หรือที่ : http://www.mediafire.com/?jjhhwbkyj84w9kk
ตำนานๆ 009032
: โครงการขวาพิฆาตซ้ายในพระบรมราชูปถัมถ์
สงครามหรือการปะทะกับพคท. ก็ทวีความเข้มข้นขึ้นเช่นกัน รัฐบาลถนอมได้ปฏิบัติการรุกครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เรียกว่ายุทธการภูขวาง หรือการฝึกร่วมประจำปี 2515 โดยมีพ.อ.ณรงค์ กิตติขจรเป็นผู้อำนวยการ
ใช้กำลังทหารบก ทหารอากาศ ตำรวจและพลเรือนรวม 15,510 นาย ระหว่าง 21 ธันวาคม 2514 ถึง 14 พฤษภาคม 2515 เป็นการฝึกในลักษณะปฏิบัติการจริงในพื้นที่ รอยต่อ3จังหวัด (พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย) ซึ่งมีกองกำลังถืออาวุธของพคท.ประมาณ 400-600 คน
แต่มันได้กลายเป็นความหายนะ เพราะรัฐบาลสูญเสียทหารไปถึงสองสามร้อยคน ขณะที่พคท. สูญเสียเพียงเล็กน้อย ปฏิบัติการรุกครั้งต่อมาของรัฐบาลในเดือนตุลาคม เรียกว่ายุทธการสามชัย หรือการฝึกร่วม 16 มีการระดมนาวิกโยธินเข้าร่วม ใช้ปืนใหญ่และเครื่องบินทิ้งระเบิดปูพรมเพื่อเปิดทางให้ทหารราบเข้าโจมตี แต่ก็ประสบความล้มเหลวอีกเช่นกัน
ความล้มเหลวสองครั้งนี้ต่างจากที่ผ่านมา คือ ในคราวนี้ได้รับการรายงานกระจายข่าวผ่านสื่อ ผู้วิจารณ์บางคนได้เปรียบเทียบเหมือนกับความล้มเหลวของสหรัฐฯในเวียตนาม โดยตำหนิว่าเป็นความผิดพลาดของพันเอกณรงค์ กิตติขจร ลูกชายตัวแสบของจอมพลถนอมและเป็นลูกเขยของจอมพลประภาส (สมรสกับสุภาพร จารุเสถียรลูกสาวคนที่ 3 ของจอมพลประภาส)
การลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาสามปีที่ปั่นป่วนที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ซึ่งจบลงด้วยการสังหารหมู่อย่างป่าเถื่อน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ช่วงเวลาสามปีนี้ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงเริ่มเปิดยุคสมัยใหม่ด้วยบทบาทของพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นศูนย์รวมของชาติและผู้นำที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่พอถึงปี 2519 กลับแสดงพระองค์เป็นพวกขวาตกขอบ ทรงละทิ้งพวกสายกลางกับฝ่ายซ้าย และทรงสร้างความแตกแยกอย่างสุดขั้วในพระราชอาณาจักร
เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ได้นำในหลวงภูมิพลสู่จุดสูงสุดแห่งรัชสมัยของพระองค์ หลังจากที่ทรงครองราชย์ 27 ปี ในหลวงภูมิพลทรงกลายมาเป็นผู้ทรงอำนาจที่สุดในระบบการเมืองของไทย ในหลวงภูมิพลสามารถทวงคืนอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ไทยหรือเจ้าชีวิตแห่งสยามเคยมีก่อนปี 2475 ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาเป็นต้นมา
หลายคนถึงกับเชื่อว่าทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแบบปิดทองหลังพระ หรือที่พยายามพูดเกินจริงว่า แทบไม่มีหมู่บ้านใดที่ในหลวงภูมิพลไม่ได้เสด็จไปเปิดโรงเรียนหรือสถานพยาบาล และมีคนไทยน้อยคนนักที่ไม่เคยได้พบเห็นหรือเฝ้าชมพระบารมีในหลวงอย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่ง
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างจริงจัง จนดูจะเกินจำเป็นในฐานะพระเจ้าอยู่หัวของประเทศไทยที่มีแต่ความสงบและอุดมสมบูรณ์ ที่จริงแล้ว ยังมีหมู่บ้านอีกนับพันๆ แห่งที่ยังไม่มีโรงเรียนหรือสถานพยาบาล และคนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นพระเจ้าอยู่หัว แต่ความจริงอย่างนี้มักถูกมองข้ามไปอย่างง่ายๆเพราะประชาชนเรียกร้องต้องการพระเจ้าอยู่หัวผู้สูงส่งที่จะทรงเป็นหลักยึดและเป็นผู้นำในการต่อสู้กับความไม่สงบ และพวกคอมมิวนิสต์หรืออะไรก็ตามที่คุกคามความเป็นชาติไทย นิสิตนักศึกษาเชื่อว่าในหลวงภูมิพลทรงสนับสนุนประชาธิปไตยและเสรีนิยม
บางคนถึงกับพูดว่า พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นเหมือนหลักชัยหรือหลักยึดเทียบได้กับรัฐธรรมนูญของคนอเมริกัน ทรงเป็นที่พึ่งสุดท้ายของนักศึกษาและประชาชนในการต่อสู้กับสามทรราช ชาวต่างประเทศมองว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระเดชานุภาพและมั่นคงสถาพรมากที่สุด
มีนักการเมืองกับนักวิชาการจำนวนน้อยเท่านั้น ที่เข้าใจถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตรงกันข้ามกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน นายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นทนายและนักการเมืองหนุ่ม ได้พูดในตอนนั้นว่า ประชาชนผู้ออกเสียงลงคะแนนคือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของสังคม พวกเขาต้องเข้าใจกลไกและขั้นตอนต่างๆ และสามารถพิจารณาบุคคลที่เสนอตัวเป็นตัวแทนพวกเขาได้ สิ่งที่จำเป็นคือ ต้องให้พวกเขามีโอกาส และมีเวลามากพอ ที่จะมีประสบการณ์ทางเมืองด้วยตนเอง น่าเสียดายว่า 42 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไม่เคยมีโอกาสดังกล่าว
เหตุการณ์ 14 ตุลา นำประชาชนผู้รักประชาธิปไตย มาร่วมกันขับไล่สามทรราช แต่หลังจากสามทรราชออกไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรยึดโยงพวกเขาไว้ด้วยกัน แม้จะมีพระเจ้าอยู่หัวทรงดูแลการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และจัดตั้งรัฐบาลพระราชทาน แต่เจตนารมณ์ของประชาธิปไตยก็เสื่อมคลายลงเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น
ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี
นายสัญญา เป็นผู้พิพากษาที่ซื่อสัตย์และเป็นคนธัมมะธัมโม ที่ใกล้ชิดกับวังตั้งแต่เมื่อทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะผู้พิพากษาคดีสวรรคตของในหลวงอานันท์ ที่ดูแลเรื่องคำให้การของในหลวงภูมิพลในคดีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ที่ลงท้ายด้วยการตัดสินประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์สามคน ( นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน และนายเฉลียว ปทุมรส )
เพียงเพื่อปิดคดีและให้ในหลวงภูมิพลกล้าเสด็จกลับประเทศไทย อย่างผู้บริสุทธิ์ นายสัญญาไม่ใช่ผู้นำรัฐบาลที่มีบารมี แต่ในฐานะเป็นที่ปรึกษาและตัวแทนของในหลวงภูมิพล จึงเป็นช่องทางแสดงความกระตือรือล้นแค่ชั่วเวลาหนึ่งของวัง ในเรื่องการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม นายสัญญาได้เลือกคนที่ตนและวังเชื่อใจมาร่วมคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เช่นนายประกอบ หุตะสิงห์ รัฐมนตรียุติธรรม มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมชและกลุ่มนักวิชาการ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เสร็จในวันที่ 8 มกราคม 2517
