพลตรีประมาณ บีบให้พรรคอื่นสนับสนุนตน ให้พรรคชาติไทยเป็นฝ่ายค้าน
จากนั้นพลเอกเปรมก็ดัดหลังนักการเมืองที่สนับสนุนตนด้วยการเลือกคนนอกมาเป็นรัฐมนตรีกว่าสิบคนซึ่งล้วนแต่จงรักภักดีต่อพลเอกเปรม แสดงให้เห็นว่าที่จริงแล้วพลเอกเปรมดูถูกพวกนักการเมือง
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงแสดงการสนับสนุนพลเอกเปรมในทุกจังหวะสถานการณ์อย่างเปิดเผย ทรงมีพระบรมราโชวาทในคืนก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาในเดือนธันวาคม 2526 ด้วยการเทศนายาวเหยียด ดูถูกเหยียดหยามนักการเมืองจากการเลือกตั้งและข้าราชการ แต่ไม่ตำหนิพลเอกเปรมและผู้นำกองทัพ
ทรงโทษข้าราชการและนักการเมืองเรื่องความไม่เอาไหนในการจัดการปัญหาน้ำทวมกรุงเทพฯชั้นใน เปรียบเหมือนกับพวกเด็กฝึกงาน แทนที่จะระบายน้ำออกสู่ทะเลกลับขยับให้ไปท่วมพื้นที่อื่นอย่างโง่ๆ ก่อปัญหาใหม่ๆ ไม่จบสิ้น คนพวกนี้ไร้ความสามารถ ไม่เหมือนกองทัพ
พลเอกเปรมสนองพระมหากรุณาธิคุณปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ทันทีที่เป็นนายกปี 2523 ก็รีบฟื้นโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ที่รัฐสภา ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลธานินทร์ในปี 2519 เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของประชาธิปไตยของวัง โดยได้มีพิธีแห่แหนอย่างเอิกเกริกในในการเปิดอนุสาวรีย์นี้ในวันรัฐธรรมนูญปี 2523 มีการเสนอให้เปลี่ยนวันรัฐธรรมนูญเป็นวันประชาธิปกเพื่อตอกย้ำว่าพระมหากษัตริย์คือผู้พระราชทานอำนาจอธิปไตย แต่ไม่สำเร็จ
รัฐบาลเปรมได้ปลดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออกจากรายการคุ้มครองมรดกแห่งชาติ โดยมีความคาดหมายว่าอาจจะมีการทุบทิ้ง เป็นความพยายามลบภาพการปฏิวัติ 24 มิถุนา 2475 ไปจากประวัติศาสตร์และความทรงจำของประชาชน
พลเอกเปรมรับภาระจัดการกับคนสองคนที่ยังเหลืออยู่คือนาย ปรีดี พนมยงค์และพระพิมลธรรม นายปรีดีอยู่ที่ปารีส อายุ 80 ปี และปรารถนาจะกลับไทยหลังจากอยู่เมืองนอกมานานกว่า 30 ปี
ครอบครัวและเพื่อนของนายปรีดีได้ถวายฎีกาต่อพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นายปรีดีกลับไทย แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงเกรงกลัวว่านายปรีดียังคงเป็นภัยคุกคามทางการเมือง และยังคงเป็นวีรบุรุษในหมู่นักศึกษาสมัยก่อนซึ่งหลายคนตอนนี้เป็นครูอาจารย์และข้าราชการ
พลเอกเปรมออกอุบายรับมือแทนในหลวงภูมิพล โดยรัฐบาลปล่อยข่าวว่านายปรีดีกลับมาได้ และวังไม่ได้ติดใจเรื่องกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 แต่ก็ไม่เคยมีการอนุญาตอย่างเป็นทางการราวกับว่ามันไปติดขัดอยู่ตรงระเบียบขั้นตอนที่ไหนสักแห่งในระบบราชการและไม่รู้ว่าใครเป็นคนรับผิดชอบ
กระทั่งนายปรีดีถึงแก่กรรมที่ปารีสในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นความพยาบาทผูกใจเจ็บของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล
ศพของนายปรีดีถูกนำกลับไทย แต่รัฐบาลเปรมปฏิเสธที่จะจัดพิธีศพให้อย่างเป็นทางการ และพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงปฏิเสธที่จะพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งที่ผ่านมาพระองค์จะพระราชทานเพลิงศพให้ผู้นำไทยทุกคนยกเว้นจอมพลป.คนไม่เอาเจ้าเพียงคนเดียว
พระพิมลธรรม(อาจ อาสโภ หรือ อาจ ดวงมาลา)ผู้ทรงความสามารถและไม่ยอมรับใช้วังก็เป็นปัญหาหนักยิ่งกว่านายปรีดี หลังจากถูกจอมพลสฤษดิ์จับสึกและขังคุกด้วยข้อกล่าวหาเท็จก็ได้สถานะบางส่วนกลับคืนมา
ปลายปี 2523 เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุมรณะภาพ พระลูกวัดสนับสนุนให้พระพิมลธรรมกลับมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสตามเดิม แต่มหาเถรสมาคมที่ควบคุมโดยวังและรัฐบาลเปรมกลับทำเฉย ไม่ตั้งใครเป็นเจ้าอาวาส จนเวลาผ่านไปเก้าเดือน
การวิพากษ์วิจารณ์จากคนทั่วไปและการขู่จะเคลื่อนไหวประท้วงของพระทำให้มหาเถรสมาคมต้องยอม พระพิมลธรรมจึงได้กลับมาเป็นเจ้าอาวาส
แต่เรื่องยังไม่จบ ชั้นยศสูงสุดของพระคือสมเด็จ ที่ให้ตามผลงานและอายุ และมีเพียงหกอัตราเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม สังฆราชก็เลือกจากสมเด็จหกรูปนี้ ชั้นยศรองลงมาคือ รองสมเด็จ มีสิบสองอัตรา พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นผู้พระราชทานสมณศักดิ์จากการเสนอของมหาเถรสมาคมกับกรมการศาสนาในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
พระพิมลธรรมขี้นชั้นรองสมเด็จในทศวรรษ 2490 แต่ถูกจอมพลสฤษดิ์สั่งถอดยศ และเพิ่งได้คืนมาในปี 2518 ท่านจึงมีคุณสมบัติสมบูรณ์ที่จะเลือนชั้นเป็นสมเด็จ แต่วังปฏิเสธ เมื่อสมเด็จหนึ่งในหกรูปมรณะภาพในเดือนกรกฎาคม 2526 ก็เกิดกระแสเรียกร้องให้พระพิมลธรรมเป็นสมเด็จ โดยที่ท่านมีคุณสมบัติมากกว่าใครอื่น ท่านได้เป็นรองสมเด็จก่อนพระอีกสองรูปที่ได้เป็นสังฆราชไปแล้ว สภาสงฆ์อีสานลงคะแนนสนับสนุนท่านอย่างเป็นเอกฉันท์
พลเอกเปรมกับวังรับมือด้วยการขุดข้อกล่าวหาที่ว่าพระพิมลธรรมเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ขื้นมาใหม่ เพราะวิตกว่าพระพิมลธรรมเป็นผู้ชิงตำแหน่งสังฆราช ซึ่งมีการเตรียมสมเด็จรุ่นน้องของพระพิมลธรรมจ่อคิวไว้แล้ว คือ พระญาณสังวร พระพี่เลี้ยงของในหลวงภูมิพลนั่นเอง
