วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รู้ทันชั้น 16/2 : มหายานนิกายเซน C2 1602


ฟังเสียง http://www.mediafire.com/?nw0gbbws97vw9j5
หรือที่ : http://www.4shared.com/mp3/4bdad3Ma/See_Thru_Floor_16_-1602_.html
..................

มหายานนิกายเซน

เซน (Zen) เป็นชื่อญี่ปุ่นของคำว่า ฉาน(Ch'an)ในภาษาจีน ที่มาจากภาษาบาลีซึ่งหมายถึง ฌาน หรือ การเข้าฌานของพุทธศาสนา นิกายเซน เป็นชื่อญี่ปุ่นของพุทธศาสนานิกายมหายาน โดยมีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย และผ่านมาทางประเทศจีน เกาหลีและเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋าจากประเทศจีนในช่วงระหว่างที่เผยแผ่มาสู่ญี่ปุ่น การฝึกตนของนิกายเซน เน้นที่การนั่งสมาธิเพื่อการรู้แจ้ง

ตั้งแต่ช่วงปี 2490 เซนยังได้เป็นปรัชญาในการดำรงชีวิต และรู้จักกันทั่วโลก โดยแสดงถึงแนวทางการใช้ชีวิต การทำงาน และศิลปะ ซึ่งยึดถือหลักปฏิบัติธรรมตามหลักของพระพุทธเจ้า ตามหลักของอริยสัจ 4 และ มรรค 8 เซนเชื่อในมนุษย์ทุกคนคือเชื่อว่าทุกคนมีธรรมชาติแห่งพุทธอยู่ด้วยกันทุกคน มีโอกาสตรัสรู้ได้ทุกคน การรู้แจ้งหรือการเข้าถึงพุทธะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยรูปแบบใดๆ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเพศใด เป็นผู้คงแก่เรียนหรือไม่ อายุหรือวัยเท่าใด เพราะทุกคนต่างก็มีธรรมชาติเดิมแท้อันบริสุทธิ์เป็นพื้นอยู่แล้วด้วยกันทุกคน เมื่อสิ่งที่มาครอบคลุมปกปิดถูกรื้อถอนออกไป ความสว่างไสวจะปรากฎออกมาเอง ไม่เว้นใครเลย

เซนไม่เน้นเรื่องอื่น เช่น พระเจ้ามีจริงหรือไม่ นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ บุญกุศลคืออะไร ฯลฯ เซนจะหลีกเลี่ยงเรื่องเหล่านี้ โดยเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ หากแต่มุ่งในการทำตัวเองให้แจ่มแจ้งในปัจจุบันขณะนั้นก็พอ ไม่ปรารถนาอะไรอื่น ไม่เอาการถกเถียง หรือการเรียนในเชิงปรัชญาเพ้อเจ้อ ซึ่งเซนถือว่าไม่ใช่เรื่องของเซน เซนเป็นวิถีหรือทางตรงเพื่อเข้าสู่การหลุดพ้นจากความคิดปรุงแต่งที่จำแนกสิ่งต่างๆออกเป็น 2 ขั้วที่ ต่างกัน เช่น ดี-ชั่ว ผิด-ถูก พอใจ-ไม่พอใจ ซึ่งเซนถือว่าเป็นเรื่องผูกมัดมนุษย์ไว้ในกรงแห่งความทุกข์และอวิชชา ถ้าไม่มีความคิดปรุงแต่งเหล่านี้ก็จะเป็นอิสระ และจะเห็นสิ่งต่างๆตามที่เป็นจริง

พื้นฐาน 5 ประการของพุทธนิกายเซน

1. ความจริงสูงสุดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดงได้
ด้วยคำพูด หรือ ตัวหนังสือ





พุทธะคือธรรมชาติที่มีอยู่ภายในชีวิตของเรานี้เอง เมื่อความคิดปรุงแต่งหยุดลง ธรรมชาติดั้งเดิมก็พลันปรากฎ คือความเป็นพุทธะ ความสงบหรือดับร้อนที่เรียกว่านิพพาน




2.การฝึกฝนในทางธรรม ไม่อาจฝึกได้ด้วยความพยายาม ที่เกิดจากการปรุงแต่ง

เพราะในความคิดปรุงแต่งจะมีความรู้สึกที่มีตัวตนอยู่ด้วยเสมอ ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่เป็นภายในกับสิ่งที่เป็นภายนอก และทำให้เกิดความยึดมั่นผูกพันกับวัตถุภายนอก ความพยายามที่เกิดจากการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นการฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า การท่องพระสูตร การบูชาพระพุทธรูป การประกอบพิธีต่างๆนั้น โดยแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ตรงข้ามบุคคลควรปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระ เฝ้าดูและขจัดกระแสแห่งความคิดปรุงแต่ง และเข้าถึงธรรมชาติของความเป็นเช่นนั้นเอง การปฎิบัติธรรมที่แท้จริงจึงเกิดขึ้นได้

3. ผลบั้นปลายสุดท้าย ไม่มีอะไรที่ใหม่


ประสบการณ์ของการตื่นรู้ถึงธรรมชาติของสรรพสิ่ง เป็นเพียงสิ่งที่มีอยู่ในตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้วเท่านั้นเอง ที่เราไม่ได้รู้สึกถึงสิ่งนี้เป็นเพราะอวิชชาของเราเอง เมื่อตัวตนที่ปรุงแต่งถูกขจัดออกไป ธรรมชาติที่แท้จริงก็ปรากฎตัวขึ้นแทนที่และผู้นั้นก็จะกระทำสิ่งต่างๆอย่างปราศจากตัวตน ซึ่งเป็นธรรมชาติของเขาจริงๆ

4.ไม่มีอะไรมากในคำสอนทางพุทธศาสนา

สิ่งสำคัญมีเพียงประการเดียวคือ ประสบการณ์ของความตื่นรู้ถึงสภาวธรรม ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธเจ้า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชาวพุทธ และไม่มีแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนา เพราะตราบใดที่ยังยึดติดในสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่อาจรู้แจ้งความจริงแท้ของสรรพสิ่ง

5.ในขณะที่กำลังทำงานตามปกติ
เป็นขณะแห่งการสัมผัสกับชีวิตทางธรรม




การตรัสรู้นั้นไม่จำกัดอยู่ในรูปแบบใด ในขณะทำงาน ในชีวิตประจำวันก็อาจเป็นขณะแห่งการตรัสรู้ได้ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเป็นสิ่งที่มีอยู่ปกติตามธรรมชาติ เราพบมันได้ในทุกหนทุกแห่งทุกเวลา




ลำดับพระสังฆนายกฝ่ายเซน


พระอริยสงฆ์สาวกผู้ซึ่งได้รับการถ่ายทอดชี้ธรรม ด้วยวิถีแห่งจิตสู่จิต แต่ละรุ่นจะได้รับมอบ บาตร จีวร สังฆาฏิ เป็นสัญญลักษณ์สำคัญของตำแหน่งเริ่มตั้งแต่พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้าโดยมีการถ่ายทอดธรรมมีพระอริยเจ้าแต่ละสมัยรับช่วงสืบทอดกันลงมาโดยลำดับสืบทอดมายังพระมหากัสสปเถระ และมาที่พระอานนท์เถระ โดย ลำดับที่ 28 สายชมพูทวีป คือพระโพธิธรรม เมื่อท่านเดินทางเผยแพร่พุทธศาสนาเข้าสู่จีน เมื่อปี พศ.1063 หรือเกือบ 1500 ปีก่อน ที่จีนออกเสียงว่า "โพธิธรรม" หรือ "โบ-ตะ-มะ" ที่คนไทยรู้จักกันในนาม "ตั๊กม้อ" ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งวัดเส้าหลิน นับเป็นพระสังฆปรินายกฝ่ายเซนองค์แรกในจีน ต่อมาเมื่อสืบทอดพระสังฆนายกองค์ที่ 3 ฝ่ายจีน จึงได้เผยแพร่เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น

พระโพธิธรรมถือเป็นสังฆนายกลำดับที่ 1 ในสายจีน ซึ่งมีพระสังฆนายกเพียง 6 ลำดับ
คำสอนของเซนเปรียบเหมือนการชกหมัดตรง คือโจมตีพิธีกรรมที่งมงาย โจมตีการเอาหลักธรรมมาแสวงหาผลประโยชน์ เซนมุ่งสู่การตรัสรู้ ไม่เชื่อผีสางเทวดา ไม่ยึดมั่นถือมั่น มุ่งเน้นการปล่อยวาง ถือการปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อการหลุดพ้น ไม่มีเรื่องอภินิหาร โดยไม่ต้องอาศัยพระสูตรหรือพระคัมภีร์ใดๆ

พระฝ่ายมหายานนิกายเซน

พระอาจารย์ตั๊กม้อ


พระโพธิธรรม จีนเรียกพูทิตาโม หรือ ตำหมอ หรือ ตั๊กม้อ ท่านเกิดเมื่อราว พ.ศ. 1013 หรือก่อนตั้งกรุงสุโขทัยกว่า 767 ปี เป็นโอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าแผ่นดิน แคว้นคันธารราช ประเทศอินเดีย ใกล้เมืองมัทราสในปัจจุบัน มีนัยน์ตาสีฟ้า ตั้งแต่อายุยังเยาว์ ทรงปราดเปรื่องและแตกฉานในคัมภีร์ของทุกศาสนา และวรรณคดีอักษรศาสตร์โบราณ เป็นปราชญ์แห่งยุค เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ พวกพี่ชายแย่งราชสมบัติกัน ท่านจึงเกิดความเบื่อหน่าย จึงไปศึกษาแสวงธรรมอยู่กับพระปรัชญาตาระเถระ(Prajnatara) สังฆนายกองค์ที่ 27 แห่งนิกายเซน

พระปรัชญาตาระเถระ ได้หยิบลูกแก้วยกขึ้นให้ท่านโพธิธรรมดูเป็นปริศนา ท่านก็บังเกิดความรู้แจ้งในธรรมจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระปรัชญาตาระเถระ ได้เรียกประชุมคณะสงฆ์และประกาศจะมอบบาตร จีวร สังฆาฏิ และถ่ายทอดธรรมทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ท่านโพธิธรรมเป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ 28 พร้อมทั้งสั่งให้ท่านโพธิธรรมนำวิถีธรรมของพระพุทธเจ้าเผยแพร่สู่ประเทศจีน

ก่อนหน้าที่พระอาจารย์ตั๊กม๊อจะเดินทางมาจีนท่านได้ส่งพระภิกษุสาวก 2 รูป ให้เดินทางมาสำรวจดูลู่ทางก่อนแต่ทว่าเมื่อศิษย์ทั้งสองมาถึงแผ่นดินจีน กลับไม่ได้รับการต้อนรับหรือสนับสนุนจากทั้งนักบวชและผู้คนทั้งหลายเท่าที่ควร พระทั้งสองรูป จาริกมาถึงที่ หลู่ ซัน ได้พบปะกับอาจารย์ ฮุ่ย เอวียน ผู้คร่ำเคร่งต่อการท่องสวด ท่านได้ถามศิษย์ของอาจารย์ตั๊กม๊อว่า "ท่านทั้งสองเป็นภิกษุอินเดีย นำธรรมะอะไรมาเผยแพร่ แล้วทำไมผู้คนถึงไม่ศรัทธา "
เวลานั้นภิกษุทั้งสอง พูดภาษาจีนได้น้อยมาก ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรจึงได้แต่แบมือยื่นออกไปแล้วตวัดกลับมาอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งเอ่ยขึ้นว่า "มันเร็วไหม "
ท่านฮุ่ย เอวียน ก็ตอบว่า "ใช่...เร็วมาก"
ศิษย์ของอาจารย์ตั๊กม๊อ จึงกล่าวว่าการรู้แจ้งก็เร็วเช่นนี้แหละ เมื่อนั้น ท่าน ฮุ่ย เอวียน ก็บังเกิดความสว่างจิตรู้แจ้งในทันที และได้เปล่งอุทานธรรมขึ้นว่า
"ทุกข์ คือ สุข...สุข คือ ทุกข์
ไม่แตกต่าง..ทั้งสองอย่างเกิดดับอยู่ที่ ใจ
อยู่ข้างไหน...ก็ขึ้นอยู่กับใจที่สำแดง"


หลังจากนั้นท่าน ฮุ่ย เอวียน จึงกล่าวนิมนต์พระภิกษุอินเดียทั้ง 2 รูป อยู่พำนักจำพรรษาที่อารามของท่าน แต่ต่อมาไม่นานพระทั้งสองรูปก็ดับขันธ์ไปในวันเดียวกัน

ต่อมาเมื่ออาจารย์ตั๊กม๊อหรือ พระโพธิธรรมก็ออกเดินทางจากอินเดียราว พศ. 1079 โดยลงมุ่งสู่ประเทศจีน ท่านเป็นชาวอินเดียมีหนวดเคราดกรุงรัง นัยน์ตากลมโต ผิวดำคล้ำ ชาวบ้านที่พบเห็น ก็จะหลอกลูกหลานว่า พระแขกจะมาจับตัว เพื่อให้เด็กๆกลัว เมื่อท่านเดินไปทางไหน เด็กๆก็จะพากันวิ่งหนีเข้าบ้านหมด ท่านต้องฝ่าแดดกรำฝน ต้องดึงเอาจีวรขึ้นคลุมศีรษะกันร้อนกันหนาว นานวันผ้าจีวรที่ห่มอยู่ก็ชำรุดคร่ำคร่าเปื่อยขาดอันเนื่องจากการรอนแรมนานถึง 3 ปี ท่านได้เดินทางไปยังเมืองกวางโจว ของจีน เข้าเฝ้าฮ่องเต้

พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ หรืออู่ตี้ (Liang Wudi) ตรัสถามพระอาจารย์ตั๊กม๊อว่า
"ตั้งแต่ข้าพเจ้าครองราชย์มา ได้สร้างวัดวาอาราม โบสถ์วิหาร และพระคัมภีร์มากมาย อีกทั้งอนุญาตให้ผู้คนได้บวช โปรยทาน ถวายภัตตาหารเจแด่พระภิกษุสงฆ์ ตลอดจนทะนุบำรุงพระศาสนามากมาย ไม่ทราบว่าจะได้รับกุศลมากน้อยเพียงใด "
พระอาจารย์ตั๊กม๊อ ตอบว่า
"ที่มหาบพิตรบำเพ็ญมาทั้งหมด เป็นเพียงบุญกิริยาทางโลกเท่านั้น ยังมิใช่กุศลแต่อย่างใด" เพราะการให้ทานเงินทอง สิ่งของ หรือสร้างวัดวาอาราม เรียกว่า บุญ หมายถึง ส่งที่ทำให้ใจมีปิติอิ่มเอมเท่านั้น ส่วน กุศล หมายถึงสิ่งที่จะช่วยขจัดเครื่องกางกั้น ที่ครอบคลุมห่อหุ้มจิตที่แท้จริง

พระเจ้าเหลี่ยงบู๊ตี้ ทรงตรัสถามอีกว่า "อริยสัจ คืออะไร"
พระอาจารย์ตั๊กม๊อ ตอบว่า "ไม่มี"
พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ ทรงตรัสถามอีกว่า"เบื้องหน้าข้าพเจ้านี้ คือใคร"
พระอาจารย์ตั๊กม๊อ ตอบว่า "ไม่รู้จัก"
พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ ทรงได้ยินคำตอบเช่นนั้น ไม่ค่อยพอพระทัย พระอาจารย์ตั๊กม๊อ เห็นว่า พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ทรงสั่งสมภูมิปัญญายังไม่แก่กล้าพอที่จะบรรลุได้ จึงทูลลาจากไป

ชี้แนะนกแก้ว

เมื่ออาจารย์ตั๊กม๊อเดินทางจากเมืองหลวงแล้ว ระหว่างทางจาริกท่านได้พบนกแก้วตัวหนึ่งถูกขังอยู่ในกรง เจ้านกแก้วตัวนี้พอเห็นอาจารย์ตั๊กม๊อเดินเข้ามาใกล้ จึงร้องเรียกขึ้นว่า "ท่านผู้เจริญ ท่านผู้สูงส่ง ขอท่านได้โปรดเมตตาชี้แนะช่องทางให้ข้าน้อยออกจากกรงขังนี้ด้วยเถิด"
อาจารย์ตั๊กม๊อ เมื่อได้ยินคำวิงวอนจากนกแก้ว ก็ให้คิดคำนึงในใจว่า
"นับตั้งแต่มาถึงแผ่นดินจีน จนกระทั่งบัดนี้ จะหาใครบ้างที่ล่วงรู้ในจิตใจ มีใครที่มีวาสนาพอจะแนะวิถีธรรมให้ได้บ้าง จะมีก็แต่เจ้านกแก้วตัวนี้ ที่ร้องขอเมตตา"

อาจารย์ตั๊กม๊อ จึงโปรดชี้แนะเจ้านกแก้วไปว่า
"สองขาเหยียดตรง สองตาปิดสนิท เท่านี้แหละ เจ้าก็จะออกจากกรงได้"
เจ้านกแก้วฟังแล้วก็เข้าใจความหมายทันที มันจึงเฝ้ารอคอยให้เวลามาถึง ทั้งนี้เพลาทุกๆเย็น เมื่อเจ้าของนกแก้วกลับถึงบ้าน ก็จะแวะหยอกล้อกับมันเป็นประจำ
ดังนั้นพอนกแก้วเห็นนายของมันเดินมาแต่ไกล มันจึงรีบล้มตัวลงนอน หลับตาสนิท เหยียดขาตรง ทำตัวแข็งทื่อ
ครั้นเจ้าของมองดูในกรง เห็นนกแก้วแสนรักของตนนอนแน่นิ่งไม่ไหวติงเช่นนั้นก็ตกใจ รีบเปิดกรงเอื้อมมือเข้าไปประคองอุ้มมันออกมาเพื่อตรวจดูว่าเป็นอะไร ทำไมตัวมันยังอุ่นๆอยู่ ทันใดนั้นเจ้านกแก้วชึ่งรอคอยโอกาสอยู่ก็กางปีกบินหนีไปอย่างรวดเร็ว มันโผบินขึ้นสู่ท้องฟ้า ด้วยความสุขสำราญและอิสระเสรีอย่างที่สุด
นิทานเซนเรื่องนี้เปรียบเทียบให้รู้ว่า ชีวตของคนเราตกอยู่ภายใต้อำนาจการยึดมั่นถือมั่น ถ้าตายจากการยึดมั่น ก็จะได้มีชีวิตใหม่ที่เป็นอิสระ ได้ชื่อว่าตายก่อนตาย ได้สู่อิสระเสรีอย่างแท้จริง

ชี้แนะเสินกวง
อาจารย์ตั๊กม๊อ เดินทางมาถึงวัดใหญ่แห่งหนึ่ง มีเจ้าอาวาสนามว่าเสินกวง เจ้าอาวาสรูปนี้เป็นผู้ที่มีปัญญาหลักแหลม และความจำล้ำเลิศ แต่เป็นนักบวชที่มีอารมณ์ฉุนเฉียวมาก เป็นนักเทศน์ชั้นเยี่ยมยอดแห่งยุคนั้น สามารถเทศน์จนสาธุชนที่มานั่งฟังสามารถมองเห็นภาพสวรรค์ภาพนรกขึ้นมาได้
วันนั้นขณะอาจารย์ตั๊กม๊อมาถึง ท่านเสินกวงกำลังแสดงธรรมเทศนา มีสานุศิษย์ชุมนุมอยู่เป็นจำนวนมาก อาจารย์ตั๊กม๊อเข้าไปปะปนนั่งฟังอยู่แถวหลังสุด ตอนไหนที่ถูกท่านก็ยิ้มๆ แล้วผงกศีรษะหน่อยๆ ตอนไหนที่เทศน์ผิดความหมาย ท่านก็จะส่ายหน้าหน่อยๆ
ฝ่ายท่านเสินกวง ซึ่งกำลังแสดงธรรมอยู่บนธรรมมาสน์ เมื่อมองเห็นพระอินเดียแปลกหน้ามาแสดงกิริยาเช่นนั้น เหมือนเป็นการตำหนิตน ก็รู้สึกไม่อยคสบอารมณ์

ครั้นการเทศน์จบลง ผู้คนเริ่มทะยอยกลับ อาจารย์ตั๊กม๊อจึงถือโอกาสเข้าไปสนทนาเพื่อหวังชี้แนะ ด้วยเห็นว่าเป็นผู้มีภูมิธรรมปัญญาเป็นฐานอยู่แล้ว
อาจารย์ตั๊กม๊อถามว่า "ท่านอยู่ที่นี่ทำอะไร "
ท่านเสินกวงตอบว่า "อ้าว...ข้าก็เทศน์ธรรมอยู่ที่นี่น่ะซิ"
อาจารย์ตั๊กม๊อ "ท่านเทศน์ธรรมเพื่ออะไร"
ท่านเสินกวง "เทศน์เพื่อให้ผู้คนหลุดพ้น"
อาจารย์ตั๊กม๊อ "จะช่วยคนให้พ้น เกิดตายได้อย่างไร ในเมื่อธรรมที่ท่านเทศน์ ก็คือตัวหนังสือบนคัมภีร์ ตัวหนังสือดำ ก็เป็นสีดำ กระดาษขาว ก็เป็นสีขาว เทศน์ไปเทศน์มา ก็คือเทศน์ตามตัวหนังสือดำๆ บนกระดาษขาวๆ

เมื่อถูกจู่โจมด้วยคำถามชนิดไม่ทันให้ตั้งตัว เจ้าอาวาสเสินกวงได้แต่อึกอักอ้าปากค้าง ไม่รู้จะตอบอย่างไร จากความอายกลายเป็นโกรธจัด
อาจารย์ตั๊กม๊อ เห็นท่านเสินกวงไม่อาจตอบก็พูดย้ำเข้าไปอีกว่า
"นี่แหละนะ แผ่นดินจีนในยุคนี้ มีธรรมะ ก็เหมือนไม่มี
หากจะว่าไม่มี ก็มีคนพูดธรรมะกันทั้งเมือง"
ถึงตอนนี้ ท่านเสินกวงสุดจะอดกลั้นความโกรธเอาไว้ได้ จึงเหวี่ยงสายประคำฟาดไปที่หน้าของอาจารย์ตั๊กม๊ออย่างสุดแรงพร้อมกับตะโกนด่าว่า
"นี่แน่ะ แกกล้าดีอย่างไร ถึงมาเป็นตัวบ่อนทำลายศาสนาที่นี่"

อาจารย์ตั๊กม๊อ เป็นผู้ล้ำเลิศในเชิงวิทยายุทธ แต่ก็มิได้หลบหลีกการประทุษร้าย เพราะท่านนึกไม่ถึงว่า พระที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนมากมาย จะมากด้วยโทสะจริตจนถึงกับลงมือลงไม้กันขนาดนี้ การถูกฟาดด้วยสายประคำเส้นใหญ่อย่างแรง ทำให้ฟันคู่หน้าทั้ง ๒ ซี่ หลุดอยู่ในปาก ตามตำนานโบราณกล่าวว่า หากแม้นพระอรหันต์องค์ใด ถูกล่วงเกินทำร้ายถึงกับฟันต้องหักร่วง แม้นว่าเศษฟันนั้นตกลง ณ พื้นแผ่นดินใด แผ่นดินนั้นจะต้องประสบทุพภิกขภัย แห้งแล้งติดต่อกันถึง 3 ปี อาจารย์ตั๊กม๊อ จึงกลืนฟันที่ถูกฟาดจนหลุดทั้ง๒ ซี่ลงไปในท้อง ไม่ยอมบ้วนลงพื้น โดยไม่มีความรู้สึกระคายเคืองใจ แม้เพียงน้อยนิด ได้แต่หันหลังเดินจากไปด้วยอาการสงบเย็น

ต่อมาภายหลังท่านเสินกวงได้ทราบความจริงว่าอาจารย์ตั๊กม้อเป็นสังฆนายกผู้เห็นธรรม จึงได้มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์พระจารย์ตั๊กม้อ และได้สมณฉายาใหม่ว่าฮุ่ยเข่อ(Huike) ภายหลังท่านฮุ่ยเข่อได้สืบทอด เป็นพระสังฆนายกองค์ที่ 2 ของนิกายเซน




ท่านเว่ยหล่าง
( Wei Lang )


เดิมชื่อพระฮุ่ยเหนิง ( Hui Neng )เป็นสังฆนายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซน ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. 1181 สมัยถังไท่จง ตรงกับต้นสมัยกรุงสุโขทัย ณ ตำบลชินโจว มณฑลกว่างตง ในครอบครัวที่่ยากจน บิดาถูกถอดจากตำแหน่งราชการ ถูกเนรเทศไปอยู่อย่างราษฎรสามัญ บิดาได้ถึงแก่กรรมในขณะที่ท่านยังเล็กอยู่ และทิ้งมารดาในสภาพที่ยากจนทนทุกข์ ทั้งสองคนจึงย้ายไปอยู่กวางเจา ต้องทำงานในเรือกสวนไร่นา ช่างเวลาว่างก็จะตัดไม้ ผ่าฟืน หาบไปขายในตลาด ท่านอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่มีความเฉลียวฉลาด มีไหวพริบปฏิภาณ และมีความจำเป็นเลิศ

วันหนึ่งขณะที่นำฟืนไปส่งในตลาดก็ได้ยินเสียงสวดมนต์ของชายคนหนึ่งอยู่ที่หน้าร้านว่า "พึงทำจิตมิให้มีความยึดถือผูกพันในทุกสภาวะ" เมื่อได้ยินถ้อยคำนี้ท่านก็ได้เข้าถึงสัจจธรรมธรรม จึงถามชายคนนั้นว่า "ท่านกำลังสวดอะไร" "เรากำลังสวดวัชรสูตร" "ท่านไปเรียนมาจากที่ไหน" "เราเรียนมาจากท่านอาจารย์หงเหย่น หรือ หงเหยิน แห่งวัดตงฉัน เมืองฉีโจว ท่านมีศิษย์เป็นพันๆ คน โดยสั่งสอนให้ศิษย์ทั้งหลายบริกรรมพระสูตรนี้ เพื่อจักได้ค้นพบธรรมญาณแห่งตนและเข้าถึงความป็นพุทธะ" มีชายใจบุญผู้อารีอยากสนับสนุนจึงให้เงินท่านฮุ่ยเหนิง 10 ตำลึงเพื่อนำไปให้มารดาไว้ใช้สอยขณะที่ท่านฮุ่ยเหนิงไม่อยู่ และหลังจากที่ได้จัดแจงให้มีผู้ดูแลมารดาแล้วท่านก็มุ่งหน้าเดินทางไปยังวัดตงฉันทันที ใช้เวลาเกือบสามสิบวันจึงถึงจุดหมาย

เมื่อเข้าไปนมัสการพระอาจารย์หงเหยิน ( Hong ren ) ท่านก็ถามว่า "เจ้ามาจากไหนหรือ และต้องการอะไร" "กระผมเป็นคนเมืองซินโจว มณฑลกว่างตง กระผมต้องการมากราบท่านอาจารย์และต้องการหาหนทางความเป็นธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเท่านั้น นอกจากนี้แล้วกระผมไม่ต้องการอะไรเลย" "เธอเป็นชาวกว่างตงหรือ เป็นคนป่าคนดงยังจะหวังเป็นพุทธะได้ยังไงกัน" "ทิศเหนือทิศใต้เป็นเพียงแบ่งทิศทาง แต่หาได้แบ่งแยกความเป็นพุทธะไม่ กระผมแตกต่างไปจากท่านอาจารย์ก็ตรงที่ร่างกายเท่านั้นแต่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะไม่แตกต่างกันเลย" คำตอบของท่านฮุ่ยเหนิงได้ให้คำตอบในตัวเสร็จสรรพ

พระอาจารย์หงเหยินไล่ให้ท่านฮุ่ยเหนิงไปตำข้าวผ่าฟืนในครัว 8 เดือน โดยท่านยอมรับในความรู้ทางทางพุทธธรรมของท่านฮุ่ยเหนิง การที่อาจารย์หงเหยินแสดงอาการดุด่าฮุ่ยเหนิงก็เพราะท่านรู้ดีว่าฮุ่ยเหนิงเข้าใจธรรมได้ลึกซึ้งกว่าใคร และท่านไม่ต้องการให้เป็นจุดเด่นเพราะจะเป็นภัยอันตรายอย่างยิ่งจากผู้ที่ต้องการสืบทอดตำแหน่งสังฆนายกต่อจากท่าน


พระสังฆนายก ได้กล่าวว่า “จงทำใจของท่านให้อยู่ในสภาพเหมือนกับความว่างอันหาขอบเขตไม่ได้ จงให้ใจทำหน้าที่ของมันอย่างอิสระ ไม่ว่าท่านกำลังทำงานหรือหยุดพัก จงอย่าให้ใจของท่านเกาะเกี่ยวในสิ่งใด จงอย่าไปรู้สึกว่า มีความแตกต่างระหว่างตัวผู้กระทำกับสิ่งที่ถูกกระทำ จงปล่อยจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวงไว้ในสภาพแห่งความเป็นเช่นนั้น”





อยู่มาวันหนึ่ง พระสังฆนายกเรียกประชุมศิษย์ทั้งหมด แล้วประกาศให้เขียนโคลงว่าด้วยเรื่องจิตเดิมแท้ส่งให้ท่าน ผู้ใดเข้าใจได้ถูกต้องว่าจิตเดิมแท้เป็นอย่างไร จะได้รับมอบจีวร อันเป็นเครื่องหมายตำแหน่งสังฆนายก พร้อมทั้งธรรมะ และท่านจะสถาปนาให้เป็นสังฆนายกองค์ที่หก



เมื่อได้รับคำสั่งแล้ว บรรดาศิษย์ต่างพูดกันว่า ตำแหน่งสังฆนายกคงได้แก่ท่านชินเชา ( Shenxiu ) ผู้เป็นหัวหน้าศิษย์ พวกตนคงเขียนสู้ไม่ได้ จะเป็นการลงแรงที่เสียเวลาเปล่า โดยจะคอยติดตามหัวหน้า คือ ท่านชินเชา เท่านั้นก็พอแล้ว ขณะที่ชินเชา ผู้เป็นศิษย์อาวุโส ก็ทราบดีว่าตนเป็นครูสั่งสอนศิษย์อื่นอยู่ คงไม่มีใครเข้ามาเป็นคู่แข่งขันในการเขียนโคลง แต่ตนเป็นครูสั่งสอนอยู่ ควรจะเขียนโคลงถวายพระสังฆนายกดีหรือไม่ ถ้าตนไม่เขียน พระสังฆนายกจะทราบได้อย่างไรว่า ความรู้ของตนลึกซึ้งเพียงใด ถ้าตนเขียนโคลงเพียงเพื่อหวังจะได้รับธรรมจากพระสังฆนายกก็แปลว่าเจตนาของตนบริสุทธิ์ แต่ถ้าตนเขียนโคลงเพราะอยากได้ตำแหน่งสังฆนายก ก็แปลว่ามีเจตนาชั่ว ต้องการแย่งตำแหน่งของพระสังฆนายก จึงเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจ เมื่อชินเชาแต่งโคลงเสร็จแล้ว ได้พยายามจะส่งต่อพระสังฆนายกหลายครั้ง แต่เมื่อเดินเข้าไปใกล้จะถึงหอสำนักของพระสังฆนายกทีไรหัวใจเต้นเหงื่อแตกท่วมตัวทุกที ไม่สามารถทำใจเข้าไปส่งได้ ในเวลา 4 วัน เขาพยายามถึง 13 ครั้ง

ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจเขียนโคลงไว้ที่ฝาผนังช่องทางเดิน ให้พระสังฆนายกท่านเห็นเอง ถ้าถูกใจท่าน ตนจึงค่อยออกมานมัสการท่าน และเรียนท่านว่าตนเป็นผู้เขียน ถ้าท่านเห็นว่ามันใช้ไม่ได้ ก็แปลว่าตนได้เสียเวลาไปหลายปีในการมาอยู่บนภูเขานี้ และทำให้ชาวบ้านหลงเคารพกราบไหว้เสียเป็นนาน ไม่ได้ก้าวหน้าในทางธรรมเลย ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืนในวันนั้น ชินเชาถือตะเกียงลอบไปเขียนโคลงที่เขาแต่งขึ้นไว้ ที่ผนังช่องทางเดินทางทิศใต้ โดยหวังว่า พระสังฆนายกจะได้เห็นและหยั่งทราบถึงวิปัสสนาญาณที่ตนได้บรรลุ โคลงนั้นมีว่า:-

" กายของเราคือต้นโพธิ์ ใจของเราคือกระจกเงาอันใส
เราเช็ดมันโดยระมัดระวังทุกๆ ชั่วโมง และไม่ยอมให้ฝุ่นละอองจับ"

แต่พระสังฆนายกได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่า ชินเชาผู้นี้ยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่การรู้แจ้ง และยังไม่ซึมทราบในจิตเดิมแท้
รุ่งเช้า พระสังฆนายกให้ไปเชิญ นายโลชุน จิตรกรแห่งราชสำนักมาแล้วเดินไปตามช่องทางเดินทางทิศใต้พร้อมกัน เพื่อให้เขียนภาพที่ผนังเหล่านั้น ทำให้พระสังฆนายกได้เห็นโคลงที่ชินเชาเขียนไว้ จึงได้ให้โลชุนช่างกลับไปโดยไม่ต้องเขียนภาพแล้ว เพื่อให้มหาชนได้ศึกษาและท่องบ่นโคลงกลอนที่ชินเชาเขียนไว้ และถ้าปฏิบัติตามข้อความที่สอนไว้ ก็จะพ้นทุกข์ ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ ท่านได้สั่งให้นำเอาธูปเทียนมาจุดบูชาที่ตรงหน้าโคลงนั้น และสั่งให้ศิษย์ของท่านทุกคนทำความเคารพ แล้วจำเอาไปท่องบ่น เพื่อให้พิจารณาเห็นจิตเดิมแท้ เมื่อศิษย์เหล่านั้นท่องได้แล้ว ทุกคนพากันเปล่งคำว่า สาธุ

ครั้นเวลาเที่ยงคืน พระสังฆนายกได้ให้คนไปตามตัวชินเชามาที่หอแล้วถามว่าเขาเป็นผู้เขียนโคลงนั้นใช่หรือไม่ ชินเชาได้ตอบว่า "ใช่ขอรับ กระผมมิได้เห่อเหิมเพื่อตำแหน่งสังฆนายกเพียงแต่หวังว่าหลวงพ่อจะกรุณาบอกให้ทราบว่า โคลงนั้นแสดงว่ามีแววแห่งปัญญาอยู่ในนั้นบ้างสักเล็กน้อย หรือหาไม่"
พระสังฆนายกได้ตอบว่า "โคลงของเจ้าแสดงว่าเจ้ายังไม่ได้รู้แจ้งจิตเดิมแท้ เจ้ามาถึงประตูแห่งการบรรลุธรรมแล้วเป็นนาน แต่เจ้ายังไม่ได้ก้าวข้ามธรณีประตูเข้าไป การแสวงหาการตรัสรู้อันสูงสุด ด้วยความเข้าใจอย่างของเจ้าที่มีอยู่ในขณะนี้นั้น ยากที่จะสำเร็จได้...เจ้าไปเสียก่อน ไปคิดอีกสักสองวัน แล้วเขียนโคลงอันใหม่มาให้ฉัน ถ้าโคลงของเจ้าแสดงว่า เจ้าเข้าพ้นประตูไปแล้ว ฉันจะมอบผ้ากาสาวพัสตร์และธรรมะ ให้แก่เจ้าสืบทอดไป"

ชินเชา กราบพระสังฆนายกแล้วกลับไป เวลาล่วงเลยไปหลายวันเขาก็ยังจนปัญญา ในการที่จะเขียนโคลงอันใหม่ ทำให้เขาสับสนวุ่นวาย เป็นไข้ทั้งที่ตัวเย็นชืดเหมือนคนกำลังฝันร้ายจะนั่งหรือเดินอย่างไร ก็ไม่เป็นสุข
เวลาล่วงมาอีกสองวัน บังเอิญเด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินผ่านมาทางห้องที่เว่ยหล่างตำข้าวอยู่ เด็กคนนั้น ได้เดินท่องโคลงของชินเชา ที่จำมาจากฝาผนังอย่างดังๆ พอได้ยินโคลงนั้นเว่ยหล่างก็ทราบได้ทันทีว่าผู้แต่งโคลงนั้น ยังไม่ใช่ผู้เห็นแจ้งในจิตเดิมแท้
เว่ยหล่างถามเด็กนั้นว่า "โคลงอะไรกันนี่"

เด็กหนุ่มตอบว่า "ท่านคนป่า ท่านไม่ทราบเรื่องโคลงนี้ดอกหรือ พระสังฆนายกได้ประกาศแก่ศิษย์ทั้งหลายว่า ผู้ใดปรารถนาจะได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์และธรรมะ จะต้องเขียนโคลงให้ท่านโคลงหนึ่ง ผู้ที่รู้แจ้งจิตเดิมแท้ จะได้รับมอบของเหล่านั้น และได้เป็นสังฆนายกองค์ที่หก ท่านชินเชาศิษย์อาวุโส ได้เขียนโคลงนี้ไว้ที่ผนัง ทางเดินด้านทิศใต้ และพระสังฆนายกให้สั่งให้พวกเราท่องบ่นโคลงอันนี้ไว้ และท่านยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า ผู้ใดเก็บเอาคำสอนนี้ไปปฏิบัติ ผู้นั้นจะได้รับอานิสงส์เป็นอันมาก จะพ้นจากทุกข์แห่งการเกิดในอบายภูมิ"

เว่ยหล่างได้บอกแก่เด็กหนุ่มคนนั้นว่า ตนก็ปรารถนาที่จะท่องบ่นโศลกนั้นเหมือนกัน เผื่อว่าในภพเบื้องหน้า จะได้พบคำสอนเช่นนั้นอีก แม้ตนตำข้าวอยู่ที่นี่ตั้งแปดเดือนมาแล้ว ก็ไม่เคยเดินผ่านไปแถวช่องทางเดินเหล่านั้นเลย ให้เด็กหนุ่มพาไปที่โคลงนั้นเขียนไว้บนผนัง เพื่อให้มีโอกาสทำการบูชาโคลงนั้นด้วยตนเอง เด็กหนุ่มนั้นก็พาท่านไป ท่านขอร้องให้เขาช่วยอ่านให้ฟังเพราะท่านไม่รู้หนังสือ เจ้าหน้าที่ตำบลกองเจาคนหนึ่งเผอิญผ่านมา ได้ช่วยอ่านให้ฟัง เมื่อเขาอ่านจบ ท่านได้บอกแก่เขาว่า ท่านก็ได้แต่งโคลงไว้โคลงหนึ่งเหมือนกัน และขอให้เขาช่วยเขียนให้ด้วย เขาออกอุทานว่า "พิลึกกึกกือเหลือเกิน ที่ท่านก็มาแต่งโคลงกับเขาได้ด้วย"
เว่ยหล่างได้ตอบว่า .....

" ไม่มีต้นโพธิ์ ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด
เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว ฝุ่นจะลงจับอะไร"

เมื่อเขาเขียนโคลงลงที่ผนังแล้ว ทั้งพวกศิษย์และคนนอกทุกคนที่อยู่ที่นั่น ต่างพากันประหลาดใจอย่างยิ่ง จิตใจเต็มตื้นไปด้วยความชื่นชม เขาพากันกล่าวแก่กันและกันว่า "น่าประหลาดเหลือเกิน ไม่ต้องสงสัยเลย เราไม่ควรตัดสินใครว่าเป็นอย่างไร ด้วยการเอารูปร่างภายนอกเป็นประมาณ มันเป็นไปได้อย่างไรกันหนอ ที่เราพากันใช้สอยโพธิสัตว์ผู้อวตาร ให้ทำงานหนักให้แก่เรามานานถึงเพียงนี้ "

เมื่อพระสังฆนายกผ่านมาเห็นคนเหล่านั้นพากันเต็มตื้น ท่านจึงเอารองเท้าลบโคลง ของเว่ยหล่างออกเสีย เพราะถ้าไม่ทำดังนั้น พวกคนที่มักริษยาจะพากันทำร้ายเว่ยหล่าง พระสังฆนายกแสดงอาการบางอย่างออกมาเพื่อให้คนเหล่านั้นคิดว่า แม้ผู้ที่เขียนโคลงอันนี้ก็ยังไม่ใช่เป็นผู้ที่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้เหมือนกัน
วันรุ่งขึ้น พระสังฆนายกได้แอบมาที่โรงตำข้าวอย่างเงียบๆ ครั้นเห็นเว่ยหล่างตำข้าวอยู่ด้วยสากหิน ท่านเคาะครกตำข้าวด้วยไม้เท้า 3 ครั้ง แล้วก็ออกเดินไป

เว่ยหล่างทราบดีถึงการบอกใบ้นั้น ดังนั้นในเวลาสามยามคืนนั้น จึงไปที่ห้องท่าน ท่านใช้จีวรขึ้นขึงบังมิให้ใครเห็น ท่านได้อธิบายข้อความอันลึกซึ้งในวัชรสูตร ว่า เราควรจะใช้จิตของตน ในวิถีทางที่มันจะเป็นอิสระจากเครื่องข้องทั้งหลาย ท่านเว่ยหล่างก็ได้บรรลุธรรมโดยสมบูรณ์ และได้เห็นแจ้งว่า ที่แท้ทุกสิ่งก็คือตัวจิตเดิมแท้นั่นเอง
พระสังฆนายก ได้กล่าวว่าสำหรับผู้ที่ไม่รู้จักจิตใจของตนเอง ว่าคืออะไร ก็ป่วยการที่ผู้นั้นจะศึกษาพุทธศาสนา ตรงกันข้าม ถ้าผู้ใดรู้จักจิตใจของตนเองว่าเป็นอะไร และเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมชาติแท้ของตนเองคืออะไร ผู้นั้นคือยอดมนุษย์ คือครูของเทวดาและมนุษย์ คือพุทธะ


ธรรมะอันนั้นจึงตกทอดมายังเว่ยหล่างในคืนวันนั้น ได้เป็นทายาทผู้ได้รับสืบทอด คำสอนแห่งนิกายฉับพลัน พร้อมทั้งจีวรและบาตร อันเป็นเครื่องหมายตำแหน่งสังฆนายกแห่งนิกายเซนที่สืบลงมาตั้งแต่สังฆนายกองค์แรก
พระสังฆนายกได้กล่าวต่อไปว่า บัดนี้ ท่านเป็นสังฆนายกองค์ที่หก


ท่านต้องคุ้มครองตัวของท่านให้ดี จงช่วยมนุษย์ให้มากพอที่จะช่วยได้ จงทำการเผยแพร่คำสอน และสืบอายุคำสอนไว้อย่าให้ขาดตอนลงได้แต่สำหรับผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรนี้อาจเป็นต้นเหตุแห่งการยื้อแย่งเถียงสิทธิกันขึ้น ท่านเป็นคนสุดท้ายที่ได้รับมอบในเวลานี้ ท่านควรมอบมันแก่ผู้ที่จะรับสืบต่อจากท่านได้ ชีวิตของท่านกำลังล่อแหลมต่ออันตราย จงเดินทางไปเสียจากที่นี่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้มิฉะนั้นจะมีคนทำอันตรายท่าน





ท่านเว่ยหล่างรับตำแหน่งพระสังฆนายกโดยที่ยังไม่ได้บวช หลังรับตำแหน่งต้องหนีภัยจากพระที่เป็นศิษย์พี่ ไปอยู่ในป่ากับพรานป่า 15 ปี ถึงได้กลับมาในเมืองแล้วบวช




พระสูตรทางพระพุทธศาสนานิกายเซนที่โด่งดัง และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ก็คือสูตรของท่านเว่ยหล่าง ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ เป็นเรื่องของการใช้ปัญญาเพื่อแสวงหาหนทางแห่งความเป็นพุทธะ เพื่อความหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เคยมีคนที่สวดมนต์ชี้คำหลายคำในคัมภีร์ที่ไม่เข้าใจความหมายแล้วถามท่านเว่ยหล่าง ท่านยิ้มแล้วตอบว่า“ข้าพเจ้าไม่รู้หนังสือ ท่านถามมาเลยดีกว่า"
คนๆนั้นรู้สึกแปลกใจแล้วพูดขึ้นว่า
“ท่านอ่านหนังสือไม่ออก ท่านจะเข้าใจความหมาย เข้าใจหลักธรรมได้อย่างไร”

ท่านเว่ยหล่างตอบว่า“หลักธรรมของพุทธะ กับตัวหนังสือไม่เกี่ยวกัน ตัวหนังสือเป็นเพียงเครื่องมือที่จะเรียนรู้ สิ่งที่จะเข้าใจหลักธรรมคือจิต คือตัวรู้ ไม่ใช่ตัวหนังสือ"
ท่านสอนว่าจิตเดิมแท้ของเราซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ของการตรัสรู้นั้น เป็นของบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ และต้องอาศัยจิตเดิมแท้นี้เท่านั้น จึงจะเข้าถึงความเป็นพุทธะได้โดยตรง


ในบรรดาคนที่สกดรอยสะกดรอยติดตามท่านเว่ยหลางมานั้น ภิกษุไวมิง ( Hui ming )เป็นคนที่สะกดรอยเก่งที่สุด ท่านเว่ยหล่างได้กล่าวกับภิกษุไวมิงว่า "เมื่อความประสงค์แห่งการมาเป็นความประสงค์เพื่อจะฟังธรรมแล้ว ก็จงระงับใจไม่ให้คิดถึงสิ่งใดๆ แล้วทำใจของท่านให้ว่างเปล่า เมื่อนั้นข้าพเจ้าจึงจะสอนท่าน เมื่อท่านทำในใจไม่คิดทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วแล้ว ในเวลานั้นเป็นอะไร นั่นคือธรรมชาติแท้ของท่านมิใช่หรือ"พอภิกษุไวมิงได้ฟังดังนั้น ท่านก็บรรลุธรรมทันที

นิกายเซนให้ความสนใจที่ ธรรมชาติแท้ ของตัวเองหรือหน้าตาดั้งเดิมของตัวเอง โดยการคุ้ยเขี่ยด้วยเรื่องการเห็นแจ้งชัดในจิตเดิมแท้ โดยไม่จำเป็นต้องให้คำสอนอะไรอีกเลย เพราะธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะมีอยู่ในคนทุกคน เป็นของไม่ดีไม่ชั่ว
สัมมาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่เลิศเหนือโลก
มิจฉาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่ข้องอยู่ในโลก
เมื่อใดทิฏฐิทั้งสองอย่าง ไม่ว่าสัมมาทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิ ถูกสลัดพ้นออกไป
เมื่อนั้นพุทธแท้ ย่อมปรากฏ ที่เรียกว่าการเกิดฉับพลัน

ฮวงโป (Huang Po
หรือ Huangbo Xiyun)

เป็นศิษย์รุ่นสอง ของเว่ยหล่าง
เมื่อเว่ยหล่าง สังฆปริณายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซน ได้รับการถ่ายทอดธรรมโดยตรง ที่เรียกว่า จากจิตถึงจิต จากพระสังฆนายกองค์ที่ 5 แล้ว นิกายเซนก็แตกออกเป็น 2 สาย สายเหนือนำโดย ชินเชา คู่แข่งของเว่ยหล่าง สอนวิธีปฏิบัติการตรัสรู้อย่างเชื่องช้าคือ ค่อยเป็นค่อยไป เจริญรุ่งเรืองอยู่พักหนึ่งโดยราชูปถัมภ์ของพระจักรพรรดิ ตั้งอยู่ไม่นานก็เงียบหายไป ส่วนสายใต้ คือสายของเว่ยหล่าง สอนวิธีการปฏิบัติที่เป็นการตรัสรู้ฉับพลัน จนได้นามว่าสำนักฉับพลัน ได้เจริญรุ่งเรืองและขยายตัวออกมาจนแตกเป็นนิกายย่อยๆลงไป


ศิษย์คนสำคัญองค์หนึ่งของเว่ยหล่างมีนามว่า มา ตสุ หรือมาซู(Ma-tsu Ta-chi or Mazu ญี่ปุ่นเรียก บาโซ Baso)ต้นตำหรับตรัสรู้แบบฉับพลัน ได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อปีพศ. 1331 ฮวงโป เป็นศิษย์รับช่วงต่อจากท่าน มา ตสุ ท่านฮวงโปมรณภาพในปี พศ. 1393




คำสอนสำคัญ
ของท่านฮวงโป


-จิตหนึ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งปวงและสัตว์โลกทั้งมวล ไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากเป็นเพียง จิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่ง นี้แล้ว มิได้ มีอะไรตั้งอยู่เลย
จิตหนึ่ง ที่ไม่มีการตั้งต้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น และไม่อาจจะถูกทำลายได้ ไม่ใช่สิ่งของ และไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ ไม่มีการตั้งอยู่ ไม่มีขอบเขต วัดไม่ได้ ไม่มีชื่อ ไม่มีร่องรอยไว้ และไม่มีการเปรียบเทียบ เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตำตาอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องใช้เหตุผลอธิบาย เหมือนความว่างที่ไม่มีขอบเขต

จิตหนึ่งนี้เป็น พุทธะ ไม่มีความแตกต่างระหว่างพุทธะกับสัตว์โลกทั้งหลาย แต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลาย ไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่างๆ จึงได้แสวงหาพุทธะภาวะจากภายนอก การแสวงหาเหล่านี้ ทำให้พลาดจากพุทธภาวะ เท่ากับใช้สิ่งซึ่งเป็น พุทธะ ให้เที่ยวแสวงหา พุทธะ และใช้จิตให้เที่ยวจับฉวยจิต แม้จะพยายามจนสุดความสามารถ ก็จะไม่สามารถบรรลุถึงมันได้เลย เขาไม่รู้ว่า ถ้าเพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวายเพราะการแสวงหา พุทธะก็จะปรากฏตรงหน้าเขา เพราะว่า จิตนี้ก็คือ พุทธะ นั่นเอง และ พุทธะ ก็คือ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง นั่นเอง ที่ปรากฏอยู่เป็นธรรมดาสามัญ ไม่ใช่สิ่งเล็กน้อยและไม่ใช่สิ่งใหญ่หลวง

-ไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร

เมื่อจิตหนึ่ง หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพุทธะทั้งหลายมีอยู่เป็นปกติแล้ว ก็ไม่ควรพยายามจะเพิ่มเติมอะไรให้แก่สิ่งซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้วนั้น ด้วยการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ได้แก่ ทาน ศีล ขันติ ความเพียร สมาธิและปัญญา หรือการได้บุญมากมายนับไม่ถ้วนซึ่งไร้ความหมาย เมื่อไรโอกาสอำนวยให้ทำ ก็ทำไป และเมื่อโอกาสผ่านไปแล้ว อยู่เฉยๆ ก็แล้วกัน เพราะ จิต นั้น คือ พุทธะ ถ้ายังยึดมั่นถือมั่น ต่อรูปธรรมต่างๆ ต่อวัตรปฏิบัติต่างๆ และต่อพิธีการบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ แนวความคิดก็ยังไม่เข้าร่องเข้ารอยกับทางแห่งพุทธะ การปรุงแต่งความคิดฝันไปต่างๆนานาเท่ากับไปผูกพันตัวเองกับเปลือกกระพี้เท่านั้น


การปฏิบัติต่างๆ ด้วยเจตนาที่จะได้เป็นพุทธะนั้น เป็นการปฏิบัติแบบคืบหน้าไปทีละขั้น แต่พุทธะ ซึ่งมีอยู่ตลอดเวลากาลไม่ใช่พุทธะที่บรรลุถึงได้ด้วยการปฏิบัติเป็นขั้นๆ เพียงแต่ตื่นและลืมตาก็จะเห็นได้เลย ไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร พุทธะและสัตว์โลกทั้งหลาย คือจิตหนึ่งเดียวกัน เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรอื่นนอกไปจากนี้อีกเลย



-เซนไม่พึ่งพิงคัมภีร์หรือตัวอักษร

มีอำมาตย์ท่านหนึ่งในราชวงศ์ถัง นอกจากเป็นผู้มีชื่อเสียงแล้ว ยังปฏิบัติธรรมในแนวนิกายเซน ท่านสนใจและชอบค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับนิกายเซน และยังชอบจดบันทึกเรื่องราวการปฏิบัติธรรมของตัวเองไว้ แล้วรวบรวมทำเป็นเล่ม วันหนึ่ง ท่านนำหนังสือที่รวบรวมไว้ไปให้ท่านฮวงโปอย่างนอบน้อม เพื่อขอคำชี้แนะจากท่าน ฮวงโป โดยไม่นึกว่าท่านฮวงโปเมื่อรับไปแล้วโยนไปไว้บนโต๊ะอย่างไม่ไยดี ท่านอำมาตย์รู้สึกกระอักกระอ่วนใจ พลางนึกว่าท่านฮวงโปคงตำหนิที่ไม่ได้นำอะไรติดมือมาด้วย


ขณะที่กำลังเอ่ยปากจะพูด ท่านฮวงโปก็บอกว่า “เจ้าเข้าใจความหมายที่ทำหรือไม่” “ไม่เข้าใจ” ท่านอำมาตย์ตอบ ท่านฮวงโปพูดต่อว่า “เซนเป็นการสืบทอดนอกขอบข่ายของศาสนา ไม่พึ่งพิงตัวอักษร แล้วเจ้าทำไมถึงนำหลักธรรม มาทำเป็นตัวอักษร เป็นหนังสือ นี่ไม่ใช่เป็นการทำลายหลักธรรมอันแท้จริงหรอกหรือ”

-พระอรหันต์จี้กง ( Jigong )



พระจี้กง เป็นอรหันต์ในศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่เป็นพระอรหันต์ที่แปลกประหลาด จนผู้คนให้ฉายานามว่า พระบ้า หรือ พระเพี้ยน เพราะเป็นพระที่รับประทานเนื้อสัตว์ ดื่มสุราเป็นประจำ สวมรองเท้าสานขาดๆ ถือพัดใบลานที่เป็นรู ใส่เสื้อผ้ารุ่งริ่ง มีหมวกเก่าๆใบเล็ก ไม่มีความสำรวม ผิดกับพระสงฆ์ทั่วไปโดยสิ้นเชิง


พระจี้กง มีชีวิตอยู่ระหว่าง พศ. 1691 - 1752 ในสมัยราชวงศ์ซ่ง หรือก่อนสมัยสุโขทัย เดิมชื่อหลี่ซินหย่วน เกิดที่มณฑลเจ้อเจียง ในตระกูลของผู้มีอันจะกิน หลังจาก บิดามารดาเสียชีวิต จี้กงก็ตัดสินใจละทางโลก ออกบวชที่วัดหลิงอิ่น(Lingyin) เมืองหางโจว(Hangzhou) โดยได้ฉายานามว่า เต้าจี้ (Daoji)

หลังจากออกบวช และ ต่อมามีพฤติกรรมพิเรนผิดกับพระทั่วไป จนเป็นที่ติฉินนินทาของพระสงฆ์รูปอื่นๆ แต่พระอาจารย์ กลับทราบดีว่า แม้ภายนอกจี้กงจะมีกิริยาไม่สำรวม ทั้งผิดศีล เล่นซุกซนกับเด็กๆ ดื่มสุรา บริโภคเนื้อสัตว์ ดังคำว่า"ร่ำสุรา ร่ายธรรมะ ปัดเป่าพิบัติ ขจัดทุกข์ภัย" แต่พระจี้กงกลับเป็นบุคคลที่บรรลุธรรมแล้ว

บางครั้งพระจี้กงก็แสร้างทำเป็นบ้า บางคราวก็ทำเป็นคนปกติ บางทีก็ทำตัวง่ายๆ แต่บางโอกาสก็ทำจริงจิง ยารักษาโรคสารพัดนึกก็ทำมาจากคราบไคลของตัวท่านเอง บางเวลาท่านก็เป็นหมอทางเวทย์มนต์ที่ไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง การกระทำหลายๆอย่างของจี้กง แม้จะดูเหมือนผิดศีลธรรม ผิดประเพณีดั้งเดิม
แต่จุดมุ่งหมายและผลลัพธ์กลับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และ เกิดคุณประโยชน์



พุทธศาสนานิกายมหายานเชื่อกันว่า จี้กงเป็นอรหันต์ที่จุติมาเกิดอีกครั้งเพื่อสั่งสอนมนุษย์โลก ชาวบ้านหางโจวได้โยงเรื่องที่มาของยอดเขาบินที่วัดหลิงอิ่น (Linyin)เป็นนิทานพื้นเมืองของชาวหางโจว ที่เล่ากันว่าเดิมยอดเขาประหลาดดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณแถบตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวน



เช้าวันหนึ่งเมื่อพระจี้กง มีญาณบอกล่วงหน้าว่า ราวเที่ยงวันยอดเขาดังกล่าวจะบินมาตกทับหมู่บ้านข้างวัดหลิงอิ่น จะทำให้มีผู้คนเสียชีวิตมากมาย พระจี้กงได้วิ่งเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อบอกถึงมหันตภัยดังกล่าวให้ชาวบ้านได้ทราบ เพื่อที่จะได้พากันอพยพไปยังที่ปลอดภัย
"เที่ยงวันจะมีภูเขาหล่นลงมาทับหมู่บ้าน ทุกคนรีบเก็บข้าวของเร็ว ไม่งั้นก็ไม่ทันแล้ว"

พระจี้กงกระหืดกระหอบ ตะโกนบอกชาวบ้านไปทั่ว แต่ชาวบ้านมองว่า จี้กง เป็นเพียงพระบ้ารูปหนึ่งที่กล่าวอะไรไร้สาระไปวันๆ ทุกคนจึงส่ายหัว พร้อมกับด่าทอว่า "พระบ้าเอ้ย จะหาเรื่องอะไรมาเล่นสนุกอีกละ ภูเขาบินมีที่ไหนกันเล่า"
พอดีในวันนั้นมีการจัดงานมงคลสมรส มีเสียงของงานรื่นเริงดังขึ้นที่มุมหนึ่งของหมู่บ้าน เมื่อจี้กงเห็นว่าไม่มีใครยอมเชื่อสิ่งที่ตนเองกล่าวเตือน จึงตัดสินใจแอบเล็ดลอดเข้าไปในงาน แล้วอุ้มเจ้าสาวหนีออกจากงาน จี้กงอุ้มเจ้าสาวและวิ่งอย่างว่องไวออกไปนอกหมู่บ้าน ขณะที่ชาวบ้านที่มาร่วมงานต่างก็วิ่งไล่จับ พร้อมกับตะโกนป่าวร้อง ให้ทุกคนช่วยกันคว้าตัว
'พระบ้าขโมยเจ้าสาว' แต่จี้กงก็มีฝีเท้าเร็วพอที่จะไม่ถูกใครไล่ตามจับได้ทัน ผู้คนทั้งหมู่บ้านพากันวิ่งไล่ตาม ออกมาไกลสิบกว่าลี้หรือราวห้ากิโลเมตรจนกระทั่งเลยรัศมีของยอดภูเขามหันตภัย จี้กงจึงวางเจ้าสาวลง

เมื่อหยิบพัดใบลานขึ้นมาโบกคลายร้อนก็บังเกิดเสียงดังลั่นสนั่นพสุธา ยอดเขาตกลงมาทับหมู่บ้านอย่างที่คาดไว้
ชาวบ้านที่วิ่งตามมา เมื่อหันกลับไปมองเห็นภูเขายักษ์หล่นมาทับหมู่บ้านของตนเสียแบนราบก็ทราบว่าสิ่งที่จี้กงกล่าวเตือนนั้นเป็นความจริง ส่วนการที่จี้กงอุ้มเจ้าสาวหนีออกมาจากงานมงคลนั้นก็เพื่อช่วยชีวิตชาวบ้านทั้งหลายนั่นเอง แต่เมื่อเห็นบ้านช่อง ทรัพย์สมบัติถูกทับแบนอยู่ใต้ภูเขา


ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยก็เกิดความเสียดายและเศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้ ตีอกชกหัวกันเป็นพัลวัน จี้กงจึงหันไปกล่าวกับชาวบ้านเหล่านั้นว่า "ร้องไห้ไปทำไม พวกเจ้าที่ดินที่มัวแต่เสียดายสมบัติต่างก็ถูกทับจมอยู่ใต้ภูเขาไปแล้ว จากนี้ต่อไปทุกคนก็กลับไปทำไรทำนาของตัวเอง ทำเท่าไหร่ได้เท่านั้น ชีวิตก็ยังมี จะยังกลัวสร้างเรือนใหม่ไม่ได้ไปใย"
ชาวบ้านพอได้ยินก็สำนึกได้ว่าท่ามกลางความทุกข์ก็ยังพอมีประกายแสงแห่งความสุขเรืองรองอยู่บ้างท่ามกลางความสูญเสียอย่างน้อยที่สุดพวกตนก็ยังรักษาชีวิตให้รอดอยู่ได้



เมื่อเห็นชาวบ้านพอจะคลายทุกข์ลงได้แล้ว จี้กงก็รั้งเหล่าชาวบ้านเอาไว้ และกล่าวต่อว่า"อย่างเพิ่งไป ทุกคนฟังอาตมาก่อน ยอดเขาก้อนนี้เดิมลอยไปลอยมา จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง หลังทับทลายหมู่บ้านของพวกเราแล้วก็อาจจะบินไปทับหมู่บ้านอื่น อาจทำให้คนเสียชีวิตอีกมากมาย



อาตมาขอร้องให้พวกเราช่วยกันสลักพระอรหันต์ 500 องค์ไว้บนภูเขาลูกนี้เพื่อที่จะทำให้ภูเขาลูกนี้ไม่บินไปสร้างอันตรายให้กับผู้อื่นอีก"
ชาวบ้านได้ยินดังนั้นจึงรีบกลับไปช่วยกันสลักพระอรหันต์ 500 องค์ไว้บนยอดเขาบินกันคนละไม้ละมือ นับจากนั้น ยอดเขาดังกล่าวก็ไม่บินไปสร้างอันตรายให้ใครอีก และถูกเรียกขานกันต่อๆ มาว่า ยอดเขาบิน ณ วัดหลิงอิ่น


เล่ากันว่าพระจี้กงมีอิทธิฤทธิ์กว้างขวาง โปรดช่วยมวลมนุษย์มากมายโดยอาศัยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านพ้นภัยจากผู้ที่ดูภายนอกเหมือนผู้มีบุญแต่ใจบาป จี้กงจะใช้วิธีเล่นงานจนคนชั่วเหล่านั้นให้รู้สึกสำนึกตัว สำหรับผู้ที่โหดร้ายทารุณ จะถูกตอบโต้จนไม่สามารถจะอยู่ต่อไปได้ ทำให้ประชาชนอยู่อย่างสงบสุข ดังนั้น ประชาชนจึงสรรเสริญว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์


ตลอดชีวิตของท่าน ได้ช่วยเหลือและอบรมชาวบ้านโดยวิธีต่างๆกันมาตลอด ทั้งๆที่ท่านมีแต่จีวรขาดๆ รองเท้าขาดๆหนึ่งคู่ โดยไม่สนใจว่ามันจะเปื้อนโคลนหรือไม่ มือก็ถือพัดเล่มหนึ่ง ไม่กลัวทั้งที่ต่ำและที่สูง ศีรษะโล้น เท้าเปลือยเปล่า ไม่หนาวไม่ร้อน ไม่ต้องบิณฑบาต เพราะไม่หิวไม่กระหาย พบใครก็เอาแต่อมยิ้ม เพื่อจะได้แผ่บุญ ไม่หลบสังคม พบเสียงทุกข์ก็เข้าช่วยเหลือ ท่านมีจิตเมตตาไม่ถือสา การปรากฏตนของท่าน เอาแน่เอานอนไม่ได้ กิริยาล้วนเป็นปริศนาธรรม ธรรมะของท่านเป็นที่กล่าวขาน จนได้รับการยกย่องว่าเป็น พระอาจารย์ทางพระกัมมัฏฐาน แม้ท่านจะละสังขารจากโลกนี้ไปแล้วแต่ธรรมะท่าน ยังมีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์เสมอมา ดังนั้น จึงได้สมัญญาว่า เป็นพระพุทธที่ยังมีชีวิตอยู่

..........................

ไม่มีความคิดเห็น: