ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/hRSNqAai/The_Royal_Legend_024_.html
หรือที่ : http://www.mediafire.com/?514cwn3f8imdn82
โปรดทราบ : ไฟล์เสียงที่เคยdownloadไม่ได้ บัดนี้ได้แก้ไขแล้ว โปรดลองเข้าที่linkใหม่
ในช่วงทศวรรษที่ 2490 จอมพลป.ได้รับความนิยมชมชอบมาก เป็นคนหน้าตาดีมีสง่าราศี มีความพยายามในการสร้างชาติซึ่งถูกใจใครหลายคน และยังชำนาญการแจกจ่ายซื้อใจคน จอมพลป.ได้กลายเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของวังแทนนายปรีดี แต่ต้องประคองตัวอยู่เหนือการแก่งแย่งทำลายกันเองในหมู่ขุนพล โดยพยายามทำให้ประชาชนยึดถือตนเป็นผู้นำ แต่ก็มักกระทบกระทั่งกับในหลวงภูมิพลอยู่เป็นประจำ
จอมพลป. คงเป็นคนเดียวที่มองเห็นอำนาจของการสั่งสมบุญญาบารมีของเจ้าตามประเพณี โดยพยายามยึดเอามาใช้ประโยชน์เพื่อตนเองในช่วงหลัง โดยต้องขันแข่งกับวังในพื้นที่ของวัง ซึ่งพวกเจ้าไม่มีวันยอม เช่น ในปี 2495 พวกเจ้าปฏิเสธคำขอของจอมพลป.ที่จะเป็นองคมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
กลายเป็นการแข่งขันการสร้างสมบุญบารมี โดยในหลวงภูมิพลถูกจำกัดอยู่แต่เฉพาะในเมืองหลวง จอมพลป.ก็ยกตัวเองเป็นพ่อขุนของประเทศ ออกเดินสายทั่วประเทศ แจกจ่ายเงินตามวัดและศูนย์สาธารณสุขต่างๆ พร้อมทั้งบริจาคพระพุทธรูปตามรายทาง
ในฐานะควบรัฐมนตรีวัฒนธรรม จอมพลป.ได้เชิดชูแนวคิดที่ว่าสุโขทัยไม่ได้มีกษัตริย์จริงๆ หากแต่เป็นแบบ พ่อปกครองลูก โดยไม่ให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สืบทางสายเลือด หมายความว่า จอมพลป.ก็มีสิทธิเป็นพ่อขุนได้
การแข่งขันบุญบารมีได้ลามไปถึงนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ จอมพลป. ขยับจะทำลายการถือครองที่ดินเนื้อที่มหาศาลในหมู่เจ้า ซึ่งเป็นชนชั้นปกครองเดิมลงไป ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เคยต่อสู้กันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลายฝ่ายเห็นว่าจำเป็น
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พวกเจ้าและขุนนาง แผ่ขยายการถือครองเรือกสวนไร่นา โดยเฉพาะในที่ราบภาคกลางที่อุดมสมบูรณ์และมีระบบชลประทานของรัฐ ตระกูลเจ้าหลายตระกูล โดยเฉพาะ สกุลสนิทวงศ์ พึ่งพารายได้จากการเก็บค่าเช่านาและสวนจากชาวบ้าน การที่พวกเจ้าปฏิเสธไม่ยอมให้หักภาษีจากค่าเช่าที่ดิน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ยี่สิบปีต่อมา ชาวนาส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีทีดินเป็นของตัวเอง ประชากร 80 เปอร์เซ็นต์ต้องพึ่งพาการเกษตร จอมพลป.ได้เสนอกฎหมายในปี 2495 เพื่อจำกัดการถือครองที่ดิน รายละไม่เกิน 50 ไร่สำหรับทำการเกษตร และ 10 ไร่สำหรับอุตสาหกรรม เจ้าที่ดินรายใหญ่จะมีเวลาเจ็ดปีที่จะผ่องถ่ายที่ดินส่วนเกินออกไป ชาวนาที่ทำกินมานานจะได้รับความช่วยเหลือในการออกโฉนดสำหรับไร่นาที่ตัวเองทำกิน
ข้อเสนอนี้ ทำให้ต้องสู้กันถึงสองปีกับเจ้าที่ดินรายใหญ่ ซึ่งรวมทั้งพระเจ้าแผ่นดินด้วย ทางวังยืนยันว่าการกระจายการถือครองที่ดินนั้นไม่มีความจำเป็นเพราะที่ดินมีอยู่มหาศาลทั่วประเทศ แต่ที่ดินที่ว่านั้นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนของรัฐ และชาวนาไม่สามารถถือครองได้ตามกฎหมาย วังโต้แย้งว่ากฎหมายนี้จะทำให้ผู้ถือครองที่ดินรายย่อยถูกผู้มีอำนาจรังแกเอาได้
ในที่สุด ปี 2497 กฎหมายนี้ก็ผ่านสภาจนได้ เมื่อถูกส่งไปให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพล แต่ก็ทรงปฏิเสธที่จะลงพระปรมาภิไธย โดยทรงหลีกเลี่ยงที่จะทดสอบอำนาจยับยั้งอันอ่อนแอของพระองค์ เมื่อรัฐสภาส่งถวายร่างกฎหมายให้พระเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งที่สอง พระองค์ก็ยังคงไม่ยอมลงพระปรมาภิไธยอีก ในเดือนธันวาคม 2497 สภาก็ถวายร่างกฎหมายให้พระองค์อีกเป็นครั้งที่สาม พระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวทำท่าจะสั่นคลอนหากพระองค์ปฏิเสธอีก สภาสามารถลงมติผ่านเป็นกฎหมายได้เลย ดังนั้นพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลจึงทรงยอมลงพระปรมาภิไธยในที่สุด โดยที่พวกเจ้ารู้ดีว่า เจ็ดปีที่กฎหมายจะมีบังคับใช้นั้นสำหรับการเมืองไทยแล้วเป็นเวลาที่ยาวนานและยังไม่มีความแน่นอน
ทางวังเริ่มโต้กลับ โดยขอให้รัฐบาลต่างประเทศสนับสนุนให้ในหลวงภูมิพล ได้เสด็จเดินสายเยี่ยมราษฎรในชนบทในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ โดยได้ทรงหว่านล้อมเอกอัครราชทูตอังกฤษ ซึ่งท่านทูตได้เสนอให้ลอนดอนกดดันรัฐบาลไทยให้ยินยอมให้กษัตริย์ภูมิพลเสด็จเยี่ยมราษฎรเพื่อสร้างพระบารมี เพื่อใช้ประโยชน์จากความจงรักภักดีของประชาชนถือเป็นวิธีการที่มีศักยภาพสำหรับการรับมือกับภัยคอมมิวนิสต์ แต่ก็ยังไม่ได้ผล
ในปี 2496 เวียตมินห์ที่กำลังต่อสู้กับฝรั่งเศส ได้เคลื่อนเข้าไปในลาว และทหารไทยก็ตื่นตัวเฝ้าระวังตามชายแดนด้านลาว เนื่องจากทรงเสด็จเยี่ยมทหารเหล่านั้นไม่ได้ จึงมีพระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียงไปทั่วประเทศ ทรงบอกให้ประชาชนที่อยู่บริเวณชายแดนไม่ต้องกังวล และพระองค์จะเสด็จไปเยี่ยมในเร็วๆ นี้ มันเป็นการย้ำเตือนว่าพระเจ้าอยู่หัวคือผู้นำสูงสุดของประเทศ
ถึงแม้ว่าจอมพลป.จะทุ่มเทพยายามเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ก็กำลังพ่ายแพ้ จากการทุจริตและการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันเองภายในคณะรัฐประหาร เมื่อขาดการสนับสนุนจากกองทัพและวัง เขาก็พยายามปรับตัวเองเป็นผู้เชิดชูระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้กษัตริย์ถูกกันออกจากการเมือง