วังและพลเอกเปรมใช้วิธีหน่วงเหนี่ยวถ่วงเรื่องแบบเดียวกับกรณีการขอกลับบ้านของนายปรีดี มหาเถรสมาคมทำเพิกเฉยในตอนแรก พอ 20 พฤศจิกายน 2526 ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาไม่กี่วัน เจ้าคณะภาคอีสานก็เสนอชื่อพระพิมลธรรมอย่างเป็นทางการ แปดวันต่อมาพระสังฆราชขอให้กรมการศาสนาบรรจุเรื่องนี้เข้าในวาระการประชุม
แต่เวลาประชุมกลับไม่มีในวาระ โดยมีคำอธิบายว่าหนังสือของพระสังฆราชถูกนำไปวางไว้ผิดที่ทำให้หาไม่เจอ และมีการแต่งตั้งสมเด็จใหม่ในวันที่ 5 ธันวาคมปีนั้น พอกลางปี 2527 พระชั้นสมเด็จมรณภาพไปอีกหนึ่งราย ทำให้เหลือว่างสองตำแหน่ง วันเฉลิมพระชนมพรรษาในปีนั้นผ่านไปโดยไม่มีการแต่งตั้งพระชั้นสมเด็จอีกปีหนึ่งทั้งๆที่การแต่งตั้งพระชั้นผู้ใหญ่เป็นพระราชอำนาจและถือเป็นเรื่องสำคัญ
จึงเป็นที่ชัดเจนว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงปฏิเสธพระพิมลธรรม พระพิมลธรรมอายุ 83 ปีและวังก็เพียงแต่เฝ้ารอให้ท่านมรณภาพ เหมือนรอให้นายปรีดีถึงแก่กรรม
ปี 2528 ผ่านไปโดยปราศจากการแต่งตั้งใด ๆในมหาเถรสมาคม เจ้าคณะจังหวัดภาคอิสาน 17 รูปจึงขู่ว่าจะคืนสมณศักดิ์และเครื่องราชย์ที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัว เป็นการประกาศแยกตัวจากมหาเถรสมาคม
ในที่สุดวังทนขายหน้าต่อไปไม่ไหว พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลต้องโปรดเกล้าฯพระราชทานสมณศักดิ์ให้พระพิมลธรรมเป็นสมเด็จ อีกอัตราหนึ่งเป็นของพระอนุรักษ์นิยม ถึงตอนนั้นพระพิมลธรรมก็แก่เกินไปที่จะสร้างปัญหาได้ท่านมรณภาพในอีกไม่กี่ปีต่อมาและสมเด็จพระญาณสังวรก็ขึ้นเป็นสังฆราชตามพระราชประสงค์
เมื่อได้จัดการกำจัดเสี้ยนหนามที่เป็นประจักษ์พยานต่ออดีตอันน่าอัปยศของพระราชวังไปเรียบร้อยแล้ว พลเอกเปรมก็ทำการโหมทุ่มเทการเทิดทูนพระเจ้าอยู่หัวและวัฒนธรรมคลั่งเจ้า เริ่มด้วยการหมอบกราบศิโรราบที่พลเอกเปรมพยายามทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง
พลเอกเปรมเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ด้วยลีลาท่าทีที่ทำกันเหมือนสมัยเมื่อร้อยปีก่อน นั่นคือการหมอบกราบและจะกราบบังคมทูลด้วยสุ้มเสียงกระซิบกระซาบแผ่วเบาอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสก่อนเท่านั้น
นายกรัฐมนตรีคนก่อนๆจะแต่งเครื่องแบบทหารหรือชุดสูทสากล แต่พลเอกเปรมเดาะเสื้อไหมไทยคอตั้งแบบนายกเนห์รูของอินเดีย เรียกว่า ชุดพระราชทาน ซึ่งย้อนยุคไปถึงสมัยรัชกาลที่ห้า แต่บางคนว่าเป็นฝีมือออกแบบของพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการที่พลเอกเปรมทำเป็นตัวอย่าง ทำให้บรรดาข้าราชการ นักการเมืองและนักธุรกิจที่ต่างก็แสวงหาโอกาสที่จะได้เข้าเฝ้าในหลวงและพระราชินีก็พากันแต่งชุดพระราชทานเป็นชุดทำงาน
ไฮโซและพวกที่ต้องการยกสถานะตนเองทางสังคมก็ยิ่งแข่งกันบริจาคเงินกับเข้าร่วมงานพระราชพิธีต่างๆและขวนขวายเข้าไปมีส่วนร่วมในสมาคมชาววังที่พลเอกเปรมเป็นผู้ดูแลอุ้มชูและมีศูนย์กลางอยู่ที่โรงแรมดุสิตธานีเป็นสถานที่จัดงานลีลาศการกุศล มีห้องอาหารโปรดของพระราชินีสิริกิติ์ พลเอกเปรมและบรรดาท่านผู้หญิงกับคุณหญิงทั้งหลาย เป็นสถานที่ที่นักธุรกิจ นักการเมือง นายพลกับบรรดาภรรยาทั้งหลายมาออกงานและตกลงเรื่องธุรกิจกัน
พลเอกเปรมจัดการดูแลวังในทุกด้านที่จะทำได้ สนองความต้องการที่มากขื้นเรื่อยๆของพระราชวงศ์โดยเฉพาะพระราชินีสิริกิติ์ ในการแต่งตั้งโยกย้ายเลื่อนตำแหน่งคนโปรดของพระราชินีในกองทัพและราชการ ตลอดจนการประเคนสัญญาและสัมปทานของรัฐตามใบสั่งของวัง
ขณะเดียวกันพลเอกเปรมได้ใช้งบประมาณของประเทศสร้างพระตำหนักหลายแห่งให้พระบรมวงศานุวงศ์ เช่น ชาเล่ตข์นาดใหญ่บนยอดเขาที่เชียงรายสำหรับพระชนนีศรีสังวาลย์ที่เสด็จประทับเมืองไทยเป็นการถาวรในช่วงปลายทศวรรษ 2520
พลเอกเปรมสั่งให้รัฐวิสาหกิจอย่าง การบินไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จัดงบประมาณโฆษณาเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกวันสำคัญ
กระทั่งวันสำคัญทางศาสนาก็กลายเป็นมหกรรมยกย่องเจ้าโดยมีการเผยแพร่พระราชกรณียกิจต่างๆของพระราชวงศ์ตามโทรทัศน์และวิทยุอย่างเต็มที่ วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระจ้าอยู่หัวและของพระราชินีถูกยกให้เป็นวันพ่อและวันแม่แห่งชาติ
สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกทำให้เป็นหัวใจของการฉลองสองร้อยปีของกรุงเทพปี 2525 ขณะที่ไม่ให้ความสำคัญต่อชุมชนและประเพณีวัฒนธรรมเดิมของชาวกรุงเทพ จุดสำคัญของงานอยู่ที่การฟื้นฟูพิธีเห่เรือเพื่อเทิดพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวและโฆษณาการท่องเที่ยว
พลเอกเปรมอาศัยความเจ็บป่วยของพระราชวงศ์มาเป็นประเด็นเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ คราวที่พระเจ้าอยู่หัวประชวรปี 2525 พลเอกเปรมกับกองทัพได้จัดมหกรรมจงรักภักดีนำโดยลูกเสือชาวบ้าน กรมการศาสนาจัดทำบุญและนั่งสมาธิหมู่ทั่วประเทศเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัว มีการถวายคำอวยพรจากผู้นำประเทศต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อแสดงว่าพระเจ้าอยู่หัวคือธรรมราชาผู้เป็นที่เคารพในระดับโลก
