หรือที่ : http://www.mediafire.com/?t6eb3h3pn70yfb8
..............
ตำนานๆ 009001
: กษัตริย์ไทยต้องการประชาธิปไตยจริงหรือ
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามต้องพ่ายแพ้แก่การปฏิวัติของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยการยึดอำนาจของข้าราชการที่มีการศึกษาสูง และนายทหาร ขณะที่ฝ่ายราชสำนักไปพักผ่อนหน้าร้อนประจำปีที่วังไกลกังวลหัวหิน รัชกาลที่ 7 กำลังทรงเล่นกอล์ฟกับพระนางเจ้ารำไพพรรณีและนายหน้าค้าอาวุธชาวอังกฤษในตอนเช้าวันนั้น คณะราษฎรได้บุกยึดวังและจับกุมเชื้อพระวงศ์ระดับหัวหน้า มีแกนนำคนสำคัญของคณะราษฎร คือนายปรีดี พนมยงค์ และพันตรีหลวงพิบูลสงคราม เริ่มต้นด้วยประกาศคณะราษฎรที่นายปรีดีเป็นผู้เขียนเอง โดยโจมตีกษัตริย์อย่างที่ไม่เคยมีใครกล้าทำมาก่อน เป็นการยื่นคำขาดว่าหากเจ้าไม่ยินยอม ก็คงต้องเป็นสาธารณรัฐ หรือมีประธานาธิบดีเท่านั้น
แถลงการณ์ของคณะราษฎรได้โจมตีรัฐบาลของกษัตริย์ ว่าได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส เป็นไพร่ เป็นขี้ข้า เป็นสัตว์เดรัจฉาน โดยไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ แทนที่จะช่วยราษฎรกลับพากันทำนาบนหลังราษฎร หักเอาภาษีอากรที่เก็บจากราษฎรไว้ใช้ส่วนตัวเป็นจำนวนหลายล้านบาท ส่วนราษฎรนั้นกว่าจะหาได้แต่เล็กน้อยเลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียภาษี ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือถูกเกณฑ์ใช้แรงงาน แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันอย่างสุขสบาย...
ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ชาติให้ประเทศมีอิสรภาพ พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติไว้ตั้งหลายร้อยล้านบาท ด้วยวิธีทำนาบนหลังคน ...คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ไขความชั่วร้ายก็โดยทีจะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา ...ให้กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรตามลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งเรื่องนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว และกำลังรอคำตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดเพราะความเห็นแก่ตัวว่าจะถูกลดอำนาจ ก็จะได้ชื่อว่า ทรยศต่อชาติและก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย คือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ คือไม่ต้องมีพระมหากษัตริย์อีกต่อไปแล้ว....
รัชกาลที่เจ็ดได้ทรงปรึกษากับข้าราชบริพารว่าจะสู้ดีหรือไม่ หรือจะต้องหนีออกนอกประเทศ แต่เชื้อพระวงศ์ชั้นสูงถูกจับกุมหมดแล้ว พระองค์จึงต้องยินยอมไปก่อน วันถัดมา แกนนำคณะราษฎรกล่าวขอโทษสำหรับการยึดอำนาจและการจาบจ้วงต่อราชบัลลังก์ รัชกาลที่เจ็ดจึงยอมลงนามในรัฐธรรมนูญูและการนิรโทษกรรม และได้ทรงเติมคำว่าชั่วคราว ในพ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครอง 27 มิถุนายน 2475 บังคับให้คณะราษฎรต้องยอมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีพวกเจ้าเข้าร่วมด้วย พรบ.ธรรมนูญการปกครอง 2475 ได้บัญญัติว่า“ อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร” ผู้ที่ใช้อำนาจแทนราษฎรประกอบด้วย กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาลโดยเท่าเทียมกัน คณะกรรมการราษฎรเป็นผู้แต่งตั้งและกำกับการทำงานของนายกรัฐมนตรีเเละคณะรัฐมนตรี กษัตริย์ไม่สามารถสั่งการใดๆ ได้หากไม่มีการลงนามสนองจากคณะกรรมการราษฎร แม้ว่าจะไม่มีใครสามารถฟ้องร้องกษัตริย์ในศาลได้ แต่สภาสามารถไต่สวนและถอดถอนกษัตริย์ใด้ และสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบต่อการสืบราชสมบัติ
วันที่ 12 ตุลาคม 2476 พระองค์เจ้าบวรเดช ได้นำนายทหารฝ่ายนิยมเจ้าทำการรัฐประหารในนามของวัง จอมพลป.พิบูลสงครามบัญชาการปราบกบฏ จนได้รับชัยชนะ และพระองค์เจ้าบวรเดชก็หนีออกนอกประเทศ
รัชกาลที่ 7 ทรงยื่นคำขาดจากกรุงลอนดอน เพื่อแลกกับการเสด็จกลับประเทศ โดยพระองค์ต้องการอำนาจเพิ่มมากขึ้น และให้ปล่อยนักโทษในคดีกบฏบวรเดช หากไม่ตกลงก็จะสละราชสมบัติและขายทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งรวมถึงวัง วิหาร และพระแก้วมรกต รัฐบาลไม่กลัวคำขู่ของรัชกาลที่ 7 จึงตอบปฏิเสธ ในต้นเดือนมีนาคม 2478 รัชกาลที่เจ็ดจึงต้องสละราชสมบัติ และทรงพำนักอยู่ในยุโรปตลอดพระชนม์ชีพ
และได้ทรงมีพระราชสาส์นแอบอ้างความสูงส่งของพระองค์ไว้เป็นครั้งสุดท้าย ว่า...ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร ทั้งๆที่รัชกาลที่ 7 ได้พยายามดิ้นรนต่อสู้ขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยมาโดยตลอด ทำให้คำแถลงของพระองค์ไม่มีความหมายและเป็นแค่เพียงเรื่องโกหกเท่านั้นเอง
รัชกาลที่ 7 ไม่เสนอรัชทายาทอย่างเป็นทางการ โดยให้รัฐบาลเป็นผู้เลือกรัชทายาท คณะรัฐมนตรีสรุปให้พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นกษัตริย์
รัชกาลที่ 7 ได้นำทรัพย์สินออกไปเป็นจำนวนมาก ทั้งเงินสดและอัญมณีที่สะสมกันมาหลายรัชกาล เมื่อพระองค์ปฏิเสธข้อเรียกร้องให้คืนทรัพย์สินทั้งหมด รัฐบาลจึงยึดทรัพย์สินส่วนใหญ่ของราชวงศ์ที่ยังเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ
จอมพลป.สั่งให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ใหญ่โตเพื่อฉลองรัฐธรรมนูญ ภายหลังเรียกว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลางถนนราชดำเนิน พวกเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงถูกจำกัดกรอบในการทำกิจกรรมต่างๆ วังและทรัพย์สินที่กรุงเทพฯ ของรัชกาลที่ 7 ถูกยึด ในปี 2482 รัฐบาลจอมพลป.ได้ประกาศให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ โดยมีการเฉลิมฉลองใหญ่โตเพื่อแสดงชัยชนะเหนือราชวงศ์จักรี เริ่มนโยบายรัฐนิยม เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยแลนด์ ให้ประชาชนแสดงความเคารพต่อเพลงชาติและธงชาติ แต่ไม่ใช่ต่อกษัตริย์และยกเลิกบรรดาศักดิ์ต่างๆ เช่น ขุน หลวง พระยา เจ้าพระยา
หลังจากจอมพลป.ยอมให้ญี่ปุ่นยึดครองประเทศในปี 2484 เขาปลดนายปรีดีออกจากคณะรัฐมนตรีและแต่งตั้งนายปรีดีไว้ในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่ไม่มีอำนาจ แต่นายปรีดีได้ใช้ตำแหน่งนี้นำขบวนการเสรีไทยซึ่งเป็นขบวนการใต้ดินที่ต่อต้านญี่ปุ่นและจอมพลป. เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพลป. และพรรคพวกถูกจับและสมาชิกขบวนการเสรีไทยขึ้นกุมอำนาจ นายปรีดีทูลเชิญในหลวงอานันท์กลับประเทศแล้วขึ้นครองราชย์เมื่ออายุบรรลุนิติภาวะ
ในเดือนกันยายน 2488วันที่ 23 ธันวาคม 2488 นายปรีดีพาทั้งสองพระองค์ไปเยือนค่ายเสรีไท ทั้งสองพระองค์ได้ยิงปืนเป็นร้อยนัด เสรีไทได้ถวายปืนให้ทั้งสองพระองค์ จากนั้นมาทั้งสองพระองค์ทรงโปรดการยิงปืนในวัง โดยทั้งสองพระองค์ก็สะสมปืน ไว้ในห้องพระบรรทม ในหลวงอานันท์มีแววที่จะออกนอกลู่นอกทางของราชสำนัก ทรงตรัสกับหลายคนว่ามีความคิดที่จะมอบพระราชบัลลังก์ให้แก่พระอนุชาและลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมชได้กล่าวว่าในหลวงอานันท์ได้เคยซักถามตนเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง
สมเด็จพระราชชนนียืนยันให้ทั้งสองพระองค์ได้จบการศึกษามหาวิทยาลัยที่โลซานน์ พระราชวงศ์จึงมีกำหนดเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 13 มิถุนายน 2489
ในคืนวันที่ 7 มิถุนายน ในหลวงอานันท์ได้โปรดเกล้าฯให้นายปรีดีเข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาถึงการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯ แต่ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลาเก้าโมงเช้าเศษ พระองค์ก็สิ้นพระชนม์จากกระสุนปืนนัดเดียวตรงหน้าผาก ยิงในระยะเผาขน ปืนโคลท์ .45 ของกองทัพสหรัฐฯ วางอยู่บนเตียงข้างพระวรกาย
ใครฆ่าในหลวงอานันท์ จนถึงปัจจุบันคำตอบยังคงเป็นปริศนา ที่ราชวงศ์จักรีและรัชกาลที่ 9 ไม่อยากจะพูดถึงหรือทำให้เกิดความชัดเจนอย่างตรงไปตรงมาขณะที่เชื้อพระวงศ์และสองพี่น้องตระกูลปราโมช ได้สร้างเรื่องใส่ร้ายนายปรีดีว่าเป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ และจ้างคนปล่อยข่าวไปทั่วกรงเทพฯ่ บรรดาทูตและชาวต่างชาติส่วนใหญ่สรุปว่า ในหลวงอานันท์ยิงพระองค์เอง หรือไม่ก็พระอนุชาภูมิพลยิงโดยอุบัติเหตุ แต่ข้อสันนิษฐานที่ว่าพระอนุชาภูมิพลปลงพระชนม์พระเชษฐาหรือน้องฆ่าพี่ นั้นไม่เคยได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง หากจะมีการสอบสวนในประเด็นนี้ ก็จะเป็นการระคายเคืองต่อความสูงส่งที่ไม่มีวันทำอะไรผิดของกษัตริย์ ทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องเสื่อมเสีย หรืออาจล้มครืนไปเลย ในเวลานั้น ที่ทั้งฝ่ายนิยมเจ้าและฝ่ายของจอมพลป.ต้องการทำลายนายปรีดี และราชตระกูลมหิดลก็ต้องการเอาตัวรอดโดยการหาแพะมารับบาป เพื่อไม่ให้ประเด็นมุ่งไปสู่ในหลวงภูมิพล จึงต้องมีการขุดเอาผู้ต้องสงสัยรายอื่นขึ้นมาลงโทษให้ได้
ตลอดช่วงหกปีต่อมา บรรดาเชื้อพระวงศ์และพรรคการเมืองของนายควงและมรว.เสนีย์ที่ควบรวมกันเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ต่างพากันใช้กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ให้เป็นประโยชน์ในการแพร่ขยายอำนาจของพวกตน ขณะที่ในหลวงภูมิพลยังคงอยู่นอกความขัดแย้งเพราะเป็นเจ้าเหนือหัวของทุกคนที่ไม่มีใครกล้าล่วงละเมิด ภรรยาของมรว.เสนีย์บอกอุปทูตสหรัฐ ว่านายปรีดีเป็นผู้บงการฆ่าในหลวงอานันท์ เชื้อพระวงศ์อาวุโสคนอื่นๆ ก็บอกเอกอัครราชทูตอังกฤษอย่างเดียวกัน ส.ส.คนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ตะโกนในโรงหนังว่าปรีดีฆ่าในหลวง
กรณีสวรรคตมีเรื่องที่น่าสงสัยหลายอย่าง เริ่มด้วยพระราชชนนีศรีสังวาลย์ได้จัดการชำระล้างคราบเลือดและมีการเคลื่อนย้ายศพเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไปถึงและเริ่มการตรวจชันสูตร แต่พระองค์เจ้ารังสิตยืนกรานว่าเฉพาะนักบวชระดับสูงของราชสำนักบางคนเท่านั้นที่จะสามารถแตะต้องร่างของกษัตริย์ได้ และจะรายงานต่อสาธารณะ ว่าเป็นการฆ่าตัวตายไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะ เป็นเรื่องเสื่อมเสียพระเกียรติยศ นายปรีดีจึงไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากแถลงอย่างอ้ำอึ้งว่าเป็นอุบัติเหตุ นายปรีดีไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ ฝ่ายนิยมเจ้าที่รวมตัวกันในนามพรรคประชาธิปัตย์ก็นำการสวรรคตไปเป็นประเด็นหาเสียงในการเลือกตั้ง แต่พรรคที่สนับสนุนนายปรีดียังคงได้เสียงข้างมาก พอเปิดสภามรว.เสนีย์กับนายควงก็โจมตีรัฐบาลด้วยเรื่องกรณีสวรรคตจนนายปรีดีต้องลาออก และหลบไปต่างประเทศหลายสัปดาห์และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์หนึ่งในคณะราษฎร ก็ได้เป็น นายกรัฐมนตรี