ต้นปี 2498 จอมพลป.ใช้เวลาสองเดือนเดินทางตระเวนไป 17 ประเทศในกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ ได้เข้าเฝ้าองค์สันตปะปาที่โรม ได้พบนายพลฟรังโกที่สเปน และทานอาหารร่วมกับพระราชินีเอลิซาเบธ ส่วนสำคัญอยู่ที่การเยือนสหรัฐฯ เป็นเวลาสามสัปดาห์ โดยทางการวอชิงตัน ได้สรุปให้จอมพลป.ฟังเรื่องระบอบประชาธิปไตยของอเมริกัน และการดำเนินนโยบายขับเคลื่อนของสงครามเย็น
พอกลับมา จอมพลป.จัดการแถลงข่าวรายสัปดาห์ และสนับสนุนให้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ยกเลิกการห้ามพรรคการเมือง และประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในเวลาไม่นาน ทั้งประกาศว่าการรัฐประหารเท่ากับเป็นการทำลายระบอบกษัตริย์ เขาได้ประนีประนอมกับวัง ด้วยการยอมให้ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเดินสายในชนบท
จอมพลป.คงจะต้องเสียใจในภายหลัง เพราะจากการทดลองเสด็จสองครั้งๆ ละหนึ่งวัน ในปลายเดือนกันยายน 2498 ไปยังจังหวัดในภาคกลางแสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านตื่นเต้นดีใจกันมากที่ได้เห็นพระเจ้าอยู่หัว
วันที่ 11 พฤศจิกายน การเสด็จเยือนพระราชอาณาจักรของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ก็เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง โดยทรงเสด็จตระเวนอีสานเป็นเวลา 20วัน อีสานเป็นภาคที่มีพื้นที่และประชากรมากที่สุดของประเทศ และยากจนมากที่สุดด้วย เนื่องจากดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และมีความแห้งแล้ง การไม่รู้หนังสือ และภาวะทุพโภชนาการเป็นปัญหาอยู่ทั่วไป และภาษาไทยก็มีความสำคัญเป็นอันดับสาม รองจากภาษาลาวและเขมร คนไทยภาคกลางมองภาคอีสานเป็นเหมือนเมืองขึ้น ที่กระด้างกระเดื่องและไร้วัฒนธรรม
การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ เทียบได้กับการเสด็จเยือนหัวเมืองของกษัตริย์ในอดีต คณะผู้ติดตามมีจำนวนมากประกอบด้วยนายพลทั้งทหารและตำรวจ ตลอดจนคนในรัฐบาล เดินทางโดยรถยนต์และรถไฟ แต่ละวันจะเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ จัดงานพิธีในอาคารสถานที่ของหน่วยงานรัฐและค่ายทหาร และบางครั้งก็แวะไปยังสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัดที่สำคัญ
ภาพยนตร์ที่บันทึกไว้ แสดงให้เห็นประชาชนเรียงรายสองฟากถนน ขณะรถไฟหรือขบวนรถพระที่นั่งของพระเจ้าอยู่หัวแล่นผ่านทุ่งนาของพวกเขา หรือไม่ก็ออกันแน่นขนัดในเมืองและวัด เพื่อถวายบังคมแก่พระเจ้าอยู่หัวของพวกเขา ผู้คนหลั่งไหลมาส่งเสด็จขึ้นรถไฟออกจากกรุงเทพฯ และสถานีต่างๆ ตามรายทาง
อย่างไรก็ตาม เกือบทั้งหมดของการเสด็จพระราชดำเนิน ส่วนใหญ่หมดไปกับพิธีกรรมของรัฐ ในจุดแวะเยือนแต่ละที่ จะมีข้าราชการท้องถิ่นทยอยถวายการต้อนรับ ในหลวงภูมิพลต้องประทับนั่งฟังผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวถวายรายงานสถิติต่างๆ ของจังหวัด
การประชุมเหล่านี้เป็นไปโดยเปิดเผย และประชาชนสามารถเห็นได้ จากการจัดวางที่นั่งและท่าทางของข้าราชการว่า พระเจ้าอยู่หัวภูมิพล คือผู้ทรงอำนาจเหนือกว่า กระทั่งพระและนายพล หลังจากทรงฟังคำถวายรายงานเสร็จ ในหลวงภูมิพลก็จะทรงรับของขวัญ และเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนที่ก้มกราบ เอื้อมแตะรูปบูชาของพวกเขา บางครั้งก็ทรงแตะศีรษะของประชาชน อันถือเป็นสิริมงคล ถือว่าเป็นมหาศิริมงคล และบุญกุศลอันยิ่งใหญ่แก่พสกนิกรที่ได้เฝ้าชมพระบารมีที่ดีงามสูงสุด เหนือความฉ้อฉลกดขี่ของบรรดาข้าราชการและพ่อค้าที่เอาเปรียบทั้งหลาย
เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเสด็จเยือนครั้งนี้ ช่วยตอกย้ำพระบุญญาธิการของพระมหากษัตริย์
ในข้อขัดแย้งเล็กน้อยเรื่องหนึ่ง กรมทางหลวงถูกโจมตีสำหรับการละเลยไม่ดูแลถนนในภาคอีสานให้ดี ผู้โจมตีกล่าวว่า กรมทางหลวงควรจะจัดการรดน้ำถนนก่อนล่วงหน้าขบวนเสด็จ เพื่อไม่ให้เกิดฝุ่น และบนถนนก็มีตะปูที่ทำให้รถในขบวนเสด็จยางรั่วไปหลายคัน
แต่กรมทางหลวงตอบโต้ว่าในหลวงทรงบอกเอง ว่าถนนที่นั่นสภาพดีกว่าถนนในกรุงเทพฯ เสียอีก และทรงได้บอกให้กรมทางหลวงไม่ต้องรดน้ำ เพราะควรสงวนน้ำไว้สำหรับชาวนาที่จำเป็นต้องการใช้ ส่วนตะปูเหล่านั้นเป็นฝีมือของคนงานที่สร้างซุ้มประตูต้อนรับพระเจ้าอยู่หัวนั่นแหละ
ความสำเร็จอย่างมโหฬารของการเสด็จเยือนชนบทครั้งนี้ทำให้จอมพลป.ตื่นตระหนก จึงรีบระงับแผนการเสด็จแบบเดียวกันนี้ สำหรับภาคใต้และภาคเหนือ ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายก็เริ่มประลองกันว่าใครมีความสูงส่งทางศาสนาเหนือกว่ากัน ซึ่งงานนี้พระเจ้าอยู่หัวเป็นฝ่ายได้เปรียบ
จอมพลป.เข้าใจดีถึงอำนาจทางศาสนาของภาพลักษณ์ธรรมราชา หลัง 2475 เขายึดกุมมหาเถรสมาคม แต่งตั้งพันธมิตรพระมหานิกายในตำแหน่งต่างๆ
หลังจากจอมพลป. ถูกโค่นลงจากอำนาจในปี 2483
ทางวังก็รีบเข้ายึดกุมอำนาจทันที ด้วยการแต่งตั้งพระธรรมยุติ ดำรงตำแหน่งสูงสุดทั้งสองคือ สังฆราช และสังฆนายก วังแสดงท่าทีไม่ประนีประนอมเมื่อตำแหน่งสังฆนายกว่างลงอีกครั้งในปี 2494 แทนที่จะหมุนเวียนให้เป็นของมหานิกาย กลับเป็น ของพระศาสนโสภณ (จวน อุฎฐายี) วัดมกุฏกษัตริย์ ผู้นำฝ่ายธรรมยุติได้ตำแหน่งสังฆนายกไป
สามปีให้หลัง วาระของพระศาสนโสภณ (จวน อุฎฐายี)ได้รับการต่ออายุเป็นสังฆนายกต่อไปอีก คงการผูกขาดของวังไว้อย่างไม่ลดรา ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ดูแลกรมการศาสนา เขาเคยเป็นมหาดเล็กของรัชกาลที่ 6 และเป็นผู้สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ในแวดวงราชการ มีญาติใกล้ชิดทำงานอยู่ในวัง งานนี้ทำให้วงการสงฆ์ถึงกับปั่นป่วนวุ่นวาย