เมื่อพระนางรำไพพรรณีมเหสีหม้ายในรัชกาลที่ 7 สิ้นพระชนม์ในเดือนพฤษภาคม 2527 พลเอกเปรมขยายเวลาวไอาลัยจากปกติ 100 วันเป็นสิบเอ็ดเดือน(หรือราว 330 วัน)ให้ทุกองค์กรและกลุ่มได้เข้าเฝ้าถวายสักการะพระบรมศพ
และได้จัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพยิ่งใหญ่สุดอลังการในเดือนเมษายน 2528 รัฐบาลต้องใช้เงินหลายร้อยล้านบาทในภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ มีการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
มีเมรุประดับทองสูง 29 เมตร ขบวนแห่ยาวสามกิโลเมตรประกอบด้วยราชรถสีแดงและสีทองนำพระบรมศพที่บรรจุในโกศประดับอัญมณี พร้อมด้วยทหารมือกลอง และพลเป่าแตรหนึ่งพันนายแต่งกายในชุดจักรีโบราณ โทรทัศน์ทุกช่องถ่ายทอดสด พระราชสกุลมหิดลทรงนำขบวนแห่ของเชื้อพระวงศ์นับร้อย ท่ามกลางเสียงปืนใหญ่ที่ยิงสลุดดังอื้ออึง
ผลงานที่สำคัญที่สุดของพลเอกเปรมคือการขยายกิจการโครงการหลวงอย่างขนานใหญ่ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชอบมากที่สุด และพลเอกเปรมก็ได้ทำให้โครงการพระราชดำริกลายมาเป็นสัญญลักษณ์หรือเครื่องหมายทางการค้าของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้
ในตอนนั้นโครงการหลวงมีจำนวนสองสามร้อยโครงการ ส่วนใหญ่ใช้เงินบริจาคที่ได้รับผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา ในการสร้างภาพลักษณ์ของในหลวง ภาพถ่ายและภาพยนต์ทางโทรทัศน์ที่โหมประโคมแสดงภาพพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระดำเนินลุยป่าฝ่าดงในชนบทมีกล้องแคนนอนห้อยพระศอ ทรงถือแผนที่กับสมุดจด ทรงสอบถามชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับปริมาณน้ำตามฤดูกาล ปริมาณฝนและการทำเกษตร
ผู้ตามเสด็จมักจะถวายคำอธิบายด้วยความประหลาดใจว่าในหลวงภูมิพลทรงดูแผนที่แล้วก็ทรงสามารถเข้าใจสภาพภูมิประเทศกับสภาพแหล่งน้ำบริเวณนั้นได้อย่างรวดเร็ว เหมือนที่รัชกาลที่ 4 ที่ทรงทำนายการเกิดสุริยุปราคา นับว่าทรงพระอัจฉริยะโดยแท้
แต่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ยังไม่สบพระทัยที่รัฐบาลเปรมไม่ได้ขยายผลความสำเร็จของพระองค์ไปทั่วประเทศ ในปี 2524 ทรงวิจารณ์ข้าราชการและผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ใส่ใจวิธีการแก้ปัญหาเกษตรกรที่เรียบง่ายและไม่แพงที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มขื้น ทรงบรรยายถึงความไม่ใส่ใจและความสูญเปล่าของระบบราชการโดยใช้โครงการส่วนพระองค์เป็นแบบอย่าง
ทรงย้ำว่าโครงการน้ำระดับหมู่บ้านในพระราชดำริจะใช้เวลาไม่กี่วันและเงินไม่กี่พันบาท แต่เมื่อเป็นโครงการของรัฐบาลก็จะใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีและใช้งบประมาณเป็นสิบเท่า สร้างความเบื่อหน่ายน่ารำคาญแก่พระองค์เป็นอย่างมาก ทรงได้รับจดหมายจากชาวบ้านร้องทุกข์ทุกวันเรื่องความยากจน การถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีถนน ไม่มีน้ำ ถ้าจะช่วยเหลือพวกเขาได้ทั้งหมด โครงการพระราชดำริจะต้องมีกำลังคนและเงินมากกว่านี้มาก มากเกินกว่าที่ระบบการบริจาคเงินเท่าที่เป็นอยู่จะให้ได้
พลเอกเปรมก็รีบสนองพระราชประสงค์ทั้งสองอย่าง ด้วยงบประมาณและกำลังคนของรัฐบาล โดยเฉพาะกำลังทหารในการสนับสนุนโครงการพระราชดำริ
ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลจะทรงพระประสงค์อะไรก็จะได้รับความสำคัญเร่งด่วนเป็นลำดับแรกเหนืองานประจำของแต่ละหน่วยงาน หน่วยงานใหม่ที่พลเอกเปรมนั่งเป็นประธานด้วยตัวเองคือ คณะกรรมการพิเศษเพือประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(กปร.) โดยทำหน้าที่เร่งรัดการดำเนินงานของโครงการส่วนพระองค์และจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาโครงการในพระราชดำริภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ทำให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงกลายเป็นหัวหน้างานพัฒนาคนใหม่ของระบบราชการ ที่มีทรัพยากรและสรรพกำลังทั้งหมดของรัฐบาลไว้ให้ใช้ โดยพระองค์ทรงรับเอาความดีความชอบไปแต่เพียงผู้เดียว
คณะกรรมการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีผู้ดูแลเป็นนักเศรษฐศาสตร์และสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติชื่อนายสุเมธ ตันติเวชกุล ที่ปรึกษาคนสนิทของในหลวงภูมิพล นายสุเมธทำงานที่สภาพัฒน์ฯ ตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติและสงคราม
คณะกรรมการพัฒนาโครงการในพระราชดำริ ได้ใช้งบประมาณต่อจากเดิมเป็นสิบเท่า โดยส่วนใหญ่หักเงินเอาจากงบประมาณปกติของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ โครงการพระราชดำริส่วนใหญ่ก็เป็นเหมือนเดิมที่เคยเป็นมา คือ การวิจัยพันธุ์พืช โครงการแหล่งน้ำทั้งใหญ่และเล็ก การฝึกอบรมแพทย์และอาสาสมัคร การสาธารณสุข
พลเอกเปรมได้ก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหกแห่งทั่วประเทศ แต่ละแห่งมีเนื้อที่หลายพันไร่ อยู่ในบริเวณตำหนักประจำภาคต่าง ๆ มีเจ้าหน้าที่ทำการทดลองการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นงานที่เหมือนกับงานวิจัยที่ทำกันตามกระทรวงและมหาวิทยาลัยต่างๆ
พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริใหม่ๆมากมาย เช่นการผลิตก๊าซชีวภาพ น้ำผลไม้ เห็ดบรรจุกระป๋อง การทำปุ๋ยและเชื้อเพลิงจากผักตบชวา สวนสมุนไพร การปลูกหวาย
ทรงมีโครงการกักเก็บและผันน้ำขนาดเล็กร่วมกับกฟผ. ที่ควบคุมเขื่อนผลิตไฟฟ้าและการชลประทานทั่วประเทศ โดยมีผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและอธิบดีกรมชลประทานตามเสด็จเคียงข้างพระเจ้าอยู่หัวเสมอ
กองทัพกลายมาเป็นกองงานส่วนพระองค์ของพระเจ้าอยู่หัว กองทัพสร้างศูนย์การพัฒนามูลค่าหลายสิบล้านบาทบนเนื้อที่ 13,000 ไร่ที่ตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และอีกหลายสิบล้านสำหรับพระตำหนักขนาดย่อมและศูนย์การพัฒนาใกล้เขาค้อ ที่เคยมีการกวาดล้างพคท.อย่างโชกเลือดในปี 2524
เขาค้อกลายมาเป็นตัวต้นแบบหนึ่งสำหรับโครงการพระราชดำริ ผู้รับหน้าที่ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่นี้คือพลเอกพิจิตร กุลละวนิชย์ ที่ได้บัญชาการการรบที่สมรภูมิเขาค้อ พลเอกพิจิตรถูกย้ายไปยังพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาเพื่อขยายโครงการหลวงไปยังพื้นที่ใหม่ๆ
เมื่อข่าวคราวและชื่อเสียงของโครงการหลวงโด่งดังไปไกล ชาวบ้านก็พากันขอความช่วยเหลือจากวังอย่างล้นหลาม ทีมงานของพระเจ้าอยู่หัวต้องคอยติดตามแต่ละเรื่อง แล้ววังก็จะลงมือล้วงลูกโดยตรงในกรณีปัญหาสุขภาพหรือหมู่บ้านต้องการสะพานเชื่อมสู่โลกภายนอก หรือไม่ก็ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้รับไปจัดการ
รายละเอียดการร้องทุกข์ของชาวบ้านถูกปกปิดเป็นความลับ ยิ่งเป็นการเพิ่มพูนพระบารมีและพระปรีชาญาณอันลี้ลับของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลในการทำนุบำรุงความสุขความอุดมสมบูรณ์แก่ประชาราษฎรของพระองค์ ยิ่งโครงการหลวงของพระองค์ได้รับการโหมโฆษณาโดยพลเอกเปรมและงบประมาณของรัฐบาล ประชาชนก็จะยิ่งมองข้ามรัฐบาลและหวังพึ่งแต่พระเจ้าอยู่หัวให้ทรงปัดเป่าปัญหาความทุกข์ยากของพวกเขา
โครงการหลวงได้เพิ่มจำนวนขื้นอย่างรวดเร็ว และความเสี่ยงก็เพิ่มขื้นด้วย เนื่องจากบางโครงการอาจผิดพลาดล้มเหลวและทำให้ในหลวงภูมิพลเสียหน้า ต้องมีการจัดระดับชั้นโครงการเพื่อป้องกันวังจากข้อครหานินทาต่างๆ
โครงการในระดับชั้นสูงสุดคือโครงการที่ริเริ่มและดำเนินการโดยพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลและราชินีสิริกิติ์โดยตรง ต่ำลงมามีอีกสามระดับชั้นที่มีรัฐบาลและคนอื่นๆรับผิดชอบ ทำให้วังรับแต่ความดีความชอบอย่างเดียว ส่วนความผิดพลาดล้มเหลวก็โยนให้เป็นเรื่องของคนอื่น
พลเอกเปรมไม่ได้แค่สนับสนุนส่งเสริมวังเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องคุ้มกันวังอีกด้วยโดยควบคุมการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในสมัยนายธานินทร์จนถึงพลเอกเปรม
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ถูกใช้ปกป้องราชวงศ์จักรีทุกพระองค์และพระมหากษัตริย์ไทยทั้งหมด การดูหมิ่นกษัตริย์องค์ก่อนๆ เช่น รัชกาลที่สองก็ถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
พลเอกเปรมแสดงความชัดเจนว่าเรื่องของเจ้าไม่ใช่เรื่องของไพร่และห้ามวิจารณ์โดยเด็ดขาด ต่อให้เป็นเรื่องที่พวกเจ้าประโคมกันขื้นมาก่อนก็ตาม หนังสือพิมพ์ฉบับใดที่ตีพิมพ์อะไรก็ตามที่อาจจะมีนัยยะเชิงลบต่อวังไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตาม จะได้รับการเตือนทางโทรศัพท์จากตำรวจหรือหน่วยงานความมั่นคง
ปลายปี 2524 ราชินีสิริกิติ์ให้สัมภาษณ์สื่อในสหรัฐ วิจารณ์ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ตรงๆ พอหนังสือพิมพ์ของไทยนำมารายงานก็ถูกตำหนิอย่างรุนแรง กระทั่งถูกขู่ว่าจะโดนปิด
สำหรับคนที่ถูกจับได้ว่าตีพิมพ์เอกสารใต้ดินวิพากษ์วิจารณ์วัง บทลงโทษจะมีความรุนแรงกว่า หลายคนที่มีสวนเกี่ยวข้องกับเอกสารโจมตีพระราชินีสิริกิติ์ในปี 2524 ถูกตามล่าและถูกจับขังคุก ชุดละแปดปี
รัฐบาลประกาศห้ามนิตยสารนิวส์วีค ( Newsweek ) ฉบับหนึ่งที่หน้าปกลงรูปพลเอกเปรมอยู่สูงกว่าในหลวงภูมิพล
มกราคม 2525 เอเชี่ยนวอลล์สตรีทเจอร์นัล ( Asian Wall Street Journal ) ถูกสั่งห้ามขายฐานลงบทความเรื่องราชวงศ์์ของไทยจะอยู่่รอดหรือไม่ และในหลวภูมิพลไม่ได้เป็นที่นิยมมากอย่างที่เชื่อกัน รวมทั้งการแทรกแซงทางการเมืองของพระองค์จะเป็นอันตรายต่อพระองค์เอง
แม้จะมีการสนับสนุนทุ่มเทของพลเอกเปรม แต่ในหลวงและพระราิชินีก็ยังเสด็จออกเดินสายต่างจังหวัดปีละสี่ถึงหกเดือน ทรงประทับนั่งพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆราว 20 แห่งทั่วประเทศ
ทำเอาพระกรและไหล่ของพระเจ้าอยู่หัวแทบจะพิการไปเลย ทรงยืนกรานที่จะปฏิบัติต่อไป จนกระทั่งหมอที่เป็นพระสหายเก่าแก่อย่างนายแพทย์ประเวศ วะสีต้องเอ่ยปากต่อสาธารณะว่าการพระราชทานปริญญานั้นเป็นอันตรายต่อพระองค์ จึงต้องทรงแบ่งหน้าที่ส่วนหนึ่งให้พระโอรสและพระธิดา แต่พระองค์ก็ยังคงผูกขาดธรรมศาสตร์ จุฬาฯ และจปร. กลายเป็นเรื่องสดุดีความยิ่งใหญ่ของพระองค์อีกประการหนึ่ง