รัฐสภาชุดเก่าที่เลือกโดยจอมพลถนอมยังคงอยู่ จึงให้ในหลวงภูมิพลได้ทรงคัดเลือกคนจำนวน 2,347 คน จากทุกสาขาอาชีพ ให้เลือกกันเองให้เหลือ 299 คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของในหลวงภูมิพลโดดเด่นสูงล้ำในแง่ของความเป็นประชาธิปไตย ทรงประกาศรายชื่อทั้ง 2,347 คนในวันที่ 10 ธันวาคม 2516 ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ หนึ่งสัปดาห์ต่อมา สมาชิกสภาสนามม้า ก็ประชุมกันในสนามม้านางเลิ้งในวันที่ 19 ธันวาคม โดยให้แต่ละคนเสนอชื่อ 100 คนจากสมาชิกด้วยกันเอง แต่แทบไม่มีใครที่รู้จักคนในรายชื่อถึง 100 คน พวกเขาจึงต้องเลือกข้าราชการและคนมีชื่อเสียงอย่าง มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สภาสนามม้าจึงหนีไม่พ้นพวกอนุรักษ์นิยม ที่ไม่นิยมการเปลี่ยนแปลงโดยส่วนใหญ่เป็นคนในกรุงเทพฯ ที่ครึ่งหนึ่งมาจากราชการ และมีเพียง12 เปอร์เซ็นต์เป็นนักธุรกิจและนักการธนาคาร
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2489 สภาผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นผู้เลือกอีกสภาหนึ่ง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา ให้มีการลงประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก่อนจะส่งให้พระมหากษัตริย์ลงนาม แต่ก็มีการขัดขวางจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมเจ้ากลุ่มใหญ่ในสภา ที่นำโดยนายเกษม จาติกวนิช ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และเป็นคนใกล้ชิดของในหลวงภูมิพล
เก้าเดือนต่อมา กลุ่มอนุรักษ์นิยมของนายเกษม ได้ล้มร่างรัฐธรรมนูญ และเขียนขึ้นใหม่โดยลดทอนความเป็นประชาธิปไตยลงไปหลายอย่าง โดยเพิ่มอำนาจแก่ฝ่ายบริหาร และเพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจประกาศภาวะฉุกเฉินแทนฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล พระมหากษัตริย์มีอำนาจในการแต่งตั้ง และถอดถอนข้าราชการครอบคลุมส่วนบนสุดทั้งหมดของกองทัพและข้าราชการ
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอนุรักษ์นิยมยังให้อำนาจพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งวุฒิสภา โดยมีประธานองคมนตรีลงนามสนองพระบรมราชโองการ วุฒิสภามีอำนาจเหนือกว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากกว่า และการยืนมติของสภาต่อการยับยั้งของพระมหากษัตริย์ต้องอาศัยเสียงถึงสองในสามของทั้งสองสภา หมายความว่าวังสามารถขัดขวางกฏหมายใดๆก็ได้ โดยมีวุฒิสมาชิกทั้งสภากับสมาชิกสภาผู้แทนอีกเพียงไม่กี่คน วุฒิสมาชิกยังสามารถดึงร่างกฎหมายจากสภาผู้แทนไว้ได้หกเดือนโดยไม่มีการออกเสียง ร่างสุดท้ายมีการห้ามข้าราชการประจำการ รวมถึงทหารดำรงตำแหน่งในสภา ซึ่งเป็นพระราชประสงค์ของในหลวงภูมิพล ที่ทรงรู้สึกว่าข้าราชการควรต้องจำกัดอยู่เฉพาะหน้าที่การงานของตัวเอง และอยู่เหนือการเมืองเช่นเดียวกับพระองค์ และรัฐธรรมนูญอนุญาตให้นายกฯ เลือกคณะรัฐมนตรีครึ่งหนึ่งจากคนนอกสภา ซึ่งสะท้อนถึงอคติที่มีต่อนักการเมือง
รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ต้องมีการลงประชามติ เพียงแต่ผ่านสภาสนามม้าเท่านั้น และได้ประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2517 เป็นผลผลิตของสภาสนามม้าและไม่ตรงกับที่นายกสัญญา ธรรมศักดิ์ได้หวังเอาไว้ จนนายกสัญญาถึงกับขอลาออก แต่ก็ถูกพระเจ้าอยู่หัวยับยั้งไว้ โดยวังเห็นว่าร่างสุดท้ายนี้เป็นประชาธิปไตยพอแล้วยกเว้นเรื่องเดียวคือ
ต้นปี 2518 ทางวังจัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ระบุว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกของพระมหากษัตริย์ แทนที่จะเป็นประธานองคมนตรี เพราะบทบัญญัติเดิมเปิดเผยบทบาททางการเมืองของพระมหากษัตริย์ชัดเจนเกินไป
เหตุการณ์ 14 ตุลาได้เปิดทำนบความกดดันอัดอั้นที่สั่งสมมานานกว่า 20 ปี กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยความโกลาหล ทุกคนต่างลงมาบนท้องถนนเพราะมีเรื่องทุกข์ร้อน เรื่องความอยุติธรรมในสังคม การทุจริตคอรัปชั่น การใช้อำนาจในทางมิชอบและการเอารัดเอาเปรียบ มีหนังสือพิมพ์เกิดใหม่ 177 ฉบับ ในปี 2517 ขณะที่ไทยได้รับอิทธิพลภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ในเดือนธันวาคม 2516 เพียงเดือนเดียวมีการประท้วงหยุดงานถึง 249 ครั้ง
ชาวนาและกรรมกรมีเหตุอันควร ให้ต้องเรียกร้อง ค่าจ้างจริงๆลดต่ำลงตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา และค่าแรงขั้นต่ำส่วนใหญ่ก็มิได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ในปลายปี 2516 คนจำนวนมากรับไม่ไหว
การลงทุนของราชสกุลมหิดลก็เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในช่วงปี 2517 มีการประท้วงหยุดงานของพนักงานโรงแรมดุสิตธานี ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ร่วมลงทุนอยู่ด้วย โรงแรมจึงต้องยอมเจรจา เพราะเกรงว่าการประท้วงจะก่อภาพลบต่อพระมหากษัตริย์ ตลอดปี 2517 กลุ่มชาวนาหลั่งไหลเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อร้องเรียนเกี่ยวกับราคาพืชผล ค่าเช่าที่นา การยึดที่ดินของเจ้าหนี้ นักศึกษาให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งพวกเขา บางครั้งนั่งรถบัสเข้ามานับพันๆ คน ในเดือนกันยายน 2517 เกษตรกรราว 7,000 คน ในแปดจังหวัดขู่จะประกาศให้ที่ดินของพวกตนเป็นเขตปลดปล่อย โดยได้รับการสนับสนุนจากนักศึกษาอีกเช่นกัน
นักศึกษาเคลื่อนไหวในประเด็นของตนเองอย่างได้ผล โดยเปิดโปงบทบาทของซีไอเอในการชักใยรัฐบาลและการทุจริตที่มีสหรัฐฯมีส่วนเกี่ยวข้อง แฉกองทัพไทยที่กุเรื่องความโหดร้ายป่าเถื่อนของผู้ก่อการร้ายโดยที่กองทัพเป็นผู้ทำเสียเองอย่างเช่น การฆ่านักเคลื่อนไหวทางใต้ด้วยการจับยัดเข้าไปเผาในถังน้ำมัน (ถังแดง)
รวมทั้งกรณีอื้อฉาวที่ธีรยุทธ บุญมีผู้นำนักศึกษาเปิดเผยว่าการถล่มและเผาหมู่บ้านนาทราย ต.นาสิงห์ หนองคายที่ภาคอีสานจนราบพนาสูญนั้นไม่ใช่ฝีมือของพคท.อย่างที่กองทัพอ้าง แต่เป็นผลงานของกองอำนวยการปราบปรามคอมมิวนิสต์ นักศึกษาเปิดโปงว่ายุทธการต่อต้านผู้ก่อการร้ายนั้นหลุดจากการควบคุมและบ้าระห่ำ และสร้างความเสียหายมากกว่าพคท.เสียอีก
ในวงการสงฆ์ก็เช่นกัน พวกที่นิยมประชาธิปไตยก็จัดการประท้วง ปลายปี 2517 พระสายปฏิรูปกลุ่มหนึ่ง อดข้าวประท้วงสังฆราชให้เปิดคดีพระพิมลธรรม ที่ถูกจอมพลสฤษดิ์จับสึก ขึ้นมาพิจารณาใหม่ ด้วยการเคลื่อนไหวกดดันดังกล่าว พระพิมลธรรมจึงพ้นข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ แต่ก็ไม่ได้ชั้นยศอาวุโสกลับคืน มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประกาศว่าในหลวงภูมิพลทรงปฏิเสธการคืนชั้นยศแก่พระพิมลธรรม เนื่องจากว่าดวงชะตาของพระพิมลธรรมไม่ต้องกับดวงชะตาของในหลวง