พระมหานิกายที่ได้รับการสนับสนุนจากจอมพลป. ก็กล่าวหาว่าวังทำลายประชาธิปไตย แรงกดดันอย่างรุนแรงทำให้การต่ออายุของจวน อุฎฐายีถูกยกเลิก และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร พระมหานิกายได้เป็นสังฆนายก แต่สำหรับจอมพลป.แล้ว นี่ไม่ใช่ชัยชนะอะไรมากนัก
นอกจากการควบคุมวงการสงฆ์แล้ว พวกเจ้าตระหนักว่า การเชิดชูบุญบารมีสูงสุดของกษัตริย์เป็นหัวใจสำคัญของการครองอำนาจนำทางจิตวิญญาณ
รากฐานสำหรับสิ่งนี้ ก็คือพิธีกรรม โดยลักษณะของตัวสถาบันแล้ว สถาบันกษัตริย์เป็นเจ้าของพิธีกรรมสูงสุด ซึ่งวาดภาพให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพล เป็นผู้ทีมีบุญญาบารมีอันไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน พิธีกรรมเหล่านี้สามารถปรับแต่งให้ส่งผลทางการเมืองด้วยก็ได้
อย่างเช่นในปี 2495 ยังประกอบพิธีกฐินหลวงอย่างเต็มรูปแบบตามวัดหลวง (ซึ่งเป็นวัดที่มีศักดิ์ศรีสูงสุด) ซึ่งเป็นสิ่งที่จอมพลป. ไม่สามารถทำได้เพราะเขาไม่ใช่พระเจ้าอยู่หัว ในหลวงภูมิพลและเชื้อพระวงศ์ทรงถวายผ้ากฐิน แก่พระในวัดหลวงชั้นหนึ่ง และถือปฏิบัติทุกปีหลังจากนั้น แต่พวกเขาก็ละเว้นวัดสองแห่ง ไว้อย่างชัดเจน คือ วัดมหาธาตุ ศูนย์กลางมหานิกายและวัดพระศรีมหาธาตุที่จอมพลป.เป็นคนสร้าง
จอมพลป.ตอบโต้ ด้วยการเสนอตัวเองเป็นผู้ทำนุบำรุงพุทธศาสนา ด้วยการเริ่มโครงการบูรณะวัดทั่วประเทศ โดยใช้งบประมาณของรัฐ การซ่อมแซมวัดเริ่มจากจำนวน ไม่กี่ร้อยแห่งในปี 2493 เพิ่มเป็นกว่าหนึ่งพัน จนมากที่สุด 1,239 แห่งในปี 2499 ชื่อเสียงที่เคียงคู่กับงานนี้คือจอมพลป. ไม่ใช่ในหลวงภูมิพล ที่ยังทรงมีอุปสรรคจากแหล่งทุนที่จำกัดและการถูกจอมพลป.จำกัดการเดินทาง
อีกทางหนึ่งนั้น จอมพลป.พยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพม่า ประเทศคู่ปรับเก่าของศักดินาไทยในสมัยโบราณ และมีวัฒนธรรมพุทธเถรวาทเหมือนกัน เริ่มด้วยการแลกเปลี่ยนทางศาสนา ที่ดูแลโดยจอมพลป.และอูนุผู้นำพม่า ทำให้วังไม่พอใจเนื่องจากคิดว่าควรให้กษัตริย์เป็นผู้นำในการสร้างสันติภาพกับประเทศพม่าที่เคยทำลายกรุงศรีอยุธยามาก่อน
ในเดือนธันวาคม 2498 พม่าเชิญจอมพลป.และพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลไปเข้าร่วมงานครบรอบ 2,500 ปีของพุทธศาสนา ที่จะจัดขึ้นในปี 2499 (เนื่องจากการตีความปฏิทินที่แตกต่างกัน ของพม่าจึงเร็วกว่าของไทยหนึ่งปี)
จอมพลป.ตอบตกลง แต่ในหลวงภูมิพลทรงปฏิเสธ โดยพระองค์เจ้าธานีนิวัติใช้ข้ออ้างว่า ในหลวงภูมิพลไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขของทางพม่า ที่จะให้พระองค์ต้องถอดรองพระบาทก่อนเสด็จเข้าวัดพม่า จอมพลป.จึงเดินทางไปคนเดียว และหลายเดือนหลังจากนั้นอูนุตอบแทนด้วยการมาเยือนประเทศไทย ระหว่างการเยือนเขาปลูกต้นไม้ที่วัดพระศรีมหาธาตุ และบริจาคเงินจำนวนมากเพื่อบูรณะวัดในอยุธยา ทั้งหมดนี้ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของจอมพลป.
ด้วยงบประมาณรัฐบาลที่ไม่จำกัดและการทูตที่อยู่ในมือ จอมพลป.กำลังทำการท้าทายรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของในหลวง แม้ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเป็นธรรมราชา แต่การที่จะเอาชนะในสงครามบารมี พระองค์จำต้องแสดงทานบารมีที่เหนือกว่าด้วยการแจกจ่ายเงินให้กว้างขวางมากกว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยราชสกุลและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าอยู่หัว ทำให้พระองค์ทรงนำโด่งในการแข่งขันบารมี เพราะสิ่งของที่ถูกประทานด้วยมือของกษัตริย์ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ และทั้งหมดที่ทรงประสงค์คือเงินที่จะซื้อหาสิ่งของเหล่านั้น ในหลวงภูมิพลอาจประสูติมาพร้อมพระบารมีแต่ไม่สามารถเป็นธรรมราชาเต็มตัวได้หากว่าพระองค์ไม่มีเงินมากพอ
จึงเป็นหน้าที่ของพ่อมดการเงิน ยอดนักการคลังของวังคือ พลตรีหม่อมทวีวงศ์ถวัลย์ศักดิ์ องคมนตรี (หรือม.ร.ว. เฉลิมลาภ ทวีวงศ์ 2444-2513) ที่จะจัดการกับปัญหานี้ ในต้นทศวรรษ 2493 อาณาจักรการเงินของวังที่เขาสร้างขึ้นมาใหม่ ได้เป็นแหล่งทุนให้วังใช้บริจาคเพื่อการกุศลต่างๆ ในระดับที่น่าพอใจ
นอกจากนี้ในหลวงภูมิพลและราชวงศ์ ก็เริ่มที่จะดึงเงินจากชนชั้นนำของไทยตามงานลีลาศและงานการกุศลต่างๆ เพื่อหนุนเสริมการนี้ วังจึงแจกเครื่องราชย์ให้กับผู้ที่บริจาคเงินก้อนใหญ่ๆ ในต้นทศวรรษที่ 2490 นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนระดับนำ 26 คน ไม่เพียงแต่ได้รับพระราชทานเหรียญตราจากพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นการตอบแทนสำหรับเงินบริจาคเท่านั้น แต่ยังได้รับสถานะความเป็นคนไทยที่จงรักภักดีโดยชอบธรรม พร้อมกับเส้นสายธุรกิจที่เป็นประโยชน์
วังได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการกุศลสำหรับภัยพิบัติทางธรรมชาติและอุบัติภัยต่างๆ ในช่วงเกิดการระบาดของโปลิโอเมื่อต้นทศวรรษ 2490 ในหลวงทรงตั้งกองทุนในพระบรมราชูปถัมถ์ และทรงระดมทุน 540,000 บาทได้อย่างรวดเร็ว
แต่ความพยายามเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลจำเป็นต้องบริจาคเงินจำนวนมหาศาลอย่างสม่ำเสมอและยั่งยืน เพื่อพระบุญญาธิการของพระองค์จะได้ไม่มีผู้ใดเทียบได้ พวกเจ้าได้คิดค้นกลไกอันยอดเยี่ยมขึ้นมาอันหนึ่ง เพื่อเพิ่มพูนทรัพย์สินไว้ให้พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ได้ โดยไม่ต้องใช้พระราชทรัพย์หรือไม่จำเป็นต้องรวย คือใช้วิธีโฆษณาโดยเสด็จพระราชกุศล
คนไทยทุกคนจะถูกคะยั้นคะยอ ให้บริจาคเงินแก่พระเจ้าอยู่หัวเพื่อจะได้มีส่วนร่วมในพระบุญญาบารมี เป็นกลวิธีที่ถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ของรัชกาลที่ 9 ทำให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงเป็นเจ้าแห่งการช่วยเหลือสังคม และทรงเป็นสุดยอดแห่งการอุทิศพระองค์
