วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตำนานๆ 009035:เรารักในหลวงแต่ในหลวงอาจไม่รักเรา




ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/-jxNpsbj/The_Royal_Legend_035_.html
หรือที่ : http://www.mediafire.com/?7t27uzu6b0wk8ux


โปรดทราบ : ไฟล์เสียงที่เคยdownloadไม่ได้ บัดนี้ได้แก้ไขแล้ว
โปรดลองเข้าที่
linkใหม่



.................
.................

พลตรีชาติชาย ชุนหะวัณ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้สร้างบรรยากาศทางการเมืองคึกคัก เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงตัวจริงที่ประกาศเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า และว่าการบริหารประเทศของพลเอกเปรมล้าสมัย สงครามเย็นต่อต้านคอมมิวนิสต์จบสิ้นแล้ว และถึงเวลาสำหรับการผูกมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน และหมดยุคของรัฐบาลที่มุ่งเน้นแต่ความมั่นคงแห่งชาติแบบคลั่งเจ้าบูชาวัง

แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกเปรมเป็นองคมนตรีทันที เพื่อแสดงการสนับสนุนพลเอกเปรมอย่างชัดเจน ขณะที่นายกชาติชายก็แต่งตั้งคนของตนเอง แทนที่พวกนักวิชาการสายเปรมและวัง เปลี่ยนชุดพระราชทาน ของพลเอกเปรม มาเป็นสูทอิตาเลียนกับเนคไทยี่ห้อดัง โดยไม่ให้ความสำคัญกับการเทิดทูนพระเจ้าอยู่หัวและวัฒนธรรมคลั่งเจ้า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้กลายเป็นคู่แข่งบารมีกับวังไปแล้ว

มีการจัดการด้วยระบบการบริหารสมัยใหม่ เพิ่มการแข่งขันเสรีและการแปรรูปให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้น มีการตัดสินใจอย่างรวดเร็วต่อโครงการขนาดใหญ่ที่เคยล่าช้าในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม สับเปลี่ยนโยกย้ายบรรดาพรรคพวกและบริวารของวังกับเปรม ให้พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลารัฐมนตรีต่างประเทศของเปรมทำงานต่อสองปี แล้วบีบให้ออก แต่ในหลวงก็รีบโปรดเกล้าฯ ตั้งพล.อ.อ.สิทธิ เป็นองคมนตรีทันที แบบย้อนศรกันให้เห็นกันไปเลย รัฐบาลชาติชายย้ายสมุนบริวารของเปรมและวัง ที่อยู่หน่วยงานสำคัญๆออกไป ทั้งเริ่มนโยบายของตนโดยไม่มีวังหรือกองทัพมาเกี่ยวข้อง เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ลดบทบาทงานพัฒนาของพระเจ้าอยู่หัว ปฏิเสธการคืนทรัพย์สินแก่จอมพลถนอมที่ถูกยึด และอนุมัติงบสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาที่ถูกวังแตะถ่วงมานาน

ให้สัมปทานผลิตปูนซิเมนต์กลุ่มทีพีไอของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ แข่งกับเครือซีเมนต์ไทยของสำนักงานทรัพย์สินฯ ตอบโต้ที่เครือซีเมนต์ไทยผลิตปิโตรเคมีแข่งกับทีพีไอ ที่ทำอยู่เดิม สนับสนุนโครงการโฮปเวลล์ รถไฟยกระดับวิ่งผ่านสวนจิตรลดากับสถานที่สำคัญ ๆ ของพวกเจ้า ลดอำนาจของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ให้ประธานรัฐสภามาจากสส. เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี

การโฆษณาสนับสนุนเทิดทูนวังไม่ได้ฟู่ฟ่ารุ่งเรือง เจิดจรัสเหมือนสมัยพลเอกเปรม ในหลวงภูมิพลทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแม็กไซไซในปี 2531 พระญาณสังวรพระพี่เลี้ยงของในหลวงได้เป็นสังฆราชในปี 2532 หลังจากรับใช้พระเจ้าอยู่หัวนับตั้งแต่ปี 2498

รัฐบาลสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ คือสวนหลวงร.9 โดยมีอาคารแสดงนิทรรศการโครงการในพระราชดำริมีการตัดถนนสายใหม่เรียกว่าถนนพระรามเก้า

กองทัพสร้างสถานปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ ถวายพระราชชนนีศรีสังวาลย์บนดอยตุง จังหวัดเชียงราย ครอบคลุมพื้นที่ภูเขาและหุบเขาราว 92,500 ไร่ ของชาวเขา 27 หมู่บ้าน และทุ่มงบประมาณเปลี่ยนดอยตุง เป็นไร่นาและชุมชนสหกรณ์ขนาดใหญ่ ดำเนินการโดยมูลนิธิของพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เหมือนอาณาจักรของศักดินาสมัยเก่า ในปี 2533 กองทัพจัดโครงการปลูกต้นไม้ 90 ล้านต้นทั่วประเทศถวายสมเด็จพระราชชนนี เทิดพระเกียรติให้ทรงเป็นผู้ปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทั้งที่ก่อนหน้านั้นทรงประทับต่างประเทศมาตลอด

พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกเปรมเป็นประธานองคมนตรี แทนนายสัญญา ธรรมศักดิ์ที่แก่ชราแล้ว และได้ตั้งพลเอกเปรม เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ทำให้พลเอกเปรมยังคงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่ได้ หลังจากนั้นสองสามปี ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งพล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา กับพล.อ.พิจิตร กุลละวนิชย์ ลูกน้องของพลเอกเปรมให้เป็นองคมนตรี และองคมนตรีใหม่อีกคนคือ มล.อัศนีย์ ปราโมช ลูกชายของมรว.เสนีย์ เมื่อรวมกับอดีตรัฐมนตรีของเปรม นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ กลายเป็นทีมงานหลักที่คอยปกป้องระบอบเจ้าจากรัฐบาลนายทุนของพลตรีชาติชาย


นายจิรายุ อิศรางกูร ผู้จัดการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้โหมเร่งการลงทุนของวัง และให้เช่าอสังหาริมทรัพย์แก่นักธุรกิจ ตั้งแต่ร้านอาหารเล็กๆ ไปจนถึงคอนโดมิเนียมหรูห้างสรรพสินค้า โรงแรมและอาคารสำนักงาน




สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของกษัตริย์ภูมิพลให้เช่าที่ดิน 35 ไร่ใจกลาง กรุงเทพฯ บริเวณวังสระปทุม แก่ ตระกูลเตชะไพบูลย์ เจ้าของธุรกิจธนาคารศรีนคร และมหานครที่วางแผนสร้างอาณาจักรครบวงจร ที่มีทั้งโรงแรม สำนักงานและห้างสรรพสินค้ามูลค่านับแสนล้านบาทที่จะยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเซีย คือเวิร์ลด์เทรดเซ็นเตอร์ ต่อมาตระกูลเตชะไพบูลย์ล้มเหลวและต้องปล่อยทรัพย์สินไปเป็นของวังซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้สร้างธุรกิจจำนวนมหาศาลผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ รวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ มีเครือซีเมนต์ไทยทั้งบริษัทลูก และบริษัทร่วมทุน ราว 35 บริษัท กับบริษัทของสำนักงานทรัพย์สินฯ อีกกว่ายี่สิบบริษัทที่มีตั้งแต่ธุรกิจการเกษตร ประกันภัย โรงแรมจนถึงอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ได้ให้เงินปันผลแก่วัง และพระราชวงศ์กว่าพันล้านบาท ในปี 2533 โดยไม่ต้องเสียภาษี

เฉพาะบริษัทของกษัตริย์ภูมิพล ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีมูลค่า มากกว่า 27,000 ล้านบาท บริษัทของสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้เปรียบบริษัทเอกชนทั่วไป เพราะรัฐบาลเกรงใจพระราชวัง และมักขึ้นต่อวัง จึงได้รับสิทธิ์พิเศษและไม่มีใครกล้ามีเรื่องด้วย

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2531 เกิดพายุถล่มภาคใต้ ในเขตอำเภอพิปูน และอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอุทกภัยและคร่าชีวิตผู้คนไปนับร้อย มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมถ์ ได้โอกาสเข้าช่วยเหลือและได้ชื่อเสียงไปมาก