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ทหารทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลหลวงธำรง นายปรีดีต้องหนีไปต่างประเทศ คณะรัฐประหารที่นำโดยพลโทผิน ชุณหะวัน กับ พลโท หลวงกาจ กาจสงครามพันธมิตรของจอมพลป. ได้กล่าวหาว่ารัฐบาลนายปรีดี-หลวงธำรง ไม่ให้ความเคารพชาติ ศาสนาและกษัตริย์ ดังนั้นทหารจึงจำต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อรักษาประเทศชาติและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และอ้างว่ามีหลักฐานชัดเจนว่านายปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีสวรรคตและยังวางแผนที่จะปลงพระชนม์รัชกาลที่ 9 เพื่อกำจัดสถาบันกษัตริย์ให้หมดสิ้นไปและเปลี่ยนประเทศเป็นคอมมิวนิสต์ พวกเขาจับกุมมหาดเล็กสองคน คือนายชิตและนายบุศย์ และอดีตราชเลขาธิการนายเฉลียว ปทุมรสด้วยข้อกล่าวหาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับนายปรีดี รวมทั้งอดีตราชองครักษ์เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวชที่หนีไปต่างประเทศเช่นเดียวกับนายปรีดี
วังและทหารได้ร่วมมือกันปิดคดีสวรรคต โดยในเดือนกันยายน 2491 ชายสามคนที่ถูกจับข้อหาปลงพระชนม์ได้รับการไต่สวน เจ้าหน้าที่พยายามชี้ไปยังนายปรีดี โดยอ้างแรงจูงใจ คือ การถกเถียงระหว่างนายปรีดีและในหลวงอานันท์ในเรื่องคณะผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งทนายจำเลยสามารถต่อสู้ข้อกล่าวหานี้ได้ แต่อธิบดีกรมตำรวจ เผ่า ศรียานนท์ ลงมือตอบโต้อย่างเหี้ยมโหดในต้นปี 2492 ลูกน้องของเผ่า ศรียานนท์สังหารทนายจำเลยไปสองคนและพยานจำเลยอีกหลายคน โดยอำพรางว่าเป็นการปราบปรามคอมมิวนิสต์
ศาลชั้นต้นตัดสินครั้งแรกในวันที่ 27 กันยายน 2494 โดยยกฟ้องนายเฉลียว ปทุมรสราชเลขาธิการและนายบุศย์ ปัทมศรินทร์มหาดเล็ก ทำให้รัฐบาลและฝ่ายเจ้าต่างไม่พอใจ รัฐบาลจึงสั่งให้มีการไต่สวนใหม่ ขณะที่ทางวังพยายามผูกมิตรกับพล.ต.อ. เผ่า มากเป็นพิเศษ ถึงขนาดที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปเป็นประธานในพิธีที่พล.ต.อ.เผ่ามอบแหวนอัศวินแก่ลูกน้องตำรวจของตนเอง ซึ่งเป็นพวกมาเฟียที่ดูแลการค้ายาเสพติดและเรียกค่าคุ้มครองให้พล.ต.อ.เผ่า และทรงเน้นสร้างความสัมพันธ์กับตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยมีศูนย์ฝึกอยู่ใกล้วังไกลกังวลที่หัวหิน
ในปี 2498 พล.ต.อ.เผ่าได้สร้างความดีความชอบแก่วังครั้งสำคัญที่สุด คือการปิดฉากคดีสวรรคตรัชกาลที่ 8 แม้ว่าไม่แนบเนียนนักแต่ก็ต้องหาทางให้จบสิ้นให้ได้เพราะคดีสวรรคตได้ค้างคาศาลมานานแล้ว และเป็นหนามยอกอกของพระราชวงศ์เรื่อยมา จนกระทั่งในเดือนตุลาคม 2497 ศาลฎีกาก็ตัดสินว่านายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศรินทร์และนายเฉลียว ปทุมรสมีความผิดและให้ลงโทษประหารชีวิต โดยพระเจ้าอยู่หัวไม่ยอมรับฎีกาขออภัยโทษที่จอมพลป.ได้กราบบังคมทูลขอไปถึงสามครั้งตลอดระยะเวลาสี่เดือน พอวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 พล.ต.อ.เผ่าก็จัดการประหารชีวิตทั้งสามคนอย่างเงียบๆ ด้วยการยิงเป้าสรุปได้ว่า การสิ้นพระชนม์ของในหลวงอานันท์ ได้ทำให้สถาบันกษัตริย์กลับฟื้นคืนชีพและมีความสำคัญมากกว่าเดิมในปี 2495 พวกเจ้าปฏิเสธคำขอของจอมพลป.ที่จะเป็นองคมนตรีอีกครั้งหนึ่ง จอมพลป. ได้ตอบโต้พวกเจ้าด้วยการเสนอกฎหมายในปี 2495 เพื่อจำกัดการถือครองที่ดิน รายละไม่เกิน 50 ไร่สำหรับทำการเกษตร และ 10 ไร่สำหรับอุตสาหกรรม เจ้าที่ดินรายใหญ่จะมีเวลาเจ็ดปีที่จะผ่องถ่ายที่ดินส่วนเกินออกไป ชาวนาที่ทำกินมานานจะได้รับความช่วยเหลือในการออกโฉนดสำหรับไร่นาที่ตัวเองทำกิน ข้อเสนอนี้ทำให้ต้องสู้กันถึงสองปีกับทางวังซึ่งยืนยันว่าการกระจายการถือครองที่ดินนั้นไม่มีความจำเป็นเพราะที่ดินมีอยู่มหาศาลทั่วประเทศ แต่ที่ดินที่ว่านั้นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนของรัฐและชาวนาไม่สามารถถือครองได้ตามกฎหมาย ในที่สุด ปี 2497 กฎหมายก็ผ่านสภา แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธที่จะลงพระปรมาภิไธยถึงสองครั้ง ในเดือนธันวาคม 2497 สภาก็ถวายร่างกฎหมายให้พระองค์อีกเป็นครั้งที่สาม และสภาอาจลงมติผ่านเป็นกฎหมายได้เลย พระเจ้าอยู่หัวจึงต้องยอมลงพระปรมาภิไธย โดยยังมีเวลาแก้ไขถึงเจ็ดปีก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้
หลังการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 จอมพลป.ยังคงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่จอมพลสฤษดิ์ได้ประกาศว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก และเกิดการประท้วงใหญ่ พอจอมพลป.แต่งตั้งตนเองเป็นประธานพิธีจัดงานฉลองกึ่งพุทธกาล 2,500 ปี พวกเจ้าพากันโจมตีว่าจอมพลป.กำลังช่วงชิงราชบัลลังก์ พรรคการเมืองฝั่งจอมพลสฤษดิ์ ได้ร่วมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
โดยกล่าวหาจอมพล ป. ว่าสนับสนุนการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หนังสือพิมพ์ที่พล.ต.อ.เผ่าควบคุมอยู่ก็ได้ทำการโจมตีเจ้าอย่างตรงๆ ฝ่ายเจ้าก็ปล่อยข่าวว่า พล.ต.อ.เผ่ากำลังวางแผนจับพระเจ้าอยู่หัว จอมพลสฤษดิ์เรียกร้องให้จอมพลป. ปลดพล.ต.อ.เผ่า ไม่อย่างนั้นจะทำรัฐประหาร
วันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลป.ต้องเข้าเฝ้าในหลวงเพื่อกราบบังคมทูลขอให้พระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนรัฐบาลของตน พระเจ้าอยู่หัวทรงบอกจอมพลป.ให้ลาออก แต่จอมพลป.ปฏิเสธและในคืนนั้นจอมพลสฤษดิ์ก็ยึดอำนาจ โดย ทั้งสฤษดิ์และพลโทถนอมรีบเข้าวัง แค่สองชั่วโมงหลังการประกาศรัฐประหาร พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนคร โดยที่ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพลป.และพล.ต.อ.เผ่าก็ต้องหนีออกจากประเทศไทย
ประกาศพระบรมราชโองการ
ตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร
ภูมิพลอดุลยเดชป.ร.