นักศึกษาและนักเคลื่อนไหว ดูจะชอบนายกสัญญา ธรรรมศักดิ์ ที่มีความพยายามอย่างจริงใจในการแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมในชนบท นายกสัญญาตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจาข้อพิพาท ระหว่างเกษตรกรและเจ้าที่ดิน และเจ้าหนี้เงินกู้โดยใช้อาสาสมัครที่เป็นนิสิตนักศึกษาออกสำรวจปัญหาในต่างจังหวัด โดยเฉพาะเรื่องที่ชาวนาถูกโกง หรือยึดที่ดินจากการทำสัญญาขายฝาก (กรรมสิทธิ์ตกไปยังผู้ซื้อ โดยผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้)
นายกสัญญาได้ควบคุมค่าเช่าที่นา และจัดตั้งโครงการกระจายที่ดิน ที่จะอนุญาตให้ชาวนาสา มารถครอบ ครองพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมได้ แม้ว่าจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ก็ตาม ในหลวงภูมิพลเองก็ทรงมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาสังคมที่สำคัญ แต่วาระการดำรงตำแหน่งของนายกสัญญาก็สั้นเกินไป และความชอบธรรมน้อยเกินไปที่จะรุกเข้าไปในปัญหาอื่นได้มากนัก รัฐบาลสัญญาอยู่รอดมาได้ด้วยการคุ้มครองของในหลวงภูมิพล และพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผบ.ทบ.ขวัญใจประชาชน ที่ห้ามทหารยึดอำนาจ ด้วยการประกาศว่าการล้มรัฐบาลสัญญา เท่ากับทรยศต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
การประท้วงผ่อนลงก่อนการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2518 มีพรรคการเมืองเข้ามาในสภา 22 พรรคแต่ไม่มีพรรคใดได้ใกล้เคียงเสียงข้างมาก สภาเบี้ยหัวแตก ประชาธิปัตย์ได้สส.มากที่สุด เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลผสม โดย มรว.เสนีย์ ปราโมชหัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ แต่นายกเสนีย์ยังไม่ทันได้เริ่มทำงาน ในไม่กี่สัปดาห์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็โค่นรัฐบาลเสนีย์ และตั้งรัฐบาล จากพรรคปีกขวาสามพรรคกับพรรคกิจสังคมของมรว.คึกฤทธิ์
มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลใหม่ที่เอียงขวา ดูเป็นที่อุ่นใจมากกว่าสำหรับวัง และในหลวงภูมิพลทรงเชื่อว่ามรว.คึกฤทธิ์ จะมีความยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่าความเชื่อในการเมืองระบบสภาแบบตะวันตก
ความสามารถในการใช้โวหารของ มรว. คึกฤทธิ์ อารมณ์ขันแสบๆ คันๆ และความระแวงอย่างฝังใจต่อกองทัพ ทำให้มรว.คึกฤทธิ์ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักวิชาการและนักศึกษา เขาริเริ่มนโยบายทางสังคมที่ก้าวหน้า คล้ายกับจะประชันกับโครงการพระราชดำริของในหลวง
ก่อนการเลือกตั้งคึกฤทธิ์ได้ประกาศ สนับสนุนการกระจายความมั่งคั่ง ด้วยการแก้ไขระบบภาษี ปรับปรุงการบริหารงานของรัฐบาล และการศึกษา เขาบอกว่าการปฏิรูปที่ดินเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหาชนบทส่วน
เรื่องก่อการร้ายเขาบอกว่า รัฐบาลที่แล้วๆมา ไม่ได้ทำอะไร
ให้บรรเทาลงเลย การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของคนชนบท จะทำให้คนออกจากป่า เพราะพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้มีอุดมการณ์
หลังจากรับตำแหน่ง คึกฤทธิ์ประกาศค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มงบประมาณสำหรับการพัฒนาชนบท การปฎิรูปที่ดินและที่อยู่อาศัย และเพิ่มการกระจายอำนาจ เขาสร้างตำแหน่งผู้ว่าการกรุงเทพมหานครขึ้นมา เพื่อให้มีการบริหารดูแลท้องถิ่นด้วยตนเอง
เขาพยายามปฏิรูปที่ดินในนามของในหลวงภูมิพล ขอให้เจ้าที่ดินบริจาคที่ดินบางส่วน คืนขายให้รัฐบาลในราคาถูก เพื่อแจกจ่ายให้ชาวนาไร้ที่ดิน ผู้บริจาคที่ดินรายแรก คือหัวหน้าโครงการ อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ (ปรมาจารย์นักกฎหมายไทย) เพื่อนร่วมงานของอาจารย์สัญญาในกระทรวงยุติธรรมโดยถวายที่ดินกว่าสองหมื่นไร่ให้กับในหลวงอย่างเงียบๆ จากนั้นก็ทรงบริจาคต่อในนามของพระองค์เพื่อเป็นแบบอย่าง
วังไม่สบอารมณ์นัก เมื่อนายกคึกฤทธิ์กำหนดเส้นตายหนึ่งปีสำหรับการถอนทหารสหรัฐฯ 25,000 นาย พร้อมเครื่องบินและเฮลิค็อปเตอร์ 350 ลำออกไปจากประเทศไทย
และยังทอดสัมพันธไมตรีกับเวียตนามและจีน เขาประกาศความตั้งใจ ที่จะยกเลิกกฏหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการข่มเหงรังแกประชาชนของตำรวจและทหาร
นโยบายของคึกฤทธิ์ได้รับความนิยม แต่ก็เป็นหมันหรือไร้ผลด้วยฝีมือของกองทัพ ฝ่ายค้านในสภา และพรรคร่วมรัฐบาลขวาจัดของเขาเอง โครงการช่วยเหลือเกษตรกรค้างเติ่ง อยู่ในระบบราชการ และค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่มีการบังคับใช้ รัฐบาลคึกฤทธิ์เผชิญความเสี่ยงของการถูกรัฐประหารอยู่ตลอดเวลา และพรรคร่วมรัฐบาลของก็ร่วมมือกับกองทัพ ในการปกป้องกฏหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และขัดขวางความริเริ่มทางนโยบายต่างประเทศของคึกฤทธิ์ โครงการปฏิรูปที่ดินล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แม้ว่าในหลวงภูมิพลจะทรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ไม่มีใครหันมาบริจาคที่ดินอีก แม้แต่พวกเจ้าที่ร่ำรวยในแวดวงของในหลวงภูมิพลเองก็ตาม
รัฐบาลคึกฤทธิ์พยายามใช้ระบบรัฐสภา เพื่อสร้างสรรค์นโยบายใหม่ๆ ซึ่งน่าจะดำเนินไปได้ แต่ก็ไม่มีโอกาสเพราะคนที่มีอำนาจจริงๆ พยายามทำให้ระบบรัฐสภาล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ เพื่อพิสูจน์ว่าระบบรัฐสภาใช้การไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อในหลวงภูมิพลทรงพยักหน้าอย่างเงียบๆ ให้คึกฤทธิ์ลาออกไป ในต้นปี 2519 ดูเหมือนว่า กษัตริย์ภูมิพลเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยไปไม่รอดใช้ไม่ได้ผล หลังจากเกือบหนึ่งปีของการทดสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อันที่จริงก่อนหน้าสมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ ในหลวงภูมิพลทรงเลือกอยู่ข้างฝ่ายอนุรักษ์นิยมพวกล้าหลังที่ปฏิเสธอำนาจของปวงชน
และตลอดช่วงรัฐบาลสัญญา ก็ทรงพยายามแสดงต่อหน้าสาธารณชน ว่าจะทรงยึดมั่นในเจตนารมณ์ของวีรชน 14 ตุลา โดยเสด็จไปร่วมพิธีรำลึกผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่สนามหลวงในวันที่ 14 ตุลาคม 2517