คนไทยส่วนมากเชื่อว่าบุญที่จะได้รับนั้น ขึ้นอยู่กับทั้งขนาดของการบริจาคและบุญบารมีของผู้รับทาน คนฐานะดีที่สร้างอุโบสถหรือบริจาคพระพุทธรูปให้วัดจะได้รับบุญมากกว่าชาวนาจนๆ ที่มีแค่ข้าวใส่บาตร ทำนองเดียวกัน การถวายปัจจัยแก่พระย่อมได้บุญมากกว่าการให้ทานแก่คนจน เพราะพระอยู่ใกล้ธรรมะมีศีลมีธรรมสูงกว่าคนทั่วไป ขณะที่พระในฐานะผู้รับก็จะได้รับผลบุญด้วย เพราะท่านยอมตนเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้อื่นได้เสียสละ เป็นการเพิ่มพูนผลบุญแก่ทั้งผู้ให้และผู้รับ
ความเชื่อดังกล่าว ได้ถูกนำมาใช้ขยายผลเพื่อทำให้พระเจ้าอยู่หัวได้เป็นศูนย์กลางของการทำบุญ โดยการใส่ความคิดให้ประชาชนเชื่อว่า การบริจาคถวายให้พระเจ้าอยู่หัว และการมีส่วนร่วมในงานพระราชกุศลของพระองค์ จะยิ่งเพิ่มพูนบุญกุศลให้แก่ผู้บริจาค คือได้บุญหลายชั้นหลายต่อ เพราะราษฎรได้มีส่วนร่วมในความสูงส่งกับพระเจ้าอยู่หัวที่สูงส่งที่สุดในราชอาณาจักร ผลบุญที่ได้ก็จะยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นไปอีก
ในหลวงภูมิพลทรงบริจาคเงินที่ได้รับบริจาคมาทั้งหมดในนามของพระเจ้าอยู่หัว เป็นเงินจำนวนมหาศาลที่ไม่มีใครอื่นมีปัญญาทำได้ ดังนั้นบุญญาธิการจึงดูสูงส่งยิ่งขึ้นไปอีก จึงยิ่งเป็นการดึงดูดผู้คนให้มาบริจาคมากขึ้นไปอีก กระทั่งชาวบ้านทั่วๆไปก็ยังต้องร่วมบริจาคเงินเล็กๆ น้อยๆ ที่พวกเขามี เพื่อร่วมเสด็จพระราชกุศล
วงจรมหัศจรรย์แห่งการทำบุญแบบนี้ ได้หยั่งรากลงและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในครึ่งหลังของทศวรรษ 2490 พระราชวงศ์สามารถบริจาคเงินช่วยเหลือสังคมได้ปีละหลายล้านบาท พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงกลายเป็น พระมหากษัตริย์ที่ดูทรงอำนาจทางการเงิน ที่ทรงเสียสละและไม่นึกถึงพระองค์เอง ไม่เหมือนพวกเศรษฐีพ่อค้านักการเมืองที่เอาเปรียบและเห็นแก่ตัวทั้งหลาย
สิ่งที่ตอกย้ำรับรองภาพของพระบุญญาธิการ และพระบารมีอันยิ่งใหญ่ไร้เทียมทานของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ก็คือการผนวชในเดือนตุลาคม 2499 ประเพณีการบวชเป็นระยะเวลาสั้นๆ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านช่วงวัยไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ของหนุ่มไทย ตามประเพณีแล้วจะบวชกันในช่วงเข้าพรรษาเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม สำหรับคนไทยยุคใหม่ การบวชจะใช้เวลาสองสัปดาห์หรือ 15 วัน
การบวชมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อในหลวงภูมิพล ในฐานะพระองค์ที่จะทรงเป็นธรรมราชา สำคัญทั้งต่อพระราชอาณาจักร และต่อพระราชชนนีเอง เพราะการที่ในหลวงอานันท์ไม่ทันได้บวชก่อนสวรรคตนั้น ถือว่าเป็นจุดด่างพร้อยในความเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ และว่ากันว่าพระราชชนนีก็ไม่สบายพระทัยในเรื่องนี้ การออกบวชจะต้องมีการศึกษาและปฏิบัติธรรม ทำงานให้วัด และออกเดินบิณฑบาตตอนเช้ามืด
รูปจากหนังสือพิมพ์ที่เผยแพร่อย่างทั่วไป แสดงภาพในหลวงภูมิพลโกนหัวโล้น นุ่งจีวร สวมแว่นตาดำ ทรงอุ้มบาตรรับถวายอาหารจากประชาชน ที่ทำบุญชนิดที่มีโอกาสแค่เพียงครั้งเดียวในชีวิต ที่จริงแล้วพระในหลวงภูมิพโลภิกขุทรงใช้เวลากับการนั่งสมาธิ การศึกษาและออกบิณฑบาตเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
สองสัปดาห์หรือเพียง 15 วันของการผนวชนั้นเต็มไปด้วยพิธีกรรมงานพิธีและการรับแขก ที่มีทั้งเจ้า นักการเมืองและพระชั้นผู้ใหญ่ ทำนองเดียวกับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนอีสาน ล้วนเป็นกิจกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อการโฆษณาสร้างภาพเน้นย้ำบุญญาธิการของพระมหากษัตริย์เท่านั้น
ตลอดช่วงของการบวช 15 วันได้ถูกวางแผนไว้โดยละเอียดทุกขั้นตอนโดยคณะกรรมการที่นำโดยพระองค์เจ้าธานีนิวัติ (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) งานเตรียมการที่ใหญ่ที่สุด คือการซ่อมแซมวัดบวรนิเวศ ที่พระในหลวงภูมิพโลภิกขุจะประทับจำวัด ค่าซ่อมมาจากการบริจาคของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กระทรวงวัฒนธรรม และพระราชชนนีศรีสังวาลย์
พระในหลวงภูมิพโลภิกขุทรงเปิดการซ่อมแซมอย่างเป็นทางการ โดยให้บรรดาข้าราชการระดับสูงของรัฐบาลและวังเข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม และทรงประกาศการจาริก ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องเดินตามเสด็จเป็นวงกลมรอบพระราชอาณาจักรขนาดย่อ โดยถือเทียนทำทักษินาวัติรอบวิหารในพระบรมมหาราชวัง ที่ประดิษฐานของพระสยามเทวาธิราช
เช้าวันที่ 22 ตุลาคม 2499 ในหลวงภูมิพลทรงแต่งตั้งพระราชินีสิริกิติ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาวันที่ 5 ธันวาคม ทรงโปรดยกสถานะของพระราชินีให้เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สูงขึ้นกว่าการเป็นเพียงแม่ของลูกของพระเจ้าแผ่นดิน
จากนั้น ก็เป็นพิธีปลงพระเกศา (โกนผม) ไม่ใช่โดยพราหมณ์ที่ปกติเป็นผู้ตัดผมกษัตริย์ แต่ผู้ที่ปลงพระเกศา คือพระราชชนนีศรีสังวาลย์
พิธีบวชเริ่มต้นในเวลาอันเป็นฤกษ์ยามคือ บ่าย 4:23 ที่วัดศรีรัตนศาสดาราม อันเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตในหลวงภูมิพลทรงสวดมนต์ท่ามกลางเจ้าอาวาสและพระระดับสูง 30 รูป
จากวัดหลวง หลังจากนั้นทรงรับผ้าไตร และได้รับการขนานพระนามว่า ภูมิพโลภิกขุ จากนั้นพระราชินีสิริกิติ์และพระราชชนนีก็ถวายเครื่องอัฐบริขาร