เนื่องด้วยปรากฏว่ารัฐบาลอันมีจอมพลป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทั้งไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ คณะทหารซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นหัวหน้าได้เข้ายึดอำนาจการปกครองไว้ได้ ข้าพเจ้าจึงขอตั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ขอให้ประชาชนทั้งหลายอยู่ในความสงบและขอให้ข้าราชการทุกฝ่ายฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศณ วันที่ 16 กันยายน 2500วันถัดมา มีแถลงการณ์ของพระราชวังว่า ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล็งเห็นว่า วัตถุประสงค์ของคณะปฏิวัติที่จะคุ้มครองประชาชน ดูแลสวัสดิภาพและผลประโยชน์ของชาติ และสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองของประเทศนั้นเป็นสิ่งที่สูงส่ง เมื่อท่านมีเป้าหมายสูงส่ง ท่านก็ได้รับความคาดหมายให้ดำเนินการต่อไปด้วยความจงรักภักดีและความถูกต้อง โดยยึดถือผลประโยชน์แห่งชาติเหนืออื่นใด ท่านจะได้รับการอวยพรจากพระมหากษัตริย์หากทั้งหมดนี้สำเร็จลุล่วง ”
การรัฐประหารของสฤษดิ์สร้างความยินดีแก่วังเป็นที่สุด ทำให้คนที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือ นายปรีดีและจอมพลป.พิบูลสงครามมีอันต้องหลบหนีออกจากประเทศโดยไม่เคยได้กลับมาอีก สถาบันกษัตริย์ได้หวนคืนกลับขึ้นมา การรับรองจากพระเจ้าอยู่หัวมีความจำเป็นสำหรับการยึดอำนาจ ขณะที่พวกเจ้าเปลี่ยนมาต้อนรับพวกขุนศึกขุนทหาร และพระเจ้าอยู่หัวอุ่นพระทัยมากที่สุดกับเผด็จการทหารที่ส่วนใหญ่ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารที่พระองค์ทรงให้การรับรอง และพระราชวงศ์เองก็ไม่เอาระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกมานานแล้ว เพราะทั้งรัฐธรรมนูญและรัฐสภาไม่สำคัญและยังเป็นอุปสรรคต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ให้การสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์เต็มที่เพราะจอมพลสฤษดิ์ได้ทำการยกเลิกทั้งรัฐธรรมนูญและรัฐสภา จอมพลสฤษดิ์เข้าใจดีว่าต้องเชิดชูกษัตริย์จึงจะได้อำนาจตามที่ตนต้องการ อันเป็นที่มาของ รัฐบาลและกองทัพในพระบาท
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจอมพลสฤษดิ์ได้สนับสนุนการรื้อฟื้นพระราชพิธีต่างๆ ทั้งได้เพิ่มบทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะจอมทัพ เพิ่มพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในทุกๆปี รวมทั้งการพระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่ทหารรักษาพระองค์และให้วังมีอำนาจควบคุมกรมทหารราบที่ 21 ที่เรียกกันว่าทหารเสือราชินี
ในเดือนมกราคม 2502 จอมพลสฤษดิ์ได้ยกเลิกกฎหมายการปฏิรูปที่ดินปี 2497 ของจอมพลป. ทำให้พวกเจ้าไม่ต้องเสียการถือครองที่ดินไป โดยไม่มีการต่อต้านใดๆ
มีการจัดลำดับชั้นของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และคำนำหน้าว่า คุณหญิง หรือ ท่านผู้หญิง แก่ข้าราชการชั้นสูง นายพล นายทุนชั้นนำและผู้บริจาครายใหญ่นี้ มีการรื้อฟื้นราชาศัพท์ รวมทั้งประเพณีการหมอบกราบ ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการถอยกลับเข้าสู่ยุคระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาก็ทำงานรับใช้วังอย่างถวายหัว โดยจัดบทเรียนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้มุ่งเน้นแต่การเทิดทูนพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี โดยลบเรื่องราวการปฏิวัติ 2475 ทิ้ง ศาสนาก็หวนกลับมาเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนส่งเสริมความคิดเทิดทูนพระเจ้าอยู่หัว
เผด็จการสฤษดิ์ได้ดำเนินการกำจัดและจับนักการเมืองฝ่ายค้าน นักหนังสือพิมพ์และปัญญาชนนับร้อยๆคน มีการจับกุมและประหารชีวิตด้วยคำสั่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 17 ด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าคอมมิวนิสต์เลวร้ายกว่าเผด็จการทหาร ซึ่งก็คือบรรดาลูกสมุนของพระองค์นั่นเอง ทรงสวมบทบาทนักต่อต้านและนักปลุกผีคอมมิวนิสต์คนสำคัญ และทรงใช้เวลามากขึ้นกับกองทัพ รัฐบาลจอมพลถนอมรับช่วงบริหารประเทศตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 สืบต่อจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ตั้งแต่ปลายปี 2506 มาจนถึงปี 2511 จึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ กำหนดให้วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 เป็นวันเลือกตั้งส.ส. จอมพลถนอมได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
ในขณะที่นักศึกษา ผู้ใช้แรงงานและนักการเมืองเริ่มไม่พอใจมากขึ้นทุกที ทำให้ในหลวงทรงวิตกว่าอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้น จึงทรงมีพระบรมโชวาทเตือนนักศึกษาให้สะกดกั้นระงับความร้อนแรง ไม่ให้ซ้ำรอยตามแบบอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและให้มีความอดทน ทรงเน้นว่าหน้าที่ของนักศึกษาคือต้องเรียนให้สำเร็จก่อน แล้วจึงค่อยเปลี่ยนแปลงสังคมในภายหลัง และนักศึกษาก็ควรปล่อยเรื่องของบ้านเมืองให้เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจรับผิดชอบไป
ทรงมีพระราชดำรัสที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนมีนาคม 2513 ตำหนินักศึกษาที่จัดการชุมนุมประท้วงที่กระทรวงยุติธรรมโดยทรงปรามว่าเรื่องราวในกระทรวงยุติธรรมไม่ใช่หน้าที่ของนักศึกษา ในปีถัดมา ได้ทรงต่อว่านักศึกษาที่ทำการประท้วงในมหาวิทยาลัย กรณีที่นิสิตและคณาจารย์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยกำลังต่อสู้กับจอมพลประภาสผู้เป็นอธิการบดีที่ตกลงขายที่ดินบางส่วนของมหาวิทยาลัยให้กับพวกพ้องในราคาถูก โดยทรงแนะว่าไม่ควรประท้วง แต่ควรนำเรื่องไปหารือกับนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม
จอมพลถนอมตัดสินใจปฏิวัติรัฐบาลของตนเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 โดยอ้างภัยจากต่างชาติที่เข้ามาแทรกแซงและ สถานการณ์ภายในประเทศเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง จึงตัดสินใจปฏิวัติเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ของประเทศให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว และได้จัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติเพื่อปกครองประเทศ โดยตนเอง ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาบริหารคณะปฏิวัติ รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีถูกยุบ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก อำนาจทั้งหมดตกอยู่ในมือสภาบริหารคณะปฏิวัติ จอมพลถนอมเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรัฐมนตรีต่างประเทศ จอมพลประภาสเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีมหาดไทย อธิบดีกรมตำรวจ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบกและผู้อำนวยการกองอำนวยการปราบปรามคอมมิวนิสต์(กอปค.) มีการต่ออายุราชการให้ตนเองขณะที่มีข่าวเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นที่ สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ประชาชน
ชนวนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดขึ้นในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2516 เมื่อเฮลิคอปเตอร์ทหาร เกิดอุบัติเหตุตก ที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ในซากเฮลิคอปเตอร์นั้นพบซากสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก ที่ล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวร กาญจนบุรี นักศึกษารามคำแหงเก้าคนได้รวมกลุ่มกันออกหนังสือของชมรมคนรุ่นใหม่มีข้อความว่า “ สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก ๑ ปี เนื่องจากสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกไม่เป็นที่ไว้วางใจ ”
ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้สั่งลบชื่อ นักศึกษาจำนวนเก้าคนออก ที่ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงรวมตัวประท้วงคำสั่งของ ดร. ศักดิ์ ต่อมาได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายในหกเดือน
วันที่ 13 ตุลาคม ประชาชนราว 400,000 คนชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและรัฐสภา รัฐบาลได้ปล่อยผู้ต้องหาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญทั้ง 13 คนในเช้าวันนั้นเพื่อลดการเผชิญหน้า
บ่ายวันนั้น ทรงโปรดเกล้าฯให้จอมพลถนอมและจอมพลประภาสเข้าเฝ้าและพวกเขารับปากว่าจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากนั้นก็ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ตัวแทนนักศึกษาทั้ง 13 คนเข้าเฝ้าในพระตำหนักจิตรดารโหฐาน นักศึกษาก็กลับออกมารายงานว่าคณะทหารยินยอมที่จะให้มีรัฐธรรมนูญภายใน 12 เดือน
พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ผู้ใกล้ชิดในหลวงและเป็นผู้ประสานกับนักศึกษาได้บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้มีพระทัยให้กับข้อเรียกร้องของนักศึกษาเลย ทรงบอกพวกนักศึกษาว่ารัฐบาลใจกว้าง ให้มากกว่าที่พวกนักศึกษาขอแล้ว และพวกเขายังเด็ก ควรเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อาวุโส โดยได้ทรงอธิบายว่าทำไมนักศึกษาจึงไม่ควรประท้วงว่า “ กระทั่งลิงที่ฉลาดที่สุดก็ยังใช้เท้าเกาหัว มนุษย์ฉลาดกว่าลิง เพราะเราใช้มือเกาหัวและใช้เท้าเดิน ดังนั้นเวลาเรามีปัญหา เราควรใช้ปัญญาหาทางออกและไม่ควรใช้เท้า ” แม้จะโดนพระเจ้าอยู่หัวตำหนิกึ่งๆจะทรงดูแคลนถึงขนาดนั้น แต่ตัวแทนนักศึกษาก็ยังฮึกเหิมเพราะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว พวกเขาออกจากสวนจิตรประกาศชัยชนะ และบอกให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการความชัดเจนเพราะระยะเวลาสิบสองเดือนนั้นนานเกินไป และสามทรราชก็ยังคงอยู่ในอำนาจ โดยผู้ชุมนุม 50,000 คนยังคงค้างคืนที่หน้าสวนจิตรดา ตัวแทนนักศึกษาสองคนได้ขอเข้าวังเพื่อขอความชัดเจนจากพระเจ้าอยู่หัว และได้พบกับพล.ต.อ.วสิษฐและ มรว.ทองน้อย ทองใหญ่ ที่บอกตัวแทนนักศึกษาว่าในหลวงไม่ให้พวกเขาเข้าเฝ้าอีกแล้ว พร้อมทั้งได้ย้ำต่อตัวแทนนักศึกษาถึงข้อตกลงระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับถนอมและประภาส ...