ภาพการทุ่มเททำงานเพื่อประชาชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลได้รับการตอกย้ำจากปากคำของข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดพระองค์อย่างพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ได้บอกว่าทุกคืนในหลวงกับพระราชินีจะทรงหอบกองเอกสารเข้าไปในห้อง และมักจะทรงต้องใช้เวลาอ่านทั้งคืนเพื่อทำการตัดสินพระทัย
ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมทั้งสองพระองค์จึงได้เสด็จออกจากห้องพระบรรทมเมื่อปาเข้าไปเที่ยงวันแล้วในแต่ละวัน แต่แล้วก็ยังต้องปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามกำหนดการต่างๆ ที่แน่นไปหมด
การโฆษณาสนับสนุนเทิดทูนวังได้ย้อนกลับไปสู่อดีตกาลแบบโบราณ อยู่ภายในกรอบจำกัดของคาถาชาติ - ศาสน์ - กษัตริย์ เนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนพลเอกเปรมเต็มที่ การวิจารณ์พลเอกเปรมจึงกลายเป็นเรื่องต้องห้าม
ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงก็ยังยืนยันมาตลอดว่า คอมมิวนิสต์เวียตนามหรือจีนจะบุกยึดประเทศไทย โดยไม่เคยให้ความสำคัญกับสถาบันตามระบอบประชาธิปไตยอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ รัฐสภาและหลักกฎหมายโดยถือว่าเป็นแค่ของต่างชาติที่นำเข้าจากตะวันตก
ในปี 2527 เศรษฐกิจตกต่ำจากภาวะเศรษฐกิจขาลงทั้งภูมิภาคและเรื่องอื้อฉาวทางการเงินที่ธนาคารหลายแห่งล้มละลาย ธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมากเริ่มพัง เกิดความตื่นตระหนกไปทั่ว นายกเปรมล้มป่วยอย่างหนัก ไม่รู้ว่าจะรอดหรือไม่ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอกที่ควบทั้งผบ.ทบ.และผบ.สูงสุด ก็ทำท่าจะยึดอำนาจ และแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประกันอำนาจของตนเอง
แต่แล้วพระราชินีสิริกิติ์ผู้สนับสนุนพลเอกเปรมมาตลอดก็ทรงออกโรงปกป้องพลเอกเปรมอย่างเต็มที่ พระราชินีเสด็จเยี่ยมนายกเปรมถึงข้างเตียงที่บ้านของเขาถึงสองครั้งในเวลาเก้าวันโดยเป็นข่าวครึกโครม ภาพพระราชินีประทับคุกเข่าขณะที่พลเอกเปรมหมอบกราบถูกตีพิมพ์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ในวันที่ 2 กันยายน 2527 หลังจากถ่ายจริงสามวัน ก่อนวันอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 กันยายน
การออกโรงของพระราชินีทำให้พลเอกอาทิตย์ต้องถอนการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ กระแสการรัฐประหารหายไปทันที แต่ความบาดหมางในกองทัพยังคงดำเนินต่อไป พลเอกเปรมกลับมาเจอกับเศรษฐกิจที่กำลังซวนเซ และทำให้ต้องประกาศลดค่าเงินบาท15% ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2527 จาก 23 บาท เป็น 27 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกทำหนังสือให้รัฐบาลทบทวนการประกาศลดค่าเงินบาทและขอให้ปรับปรุงคณะรัฐมนตรีสวนทางกับรัฐบาลเปรม
ปี 2529 การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนทำให้พลเอกเปรมเจอศึกหนักในสภา พลเอกเปรมรับมือด้วยการใช้พรรคพวกและก่อตั้งกลุ่มการเมืองของตนเองโดยให้พลอ.อ.สิทธิ เศวตศิลาที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของตนเข้ายึดพรรคกิจสังคมหลังจากมรว.คึกฤทธิ์ลาออกไป
ให้พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ ตั้งพรรคราษฎรเป็นฐานให้ตน วังกลายเป็นผู้เล่นเกมส์ในสภาอย่างอ้อมๆ แต่สภายังเล่นงานพลเอกเปรมอีก พอต้นเดือนพฤษภาคม พลเอกเปรมเสนอในหลวงยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ แต่พลเอกอาทิตย์รู้ทันการสร้างพรรคของพลเอกเปรมว่าจะไม่ยอมลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เมื่อพลเอกอาทิตย์ขู่จะก่อการรัฐประหาร วังก็แสดงความชัดเจนออกมาว่าการต่อต้านพลเอกเปรมก็เท่ากับการต่อต้านวัง โดย ฟ้าชายวชิราลงกรณ์เสด็จเยี่ยมพลเอกเปรมที่บ้านอย่างเปิดเผย แทนที่พลเอกเปรมจะเป็นฝ่ายไปเข้าเฝ้าตามธรรมเนียม
สองสามสัปดาห์ต่อมา ในหลวงก็พระราชทานยศพล.อ.อ.กับ พล ร.อ.ให้แก่พลเอกเปรม ซึ่งปกติแล้วจะสงวนไว้สำหรับพระราชวงศ์เท่านั้น
ขณะที่พลเอกเปรมอยู่ในฐานที่มั่นที่นครราชสีมาก็ได้ประกาศพระบรมราชโองการฯ ปลดพลเอกอาทิตย์ ออกจากตำแหน่งผบ.ทบ.ซึ่งถือเป็นจุดจบทางการเมืองของพลเอกอาทิตย์
การรณรงค์หาเสียงของนักการเมืองพุ่งเป้าโจมตีพลเอกเปรมที่ไม่ยอมลงสมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งกองทัพที่มีการทุจริตอย่างกว้างขวางและเป็นทหารการเมือง แต่พลเอกเปรมก็ไม่สะทกสะท้านเพราะเขาได้ยึดเอาพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นแบบอย่างคืออ้างว่าเขามีความเป็นกลางและอยู่เหนือการเมือง
แม้ว่าบริวารส่วนตัวของพลเอกเปรมจะจัดการดูแลพรรคการเมืองอยู่ก็ตาม แต่ในหลวงและพลเอกเปรมก็ยังมีความวิตกกังวลโดยมีการปล่อยข่าวว่าทรงต้องการ ให้พลเอกเปรมเป็นนายก อย่างน้อยจนกว่าจะผ่านงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 60 ชันษาในปี 2530 ไปก่อน และจากนั้นก็เป็นการฉลองวาระการขึ้นครองราชย์ที่ยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ในปี 2531(จะครองราชย์นานเท่ากับรัชกาลที่ 5 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2531)