ต้นเดือนพฤศจิ กายน 2532 ภาคใต้โดนไต้ฝุ่นเกย์ ซ้ำเข้าไปอีก โดยพัดขึ้นฝั่งในเขต อ.ปะทิว อ.เมือง และ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 900 คน พระเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้นายกชาติชายเข้าเฝ้าเพื่อตำหนิ และแสดงให้คนทั่วไปได้เห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเฝ้าดูแลพสกนิกรตลอดเวลา แต่นักการเมืองไม่ได้ให้ความสนใจความเดือดร้อนของประชาชนแม้แต่น้อย

เครือข่ายของวังที่มีงบสนับสนุนได้ทุ่มกำลังบรรเทาทุกข์และได้ชื่อได้หน้าไปเกือบทั้งหมด ทั้งๆที่รัฐบาลได้ทุ่มเทให้ความช่วยเหลือมากกว่าก็ตาม ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ให้มูลนิธิจุฬาภรณ์ช่วยฟื้นฟูหมู่บ้าน โรงเรียนหลายแห่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนจุฬาภรณ์

เมื่อรัฐบาลชาติชายยังคงมีความแตกแยกทะเลาะกันไปเรื่อยๆ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผบ. สูงสุดและผบ.ทบ. กับพลเอกสุจินดา รองผบ.ทบ.พยายามใช้ประโยชน์จากความไม่พอใจของวังโดยทั้งคู่ต่างหวังที่จะก้าวเข้าสู่อำนาจตามแบบพลเอกเปรม

เดือนสิงหาคม 2532 ที่ปรึกษาของพลเอกชาติชายคือ มรว. สุขุมพันธ์ตอบโต้พวกทหาร โดยบอกว่าควรกลับไปกวาดบ้านตัวเองให้สะอาดก่อน โจมตีกล่าวหาคนอื่น ทำให้พลเอกชวลิตและพลเอกสุจินดาสั่งระดมนายทหาร 1,000 นายตบเท้าชุมนุมข่มขู่ในโรงแรมกลางกรุงเทพฯ


นายกชาติชายรีบให้มรว.สุขุมพันธ์ลาออก และ
แต่งตั้งพลเอกชวลิตเป็นรัฐมนตรีกลาโหม พลเอกชวลิตเห็นเป็นโอกาสจะก้าวขื้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงลาออกจากราชการทหารในตำแหน่งผบ.ทบ.และรักษาการผบ.สส.และเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม




ผบ.สูงสุดคนใหม่คือพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ นายทหารขี้ฉ้อจอมเสเพล ผู้ไม่มีหลักการ พลเอกสุจินดา ผู้มักใหญ่ใฝ่สูงและกระหายอำนาจมาเป็นผบ.ทบ. ที่กุมอำนาจแท้จริงของกองทัพ เบื้องหลังพลเอกสุจินดาคือ จปร. 5 ที่เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น มักใหญ่ใฝ่สูง และฉ้อฉลมากที่สุด ของโรงเรียนนายร้อยจปร.ขื้นผงาดยกแผง โดยมักอยู่ข้างพลเอกเปรม และแวดล้อมพระราชินีสิริกิติ์ พวกจปร.5 มีเอกภาพสูง ทั้งลงทุน เล่นหุ้น ทุจริตคอรัปชั่นและอื่นๆ แต่ละคนจึงร่ำรวยมาก


พลเอกสุจินดาข่มขู่คุกคามรัฐบาลชาติชาย มากกว่าพลเอกชวลิตเสียอีก และโอบอุ้มเพื่อนจปร. 5 ขื้นมาคุม 4 ใน 5 ตำแหน่งสูงสุดของกองทัพโดยผูกยาวต่อไปอีก 5 ปี










เดือนมิถุนายน 2533
รตอ.เฉลิม อยู่บำรุง ถามในสภาว่าพลเอกชวลิตจะเอาคนโกงมาตัดหัว แต่ภรรยากลับเป็นตู้เพชรตู้ทองเคลื่อนที่ น่าจะส่องกระจกดูตนเอง ก่อนที่จะเที่ยวไปชี้หน้าว่าคนอื่นทุจริตคอรัปชั่น พลเอกสุจินดารีบกลับจากสิงคโปร์ และพาพลเอกชวลิตและนายกชาติชายเข้าพบพลเอกเปรม เพื่อบีบนายกชาติชายลาออก และมอบตำแหน่งแก่ทหาร แต่นายกชาติชายปฏิเสธ และเดินทางไปเข้าเฝ้าในหลวงภูมิพล พลเอกชวลิตลาออกจากรัฐบาลด้วยความแค้นเคือง ที่ภรรยาคือคุณหญิงพันธุ์เครือถูกกล่าวหาว่าเป็นตู้เพชรตู้ทองเคลื่อนที่

แม้ว่าในหลวงพร้อมที่จะเอานายกชาติชายออกไป เพื่อเอารัฐบาลทหารเข้ามาแทน แต่ก็ทรงระแวงแนวคิดทางการเมืองของพลเอกชวลิต ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ในหลวงจะโปรดให้มีการรัฐประหารหรือไม่ แต่อยู่ที่พระองค์ไว้วางพระทัยพลเอกชวลิตหรือไม่ เพราะพลเอกชวลิตเคยออกความเห็นเกี่ยวกับระบบการเมืองไทยหลายครั้ง ที่ชวนให้น่าสงสัยว่าสนับสนุนการปฏิวัติโดยประชาชน และบอกเป็นนัยว่าชมชอบระบอบสภาเปรซิเดียม กับ ประธานาธิบดี ซึ่งอาจหมายถึง คอมมิวนิสม์ และสาธารณรัฐ พลเอกชวลิตยังมีที่ปรึกษาเป็นอดีตระดับหัวหน้าของพคท.


นายกชาติชายต้องแต่งตั้งคนของระบอบเปรมและวังในเดือนสิงหาคม 2533 เพื่อเอาใจในหลวง คือ นายวีระพงษ์ รามางกูร นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตผู้บริหารเครือซีเมนต์ไทย กับพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นายตำรวจที่รับใช้ในหลวงภูมิพลมาเกือบยี่สิบปี

พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธพลเอกชวลิต อย่างไม่ใยดี พลเอกชวลิตจึงต้องเลือกเส้นทางเดินทัพทางไกลด้วยการตั้งพรรคความหวังใหม่ เพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป สวนพลเอกสุจินดายังคงเดินหน้าข่มขู่คุกคามรัฐบาลชาติชายต่อไป

เมื่อนายกชาติชายเดินทางไปต่างประเทศในเดือนพฤศจิกายน พลเอกสุจินดาประกาศควบคุมความมั่นคงในพื้นที่กรุงเทพฯ และสั่งห้ามการชุมนุม กองทัพได้เรียกร้องให้นายกชาติชายปลดรัฐมนตรีที่วิจารณ์กองทัพ (รตอ.เฉลิม อยู่บำรุง) พอนายกชาติชายกลับจากต่างประเทศ ก็ตรงเข้าเฝ้าในหลวงที่ต่างจังหวัด โดยมีพลเอกสุจินดาตามเข้าไปเฝ้าติด ๆ

พระเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงให้รัฐประหาร แต่ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2533 ทรงตำหนิว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสมัยใหม่แบบตะวันตกนั้นไม่ดีเท่าแบบดั้งเดิมของไทย ปัญหาเร่งด่วนต้องอาศัยความยืดหยุ่นพลิกแพลง ไม่ใช่ยึดติดกับหลักการทฤษฎี หรือขั้นตอนระบบราชการสมัยใหม่ งานการกุศลกับโครงการหลวงของพระองค์นั้นดีที่สุด เพราะไม่ต้องเสียเวลากับวิธีการทำบัญชีแบบตะวันตก ผู้ฟังเข้าใจได้ทันที ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธรัฐบาลชาติชายแล้ว แต่ละฝ่ายจึงเริ่มเตรียมการถล่มรัฐบาล

พลเอกชวลิตดึงเอานาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นสิริ สมุนพลเอกเปรมที่ทำงานด้านความมั่นคงมาเป็นเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ส่วนพล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลาก็ถอนพรรคกิจสังคมออกจากการร่วมรัฐบาลพร้อมพรรคประชาธิปัตย์ นายกชาติชายต้องดิ้นรนรวบรวมพรรคอื่นๆ รวมทั้งพรรคเล็กของพลเอกอาทิตย์ แล้วตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งดึงพ.อ.มนูญ รูปขจร อดีตนักรัฐประหารโดยเลื่อนยศให้เป็นพลตรีและให้ทำงานในกระทรวงกลาโหม พวกแก๊งจปร.5 พากันเดือดดาล พระเจ้าอยู่หัว และพลเอกเปรมก็ตกใจเช่นกัน พลเอกสุจินดาถือว่าการท้าทายของนายกชาติชายเพียงพอแล้ว ที่พวกตนจะทำรัฐประหาร แต่ยังต้องหาเรื่องเพื่อใช้เป็นข้ออ้าง

ในเดือนมกราคม 2534 พล.ต.ท.บุญชู วังกานนท์ นักฆ่าจากแก๊งจปร.5 ก็หาเรื่องฟื้นคดีเก่าเมื่อปี 2527 กล่าวหายังเติร์กกับ พคท.วางแผนลอบสังหารพระราชินีสิริกิติ์ พลเอกเปรมและพลเอกอาทิตย์ นายกชาติชายสั่งย้ายพล.ต.ท.บุญูชู พลเอกสุจินดากับพวก กล่าวหานายกชาติชายปกป้องคนลอบสังหารพระราชินีสิริกิติ์

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ขณะที่นายกชาติชายกำลังจะขึ้นเครื่องบินไปเข้าเฝ้าในหลวงที่เชียงใหม่ คอมมานโดทหารอากาศเข้าจับกุมตัวนายกชาติชาย วันถัดมาพลเอกสุจินดาเข้าเฝ้าในหลวง หลังจากนั้นเขาก็ออกมาประกาศ ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงรับรองการยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว โดยได้ทรงกำชับแต่เพียงว่าอย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง

พระเจ้าอยู่หัวกับพลเอกเปรมทำตัวเป็นผู้ให้คะแนนระหว่างนายทหารกับนายกชาติชาย ในหลวงได้ทรงเปิดทางให้มีการรัฐประหารมาหลายเดือนก่อนหน้าแล้ว พระเจ้าอยู่หัวกับพลเอกเปรมได้แสดงความเห็นที่ชัดเจน ว่าการรัฐประหารเป็นทางเลือกที่ยอมรับได้ในการเมืองไทย ประชาชนทั่วไปได้เห็นนายกชาติชายวิ่งรอกเข้าเฝ้าในหลวงทุกครั้ง ที่ถูกพลเอกสุจินดาข่มขู่ จนรู้สึกชินชา หลายคนโทษนายกชาติชาย ว่าเป็นต้นเหตุให้พวกทหารต้องยึดอำนาจ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีทัศนะดูหมิ่นเหยียดหยามรัฐบาลชาติชายมาตลอด ไม่ทรงใช้พระราชอำนาจยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่เคยสนพระทัยที่จะดำเนินตามครรลองประชาธิปไตย
คณะรัฐประหารตั้งชื่อตนเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)




พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผบ.สูงสุดเป็นประธานรสช.
อำนาจอยู่ในมือของจปร.5 คือ








พลเอกสุจินดา คราประยูร










พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล











และ พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี






รสช.ยุบสภา ฉีกรัฐธรรมนูญ ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยสมาชิก 292 คนเต็มไปด้วยทหาร ข้าราชการ นักธุรกิจและนักวิชาการที่เป็นพรรคพวกรสช.ประธานสภานิติบัญญัติ คือ นายอุกฤษ มงคลนาวิน นักกฎหมายรับใช้เผด็จการตั้งแต่ยุคจอมพลถนอม ยุคนายธานินทร์ถึงพลเอกเปรม ภริยาของนายอุกฤษคือท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน (บุณยประสพ) เป็นนางสนองพระโอษฐ์ของพระราชินี นายอุกฤษได้รับมอบหมายจากรสช.ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พวกรสช. ท่องคาถาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

และสร้างเรื่องโดยให้พล.ต.ท.บุญชู วังกานนท์ ผู้บัญชาการสอบสวนกลางแพร่วีดิโอทางโทรทัศน์คำสารภาพของ พ.อ.บุลศักดิ์ โพธิเจริญ จปร.7 ส.ส.สิงห์บุรี พรรคพลังธรรม เรื่องแผนลอบสังหารราชินีสิริกิติ์ ซึ่งภายหลังถูกเปิดโปงว่าเป็นการบังคับขู่เข็ญและเป็นเท็จ เพียงเพื่อหลอกลวงประชาชน รสช.กล่าวหานายกชาติชายว่านำประเทศไปสู่เผด็จการรัฐสภา โดยไม่ได้บอกว่ามันคืออะไร ทำไมมันถึงเลว จนกลายเป็นคำที่พวกนิยมระบอบวังและเปรมใช้โจมตีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
นายกชาติชายกับพวกอีก 24 คนถูกสอบสวนข้อหาทุจริตและร่ำรวยผิดปกติ โดยมีพลเอกสิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธานคณกรรมการตรวจสอบ พวกพ้องของพลเอกชวลิตก็ถูกกวาดออกไป มีการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ข่มขู่สื่อ คุกคามนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักศึกษา นักวิชาการและนักเคลื่อนไหว




ผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจนายทนง โพธิ์อ่าน หายตัวไปอย่างเป็นปริศนาคาดว่าคงถูกอุ้มเข้าค่ายทหารเขตดอนเมืองเพื่อให้ยุติการเคลื่อนไหว หยุดเดินทางไปประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เพราะ รสช.มีคำสั่งยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ แต่นายทนงยืนกรานที่จะเคลื่อนไหวต่อทำให้ฝ่ายทหารต้องปลิดชีพเสีย เพราะหากปล่อยไปก็คงจะโวยวายอีก แต่ยังไร้หลักฐานยืนยันไม่มีใครได้พบศพ

นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์
ที่ปราศรัยโจมตีรสช. ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะพลเอกสุจินดาได้รับการรับการโปรดเกล้าฯแล้ว การโจมตี รสช.จึงเท่ากับไม่เคารพพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล แต่นายสุลักษณ์ฟ้องกลับว่าการรัฐประหารของรสช. เป็นการระคายเคืองต่อเบื้องยุคลบาท นายสุลักษณ์ได้ไปยุโรป
พลเอกสุจินดาได้เป็นที่โปรดปรานของวัง โดยเฉพาะในหมู่สาวชาววัง เพราะมีบุคลิกหน้าตาดี แต่ไม่ใกล้ชิดวังขนาดพลเอกเปรม ดังนั้นพลเอกสุจินดาจึงต้องเสนอคนที่วังทรงโปรดเพื่อให้ในหลวงไว้วางพระทัยคือ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี นายอานันท์เป็นอดีตนักการทูต เป็นนักธุรกิจผู้มีวินัยและจริงจัง ประวัติดี เป็นที่เคารพนับถือทั้งในวงราชการและธุรกิจอุตสาหกรรม
นายอานันท์ ปันยารชุน ถือเป็นหน้ากากอย่างดีให้กับรสช. และนำการบริหารประเทศกลับสู่แนวอุดมคติตามพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนักวิชาการยุคพลเอกเปรมและทหารจากรสช.จำนวนหนึ่ง ดำเนินการปฏิรูปตามบัญชียาวเหยียด ตั้งแต่กฎเกณฑ์การธนาคาร ภาษี ไปจนถึงการปกครองท้องถิ่น


รสช.ได้ยกเลิกกฎอัยการศึก อนุญาตสื่อสิ่งพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ได้พอประมาณ แต่วิทยุและโทรทัศน์ยังคงถูกควบคุมอย่างเข้มงวด บางคนเชื่อว่านี่คือรัฐบาลในฝันสำหรับประเทศไทย คือ กองทัพมีวินัยและเป็นระเบียบ นักวิชาการทำงานด้วยความเสียสละ โดยมีพระเจ้าอยู่หัวทรงคอยดูแลอย่างเป็นห่วงเป็นใย แต่มีวาระไม่นาน เนื่องจากมีร่างรัฐธรรมนูญใหม่และกำหนดการเลือกตั้งไม่เกินเมษายน 2535 ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจรสช.ที่แทรกแซงโครงการต่างๆเพื่อหาผลประโยชน์ นายบรรหารเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยแทนพลเอกชาติชาย และรับใช้ รสช.