โดยได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอ่าน ความว่า “ คนที่เป็นผู้ใหญ่นั้นเขามีประสบการณ์ ส่วนคนหนุ่มสาวมีพลังแรงทั้งร่างกายและทั้งความคิด ถ้าหากมาปรองดองสมัครสมานกัน ทำงานอย่างพร้อมเพียงไม่ผิดใจแคลงใจกัน การบ้านการเมืองก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี นิสิตนักศึกษาก็เป็นผู้ที่ผ่านการทดสอบเลือกเฟ้นมาเป็นที่แน่นอนแล้วว่า มีทั้งสติและปัญญาพร้อมมูล จึงควรจะได้รู้ถึง ความคิดผิดชอบชั่วดีทุกอย่าง เมื่อท่านนิสิตนักศึกษาได้ดำเนินการมาตรงเป้าหมาย และได้รับผลตามสมควรแล้ว ก็ขอให้กลับคืนสู่สภาพปรกติเพื่อยังความสงบเรียบร้อยให้เกิดแก่ประชาชนทั่วไป ”
เมื่อได้ฟังพระบรมราโชวาทแล้ว กรรรมการศูนย์นิสิตได้ขอให้ฝูงชนแยกย้ายกลับบ้าน จากนั้นฝูงชนก็เริ่มสลายตัว แต่พล.ต.ท. มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น สั่งให้ตำรวจปราบปรามจลาจลปิดแนวกั้นให้ประชาชนถอยกลับไปออกทางเดิม ผู้เดินขบวนหลายคนเริ่มขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจเพื่อให้ตำรวจหลีกทางให้ แต่คอมมานโดใช้ไม้กระบองตีและดันกลุ่มผู้เดินขบวนให้ถอยไป ทำให้ประชาชนหันหน้ามารวมกำลังกันต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ นี่คือจุดเริ่มต้นของการนองเลือดและการจลาจล
จนกระทั่ง 19.40 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกรายการทางโทรทัศน์มีพระราชดำรัส ว่า วันที่ 14 ตุลาคม เป็นวันมหาวิปโยค รัฐบาลจอมพลถนอมได้ลาออกแล้ว และทรงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
เห็นได้ชัดเจนก็คือ พระเจ้าอยู่หัวทรงออกโรงสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารมาโดยตลอด และแทบไม่เคยสนองข้อเรียกร้องของนักศึกษาแต่อย่างใด ถนอมกับประภาสยังคงอยู่ในอำนาจ และมีการรับปากที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเวลาที่ยาวนานถึงหนึ่งปี ชี้ให้เห็นว่าในหลวงไม่ได้ทรงมองว่าถนอมกับประภาสเป็นปัญหา และความพยายามของพระองค์ในการสยบนักศึกษาด้วยเงื่อนไขที่เลื่อนลอยก็มีส่วนที่นำไปสู่ความรุนแรง หลังจากกองทัพฆ่าผู้ชุมนุมไปแล้วหลายสิบคน พระองค์ถึงได้ขยับมาจัดการสามทรราชอย่างชัดเจน เพื่อยุติความวุ่นวายซึ่งเป็นความจำเป็นสำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่มิได้ทรงสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด พระเจ้าอยู่หัวทรงเอาแต่ตำหนิติเตียนการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งพระองค์ทรงเชื่อว่าเป็นเรื่องวุ่นวายและไม่จำเป็น เพราะพระองค์มิได้มีปัญหากับเผด็จการทหาร แต่พระองค์มีปัญหากับการที่ประชาชนต้องการประชาธิปไตยมากกว่า
มาถึงรัฐบาลมรว.คึกฤทธิ์ ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไป โดยริเริ่มนโยบายทางสังคมที่ก้าวหน้า คล้ายกับจะแข่งกับโครงการพระราชดำริ โดยประกาศสนับสนุนการกระจายความมั่งคั่งด้วยการแก้ไขระบบภาษีปรับปรุงการบริหารงานของรัฐบาลและการศึกษา และประกาศว่าการปฏิรูปที่ดินเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหาชนบท การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของคนในชนบท จะทำให้คนออกจากป่า มีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มงบประมาณสำหรับการพัฒนาชนบท การปฎิรูปที่ดินและที่อยู่อาศัย และเพิ่มการกระจายอำนาจ สร้างตำแหน่งผู้ว่าการกรุงเทพมหานครให้มีการบริหารดูแลท้องถิ่นด้วยตนเองและพยายามปฏิรูปที่ดิน
นายกคึกฤทธิ์กำหนดให้ถอนทหารสหรัฐฯ 25,000 นาย พร้อมเครื่องบินและเฮลิค็อปเตอร์ 350 ลำออกไปจากประเทศไทยภายในหนึ่งปี และยังได้เปิดสัมพันธไมตรีกับเวียตนามและจีน พร้อมทั้งประกาศจะยกเลิกกฏหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ที่มักใช้ข่มเหงรังแกประชาชน นโยบายของคึกฤทธิ์ได้รับความนิยม แต่กองทัพ ฝ่ายค้านในสภา พรรคร่วมรัฐบาลขวาจัดและวังไม่เอาด้วย ในหลวงทรงเห็นชอบให้คึกฤทธิ์ลาออกไปในต้นปี 2519 พระองค์เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยคงไปไม่รอดใช้ไม่ได้ผล เพราะทรงเลือกอยู่ข้างฝ่ายอนุรักษ์นิยมพวกเผด็จการล้าหลัง ที่ปฏิเสธอำนาจของปวงชน พระองค์ได้เร่งสร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น กับกลุ่มขวาจัดนิยมเผด็จการทหารในกองทัพจัดตั้งขบวนการต่อต้านฝ่ายประชาธิปไตย ที่พวกขวาจัดมองว่าเป็นภัยต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์และเป็นสายจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและเวียตนามเหนือ
องค์กรแรก คือลูกเสือชาวบ้าน โดยชาวบ้านถูกปลูกฝังให้เกลียดชังพวกคอมมิวนิสต์ และนายทุน ด้วยคาถาชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยมีพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีเป็นพ่อและแม่ของคนในชาติทุกคน โดยมีเครื่องแบบคือผ้าพันคอพระราชทานมีการจัดตั้งมวลชนอีกสองกลุ่มคือ กระทิงแดงกับนวพล กระทิงแดงส่วนใหญ่เป็นอดีตทหาร ทหารรับจ้าง อดีตนักโทษและนักเรียนช่างกลก่อตั้งเมื่อต้นปี 2517 โดยเจ้าหน้าที่ กอรมน.พล.ต. สุตสาย หัสดิน
เป็นกองกำลังปีกขวาปฏิบัติงานตามท้องถนน คอยก่อกวนการชุมนุมประท้วงและคุกคามผู้นำฝ่ายประชาธิปไตย โดยออกโรงปฏิบัติการครั้งแรกในการรายล้อมในหลวงขณะเสด็จประกอบพระราชพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลา ในวันที่ 14 ตุลาคม 2517 ที่ท้องสนามหลวง กลุ่มอันธพาลกระทิงแดงที่นำโดยพลตรีสุตสายได้เดินขบวนประกาศว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลกำลังทรงตกอยู่ในอันตรายจากการซุ่มยิงโดยนักศึกษาที่ซ่อนอยู่ในธรรมศาสตร์ศาสตร์โดยที่ในหลวงไม่ได้ทรงออกห่างจากพวกอันธพาลกระทิงแดงแต่อย่างใด