หลังจากนั้น มีการแบ่งที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริเวณตึกกตป.เก่าที่ถูกเผา ที่สี่แยกคอกวัว ริมถนนราชดำเนินใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อสร้างอนุสาวรีย์รำลึกวีรชน ในเวลานั้นพระองค์ก็กำลังสร้างสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งแน่นแฟ้น กับกลุ่มขวาจัดนิยมเผด็จการทหารในกองทัพ รวมทั้งกลุ่มการเมืองและกลุ่มธุรกิจ ที่กำลังจัดตั้งขบวนการต่อต้านฝ่ายซ้าย ที่พวกขวาจัดมองว่าเป็นภัยต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์
ฝ่ายอนุรักษ์ขวาจัดนิยมเจ้าของไทยเชื่อว่านักศึกษา กรรมกรและชาวนาที่ทำการประท้วงเป็นแนวที่ห้าหรือสายจัดตั้งของพคท. และเวียตนามเหนือ
เรดการ์ด (Red Guard)หรือพวกหน่วยพิทักษ์แดงในจีนที่นำโดยนักศึกษากำลังสร้างความวุ่นวายในประเทศจีน ด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรมตามแนวคิดซ้ายจัด ขณะที่นักศึกษาอเมริกันก็ช่วยกันขับไล่ประธานาธิบดีนิกสันลงจากตำแหน่ง และเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐถอนกำลังทหารออกจากเวียตนามใต้ พวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดบอกว่า ไทยคือเป้าหมายต่อไปของฮานอย เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยพูดในปี 2517 ว่า นักศึกษาไทยเป็นพวกคอมมิวนิสต์แนวใหม่ที่เป็นตัวอันตราย
นับเป็นข้อสรุปที่เลื่อนลอย เพราะพคท.ที่เติบโตในช่วงปี 2517-18 มีทหารปลดแอกอยู่แค่ประมาณ 8,000 คน คุมพื้นที่ที่มีประชาชนเพียง 100,000 คน คำแถลงของพคท.ทางวิทยุมักจะพูดถึงสงครามประชาชน แต่พคท.ก็ยังห่างไกลจากการเป็นกองทัพที่แข็งแกร่ง และพคท.ก็โน้มน้าวชาวบ้านด้วยประเด็นความไม่เป็นธรรมในสังคมโดยหลีกเลี่ยงที่จะโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนา
การขยายตัวของพคท.น่าจะมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลข่มเหงรังแกประชาชนมากกว่า ภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องที่พูดกันเกินจริง เพราะหลังจากใช้เวลากว่า 20 ปี คอมมิวนิสต์ไทยยังคงไปไม่พ้นบริเวณชายแดนอยู่เลย ยิ่งกว่านั้น อุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ ก็ไม่อาจดึงดูดคนในเมือง แม้ว่าจะมีแนวคิดเปลี่ยนแปลงชนิดถอนรากถอนโคนบ้างในหมู่นักศึกษา ชาวนาและกรรมกร
วรรณกรรมฝ่ายซ้ายอย่าง โฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ (ใช้นามปากกา สมสมัย ศรีสูทรพรรณ) ก็กลับมาเป็นที่สนใจ และมีการพูดคุยเรื่องสังคมนิยมอย่างร้อนแรง นักศึกษาบางส่วนประกาศความเห็นอกเห็นใจในขบวนการปลดปล่อยประเทศต่างๆในอินโดจีน แต่กิจกรรมของฝ่ายซ้ายก็ยังมีนักศึกษามาร่วมเป็นจำนวนน้อย ตลอดปี 2517 ผู้นำนักศึกษาส่วนใหญ่ยังคงยึดถือพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นแสงสว่าง ส่องนำความยุติธรรมและเป็นเสาหลักของประชาธิปไตย มีแค่คนส่วนน้อยที่วิพากษ์วิจารณ์พระองค์และก็ต้องเก็บงำความเห็นไว้เฉพาะกลุ่มของตนเองเท่านั้น
มันเป็นอย่างนั้น ทั้งๆ ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงวิจารณ์พวกนักศึกษาครั้งแล้วครั้งเล่า ทรงอบรมนิสิตจุฬาฯ ให้ตั้งใจเรียนและสงบเงียบ พวกที่ประท้วงโหวกเหวกนั้นคิดผิด “ทุกวันนี้ บางคนเข้าใจว่าการคิดอย่างอิสระหมายถึงคิดให้ต่างจากคนอื่น ความเข้าใจอย่างนี้ไม่ค่อยจะถูก การคิดจะต้องมุ่งไปที่การขบคิดถึงสิ่งต่างๆ เพื่อจะได้มีความคิดชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร... การคิดเพียงเพื่อจะให้แตกต่างจากคนอื่นก็ทำได้ แต่สงสัยว่าจะได้ประโยชน์อะไร” ทรงมีพระบรมราโชวาทคล้ายๆ กันนี้ต่อชาวนาที่ออกมาประท้วงว่า “พวกเขาเชื่อว่าถ้ามากรุงเทพฯ ปัญหาของพวกเขาก็จะได้รับการแก้ไข แต่การประท้วงมีค่าใช้จ่ายสูง เห็นด้วยว่าบางครั้งก็จำเป็นเพื่อปลุกรัฐบาลให้เห็นปัญหา แต่ไม่ควรประท้วงกันบ่อยๆ เนื่องจากผู้ประท้วงเองจะเสียทั้งเวลาและเงินทอง ”
นักศึกษาไม่ทันสังเกตเห็นว่าในหลวงภูมิพลทรงเอนเอียงใกล้ชิดสนิทสนมกับพวกทหารขวาจัด บรรดาที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงดั้งเดิมของพระองค์ส่วนใหญ่เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2510 หรือไม่ก็แก่เต็มทนแล้ว และถูกแทนที่อย่างไม่เป็นทางการด้วยนายทหารที่ในหลวงและพระราชินีทรงเห็นว่ามีความจงรักภักดี
การที่พวกนายพลไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์หรือมีเลือดศักดินานั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ พระราชินีสิริกิติ์ก็ทรงแวดล้อมด้วยบรรดานายทหารหรือภริยาของพวกนายทหาร
ฟ้าชาย วชิรา ลงกรณ์ ก็ทรงมุ่งไปในสายทหาร หลังจากทรงจบจากโรงเรียนมัธยมในอังกฤษ และโรงเรียนเตรียมในซิดนีย์ ออสเตรเลีย ในปี 2515 ทรงเข้าราชวิทยาลัยทหารดันทรูน Duntroon Royal Military Academy ซึ่งเป็นโรงเรียนทหารที่สำคัญของออสเตรเลีย เวลาเสด็จกลับประเทศไทย ก็ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่กับทหารพี่เลี้ยง ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างวังกับกองทัพ ทำให้พระองค์มองข้ามการทุจริตคอรัปชั่นและความหย่อนยานไร้ประสิทธิภาพ ที่มีอยู่ทั่วไปในระดับสูงของกองทัพ และยังทำให้ปัญหาหนักขึ้นอีกด้วยความหย่ามใจจากความใกล้ชิดสนิทแน่นกับพระเจ้าแผ่นดิน
ทำให้กองทัพไทยเหมือนคนหัวโตตัวลีบ มีนายพลถึง 600 คน และมีนายพลสี่ดาวคือพลเอกอยู่ถึง 24 คน (ฝรั่งเริ่มนับยศนายพลที่พลจัตวา ซึ่งเครื่องหมายยศมีดาวเดียว) หลายคนใช้เวลาไปกับการแสวงหาความร่ำรวยจากการทุจริตคอรัปชั่นและแย่งอำนาจการเมือง ยิ่งทำให้กองทัพแบ่งพรรคแบ่งพวกหนักขึ้นไปอีก ขณะเดียวกัน ก็ขาดการฝึกฝนทางการทหารที่ดีและมีความหย่อนยานทางวินัย คือเป็นแค่ทหารมีความสามารถในการรบที่จำกัดและขาดวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์
แม้ว่าในหลวงภูมิพลจะเข้าพระทัยเรื่องนี้ แต่ไม่ได้ทรงแก้ไขให้ดีขึ้นเลย เวลาที่มีพระบรมราโชวาทถึงเรื่องการทุจริตคอรัปชัน ก็จะเป็นเรื่องทุจริตคอรัปชั่นของข้าราชการพลเรือนและนักการเมืองโดยทรงละเว้นไม่พูดถึงการโกงกินที่ระบาดไปทั่วในกองทัพ แม้ว่าบรรดานายพลที่ใกล้ชิดพระองค์ที่สุดจะค่อนข้างสะอาดกว่านายพลอื่นๆก็ตาม แต่พระองค์ก็ไม่เคยตำหนิหรือตักเตือนพวกที่ค่อนข้างสกปรกทุจริตคอรัปชั่น
ที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดที่สุดของในหลวงภูมิพลในตอนนั้น คือนายพล ที่อยู่ในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอรมน.) ที่มาแทนกองอำนวยการปราบปรามคอมมิวนิสต์(กอปค.)หลังจากถนอมกับประภาสกระเด็นออกไป หลายคนคาดหวังว่าในหลวงภูมิพลจะทรงผลักดันในกอรมน.มีแนวทางทำงานเชิงสังคมหรือเน้นการพัฒนามากขึ้นเพื่อดึงชาวบ้านจากพคท.