ผ่านไปได้หกเดือน คนไทยส่วนใหญ่ก็ได้รู้ได้เห็นว่า รสช. เป็นแค่แก๊งทหารขี้โกง แบบเดิมๆ อีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่พระเจ้าอยู่หัวที่เคยโจมตีรัฐบาลชาติชาย กลับทรงเงียบกริบไม่วิจารณ์พวกคณะยึดอำนาจรสช. แม้แต่น้อย


ขณะที่ รสช.สนับสนุนวังอย่างเต็มที่ โดยจัดงานเอิกเกริกและเข้าร่วมงานเลี้ยงส่วนพระองค์ในพระราชวัง โรงเรียนนายร้อย จปร. ให้นักเรียนนายร้อย 117 คนบวชถวายในโอกาสที่ฟ้าหญิงสิรินธรมีพระชนม์ครบสามรอบ วันที่ 2 เมษายน 2535 กองทัพอากาศถวายเครื่องบินไอพ่นเอฟ 16 เอ (F-16A ) แด่ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ ทั้งๆยังไม่ถึงขั้นที่จะบินด้วยพระองค์เอง ต้นปี 2535 รสช. ถวายพระยศแด่ฟ้าชายวชิราลงกรณ์เป็นนายพลสี่ดาวหรือพลเอกของทั้งกองทัพบก เรือและอากาศ และทรงเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ภายใต้การบังคับบัญชาของผบ. สูงสุด คือพลเอกสุจินดา
กุมภาพันธ์ 2535 พลเอกสุจินดาบริจาคที่ดินของกองทัพเกือบสิบไร่ให้วังนนทบุรี หรือพระตำหนักนนทบุรีของฟ้าชายกันยายน 2534 พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เกษียณราชการ พลเอกสุจินดาควบตำแหน่งผบ.สูงสุด ทำให้แก๊งจปร.5 ผงาดคุมกองทัพอย่างเบ็ดเสร็จ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ.ตั้งพรรคสามัคคีธรรม และจับมือกับพรรคชาติไทยที่ยกตำแหน่งหัวหน้าพรรคให้นายพลจอมทุจริต พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ พล.อ.อ.เกษตรเปิดเผยว่าจะให้ทหารเป็นนายกฯ หมายถึงพลเอกสุจินดาหรือไม่ก็ตัวเขาเอง แต่พลเอกสุจินดาเผลอลั่นปากไปว่าตนจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รสช.ต้องการรัฐธรรมนูญแบบปี 2521 ที่ให้อภิสิทธิ์แก่กองทัพในบทเฉพาะกาล อย่างที่พลเอกเปรมเคยพยายามให้บัญญัติเป็นการถาวร ทั้งเพิ่มอำนาจและขนาดของวุฒิสภาเพื่อควบคุมรัฐบาลโดยใช้เสียงของสส.อีกไม่กี่คน พรรคสามัคคีธรรมของพล.อ.อ.เกษตรรับหน้าที่จับมือกับสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากรสช.เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง มีประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภาเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีได้ ร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระแรกไปได้ด้วยเสียงเอกฉันท์ในสภานิติบัญญัติที่มีแต่คนของทหาร 19 พฤศจิกายน 2534 มีคนมาประท้วงที่สนามหลวงอย่างน้อย 50,000 คน ร่างรัฐธรรมนูญที่อัปลักษณ์ถูกต่อต้านอย่างหนัก สื่อโจมตีรสช.อย่างไม่กลัวเกรงและนักศึกษาก็เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้อง

พระเจ้าอยู่หัวทรงประทับเบื้องหลังรัฐบาลอานันท์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้นายกอานันท์และ พลเอกสุจินดาเข้าเฝ้าเป็นประจำ ในการเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ รับพระราชทานยศ 5 พฤศจิกายน 2534 ได้มีพระบรมราโชวาทต่อนายทหารนายตำรวจ ให้เพิกเฉยต่อคำวิจารณ์ที่ว่า กองทัพควรลดขนาดลงเพราะสงครามในอินโดจีนสิ้นสุดลงแล้วเพราะกองทัพได้สู้ศึกสงคราม รักษาสันติภาพ สร้างความเจริญและความผาสุกแก่ประชาชน ที่กองทัพทำได้ดีและจะต้องดำเนินต่อไป

เมื่อกำหนดการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวาระสามในวันที่ 7 ธันวาคม 2535 ใกล้เข้ามา กระแสคัดค้านเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์ในกรุงเทพตึงเครียดและอาจเกิดการปะทะ พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงช่วยรสช.อีก โดยมีพระบรมราโชวาทประจำปี 4 ธันวาคม 2534 ทรงโจมตีหลักการประชาธิปไตยว่าเป็นเพียงแค่อุดมคติของพวกหัวสูงที่อาจทำให้สังคมอ่อนแอ ไม่ควรยึดรัฐธรรมนูญเพราะเป็นเรื่องไม่จีรังยั่งยืนและไม่มีคุณค่าพอที่จะต้องต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญ ทรงตรัสว่ารสช.ไม่ได้เป็นฝ่ายยั่วยุให้เกิดเรื่อง หากแต่เป็นฝ่ายตรงข้ามรสช.ที่ทำให้เกิดปัญหา ทรงมีพระบรมราโชวาทเรื่อยเปื่อยเป็นชั่วโมงตามแบบฉบับของพระองค์ โดยทรงกระโดดจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนพระแก่ๆที่นั่งเทศน์หรือพล่ามอยู่บนธรรมาสน์ ทรงฝึกฝนลีลาการเทศนาแบบนี้มานานหลายสิบปี

ทรงย้ำว่าประเทศไทยได้รับเอาความคิดที่ไม่เหมาะสมจากต่างประเทศ เราจำต้องรู้รักสามัคคีเพื่อจะอยู่รอดต่อไป หมายถึงการประนีประนอมปรองดอง ยอมรับในสิ่งที่ยอมรับได้ แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ก็ตาม ไม่มีอะไรสมบูรณ์พร้อม เราจึงต้องใช้สิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เพื่อความสมานฉันท์และความอยู่รอดของประเทศชาติ ประเทศที่ยึดมั่นในหลักการที่สมบูรณ์แบบอย่างแข็งตัวอาจพังทลายได้

ช่วงสามปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าหลายประเทศในโลกที่ยึดมั่นในหลักการอย่างเหนียวแน่นได้ล่มสลายลงไปแล้ว จึงทรงตั้งคำถามว่า แล้วประเทศไทยจะล่มสลายตามไปด้วยหรือไม่ ทรงอธิบายเถไถไปถึงเรื่องแนวทางของพระองค์ว่าเป็นแนวทางที่สุดยอด ทรงเรียกว่า วิถีทางของคนยากคนจนคือการเสียสละมาก่อนผลประโยชน์ใดๆ

โครงการหลวงของพระองค์คือตัวอย่างที่ดี เราเสียคือเราได้ การทำตามอย่างประเทศร่ำรวยนั้นไม่ดี เรามีพอเพียงที่จะอยู่รอด ถ้าเรากลายเป็นประเทศที่เจริญแล้วเราก็จะถอยหลัง ประเทศที่เจริญทางอุตสาหกรรมมีแต่ถอยหลัง ถ้าเรามีระบอบแบบคนจน แต่มีความสามัคคีถ้อยทีถ้อยอาศัย เราก็จะอยู่รอดตลอดไป

ทรงยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯในเมืองนิวยอร์คที่มีระบบรัฐสวัสดิการ คือ การจ่ายให้คนที่ไม่ต้องทำงาน ดังนั้นคนจึงไม่มีแรงกระตุ้นที่จะทำงาน จึงไม่เกิดประโยชน์แก่สังคมและแก่ประชาชน ถ้าเรายึดตามกฎหมายอย่างนี้ ก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณ ตรงกันข้ามกับโครงการส่วนพระองค์ที่ทรงหลีกเลี่ยงหลักการจากต่างชาติ คล่องตัวมีประสิทธิภาพสามารถช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่ารัฐบาล