ส่วนพวกนวพลโฆษณาตนเองว่าเป็นองค์กรต่อต้านคอมมิวนิสต์เพื่อธำรงไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากบางส่วนในกองทัพบกและกรมตำรวจ พอถึงต้นปี 2519 นักศึกษาและประชาชนจึงเริ่มรู้และเห็นชัดว่าในหลวงท่านไม่ชอบประชาธิปไตยแม้แต่น้อย และพระเจ้าอยู่หัวเป็นพวกเดียวกับพวกเผด็จการทหารขวาจัด สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยจึงเป็นตัวขัดขวางระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด เป็นตัวแทนของความล้าหลังที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
จุดที่ทำให้พระเจ้าอยู่หัวไม่สามารถทนต่อไปได้ คือการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ในลาว โดยขบวนการประเทศลาวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2518 สามวันก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 48 ชันษา ทำให้พระราชวงศ์ต่างพากันหวาดกลัว เพราะไทยมองสถาบันกษัตริย์ลาวเป็นประเทศน้องที่มีประเพณีและสายลือดร่วมกัน ทำให้ในหลวงต้องรีบใช้เผด็จการทหารขวาจัดเพื่อสกัดกั้นภัยจากคอมมิวนิสต์ที่พระองค์หวาดกลัวยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด
ปี 2519 กลุ่มอันธพาลการเมืองเริ่มก่อกวนหนักขึ้น นายกคึกฤทธิ์กำหนดเส้นตาย ให้สหรัฐฯ ถอนกำลังที่เหลือ 7,000 นาย ออกจากประเทศไทยและเริ่มคืนการควบคุมฐานทัพให้แก่ไทย สหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกับปีกขวาไทยสร้างหลักฐานว่าเวียตนามกำลังวางแผนจะบุกไทย และกองทัพก็เคลื่อนพลขู่รัฐบาล ในวันที่ 11 มกราคม 2519 กองทัพยื่นคำขาดให้นายกคึกฤทธิ์ลาออกและยุบสภา ไม่อย่างนั้นจะทำรัฐประหาร วันถัดมาคึกฤทธิ์ยอมตาม และในหลวงก็ได้ทรงเห็นชอบต่อการยุบสภา และกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 14 เมษายน 2519
พวกกระทิงแดงและนวพลได้สร้างความรุนแรงในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2519 กิตติวุฒโฑประกาศว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป และได้บุญด้วยซ้ำ แต่ทั้งสองพระองค์ยังคงเสด็จพบกับกิตติวุฒโทและเสด็จร่วมงานพิธีของพวกกระทิงแดงกับค่ายฝึกอบรมที่ในหลวงทรงทดสอบยิงปืนของพวกกระทิงแดงอย่างเปิดเผย ลูกเสือชาวบ้านบางหน่วยเข้ารับการฝึกอบรมการปฏิบัติการสร้างความรุนแรงที่ค่ายนเรศวรของตชด.ใกล้วังไกลกังวลที่หัวหิน
วันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพลถนอมเดินทางกลับจากสิงคโปร์โดยลงมาจากเครื่องบินในชุดของสามเณร มีนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ไปรอต้อนรับ แล้วตรงไปยังวัดบวรนิเวศน์ทำการบวชแบบส่วนตัว เป็นการประกาศว่าในหลวงทรงสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะวัดบวรฯ เป็นวัดประจำราชวงศ์จักรีมาตั้งแต่สมัยเจ้าฟ้ามงกุฎก่อนเป็นรัชกาลที่ 4 นายสมัครประกาศว่าพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีได้ทรงเห็นชอบต่อการกลับมาของจอมพลถนอม และเกิดการชุมนุมประท้วงให้ดำเนินคดีจอมพลถนอมที่สั่งสังหารประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา
วันที่ 22 กันยายน 2519 สภาลงมติให้ขับจอมพลถนอมออกนอกประเทศ ทั้งสองพระองค์รีบเสด็จกลับกรุงเทพฯ เยี่ยมเณรถนอมที่วัดบวรอย่างเปิดเผยในชุดทหาร ติดตามด้วยบรรดาผู้นำของขบวนการนวพล เป็นการประกาศสนับสนุนจอมพลถนอมและพวกนวพลต่อต้านมติของสภา คณะรัฐมนตรีและประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ทรงพร้อมจะปะทะขั้นแตกหัก
วันที่ 23 กันยายน 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะคาดไม่ถึงว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงออกศึกท้าชนตรงๆ แต่สภาปฏิเสธการลาออก นายกเสนีย์ จึงต้องกลับมาปรับคณะรัฐมนตรี มีการเสนอให้ปรับพรรคชาติไทยออกและนำพรรคกิจสังคมของมรว.คึกฤทธิ์เข้ามาแทน แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงห้ามไม่ให้เอาพรรคชาติไทยออก
วันที่ 3 ตุลาคม 2519 นักศึกษาประกาศร่วมมือกับกรรมกรและกลุ่มอื่นๆ ในการไม่เข้าเรียนและหยุดงานประท้วง จนกว่าจอมพลถนอมจะออกไปนอกประเทศ พระเจ้าอยู่หัวทรงตอบโต้ด้วยการรับสั่งให้ฟ้าชายวชิราลงกรณ์งดการฝึกทหารที่ออสเตรเลียและให้รีบเสด็จกลับกรุงเทพในชุดทหาร และตรงไปยังวัดบวรนิเวศน์เพื่อเยี่ยมพระถนอม
4 ตุลาคม 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่ามีตำรวจกลุ่มหนึ่งเป็นผู้สังหารโหดพนักงานการไฟฟ้านครปฐมที่ต่อต้านจอมพลถนอม ขณะที่นักศึกษาในธรรมศาสตร์ แสดงละครล้อเลียนการฆ่าแขวนคอพนักงานไฟฟ้านครปฐม ได้ปรากฏภาพ นักศึกษาที่เล่น เป็นผู้ถูกแขวนคอคนหนึ่งมีหน้าคล้ายฟ้าชายวชิราลงกรณ์ 5 ตุลาคม 2519 หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ตีพิมพ์ภาพถ่ายของละครล้อเลียนการแขวนคอลงบนหน้าหนึ่ง พร้อมประกาศอย่างโกรธแค้นว่านักศึกษาแขวนคอฟ้าชายวชิวาลงกรณ์ สถานีวิทยุของทหารโดยพ.อ.อุทาร สนิทวงศ์ประกาศว่า การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเรียกร้องให้ลูกเสือชาวบ้านกับนวพลออกมาชุมนุมและจัดการพวกนักศึกษา ทั้งยังกล่าวหาว่านักศึกษาวางแผนที่จะบุกวังและวัดบวร วิทยุยานเกราะประกาศให้ฆ่ามัน ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ มีการเตรียมการวางแผนปลุกระดมเพื่อพร้อมปฏิบัติการขั้นเด็ดขาด
ก่อนรุ่งสางของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายขวาจัดที่บ้าคลั่งเริ่มเปิดฉากระดมยิงเข้าไปในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งปืนใหญ่ไร้แรงสะท้อน มีทั้งลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง ตำรวจท้องที่และคอมมานโดของตชด.จากค่ายนเรศวรที่หัวหิน นักศึกษาถูกปิดล้อมไม่ให้เล็ดลอดออกจากมหาวิทยาลัยและไม่สามารถนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล โดยมีกองกำลังตชด.ของพระเจ้าอยู่หัวเป็นกองทัพหน้าในการบุกโจมตี จวบจนมืดค่ำ ผู้บัญชาการตชด.กับฟ้าชายวชิราลงกรณ์ก็ได้มาขอบคุณและบอกให้พวกเขากลับบ้าน คณะทหารได้ทำการยึดอำนาจโดยเรียกตัวเองว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินด้วยการรับรองจากพระเจ้าอยู่หัว สองสามวันต่อมา นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลใหม่เริ่มงานด้วยการให้ความชอบธรรมกับการโจมตีเข่นฆ่านักศึกษาว่าเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์และประเทศชาติจากพวกก่อความวุ่นวายที่ได้รับการหนุนหลังจากเวียตนาม
เหตุการณ์ 6 ตุลาคมเป็นรูปแบบปกติของการทำรัฐประหาร คือสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง แล้วก็ให้กองทัพเคลื่อนกำลังเข้ามายึดอำนาจโดยการอ้างว่าต้องเข้ามาแก้ไขให้เกิดความสงบ การสังหารหมู่ 6 ตุลาทำให้กองทัพมีข้ออ้างในการยึดอำนาจ โดยที่พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำการปลุกปั่นยุยงมาตลอด รวมทั้งได้ทรงแทรกแซงขัดขวางรัฐบาล ที่น่าเกลียด คือ พระเจ้าอยู่หัวทรงประทับเคียงข้างพวกกระทิงแดงและทรงเร่งให้เกิดความรุนแรงด้วยการนำจอมพลถนอมกลับประเทศ ทำให้รัฐบาลไม่มีทางควบคุมสถานการณ์ และเมื่อนักศึกษาประท้วงจอมพลถนอม ในหลวงก็ไม่ทรงยับยั้งหรือห้ามปรามคนอย่างพ.อ.อุทารที่เอาแต่ปลุกระดมให้เกิดการสังหารโหดนักศึกษา
การใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สำหรับการแสดงละครของนักศึกษาเพื่อเป็นข้ออ้างสำหรับการใช้ความรุนแรงถึงขั้นเอาชีวิตกันเป็นเรื่องที่โหดเหี้ยมเหมือนในยุคโบราณที่ถือกษัตริย์เป็นเจ้าชีวิต ถึงกับต้องสังหารคนที่ดูหมิ่นกษัตริย์ ฟ้าชาย วชิราลงกรณ์ ก็ปรากฎพระองค์อยู่ที่ธรรมศาสตร์ช่วงวันที่ 5 และ 6 พร้อมกับตำรวจและลูกเสือชาวบ้านในชุดทหารออกรบ และทรงเสด็จเป็นประธานในพิธีมอบธงและรางวัลให้กับลูกเสือชาวบ้านที่ลพบุรีและสิงห์บุรี ที่ได้มาร่วมกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษา
ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในหลวงทรงรับสั่งให้ นายธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพและผู้นำประชาธิปัตย์ปีกขวาเข้าเฝ้า ทรงแสดงความห่วงใยที่ลูกเสือชาวบ้านเหล่านั้นจะได้รับความลำบากเรื่องที่พักและอาหาร หลังจากนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้ทรงเสด็จมาพบลูกเสือชาวบ้านที่ทำเนียบรัฐบาลและ ได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า ขอให้ทุกคนสลายตัวเสีย ถือว่าให้ของขวัญกับข้าพเจ้า ท่านเหนื่อยกันมามากแล้ว ขอให้กลับไปหลับนอนเสียให้สบาย ทุกคนโปรดทราบว่า สองล้นเกล้าฯทรงเป็นห่วง ไม่มีอะไรที่สองล้นเกล้าฯจะเสียใจเท่ากับพวกเราฆ่ากันเอง ขอให้ทุกคนโชคดี
วันที่ 7 ตุลาคม 2519 ฟ้าหญิงสิรินธรและฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ เสด็จไปยังโรงพยาบาลตำรวจและโรงพยาบาลวชิระ เพื่อทรงเยี่ยมตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการการกวาดล้างที่ธรรมศาสตร์และพระราชทานเงินของมูลนิธิสายใจไทยให้ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บทุกคน
ในวันที่ 20 ตุลาคม 2519 มีพิธีบำเพ็ญกุศลศพนายเสมอ อ้นจรูญ ลูกเสือชาวบ้านที่บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยในเช้าวันที่ 6 และเสียชีวิต โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ เสด็จพระดำเนินในฉลองพระองค์ไว้ทุกข์ดำ ทรงสดุดีวีรกรรมว่าสมควรแก่การเชิดชูเป็นแบบอย่างในด้านมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ต่อมาพลโท สำราญ แพทยกุล ผู้นำกลุ่มนวพลเข้าเข่นฆ่ากวาดล้างนักศึกษาในธรรมศาสตร์ ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี
จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายทหารพิเศษรักษาพระองค์ในปี 2542
ฆาตกรในเหตุการณ์ทั้งหมดรวมถึงสมาชิกกลุ่มกระทิงแดง นวพล และตำรวจ ที่ฆ่า เผา และข่มขืนนักศึกษา ทั้งหมดได้รับพระราชทานอภัยโทษ
ตำรวจ สมาชิกกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติการฆ่าโหดนักศึกษาได้รับกระเช้าเยี่ยมพระราชทาน
แกนนำนักศึกษา ที่รอดตายจากการโดนล้อมฆ่า ต้องโดนจำคุกเป็นเวลาสามปี อนุสาวรีย์เหตุการณ์เดือนตุลาฯ ใช้เวลาเกือบ 30 ปี จึงต่อรองขอเช่าที่ดินบริเวณของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้สำเร็จ
ดร.สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้อำนวยการช่อง 9 อสมท.ถูกปลดออกจากตำแหน่งหลังจากแพร่ภาพเหตุการณ์สังหารหมู่ที่น่าสยดสยองในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกสู่สาธารณะ
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องลี้ภัยการเมืองจากประเทศไทย ตราบจนท่านถึงแก่กรรม
...สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมชี้ให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ของไทยสนับสนุนหรือทำลายระบอบประชาธิปไตยกันแน่
........................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น