แต่ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายกลับรุนแรงมากขึ้น เดือน พฤศจิ กายน 2516 กอรมน . เริ่มยุทธการ ระเบิดถล่มหมู่บ้าน ชาวเขา ในภาคเหนือที่ดำเนินเรื่อยมาเป็นเวลาหลายเดือน รวมทั้งปฏิบัติการที่ไม่ค่อยเปิดเผยคือกอรมน.กับผู้นำอนุรักษ์นิยมขวาจัดอื่นๆ จัดตั้งปฏิบัติการต่างๆ เพื่อบ่อนทำลายฝ่ายซ้ายในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดด้วยการโฆษณาชวนเชื่อและการใช้ความรุนแรง ในนามของขบวนการพิทักษ์รักษาชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งในหลวงภูมิพลก็ทรงรู้เห็นและสนับสนุนปฏิบัติการทั้งหมดนี้
องค์กรมวลชนชาวบ้านผู้รักชาติองค์กรแรก คือลูกเสือชาวบ้าน ในช่วงทศวรรษ 2500 ชาวบ้านถูกปลูกฝังให้เชื่อในพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีและข้าราชบริพารของทั้งสองพระองค์เพื่อคุ้มภัยจากสิ่งชั่วร้ายและความอยุติธรรม
พวกเขาได้รับการอบรมสั่งสอนว่าสาเหตุหลักของปัญหาความเดือดร้อน คือพวกคอมมิวนิสต์ และนายทุน โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ อันเป็นแบบฉบับที่ติดตามหมู่บ้านจะมีภาพเปรียบเทียบแบ่งเป็นสองข้าง ข้างที่เขียนว่าคอมมิวนิสต์มีภาพผู้ชายคนจีน (ทั้งคอมมิวนิสต์และนายทุนมักจะมีภาพเป็นคนจีน) ทำท่าเป็นเจ้านายเหนือชาวบ้านที่ยากจนทุกข์เข็ญ อีกข้างหนึ่งเขียนว่าสันติภาพ เป็นภาพพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงพบปะพสกนิกรที่ยิ้มแย้มอิ่มเอิบ โปสเตอร์นี้ ดูคล้ายกับภาพฝาผนังตามวัดที่แสดงภาพเปรียบเทียบระหว่างนรกและสวรรค์
เมื่อการก่อการร้ายขยายตัว วังจำเป็นต้องมีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นมากขึ้นกับชาวบ้านในชนบท ที่ไม่่ต้องผ่านสื่อกลางอย่างข้าราชการและทหารที่ไร้ความคิด โดยอาศัยแบบอย่าง จากกองเสือป่าของรัชกาลที่ 6 พตอ.สมควร หริกุล นายตำรวจตชด.ได้ก่อตั้งลูกเสือชาวบ้านขึ้นมาเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในเดือนสิงหาคม 2514
ด้วยแนวคิดให้แต่ละครอบครัวส่งตัวแทนหนึ่งคนเข้าร่วมหน่วยลูกเสือชาวบ้านของท้องถิ่น พวกเขากลายเป็นชนชั้นนำใหม่ของชุมชนหลังจากผ่านการฝึกอบรมที่เข้มข้นเป็นเวลาสามวันโดยตชด. เป็นการปลูกฝังอุดมการณ์และสร้างความผูกพันด้วยการใช้เทคนิคทางจิตวิทยา กิจกรรมทั้งหมดระหว่างการฝึกอบรมถูกออกแบบมาเพื่อปลูกฝังความเป็นไทยตามแบบเจ้า ผูกโยงความจงรักภักดี ความสามัคคี ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและวินัยเข้ากับคาถาชาติ ศาสน์ กษัตริย์ของรัชกาลที่ 6 สร้างสายใยความผูกพันเป็นครอบครัวโดยมีพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลและพระราชินีสิริกิติ์เป็นพ่อและแม่ของคนในชาติทุกคน ซึ่งยังคงมีการอบรมเพื่อความมั่นคงลักษณะเดียวกันนี้โดยกอ.รมน.มาจนถึงทุกวันนี้ รวมทั้งการจัดอบรมสื่อเพื่อความมั่นคงทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์
ผู้บัญชาการลูกเสือชาวบ้านที่มาจากตชด.ได้เน้นย้ำและสร้างภาพที่น่าหวาดกลัวถึงภัยอันตรายของคอมมิวนิสต์ โดยบอกลูกเสือชาวบ้านว่าเวียตนามเหนือกำลังใช้พคท.เป็นเครื่องมือที่จะยึดครองประเทศไทย โดยที่เวียตนามใต้ ลาวและกัมพูชาได้พ่ายแพ้ไปแล้วเนื่องจากไม่มีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ซึ่งเป็นที่รวมจิตใจของคนในชาติ เมื่อลูกเสือชาวบ้านเผยแพร่ความคิดนี้ในหมู่บ้าน พวกเขาก็ขยายเครือข่ายการโฆษณาชวนเชื่อให้กับตชด.ได้อย่างดี
เครื่องแบบของพวกเขา คือผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้านที่ได้รับการปลุกเสกโดยพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเอง เหมือนพระเกจิที่ปลุกเสกพระเครื่อง ลูกเสือชาวบ้านได้รับพระราชทานผ้าพันคอนี้ในพิธีพระราชทานที่ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ราวกับพิธีทางศาสนา บางครั้งพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ทรงพระราชทานด้วยพระองค์เอง
ในหลวงภูมิพลทรงประมวลหลักการประพฤติปฏิบัติตนขึ้นมา ทรงรับสั่งให้ลูกเสือชาวบ้านไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือแสดงพลัง ทรงย้ำว่าลูกเสือชาวบ้านไม่ได้จัดตั้งโดยรัฐบาลในระบบราชการ แต่เป็นการดำเนินการของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน โดยเป็นผู้นำในการพัฒนาท้องถิ่น ทำงานเป็นกลุ่มเพื่อเสริมสร้างความสามัคคี เป็นแบบอย่างของความมีวินัยและมัธยัสถ์ ไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือยไปกับกิจกรรม และไม่ใช้แหล่งเงินจากนักการเมือง ไม่ให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการฝึกอบรม
ส่งเสริมสินค้าและอาหารไทย ฟื้นฟูและรักษาขนบประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของแต่ละหมู่บ้าน ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมาย ทำงานด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยไม่เรียกร้อง ไม่บ่น ไม่วิจารณ์ และออกห่างจากระบบราชการ หมายถึงหลีกห่างจากการเมืองที่ฉ้อฉลและระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ ขบวนลูกเสือชาวบ้านนี้ มุ่งหวังความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความสงบนิ่งที่เหมาะกับการปกครองแบบเผด็จการ
พระราชวงศ์ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกเสือชาวบ้านตั้งแต่เริ่มต้น พระราชชนนีศรีสังวาลย์ทรงอุปถัมภ์ ตชด. ทรงเป็นประธานในพิธีปฐมนิเทศน์ครั้งแรกๆ ในเดือนพฤศจิกายน 2514 ทรงพระราชทานหนังสือการต่อต้านการก่อการร้ายให้กับ พล.ต.ท.สมควร หะริกุล นายตำรวจตชด. บ่งบอกถึงความกังวลของราชสกุลมหิดล 19 มีนาคม 2515 ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานผ้าพันคอและทรงโปรดฯให้ตชด.ที่ก่อตั้งลูกเสือชาวบ้านเข้าเฝ้าและพระราชทานเงินสนับสนุนให้ 100,000 บาท