ผลการเลือกตั้ง 27 กรกฎาคม 2529 พรรคที่ได้ที่นั่งมากที่สุด 100 จาก 347 เสียงคือประชาธิปัตย์ จึงมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล แต่หัวหน้าพรรค นายพิชัย รัตตกุลก็ศิโรราบแก่พลเอกเปรม พรรคร่วมรัฐบาลของพลเอกเปรมประกอบด้วยประชาธิปัตย์ ชาติไทย และพรรคของพลเอกเปรมเองคือ กิจสังคมกับราษฎร
พลเอกเปรมหักหลังประชาธิปัตย์ด้วยการตั้งคนของตนในคณะรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทยถูกยกให้อดีตผู้นำกระทิงแดงพล ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร ที่ส่งตำรวจเตรียมพร้อมรับมือทันทีที่มีนักศึกษาบางคนออกมาประท้วง ไม่ต่างจากยุคขวาพิฆาตซ้ายในปี 2519
กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารอันเป็นกระทรวงที่ให้ผลประโยชน์มากที่สุดตกเป็นของดาวรุ่งคนใหม่ของพรรคชาติไทยนายบรรหาร ศิลปอาชา ผู้รับเหมาที่ไม่ชอบการอดอยากปากแห้งที่มีอิทธิพลในพื้นที่ภาคกลาง พลเอกเปรมกับวังคุมการเมืองไว้ได้อีกครั้งหนึ่งโดยไม่ต้องใช้กำลัง และทำให้ได้เห็นว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจโดยสมาชิกสภา แต่ตัดสินโดยกองทัพ วังและกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ
พลเอกเปรมทุ่มงบประมาณแผ่นดินจัดงานฉลองพระชนมพรรษา 60 ปีถวายพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ทั้งโปสเตอร์และป้ายโฆษณาผุดขึ้นทั่วประเทศและไม่ว่าใครจะขยับตัวทำอะไรในปีก่อนหน้าและหลังจากนี้ล้วนแต่ เป็นการเฉลิมพระเกียรติไปเกือบหมด หน่วยราชการผลิตหนังสือและสารคดีโทรทัศน์ยืดยาวเชิดชูพระอัจฉริยภาพ การยึดมั่นในทศพิธราชธรรมของพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนความยิ่งใหญ่อันไร้ที่ติของกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี
มหาวิทยาลัยต่างๆ จดสัมมนาอภิปราย ออกบทวิเคราะห์ทางวิชาการสดุดีพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลกับพระราชวงศ์ทุกพระองค์ สมาชิกของพระราชวงศ์ก็ทรงเข้าร่วมขบวนการเทิดพระเกียรติด้วยเช่นกัน ซึ่งเน้นวาระครบรอบ 60 ชันษาของพระเจ้าอยู่หัวเป็นจุดขายโดยจัดพระราชพิธีเห่เรือในเดือนตุลาคม ความสัมพันธ์ของกองทัพกับวังก็มีการพัฒนายกระดับมากขึ้น
มีนาคม 2530 พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลพระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่ทหารกรมกองต่างๆ ด้ามธงบรรจุด้วยเส้นพระเกศาของพระองค์
กองทัพแสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณด้วยการถางป่าสงวนบนยอดดอยอินทนนท์เพื่อสร้างพระเจดีย์ถวายในหลวงและพระราชินีพระองค์ละหนึ่งแห่ง เป็นพระธาตุคู่เฉลิมพระเกียรติ คือพระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระธาตุนภพลภูมิสิริ
ปลายปี 2529 พลเอกเปรมประกาศถวายพระเกียรติยศให้ในหลวงภูมิพลเป็น อัครศิลปิน
เป็นการโหมโรงก่อนการถวายพระเกียรติเป็นมหาราชในเดือนธันวาคม 2530 โดยทำเหมือนว่าประชาชนไทยทั้ง 41 ล้านคนพร้อมใจกันถวายตำแหน่งมหาราชเพื่อยกระดับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลให้เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่
ไม่กี่เดือนต่อมา ฟ้าหญิงสิรินธรก็ทรงได้รับขนานพระนามเป็น องค์เอกอัคราชูปถัมภ์แห่งมรดกวัฒนธรรมไทย
พระสงฆ์สวดภาวนาถวายให้พระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ และมีการโหมโฆษณาพระราชกรณียกิจที่ทรงอุทิศพระองค์ต่อพระพุทธศาสนา กรมการศาสนาเสนอทำการสังคายนาพระไตรปิฎกเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่เข้าท่า เนื่องจากการกำหนดให้เสร็จภายในสองปีนั้นเป็นไปไม่ได้ จึงต้องถูกยกเลิกไป
การใช้โครงการพระราชดำริหรือพระนามของในหลวงภูมิพลย่อมเป็นหลักประกันว่าโครงการนั้นจะได้รับการปฏิบัติอย่างทุ่มเทและไม่มีข้าราชการหน้าไหนที่จะกล้าเฉื่อยชาหรือทำตัวเป็นอุปสรรค
พระราชวังและพลเอกเปรมได้สร้างระบอบวังร่วมกับกองทัพให้มั่นคงถาวร ทรงสนับสนุนให้กองทัพมีบทบาทครอบงำการเมืองอย่างเป็นทางการ คนรับนโยบายของพลเอกเปรมคือผบ.ทบ.คนใหม่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้มีบทบาทในการร่างคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ คือ การใช้หลักการเมืองนำการทหาร
ประกาศว่ากองทัพคือพลังหลักของประเทศในการพัฒนาและการบรรเทาความยากจน ภายใต้การชี้แนะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ใหญ่ที่สุดคือโครงการอีสานเขียวอันโด่งดังของพลเอกชวลิต ที่จะพลิกแผ่นดินแห้งแล้งของอีสานให้เขียวชอุ่มอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาให้ได้ ใช้งบประมาณกว่า 13,500 ล้านบาท โดยถูกจัดสรรผ่านหน่วยงานต่างๆ ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพ และทหารจำนวนมากได้ออกไปสร้างอ่างเก็บน้ำ ถังน้ำ และขยายโครงการผันน้ำต่างๆ และยังได้ปลูกป่ายูคาลิปตัสเพื่อป้อนโรงงานเยื่อกระดาษโดยอ้างว่าเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า
แต่กองทัพกลับถูกโจมตีว่าแย่งบทบาทการทำงานของรัฐบาลโดยใช้โครงการพระราชดำริเป็นข้ออ้าง ผลาญเงินงบประมาณประเทศไปกว่าหนึ่งในสี่ ซึ่งมากกว่างบสาธารณสุขและการศึกษามากนัก