ทรงย้ายมาวัดบวรนิเวศโดยขบวนแห่ที่นำโดย มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในช่วงเวลาสองสัปดาห์ถัดไป วัดนี้จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน โดยมากเป็นกลุ่มสาวๆ ที่เฝ้ารอให้พระในหลวงเสด็จออกจากห้องสมาธิ ซึ่งเป็นห้องเดียวกันกับที่สมเด็จกรมพระวชิรญาณวโรรส พระสังฆราชในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยประทับ สองสามวันแรกมีแต่การการสวดมนต์และการศึกษาธรรม หลังทรงฉันภัตตาหารเช้า (โดยไม่มีการเสด็จทรงบาตรตอนย่ำรุ่ง) พระในหลวงภูมิพโลก็ทรงฟังบรรยาย และในตอนค่ำ ทรงซักจีวรด้วยพระองค์เอง ซึ่งได้รับการรายงานโดยสื่อมวลชน
พระญาณสังวร ขณะนั้นอายุ 43 ปี (ฉายาคือ พระโสภณคณาภรณ์ / เจริญ สุวัฒฑโณ )จะทำหน้าที่เป็นพระพี่เลี้ยงในแต่ละวัน มันเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมบุญร่วมชะตากรรมที่ยาวนานทั้งชีวิตของพระญาณสังวร จนกลายมาเป็นที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณส่วนพระองค์ ที่ทำหน้าที่เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่ตนเองก็เติบโตเลื่อนชั้นมาจนเป็นสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกในปี 2532
หลังสองวันแรกผ่านไป กำหนดการของพระในหลวงภูมิพล ก็เป็นการเสด็จเยือนวัดหลวงอื่นๆ ทรงนมัสการเจ้าอาวาส และเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งโดยมากเป็นชนชั้นนำของไทย ได้ทำบุญถวายร่วมกับพระองค์ ตั้งแต่วันแรก พวกเขาเข้าแถวรอโอกาสตักบาตรพระในหลวง นำโดยพระราชินีสิริกิติ์และเจ้าระดับสูง
ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปวังหลายแห่ง เพื่อรับการทำบุญถวาย มีภาพที่มีชื่อเสียงที่เจ้าฟ้าชายวชิราลงกรณ์พระชนม์ 5 ชันษาได้ก้มกราบพระราชบิดา แสดงถึงสายเลือดและสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างพระเจ้าอยู่หัวและองค์รัชทายาท
ในสัปดาห์ที่สอง พระในหลวงภูมิพลทรงร่วมในพิธีบวชพระรูปอื่นๆ และเสด็จไปร่วมประกอบพิธีที่วัดหลวงในจังหวัดนครปฐม ในอีกงานหนึ่ง พระราชินีสิริกิติ์ทรงพระราชทานกฐินหลวงที่วัดบวรนิเวศ โดยการถวายผ้าไตรแก่พระภูมิพโลภิกขุ ในช่วงนั้น พระภูมิพโลภิกขุได้ทรงเสด็จพระดำเนินออกรับบิณฑบาตนอกวัดเป็นระยะทางสั้นๆ สองหรือสามครั้ง กึ่งๆ เป็นการจัดฉาก
เนื่องจากไม่มีใครเขาบิณฑบาตกันในตอนเที่ยงอย่างนั้น มันเป็นที่มาของรูปภาพ ที่จะถูกใช้เป็นภาพแทน หรือภาพโฆษณา ของตลอดทั้งสองสัปดาห์หรือ 15 วันที่ทรงผนวชนั้น
การทรงผนวชสิ้นสุดลงพร้อมกับการรีบหาโอกาสทำบุญกับพระเจ้าอยู่หัวของเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูง เอกอัครราชทูตของพม่าใส่บาตรแทนนายกรัฐมนตรีพม่า ชุมชนชาวอินเดียในไทยถวายของขวัญแด่พระองค์ ในที่สุด จอมพลป.และภรรยาก็ยังต้องก้มกราบ นมัสการภูมิพโลภิกขุ
ในวันสุดท้าย พระภูมิพโลภิกขุทรงปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึกภายในบริเวณวัด จากนั้นทรงเข้าพิธีลาสิกขาบทอย่างเป็นทางการ บรรดาเจ้าและคนระดับสูงของรัฐบาลได้เข้าร่วม ในพระราชพิธีที่ทรงเข้ารับการถวายพระมงกุฎคืนจากสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์และทรงกล่าวรายงาน การเสด็จจาริกของพระองค์ ในหลวงทรงได้รับการถวายการต้อนรับด้วยการสวมกอดอย่างภาคภูมิใจจากพระราชชนนีและพระเชษฐภคินี โดยได้ทรงฉายพระฉายาที่พระราชวงศ์ทรงถ่ายร่วมกัน
มีภาพหนึ่งเป็นภาพที่ไม่ค่อยมีให้เห็นนัก นั่นคือพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงแย้มพระสรวล (ยิ้มและหัวเราะ) ที่จริงในหลวงก็แทบจะไม่ได้ห่างหายไปไหนจากพระราชจริยวัตรตามปกติเลย แต่องค์ก็ทรงได้รับการปฎิบัติ ประหนึ่งว่า เป็นสองสัปดาห์ หรือ 15วันแห่งการตัดขาดจากโลกียวิสัยจริงๆ
แม้ว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลจะทรงได้รับความนิยมสูงขึ้นในกลางทศวรรษ 2490 แต่ในทางการเมืองแล้ว พระองค์ก็ยังคงประทับใต้อำนาจเงามืด ทรงตรัสว่า “ เวลาเราเปิดปากพูดอะไรบางอย่าง พวกเขาก็จะบอก พระองค์ท่านยังทรงไม่ทราบอะไร เราเลยหุบปากเสีย ”
พระองค์จึงยังคงมุ่งปฎิบัติพระราชภารกิจต่อไปอันเป็นการพบปะผู้คน เสด็จงานพระราชพิธีต่างๆ และทรงใช้เวลาว่างกับงานอดิเรกและพระราชวงศ์ ทรงได้สมาชิกของพระราชวงศ์เพิ่มเป็นพระราชธิดาคือ เจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ในเดือนเมษายน 2498
ถึงต้นปี 2499 ในหลวงภูมิพลทรงเริ่มได้รับชัยชนะในศึกสร้างบารมีที่แข่งขันกับจอมพลป. การที่ยังทรงเยาว์วัย และสภาพบังคับที่ต้องแยกพระองค์ออกห่างจากโลกทางการเมือง ที่สกปรกกลับกลายเป็นข้อได้เปรียบของในหลวงภูมิพล ขณะที่ประชาชนเริ่มมองพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นว่าตัวแทนอุดมคติที่ดีเลิศประเสริฐศรีของพวกเขา ทีมงานนักวางแผนของเจ้าก็เริ่มหาหนทางทดสอบพละกำลังทางการเมืองของพระองค์
ในครั้งแรก พระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสผ่านทางวิทยุในวันกองทัพไทย 25 มกราคม 2499 ทรงเรียกร้องทหารไม่ให้เลี่ยงการทำหน้าที่ ตามที่ได้รับมอบหมาย เพื่อเล่นการเมืองและใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ ทหารมีไว้เพื่อประเทศชาติและไม่ได้เป็นของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ฟังดูเผินๆ ราบเรียบไม่น่าจะมีอะไร แต่มันทำให้ฝ่ายทหารเข้าใจว่าเป็นการท้าทายต่อคณะทหาร
ดร.หยุด แสงอุทัย สมาชิกสภาระดับอาวุโส และนักกฎหมาย ได้ปกป้องรัฐบาลผ่านวิทยุโดยวิจารณ์ว่า พระเจ้าอยู่ได้ทรงล้ำเส้นเกินบทบาทที่ควรภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กษัตริย์ควรออกความเห็นในเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองหรือสังคม ได้แต่โดยอ้อม ผ่านทางรัฐมนตรีในรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ ดร.หยุด ท่านพูดถูกต้องตามหลักการ