ขบวนการลูกเสือชาวบ้าน ได้ผูกโยงเข้ากับวงจรแห่งการร่วมเสด็จพระราชกุศลของพระเจ้าอยู่หัวเนื่องจากงบประมาณของตชด.มีไม่มากพอสำหรับใช้ในการดำเนินกิจการทั้งหมด และชาวบ้านที่ยากจนก็ไม่สามารถรับภาระพิธีการรับพระราชทานผ้าพันคอได้ ในหลวงทรงรับสั่งไม่ให้ลูกเสือชาวบ้านเป็นภาระของรัฐบาล การมีพระนามของพระองค์ประทับอยู่ก็ทำให้กิจกรรมลูกเสือชาวบ้านสามารถดึงดูดเงินบริจาคจากชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่กำลังประสาทเสีย ได้ไม่ยาก
ซึ่งคนเหล่านี้ได้ช่วยปราบคอมมิวนิสต์ และได้แบ่งปันบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ไปด้วยพร้อมๆกัน การรับเงินบริจาคทำให้ลูกเสือชาวบ้านอยู่นอกการควบคุมของรัฐบาลและอยู่ใต้สถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง เป็นการผูกมัดกับชาวบ้านระดับนำที่จงรักภักดี ทรงกล่าวปราศัยในปี 2516 ว่า “เราไม่ต้องการให้ลูกเสือชาวบ้านเป็นกองกำลังส่วนตัวของใคร ” (แต่ให้เป็นกองทัพส่วนพระองค์เท่านั้น)
พอปี 2517 ลูกเสือชาวบ้านเพิ่มจำนวนเป็นหลายหมื่นคน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สู้รบกับพคท. กอรมน.กับพันธมิตรในกระทรวงมหาดไทยเข้ารับผิดชอบขบวนการลูกเสือชาวบ้าน เป็นองค์กรจัดตั้งระดับประเทศที่มีมวลชนทั่วทั้งชนบทและในเมือง
แม่งานสำคัญคือพล.ต.ท.สุรพล จุลละพราหมณ์ ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ผู้ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวและพระราชชนนีมาเป็นเวลานาน (ต่อมาได้เป็นอธิบดีตำรวจปี 2524-2525 ) จำนวนลูกเสือชาวบ้านเพิ่มขึ้นทวีคูณเมื่อรวมพ่อค้าแม่ค้า ข้าราชการระดับล่าง และภรรยาของข้าราชการ ทหารตำรวจกระทั่งเจ้าหน้าที่ในวัง
คนไทยหลายแสนคนผ่านการฝึกอบรมสามวัน ที่เต็มไปด้วยการประณาม พคท. เวียตนามและนักศึกษาที่ออกมาประท้วงว่ากำลังทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เหมือนที่พม่าเคยทำลายกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์เสด็จพระราชทานผ้าพันคอกับธงลูกเสือชาวบ้าน รวมๆแล้วมากกว่าปริญญาที่พระราชทานแก่นักศึกษา ตามมหาวิทยาลัยเสียอีก ผ้าพันคอเป็นเหมือนเครื่องรางของขลัง ที่ทำให้ลูกเสือชาวบ้านแต่ละคน รู้สึกได้ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัว
หลังจากกอรมน.เข้ามาจัดการควบคุมดูแล ให้ลูกเสือชาวบ้านกลายเป็นมวลชนจัดตั้งแบบฟาสซิสด์ หรือเผด็จการทหารขวาจัด ขบวนการลูกเสือชาวบ้านที่ครอบคลุมถึงในเมืองไม่ได้มุ่งเน้นการชนะใจชาวบ้านตามพื้นที่ชายแดน แต่เป็นการเปลี่ยนวิถีทางการเมืองระดับชาติ มีการจัดตั้งมวลชนอีกสองกลุ่มที่ไม่เปิดเผยเท่าลูกเสือชาวบ้านสำหรับปฏิบัติการนอกระบบในนามของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ นั่นคือ กระทิงแดงกับนวพล
กระทิงแดงส่วนใหญ่เป็นอดีตทหาร ทหารรับจ้าง อดีตนักโทษและนักเรียนช่างกลก่อตั้งเมื่อต้นปี 2517 โดยเจ้าหน้าที่ กอรมน. พล.ต. สุตสาย หัสดิน โดยได้รับการบอกเล่าว่านักศึกษาและนักเคลื่อนไหวอื่นๆ เป็นคอมมิวนิสตที่คุกคามสถาบันกษัตริย์ พวกเขากลายเป็นกองกำลังปีกขวาปฏิบัติงานตามท้องถนน คอยก่อกวนการชุมนุมประท้วงและคุกคามผู้นำฝ่ายซ้าย
โดยออกโรงปฏิบัติการครั้งแรกเมื่อในหลวงภูมิพลเสด็จประกอบพระราชพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลา ในวันที่ 14 ตุลาคม 2517 ที่ท้องสนามหลวง ก่อนพิธีเริ่ม กลุ่มอันธพาลกระทิงแดงที่นำโดยพลตรีสุตสาย หัสดินทร ได้เดินขบวนด้วยท่าทางดุดันผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างงานพิธี พวกเขารายล้อมในหลวงภูมิพลและพระราชวงศ์ พร้อมทั้งประกาศว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลกำลังทรงตกอยู่ในอันตรายจากการซุ่มยิงโดยนักศึกษา ที่ซ่อนอยู่ในธรรมศาสตร์ศาสตร์โดยที่ในหลวงภูมิพลไม่ได้ทรงแสดงความพยายามออกห่างจากพวกอันธพาลกระทิงแดงแต่อย่างใด
ส่วนนวพล เป็นขบวนการจัดตั้งตามแผนปฏิบัติการของกอรมน.ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2517 โดยอดีตเจ้ากรมข่าวทหาร พล.อ.วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ นายวัฒนา เขียววิมล ปัญญาชนจากอเมริกา ผู้มีสัมพันธ์กับซีไอเอ ซึ่งเป็นวิทยากรประจำและเป็นผู้ประสานงานขององค์การ พล.ต.ท.สุรพล จุลละพราหมณ์ ผู้บัญชาการตชด. พล.อ. สายหยุด เกิดผล เสนาธิการ กอรมน. และ พล.ท. สำราญ แพทยกุลอดีตแม่ทัพภาคสาม ซึ่งเป็นองคมนตรี และเป็นผู้ที่ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทอย่างยิ่ง พลโทสำราญได้เป็นนวพลอันดับแรก หรือหมายเลข 001 คำว่า นวพลแปลว่า พลังเก้า หมายถึงรัชกาลที่ 9 นายวัฒนาได้ให้อธิบายว่า นวพลคือพลังใหม่ 3 ประการ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
พล.อ.วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ อ้างถึงความห่วงกังวลของพระเจ้าอยู่หัว และบอกว่า นวพล ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างกำแพงขวางคอมมิวนิสต์ที่คุกคามศาสนาพุทธและสถาบันกษัตริย์ เขาอ้างว่านักศึกษาได้รับการสนับสนุนจากนายปรีดี พนมยงค์ เคจีบีของรัสเซีย พรรคสังคมนิยมระหว่างประเทศ และ พคท. นวพลตั้งเป้าดำเนินการอยู่ในกลุ่มข้าราชการระดับท้องถิ่น และในหมู่นักธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ โดยยืนยันที่จะปราบปรามฝ่ายซ้ายโดยเฉพาะ จึงโฆษณาตนเองว่าเป็นองค์กรต่อต้านคอมมิวนิสต์เพื่อธำรงไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ความรู้สึกต่อต้านคอมมิวนิสต์มีมากจนกระทั่งนวพลได้ออกแถลงการณ์วันที่ 16 ธันวาคม 2518 โจมตีนายกคึกฤทธิ์ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะเดินทางไปเปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน กลุ่มนวพลได้รับการสนับสนุนทางการเงินและวัสดุอุปกรณ์จากคนในกองทัพบกและกรมตำรวจ ในระดับบนสุด นวพลเป็นกลุ่มลับของพวกหัวเก่านิยมเจ้า เป็นชนชั้นสูงในวงราชการ กองทัพ ธุรกิจ พระสงฆ์และวัง
บุคคลสำคัญคนหนึ่งคือผู้พิพากษาศาลฏีกานายธานินทร์ กรัยวิเชียร นักนิยมกษัตริย์และต่อต้านคอมมิวนิสต์ตัวยงและเป็นพระสหายของในหลวง นวพลมีสมาชิกระดับล่างลงมาเป็นพ่อค้าท้องถิ่นและข้าราชการต่างจังหวัด จัดกิจกรรมต่อต้านคอมมิวนิสต์เพื่อหาสมาชิกและระดมทุนจากชนชั้นกลาง บางคนถูกคัดเลือกให้ร่วมในหน่วยลับปฏิบัติการบ่อนทำลาย สร้างสถานกรณ์และลอบสังหารเพื่อเขย่าขวัญฝ่ายช้าย