นักวิจารณ์เรียกกองทัพว่าเป็นเพียงอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่รับใช้แต่ตนเองเท่านั้น โดยใช้งบประมาณของรัฐบาลสร้างอำนาจให้ตนเอง พวกเขาชี้ถึงการใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยของบรรดานายพลเศรษฐีนับสิบรายว่าเป็นหลักฐานแสดงถึงการทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างมโหฬาร
บรรดานายทหารก็แก้ตัวแบบเดียวกับวัง ว่านักการเมืองกับนักธุรกิจนายทุนนั้นฉ้อฉลและเห็นแก่ตัว ถึงกับมีการสอนในวิชาปรัชญาการเมืองที่โรงเรียนนายร้อยจปร. โดยเผยแพร่ทัศนะนี้ผ่านสื่อว่า มีแต่กองทัพเท่านั้นที่ไม่เคยทอดทิ้งประชาชนและจริงใจต่อประชาชน มีแต่กองทัพเท่านั้นที่เป็นความหวังให้กับประชาชนได้
ฝ่ายค้านในสภาได้เตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกเปรมในเดือนเมษายน 2530 แต่พลเอกเปรมใช้เล่ห์กลตัดแข้งตัดขาและซื้อตัวสส.อย่างโจ่งแจ้ง ทำให้ญัตติตกไปเพราะคะแนนเสียงไม่พอ แต่ประชาชนได้เห็นทางโทรทัศน์ว่าสส.ได้เยาะเย้ยหยามหยันรัฐบาลพลเอกเปรมที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุน
มรว.คึกฤทธิ์กล่าวหาว่า พลเอกเปรมทำตัวยังกับเป็นพระเจ้าอยู่หัวเสียเอง ตนรู้สึกน่าอับอายในฐานะคนไทยที่ต้องยอมให้คนๆ หนึ่งอยู่เหนือการเมืองและการวิพากษ์วิจารณ์ คนที่กลายมาเป็นเหมือนกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ว่าประพฤติตัวราวกับว่าตนเองมีความสำคัญมากกว่าพระมหากษัตริย์จริงๆ เสียอีก
มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตรเขียนบทความที่โจมตีพลเอกเปรมอย่างรุนแรงว่าพลเอกเปรมแทบไม่เคยทำอะไรสำเร็จเลยตลอดระยะเวลาเจ็ดปีและเป็นคนที่รังเกียจวิถีทางประชาธิปไตย
เนื้อหาสาระผลงานของพลเอกเปรมก็คือการถ่วงดุลทหารกลุ่มหนึ่งให้คุมเชิงทหารอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อรักษาตำแหน่งของตัวเอง ลีลาการเป็นผู้นำของพลเอกเปรมคือลอยตัวแบบเจ้า จากปัญหาการเมืองทั้งหมด และคอยจัดการไม่ให้การวิพากษ์วิจารณ์ตัวเขาลุกลามบานปลายออกไป
ปลายปี 2530 เกิดแรงกดดันเพิ่มขึ้นเมื่อพลเอกเปรมและพลเอกชวลิตพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความชอบธรรมให้อำนาจของกองทัพบกแต่ต้องมาเจอเรื่องทุจริตอื้อฉาวหลายกรณี ขณะที่พลเอกเปรมรับมือเรื่องวุ่นวายของวัง ยังต้องเจอปัญหาการเมืองที่ตนเองเป็นต้นเหตุ บารมีส่วนตัวของพลเอกเปรมเสื่อมลงจากการเปิดโปงการทุจริตคอรัปชั่นสามเรื่องต่อเนื่องกัน
กรณีแรกนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีผู้เป็นลูกขององคมนตรีรายหนึ่งและเป็นคนของวังกับพลเอกเปรม ถูกกล่าวหาว่าทุจริต นายจิรายุถูกบีบจนต้องลาออกแต่ก็ได้ไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
กรณีที่สอง รัฐมนตรีคมนาคม นายบรรหาร ศิลปอาชาถูกกล่าวหาว่าโกงกินอย่างมโหฬารและซื้อเสียง เชื่อกันว่าพลเอกเปรมปล่อยให้บรรหารทุจริตโกงกินอย่างเสรี เพราะต้องอาศัยการสนับสนุนทางการเมืองจากนายบรรหาร
กรณีที่สามเป็นเรื่องการทุจริตในการซื้ออาวุธของกองทัพ ที่เกี่ยวพันกับพลเอกชวลิตและภรรยาในการจัดซื้อรถถังสติงเรย์ของอเมริกา รถถังรุ่นนี้กระทั่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ยังปฏิเสธเนื่องจากราคาแพงและคุณภาพต่ำ
แต่พลเอกเปรมก็ยังปล่อยให้ดำเนินการต่อไป ทั้งๆที่ข้าราชการพลเรือนและทหารระดับสูงได้คัดค้านไว้แล้ว ปรากฏว่าไทยเป็นประเทศเดียวที่ซื้อรถถังสติงเรย์ ซึ่งมีคุณภาพแย่ยิ่งกว่าที่ถูกวิจารณ์เสียอีก เรื่องอื้อฉาวเหล่านี้หนักพอที่จะทำให้รัฐบาลล้มได้ ทำให้ต้องยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปก่อน
ในช่วงต้นเดือนธันวาคมก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 60 ปี พลเอกเปรมก็กราบบังคมทูลถวายพระราชสมัญนามพระมหาราชแด่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอย่างเป็นทางการ
พระเจ้าอยู่หัวทรงปิดฉากปีแห่งความวุ่นวายนั้นด้วยพระราชพิธีชุมนุมพระบรมวงศานุวงศ์ครั้งใหญ่อย่างพร้อมเพรียงที่เสด็จมากันหมดเพื่อเฉลิมฉลองวาระอันสำคัญ
พอคล้อยหลังงานเฉลิมพระชนมพรรษา เรื่องทุจริตคอรัปชั่นก็โผล่มาอีกเป็นชุด อธิบดีและข้าราชการระดับสูงในกรมศุลกากรกับสรรพากรถูกจับได้ว่าพัวพันกับการลักลอบนำเข้ารถหรู รัฐมนตรีบรรหารมีเรื่องฉาวโฉ่อีกครั้งด้วยการกินรวบสัญญาโครงการต่างๆของรัฐบาล
ที่อับอายขายหน้ามากที่สุดคือเรื่องอื้อฉาวที่เกี่ยวพันกับวังและรัฐบาลเปรมเอง แก๊งค์ข้าราชการระดับสูงและพระชั้นผู้ใหญ่(พระอุดมสารโสภณ-ผาสุก ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส)ถูกเปิดโปงว่าขายเครื่องราชย์มีการใช้เงินติดสินบนพระและข้าราชการเพื่อปลอมแปลงรายงานการบริจาค บารมีของพลเอกเปรมถดถอยลงไปทุกที หลังจากผู้ประท้วงเขื่อนน้ำโจนบีบให้รัฐบาลต้องยอมยกเลิกโครงการเป็นผลสำเร็จ
ข้อพิพาทพรมแดนลาวที่คุกรุ่นระเบิดเป็นการสู้รบที่ร่มเกล้า และทหารไทยพ่ายแพ้ทั้งที่ได้เปรียบในเชิงอาวุธยุทโธปกรณ์
พลเอกชวลิตโดนตำหนิไปเต็มๆรวมถึงลูกพี่คือพลเอกเปรม ก่อนที่จะถูกถล่มยับเยินในสภา พลเอกเปรมชิงยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม 2531 อย่างน้อยยังได้เป็นประธานในงานเฉลิมฉลองการทำครองราชย์ยาวนานที่สุดกว่าพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใดในวันที่ 2 กรกฎาคม 2531