ประชาชนจะมีรายได้ตอนสิ้นปีมากพอ ไม่ต้องพึ่งรัฐสวัสดิการ เป็นหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริ คนที่บริจาคให้โครงการหลวง เมื่อได้เห็นความสำเร็จก็จะยิ่งบริจาคมากขึ้นไปอีก เป็นวงจรมหัศจรรย์ของการร่วมเสด็จพระราชกุศล ที่ทำให้การให้เป็นการได้ แล้วก็ทรงวกกลับมาสาธยายเปรียบเปรยว่า ประชาชนจะเลือกใครเป็นตัวแทนก็ได้ในระบบที่มีนายกรัฐมนตรีซี่งพระองค์ไม่แน่พระทัยว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงก็ทำได้เพียงแค่หามติร่วมกัน แต่อย่าสู้กันถึงขั้นเลือดตกยางออก
ประเด็นหลักของพระเจ้าอยู่หัวก็คือทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดดีอยู่แล้ว ปัญหาต่างๆสามารถแก้ไขได้ในภายหลัง ประเทศอื่นๆก็มักจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎเกณฑ์อยู่เสมอและไม่ได้ยึดติดอย่างเอาเป็นเอาตาย ทรงอ้างสหรัฐยังต้องมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุกๆสี่ปี และแม้แต่สหรัฐก็ยังเคยมีการรัฐประหาร คือ มีประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง(ที่จริงคือรองประธานาธิบดีเจอรัลด์ฟอร์ด Gerald Ford ขึ้นเป็นประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากประธานาธิบดีนิกสันลาออกก่อนหมดวาระ)

โดยทรงยกกรณีการลาออกของประธานาธิบดีนิกสันกรณีวอเตอร์เกต เป็นการตีความของในหลวงที่แปลกประหลาดอย่างข้างๆคูๆ เพื่อรับใช้หลักการที่ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยของพระองค์ (เพราะริชาร์ด นิกสันเป็นประธานาธิบดีคนแรก และคนเดียวที่ลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 9 สิงหาคม 2517 ก่อนที่สภาจะลงมติถอดถอน เนื่องจากเขามีส่วนเกี่ยวข้องในคดีวอเตอร์เกต เรื่องการดักฟังและขโมยเอกสารลับของพรรคเดโมแครต ในอาคารวอเตอร์เกต กรุงวอชิงตันโดยรองประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนจนครบวาระตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐ)

ทรงสรุปว่า ทุกอย่างแก้ไขได้ แต่ต้องไม่ต่อสู้กันถึงหัวร้างข้างแตก เลือดตกยางออก พูดอย่างนี้เพราะในเวลานี้เรากำลังปวดหัวว่า จะแก้ ไม่แก้ดี หรือ รับหรือไม่รับ หรือ รับแล้วคอยแก้ หรือ แก้แล้วคอยรับ ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร ถ้ามันใช้การได้ดี ก็ใช้ไป ถ้าใช้ไม่ดี ไม่ราบลื่น ก็แก้ไขได้ และหนทางในการแก้ไขก็ไม่ยากเย็น ทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ยาก และการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นไม่มีอะไรยืนยงถาวร รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องสำคัญ เป็นสิ่งอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ หากไม่สามัคคีวันนี้ ก็จะไม่มีวันพรุ่งนี้ แม้จะต้องตีความปริศนาธรรมจากพระราชดำรัสที่แสนจะยืดยาวและวกวน แต่ทุกคนก็เข้าใจดีว่าทรงสนับสนุนรัฐธรรมนูญของรสช. ในวันถัดมาหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่พาดหัวทำนองเดียวกับบางกอกโพสท์ Bangkok Post ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกร้องให้ประนีประนอมรับรัฐธรรมนูญ

ฝ่ายค้านที่อ่อนแรงก็ยอมแพ้ และสามวันต่อมารัฐธรรมนูญฉบับรสช. ก็ผ่านการลงมติด้วยเสียง 262-7 แม้แต่นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในสภา ก็ยังต้องยอมยกมือให้ผ่าน เพราะเกรงพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าอยู่หัว รสช.ก็ได้สนองพระราชประสงค์ เช่น เพิ่มจำนวนองคมนตรีเป็น 19 จาก 16 คน ขบวนประชาธิปไตยทราบดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างน้อยอีกหลายปี พรรคใหญ่ๆเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 โดยทุ่มทุนซื้อ สส.และซื้อเสียง

พรรคสามัคคีธรรมกับพรรคชาติไทยของรสช.พยายามเอาชนะการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 ด้วยการกว้านเอานักการเมืองที่มีอิทธิพลและฉ้อโกงที่สุดในประเทศเข้ามาไว้ด้วยกัน พรรคสามัคคีธรรม ได้นายณรงค์ วงศ์วรรณ เจ้าพ่อภาคเหนือที่มีสส.จำนวนมากในสังกัดมาเป็นหัวหน้าพรรคได้สส.มากเป็นอันดับหนึ่ง 79 ที่นั่ง อีกฝั่งหนึ่งเป็นพันธมิตรต่อต้าน รสช.คือพรรคความหวังใหม่ของพลเอกชวลิต พรรคประชาธิปัตย์โดยนายชวน หลีกภัย และพรรคพลังธรรมของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่ากทม. หาเสียงด้วยการเรียกร้องประชาธิปไตยและลดอำนาจทหาร โดยเน้นว่านายกฯต้องมาจากสส. ทำให้จุดสนใจพุ่งไปที่พลเอกสุจินดาที่ไม่ได้ลงเลือกตั้ง และได้ยืนยันว่าจะไม่เป็นนายกฯรสช.แต่งตั้งวุฒิสมาชิกเต็มไปด้วยทหารตำรวจและพลเรือนที่เป็นพวกของรสช.จากทั้งหมด 270 คน พรรคของรสช.ชนะการเลือกตั้งอย่างหวุดหวิด คืนนั้นพลเอกสุนทรกับพล.อ.อ.เกษตรเรียกหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ชาติไทย กิจสังคม และประชากรไทประชุมที่กองทัพอากาศเพื่อตั้งรัฐบาลโดยเสนอชื่อนายณรงค์ วงษ์วรรณหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมเป็นนายกฯ
แต่สามวันต่อมา สถานทูตสหรัฐฯ เปิดเผยว่านายณรงค์เคยถูกปฏิเสธวีซ่า เนื่องจากถูกสงสัยว่าพัวพันกับแก๊งค้าเฮโรอีน พอวันที่ 3 เมษายน 2535 พวกรสช.จึงเสนอชื่อพลเอกสุจินดาแทน เท่ากับเป็นการทำรัฐประหารซ้ำ พรรคฝ่ายค้าน 4 พรรคโจมตีรัฐบาล นักศึกษาห่อคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยผ้าสีดำเพื่อสื่อถึงความตายของประชาธิปไตย


วันที่ 7 เมษายน 2535 พลเอกสุนทรกับนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาฯเสนอชื่อพลเอกสุจินดา พระเจ้าอยู่หัว
ภูมิพลก็ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพลเอกสุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ใส่พระทัยเสียงคัดค้านของประชาชน




วันถัดมา เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ประกาศอดอาหารประท้วงที่หน้ารัฐสภาจนกว่าพลเอกสุจินดาจะลาออก เรืออากาศตรีฉลาดเคยประท้วงพลเอกเปรมในลักษณะเดียวกันเมื่อสองปีก่อน ได้จุดชนวนการต่อต้านรัฐบาลสุจินดา นักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ เข้าร่วมการอดอาหารประท้วง พวกเขาต้องเผชิญการก่อกวนและคุกคามจากอันพาลพวกกระทิงแดง