คนสำคัญที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อสมาชิกสองระดับนี้ คือพระกิตติวุฒโท ผู้กว้างขวางใหญ่โต กิตติวุฒโทเติบโตในสายพระในช่วงทศวรรษ 2500 ส่วนหนึ่งจาก การช่วยโจมตีพระพิมลธรรม
ในปี 2510 เขาเปิดจิตตภาวันวิทยาลัย เป็นสำนักฝึกอบรมพระสงฆ์ที่พิลึกพิลั่นในชลบุรี ดำเนินการนอกสังกัดมหาเถรสมาคม พระหนุ่มๆในจิตตภาวันได้รับการฝึกอบรม ในกิจกรรมทางสังคม ที่เชิดชูรัฐพ่อขุนอุปถัมภ์แบบไทยๆ ที่ไม่ใช่ระบบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบตะวันตก
ลำดับชั้นทางสังคมในรัฐอุดมคตินี้จัดแบ่ง ตามบุญวาสนาที่ได้จากชาติกำเนิดและการปฏิบัติธรรม ทำให้ลำดับชั้นทางสังคมเปลี่ยนแปลงไม่ได้และการพยายามเปลี่ยนแปลงเท่ากับเป็นการทำลายสังคมทำลายชาติ ความคิดอย่างนี้ไปกันได้พอดีกับวิธีคิดของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล และทั้งสองพระองค์ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินทำพิธีเปิดจิตตภาวันในปี 2510 และได้เสด็จเยือนบ่อยครั้งกระทั่งหลังจากกิตติวุฒโทเริ่มเล็งเป้าไปที่คอมมิวนิสต์ นักศึกษาและพวกเสรีนิยมว่าเป็นศัตรูของประเทศชาติ
เมื่อนวพลทาบทามกิตติวุฒโทและนิมนต์เขาบินไปทั่วประเทศเพื่อปลุกระดมต่อต้านคอมมิวนิสต์และนักศึกษา จิตตภาวันก็กลายเป็นศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการลับของนวพล ซึ่งรวมถึงปฏิบัติการการลอบสังหารด้วย ปลายปี 2517 ทิศทางอุบาทว์ขององค์กรจัดตั้งเหล่านี้ปรากฏชัดเจน สื่อมวลชนฝ่ายขวาเริ่มกล่าวหาให้ร้ายผู้ประท้วงว่าเป็นคอมมิวนิสต์และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
นักศึกษาชื่อดังคนหนึ่ง(แสง รุ่งนิรันดรกุล) ผู้นำชาวนา (31 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 นายอินถา ศรีบุญ เรือง ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือถูกยิงเสียชิวิต) และกรรมกรหลายคน รวมถึงนักหนังสือพิมพ์อเมริกันรายหนึ่งที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพวกนวพลล้วนถูกฆาตกรรม โดยไม่มีการสืบสวนติดตามคดีอย่างจริงจัง ในเดือนธันวาคมบางส่วนของกองทัพและกอรมน.ได้นำอดีตนายกฯถนอมกลับเข้ามาในประเทศไทย นายกสัญญาและพลเอกกฤษณ์ต้องใช้เวลาหลายวันบีบให้จอมพลถนอมออกนอกประเทศไปอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2518 เครือข่ายที่เชื่อม กอรมน.วังและพวกขวาจัดก็ขัดขวางรัฐบาลคึกฤทธิ์ที่กำลังเสริมสร้างสัมพันธไมตรีกับปักกิ่งและฮานอย พวกอนุรักษ์นิยมยิ่งหวาดกลัวว่าสหรัฐฯจะถอนตัวจากอินโดจีน ซึ่งนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของกัมพูชาต่อเขมรแดงและไซ่ง่อนต้องพ่ายแพ้ต่อเวียตนามเหนือในเดือนเมษายน ปฏิบัติการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของกอรมน.ยิ่งทวีความป่าเถื่อนโหดร้าย แม้นายกคึกฤทธิ์จะออกปากเตือนว่ามันจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกก็ตาม มีการปล่อยข่าวสร้างความตื่นตระหนกโดยรายงานข่าวกรองของสหรัฐฯว่าฮานอยวางแผนจะยึดครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด
กลุ่มอันธพาลทางการเมืองได้เร่งปฏิบัติการคุกคาม เมื่อนายกคึกฤทธิ์เสนอให้มีการเลือกตั้งระดับอำเภอและหมู่บ้าน นวพลระดมผู้นำหมู่บ้าน 500 คนมาประท้วงที่รัฐสภาก่อนหน้าตัวแทนรัฐบาลจากฮานอยจะมาเยือนกรุงเทพฯเป็นครั้งแรก ตามนโยบายลดความตึงเครียดของนายกคึกฤทธิ์ พลตรีประมาณ อดิเรกสาร รัฐมนตรีกลาโหมและเป็นคนวงในของกอรมน.(ผู้เป็นน้องเขยของพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์) ประกาศว่าเวียตนามกำลังวางแผนบุกยึดประเทศไทย พลพรรคนวพลจึงปลุกระดมให้เกิดการจลาจลที่จังหวัดสกลนคร ที่มีคนเวียตนามอพยพอยู่เป็นจำนวนมาก อีกปฏิบัติการหนึ่งของนวพลคือ ผู้นำชาวนากว่า 20 คนถูกสังหารในระยะเวลาเก้าเดือนในปี 2518
ในระหว่างนั้น กระทิงแดงก็ก่อความวุ่นวายตามท้องถนน พวกเขาก่อกวนยั่วยุในการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและกรรมกร รุมทำร้ายนักเคลื่อนไหวและบุกทุบทำลายสำนักงานหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้าย(อธิปัตย์ ประชาธิปไตยฯลฯ) เดือนพฤษภาคม2518 พนักงานโรงแรมดุสิดธานีที่พระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นอยู่ส่วนหนึ่งประท้วงหยุดงานอีกครั้งหนึ่ง ผู้บริหารโรงแรมเรียกกระทิงแดงมาข่มขู่พนักงานจนสลายการชุมนุมและจากนั้นก็จ้างกระทิงแดงให้เป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัยของโรงแรม พนักงานทั้งหมดถูกปลดและโรงแรมปิดกิจการโดยกลับมาเปิดใหม่หนึ่งเดือนให้หลังด้วยพนักงานใหม่หมดยกชุด ผู้นำการประท้วงต้องหลบซ่อนตัว(นายเทอดภูมิ ใจดี) และในที่สุดก็ต้องหนีเข้าป่าไปร่วมกับพคท
กรกฎาคม 2518 เมื่อนายกคึกฤทธิ์เดินทางไปเปิดสัมพันธไมตรีกับจีน กระทิงแดงเร่งมือโจมตี ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงในการประท้วง ของกรรมกร และบุกลุยกิจกรรมของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายโดยที่ตำรวจยืนดูอยู่เฉยๆ เมื่อนายกคึกฤทธิ์กลับมากล่าวหาตำรวจว่ายุยงส่งเสริมกฏหมู่
พอ 19 สิงหาคม 2518 ตำรวจ นับร้อย ( ที่มีหลายคนเกี่ยวข้องกับกระทิงแดง ) ตอบโต้ด้วยการเดินขบวนไปพังบ้านของนายกคึกฤทธิ์ที่ซอยสวนพลู บุกทำลายข้าวของ วันถัดมา กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านและนวพลเข้าร่วมประท้วงนายกคึกฤทธิ์ โดยใช้รถและอุปกรณ์สื่อสารของตำรวจ ทั้งนายกคึกฤทธิ์และพลเอกกฤษณ์ ต่างหมดปัญญาจัดการด้วยกลัวจะเกิดผลลุกลาม หรือเกิดการรัฐประหาร
แม้ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงนิ่งสงบ แต่โดยท่าทีและความเกี่ยวพันแล้วทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่สนับสนุนรัฐบาลคึกฤทธิ์แต่ทรงยึดมั่นกับฝ่ายขวาจัด