ด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมในการสนับสนุนจากวังและกองทัพ พลเอกเปรมแสดงเจตนาชัดเจนจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปโดยไม่ลงเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้ความสัมพันธ์ของพระเจ้าอยู่หัวกับพลเอกเปรมและกองทัพกลายมาเป็นประเด็นหลักในระหว่างการรณรงค์หาเสียง
เดือนมิถุนายน นักวิชาการชั้นนำ 99 คนได้ลงชื่อถวายฎีกาถึงพระเจ้าอยู่หัว กล่าวหาพลเอกเปรมว่าแอบอ้างวังและใช้กองทัพข่มขู่เพื่อรักษาอำนาจของตนต่อไป และอธิบายการกระทำของพวกเขาเป็นไปเพื่อปกป้องพระเกียรติยศของพระเจ้าอยู่หัว พวกเขากลัวว่ากองทัพกำลังทำลายกระบวนการประชาธิปไตย แต่เป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขาอยู่ที่การที่วังอนุญาตให้เปรมอ้างการสนับสนุนจากพระเจ้าอยู่หัว พวกเขาหาญกล้าเรียกร้องให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลหยุดแทรกแซงระบอบประชาธิปไตย
พลเอกเปรมเป็นประธานนำการเฉลิมฉลองสถิติการครองราชย์นาน 42 ปี 23 วันของในหลวงภูมิพล แล้วพลเอกเปรมก็ตามเสด็จพระราชวงศ์ไปอยุธยาเพื่อสักการะพระมหากษัตริย์อยุธยาทั้ง 33 พระองค์ ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างเคย ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก พลเอกเปรมวางตัวเองอยู่ในตำแหน่งประสานงานพรรคต่างๆ เพื่อนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่การที่ไม่ลงเลือกตั้งกับประเด็นหลักการประชาธิปไตยกลายเป็นประเด็นสำคัญต่อสาธารณะ และความคิดที่นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งก็จุดติดในหมู่นักการเมืองและผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
ผู้ประท้วงราวหนึ่งพันคนเดินขบวนไปที่หน้าบ้านพลเอกเปรม ผู้นำพรรคการเมืองและคนอื่นๆ ก็เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้นายกฯ มาจากสส.ที่ได้รับการเลือกตั้ง ขณะที่ทั้งประเทศกำลังจดจ่อรอดูว่าในหลวงภูมิพลจะเสด็จลงมาอุ้มพลเอกเปรมอีกหรือไม่
พลเอกเปรมตัดสินใจถอนตัว ทำให้ในหลวงภูมิพลไม่ต้องเปลืองตัวในการเลือกระหว่างประชาชนกับผู้นำกองทัพ นายกรัฐมนตรีส้มหล่นได้แก่พลตรีชาติชาย ชุณหวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยที่ได้ที่นั่งมากที่สุด เขาเป็นอดีตทหารม้า นักการทูตนักธุรกิจที่ลื่นไหล และลูกชายของจอมพลผิณ ชุณหะว้ณ
ทำไมประชาชนจึงไม่เห็นคุณค่าของรัฐบาลทหารพระราชทานของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล คำตอบที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ พลเอกเปรมแทบไม่ทำอะไรเลยตลอดแปดปี นอกจากปกป้องเก้าอี้ของตนและราชบัลลังก์ของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล รัฐบาลพลเอกเปรมได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เลวน้อยไปกว่ารัฐบาลพลเรือนเลยในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น การใช้อำนาจบาตรใหญ่และเช้าชามเย็นชาม ปัญหาสังคมอาจเลวร้ายยิ่งกว่าเดิมเสียด้วย
ทั้งๆที่มีการโฆษณาชวนเชื่อว่าพลเอกเปรมเป็นคนมือสะอาด แต่ก็ต้องเลี้ยงสมุนและบริวารที่เอาแต่ทุจริตคอรัปชั่นเพื่อความอยู่รอดของตนเอง มีรัฐมนตรีขี้โกงอย่างนายบรรหารที่เป็นคนโปรดแล้ว พลเอกเปรมยังให้พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลามือขวาด้านความมั่นคงของเขาเข้ายึดครองพรรคกิจสังคมโดยไปเป็นพวกกับเจ้าพ่อชั้นนำของประเทศสองคนคือ กำนั้นเป๊าะ(สมชาย คุณปลื้ม)แห่งชลบุรีกับชัช เตาปูน(ชัชวาลย์ คงอุดม)เจ้าของบ่อนเตาปูน ซึ่งมีตำแหน่งในพรรคทั้งคู่
ที่โดดเด่นที่สุดคงเป็นการแตกแยกและการทุจริตในกองทัพภายใต้การดูแลของพลเอกเปรม แทนที่กองทัพจะเล็กลงและเป็นมืออาชีพมากขึ้น บรรดานายทหารเอาแต่ทุจริตคอรัปชั่นจนพากันอิ่มหมีพีมันและย่อหย่อนความสามารถในการทหารสมัยใหม่ ทหารเข้าแทรกแซงการเมือง วงการธุรกิจและแม้แต่วงการอาชญากรรมมากขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งขยายความแตกแยกและความหย่อนยานทางวินัยซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา
โดยรวมแล้วสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมากกำลังตั้งข้อเรียกร้องที่นักการเมืองพันธุ์เก่าไม่คุ้นเคย การที่ในหลวงภูมิพลจะทรงมองเรื่องนี้ไม่ออกนั้นพอเข้าใจได้ เพราะที่ปรึกษาของพระองค์ส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่าและมีประสบการณ์น้อยกว่าพระองค์ จึงต้องพึ่งพาอาศัยพระองค์ในการวิเคราะห์ ไม่มีใครกล้าตั้งคำถามหรือแย้งพระองค์
ส่วนใหญ่หมอบกราบแซ่ซร้องสดุดีความคิดของในหลวงภูมิพลอย่างเดียว บริวารใกล้ชิดกราบทูลพระองค์ว่าพลังประชาชนใหม่นี้ก็เป็นเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นภัยคุกคามต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มันฟังดูจริงอย่างมากสำหรับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ที่ยังคงให้ท้ายกองทัพในการอ้างอำนาจครอบงำเหนือการเมืองต่อไปอีกนาน
...............
วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น