มีผู้ออกมาประท้วงเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน 16 เมษายน 2535 เมื่อสภาเปิด โทรทัศน์แพร่ภาพฝ่ายค้านสวมชุดดำเป็นการประท้วง วันถัดมามีการประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยสุจินดาควบกระทรวงกลาโหม ตั้งแก๊งจปร.5 ในตำแหน่งสำคัญๆ เลือกนักวิชาการสมัยเปรมและอานันท์มาดูแลด้านเศรษฐกิจ มีรัฐมนตรี 11 คนที่เป็นส.ส.ในรัฐบาลชาติชายที่รสช.เคยกล่าวหาว่าทุจริต
มีผู้อดข้าวประท้วง ร่วมกับเรืออากาศตรีฉลาด เพิ่มขึ้นกว่า 40 คน วันที่ 20 เมษายน 2535 พรรคฝ่ายค้านจัดชุมนุมประท้วงสุจินดาหน้ารัฐสภาโดยมีผู้มาร่วมถึง 50,000 คน นายชวนกับพลเอกชวลิต เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง เพิ่มอำนาจสภาผู้แทนฯ และลดขนาดวุฒิสภาลง แม้รัฐบาลสั่งห้ามสื่อวิทยุโทรทัศน์รายงานการชุมนุม หนังสือพิมพ์ก็รายงานเต็มเหยียด ในที่สุดเรืออากาศตรีฉลาดก็ล้มทรุดในวันที่ 30 เมษายน 2535 และถูกหามส่งโรงพยาบาล ผู้ร่วมประท้วงด้วยการอดอาหารก็เริ่มจะหมดแรง

มีการชุมนุมประท้วงสุจินดาครั้งใหญ่ ที่สนามหลวง ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2535 หนึ่งวันก่อนวันฉัตรมงคล คืนนั้นผู้ชุมนุมราว 60,000 คน นักการเมืองฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหวประณามกองทัพกับพลเอกสุจินดา เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พลตรีจำลองหัวหน้าพรรคพลังธรรมอ่าน จดหมายฉบับสุดท้ายจากจำลอง ศรีเมือง ประกาศจะประท้วงอดอาหารด้วยโดยจะดื่มแต่น้ำเท่านั้น โดยเอาชีวิตของตนเป็นเดิมพัน ทำให้มวลชนสะเทือนใจ รัฐบาลกับวังตกใจมาก พลตรีจำลอง จปร.7 ที่ใช้ชีวิตเหมือนนักบวช เป็นตัวประหลาด ที่หลายคนถือว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ การประกาศจะอดอาหารจนตาย เป็นการยืนยันต่อสู้ฝ่ายรสช.ถึงที่สุดซึ่งเป็นเรื่องแปลกไม่เหมือนคนไทยทั่วไป

รัฐบาลสุจินดาพยามรับมือพลตรีจำลองด้วยการห้ามสื่อรายงานข่าว โทรทัศน์รายงานแต่เพียงรัฐมนตรีกับพระพยอม ที่วิจารณ์พฤติกรรมของพลตรีจำลองว่าเป็นภัยต่อชาติ ศาสนาและพระมหา กษัตริย์ นายปีย์ มาลากุล ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านสื่อประชาสัมพันธ์ของในหลวงภูมิพลได้ให้วิทยุจส.100 ของตนโจมตีพลตรีจำลองกับผู้ชุมนุม ใครที่โทรเข้ารายการแล้ววิจารณ์รัฐบาลจะถูกตัดสาย
6 พฤษ ภาคม 2535 เมื่อนายกสุจินดาเริ่มแถลงนโยบายโดยแพร่ภาพสดทางโทรทัศน์ ฝ่ายค้านก็ประท้วงเดินออกจากห้องประชุม คืนนั้น ผู้ประท้วง 80,000 คน ชุมนุมอย่างสงบบริเวณใกล้รัฐสภา ขณะที่ภรรยาของพลตรีจำลองและคนอื่นๆเข้าร่วมการอดอาหาร มีการถวายฎีกาต่อพระเจ้าอยู่หัวโดยกลุ่มนักวิชาการ ที่นำโดยนายแพทย์ประเวศ วะสี นักปฏิบัติธรรมและนักเรียนทุนอานันทมหิดลคนแรกที่รู้จักกับในหลวงภูมิพลและเคยถวายการรักษาเป็นบางครั้ง พวกเขากราบบังคมทูลว่าทหารได้ทรยศต่อความเชื่อถือของประชาชนด้วยการสืบทอดอำนาจและบ่อนทำลายประชาธิปไตย ถ้าพลตรีจำลองตาย จะเกิดการนองเลือด แต่ในหลวงทรงนิ่งเฉย ขณะที่กองทัพได้วางแผนไว้แล้ว



โดยพลเอก
อิสระพงษ์ หนุนภักดี ผบ.ทบ.คนใหม่พี่เมียของนายกสุจินดาได้ประชุมกับตำรวจและทหารที่ดูแลความมั่นคงในกรุงเทพฯ เพื่อกำหนดแผนไพรีพินาศ สั่งทหารติดอาวุธกว่าพันนายให้เคลื่อนเข้ากรุงเทพฯเตรียมพร้อมปฏิบัติการ


วันถัดมาฝ่ายค้าน อภิปรายการแถลง นโยบาย รัฐบาล นายกสุจินดาชี้แจงขณะโทรทัศน์ถ่ายทอดสด กล่าวประณามอย่างดุเดือดโจมตีพลตรีจำลองว่าทำลายพุทธศาสนา ส่วน พลเอกชวลิตก็เป็นคอมมิวนิสต์นิยมระบอบประธานาธิบดี และประกาศว่าตนมีหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนาพุทธ และพระมหากษัตริย์จากภัยคุกคามเหล่านี้ คนทั้งกรุงเทพฯตกตะลึงกับการแถลงที่เข้มข้นเผ็ดร้อนของนายกสุจินดา ตลาดหุ้นตกวูบ สภาต้องยุติการประชุมอย่างโกลาหล นายกสุจินดาประกาศพร้อมสู้เพราะมีกำลังอาวุธพร้อมแผนปฏิบัติการ

การตอบโต้กล่าวหาในสภาของนายกสุจินดา ทำให้คนออกมาร่วมชุมนุมราว 70,000 คน ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 โดยไม่สนใจคำประกาศของพล.อ.อ.เกษตร ที่สั่งห้ามการชุมนุมโดยเด็ดขาด วันถัดมา นักวิชาการกว่า 200 คนถวายฎีกาต่อพระเจ้าอยู่หัวเรียกร้องให้ยุบสภาหรือให้นายกสุจินดาลาออก แต่ช่องทางติดต่อวังถูกปิดเกือบหมด เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่อยากเป็นธุระ แต่พลตรีจำลองกับพลเอกชวลิตได้ต่อสายตรงติดต่อพลเอกเปรม ทำให้มั่นใจได้ว่าในหลวงทรงได้รับทราบความคิดของพวกเขา ขณะที่นายกสุจินดายังคงท่องบทองครักษ์พิทักษ์พระเจ้าอยู่หัว วิทยุและโทรทัศน์ที่อยู่ในการควบคุมของกองทัพปลุกระดมว่าพลตรีจำลองกับพลเอกชวลิตเป็นคอมมิวนิสต์ นิยมระบอบสาธารณรัฐและประธานาธิบดี ต่อต้านศาสนาพุทธ ไม่เป็นไทย

ในหลวงทรงปฏิเสธไม่ให้ฝ่ายประท้วงเข้าเฝ้าฯ แต่ทรงโปรดฯให้นายกสุจินดากับผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯ นายกสุจินดาแถลงทางโทรทัศน์ว่าตนจะไม่ลาออก แต่จะไม่สั่งสลายการชุมนุม และประกาศเตรียมสนามหลวงสำหรับพิธีทางศาสนาที่ฟ้าหญิงสิรินธรจะเสด็จในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม และ14 พฤษภาคม 2535 จะมีพระราชพิธีพืชมงคล เข้าใจว่าคงเป็นผลจากการเข้าเฝ้าโดยทางวังร่วมมือกับรสช.หาเรื่องขัดขวางการชุมนุม หัวค่ำของวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม 2535 มีผู้ชุมนมที่สนามหลวงกว่า 100,000 คน พลตรีจำลองบอกผู้ชุมนุมให้เดินไปรัฐสภา แต่ไปเจอแผงรั้วลวดหนามที่สะพานผ่านฟ้า ด้านหลังเป็นแถวทหารติดอาวุธพร้อมรบ เช้าวันถัดมาพลตรีจำลองที่อ่อนระโหยได้ประกาศเลิกอดอาหาร ขณะที่รัฐบาลขู่จะกวาดล้างเพื่อเปิดถนนในเช้าวันจันทร์

ถึงตอนนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงให้พรรคการเมืองยอมประนีประนอมกัน โดยตกลงในประเด็นที่จะมีการแก้ไขให้นายกฯมาจากสส. ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ให้สภาผู้แทนฯ มีอำนาจมากขึ้น แต่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ให้สัญญาชัดเจนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อใด ผู้ประท้วงราว 25,000 คนจึงยังคงชุมนุมอยู่บนถนน
ในวันถัดมาคือวันอาทิตย์10 พฤษภาคม 2535 บ่ายวันนั้น รัฐบาลบอกว่า ผู้ชุมนุมขัดขวางเส้นทางเสด็จของฟ้าหญิงสิรินธร และละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ สถานีวิทยุ จส. 100 ของนายปีย์ มาลากุลรายงานว่าผู้ประท้วงที่นำโดยพลตรีจำลองกำลังขัดขวางเส้นทางเสด็จ ทั้งๆที่พลตรีจำลองได้สั่งผู้ชุมนุมเก็บกวาดถนนราชดำเนินจนโล่งสะอาด แต่ขบวนเสด็จกลับเปลี่ยนเส้นทางอ้อมไปทางอื่นเป็นไปตามข้อกล่าวหาของรัฐบาลสุจินดา ผู้ชุมนุมเพิ่มจำนวนขึ้น กลางดึกคืนวันอาทิตย์พรรคร่วมรัฐบาลจึงยอมรับปากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ทหารจะเคลื่อนกำลังเข้าปราบ ผู้ชุมนุมก็สลายตัวก่อน

พอคืนวันจันทร์ ที่ 11 พฤษ ภาคม 2535 นายบรรหารกับพล.อ.อ.เกษตร กลับคำและประกาศว่าไม่เคยมีการตกลงใดๆ เท่ากับปฏิเสธคำขอของพระเจ้าอยู่หัว นายกสุจินดาขู่จะใช้กำลังเด็ดขาดหากผู้ชุมนุมก่อความรุนแรง แต่เป็นช่วงวิสาขบูชาและผู้นำได้ประกาศลดการชุมนุมและใช้คำนุ่มนวลขึ้น พฤหัสบดี ที่ 14 พฤษภาคม 2535 เป็นวันพืชมงคล ขบวนประชาธิปไตยพากันสงบปากสงบคำเมื่อพระเจ้าอยู่หัว ฟ้าชายวชิราลงกรณ์และฟ้าหญิงสิรินธรเสด็จเป็นประธานพระราชพิธีพืชมงคลที่สนามหลวงและเมื่อเสด็จวัดพระแก้วในวันเสาร์เพื่อทำพิธีวันวิสาขบูชา ผู้ประท้วงต้องถอยออกไปด้วยความยำเกรงในพระบรมเดชานุภาพ
แต่เมื่อรัฐบาลสุจินดากลับคำไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ผู้ประท้วงก็กลับมาในวันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม 2535 นำโดยองค์กรใหม่คือ สมาพันธ์ประชาธิปไตย ที่มีฐานสนับสนุนกว้างกว่าเดิมทั้งผู้นำเอ็นจีโอ ผู้นำแรงงาน ผู้นำนักศึกษา และหัวหน้าพรรคการเมืองคือพลตรีจำลองและพลเอกชวลิต เดินหน้าเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญและให้นายกสุจินดาลาออก นายกสุจินดาให้ พล.ต.ท.บุญชู วังกานนท์ จปร. 5 ผู้โหดเหี้ยมมาจัดการกับผู้ประท้วง และวางกำลังทหาร 40,000 นายรอบกรุงเทพและตั้งจุดตรวจรอบสวนจิตรฯ อย่างแน่นหนา

สองทุ่มของวันที่ 17 พฤษภาคม ฝูงชนที่สนามหลวงเพิ่มเป็น 150,000 คน สมาพันธ์ประชาธิปไตย ให้เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล เข้ารื้อลวดหนามและยึดรถดับเพลิงที่ฉีดน้ำใส่ฝูงชน ตำรวจจงใจแตกฮือหลบหนีเพื่อให้ทหารเข้าปฏิบัติการตามแผน รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน

ทหารพร้อมอาวุธ และรถหุ้มเกราะเตรียมปฏิบัติการ มีคนเผารถหลายคันรวมทั้งสถานีตำรวจ ตีสี่ของวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ทหารเคลื่อนที่ สาดกระสุนเข้าใส่ฝูงชนที่แตกตื่นหลบหนี มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน พอตอนเช้ามีการฉีดน้ำล้างเลือดบนถนน โทรทัศน์รายงานว่าผู้ประท้วงพยายามบุกเข้าวังสวนจิตรดา กองทัพอ้างว่าผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายยิงก่อน

ซึ่งเป็นเรื่องโกหกทั้งสิ้น ไม่มีการยิงจากฝ่ายผู้ชุมนุม ไม่มีการพบปืนหรือมีด ไม่มีใครไปใกล้วังสวนจิตร และไม่มีใครตั้งใจจะไป อีกทั้งยังไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องสลายฝูงชน เพราะวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม 2535 เป็นวันหยุดวิสาขบูชา ไม่มีใครมาทำงานในถนนราชดำเนิน ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดี คล้ายกับว่าพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงรับรู้สภาพ พลเอกสุจินดาประกาศทางโทรทัศน์ว่า ผู้ประท้วงของพลตรีจำลองมีปืนและคุกคามวัง

บ่ายต้นๆ ของวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม 2535 หลังจากพลตรีจำลองและผู้ชุมนุมหลายพันคนกลับมานั่งประท้วงบนถนนราชดำเนินอีกครั้ง ทหารเคลื่อนกำลังเข้าจับพวกเขา หลายคนถูกยิง


เย็นวันนั้น ฝูงชนกลับมารวมตัวกันที่สนามหลวง พอมืด ทหารวางกำลังโอบล้อมบริเวณที่ชุมนุม ทหารเริ่มยิงเมื่อผู้ชุมนุมจุดไฟเผารถเมล์หลายคันและเริ่มดันรถพุ่งไปยังเครื่องกีดขวาง นักแม่นปืนที่อยู่บนหลังคาคอยส่องยิงผู้ประท้วง ทหารบนถนนก็ยิงเข้าใส่ฝูงชนอยู่หลายรอบ ผู้ประท้วงหลายสิบคนโดนกระสุน และตายไปหลายคน

หลังเที่ยงคืน ทหารเข้ากวาดล้างที่ชุมนุมทั้งหมด และออกหมายจับผู้นำสมาพันธ์ประชาธิปไตย ผู้คนเริ่มถามว่าพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ไหน ทำไมจึงไม่ทรงยุติสถานการณ์ ทรงสนับสนุนพลเอกสุจินดา หรือว่าทรงถูกขัดขวางโดยทหารและรถหุ้มเกราะที่ล้อมวัง มีข่าวลือว่าพระเจ้าอยู่หัวถูกทหารคุมตัว หรือไม่ก็ทรงเสด็จหนีไปนครราชสีมาพร้อมกับพลเอกเปรมเหมือนในปี 2524 เพื่อรวบรวมกำลังทหารมาสู้กับรัฐบาลสุจินดา ผู้คนยังเชื่อมั่นว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่มีทางเข้าข้างพลเอกสุจินดา





ตลอดวันอังคารที่ 19 พฤษภาคม 2535
ไม่แน่ชัดว่าพระเจ้าอยู่หัวอยู่ฝ่ายใด ฟ้าชายวชิราลงกรณ์เสด็จสนามบินเพื่อเยือนเกาหลีใต้ด้วยการคุ้มกันหนาแน่นหนาโดยพล.อ.อ.เกษตร