แต่ฝ่ายเจ้ามีปฏิกิริยาโกรธแค้น หนังสือพิมพ์สายวัง สยามนิกรโจมตีดร.หยุดโดยไม่ได้อ้างรัฐธรรมนูญไทย แต่กลับไปอ้างเป็นคำบรรยายของนายเบจฮอต (Walter Bagehot 2369-2420)ที่กล่าวถึงอำนาจของกษัตริย์อังกฤษ ว่า พระมหากษัตริย์จะหารือกับใครก็ได้ ให้คำแนะนำกับใครก็ได้ และตักเตือนใครก็ได้หากพระมหากษัตริย์ทรงเห็นว่าบุคคลผู้นั้นกำลังกระทำผิด โดยเฉพาะรัฐบาลที่เลว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่พระเจ้าอยู่หัวจะต้องกล่าวผ่านบุคคลใดทั้งสิ้น
มรว.คึกฤทธิ์เขียนในหนังสือพิมพ์สยามรัฐว่าเขาไม่สามารถแม้กระทั่งจะทวนคำพูดของดร.หยุดได้ เพราะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท พร้อมทั้งบอกว่า ในฐานะจอมทัพไทย กษัตริย์ไม่จำเป็นต้องปรึกษาใครก่อนพูด
แล้วก็หันมาโจมตีรัฐบาล ว่า “มีประชาธิปไตยที่ไหน ที่อนุญาตให้นายกรัฐมนตรีเป็นทหารประจำการอยู่ได้ มีประชาธิปไตยที่ไหนที่ข้าราชการประจำกล้าวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ โดยใช้วิทยุของรัฐบาลเป็นเครื่องมือ ” หลังจากนั้นไม่กี่วัน สมาชิกสภาสายเจ้ารายหนึ่งฟ้องดร.หยุด ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในตอนนั้นบทลงโทษของกฎหมายที่ไม่ค่อยได้ใช้นี้คือจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท (ไม่นานก่อนหน้านั้นชาวบ้านที่เเค่ขวางทางรถพระที่นั่งเพื่อจะถวายฎีกาถูกจำคุก 43 วัน) เเต่อธิบดีกรมตำรวจพล.ต.อ.เผ่าพิจารณาส่วนตัวแล้ว ว่าดร.หยุดไม่มีความผิด
แม้ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะถูกดร.หยุดวิพากษณ์วิจารณ์ แต่ทีมวางแผนฝ่ายเจ้ามิได้วิตกกังวลอีกแล้ว พวกเขามองเห็นโอกาสเล่นงานจอมพลป.และเหล่าขุนทหาร จอมพลป.ก็คงจะรู้ทัน จึงได้หลีกเลี่ยงไม่ยอมพูดถึงเรื่องนี้ จอมพลป.คงเดินหน้าโฆษณาหลักประชาธิปไตยอันใหม่ของตนต่อไป สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในต้นปี 2500 จอมพลป.เชื่อว่าวังคงจะไม่เข้ามาแทรกแซงผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่จริงๆ แล้ว วิธีคิดของวังได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ตอนนี้ราชสำนักสรุปแล้วว่า ประชาธิปไตยแบบตะวันตกนั้น ไม่มีความสำคัญสำหรับประเทศไทย
ในปี 2497 องคมนตรีพระยาศรีวิสารวาจาได้เผยทัศนะนี้ออกมา ในการปาฐกถาว่าด้วยเรื่องกษัตริย์ในสยามแก่สมาคมอเมริกันในกรุงเทพฯ บอกว่ารัฐสมัยใหม่ประกอบด้วยประชาชนที่เป็นเอกภาพ มีจุดประสงค์ร่วมกัน มีดินแดนที่ชัดเจน และเอกราชที่สมบูรณ์ ประชาชนเป็นผู้เลือกและมอบอำนาจแก่กลุ่มบุคคลให้เป็นตัวแทนในฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม ตัวแทนประชาชนเหล่านี้ได้รับการเลือกตั้งเป็นคนๆไป โดยประชาชนบางกลุ่ม พวกเขาจึงไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนทั้งหมด
อีกทั้งเรายังไม่สามารถถือได้ว่า ฝ่ายบริหารหรือตุลาการเป็นตัวแทนของความต้องการของประชาชนทั่วไป คนเหล่านี้ไม่มีใครที่จะผนวกรวมหน้าที่ทุกอย่างของรัฐ จึงไม่มีใครที่ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของรัฐได้ทั้งหมด ดังนั้น เขาจึงสรุปว่า กระทั่งประชาธิปไตยที่มีตัวแทนก็ยังจำเป็นต้องมีสถาบันที่เป็นศูนย์รวมของชาติ เพื่อจะได้มีความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศได้
ในระบอบสาธารณรัฐมีประธานาธิบดี ในระบอบกษัตริย์ก็มีกษัตริย์ รูปแบบของรัฐบาลอาจแตกต่างกันไป แต่ทั้งประธานาธิบดีและกษัตริย์ต่างก็ทำหน้าที่อย่างเดียวกันคือเป็นประมุขของรัฐ และถือว่า เป็นผู้ที่ดีที่สุด ในระดับที่สูงที่สุด ของประชาชนที่พวกเขาเป็นตัวแทน ความแตกต่างระหว่างระบบประธานาธิบดีแล้วระบบกษัตริย์นั้นมีเพียงเล็กน้อย เพราะว่า จนถึงทุกวันนี้ พระมหากษัตริย์ไทยได้รับการเลือกโดยประชาชนมาตลอดจากประวัติศาสตร์ของไทย กษัตริย์จึงมีความเหมาะสมมากกว่าสำหรับประเทศไทย
เป็นคำอธิบายแบบเดียวกับของกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร หรือพระองค์เจ้าธานีนิวัติที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ท่านไม่เคยบอกว่าฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเป็นตัวแทนผลประโยชน์แคบๆ ของคนบางกลุ่มเท่านั้น พระยาศรีวิสารวาจานั้นได้ขยับเพิ่มมาอีกก้าว เปรียบพระมหากษัตริย์ที่สืบราชบัลลังก์ทางสายเลือดให้เหมือนกับประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง และบอกโดยนัยว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าสมาชิกสภาที่มาจากเขตเลือกตั้งคนหนึ่งเท่านั้น
พระยาศรีวิสารวาจาสร้างความชอบธรรมให้กับความเป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้รับเลือก ของราชวงศ์จักรี โดยหันกลับไปสู่ความคิดเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์และประเพณี โดยอ้างว่าในอดีตอาจมีกษัตริย์ที่ไม่ดีอยู่บ้าง แต่สำหรับราชวงศ์จักรีในปัจจุบันสามารถกล่าวได้ว่าพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชวงศ์จักรีทุกรัชกาล ล้วนสร้างความร่มเย็นแก่พสกนิกร
โดยอ้างถึงรัชกาลที่ 4 ว่าทรงเป็นนักประชาธิปไตยที่ทันสมัย ที่ยอมให้เสนาบดีทำการตัดสินใจเรื่องการสืบราชบัลลังก์ ทั้งๆที่น่าจะเป็นเพราะขุนนางตระกูลบุนนาคได้กุมอำนาจ และฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์ ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างประโยชน์แก่ประชาชน ทรงเปล่งวาจาลึกซึ้งดุจพระโพธิสัตว์ขณะกำลังสิ้นลม (ทั้งๆที่ทรงหมกมุ่นในกามารมณ์ตลอดรัชกาล) ทรงเป็นนักปราชญ์ ผู้มีสามัญสำนึก ผู้รักชาติที่มีจิตใจเที่ยงธรรม
สำหรับรัชกาลที่ 5 ก็ทรงเป็นนักบริหารที่มองการณ์ไกลไปข้างหน้า ทรงปฏิรูประบบราชการ และสร้างการศึกษาสำหรับประชาชน (เพื่อรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กษัตริย์และเพื่อตัดทอนอำนาจของขุนนาง) จากนั้นพระยาศรีวิสารได้วางแนวคิดฝ่ายเจ้าแบบใหม่เกี่ยวกับการบริหารประเทศ โดยสรุปเอาเองว่านับแต่เดือนมิถุนายน 2475 เราได้รับเอารูปแบบระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ สิทธิและหน้าที่ของพระมหากษัตริย์เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ประเพณีสืบทอดของความเป็นกษัตริย์ยังคงอยู่
พระมหากษัตริย์ของเรา ยังทรงยึดมั่นในทศพิธราชธรรมและหลักความยุติธรรมสี่ประการ เพราะเป็นหลักยึดของการปกครองบ้านเมือง เกณฑ์สำหรับการปกครองที่ดีนั้นต้องดูที่ผลของการบริหารงาน ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบของรัฐบาล ด้วยเกรงว่าจะไม่เป็นที่เข้าใจชัดเจน ท่านได้อ้างคำของ อเล็กซานเดอร์โปป Alexander Pope 2231-2287 กวีอังกฤษว่า “สำหรับรูปแบบของรัฐบาลนั้น ปล่อยให้คนโง่สู้กันไป อะไรที่บริหารจัดการดีที่สุด อันนั้นแหละดีที่สุด”
พระยาศรีวิสารวาจา ได้สะท้อนความเชื่อลึกๆ ของพวกเจ้าว่า รัฐธรรมนูญไม่มีความหมายเลย มีแต่พระราชวงศ์จักรีผู้สืบสายเลือดอันบริสุทธิ์ (ที่มาจากพ่อคนเดียวกัน) เท่านั้นที่จะสามารถสนองความต้องการของประชาชนไทยได้อย่างแท้จริง สำหรับพวกเขาแล้ว นี่แหละคือประชาธิปไตยที่แท้จริง
ในปี 2500 การทุ่มเทโหมโฆษณาชวนเชื่อส่งเสริมพระบุญญาบารมีของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเริ่มเห็นผล บรรยากาศของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีขึ้นหลังการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 การหาเสียงเต็มไปด้วยการโจมตีรัฐบาล โดยเฉพาะตัวจอมพลป.และพล.ต.อ.เผ่า จากฝ่ายเจ้า ฝ่ายเสรีนิยมก้าวหน้า และหนึ่งในขุนทหาร คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งลือกันว่าได้รับการสนับสนุนจากวัง ในหลวงภูมิพลทรงหยั่งเชิงโดยมีพระราชดำรัสเสนอแนะในวันขึ้นปีใหม่ว่า รัฐบาลควรจะยกเลิกสภาที่มาจากการแต่งตั้งเสีย ซึ่งส่วนนี้เป็นฐานอำนาจของจอมพลป.
จอมพลป.ยังคงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่จอมพลสฤษดิ์ประกาศต่อนักศึกษาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สกปรกที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา และเกิดการประท้วงขนานใหญ่ต่อรัฐบาลของจอมพลป. ขณะที่จอมพลสฤษดิ์กลับได้รับความนิยมจากทั้งประชาชนและวังขึ้นมาอย่างทันทีทันใด
สถานการณ์เลวร้ายลงสำหรับรัฐบาลของจอมพลป. ภาคอีสานเกิดภัยแล้งรุนแรง รัฐบาลแทบไม่ทำอะไรสำหรับผู้ที่อพยพเข้าเมืองหลวง บทอวสานของจอมพลป.ได้มาถึง เมื่อเกิดความขัดแย้งในเรื่องการจัดงานฉลองกึ่งพุทธกาล 2500 ปี ของเมืองไทย เมื่อโอกาสมาถึง ทางวังก็ไม่รอช้ารีบถล่มโจมตีจอมพลป.อย่างหนัก
จอมพลป.และพล.ต.อ.เผ่าเป็นผู้ดูแลการจัดงานฉลองกึ่งพุทธกาล จอมพลป.เร่งโครงการบูรณะซ่อมแซมวัดของตน และรื้อฟื้นแผนการตั้งแต่ปี 2487 ที่จะสร้างเมืองพุทธ หรือพุทธมณฑล ห่างจากกรุงเทพฯ 50 กิโลเมตรทางตะวันตกในเขตจังหวัดนครปฐม กิจกรรมเฉลิมฉลองประกอบด้วยพิธีเห่เรือ และพิธีเปิดโครงการพุทธมณฑลโดยพระมหากษัตริย์
จุดสำคัญของงานพิธี คือการมาเยือนอยุธยาของนายกรัฐมนตรีพม่าอูนุ เพื่อร่วมพิธีหล่อพระพุทธรูป 2,500 องค์และร่วมพิธีบวชพระ 2,500 รูป ตามแผนของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญแก่พระมหากษัตริย์พอเป็นพิธี คือให้เป็นเพียงผู้นำศาสนา เพราะงานนี้เป็นงานรัฐพิธีของรัฐบาล ไม่ใช่งานราชพิธีของพระเจ้าอยู่หัว
ฝ่ายเจ้ามองว่า เป็นการปล้นบทบาทของพระเจ้าอยู่หัวในทางศาสนาและสันถวะไมตรี เพราะเป็นความเชื่อว่าการแก้ไขความขัดแย้งแต่โบราณเป็นอำนาจเฉพาะของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่ใช่สามัญชนอย่างจอมพลป. ในฐานะประมุขแห่งรัฐยุคใหม่เท่านั้น หากยังในฐานะผู้สืบเชื้อสายจากพระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาด้วย ในทางตรงข้ามจอมพลป.ก็มองว่ามันเป็นหนทางในการแสดงให้เห็นว่าจอมพลป.คือประมุขแห่งรัฐตัวจริง ทีแรก ดูเหมือนพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จอย่างเต็มพระทัย ในวาระนี้วังได้แจกจ่ายหนังสือที่ระลึกการผนวชของในหลวงภูมิพล 20,000 เล่ม
แต่หลังจากนั้น ในวันงานใหญ่เดือนพฤษภาคม ในหลวงภูมิพลเก็บพระองค์ที่หัวหิน โดยอ้างว่าประชวรเป็นหวัด พิธีเห่เรือ พิธีที่พุทธมณฑล และพิธีที่อยุธยาดำเนินไปโดยปราศจากพระราชวงศ์ มีแต่พระองค์เจ้าธานีนิวัติ (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร)ที่ไปร่วมงานที่อยุธยาไปพบนายกรัฐมนตรีพม่า แต่การฉีกหน้าครั้งนี้ของทางวังเป็นที่รับรู้กันดี หนังสือพิมพ์ชี้ถึงท้องฟ้าที่มืดครึ้มและลมแรงอย่างผิดฤดูที่อยุธยาในวันนั้น ว่าเป็นลางบอกว่าจอมพลป.ได้กระทำการล่วงละเมิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หลังจากนั้น พวกเจ้าพากันโหมโจมตีงานฉลองกึ่งพุทธกาลว่าเท่ากับเป็นการช่วงชิงราชบัลลังก์ของจอมพลป. นักการทูตอังกฤษรายงานว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงบอกพวกเขาว่าจอมพลป. เมาอำนาจ และปรารถนาจะเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สอง หรือกระทั่งแย่งชิงราชบัลลังก์ไปจากพระเจ้าอยู่หัวเสียเลย จอมพลป.ปกป้องตนเองด้วยการประกาศว่ารัฐบาลเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ แต่หลายคนเชื่อว่าจอมพลป.เหิมเกริมและคิดจะแย่งชิงราชบัลลังก์จริงๆ
เพื่อกอบกู้สถานการณ์ของตนเอง ในเดือนมิถุนายน จอมพลป.ได้เสนอเพิ่มจำนวนสมาชิกสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงการคัดค้านอย่างเปิดเผย และวังก็ยังตั้งคำถามถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของข้อเสนอนี้ ทั้งที่เมื่อสิบปีก่อนหน้านี้ วังได้เคยพยายามควบคุมการแต่งตั้งสมาชิกสภาส่วนนี้ให้เป็นฐานอำนาจของตนเอง
ระหว่างนั้น พรรคการเมืองที่จอมพลสฤษดิ์ให้การสนับสนุน ทำการท้าทายรัฐบาลในสภา จนนำไปสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในกลางเดือนสิงหาคม 2500 ซึ่งพรรคของจอมพลสฤษดิ์กล่าวหารัฐบาลจอมพลป.ว่าสนับสนุนการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เท่ากับเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เรื่องนี้บีบให้จอมพลป.ต้องใกล้ชิดกับพล.ต.อ.เผ่าผู้ซึ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เพราะหนังสือพิมพ์ที่พล.ต.อ.เผ่าควบคุมอยู่ได้ทำการโจมตีเจ้าอย่างตรงๆ โดยพาดหัวว่า พวกเจ้าดูหมิ่นศาสนา ” และ“ พวกเจ้าจะต้องตายโหงตายห่า ” โดยอ้างถึงเรื่องงานฉลองพุทธศาสนา กล่าวหาวังว่าพยายามโค่นล้มรัฐบาลและดูหมิ่นศาสนาพุทธ
พล.ต.อ.เผ่ากล่าวหาว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงมอบเงิน 700,000 บาทแก่พรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายเจ้าตอบโต้ด้วยการปล่อยข่าวลือว่า พล.ต.อ.เผ่ากำลังวางแผนจับพระเจ้าอยู่หัว ด้วยกิติศัพท์ที่ฉาวโฉ่ตกต่ำของพล.ต.อ.เผ่า จอมพลสฤษดิ์ได้เรียกร้องให้จอมพลป. ปลดพล.ต.อ.เผ่า ไม่อย่างนั้นจะถูกรัฐประหาร
การต่อสู้ขับเคี่ยวกับวังมาตลอดชีวิตของจอมพลป.ได้ถึงแก่กาลอวสาน วันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลป.ต้องบากหน้าเข้าเฝ้าในหลวง เพื่อกราบบังคมทูลขอให้พระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนรัฐบาลของเขา แต่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลได้ทรงบอกแก่จอมพลป. ผู้ที่แก่กว่าพระองค์สองเท่า และมีประสบการณ์มากกว่าพระองค์หลายเท่า ให้ลาออกเสียเพื่อหลีกเลี่ยงการรัฐประหาร เพราะวังยังคงประสงค์จะเห็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
แต่จอมพลป.ปฏิเสธ และในคืนนั้นจอมพลสฤษดิ์ก็ยึดอำนาจ ความฉับไวที่เขาและลูกน้อง คือ พลโทถนอม กิตติขจร ได้รับการรับรองจากวังอย่างรวดเร็วนั้น แสดงให้เห็นว่าวังรู้เห็นเป็นใจด้วย ทั้งสองคนรีบเข้าวัง และแค่สองชั่วโมงหลังการประกาศรัฐประหาร พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ทรงประกาศกฎอัยการศึก และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนคร ( ทั้งๆที่ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ) ทรงมอบอำนาจให้จอมพลสฤษดิ์ในการควบคุมประเทศและลงนามสนองคำสั่งของพระมหากษัตริย์ จอมพลป.และพล.ต.อ.เผ่าจึงต้องหนีออกจากประเทศไทย
ประกาศพระบรมราชโองการ ตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร
ภูมิพลอดุลยเดชป.ร.
เนื่องด้วยปรากฏว่ารัฐบาลอันมีจอมพลป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทั้งไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ คณะทหารซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นหัวหน้าได้เข้ายึดอำนาจการปกครองไว้ได้ ข้าพเจ้าจึงขอตั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ขอให้ประชาชนทั้งหลายอยู่ในความสงบ และขอให้ข้าราชการทุกฝ่ายฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศณ วันที่ 16 กันยายน 2500
( ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเองด้วยความยินดี เหมือนในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะท่านคือเจ้าของประเทศ )
วันถัดมา จอมพลสฤษดิ์ประกาศว่าตนทำไปเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยทางวังได้ตอบสนองเป็นอย่างดี ตามพระราชดำรัสในแถลงการณ์ของพระราชวังว่า”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล็งเห็นว่า วัตถุประสงค์ของคณะปฏิวัติที่จะคุ้มครองประชาชน ดูแลสวัสดิภาพและผลประโยชน์ของชาติ และสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองของประเทศนั้น เป็นสิ่งที่สูงส่ง เมื่อท่านมีเป้าหมายสูงส่ง ท่านก็ได้รับความคาดหมายให้ดำเนินการต่อไปด้วยความจงรักภักดีและความถูกต้อง โดยยึดถือผลประโยชน์แห่งชาติเหนืออื่นใด ท่านจะได้รับการอวยพรจากพระมหากษัตริย์ หากทั้งหมดนี้สำเร็จลุล่วง”
พระองค์เจ้าธานีนิวัติ (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) และองคมนตรีคนอื่นๆ ก็ช่วยกันกระจายข่าวไปตามแวดวงนักการทูตว่า จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้จงรักภักดี และต่อต้านคอมมิวนิสต์ และวังให้การสนับสนุนการรัฐประหารนี้อย่างเต็มที่ และ เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ โจมตีพล.ต.อ.เผ่า เรื่องที่มีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ส่วนมรว.คึกฤทธิ์และมรว.เสนีย์ก็โจมตีสหรัฐฯ ว่าให้การสนับสนุนฝ่ายทหาร ทำให้ทางวอชิงตันกังวลว่า จอมพลสฤษดิ์อาจต่อต้านสหรัฐ
เพื่อให้สหรัฐหายสงสัย และรีบให้การรับรองคณะรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯจึงเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลพร้อมกับจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งทั้งพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลและจอมพลสฤษดิ์ต่างก็ยืนยันจุดยืนสนับสนุนสหรัฐฯ และต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลสามารถโค่นจอมพลป.ลงได้ทั้งๆที่พระองค์ไม่มีกองทัพในมือ นับว่าเป็นพระปรีชาสามารถโดยแท้ และได้เปิดศักราชของรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทหารของในหลวงที่มีจอมพลสฤษดิ์เป็นขุนพลคู่พระบารมี
.............
วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น