วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รู้ทันชั้น16/01 พระพุทธเจ้าสอนอะไร C2 1601

ฟังเสียง : http://www.mediafire.com/?jox59a09xs0bab9
หรือที่ : http://www.4shared.com/mp3/LaJc6Fxo/See_Thru_Floor_16_-1601__.html

..................

รู้ทันชั้น16/01

พระพุทธเจ้าสอนอะไร


เย ธัมมา เหตุปัปภวา

ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ


พระสารีบุตรหรืออุปติสสะมาณพในอดีตเคยถามพระอัสสชิภิกษุองค์หนึ่งในปัญจวัคคีย์ปฐมสาวกของพระพุทธองค์ว่า "ใครเป็นศาสดาของท่าน ศาสดาของท่าน สอนไว้ว่าอย่างไร
พระอัสสชิ ตอบว่า อาตมาเป็นพระใหม่ ไม่อาจตอบสาระธรรมที่ลึกซึ้งได้ แต่ได้แสดงธรรมสำคัญอันเป็นหัวใจพระศาสนา โดยย่อว่า...
เยธัมมา เหตุปัปภวา ..... ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ
พระตถาคตเจ้า ตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้นและความดับของธรรมเหล่านั้น

พระมหาสมณะ มีวาทะตรัสไว้ดังนี้
พระสารีบุตร ซึ่งกำลังแสวงหาธรรมแห่งการหลุดพ้น ได้ยินคำตอบเช่นนั้น ก็เกิดความรู้แจ้ง ได้บรรลุธรรม มีดวงตาเห็นธรรม มองเห็นว่า สรรพสิ่งทั้งหลายมีความเกิดเป็นธรรมดา

คาถา เย ธัมมา ซึ่งพระอัสสชิกล่าวนี้ มิได้หมายเฉพาะ แต่เรื่องอริยสัจสี่เท่านั้นแต่ยังหมายถึงหลักธรรมทั่วไปของพระพุทธศาสนา ที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล ผลที่ดีต่างๆ ล้วนเกิดจากเหตุที่ดี ส่วนผลที่ไม่ดี ก็ล้วนเกิดจากเหตุที่ไม่ดี
พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ไม่ได้สอนให้คนหวังความช่วยเหลือเอื้ออำนวยจากพลังภายนอก หรือพลังเหนือธรรมชาติในรูปใดๆก็ตาม แต่สอนให้เชื่อมั่นในหลักกรรม คือการกระทำของตนเอง คาถา เย ธัมมาจึงถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่เน้นเรื่องของความจริงแท้ที่เรียกว่าธรรมะ หรือ การใช้สติปัญญาพิจารณาหาแก่นแท้ของความจริงนั่นเอง

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รู้จักคิด การรู้จักคิดและวิเคราะห์ วิจารณ์อย่างรอบด้าน ทำให้เกิดปัญญา จนแตกฉาน เรียกว่าโยนิโสมนสิการ
โยนิโส มาจาก แปลว่า เหตุ ต้นเค้า แหล่งเกิด วิธี หรือทาง
มนสิการ แปลว่า การคิด คำนึง นึกถึง ใส่ใจ พิจารณา
โยนิโสมนสิการ แปลว่า การคิดคำนึงโดยแยบคาย คือคิดเป็น คิดถูกต้องตามความเป็นจริงอาศัยการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และคิดเชื่อมโยงตีความข้อมูลเพื่อนำไปใช้ต่อไป

พุทธศาสนาจึงเน้นเรื่องของความรู้ ความคิดและ สติปัญญา ดัง พุทธภาษิตที่ว่า
สัพพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง คือ การให้ความรู้คิดและสติปัญญาย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าการให้สิ่งของ หรือการให้คนได้มีโอกาสพัฒนาสร้างตนเองย่อมดีกว่าการรอรับแจกเงินหรือสิ่งของ
นัตถิ ปัญญา สมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี เมื่อมีสติปัญญาก็มองเห็นหนทางที่จะเดินไปข้างหน้า ถ้าไม่ใช้สติปัญญาชีวิตก็จะมืดบอด มองไม่เห็นทางออก

สุวิชาโน ภวัง โหติ แปลว่า ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ผู้มีความคิดมีสติปัญญาย่อมเป็นผู้เจริญ ประเทศที่เจริญก็ต้องเน้นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนได้มีโอกาสศึกษาพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ โดยไม่ปิดกั้นหรือเอาแต่โฆษณาว่าทั้งประเทศไทยมียอดอัจฉริยะอยู่เพียงผู้เดียวเก่งอยู่คนเดียวโยเธถ มารัง ปัญญาวุเธน แปลว่า พึงรบมารด้วยอาวุธ คือ ปัญญา ในการเอาชนะคนพาล ที่อาศัยทั้งการหลอกลวงและปราบปราม ก็ต้องอาศัยการให้ความรู้ความคิดให้เกิดสติปัญญา แสดงให้เห็นถึงแก่นแท้หรือหรือธาตุแท้ ให้เห็นสาระประโยชน์ที่แท้จริง ปัญญาจึงเป็นอาวุธสำคัญที่พวกมารลวงโลกกลัวที่สุด

สำหรับพระรัตนตรัยนั้น หัวใจที่แท้มีเพียงสิ่งเดียว คือพระธรรม คนเป็นพระพุทธเจ้าได้ ก็เพราะตรัสรู้หรือค้นพบพระธรรมซึ่งมีอยู่ในตน พระธรรมคือกฏความจริงที่มีอยู่คู่กับโลก พระสงฆ์ก็คือผู้ที่น้อมนำพระธรรมมาสู่ตนตามที่พระพุทธเจ้าได้สอนสั่ง

การประสูติ ตรัสรู้และปรินิพาน หมายถึง การเกิดทางธรรม และการดับสิ้นกิเลสทางธรรม ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกัน คือเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้จึงเกิดเป็นการประสูติหรืออุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า พร้อมกับการดับสิ้นกิเลสคือปรินิพพานในเวลาเดียวกันจึงตรงกันเมื่อคืนวันเพ็ญเดือนหกที่เรียกว่าวันวิสาขบูชา ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พุทธศาสนาถือธรรมเป็นใหญ่ ใช้ธรรมหรือกรรม เป็นเครื่องจำแนก ดังพุทธภาษิตว่า กัมมุนา วัตตติโลโก ที่ว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม มิใช่เป็นไปเพราะชาติกำเนิดหรือกรรมแต่ชาติปางก่อนอย่างในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู
ไตรลักษณ์ หรือ ความจริงแท้ของโลกสามประการ

ความจริงของสิ่งทั้งหลาย หรือ กฎธรรมชาติก็คือ ทุกสิ่งเป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่คงที่ เกิดแล้วดับไปเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็น ทุกขัง คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อยู่ในภาวะขัดแย้ง และเป็น อนัตตา ไม่เป็นตัวตนของใครที่จะไปสั่งบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้ เราจะยึดถือครอบครองไม่ได้ เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เป็นเพียงสภาวธรรม

สำหรับ ทุกขัง มักเข้าใจกันว่าเป็นความไม่สบายกายหรือไม่สบายใจ ที่จริงทุกขังเป็นสภาพตามธรรมดาหรือสภาวะตามธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย ที่ไม่สามารถคงอยู่ในสภาพเดิม มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ที่เกิดดับกดดันขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถคงสภาพเดิมได้ เมื่อเราใช้คำว่าทุกขังกับภาวะในใจคน มีความหมายว่า เป็นภาวะจิตใจที่ถูกกดดันบีบคั้น ไม่สบาย
เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนตฺตา ถ้าเราเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลาย ด้วยอวิชชา ตัณหา อุปทาน ก็จะเกิดปัญหาขึ้นกับชีวิตของตัวเองทันที

อวิชชา คือ ภาวะที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ
ตัณหา คือ ความอยาก ความปรารถนาต่อสิ่งต่าง ๆ โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจ
อุปาทาน คือ การเข้าไปยึดมั่น ถือมั่น ให้เป็นอย่างที่ตัวต้องการ เอาความปรารถนาของตนเป็นตัวกำหนด
ในทางตรงข้าม ถ้าเรารู้ทันความจริงของโลก ใช้ความรู้จริงและปัญญาโดยอาศัยตัณหาน้อยลงตามลำดับ จนกระทั่ง อวิชชา หมดไป ก็ไม่มีทุกข์เกิดขึ้นอีก นี่คือหลักการสำคัญทางพุทธศาสนา ดังพุทธภาษิตว่า พระตถาคต สอนแต่เรื่องความทุกข์ กับ ความพ้นทุกข์ เท่านั้น