ฟ้าหญิง สิรินธร ได้เสด็จปารีสอย่างเป็นทางการพร้อมกับเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เกิดเสียงเรียกร้องให้พระเจ้าอยู่หัวทรงออกมาช่วยแก้ไขสถานการณ์ พระญาณสังวรนำมหาเถรสมาคมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดฆ่ากัน แม้ว่าไม่มีใครในฝ่ายรัฐบาลสุจินดาถูกฆ่าเลยก็ตาม ฟ้าหญิงสิรินธรทรงวิงวอนขอความสงบความสามัคคีจากปารีส ทรงบอกว่าพระองค์ได้พยายามโทรหาในหลวงแต่ติดต่อไม่ได้ นายกสุจินดาออกโทรทัศน์ปฏิเสธว่าทั้งเขาและพระราชวงศ์ไม่ได้หนีจากกรุงเทพฯ และประณามพลเอกชวลิตและพลตรีจำลองว่าทำลายพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์

วันถัดมา 20 พฤษภาคม 2535 กำลังของพลเอกสุจินดาได้คุมกรุงเทพฯชั้นในและมีการยิงต่อสู้กันประปราย พลเอกสุจินดาแถลงทางโทรทัศน์ว่าควบคุมสถานการณ์ได้ พร้อมหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลนายณรงค์ นายบรรหาร นายสมัคร นายสมัครยืนยันว่ายิงประชาชนได้เพราะเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ค่ำวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 ผู้ประท้วงหลายหมื่นคนรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทหารเริ่มเคลื่อนย้ายกำลังไปทางนั้น

พอสี่ทุ่มเศษโทรทัศน์แพร่ภาพมัว เสียงอู้อี้ พระเจ้าอยู่หัวประทับนั่งบนเก้าอี้ พลเอกเปรมกับนายสัญญาคุกเข่าอยู่สองข้าง พลตรีจำลองกับพลเอกสุจินดานั่งพับเพียบค้อมตัวอยู่บนพื้น เบื้องหน้าพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชวาทว่า คงไม่เป็นที่แปลกใจ ทำไมถึงเชิญให้ท่านมาพบกันอย่างนี้ แต่ที่จะแปลกใจก็อาจมีว่าทำไมเชิญพลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง เพราะว่า อาจมีผู้ที่แสดงเป็นตัวละครมากกว่านี้ แต่ว่าที่เชิญมาเพราะว่า ตั้งแต่แรกที่มีเหตุการณ์ สองท่านเป็นผู้ที่เผชิญหน้ากัน แล้วก็ในที่สุด เป็นการต่อสู้หรือการเผชิญหน้ากว้างขวางขึ้น...

การที่จะเป็นไปอย่างนี้ต่อไป จะเป็นเหตุผลหรือต้นตออย่างไรก็ช่าง เพราะเดี๋ยวนี้เหตุผลเปลี่ยนไป ถ้าหากว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไป เมืองไทยมีแต่ล่มจมลงไป ตรัสว่า บางคนได้เสนอทางแก้ปัญหาด้วยการยุบสภาแล้วจัดเลือกตั้งใหม่ แต่ทรงอ้างว่าพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดปฏิเสธจึงทำไม่ได้ ทรงให้นายกสุจินดาเข้าเฝ้าและนายกสุจินดาเห็นด้วยว่า ควรจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และแก้ไขต่อไปได้ พลเอกสุจินดายืนยันว่า แก้ไขได้ ก็ค่อยๆแก้ให้เป็นประชาธิปไตย ทั้งๆที่พระเจ้าอยู่หัวสนับสนุนและปกป้องรัฐธรรมนูญของรสช.มาโดยตลอด

แต่ด้วยความกลัวว่าประเทศจะล่มจม ทรงตรัสว่า ฉะนั้นก็ขอให้โดยเฉพาะสองท่าน คือพลเอกสุจินดา และพลตรีจำลองช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง ....ให้หันหน้าเข้ากันและช่วยกันแก้ปัญหา และก็เชื่อว่าทั้งสองท่าน ก็เข้าใจว่า จะเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศจากซากปรักหักพัง แล้วก็จะได้ผลในส่วนตัวมาก ว่าได้ทำดี แก้ไขอย่างไรก็แล้วแต่ที่จะปรึกษากัน ก็มีข้อสังเกตดังนี้

เนื่องจากเสียงทางโทรทัศน์แย่มาก สำหรับประชาชนผู้ชมแล้ว ภาพใหญ่ที่ได้เห็นคือพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้พลตรีจำลองและพลเอกสุจินดามานั่งอยู่แทบพระบาท โดยมีพลเอกเปรมและนายสัญญาขนาบข้างเป็นการแสดงพระบรมเดชานุภาพที่ไม่มีใครสามารถบังอาจโต้แย้งพระเจ้าอยู่หัวได้ มีคนไม่มากที่สังเกตและจับประเด็นพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตำหนิพลตรีจำลองกับขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย เพราะพวกเขาไม่รับฟังพระบรมราโชวาท 4 ธันวาคม ของในหลวงที่ให้ค่อยๆ แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ซึ่งพระองค์เองก็ไม่เคยเห็นความจำเป็นของการแก้ไขอยู่นั่นเอง แต่พลเอกสุจินดารับสนองพระบรมราโชวาทและยืนยันว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วทำไมถึงยังออกมาต่อสู้บนท้องถนนกันอยู่อีก ทั้งๆที่พระองค์น่าจะทรงรู้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้เลยเนื่องจากกองทัพครอบงำวุฒิสภา แต่พระเจ้าอยู่หัวกลับทรงบิดเบือนประเด็นให้เป็นเรื่องของความอาฆาตพยาบาทส่วนตัวของพลตรีจำลอง
วันถัดมา ทั่วทั้งโลกพากันตะลึง และชื่นชมการแสดงพระอัจฉริยภาพของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ความรุนแรงและการประท้วงหยุดลง นายกสุจินดาถูกสั่งให้ลาออก พรรคการเมืองต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พลตรีจำลองหายหน้าหายตาไป แต่พลเอกสุจินดา พล.อ.อ.เกษตรและพลเอกอิสระพงษ์ยืนยันว่าการกระทำของพวกตนถูกต้องตามกฎหมายและจำเป็นเพื่อป้องกันตัว พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯประกาศนิรโทษกรรมแก่พวกรสช.วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2535 สภาเปิดประชุมโดยมีมือกฎหมายของรสช.นายมีชัย ฤชุพันธ์ ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่งและที่สองไปอย่างรวดเร็ว 

สองสามวันต่อมา พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล 5 พรรค เสนอชื่อพล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทยเป็นนายกรัฐมนตรี แต่พอประธานสภาผู้แทนฯนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เสนอชื่อเข้าไป พระเจ้าอยู่หัวทรงเงียบเฉยถึงสองครั้ง วันที่ 10 มิถุนายน 2535 การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระสาม



นายอาทิตย์ก็เข้าวังเพื่อเสนอชื่อพล.อ.อ.สมบุญอีกครั้ง แต่พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แม้ว่านายอานันท์จะไม่ได้เป็นสส.แต่ก็เป็นนายกฯได้เพราะในหลวงยังมิได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ ในช่วงหลายเดือนต่อมา นายกอานันท์ได้คลี่คลายความตึงเครียดและประคองเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ เขายุบสภาและกำหนดให้มีการเลือกตั้งในเดือนกันยายน ซึ่งดำเนินไปค่อนข้างราบลื่น โดยพรรคการเมืองถูกแบ่งเป็นพรรคมารกับพรรคเทพ พรรคเทพหรือพรรคฝ่ายค้านเดิมเป็นฝ่ายชนะและได้จัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ และนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี เท่ากับเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของการเมืองไทย

พระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ได้ประทับเคียงข้างและสนับสนุนเผด็จการทหารที่ค้ำจุนบัลลังก์ของพระองค์มาโดยตลอด ในขณะที่ ทรงวิพากษณ์วิจารณ์ตำหนิติเตียนและต่อต้านผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งจงรักภักดีต่อพระองค์เสมอมา...เข้าทำนองเรารักในหลวงข้างเดียว แต่พระองค์ไม่เคยรักนักประชาธิปไตยแม้แต่น้อย พระองค์มีพระทัยรักและทรงปกป้องแต่พวกเผด็จการทหารที่รับใช้พระองค์ที่ใช้อำนาจทำให้บ้านเมืองมีแต่ความสงบราบคาบ ให้อยู่ใต้เบื้องพระยุคลบาทตลอดไปเท่านั้น......

..........................