พระราชวงศ์ก็ทรงเข้าร่วมกิจกรรมของทหารและลูกเสือชาวบ้านบ่อยครั้งขึ้นและเสด็จร่วมพิธีที่จิตตภาวันและค่ายฝึกของกระทิงแดง ทรงย้ายข้างไปอยู่ปีกขวาจัด โดยเห็นได้จากการแต่งตั้งทหารฝ่ายความมั่นคงเป็นองคมนตรีเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2518 คือ พล.ท. สำราญ แพทยกุล ผู้ช่วยผบ.ทบ.ที่เพิ่งเกษียณอายุ พ่อของพล.ท.สำราญ เคยรับใช้รัชกาลที่ 6 และในหลวงภูมิพลทรงรู้จักเขาตั้งแต่ทศวรรษ 2500 ตอนที่พล.ท.สำราญดูแลทหารไทยชุดแรกที่ไปรบในเวียตนาม และได้เขียนรายงานชิ้นสำคัญถึงความจำเป็นในการจัดการปัญหาผู้ก่อการร้ายในหมู่ชาวเขาด้วยวิธีการเชิงสังคม การเมืองกำกับด้วยยุทธการทางทหารที่เฉียบขาด พล.ท.สำราญควบคุมดูแลการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายในบริเวณชายแดนตะวันตกและภาคเหนือจนถึงปลายทศวรรษ 2500 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พระราชวงศ์เสด็จบ่อยครั้งภายใต้การอารักขาของกองทัพ ยุทธวิธีของเขาประกอบด้วยการพัฒนาสังคมควบคู่ไปกับปฏิบัติการค้นหาและทำลาย ถล่มด้วยระเบิดและกระสุนปืนในช่วง 2516-2517
พล.ท.สำราญเป็นรองประธานรัฐสภาและทำงานกับกอรมน.ช่วยกำกับดูแลนวพลเป็นงานสำคัญ เป็นที่ปรึกษาที่คอยรายงานเรื่องความมั่นคงต่อในหลวงอย่างตรงไปตรงมา จึงทรงเข้าใจปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจของการก่อการร้าย แต่ก็กลัวภัยคุกคามที่ร้ายแรงและไม่ลังเลที่จะจัดการกับปัญหาอย่างเฉียบขาดและทั่วถึง เจ้าหน้าที่กอรมน.รายหนึ่งเขียนเกี่ยวกับพล.ท.สำราญว่า หากจำเป็นต้องใช้วิธีการที่รุนแรงและเด็ดขาด เขาก็เด็ดเดี่ยวและไม่ยั้งที่จะใช้ความรุนแรง พวกฝ่ายขวาได้เร่งปฏิบัติการเข่นฆ่าขบวนการนักศึกษา กรรมกรและชาวนา ผลักดันให้ฝ่ายช้ายยิ่งเข้าไปร่วมกับพคท.มากขึ้นเรื่อยๆ
การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ชนบท อย่างหนักหน่วงรุนแรง ยิ่งทำให้ชาวบ้านที่บริสุทธิ์เข้าร่วมกับพคท.มากขึ้นเช่นกัน ยิ่งในหลวงภูมิพลทรงหละหลวมกับโครงการพัฒนาของพระองค์หลายโครงการในบางพื้นที่ยิ่งทำให้ชาวบ้านเริ่มมองเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นพวกเดียวกับพวกที่ข่มเหงรังแกพวกเขา และเข้าใจว่าพวกที่ทำการกวาดล้างบุกถล่มหมู่บ้านต่างๆเป็นลูกน้องหรือลูกสมุนของในหลวงภูมิพล พระราชินีสิริกิติ์และพระราชชนนีศรีสังวาลย์
ในเมือง พวกนักศึกษาเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มอันธพาลการเมือง หน่วยงานความมั่นคงกับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล พวกเขามองเหตุการณ์14 ตุลาว่าเป็นการเปิดเผยให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่กลับยึดมั่นในอำนาจและการรักษาสถานะของตนไว้เท่านั้น นักเคลื่อนไหวระดับนำคนหนึ่งได้รำลึกในภายหลังว่า ในเหตุการณ์ 14 ตุลานั้น คนในแวดวงของเขาต่างเชื่อโดยสนิทใจว่าในหลวงภูมิพลทรงอยู่ข้างพวกเขาที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย
แต่พอถึงต้นปี 2519 จึงเริ่มรู้ และเห็นชัดว่าในหลวงท่านไม่ชอบประชา ธิปไตยแม้แต่น้อย และที่ได้เรียนรู้คือพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลไม่ได้อยู่เหนือการเมือง พระองค์เป็นเพียงผู้เล่นการเมืองอีกคนหนึ่งเท่านั้น พวกนักศึกษาได้ถกเถียงกันว่าในหลวงเป็นพวกเดียวกับพวกเผด็จการขวาจัดหรือไม่ เมื่อก่อนพระองค์มักใช้วิธีลับลวงพรางตีสองหน้าไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจน แต่นักศึกษาเริ่มมองเห็นชัดเจนแล้ว ว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นพวกเดียวกับพวกเผด็จการทหารขวาจัดมาโดยตลอด และทำให้พวกเขายิ่งเข้าใจการที่สถาบันกษัตริย์ถูกโค่นล้มในปี 2475 และจากนั้นพยายามฟื้นกลับมาสู่อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเอง สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยจึงเป็นตัวขัดขวางระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด เป็นตัวแทนของความล้าหลังที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่นักศึกษาก็ไม่สามารถพูดเรื่องเหล่านี้ได้ในที่สาธารณะ เพราะจะไม่มีใครเอาด้วย จึงไม่ได้ข้อสรุปว่าจะทำอย่างไรต่อเรื่องที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนขบวนการขวาพิฆาตซ้าย
พระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงจุดยืนชัดเจนในปี 2518 เมื่อที่ดินที่วังแบ่งไว้ให้ตรงสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินเพื่อสร้างอนุสรณ์วีรชน 14 ตุลา เกิดติดขัดหลังการวางศิลาฤกษ์ไปแล้วโดยสังฆราชและนายกฯคึกฤทธิ์ โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ประกาศว่า ที่ดินผืนนั้นติดสัญญาอยู่กับผู้อื่น อันที่จริงพระเจ้าอยู่หัวนั่นแหละที่เกิดเปลี่ยนพระทัย อนุสรณ์สถานนี้จึงต้องหยุดชะงักไปอีก 25 ปี
ฟางเส้นสุดท้ายหรือจุดระเบิดที่ทำให้พระเจ้าอยู่หัวไม่สามารถทนต่อไปได้อีกแล้วก็คือการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ในลาวโดยขบวนการประเทศลาว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2518 สามวันก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 48 ชันษา
ในหลวงภูมิพลและพระราชวงศ์ต่างสะพรึงกลัว เนื่องจากไทยมองสถาบันกษัตริย์ลาวเป็นประเทศน้องที่มีประเพณี ประวัติศาสตร์และกระทั่งสายลือดร่วมกัน การล้มครืนของราชธานีเวียงจันทน์ เป็นตัวเร่งอันสุดท้ายที่ทำให้พระองค์ทรงใช้เผด็จการทหารขวาจัด เพื่อสกัดกั้นภัยจากคอมมิวนิสต์ที่พระองค์หวาดกลัวยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลได้ทรงกอบกู้สถาปนาฐานะของราชวงศ์จักรีในรูปแบบ ของระบอบที่รวมศูนย์อยู่ที่พระองค์ ดุจเดียวกับในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระองค์จึงต้องหาทางป้องกันสถานภาพของพระราชวงศ์ให้มีที่อยู่ที่ยืนเป็นสง่าแห่งแคว้นแดนไทยตลอดไป โดยถือความมั่นคงปลอดภัยของพระราชวงศ์เหนือสิ่งอื่นใด เหนือกว่าประชาชน และหลักการในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งตัวบทกฎหมาย หรือแม้แต่ศีลธรรมใดๆ
.............
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น