ปกติคนเรามีอวิชชา ตัณหาและอุปาทานอยู่แล้ว ตามสัญชาติญาณที่มีมาตั้งแต่เด็ก ที่กล่าวว่าอวิชชาทำให้เกิดสังขาร คือ ความไม่รู้ทำให้เกิดการปรุงแต่ง มีความอยาก แล้วก็ทำตามที่อยาก สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง แล้วก็เกิดความอยากให้มากขึ้นไปอีก หรือดิ้นรนต่อไปจนกว่าจะได้ผลตามที่อยาก วนเวียนเป็นวงจรที่เรียกว่า วัฏฏสงสาร ซึ่งมีการนำไปขยายว่าเป็นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ชาติโน้น ชาตินี้ ชาตินั้นแต่อย่างเดียว คนเราต้องทนทุกข์ทรมาน ก็เพราะติดอยู่ในวงกลมนี้เอง ถ้าใครหลุดออกไปจากวงกลมนี้ได้ ก็เป็นอันว่าพ้นไปจากความทุกข์ที่เรียกว่านิพพาน แปลว่า ดับเย็น สงบเย็น หรือทำให้เย็นลง

ความอยากมีอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกเรียกว่า กามตัณหา อยากในสิ่งน่ารักใคร่พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อย่างที่สองเรียกว่า ภวตัณหา คือความอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่ตนอยากจะเป็น อย่างที่สามเรียกว่า วิภวตัณหา คือความอยากไม่ให้มีอย่างนั้น ไม่ให้เป็นอย่างนี้ เมื่อมีความอยากที่ไหน ก็มีความร้อนใจที่นั่น และเมื่อต้องกระทำตามความอยาก ก็ย่อมมีความทุกข์ตามส่วนของการกระทำ ได้ผลมาแล้วก็หยุดอยากไม่ได้ คงอยากต่อไป ต้องมีความร้อนใจต่อไปอีก เพราะยังไม่เป็นอิสระจากความอยาก ยังต้องเป็นทาสของความอยาก ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า คนชั่วทำชั่วเพราะอยากทำชั่ว มีความทุกข์ไปตามประสาคนชั่ว คนดีอยากทำดีตามประสาของคนดี มีความทุกข์ไปตามประสาคนดี

ความทุกข์จึงมีอยู่หลายระดับ เราจะพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงด้วยการกระทำความดีอย่างเดียวเท่านั้นยังไม่พอ ยังจะต้องทำจิตให้หลุดพ้นไปจากการเป็นทาสของความอยากทุกชนิด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา พระอรหันต์ คือ ผู้ที่พ้นจากวังวนแห่งทุกข์ มีการกินการอยู่การทำงานด้วยสติสัมปชัญญะมิใช่ด้วยกิเลสตัณหา ยังทำอะไรๆได้ เป็นอะไรๆได้ ยังทำงานมากกว่าคนทั่วไปด้วยอำนาจของปัญญา คือความรู้ที่แจ่มแจ้ง ไม่อยากได้อะไร ไม่อยากเอาอะไร ผลจึงไปได้แก่คนทั้งหลายเหล่าอื่น ท่านมีปัญญาเป็นเครื่องบอกว่า สิ่งนี้ควรจะทำแทนที่จะอยู่เฉยๆ เพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย

ร่างกายและจิตใจที่ปราศจากกิเลสตัณหา ก็แสวงหาและบริโภคด้วยปัญญา ไม่แสวงและบริโภคด้วยกิเลสตัณหาเหมือนแต่ก่อน เมื่อเราหวังจะเป็นผู้พ้นทุกข์เราก็ควรฝึกฝนตัว ในการที่จะทำด้วยปัญญา อย่าทำด้วยอำนาจกิเลสตัณหา ด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในหน้าที่ของตน และทำให้ดีที่สุด ด้วยความเยือกเย็นเท่าที่สติปัญญาจะอำนวยให้


ความชั่ว ก็มาจากความอยากมี อยากเป็น ด้วยอำนาจกิเลสตัณหา ความดีทั้งปวงก็ทำกันด้วยตัณหาชนิดที่ดี ที่ประณีตละเอียดสูงขึ้นไป เป็นความอยากมี อยากเป็นในชั้นดี แต่ก็ยังไม่พ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่พ้นทุกข์ถึงที่สุด จึงเป็นผู้ที่หมดจากการกระทำด้วยอำนาจของตัณหา กลายเป็นบุคคลที่ทำชั่วทำดีไม่ได้ คือมีใจเป็นอิสระอยู่เหนือการครอบงำในค่าของความชั่วและความดี ท่านจึงไม่มีความทุกข์เลย

ความเข้าใจที่ผิด
เกี่ยวกับพุทธศาสนา


พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม คือเห็นพระพุทธองค์ ซึ่งมีอยู่ในตัวของทุกคนอยู่แล้วตลอดเวลาและมีผลปรากฏเป็นการไม่เบียดเบียนใคร แต่ทุกคนได้รับประโยชน์ โดยมีบทสรรเสริญพระธรรมคุณ 6 ประการ ที่ขึ้นต้นว่า -สฺวากขาโต ภควตา ธัมโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว


สันทิฏฺฐิโก อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล ไม่ขึ้นกับกาลเวลา บรรลุได้ทันที เห็นผลได้ทันที เป็นจริงอยู่ อย่างนั้นตลอดเวลา
เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู ชวนให้มาชม พิสูจน์ตรวจสอบได้
โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ หรือน้อมใจเข้าไปให้ถึง
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน ทำให้กันไม่ได้ เอาจากกันไม่ได้

แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีการเปลี่ยนแปลง หรือเพี้ยนไปมาก โดยเฉพาะในราวพ.ศ.956 มีการชำระอรรถกถา หรือคำอธิบายที่เขียนกันขึ้นมาจากภาษาสิงหล กลับสู่ภาษาบาลีที่ลังกา แล้วเผาต้นฉบับเดิมเสีย โดยพระพุทธโฆสาจารย์ ชาวอินเดีย ผู้เป็นยอดแห่งพระอรรถกถาจารย์หรือผู้แต่งและอธิบายพระไตรปิฏกสมัยพระเจ้ามหานาม

ท่านพระพุทธโฆสาจารย์ผู้นี้เป็นพราหมณ์โดยกำเนิด จึงนำเรื่องของพราหมณ์หลายเรื่อง เช่น เรื่องนรก สวรรค์ เรื่องพระราหูจับพระอาทิตย์พระจันทร์ เป็นต้น เข้ามาปนอยู่ในพระไตรปิฎก ถึงกับบรรจุเข้าในพระพุทธโอษฐ์ หรือคำตรัสของพระพุทธองค์ อาจด้วยความหวังดี ที่จะให้คนละบาป บำเพ็ญบุญ เพราะเข้ากับความเชื่อถือของคนในครั้งนั้น


เช่นเดียวกับคำว่า เทวดา นรก สวรรค์ ฤทธิ์เดชอภินิหาร ที่มามีอยู่ในพระพุทธภาษิต และอยู่ในพระไตรปิฎก ก็เพราะประเทศอินเดียสมัยนั้น มีความเชื่อเรื่องเทวดา เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ อยู่ก่อนแล้ว พระพุทธองค์ไม่ไปเสียเวลาหักล้าง พิสูจน์ให้คนโง่เห็นก็คงไม่ได้




เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงพลอยตรัสเออออไปตามคำที่พูดๆกันอยู่ แต่ก็ทรงแสดงสิ่งที่ดีกว่า ให้เขาเลิกละความสนใจหรือติดแน่น ในนรก สวรรค์ เทวโลก พรหมโลก เหล่านั้นเสีย โดยหันมาเอาสิ่งที่ดีกว่า คือ เรื่องการดับทุกข์ ไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์เรื่องเทวดา นรกสวรรค์ว่ามีจริงหรือไม่อย่างไร เพราะพิสูจน์ไม่ได้ และเขาเชื่อเขาปฏิบัติกันมานานแล้วก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ใครที่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ งมงายไปตามผู้อื่นว่า ก็เป็นการถูกหลอก หรือ แม้แต่ถูกเขาบังคับกระแสจิตให้เห็นได้ทางปาฏิหาริย์ ก็ยังเป็นการถูกหลอกอย่างลึกซึ้งอยู่นั่นเอง

พระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้า
พระธรรมคือตัวแทนพระพุทธเจ้า


หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปร่วม 300 ปี ไม่มีภาพพุทธประวัติ เพราะประเทศอินเดียในยุคอุปนิษัทของอินเดีย คือประมาณ 200 ปีก่อนและหลังพุทธกาล ไม่นิยมการไหว้รูปศักดิ์สิทธิ์ในหมู่ชนที่มีวัฒนธรรมซึ่งสนใจศึกษาค้นหาสัจจธรรมเป็นหลัก พระพุทธองค์ก็ทรงเน้นว่า พระธรรม คือ ตัวแทนของพระองค์ ต่อมาจึงเริ่มมีพุทธประวัติในประเทศอินเดียเป็นครั้งแรก ราว พ.ศ.300 ถึง 600 โดยไม่มีรูปพระพุทธองค์ หลังจาก พ.ศ. 600 เศษเป็นต้นมาจึงมีการทำภาพพุทธประวัติและมีพระพุทธรูปมาจนถึงปัจจุบัน

แต่คนส่วนใหญ่ในยุคต่อมา รู้สึกว่าธรรมะเป็นของยาก จึงหันมายึดติดในตัวพระองค์ ถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระเจ้า ยิ่งกว่าที่จะถือว่าพระองค์เป็นมนุษย์รรมดาที่ตรัสรู้ธรรม



เห็นพระพุทธรูปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ตนเอง เพื่อตัวเอง ด้วยตัวเอง จนนำไปสู่ลัทธิบูชาพระพุทธองค์อย่างพระเจ้า มีการกราบไหว้บูชาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเกี่ยวกับพระพุทธองค์ ยึดมั่นในพระสารีริกธาตุ คือเถ้ากระดูกของพระองค์ ในที่สุดก็ทำพระพุทธรูปขึ้นบูชาในลักษณะที่เป็นการถดถอยทางธรรมะ จนรกรุงรังไปด้วยพิธีรีตองทางวัตถุเกินกว่าความจำเป็น คือเกินกว่าที่จะเป็นเพียงสัญลักษณ์เพื่อการน้อมระลึกในทางธรรมเท่านั้น

กลายเป็นเครื่องปิดกลบธรรมะที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้จริงมากขึ้นทุกที จนมีผู้กล่าวว่า พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า เพราะหัวใจของธรรมะหรือตัวแท้ของพุทธศาสนา อยู่ที่การไม่ยึดมั่นถือมั่นให้มีอะไรเป็นบุคคลขึ้นมา ให้ว่างจากบุคคล คือให้เป็นสภาวธรรมที่แปรเปลี่ยนไปไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ขณะที่พระสงฆ์หลายแห่งการมุ่งแต่การสร้างโบสถ์วิหารที่ใหญ่โตวิจิตรพิสดาร พระชั้นผู้ใหญ่หลายคนทำตัวเป็นขุนนางรับใช้เจ้า บางคนก็อาศัยผ้าเหลืองในการทำมาหากิน แทนที่จะศึกษาและเผยแผ่สัจจธรรมที่นำไปสู่การดับทุกข์

เราต่างมีพระเจ้าทางใจองค์เดียวกัน

หัวใจหรือแก่นแท้ของพุทธศาสนาก็ไม่ต่างจากศาสนาที่สำคัญอื่นๆ คือให้เข้าถึงพระเจ้า ไม่ให้ยึดมั่นในตัวตนของตน มีความรักในเพื่อนมนุษย์ รักพระเจ้า รับใช้พระเจ้า เสียสละหรือสละความเห็นแก่ตัว พระเจ้าทางธรรมก็คือ ความสะอาดบริสุทธิ์ด้วยปัญญา ศาสนิกชนของทุกศาสนาต้องเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนา คือตายไปจากการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตน เป็นการเกิดใหม่ในดินแดนของพระเจ้า นั่นเอง

การสังคายนาพระไตรปิฎกพระไตรปิฎก ที่แปลว่า ตะกร้าสามใบที่รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้มีการสังคายนาหรือประชุมรวบรวมเรียบเรียงปรับปรุงหลายครั้ง มีมากถึง 84000 พระธรรมขันธ์ หรือ 84000 อย่าง ทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้ามีมากมายมหาศาลและผิดเพี้ยนไปจากเดิมมาก จนเหินห่างจากสัจจธรรมมากขึ้นไปทุกที

โดยเฉพาะในการสังคายนาครั้งที่ 6 ทำในศรีลังกา เมื่อ พ.ศ.956 พระพุทธโฆสา จารย์ซึ่งมีพื้นเพเป็นพราหมณ์ชาวอินเดีย ได้แปล และเรียบเรียงอรรถกถาคือ คำอธิบายพระไตรปิฎกจากภาษาสิงหลของลังกาเป็นภาษาบาลี
แม้พระไตรปิฎกจะเป็นหลักฐานชั้น 1 แต่พระพุทธองค์สอน ให้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล สอบสวนดูให้เห็นประจักษ์ด้วยตนเอง ให้เสรีภาพแก่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ ให้นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อได้ประจักษ์ผลนั้นๆ ด้วยตนเอง

ชาติก่อน ชาติหน้า หรือชาติไหน
คำว่า ชาติ คือ ความเกิด เราเกิดทางร่างกายคือเกิดจากท้องแม่ เกิดทีเดียวก็เสร็จไปตลอดชาติโดยผ่านเลยมานานแล้ว แต่ว่าการเกิดทางจิตใจนั้น เกิดได้เรื่อยไป วันหนึ่งเกิดได้หลายๆหน หรือ หลายสิบหน ต้องมีความทุกข์กันเรื่อยไป เป็นการเกิดทางใจคืออุปาทานที่ไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา ว่าของเรา เป็นสิ่งที่เราประจักษ์ได้มองเห็นกันได้ในปัจจุบัน เราจึงสามารถป้องกันแก้ไขมันได้ คือการดับทุกข์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีเหตุจากปัจจุบันคือความไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริง ไม่ใช่เคราะห์กรรมจากชาติก่อน เป็นการแก้ปัญหาที่ตัวต้นเหตุจริง พระพุทธเจ้าสอนว่าทุกข์เกิดจากการอวิชชาตัณหาและอุปาทาน ไม่ได้เกิดจากกรรมในชาติก่อนอย่างที่สอนกันในศาสนาพราหมณ์ และก็ต้องแก้ที่ต้นตอในชาตินี้ ไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้า

เรื่องบุญกรรม

เรื่องเวรเรื่องกรรม เป็นหลักที่มีมาก่อนพุทธกาล และมีกันทั่วไป ในหลายศาสนา หลักเรื่องกรรม จึงมิได้เป็นหลักสำคัญของพุทธศาสนา เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกายซึ่งเป็นเรื่องคู่กันมากับหลักกรรมก็ไม่ใช่หลักในพุทธศาสนา




คนในสมัยก่อนพุทธกาลเชื่อและสอนกันมาอยู่ก่อนแล้วว่า สัตว์หรือคนก็ตาม ตายแล้วเกิดใหม่ เรื่อยไปไม่สิ้นสุด คือมีตัวตนหรือวิญญาณที่ถาวร ซึ่งเวียนว่ายตายเกิดเรื่อยไปในวัฏฏสงสาร แต่การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นการค้นพบสัจจธรรม ให้คนเข้าถึงความจริงแท้ให้เลิกการยึดถือในตัวตน ปัญหาเรื่องการเกิด การตายและการเวียนว่ายไปในวัฏฏสงสารจึงหมดไปโดยปริยายเพราะแม้แต่ชาตินี้ก็ยังไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ชาติอื่นๆจะมีหรือไม่มีจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป

การเผยแพร่พุทธศาสนา ในระยะหลัง มักยกเอาเรื่องกรรม และการเกิดใหม่ หรือชาติหน้า ขึ้นมาเป็นเรื่องเอก หรือ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา ส่วนเรื่องอนัตตาความไม่ยึดมั่นถือมั่น กลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่กระจ่างชัดและมักจะไม่พูดถึง หรือกล่าวอย่างอ้อมแอ้ม คลุมเครือ ไม่แจ่มแจ้ง ผู้เผยแพร่พุทธศาสนาในลักษณะนี้ จึงเป็นคนไม่รู้จักพุทธศาสนา และ เป็นผู้ทำลายสัจจธรรมของพระพุทธเจ้า



การเข้าใจหลักของพุทธศาสนา อย่างผิดๆ ทำให้ไม่เข้าถึงจุดมุ่งหมาย อันแท้จริงของพุทธศาสนา นำผู้ปฏิบัติไปสู่ความงมงาย ทำให้เกิดการยึดมั่น ในแบบปฏิบัติ ตามความคิดเห็นผิดของตน ความงมงายนี้ มีได้ตั้งแต่ การทำบุญ ให้ทาน การรักษาศีล การถือธุดงค์ และ การเจริญกรรมฐานภาวนา คนก็ยึดมั่น ถือมั่นในการทำบุญให้ทานแบบต่างๆ ตามที่นักบวช โฆษณา อย่างนั้น อย่างนี้ ว่าเป็นตัวพุทธศาสนา

ที่สูงขึ้นหน่อย ก็ยึดมั่น ถือศีลเคร่งครัด ว่า นี้เป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา และ การยึดมั่นถือมั่น อาจมีมาก จนกระทั่ง ดูหมิ่นผู้อื่น ที่ไม่ยึดถืออย่างตน หรือ กระทำอย่างตน ส่วนนักปฏิบัติ ที่สูงขึ้นไปอีก ก็ยึดมั่นถือมั่น ในแบบของกรรมฐาน หรือวิธีแห่งโยคะที่แปลกๆ และทำได้ยาก ว่าเป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา

ความสำคัญผิด ของบุคคลประเภทนี้ มีมากจนถึงกับไปคว้าเอา วิธีต่างๆ ของโยคี นอกพุทธศาสนา ที่มีอยู่ก่อนพุทธศาสนาบ้าง ในยุคเดียวกันบ้าง และในยุคหลังพุทธกาลบ้าง เข้ามาใส่ไว้ในพุทธศาสนา จนเต็มไปหมด สมตามพระพุทธภาษิตที่ว่า "ไม่ใช่เพราะศีล หรือ เพราะการปฏิบัติอันแปลกประหลาด และการยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้น ที่คนจะบริสุทธิ์จากทุกข์ทั้งหลายได้ แต่ที่แท้ ต้องเป็นเพราะมีความเข้าใจถูกต้อง ในเรื่องของความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ในเรื่องความดับสนิทแห่งทุกข์ และวิธีดับความทุกข์นั้น" หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องถือเอา เรื่องของความทุกข์เป็นเรื่องสำคัญที่ตนจะต้องพิจารณาสะสาง หาใช่เริ่มจากความพอใจในสิ่งแปลกประหลาด ที่เขาเล่าลือกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และประเสริฐ

นี่เป็นความงมงายอย่างเดียวกัน ที่ทำให้คนหนุ่มๆ เข้ามาบวชในพุทธศาสนา ซึ่งส่วนมาก มาเพราะความยึดมั่นถือมั่นผิดๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยตนเองบ้าง โดยบุคคลอื่น เช่น บิดามารดาบ้าง หรือ โดยประเพณีบ้าง มีน้อยเหลือเกิน ที่บวช เพราะความเห็นภัยในความทุกข์ อย่างถูกต้องและแท้จริง เหมือนการบวชของคนในสมัยพุทธกาล เมื่อความตั้งใจหรือความมุ่งหมายไม่ถูกต้องแล้ว ก็ไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนาได้เลย

ยังมีความยึดมั่นถือมั่นที่ห่างไปไกลจากพุทธศาสนา ที่บางคนยืนยันว่า เขาเป็นชาวพุทธที่แท้จริง เพราะเขาเป็นมังสวิรัติ ที่งดเว้นการกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่พวกอาซิ้มที่ไหว้เจ้าตามโรงกินเจ นอกจากไม่รับประทานเนื้อสัตว์แล้ว ยังเว้นผักที่มีรสจัด หรือกลิ่นแรง อีกหลายชนิด ส่วนพวกมังสวิรัติ ไม่กินเนื้อสัตว์ก็จริง แต่ก็ยังกินไข่ กินนม และกินผักทุกชนิด นี่เป็นเพราะความยึดมั่นถือมั่น ในทางประเพณีแห่งพิธีรีตองที่ไม่เข้าถึงสัจจธรรมเลย


แม้ในหมู่คนที่อ้างตนว่าเป็นชาวพุทธ เป็นภิกษุ เป็นพระเถระ เป็นมหาเปรียญ เป็นคนสอนศาสนาพุทธแก่ประชาชน ก็ยังยืนยันว่า บ้านของชาวพุทธ ต้องมี ศาลพระภูมิไว้กราบไหว้บูชา ถ้าไม่ทำอย่างนั้น ก็เป็นคนนอกพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่ายังเข้าใจผิดและบิดเบือนพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก พุทธศาสนาของคนในยุคหลังจึงมีแต่พิธีกรรมและวัตถุศักดิ์สิทธิ์เท่านั้นเอง หลงกราบไหว้ ผีสางเทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก โดยคิดว่านั่นก็เป็นพุทธศาสนา แล้วก็สั่งสอนกันต่อๆไป โดยพวกที่ประชาชนเชื่อว่า รู้จักและเข้าใจพุทธศาสนาดีกว่าคนอื่น

คนบางพวก มีความยึดถือว่าการเข้าถึงพุทธศาสนาต้องทำตนให้เป็นผู้แตกฉานในคัมภีร์ หรือพระไตรปิฎก ต้องศึกษาพระคัมภีร์ให้หมดก่อนจึงจะเข้าใจพุทธศาสนาได้ ซึ่งไม่ถูกมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะถ้าใจของเราไม่รู้จักความทุกข์และการดับทุกข์แล้ว ก็ยากที่จะเข้าถึงธรรมได้ ยิ่งเมื่อไปยึดมั่นที่คัมภีร์หรือตัวหนังสือด้วยแล้ว ก็จะยิ่งกลายเป็นอุปสรรค ต่อการที่จะเข้าใจพุทธศาสนามากขึ้นไปอีก กลายเป็นคนบ้าตำรา มีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เพราะเราไม่จำเป็น จะต้องศึกษาเรื่องราว ทางพระคัมภีร์ ทางอภิธรรม อย่างมากมาย เพราะคัมภีร์เหล่านั้น เป็นที่รวมเรื่องต่างๆ ทั้งหมด หลายประเภท หลายแขนงด้วยกัน ในบรรดาเรื่องตั้งหลายพันเรื่องนั้น มีเรื่องที่เราควรขวนขวายให้รู้อยู่เพียงเรื่องเดียว คือ เรื่องการดับทุกข์โดยแท้จริง ซึ่งใช้เวลาในการศึกษาไม่นานนักสำหรับจะนำไปปฏิบัติ

ในสมัยพุทธกาล การเข้าถึงพระธรรมใช้เวลาไม่กี่นาที หรือไม่กี่วัน คือ ชั่วเวลาที่พระพุทธองค์ ทรงซักไซ้ สอบถาม แล้วทรงชี้แจงข้อธรรมะ ซึ่งถูกตรงกับสภาวะแห่งจิตใจของเขา เขาก็สามารถบรรลุธรรมะ อันเป็นตัวแท้ของพุทธศาสนาได้ ในที่ตรงนั้นในขณะนั้นนั่นเอง สัจจธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับยุคสมัยหรือกาลเวลา ใครมีต้นทุนที่เพียงพอ เขาก็สามารถเข้าถึงธรรมะได้ เพราะได้ฟังคำพูดแม้เพียงบางประโยคที่แสดงให้เห็นถึงสัจจธรรม

การมีต้นทุนมาแล้วอย่างเพียงพอ คือ มีความเจนจัด ในด้านจิตใจมาแล้วพอสมควร ได้เข้าใจชีวิตมามากแล้ว เริ่มมองเห็นความน่าเบื่อหน่ายของการตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ต้องทนทรมานอยู่อย่างซ้ำๆ ซากๆ รู้สึกอึดอัด เพราะถูกบีบคั้น และไร้อิสรภาพ มองเห็นชัดอยู่ว่า ตนยังปฏิบัติผิด ต่อสิ่งทั้งปวงอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเอาชนะกิเลสไม่ได้ เขารู้สิ่งต่างๆมามากแล้ว ยังเหลืออยู่เพียงจุดเดียว ที่เขายังค้นไม่พบ ซึ่งถ้าค้นพบเมื่อใด ก็จะพ้นทุกข์สิ้นเชิงได้โดยง่ายและทันที เหมือนเราคว้าพบสวิตช์ไฟฟ้าในที่มืด ฉันใดก็ฉันนั้น

ต้นทุนดังกล่าวนี้ ไม่ค่อยมีในคนที่มัวเมา สาละวนอยู่แต่เรื่องกิเลสตัณหา จนไม่ใส่ใจต่อความจริงของธรรมชาติ เราจึงต้องมีสติในการพิจารณามองดูตัวเอง มองดูชีวิต มองดูสภาวะ อันแท้จริงของชีวิต ให้รู้อยู่ตามที่เป็นจริง เรื่อยๆไป วันหนึ่งเราก็จะเกิดปัญญาบรรลุถึงธรรมะด้วยการกระตุ้นเพียงเพียงคำพูดบางคำหรือด้วยการได้เห็นรูปหรือได้ยินเสียงบางอย่าง ก็ทำให้เราบรรลุธรรมะได้ ตามวิธีง่ายๆเฉพาะตน ดังเรื่องของพาหิยะผู้ตรัสรู้เร็วพลัน ที่มีเรื่องเล่าว่า

พาหิยะเป็นพ่อค้า เดินทางค้าขายด้วยเรือสินค้าขนาดใหญ่ จนวันหนึ่งเกิดพายุหนักกลางทะเลจนเรือล่ม ทุกคนบนเรือตายหมด แต่พาหิยะคว้าไม้กระดานได้ ต้องลอยคออยู่กลางทะเลหลายชั่วโมง ขึ้นฝั่งมาได้ในสภาพไม่มีเสื้อผ้าติดกายเช่นเดียวกับชีเปลือย เดินเร่ร่อนมาถึงต้นไม้ต้นหนึ่งแล้วนั่งลง เอาเปลือกไม้มาทำเครื่องนุ่งห่มคลุมกาย

ชาวบ้านเห็นพาหิยะคิดว่าเป็นพระอรหันต์ที่ธุดงค์มา เข้าใจว่าการนุ่งห่มเปลือกไม้แสดงถึงความไม่ยึดมั่นถือมั่น จึงทดสอบด้วยการนำจีวรมาถวาย พาหิยะรู้ว่าถ้าตนรับผ้านั้นไว้ชาวบ้านก็จะไม่ศรัทธาจึงไม่ยอมรับผ้า ชาวบ้านเห็นดังนั้นพากันป่าวประกาศว่า มีพระอรหันต์เสด็จมาอยู่ที่หมู่บ้านนี้ ชาวบ้านจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ของกินของใช้ต่างๆมาถวายมากมาย เกิดลาภสักการะ พาหิยะปฏิเสธสิ่งของหรืออาหารบางอย่างที่ชาวบ้านถวายโดยให้เหตุผลว่า เป็นสิ่งเกินความจำเป็น การกินอยู่ก็เป็นไปเพื่อรักษาชีวิตเท่านั้น จึงขอบิณฑบาตอาหารเพียงเล็กน้อยก็พอ เสื้อผ้าจีวรต่างๆ ไม่มีความจำเป็นสำหรับเรา ชาวบ้านได้ยินแล้วก็ยิ่งเกิดศรัทธามากขึ้น พากันมากราบไหว้สักการะ ทำให้พาหิยะเกิดปีติสุข

ต่อมามีคนมาบอกพาหิยะว่า บัดนี้พระพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นแล้ว พาหิยะอยากพบและฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า จึงได้รีบเดินทางจนไปถึงที่พักของพระพุทธองค์ในตอนรุ่งเช้า ก็ทราบว่าพระพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาตอยู่ พาหิยะก็รีบวิ่งออกตามหาพระพุทธเจ้า เมื่อพาหิยะสักการะอย่างนอบน้อมแล้วอาราธนาให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่ตน

พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่สมควรจึงตรัสตอบว่า "ดูก่อนพาหิยะ เรากำลังบิณฑบาตอยู่ ท่านจงไปรอที่วัด เมื่อถึงวัดแล้วเราจะแสดงธรรมให้ฟัง" แต่พาหิยะไม่ยอม อาราธนาขอให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมตอนนั้นเลย เมื่อขอครั้งที่สองพระองค์ก็ทรงปฏิเสธดังเดิม พาหิยะก็ยังยืนยันอาราธนาให้พระพุทธองค์แสดงธรรมอีกเป็นครั้งที่สาม พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมสั้นๆว่า " ดูกรพาหิยะในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มี ในกาลใดท่านไม่มี ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ฯ"เมื่อฟังธรรมจบพาหิยะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงรับเป็นเอหิภิกขุ โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นอุปัชฌาย์
......

บางคนเข้าใจว่า พุทธศาสนามีไว้สำหรับคนที่เบื่อโลกแล้ว หรือ คนที่ละจากสังคม ไปอยู่ตามป่า ตามเขา ไม่เอาอะไรอย่างชาวโลกอีก ทำให้คนเกิดกลัวขึ้นมา ว่าจะต้องสลัดพ่อแม่ลูกเมียและทรัพย์สมบัติในโลกโดยสิ้นเชิง บางคนก็กลัวลำบากที่จะต้องไปอยู่ในป่า อย่างฤษี หรือพระธุดงค์ ส่วนคนที่ไม่กลัวก็กลับมีความยึดถือบางอย่างมากขึ้นไปอีก คือ ยึดถือเอาการอยู่ป่าอยู่ถ้ำ ว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด สำหรับผู้จะปฏิบัติธรรม จะมีความสำเร็จก็เพราะออกไปทำกันในป่าเท่านั้น

ความคิดเช่นนี้เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการปฏิบัติธรรมะ เพราะคนทั่วไปย่อมติดอยู่ในรสของกามคุณ ในบ้านเรือนทรัพย์สมบัติ และการเป็นอยู่อย่างโลกๆ พอได้ยินว่า จะต้องสละสิ่งเหล่านี้ไป ก็รู้สึกมีอาการเสียดาย และ กลัวอยู่ในใจ จึงไม่สามารถได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนา เพราะมีความคิดต่อต้านอยู่ในใจ อยากหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว



เมื่อคนคิดกันว่าจะเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนาได้ต้องไปอยู่ป่า จึงมีแต่การสอนการเรียน เพื่อประโยชน์แก่อาชีพหรือเพื่อผลทางวัตถุยไม่สนใจที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนาเพราะต้องทิ้งบ้านเรือนและครอบครัวออกไปอยู่ป่า จึงไม่อยากจะเกี่ยวข้องด้วย แล้วยังกีดกันลูกหลานไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะเกรงว่า จะถูกชักจูง หรือ เกลี้ยกล่อม ให้ไปหลงใหลอยู่ในป่า การที่พระพุทธองค์สรรเสริญภิกษุที่อยู่ป่า ก็เพียงแต่หมายเพียงว่า ป่าเป็นที่สงบจากการรบกวน ภิกษุในพุทธศาสนาก็ยังเกี่ยวข้องอยู่กับชาวบ้าน เพราะจะต้องช่วยเหลือชาวบ้านให้อยู่ในโลกได้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ คือ ให้รู้จักกินปลาโดยไม่ถูกก้าง ช่วยให้ชาวโลกไม่ต้องถูกก้างของโลกทิ่มตำ

ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ก็เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่กับโลกตลอดเวลา เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน หรือ ศึกษาโลกไปพร้อมๆกัน ไม่ใช่ทิ้งโลก จนกระทั่งรู้แจ้งโลก สามารถขจัดความทุกข์ ทางโลกออกไปได้ และต้องการให้ทุกคนเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ให้หนีโลกหรือพ่ายแพ้โลก แต่ให้มีชีวิตอยู่ในโลก อย่างมีชัยชนะอยู่ตลอดเวลา



พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้คนกลัว หรือ หลบหลีกสิ่งต่างๆในโลก และไม่ได้สอนให้มัวเมาในสิ่งเหล่านั้น แต่สอนให้รู้จักวิธีที่จะทำตัวให้มีอำนาจอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น โดยใช้พุทธศาสนาให้ตนอยู่ในโลกได้โดยไม่ถูกก้างของโลกทิ่มแทง



พุทธศาสนามุ่งหมายอะไร

คนส่วนมากเข้าใจว่าพุทธศาสนามุ่งหมายจะนำคนไปเมืองสวรรค์ จึงได้มีการสอนกันเป็นอย่างมาก ว่าสวรรค์เป็นแดนที่คนควรไปให้ถึง สวรรค์เป็นแดนแห่งความสุขที่สุด เลยมีการชักชวนกัน ให้ปรารถนาสวรรค์ ปรารถนาความสุขทางวัตถุอันวิเศษในชาติหน้า ทำให้คนเข้าถึงพุทธศาสนาไม่ได้ เพราะไปมุ่งเอาตัณหาอุปาทาน



ฉะนั้น แม้แต่คำว่านิพพาน ซึ่งหมายถึง การดับความทุกข์ ก็ยังกลายเป็นเมืองแก้ว หรือ นครแห่งความไม่ตาย มีลักษณะอย่างเดียวกันกับ เทียนไท้ หรือ สุขาวดี ซึ่งมีพระพุทธเจ้า ชื่อ อมิตาภะ ประทับอยู่เป็นประธาน ที่ใครได้ไปอยู่แล้วก็ได้รับความพอใจทุกอย่าง ตามที่ตนหวัง เพราะว่าแวดล้อมไปด้วยสิ่งสวยงาม และรื่นรมย์ที่สุด ที่มนุษย์ หรือ เทวดา จะมีได้ แต่เป็นการกล่าวอย่างบุคคลาธิษฐานหรือในเชิงเปรียบเปรยเท่านั้น ส่วนพวกนิกายเซนถือว่าอมิตาภะ มาเป็นชื่อของจิตเดิมแท้


พุทธศาสนามีความมุ่งหมายจะแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันของคนทุกคน เพื่อให้มีชีวิตอยู่ในโลกนี้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ หรืออยู่ในโลกโดยไม่ถูกก้างของโลก มุ่งหมายที่จะขจัดความทุกข์ ให้หมดไปจากคนในปัจจุบัน ไม่ได้มุ่งหมายจะพาคนไปสวรรค์ ซึ่งไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน มีจริงหรือไม่



คำสอนของพุทธศาสนา ที่มีอยู่เป็นชั้นๆ มีมนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ และ นิพพานสมบัติ ก็เป็นเพียงระดับต่างๆ ที่ต้องบรรลุถึงให้ได้ในโลกนี้ และในชาตินี้
มนุษยสมบัติ หมายถึง การได้ประโยชน์อย่างมนุษย์ทั่วไปด้วยการขยันขันแข็งในอาชีพการงาน เพื่อความเป็นอยู่อย่างผาสุกตามอัตภาพ
สวรรค์สมบัติ หมายถึง ประโยชน์ที่คนมีสติปัญญา มีความสามรถพิเศษ จะพึงถือเอาได้ โดยไม่ต้องใช้กำลังแรงงานอย่างหนัก ก็ยังมีชีวิตรุ่งเรืองอยู่ได้
นิพพานสมบัติ หมายถึง การได้ความสงบเย็น เพราะไม่ถูกกิเลสเบียดเบียน ไม่ต้องเร่าร้อน สมบัติทั้งสามนี้ เป็นเพียงประโยชน์ที่อยู่ในระดับต่างๆกัน ที่เราเข้าสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด ในเวลาปัจจุบันในชาตินี้ จึงจะได้ชื่อว่าได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

มนุษยสมบัติ และสวรรค์สมบัตินั้น เป็นเหมือนปลาที่มีก้าง ที่ทำให้คนต้องหัวเราะและร้องไห้สลับกันไป อย่างไม่รู้จักสิ้นสุด เมื่อแสวงหามันมา เมื่อได้ตามประสงค์ หรือ เมื่อกำลังบริโภคมันอยู่ หรือเมื่อเก็บรักษามันไว้ก็ตาม



ตลอดเวลาที่เขายังไม่ได้รับสมบัติอันที่สามคือนิพพานสมบัติ เขาก็จะต้องทนทุกข์ อยู่อย่างซ้ำๆ ซากๆ ท่ามกลางสิ่งที่เขาหลงสำคัญผิดว่าเป็นความสุข ต่อเมื่อได้สมบัติอันที่สามเข้ามาแล้ว เขาก็จะสามารถปลดเปลื้องจากทุกข์ออกไปได้ มีชีวิตอยู่อย่างอิสระ เหนือการบีบคั้นอีกต่อไป นี่แหละ

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า หลักพระพุทธศาสนาเรื่องสุญญตาหรืออนัตตา ไม่มุ่งหมายให้นำมาใช้กับคนธรรมดาทั่วไป ให้ใช้ได้เฉพาะผู้ปฏิบัติธรรมในชั้นสูงที่อยู่ตามถ้ำ ตามป่า หรือเป็นนักบวชที่มุ่งหมายจะบรรลุมรรคผลนิพพานโดยเร็วเท่านั้น แล้วก็บัญญัติกันเองขึ้นใหม่ว่าต้องมีหลักพุทธศาสนาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเหมาะสำหรับคนทั่วไป และคนพวกนี้เองที่ยึดมั่นในคำว่า มนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ และจัดเรื่องนิพพานสมบัติไว้เป็นสิ่งสุดวิสัยของคนทั่วไป จึงทำให้ห่างไกลจากหลักพระพุทธศาสนาที่แท้จริง และยังคงสาละวนกันอยู่แต่เรื่องทำบุญให้ทาน ชนิดที่จะทำให้ตนเป็นผู้มีโชคดีในชาตินี้ แล้วไปเกิดสวยเกิดรวยในชาติหน้า ได้ไปเกิดบนสวรรค์ วนเวียนกันในเรื่องนี้

เรื่องนิพพานสมบัติ จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว เป็นความเวิ้งว้าง ไม่มีที่สิ้นสุด แต่จะปฏิเสธตรงๆเลยก็ไม่ได้ เพราะว่าเป็นสิ่งสูงสุดในพุทธศาสนา จึงได้แต่เพียงห้ามปรามกัน ไม่ให้พูดถึง แม้ในหมู่พระเถระ หรือสมภารเจ้าอาวาส

พวกชาวบ้านทั่วไป จึงห่างไกลจากการได้ยินได้ฟัง หลักพุทธศาสนาที่แท้จริงที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายเอาไว้ หรือมีไว้ เพื่อประโยชน์แก่คนทุกคน และทุกชั้น หลักสูงสุดของพุทธศาสนามีเรื่องเดียว คือการไม่ยึดมั่นถือมั่นที่ใช้ได้กับคนทั่วไป และมุ่งหมายที่จะดับทุกข์ของคนทุกคนโดยตรง เพื่อจะได้อยู่โดยไม่เป็นทุกข์

พุทธศาสนาในแบบส่งเสริม
ค้ำจุนระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์

พุทธศาสนาอันเป็นมรดกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้หันหลังให้กับอำนาจและสถานะอันได้เปรียบทางชนชั้นวรรณะเมื่อครั้งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เพื่อสู่การดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายอย่างสามัญชน โดยมีเป้าหมายเพื่อดับทุกข์ทางจิตวิญญาณ ได้ถูกอรรถาธิบาย ตีความเพื่อรับใช้การปกครองในระบอบเผด็จการศักดินา มาจนถึงระบอบราชาธิปไตย ที่ส่งเสริมสถานะทางชนชั้นวรรณะและรูปแบบวิถีชีวิตที่ตรงกันข้ามกับวิถีทางของพระพุทธองค์โดยสิ้นเชิง สังคมไทยได้ถือเอาพุทธศาสนามารับใช้ความต้องการทางวัตถุและคุณค่าที่ตรงกันข้ามกับที่พระพุทธองค์ได้เสนอ

ก่อให้เกิดพุทธศาสนาแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เน้นว่าสังคมจะปกติสุข ก็ต่อเมื่อหน่วยต่างๆ ของสังคมรู้จักหน้าที่ของตนและทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน เปรียบเสมือนอวัยวะต่างๆ ของร่างกายซึ่งมีหน้าที่ต่างๆ กัน ความสำคัญไม่เท่ากัน แต่ต้องประสานสอดคล้องกัน ประเทศไทย จึงเต็มไปด้วยหน่วยย่อยๆ ที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน จึงต้องมีความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นสำคัญ การที่คนเราเกิดมามีสถานะทางสังคมต่างกัน เช่น เป็นเจ้า เป็นไพร่ เป็นทาส เป็นคนจน คนรวย ฯลฯ เป็นเพราะกรรมในชาติปางก่อน ที่บำเพ็ญบุญบารมีมาไม่เท่ากัน กลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นวรรณะสูงที่คุมอำนาจการปกครอง

โดยยกเอาเรื่องบุญบารมีขึ้นมาเป็นข้ออ้างในสถานะที่เหนือกว่าและได้เปรียบของพวกเขา กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่ทำให้ประชาชนสยบยอมต่ออำนาจการปกครองตลอดไป โดยการบังคับและปลูกฝังอบรมผ่านระบบการศึกษาแบบทางการ ผ่านคณะสงฆ์ ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อรูปการจิตสำนึก อุดมการณ์ทางสังคมการเมืองที่รองรับความไม่เท่าเทียมในความเป็นคน ให้ความชอบธรรมกับการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดความจริง และให้ความชอบธรรมกับอำนาจพิเศษที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบ ไม่ต้องรับผิดชอบทางศีลธรรมและทางกฎหมาย

ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับสาระที่แท้จริง ที่พระพุทธองค์ได้ปฏิเสธระบบชนชั้นวรรณะตามที่ตรัสไว้ว่าเราไม่สามารถอ้างเอาความแตกต่างทางชนชั้นวรรณะมาอยู่เหนือความยุติธรรม หรือเป็นข้อยกเว้นจากความรับผิดชอบได้ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า“กษัตริย์ทำชั่วก็ชั่ว พราหมณ์ทำชั่วก็ชั่ว แพศย์หรือพ่อค้าทำชั่วก็ชั่ว ศูทรหรือคนงานทำชั่วก็ชั่ว” ฉะนั้น สถานะทางชนชั้นจึงไม่อาจใช้เป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผิดศีลธรรมและกฎหมายได้ หากเรายอมรับว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธระบบชนชั้นวรรณะจริง การอ้างคำสอนของพระองค์เพื่อมาสนับสนุนระบบชนชั้นวรรณะ ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธระบบชนชั้นวรรณะอย่างชัดเจน

แต่พวกนักสอนพุทธศาสนายุคปัจจุบันกลับเชิดชูพุทธศาสนาแบบมีชนชั้นวรรณะต่อไปอย่างไม่ลืมหูลืมตา แม้แต่พระสงฆ์ก็ยังมียศศักดิ์ฐานะ คล้ายข้าราชการของกษัตริย์โดยกษัตริย์และเครือข่ายของกษัตริย์เป็นผู้อำนวยอวยยศ ที่เรียกว่าสมณศักดิ์ ทำให้พระชั้นผู้ใหญ่บางรายต้องวิ่งเต้นเอาใจระบอบกษัตริย์ พระที่ฝักฝ่ายนิยมระบอบเจ้าก็จะได้รับการสนับสนุนเลื่อนชั้นยศและได้ออกรายการโทรทัศน์เป็นประจำ รวมทั้งนั้นเผยแพร่คำสอนของกษัตริย์ที่เรียกว่าพระบรมราโชวาทแทนที่จะเน้นการเผยแผ่หลักสัจจธรรมของพระพุทธองค์

สมณศักดิ์และพัดยศ

สมณศักดิ์ คือ ยศหรือบรรดาศักดิ์พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทาน แต่ละชั้นมีพัดยศเป็นเครื่องกำหนด โดยได้รับแบบอย่างมาจากประเทศศรีลังกา ระบบสมณศักดิ์ในสมัยสุโขทัยมีเพียง 2 ระดับชั้นเท่านั้น คือ พระสังฆราชและพระครู พอมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาระบบสมณศักดิ์ได้รับการปรับให้มีระดับชั้นเพิ่มขึ้นเป็น 3 ระดับคือ สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะและพระครู

ชั้นยศสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทยในปัจจุบันตั้งแต่ปี 2541 มี 64 ขั้น เช่น สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะมี 8 รูป พระราชาคณะชั้นธรรม ชั้นเทพ ชั้นราช ชั้นสามัญ พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี-โท-เอก-พิเศษ



พระครูฐานานุกรม พระครูประทวนสมณศักดิ์ พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะและรองเจ้าคณะจังหวัด อำเภอ ตำบล เจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสอารามหลวงชั้นเอกและชั้นโท วัดราษฎร์ชั้นเอก โท ตรี พระเปรียญธรรม 9 ประโยค ลงมาถึง 3 ประโยค
พระครูปลัดของพระราชาคณะ ชั้นเทพ ชั้นราช พระครูวินัยธร พระครูธรรมธร พระครูคู่สวด พระครูสังฆรักษ์ พระครูสมุห์ พระครูใบฎีกา พระสมุห์ พระใบฎีกา พระพิธีธรรม

ปัจจุบัน เป็นหน้าที่ทางคณะสงฆ์จะช่วยกันพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับขั้น แต่ในการพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นสูงชั้นพระราชาคณะขึ้นไปจะให้กษัตริย์พิจารณาเอง โดยมีพิธีพระราชทานพัดยศในวันเฉลิมพระชนม์ 5 ธันวาของทุกปี

การแก้ปัญหาการเมือง
ตามแนวพุทธศาสนา

พุทธศาสนาเน้นการพิจารณาโดยใช้หลักความเป็นเหตุปัจจัยของสรรพสิ่ง โดยต้องค้นให้พบว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริงหรือต้นตอของปัญหา

พระบางรูปอธิบายว่า ตราบใดที่นักการเมืองคอร์รัปชั่นย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง เพราะหลายประเทศก็ยังมีข่าวการคอร์รัปชันแต่ก็ไม่เคยมีการรัฐประหาร เพราะมันมีทางแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นๆ อยู่แล้ว ถ้าต้นตอของปัญหาหรือทุกข์ของประเทศไทยเป็นเพราะเรามีนักการเมืองเลวตามที่มีการพยายามโฆษณาโจมตีจริงๆ ทำให้เชื่อต่อไปว่า คนที่เลือกคนเลวเข้ามาก็คือ คนไร้คุณภาพ ท้ายสุดประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ก็เลว เชื่อถือไม่ได้เช่นกัน

แสดงว่าระบอบประชาธิปไตยใช้ไม่ได้กับประเทศและไม่เหมาะกับคนไทย ต้องใช้ระบอบราชาธิปไตย ที่มีพระเจ้าอยู่หัวดีอยู่คนเดียว อย่างที่ป็นมานานไม่ต่ำกว่า 60 ปี อย่างนั้นหรือ ทั้งๆที่คนโกงแท้ๆ ที่ประชาชนได้เห็น กลับเป็นพวกนายทหารติดอาวุธระดับสูงของกษัตริย์ภูมิพล เช่น สฤษดิ์ ถนอม ประภาส พวกนี้อาศัยสถานะเหนือผู้อื่น เพราะอ้างตนเป็นผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ตัวจริง จนนักการเมือง และนักธุรกิจต้องสยบยอมเป็นแขนขา

หลังจากที่รัฐบาลทักษิณถูกเครือข่ายของในหลวงภูมิพลโค่นล้ม รัฐบาลของกษัตริย์เข้ายึดอำนาจ ตามมาด้วยการผลักดันจนได้รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคของเจ้า การทุจริตโกงกินกลับยิ่งหนักข้อเป็นประวัติการณ์ มีการโกงกินกันเป็นล่ำเป็นสันรวมทั้งข้าราชการในหน่วยงานต่าง ๆ ที่สูบเลือดจากภาษีอากรของประชาชนปีละนับแสน ๆ ล้าน มีการปกครองแบบระบบเส้นสาย โดยมีเสาหลักคือสถาบันกษัตริย์ที่ให้การปกป้องคุ้มครองระบอบเผด็จการราชาธิปไตยที่เป็นต้นตอของปัญหาหรือทุกข์ของประเทศและประชาชนไทย เหมือนไส้ติ่งอักเสบที่ต้องผ่าตัดเอาออก

แท้จริงแล้ว ประเทศไทยก็มีนักการเมืองที่เป็นมานานที่สุด และครองอำนาจสูงสุดของประเทศมาโดยตลอดไม่ต่ำกว่า 60 ปี โดยไม่เคยต้องลงเลือกตั้ง ไม่มีวาระสิ้นสุด หาเสียงข้างเดียวทุกวัน ทางทีวีทุกช่อง วิทยุทุกสถานี สื่อทุกสื่อ มีป้ายโฆษณาถาวรทุกหัวถนน มีการเฉลิมฉลองทุกปีโดยไม่มีการตรวจสอบ ห้ามวิจารณ์พาดพิงโดยเด็ดขาด ให้เชียร์ ให้สดุดีได้อย่างเดียว ซึ่งก็คือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นั่นเอง ที่เป็นสาเหตุหลักที่อยู่เบื้องหลังปัญหาของประเทศที่ไม่มีทางออก วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารของการล้มลุกคุกคลานมาตลอดรัชกาล

พุทธศาสนาถือว่าทุกสิ่งเกิดแต่เหตุ ทุกข์หรือปัญหาในชีวิตและปัญหาทางการเมืองก็ย่อมมีสาเหตุเช่นกัน จะแก้ปัญหาก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ฉะนั้น หากจะออกจากปัญหาความขัดแย้งก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุให้ได้ ปัญหาคอร์รัปชันก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ เหมือนแก้ปัญหาเศรษฐกิจแต่ต้องไม่แก้ด้วยวิธีรัฐประหาร




รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารส่วนใหญ่ก็มุ่งเข้ามากอบโกยโกงกินเพราะไม่มีการตรวจสอบ แถมยังทำลายระบอบประชาธิปไตยทำให้ประเทศชาติตกต่ำ จึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่แท้จริง คืออำนาจนอกระบบและการรัฐประหาร ซึ่งมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นต้องแก้ปัญหาที่รัฐประหารก่อขึ้น คือ ต้องมีการเอาผิดลงโทษผู้ที่ร่วมการทำรัฐประหาร โดยไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าจะป็นองคมนตรีหรือแม้แต่สถาบันกษัตริย์ เพราะการเป็นกบฎมีโทษถึงประหารชีวิต ถ้าเป็นสถาบันกษัตริย์ก็ต้องรับโทษหนักกว่าคนธรรมดาเพราะถือว่าทุจริตต่อหน้าที่และทรยศต่อประเทศชาติ

องค์กรศาลและขบวนการยุติธรรมที่กระทำผิดต่อระบอบประชาธิปไตยก็ต้องได้รับโทษหนัก เพราะถือเป็นเจ้าหน้าที่อำนวยความยุติธรรม ส่วนข้าราชการทหารที่ร่วมยึดอำนาจก็ต้องโดนลงโทษอย่างหนักเพราะเป็นเจ้าหน้าที่ทีต้องปกป้องรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อสืบสาวถึงต้นเหตุที่แท้จริงก็คือผู้ที่กุมอำนาจและสั่งการตัวจริง ก็คือ ตัวกษัตริย์ ซึ่งละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่เป็นสถาบันของชาติ แต่กลับเป็นผู้ทำลายสถาบันของชาติเสียเอง ซึ่งก็คือการทุจริตและทรยศต่อหน้าที่ของตนเอง ทั้งในฐานะประมุขผู้ใช้อำนาจ และในฐานะจอมทัพไทย




หลักกรรมในพุทธศาสนานั้น คือหลักความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ ที่ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองโดยไม่มีการอ้างชนชั้นวรรณะหรือชาติกำเนิด คนที่สังคมให้มีฐานะตำแหน่งสูงมาก ก็ย่อมต้องมีความรับผิดชอบมากด้วย ไม่ใช่นำมาเป็นข้อยกเว้น หรือกระทั่งกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ห้ามผู้ใดวิจารณ์แม้ว่าได้ทำผิดทำชั่วแค่ไหนก็ตาม

ความทุกข์ของปัจเจกชนหรือความทุกข์ส่วนบุคคลเกิดจากอวิชชา ตัณหาและอุปาทานของแต่ละบุคคล แต่ถ้าบุคคลนั้นมีอำนาจและอิทธิพลมากและยังหมกหมุ่นอยู่ในกิเลสฝ่ายอกุศลอย่างลึกซึ้งยาวนาน ก็ย่อมส่งผลต่อสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก พระพุทธองค์ก็เคยโปรดองคุลีมาลย์ผู้หลงผิดที่สร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎรทั่วไป

แต่ถ้าผู้หลงผิดเป็นถึงประมุขของประเทศที่ผูกขาดอำนาจเด็ดขาด ก็มีแต่จะสร้างปัญหาต่อประชาชนไม่จบสิ้นอย่างที่เรียกกันว่าทรราช ก็จำเป็นที่จะต้องช่วยกันแก้ปัญหาของส่วนรวมที่ต้นเหตุตามความเป็นจริง มิใช่จะเอาตัวรอดแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจเพื่อนร่วมโลก ปล่อยให้คนไม่กี่คนเอาเปรียบเบียดเบียนและสร้างไม่เป็นธรรม และความทุกข์ยากแก่สังคมต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จะถือว่าได้ทำหน้าที่สมกับเป็นชาวพุทธได้อย่างไร



พุทธศาสนายืนยันวิธีแก้ปัญหาด้วยปัญญาโดยแก้ที่สาเหตุที่แท้จริง จึงจะแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่การใช้อาวุธเข้ายึดอำนาจโดยกล่าวหาว่านักการเมืองโกงหรือมีคนไม่จงรักภักดี ซึ่งเป็นเพียงข้ออ้างที่ไม่สามารถอ้างได้ เพราะเท่ากับเป็นการปล้นอำนาจของปวงชน มีโทษฐานกบฏที่ต้องไม่มีการยกเว้น

แต่ถ้าประชาชนไทยยอมยกเว้นให้กษัตริย์ ที่ไม่ทำหน้าที่ของกษัตริย์ ก็ย่อมเกิดปัญหาต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เพราะทั้งทหารที่ยึดอำนาจ และศาลที่สร้างความไม่เป็นธรรมต่างก็ต้องทำตามคำสั่งกษัตริย์ ที่ไม่มีจิตใจที่เป็นธรรม และถ้าใครกล้าพูดถึงสมุทัยหรือต้นเหตุของปัญหา ก็จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง ในเมื่อประกาศตนว่าเป็นชาวพุทธเป็นเมืองพุทธ ทำไมไม่ใช่หลักการแก้ปัญญาหรือแก้ทุกข์ที่ต้นตอที่แท้จริง จะอ้างความเกรงใจหรือความหวาดกลัวก็คงไม่ใช่วิสัยของชาวพุทธที่ดี พระพุทธองค์ทรงสอนให้ชาวพุทธ พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์สูงสุด พึงสละทั้งอวัยวะและชีวิต เพื่อรักษาธรรมหรือความถูกต้องเอาไว้

เราจึงต้องทำหน้าที่ทั้งต่อตนเองและต่อสังคมโดยรวมให้เกิดประโยชน์ ด้วยความไม่ประมาทดังโอวาทสุดท้ายของพระพุทธองค์ที่ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

..........
..........

ไม่มีความคิดเห็น: