วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รู้ทันชั้น 16/07 : กฎหมายปกป้องทรราช C2 1607



ฟังเสียง http://www.mediafire.com/?fhmq7lhnbj38dj2
หรือที่ : http://www.4shared.com/mp3/jAd8xWKv/See_Thru_Floor_16_-1607_.html   .........
.........

พระบรมเดชานุภาพ
ในระบอบประชาธิปไตย


คำว่าพระบรมเดชานุภาพหมายถึงอำนาจของกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ แผ่ไปทั่ว เป็นอานุภาพที่จะลงโทษ และขู่ให้กลัว ซึ่งเป็นเป็นลักษณะสำคัญของระบอบเผด็จการแบบโบราณ เคยเป็นชื่อกฎหมายเก่าสมัยยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่กฎหมายนี้ ได้ยกเลิกไปแล้วหลัง 2475 ดังนั้นพระบรมเดชานุภาพจะมีความหมายจริงในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น
จึงเป็นหลักความคิดที่ผิดยุคผิดสมัยขัดกับระบอบประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง ถ้ายอมรับคำว่าพระบรมเดชานุภาพให้มีผลในทางกฎหมาย ก็เท่ากับยอมรับระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ ที่แย่มากคือสังคมไทยเริ่มใช้คำนี้ในความหมายเดียวกับเมื่อสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลายเป็นเรื่องที่พูดกันเหมือนเรื่องปกติ และไม่มีใครคัดค้าน

นักกฎหมายที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่กล้าวิจารณ์โต้แย้ง แม้ว่ากษัตริย์จะทำชั่วทำผิดอย่างไรก็วิจารณ์หรือพูดถึงมิได้ เพราะต้องเคารพสักการะอย่างเดียวเท่านั้น การที่อ้างว่าพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าอยู่หัวมาจากพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อคนไทยก็คงเป็นแค่เรื่องโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่เป็นจริงที่เอาแต่พูดด้านเดียวมาตลอดเท่านั้นเอง

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย

การลุกขึ้นต่อต้านแนวนโยบายการรวมศูนย์ประเทศสยามของรัชกาลที่ 5 ทำให้กษัตริย์ต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปรากฏครั้งแรกในพระราชกำหนดลักษณะหมิ่น ประมาท ด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รัตนโกสินทรศก 118(2443) มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน1500 บาท หรือทั้งจำและปรับ ในสมัยนั้นนับเป็นจำนวนมหาศาล ในปี 2452 ได้มีการปรับปรุงบทบัญญัติทางกฎหมายไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานแบบตะวันตกในกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ปรับเพิ่มโทษสูงสุดเป็น 7 ปี และค่าปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมแก้ไขในมาตรา 104 (1) ว่าผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ดังต่อไปนี้
ก) ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชนก็ดี
ข) ..........ค) ..........ง) .......... ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า 7 ปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาท
แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรืออุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด ขณะที่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บทบัญญัติของกฎหมายจะมุ่งปกป้องกษัตริย์โดยไม่มีข้อยกเว้น

สำหรับการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ ปรากฎว่าเป็นอาชญากรรมภายใต้มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติปี 2485 แต่ถูกเพิกถอนออกไปจากพรบ. วัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนธันวาคม 2553

ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกครั้ง ในประมวลกฎหมายอาญา 2499 ในสมัยจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี โดยตัดเอาส่วนการยกเว้นโทษของการดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ออกไป และแก้ไขมาตรา 112 ให้มีข้อความว่า....ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี โดยให้การดูหมิ่นเป็นการกระทำที่จัดว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย เป็นการขยายขอบเขตของความผิดให้กว้างขวางขึ้น
เพราะการหมิ่นประมาทจะต้องเป็นการใส่ความ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง หรือทำให้คนทั้งหลายดูถูกหรือเกลียดชัง
สำหรับการดูหมิ่น หมายถึง การกระทำการเหยียดหยาม

การเพิ่มการดูหมิ่นเข้าไปในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีผลต่อการขยายขอบเขตของความผิดฐานนี้ให้ครอบคลุมกว้างขวางออกไป เช่น การพ่นสีใส่ป้ายรูปในหลวง การแสดงความไม่เคารพต่อสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ ก็เป็นการกระทำที่ถูกจัดว่าเป็นการดูหมิ่นได้ จากเดิมที่มีการยกเว้นความผิดกรณีกระทำไปภายใต้ความความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายที่ร่างขึ้นใหม่ในปี 2499 ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ในการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะกระทำบนเหตุผลใดก็ตาม กรณีดาตอปิโดตั้งข้อสังเกตว่าพระเจ้าอยู่หัวรับรองการรัฐประหารล้มล้างการปกครองก็ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 112 แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงและมีเจตนาต้องการปกป้องรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม

ต่อมาได้มีการเพิ่มโทษจากจำคุก ไม่เกินเจ็ดปีเป็นจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี โดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อ พ.ศ.2519 หลังการเข่นฆ่านักศึกษาเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 โดยทั่วไปการกระทำที่จะเป็นความผิดในฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทจะต้องเป็นการกระทำที่แสดงออกโดยตรงต่อบุคคล หรือเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเจตนาให้เกิดผลกับบุคคลนั้น โดยเฉพาะเจาะจง ให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงบุคคลใด เช่น การระบุชื่อ แต่ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแทบไม่มีการกระทำที่เป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ แต่มักจะเป็นการแสดงออกที่กระทำต่อวัตถุ สิ่งของ หรือสัญลักษณ์อื่นใดที่มีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เช่น การพ่นสีสเปรย์ใส่รูปของกษัตริย์ การไม่ยืนตรงแสดงความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นต้น

มาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย


มาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” บทบัญญัติลักษณะนี้ก็มีอยู่ในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ ในลักษณะคำประกาศ แต่ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติในลักษณะวางกฎเกณฑ์โดยเข้มงวด การอ่านมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ ต้องอ่านแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่อ่านแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
หากอ่านแบบประชาธิปไตย จะเข้าใจได้ทันทีว่า มาตรา 8 มีไว้เพื่อเทิดกษัตริย์ให้เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งไม่ทำอะไรผิด เพราะไม่ได้ทำอะไรเลย จึงไม่มีใครมาละเมิดได้ คำว่าเคารพสักการะ ก็เป็นการเขียนเพื่อประกาศให้เกียรติเท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้มีลงโทษแต่อย่างใด

ในระบอบประชาธิปไตย เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆที่มอบให้กษัตริย์เป็นการมอบแก่กษัตริย์ในฐานะตำแหน่งที่เป็นประมุขของรัฐ ไม่ได้มอบให้แก่บุคคลที่มาเป็นกษัตริย์ หากกษัตริย์ปฏิบัติหน้าที่นอกกรอบของรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆก็ต้องหมดไป คือถ้ากษัตริย์ทำผิด ก็ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองแบบเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้เอกสิทธิ์คุ้มครองในการปฏิบัติราชการ แต่ถ้าทำผิดต่อหน้าที่ ก็ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองแถมยังมีโทษหนักกว่าคนทั่วไป กษัตริย์ก็เช่นเดียวกันเพราะถือเป็นคนของรัฐ ที่รัฐต้องเลี้ยงดูเช่นกัน

ดังนั้นถ้ากษัตริย์ไปสมรู้ร่วมคิดในการเป็นกบฏล้มล้างการปกครอง ก็ต้องถือว่าไม่ได้เป็นกษัตริย์แล้ว และไม่ได้รับความคุ้มครองในฐานะกษัตริย์อีกต่อไป แต่ต้องถูกนำมาลงโทษสถานหนักเพราะเท่ากับทุจจริตต่อหน้าที่และตระบัดสัตย์ที่ได้ให้ไว้ต่อประชาชนที่ชอบนำมาสดุดีกันว่า เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

มาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
กษัตริย์ภูมิพลในฐานประมุขของประเทศและจอมทัพไทยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบและมีความผิดฐานเป็นกบฏทรยศต่อชาติ ตระบัดสัตย์ ผิดคำมั่นสัญญาว่าจะปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม โทษคงไม่ต่ำกว่าการประหารชีวิตและริบทรัพย์สินที่ฉ้อฉลไปจากประชาชนไทย

ปัญหาของกฎหมายหมิ่นประมาท
พระมหากษัตริย์


-มาตรา 112 คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ตำแหน่งซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดสถานะไว้เป็นพิเศษ มีตำแหน่งเดียว คือ ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ในฐานะเป็นประมุขของรัฐ แม้ในประเทศสาธารณรัฐซึ่งประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี แต่การที่กฎหมายไทยบัญญัติคุ้มครองทั้งพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้เท่ากับประมุขของรัฐทั้งๆที่ไม่ใช่ประมุขของรัฐ และได้รับความคุ้มครองตามหลักทั่วไปอยู่แล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลและความจำเป็น

-อัตราโทษจำคุกตั้งแต่สามถึงสิบห้าปี ตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2519 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ขาดความชอบธรรมเพราะมาจากคณะรัฐประหาร เมื่อเปรียบเทียบกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ร.ศ.118 ( พศ. 2443 ) สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินกว่า 1500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยไม่กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ หมายความว่าศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยเพียงใดก็ได้ แต่โทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย กลับกำหนดไว้สูงสุดถึงสิบห้าปี โดยกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ด้วยว่าต้องจำคุกไม่ต่ำกว่าสามปี แม้ในคราวประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาเมื่อ ปี 2500 นั้น โทษตามมาตรา 112 คือ โทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและไม่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำไว้

-การไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยเหตุยกเว้นความผิดในกรณีที่แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน การรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือประโยชน์สาธารณะอื่นๆ ซึ่งประชาชนในระบอบประชาธิปไตยต้องสามารถกระทำได้ การไม่มีข้อยกเว้นเช่นนี้ เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวพันกับราชการแผ่นดินหรือพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นองค์กรในรัฐธรรมนูญ

ปัญหาที่หนักและแก้ไขได้ยากมากคือการที่ศาลตีความมาตรา 112 โดยไม่ได้ยึดหลักการของระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่ามาตรา112 จะใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนตามสมควร คือ คำว่า หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดังนั้นการกระทำที่ไม่สมควร หรือไม่เคารพ ไม่นับถือ จะต้องไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่ศาลและอัยการรวมทั้งตำรวจมักตีความว่าการไม่แสดงความเคารพสักการะถือว่าเข้าข่ายผิดมาตรา 112 เช่น การไม่ยืนตรงเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ถือว่าเป็นการตีความกฎหมายเอาเอง ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ บุคคลที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมจะต้องใช้และตีความให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เพื่อรับใช้อุดมการณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพ้นสมัยไปแล้ว

การเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112-ด้านโทษ มาตรา 112 มีบทลงโทษที่เกินสมควรแก่เหตุ เพราะพลังของการพูด ไม่เคยทำให้ใครตาย หรือเจ็บตัว ต่างจากการใช้กำลัง ที่สามารถประทุษร้ายต่อเสรีภาพของบุคคลต่างๆ การ กระทำความผิดโดยทางวาจาตามมาตรา 112 กำหนดโทษทางอาญา จำคุกขั้นต่ำ 3 ปี ถึงอัตราขั้นสูง15 ปี ต่อความผิด 1 ครั้ง ไม่สมเหตุสมผลในบัญญัติโทษ

-ด้านเนื้อหา มาตรา 112 ในทางปฏิบัติ ศาลตีความครอบคลุมถึงการกระทำที่กระทบกระเทือนส่งผลไม่ค่อยดีต่อกษัตริย์ เช่น คำวิจารณ์ในทางตำหนิกษัตริย์ แม้จะเป็นการติชมเพื่อความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนก็ตาม ซึ่งโดยปกติเป็นข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท ทั้งๆที่ข้อยกเว้นดังกล่าว เป็นไปเพื่อคุ้มครองหลักความสุจริตในการสื่อสารของรัฐเสรีประชาธิปไตย เมื่อศาลตีความเช่นนี้แล้วแม้ว่ากฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ การแก้ไขมาตรา 112 จึงไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของศาลได้ จึงต้องยกเลิกมาตรานี้ทั้งหมดโดยเด็ดขาด

-ด้านการตีความ ศาลไม่เคยให้เหตุผลในคำพิพากษาว่า ข้อความของจำเลย ส่วนใดเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ศาลจะพิจารณารวบรัดว่า การกระทำของจำเลยเป็น หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย เสมอไปทุกคดี จึงไม่มีประโยชน์ในการแก้ไขเนื้อความของกฎหมาย เพราะศาลไม่เคยพิจารณาความสำคัญของตัวบทกฎหมายจริง และไม่เคยให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาในคดีเหล่านี้

ด้านการตีความ คำว่า ดูหมิ่น เปิดช่องให้นำธรรมเนียมประเพณี มาใช้ตีความกฎหมายอาญาในทางที่เป็นโทษแก่จำเลย ซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมายซึ่งเป็นหลักสากล และไม่มีความแน่นอนชัดเจนของความผิด ประชาชนไม่สามารถคาดผลของการกระทำของตนได้เลย เพราะว่าธรรมเนียมประเพณีขาดความแน่นอนชัดเจน จึงต้องตัดคำว่าดูหมิ่นนำ ออกจากมาตรา 112 เพราะความแน่นอนชัดเจนของกฎหมายเป็นหลักประกันความปลอดภัยของประชาชน

-ผู้มีอำนาจกล่าวโทษ มาตรา 112 ให้บุคคลทั่วไปกล่าวโทษได้ โดยเหตุที่สำนักราชเลขาธิการเป็นหน่วยงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในกษัตริย์ จึงสมควรให้ทำหน้าที่ปกป้องพระเกียรติของกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ควรให้คนทั่วไปนำมาตรา 112 ไปกล่าวโทษให้ร้ายทำลายกัน

แม้ว่า รัฐธรรมนูญจะบัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์...เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตามมาตรา 8 วรรค 1 ก็มีความหมายเพียงว่า รัฐจะปลดกษัตริย์มิได้ และต้องให้เกียรติแก่องค์กรกษัตริย์ตามสมควร เช่น จัดเงินงบประมาณแก่กษัตริย์เป็นรายปี ดูแลความเป็นอยู่ของกษัตริย์ให้สมควรตามฐานะ แต่กษัตริย์ก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคม เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นองค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจมหาชน หรืออำนาจสาธารณะ จำต้องตรวจสอบได้เพราะอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ในเมื่อกษัตริย์ใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจทางการเมือง ก็ต้องถูกตรวจสอบได้ว่า กระทำเกินอำนาจหน้าที่หรือไม่ โดยเปิดเผย เมื่อคนอื่นถูกวิจารณ์ได้ กษัตริย์ก็ต้องถูกวิจารณ์ได้เช่นกัน
แม้ว่าจะยกเลิกมาตรา 112 กษัตริย์ก็ยังคงมีกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิในชื่อเสียง คือ กฎหมายห้ามหมิ่นประมาททั่วไป ตลอดจนข้อยกเว้นความผิดตามหลักสากล เช่น วิจารณ์โดยสุจริต ตามวิสัยประชาชน ย่อมได้รับการยกเว้นความผิด

การดูหมิ่นต้องเป็นฐานความผิดที่มีโทษเบา อย่างที่บังคับใช้แก่บุคคลทั่วไป การที่กษัตริย์ได้ดำรงตำแหน่งตลอดชีพ และ ได้รับเกียรติยศจากการสนับสนุนโดยงบประมาณจากเงินภาษีของประชาชนมาตลอด ขณะที่นักการเมืองถูกวิจารณ์ได้เสมอ และยังมีความรับผิดชอบทางการเมือง ที่มากกว่ากษัตริย์ คือ ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ ตลอดจนถูกวิจารณ์ได้ ทั้งนี้โดยปกติแล้วนักการเมืองจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อประชาชนว่าหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นนักการเมืองด้วยความสำนึกในอำนาจที่พวกเขาใช้ในนามประชาชน คือผู้ที่มีอำนาจมาก ก็ต้องมีความรับผิดชอบมากและต้องมีความอดทนมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งเป็นหลักการปกติในระบอบประชาธิปไตย ที่แตกต่างจากระบอบเผด็จการที่ห้ามผู้ใดวิจารณ์ผู้มีอำนาจโดยเด็ดขาด เพราะถือว่าอยู่คนละชั้น

การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้กษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ เป็นเพียง บทบัญญัติยอพระเกียรติเท่านั้น เพราะในรัฐประชาธิปไตย การจะเคารพนับถือใครนั้น กฎหมายจะเข้าไปบังคับมิได้ เพราะเป็นเรื่องภายในจิตใจ เป็นเรื่องของความเชื่อความศรัทธาส่วนบุคคลเหมือนการนับถือศาสนา และประชาชนย่อมมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิด กฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้คนไม่กล้าพูดมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ตอนนี้มีคนถูกฟ้องร้องเป็นจำนวนมาก โดย มาตรานี้อนุญาตให้ใครเป็นผู้ร้องทุกข์ก็ได้ ตำรวจไทยเมื่อได้รับคดีร้องทุกข์อย่างนี้ ก็มักจะไม่กล้าบอกว่าการร้องทุกข์นั้นฟังไม่ขึ้น ประกอบกับการกระพือข่าวก่อนที่จะมีการกล่าวหา ยิ่งเป็นไปได้ยากที่ตำรวจจะไม่ทำคดี ทุกคนก็ต้องผ่านจากขั้นตำรวจไปถึงขั้นอัยการ ซึ่งอัยการส่วนใหญ่ก็คงต้องฟ้องไปก่อนแล้วให้ไปว่ากันที่ศาล ภายใต้กระบวนการยืดยาวทั้งหมดนี้ คนที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษย่อมจะต้องเดือดร้อนแน่

การกระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อสังคมไทย มีการกล่าวหาและดำเนินคดีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง โดยข้อกล่าวหานี้มีผลต่อความเคลื่อนไหวและการใช้สิทธิพื้นฐานของประชาชนในเมื่ออ้างว่า สังคมไทยมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ในขณะที่หลายประเทศซึ่งกษัตริย์เคยมีบทบาททางการเมือง แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย การให้สิทธิคุ้มกันและการปกป้องสถาบันกษัตริย์ในทางกฎหมายก็จะลดน้อยลง และเปิดกว้างในการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ แต่สำหรับสังคมไทยกลับดำเนินไปในทางตรงกันข้าม ยิ่งอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแต่บทบัญญัติความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลับมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นและมีการบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างไปจากสังคมอื่นๆ

ในปี 2545 นายกทักษิณได้จัดตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที ICT เพื่อการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร แต่หน้าที่หลักของไอซีที กลับทำตรงกันข้าม คือทำหน้าที่ตามปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งฝึกอบรมลูกเสือไซเบอร์ เพื่อตรวจจับการใช้อินเตอ์เนทตลอด 24 ชั่วโมง มีการขยายกฎหมายหมิ่นเจ้าให้ครอบคลุมกว้างออกไปอีก โดยพรบ.คอมพิวเตอร์ 2550

สมัยคณะรัฐประหาร 2549 โดยนายกสุรยุทธ์ ซึ่งเป็นองคมนตรีของกษัตริย์ภูมิพล มีบทลงโทษสูงสุด 5 ปี หรือต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง การก่อการร้าย รวมทั้งผู้ให้บริการที่สนับสนุนหรือยินยอม โดยถือว่าการหมิ่นเจ้าเข้าข่ายผิดกฎหมายความมั่นคง คือถ้าพาดพิงเจ้าโดยผ่านระบอบคอมพิวเตอร์จะต้องโดนจำคุกเพิ่มอีก 5 ปี เพื่อต้องการควบคุมโลกของอินเตอร์เนท

พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ออกบังคับใช้โดยรัฐบาลทักษิณ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบที่ภาคใต้และสงครามปราบปรามยาเสพติดที่เริ่มไปแล้ว เพื่อยกเว้นโทษให้กับเจ้าหน้าที่ทั้งในทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย แต่ได้กลายเป็นอาวุธที่สำคัญที่ฝ่ายกษัตริย์ที่ใช้ปราบปรามขบวนการของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย

เช่นเดียวกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (Depart ment of Special Investi gation ) หรือ ดีเอสไอที่นายกทักษิณตั้งขึ้นเพื่อป้องกัน ปราบปราม และควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็กลายเป็นเครื่องมือของเครือข่ายกษัตริย์ใช้เล่นงานพวกของคุณทักษิณที่นำโดยนายธาริต เพ็งดิษฐ์

ระหว่างปี 2548 - 2552 มีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 547 คดีที่ถูกนำส่งฟ้องศาล และมีประชาชน อีกเป็นจำนวนมากที่เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในข่ายเฝ้าจับตาของตำรวจและอัยการเพื่อหาหลักฐานสำหรับดำเนินคดี นักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่านักโทษการเมืองทั่วไป เช่น มักจะถูกจับกุมโดยไม่มีการเตือน ไม่มีการออกหมายจับล่วงหน้าหรือถูกตัดสินล่วงหน้าแล้วว่ามีความผิดการไม่รักในหลวงถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ขณะที่รัฐบาลและเครือข่ายกษัตริย์ก็สนับสนุนและรณรงค์อย่างเต็มที่ให้รักในหลวงและปกป้องสถาบันกษัตริย์ เหยื่อคดีหมิ่นจะถูกกล่าวหาด้วยเหตุผลครอบจักรวาล ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับคดีหมิ่นมักถูกเก็บเป็นความลับโดยอ้างว่าจะเป็นการหมิ่นซ้ำ ผู้ที่อ้างคำพูดหรือข้อเขียนก็มีความผิดต้องรับโทษเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีการสร้างกระแสอย่างบ้าคลั่งของขบวนการชาตินิยมที่นำโดยคนที่มีลักษณะคลั่งระบอบเจ้า เช่นพลเอกประยุทธ์ที่ออกมาข่มขู่กล่าวหาผู้อื่น ทำตนเป็นผู้ปกป้องสถาบันกษัตริย์ ในยามที่เครือข่ายกษัตริย์พยายามโหมกระแสเรารักในหลวงให้เข้มข้นมากขึ้น โดยกล่าวย้ำว่ามีเพียงประชาชน 1 % เท่านั้นที่ไม่รักในหลวง แทนที่จะให้ความสำคัญกับความเสมอภาคและความยุติธรรม เป็นการเอาใจและปกป้องในหลวงและราชินีที่แต่งตั้งให้ตนได้มีอำนาจบารมี

สงครามอินเตอร์เนท

นับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงต้นปี 2554 มีการปิดกั้นเวบโดยรัฐบาลไทยมากกว่า 425,000 เวบภายใต้คำขวัญปกป้องสถาบันกษัตริย์ รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้เงิน 72 ล้านบาท เพื่อคอยติดตามสอดส่องการใช้อินเตอร์เนตและทำการปิดกั้นเวบไซด์ เมล และเฟสบุ๊ค มีคดีละเมิดพรบ. คอมพิวเตอร์ 185 คดี และมีประชาชนจำนวนมากที่กำลังถูกจับตาและถูกหมายหัวด้วยคดีหมิ่น หรือต้องทนทุกข์อยู่ในห้องขังโดยที่คดียังไม่ได้ถูกตัดสิน หรือว่าอยู่ในระหว่างรอขึ้นศาล หรือถูกตัดสินแล้วว่าหมิ่น แต่กลับมีเวบไซด์ใหม่เกิดขึ้นมามากพอกัน มีสมาชิก เฟสบุคในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านคนในปี 2552 มาเป็น 6.7 ล้านคนในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นถึง 240% ต่อปี เป็นอันดับสองของโลกรองแค่บราซิลที่มีอัตราเพิ่ม 265%

ข้อคิดเกี่ยวกับการรณรงค์
ยกเลิก ม.112


1.ความเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 8

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เชื่อมโยงกับ มาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ว่า "องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" และในคำพิพากษาของศาล มักจะอ้างมาตรานี้ ควบคู่ไปกับ ประมวลอาญามาตรา 112 เสมอ
จึงต้องเสนอให้เลิก ม.112 พร้อมๆกับการตีความ มาตรา 8 และต้องพูดเรื่องอำนาจและสถานะของสถาบันกษัตริย์ไทยที่ขัดต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตย

2.การตัดสินคดีความหมิ่นกษัตริย์มักต้องพิจารณาโดยลับ

ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการพิจารณาคดีทั่วไป เพราะมันไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือเป็นเรื่องศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ เหตุผลที่แท้จริงคือต้องการให้ประชาชนได้เห็นแค่ด้านดีของสถาบันกษัตริย์ จะได้นำไปอ้างได้ว่าคนไทยทุกคนรักในหลวง เพราะไม่เคยเห็นใครวิจารณ์กษัตริย์ในแง่ลบ ทั้งๆที่กษัตริย์ภูมิพลก็ทำตนขัดขวางและล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเข้าข่ายเป็นกบฏหลายครั้งหลายหนรวมทั้งการมีส่วนร่วมในการสั่งการสังหารหมู่ประชาชนทั้งที่ราชประสงค์ ถนนราชดำเนินในปี 2553 และในมหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 รวมถึงกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 และการประหารผู้บริสุทธิ์ 3 คน

ถ้ายอมให้มีการถ่ายทอดการพิจารณาคดีหมิ่นกษัตริย์ อาจมีคนเห็นด้วยกับจำเลยว่าพูดจริง มีเหตุผลและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เครือข่ายกษัตริย์จึงไม่ยอมให้มีการพิจารณาโดยเปิดเผย สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษก็เคยถูกสื่อวิจารณ์ และประเทศเขาก็ยังมั่นคงแข็งแกร่งดี สื่อทั่วโลกมองว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นกฎหมายเผด็จการที่ล้าหลังและรุนแรงเกินกว่าเหตุ ถ้าเปิดให้มีการพิจารณาคดีกันอย่างเปิดเผยก็เท่ากับเป็นการประจานความเป็นเผด็จการที่ล้าหลังและเหี้ยมโหดของขบวนการกฎหมายและศาลไทยที่อยู่ในอำนาจของกษัตริย์ไทยนั่นเอง

การรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงต้องเป็นการยกเลิกตัวบทในปัจจุบันเพื่อสร้างตัวบทใหม่ที่สอดคล้องกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยทั้งทางรัฐธรรมนูญและในทางกฎหมายอาญา และต้องเป็นการยกเลิกรูปการจิตสำนึกในการตีความตัวบทมาตรา 112 ที่ผ่านมาด้วย โดยต้องมีการอภิปรายถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ในทางรัฐธรรมนูญ วิเคราะห์แยกแยะส่วนที่สอดคล้องและส่วนที่ขัดแย้งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย บังคับใช้ส่วนที่สอดคล้อง แก้ไขส่วนที่ขัดแย้ง และวางกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกษัตริย์ให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ข้ออ้างของฝ่ายซาบซึ้ง
ที่สนับสนุนให้คงมาตรา 112 ไว้ดังเดิม

แม้ว่ามาตรา 112 ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเทศอื่นๆที่เป็นประชาธิปไตยก็มีกฎหมายว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐ แต่ไม่เคยนำมาใช้หรือใช้น้อยมาก บางประเทศอาจนำมาใช้เป็นครั้งคราว แต่ก็เพียงลงโทษปรับ และกำหนดโทษต่ำกว่ามาตรา 112 มาก





บางคนอ้างว่าสถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างสูง เปี่ยมด้วยบารมีเมตตาและคุณธรรม มีพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรที่ดีงาม และคนไทยล้วนแล้วแต่จงรักภักดี มากกว่ากษัตริย์ของประเทศอื่น ถ้าเป็นอย่างที่อ้างจริง ก็ยิ่งไม่มีความจำเป็นที่กำหนดโทษให้สูง ในเมื่อยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างสูงและคนไทยจงรักภักดีอย่างถึงที่สุดอยู่แล้ว แน่นอนว่าต้องมีกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทเพื่อคุ้มครองเกียรติยศและชื่อเสียงของกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ แต่กฎหมายเช่นว่านั้นต้องไม่มีความพิเศษหรือแตกต่างจากกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดามากจนเกินไป ถึงขนาดจำคุก 3 ปี ถึง 15 ปี รวมทั้งการจัดเข้าไว้ในหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ

การที่อ้างว่าบางคดีมีการพระราชทานอภัยโทษในภายหลัง แต่ก็มีอีกหลายคดีที่จำเลยไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือได้อภัยโทษช้ามาก ถ้าเป็นชาวต่างชาติจะได้รับอภัยโทษเร็วกว่าคนไทย เพราะกลัวต่างชาติกดดันให้เป็นที่อับอายไปทั่วโลก เช่น กรณีนายโอลิเวอร์ จูเฟอร์และนายแฮร์รี่ นิโคไลดส์ จึงไม่ใช่เรื่องแน่นอนและเสมอกันทุกกรณี

ในหลายกรณี จำเลยไม่ต้องการต่อสู้คดี เพราะรู้ว่าการสู้คดีไม่มีประโยชน์ เพราะศาลต้องเอาใจเจ้า ไม่อย่างนั้นศาลเองก็จะเดือดร้อนฐานไม่จงรักภักดีอย่างถึงที่สุด จำเลยจึงตัดสินใจยอมรับโทษตั้งแต่ต้นหรือแค่ศาลชั้นต้น แล้วขอพระราชทานอภัยโทษทีหลัง มิเช่นนั้นก็จะโดนลงโทษรุนแรงเพราะถูกมองว่าท้าทายกษัตริย์ จึงไม่ค่อยมีคดีถึงศาลฎีกา

โดยลักษณะของความผิดตามมาตรา 112 ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อรัฐและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดตามมาตรา 112 เป็นกรณีที่เกิดจากการพูดแล้วทำให้กษัตริย์เสียหาย ไม่ได้กระทบกระเทือนถึงการดำรงอยู่ของกษัตริย์ ต่างกับประทุษร้ายหรือปลงพระชนม์ และไม่ใช่การเปลี่ยนรูปแบบของราชอาณาจักร ความผิดตามมาตรา 112 จึงไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ

กฎหมายมาตรา 112 นี้เป็นกฎหมายในระบอบเผด็จการราชาธิปไตยที่มีปัญหาในตัวมันเอง ทั้งในทางตัวบทและทั้งในการบังคับใช้ เป็นกฎหมาย ที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างยิ่ง จึงต้องยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 มิใช่ให้หลีกเลี่ยง อย่าไปยุ่ง อย่าไปเสี่ยง เพราะมันเป็นกฎหมายที่ขัดหลักการประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว

24 พฤษภาคม 2554 สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ถนนเพลินจิต จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและความท้าทายต่อประชาธิปไตยไทย นายเบนจามิน ซาแวคกี (Benjamin Zawacki)ผู้แทนองค์การนิรโทษกรรมสากล(เอไอ)เสนอต่อรัฐบาลไทยให้หยุดใช้กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ไปก่อน จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขที่เคารพมาตรฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นักโทษที่ถูกจำคุกด้วยกฎหมายหมิ่นได้รับการปล่อยตัวโดยทันที

การใช้กฎหมายหมิ่นฯ ตั้งแต่ปลายปี 2548 เป็นการบั่นทอนเสรีภาพในการแสดงออก โดยไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในฐานะที่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญานี้ การใช้กฎหมายดังกล่าวนับเป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศในแง่ของเสรีภาพในการแสดงออก

เรื่องกฎหมายห้ามหมิ่นกษัตริย์มาตรา 112 จะไม่ได้มีการพูดในสื่อกระแสหลัก พรรคการเมืองก็ไม่สนใจประเด็นเหล่านี้ เมื่อพูดถึงคดีหมิ่นกษัตริย์ เราจะไม่รู้เลยว่าขั้นตอนไปถึงไหนแล้ว สื่อไม่รายงาน เจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผย คนที่โดนกล่าวหาเกือบทั้งหมดไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์นิยมกษัตริย์ได้ครอบงำสังคมทั้งหมดแม้แต่ในแวดวงกระบวนการยุติธรรม ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ เพราะกลัวโดนข้อหาล้มเจ้า กลัวไม่ได้เป็นรัฐบาล มาตรา 112 นี้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยตรง และควรต้องรีบหยิบยกประเด็นสถาบันกษัตริย์ให้เป็นประเด็นสาธารณะ เปิดโอกาสให้ทุกคนพูดโดยไม่ต้องกลัว ให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้อย่างตรงไปตรงมา ถ้าจะมีกฎหมายพิเศษเพื่อปกป้องสถาบันสูงสุด สถาบันนั้นน่าจะเป็นสถาบันประชาชนหรือประโยชน์สุขของราฎรที่ต้องได้รับการปกป้อง หาใช่ตัวบุคคลที่เป็นแค่กษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่ เพราะเราปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ถือว่าประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ระบอบราชาธิปไตยที่ถือว่ากษัตริย์เป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว

ผู้ต้องหาหมิ่นเจ้า

บัณฑิต อานียา
( จือเซ็ง แซ่โค้ว )
ถูกกล่าวหาจากการที่คุณบัณฑิตแจกเอกสารในงานสัมมนาแห่งหนึ่งเมื่อปี 2546 ขณะมีอายุ 63 ปีโดยเนื้อหาของเอกสารระบุถึงความเป็นกลางของศาลที่ไม่ควรนำรูปของบุคคลใดมาแขวนไว้

ซึ่งน่าจะหมายถึงรูปของกษัตริย์ภูมิพล ที่จริงก็ควรเป็นอย่างที่คุณบัณฑิตย์พูด เพราะกษัตริย์ภูมิพลไม่ได้รักษากฎหมายแต่เป็นผู้สนับสนุนการกบฏและเป็นต้นตอของความไม่เป็นธรรม มีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด ศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุก 4 ปี แต่เห็นว่าจำเลยป่วยด้วยโรคจิตเภทและไม่เคยได้รับโทษมาก่อน ควรให้โอกาสรักษาเพื่อจะได้หายเป็นปกติและเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 3 ปี

แต่อัยการสูงสุดของกษัตริย์ภูมิพล ได้ยื่นอุทธรณ์โดยขอไม่ให้รอการลงอาญา ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ปัจจุบันคดีนี้อยู่ในชั้นศาลฎีกาและการประกันตัว ระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คุณบัณฑิตถูกเจ้าหน้าที่ในเรือนจำด่าทอด้วยคำพูดหยาบคายและจะเข้าทำร้าย ทำให้เขาต้องก้มลงกราบเพื่อขอร้องไม่ให้ทำร้ายตน ระหว่างการประกันตัวจำเลยลำบากมากเพราะฐานะยากจนและมีปัญหาสุขภาพ ก่อนหน้านี้เขาป่วยเป็นมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ แพทย์จึงทำการผ่าตัดเอามะเร็งออก และผ่าตัดไตออกอีกหนึ่งข้าง ทำให้ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้ปกติ ขณะนี้อาการป่วยกำเริบมายังบริเวณอื่นในร่างกาย และมีความกังวลมากขึ้นหากถูกศาลตัดสินจำคุก

ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล
หรือ ดา ตอร์ปิโด

เนื้อหาหลักที่ดา ตอร์ปิโดปราศรัยที่สนามหลวงระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2551 และถูกกล่าวหาว่าหมิ่นกษัตริย์ก็คือการที่คุณดาทวงถามว่าทำไมกษัตริย์ภูมิพลไปเซ็นรับรองการยึดอำนาจซึ่งเป็นความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคงภายใน มาตรา 113 ซึ่งเห็นกันเป็นที่ชัดเจนว่ากษัตริย์ภูมิพลคือตัวการกบฏ ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเป็นประมุขของประเทศและเป็นจอมทัพไทยย่อมต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าประชาชนทั่วไป แต่กลับสนับสนุนและรับรองการก่อกบฏหลายครั้งหลายคราว ในขณะที่ดาตอร์ปิโด ได้ทำหน้าที่ของพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยและยังเป็นศาสนิกชนที่ดีที่ถือเอาความถูกต้องเป็นหลักมากกว่าการนับถือตัวบุคคลตามคำสอนของพุทธศาสนา

แต่กลายเป็นว่าดา ตอร์ปิโดทำผิดกฎหมายในหมวดความมั่นคงมาตรา 112 ซึ่งเป็นแค่ความมั่นคงของกษัตริย์ที่ทำลายความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน ศาลของกษัตริย์ตัดสินลงโทษจำคุก 3 กระทงๆละ 6 ปี รวมโทษจำคุก 18 ปี เพื่อไม่ให้ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เป็นการปิดปากประชาชนไม่ให้วิจารณ์หัวหน้าอาชญากรตัวจริงที่ปล้นอำนาจของประชาชน และห้ามประกันตัวโดยเด็ดขาด ปล่อยให้กษัตริย์ครองประเทศและชีวิตของประชาชนทั่วไปอย่างไม่มีกำหนด โดยเวบไซต์เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 28 สิงหาคม 2552 ได้รายงานข่าวนี้ภายใต้หัวข้อ 'ขัง 18 ปี นังดา โอหัง อาฆาตเบื้องสูง โดยได้นำเสนอคำตัดสินคดีว่า

"ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.2551 เวลากลางคืน จำเลยขึ้นปราศรัยบนเวทีเสียงประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ทางเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังหลายคน โดยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ล่วงเกิน ถึงพระเจ้าอยู่หัวและพระนางเจ้าสิริกิติ์ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อจะล้มล้างรัฐบาล และการรัฐประหาร ที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระนางเจ้าสิริกิติ์ โดยมีตำรวจ สน.ชนะสงคราม 3 นาย เบิกความว่าเป็นสายสืบฟังการปราศรัย ได้บันทึกเสียงลงในเครื่องบันทึก แล้วนำมาถอดเทป และจำเลยยังขึ้นปราศรัยกล่าวดูหมิ่นอีกในวันที่ 7 และ 13 มิ.ย.2551 ซึ่งได้บันทึกเสียงไว้

พบว่า แม้จะไม่ระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงอย่างชัดแจ้ง แต่ถ้อยคำที่กล่าวถึง เช่น สัญลักษณ์สีเหลือง สีฟ้า ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรซึ่งเป็นสีประจำวันประสูติของในหลวงภูมิพลและราชินีสิริกิติ์ ทำให้เห็นว่าจำเลยกระทำการจาบจ้วงล่วงเกิน โดยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม พันธมิตร ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง



รวมทั้งการกล่าวถึงการรัฐประหาร โดยกล่าวถ้อยคำถึงมือที่มองไม่เห็นหลังสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งประชาชนรับรู้อยู่แล้วว่าสี่เสาเทเวศร์ คือบ้านพักของ พล.อ.เปรม ประธานองคมนตรี ซึ่งกษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้ง ถ้อยคำของจำเลยจึงทำให้ประชาชนเข้าใจว่ากษัตริย์ภูมิพลสนับสนุน พล.อ.เปรม ในการยึดอำนาจจากประชาชน ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 3 กระทงๆ 6 ปี รวมจำคุก 18 ปี นี่คือผลตอบแทนแก่ ดา ตอร์ปิโด ผู้ที่แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด

ทั้งๆที่นายสนธิ ลิ้มทองกุลก็สวมเสื้อเหลืองที่มีตัวหนังสือโฆษณาว่าเราสู้เพื่อในหลวงและผูกผ้าพันคอสีฟ้า ทั้งยังเคยปราศรัยว่าตนสนิทกับในวังมาก ถ้าไม่เป็นความจริงกษัตริย์ภูมิพลและราชินีสิริกิตติ์ก็ต้องออกมาปฏิเสธ แต่ราชนีสิริกิติ์กลับเสด็จไปงานศพของพวกพันธมิตรเสื้อเหลืองและเอาเงินไปให้สองแสนบาทโดยบอกว่าเป็นเงินของในหลวงที่ฝากมาให้ เพราะช่วยปกป้องราชบัลลังก์ คนที่ทำผิดกฎหมายความมั่นคงที่แท้จริงก็คือกษัตริย์ภูมิพลและราชินีสิริกิติ์นั่นเอง แต่กลับลอยนวล และคุกคามข่มขู่ปิดปากประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย

วราวุธ ฐานังกรณ์ หรือ สุชาติ นาคบางไทร ปราศรัยที่สนามหลวงหนึ่งวันหลังจากที่ราชินีสิริกิต์ไปงานศพน้องโบว์พันธมิตรเสื้อเหลืองกลุ่มนายสนธิ ลิ้มทองกุลที่กษัตริย์ภูมิพลและราชวงศ์สนับสนุน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551 โดยไม่สนใจความรู้สึกของประชาชน คุณสุชาติได้ระบายความอัดอั้นตันใจที่ราชวงศ์จักรีให้ท้ายพวกที่ก่อกวนล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่เกรงใจประชาชน

ทำให้ถูกออกหมายจับและถูกจับกุมในเวลาต่อมา โดยที่คุณสุชาติทราบดีว่ากลไกอำนาจรัฐและกระบวนการยุติธรรมของไทยขึ้นกับกษัตริย์และต้องการเอาใจกษัตริย์ จึงไม่ต่อสู้คดีและไม่ตั้งทนาย ศาลตัดสินจำคุก 3 ปี ฐานแสดงความไม่พอใจต่อการที่ราชวงศ์จักรีเข้าข้างและสนับสนุนพวกก่อกวนล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

จักรภพ เพ็ญแข จากการบรรยายให้สมาคมผู้สื่อขาวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550โดยมีการพูดถึงระบอบอุปถัมถ์หรือระบบเล่นพรรคเล่นพวกที่มีการปลูกฝังกันมานาน พูดเหมือนนักวิชาการทั่วไป ทั้งๆที่มีคนพูดถึงระบบอุปถัมภ์ เหมือนคุณจักรภพแต่ไม่โดนดคี




แต่คุณจักรภพเป็นนักปราศรัยและนักเขียนที่มีบทบาทมากของฝ่ายประชาธิปไตย จึงมีการใช้มาตรา 112 เข้าเล่นงานเต็มที่เพราะถือว่าเป็นพวกคุณทักษิณแทนที่จะมาทำงานรับใช้เจ้า









ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ หรือ เจ๊แดง

7 เมษายน 2552 คุณปภัสชนัญญ์ แกนนำกลุ่มคนของแผ่นดินลูกหลานย่าโม และเครือข่ายนปช.นครราชสีมา ซึ่งชุมนุมประท้วงพล.อ.เปรม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและรัฐบาลที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี นครราชสีมา





ได้เผาโลงศพจำลองมีข้อความว่า พระองค์ท่าน..พลเอกเปรม ฯ พันธมิตร รัฐบาลโจร ข้างโลงมีรูปภาพของพลเอกเปรมติดอยู่ด้วย ต่อมา กลุ่มพันธมิตรฯ และทหารในจ.นครราชสีมา ได้แจ้งความให้ดำเนินคดี ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2553 ศาลนครราชสีมาตัดสินจำคุก 3 ปี โดยศาลอ้างว่าพระองค์เจ้าหมายถึงกษัตริย์ภูมิพล



- ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ อายุ 28 ปี อาชีพการตลาดอิเลคทรอนิค มีความรู้ความชำนาญเรื่องอินเตอร์เนท ได้อ่านเและร่วมแสดงความคิดเห็นในเว็บฟ้าเดียวกัน ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 ในข้อหาดูหมิ่นกษัตริย์และนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพราะเขาได้แนะนำเว็บไซต์ที่มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขารับสารภาพโดยไม่มีทนายความ วันที่ 14 ธันวาคม 2552 ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี 18 เดือน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยไม่มีญาติมิตรมาเยี่ยมเยียน จนกลายเป็นคนเงียบขรึม เริ่มมีอาการทางประสาท เขาหวังว่าจะได้รับการอภัยโทษจากกษัตริย์ภูมิพล เพื่อให้ได้รับอิสรภาพและจะได้กลับไปใช้ชีวิตเป็นพลเมืองที่จงรักภักดีอีกคนหนึ่ง

อำพล ตั้งนพกุล หรืออากง อายุ 61 ปี วันที่ 4 สิงหาคม 2553 คุณอำพลถูกตำรวจกว่า 15 นาย พร้อมกองทัพนักข่าวเข้าค้นบ้านพักและจับกุมตัว โดยอ้างว่า เขาส่งข้อความเอสเอมเอส ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขานุการนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คุณอำพลปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าไม่เคยส่งเอสเอมเอส เพราะส่งไม่เป็น และเขาใช้โทรศัพท์มือถือสำหรับโทรเข้าออกเท่านั้น

อัยการเชื่อว่าจะมีผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ที่สำคัญคือคุณอำพลเป็นฮาร์ดคอร์ กลุ่มคนเสื้อแดงสมุทรปราการ ที่ กอ.รมน. ขึ้นบัญชีดำไว้แล้ว จึงต้องเล่นงานให้หนัก อัยการสั่งฟ้องและศาลไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่าเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบความรู้สึกของปวงชนชาวไทย เกรงว่าจะหลบหนี แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน โดยที่เขาป่วยเป็นมะเร็งช่องปาก และยังต้องช่วยภรรยาทำหน้าที่เลี้ยงดูหลาน 3 - 4 คนแทนลูกๆของเขาซึ่งต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ลูกชายก็ต้องออกจากงานเนื่องจากถูกที่ทำงานกดดัน

สุริยันต์ กกเปือย อายุ 29 ปี เป็นลูกมือช่วยพ่อซ่อมรองเท้าอยู่ย่านสนามเป้า ถูกจับกุมเมื่อ 4 ตุลาคม 2553 ศาลตัดสินจำคุก 6 ปี 1 เดือน สารภาพเหลือ 3 ปี 15 วัน
จากการโทรศัพท์จากตู้สาธารณะไปยัง 191 ข่มขู่จะวางระเบิดโรงพยาบาลศิริราช

ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล
หนุ่ม เมืองนนท์ หรือ เรดอีเกิ้ล
นักออกแบบเว็บไซด์ 15 มีนาคม 2554 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกคุณธันย์ฐวุฒิ 13 ปี ฐานหมิ่นกษัตริย์ตามมาตรา 112 โทษ 10 ปี และความผิดจากพรบ.คอมพิวเตอร์อีก 3 ปี โดยศาลชี้ว่า จำเลยไม่ได้นำสืบว่าหมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไม่ได้เป็นของจำเลย จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจริง คำพิพากษานี้ขัดกับหลักสำคัญในวิธีพิจารณาความอาญาที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยผู้มีหน้าที่พิสูจน์คือโจทก์ ไม่ใช่ จำเลย

แต่ศาลตัดสินโดยอ้างว่าจำเลยไม่ได้นำสืบเพื่อพิสูจน์ว่าตนบริสุทธิ์ และเป็นคดีความที่เกี่ยวกับเรื่องทางเทคนิคอย่างมากซึ่งศาลก็ไม่มีความรู้ที่ชัดเจน ต้องเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบ ถ้ามีปัญหาหรือไม่ชัดเจน ศาลมักต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย คือ ต้องยกฟ้อง แต่ศาลก็ต้องแสดงการปกป้องและรับใช้กษัตริย์อย่างเต็มที่ด้วยการลงโทษจำเลยข้อหา 112 ทุกคนอย่างรุนแรงโดยยกเว้นให้เฉพาะคนของฝ่ายกษัตริย์เองเท่านั้น

คุณธันย์ฐวุฒิให้การว่าต้องยอมรับสารภาพเนื่องจากถูกบังคับ และเกรง จะเกิดอันตรายกับบุตรชายวัย 11 ขวบเพราะเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมลูกชายของตนไว้ รวมทั้งไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับญาติ หรือทนายความ เขายังถูกผู้ต้องหาในเรือนจำรุมทำร้ายร่างกายหลายครั้ง

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ได้เดินสายปราศรัยชี้ให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ต้องรีบปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยต้องไม่เข้ามาแทรกแซงหรือคุมอำนาจบงการเรื่องทางการเมือง ตำรวจสน.โชคชัยพร้อมอาวุธได้บุกเข้าล้อมจับคุณสุรชัยที่สำนักงานแดงสยามนนทบุรี เวลาตีสอง วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 โดยศาลไม่ให้ประกันตัวทั้งๆที่คุณสุรชัยก็เคลื่อนไหวเป็นปกติและไปรายงานตัวทุกครั้งที่มีหมายเรียก

คุณสุรชัยให้ข้อมูลว่ามีผู้แจ้งความดำเนินคดีหมิ่น 3 เรื่องคือ กรณีพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสกับศาลปกครองก่อนมีการตัดสินคดีสำคัญ กรณีตนไปตั้งคำถามว่าในหลวงหายไปไหนในวันที่ 4 ธันวาคม 2551 ไม่เสด็จลงมหาสมาคม พระราชทานพระกระแสดำรัสแก่พสกนิกรตามปกติทุกปี และกรณีการแต่งตั้งและโปรดเกล้าฯให้นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าสภาแต่งตั้งตอนเช้า รีบโปรดเกล้าฯตอนเย็น

สมยศ พฤษาเกษมสุข ถูกออกหมายจับโดยไม่รู้ตัว เจ้าหน้าที่ไม่เคยแจ้งให้ทราบ โดยถูกจับที่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองหรือ ตม.เมื่อจะเดินทางเข้าเขมร โดยไม่ให้ประกันตัว เพราะศาลมองว่าจะหลบหนี ทั้งๆที่คุณสมยศถูกออกหมายจับตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.2554 และเมื่อวันที่ 20-22 ก.พ.2554 เขายังนำคณะทัวร์ไปเขมร และยังขึ้นเวทีปราศรัย แถลงข่าว เคลื่อนไหว อยู่ตามปกติ กระทั่งจะนำคณะทัวร์ไปเขมรอีกครั้งเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2554 จึงถูกจับ

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท
คดีแรก : มาตรา 14, 15 พ.ร.บ.คอม วันที่ 6 มี.ค.2552 ตำรวจได้บุกจับกุมคุณจีรนุช เพราะมีผู้โพสต์ข้อความในเว็บมีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง แม้ข้อความถูกลบไปแล้วหลายเดือน ต่อมาอัยการได้ยื่นฟ้องคุณจีรนุชในฐานความผิดเป็นผู้ให้บริการ จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำผิดโดยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
คดีที่สอง : มาตรา 14, 15 พ.ร.บ.คอม , 112, 116 กฎหมายอาญา

วันที่ 24 ก.ย.2553 คุณจีรนุช ถูกควบคุมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิหลังกลับจากการประชุม เรื่องเสรีภาพทางอินเตอร์เนท 2010 ที่ประเทศฮังการี และถูกนำตัวไปสอบสวนยัง สภอ.ขอนแก่นทันที ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตั้งแต่ปี 2551 จากกรณีที่มีผู้โพสต์ความคิดเห็นท้ายข่าวในเว็บไซต์ประชาไท ที่มีการรื้อฟื้นหาเรื่องข่มขู่คุกคามคุณจีรานุชก็เพื่อต้องการปิดปากเวบประชาไทยที่มักจะเสนอข่าวสารและข้อเท็จจริงที่ส่งเสริมรูปการจิตสำนึกในระบอบประชาธิปไตยซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบอบเผด็จการราชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดดังที่เป็นอยู่

จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์
วันที่ 24 เมษายน 2551 เวลา 23.00 น. คุณจิตราได้รับเชิญให้ไปออกรายการของสถานีโทรทัศน์เอนบีทีช่อง 11เดิม หัวข้อ “ทำท้อง ทำแท้ง” โดยเธอได้ใส่เสื้อยืดสีดำ มีข้อความว่า “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” ซึ่งเป็นเสื้อรณรงค์กรณีที่นักศึกษาคนหนึ่งที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นเบื้องสูงจากการที่เขาไม่ยืนในโรงหนังขณะมีเพลงสรรเสริญพระบารมี ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2551 เวปไซท์ผู้จัดการออนไลน์ ได้ลงข่าวว่าคุณจิตรา ใส่เสื้อตัวดังกล่าว เป็นแนวร่วมโค่นล้มคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นแนวร่วมกับนปก.

โดยมีผู้เขียนด่าทอ ขู่ทำร้าย ซึ่งต่อมาบนเวทีพันธมิตรฯมีการกล่าวหาคุณจิตราสนิทกับระบอบทักษิณ ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับเว็บประชาไท นิตรสารฟ้าเดียวกัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่จงใจลบหลู่สถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจน มีการประกาศให้ร่วมกันต่อต้านสินค้าจากบริษัทไทรอัมพ์ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้งโดยคมช. และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการโจมตีว่าเธออยู่ในขบวนการล้มล้างกษัตริย์

บริษัทไทรอัมพ์ จึงดำเนินการขออำนาจศาลเลิกจ้างคุณจิตรา โดยให้เหตุผลว่า สร้างหรือร่วมสร้างสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความแตกสามัคคี จงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท ซึ่งต่อมาศาลแรงงานก็ได้มีคำสั่งเลิกจ้างคุณจิตรา ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 คุณจิตราได้ร้องขอให้พิจารณาคดีดังกล่าวอีกครั้ง



วันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 ศาลแรงงานตัดสินให้บริษัทฯเลิกจ้างคุณจิตรา โดยระบุว่า..ประชาชนไทยให้ความเคารพยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์ใครบังอาจดูหมิ่น เหยียดหยามไม่ได้ การที่คุณจิตรา ใส่เสื้อยืดดังกล่าวออกรายการโทรทัศน์อาจส่งผลกระทบต่อชาติ และมีผู้เรียกร้องให้ประชาชนเลิกซื้อสินค้า…ทำให้นายจ้างเสียหายและอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จึงอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างคุณจิตรา โดยที่เธอไม่ต้องรับเงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้างใดๆ เป็นการสั่งสอนคนที่บังอาจมีปัญหาเรื่องความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัว

จตุพร พรหมพันธุ์ วันที่ 12 พ.ค.2554 ศาลอาญามีคำสั่งถอนประกัน 2 แกนนำนปช.คือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายนิสิต สินธุไพร ฐานละเมิดคำสั่งศาลจากการขึ้นเวทีปราศรัยฐานปราศรัยหมิ่นสถาบัน อาจส่อไปให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมืองคืนวันที่10 เม.ย. 2554 ในการชุมนุมครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

โดยคุณจตุพรได้ขึ้นปราศรัยมีใจความว่า: แค่เรียกร้องให้มีการยุบสภา เพราะรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้มาจากการปล้น เริ่มต้นจากศาลรัฐธรรมนูญ จนไปจัดตั้งรัฐบาลในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ผมเคยบอกว่าคุณจะเอาหน่วยไหนมาฆ่าผม ใช้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท พวกผมยังไม่เจ็บปวด ยกเว้นสองหน่วยอย่าเอามาฆ่าได้ไหม คือ หนึ่ง ทหารรักษาพระองค์ และสอง ทหารเสือราชินี เพราะพวกเรามีความเจ็บปวด ประชาชนมันเจ็บใจ.....ผมก็อยากให้วู้ดดี้เชิญนายจตุพร หรือนางพะเยาว์ อัคฮาดไปออกรายการบ้าง เพราะเราไม่ได้เกิดมาคุย แต่เกิดมาตาย..

ซึ่งศาลเห็นว่าคำปราศรัยดังกล่าวก็เป็นเรื่องจริงทั้งนั้น แต่ถือว่าเป็นการพาดพิงสถาบันกษัตริย์ จึงต้องสั่งสอนไม่ให้ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่าง โดยศาลไม่ให้ประกันตัวทั้งๆที่คุณจตุพรก็เป็นผู้สมัครส.ส.บัญชีและเป็นผู้ปราศรัยหาเสียงคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยที่เป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ของกษัตริย์ จึงเท่ากับเป็นการตัดกำลังคู่แข่ง

ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ตามหมายเรียก ที่ สน.นางเลิ้งเมื่อวันที่ 11 พ.ค.2554 ตามที่กองทัพบกเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ จากกรณีที่อ.สมศักดิ์ได้เขียนบทความการให้สัมภาษณ์ของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ ราวปลายเดือนมีนาคม-เมษายน ทั้งๆที่มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองฟ้าหญิงจุฬาภรณ์

โดยในชั้นนี้ยังไม่ต้องมีการประกันตัว เบื้องต้นอาจารย์สมศักดิ์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและพร้อมต่อสู้ในชั้นต่อไปโดยตั้งข้อสังเกตว่าการฟ้องคดีนี้เป็นหน้าที่ของกองทัพหรือไม่ การออกหมายเรียกจึงไม่ใช่กระบวนการปกติตามกฎหมาย แต่เกิดจากกองทัพออกมาพูดโจมตีคนที่พวกเขามองว่าหมิ่นฯสถาบันกษัตริย์ ประเทศไทยได้มาถึงจุดที่ว่า ถ้าใครพูดอะไรเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์หรือราชวงศ์ที่ผิดจากไปจากการสรรเสริญสดุดีตามแบบของทางราชการ ก็จะถูกหาว่าหมิ่นได้ทันที

การฟ้องคดีมาตรานี้อย่างครอบจักรวาลในหลายกรณีทำให้ผู้คนหวาดกลัวที่จะพูด มีแนวโน้มว่ารัฐใช้กฎหมายนี้อย่างพร่ำเพรื่อ มีหลายรายที่ไม่ได้รับการประกันตัวเลย ทั้งที่เป็นกระบวนการเริ่มแรก สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในทางสากล
นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังขยายการใช้กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ไปยังประเทศต่างๆ คล้ายกับจะทำให้เรื่องการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไทยกลายเป็นความผิดทางอาญาระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างมากและคอยสอดส่องอย่างเข้มงวดต่อการแสดงความคิดเห็นที่พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์โดยควบคุมนักวิชาการทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยอ้างว่าการถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นภัยต่อความมั่นคง สถานทูตไทยทั่วโลกได้รับคำสั่งให้เฝ้าระวังผู้ที่คิดเห็นต่างไปจากอุดมการณ์นิยมกษัตริย์ของรัฐไทย และให้ใช้กลไกระหว่างรัฐ กดดันสถาบันและนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ของไทยในต่างประเทศด้วย โดยมองว่าบุคคลเหล่านี้เป็นศัตรูของรัฐไทย ทั้งๆที่ไม่มีอำนาจเหนืออธิปไตยในประเทศอื่นๆนอกแผ่นดินไทย

ในปี 2549 เมื่อรัฐบาลไทยทราบว่าสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยเยลวางแผนที่จะตีพิมพ์หนังสือของพอล แฮนด์ลีย์ (Paul Handley)ที่ชื่อ The King Never Smiles หรือกษัตริย์ไม่เคยยิ้ม รัฐบาลไทยก็ได้ว่าจ้างอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เพื่อล็อบบี้หรือวิ่งเต้นไม่ให้มหาวิทยาลัยเยลตีพิมพ์หนังสือดังกล่าว แต่ผู้บริหารสำนักพิมพ์กล่าวว่าเนื้อหาในหนังสือของแฮนด์ลีย์เป็นงานศึกษาทางวิชาการ ที่ต้องปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง

ต่อมารัฐบาลไทยก็พยายามใช้มาตรการกดดันสถาบันทางวิชาการในออสเตรเลียที่ถูกมองว่ามี ทัศนคติที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ไทย เช่น เว็บไซต์นิวแมนดาลา ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) โดยรัฐบาลไทยไม่พอใจเนื้อหาว่าไม่เหมาะสมต่อสถาบันกษัตริย์ไทย และขอให้เว็บไซท์หยุดพูดคุยเรื่องกษัตริย์ไทย โดยขู่ว่าจะไม่ให้ความร่วมมือและได้เสนอเงินเพื่อก่อตั้งสถาบันไทยศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียโดยมีเงื่อนไขว่านิวแมนดาลาต้องยุติการวิจารณ์รัฐบาลและกษัตริย์ไทย แต่ถูกปฏิเสธจึงไปลงที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นแทน

เอกชัย หงส์กังวาน วันที่ 23 พ.ค.2554 พนักงานอัยการ ได้เรียกตัวนายเอกชัย อายุ 35 ปี
ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญา หลังจากที่ตำรวจได้ล่อซื้อวีซีดี ที่เขาขายแผ่นละ 20 บาทเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2554 บริเวณอนุสาวรีย์ทหารอาสาข้างสนามหลวงแล้วแจ้งข้อหาคดีหมิ่นเบื้องสูง เป็นวีซีดีของสำนักข่าว เอบีซี ออสเตรเลีย ซึ่งมีฉากคลิ้ปริมสระน้ำ

ปรากฏบุคคลคล้ายกับพระบรมโอรสาธิราช และภาพคล้ายพระองค์เจ้าศรีรัศม์ พระวรชายาที่โชว์เปลือยหน้าอก รวมทั้งเอกสารวิกิลีกที่มีข้อความที่พลเอกเปรม นายอานันท์ ปัญญารชุนและพลอากาศสิทธิ์ เศวตศิลา แสดงความเห็นไม่เชื่อมั่นฟ้าชายวชิราลงกรณ์ถ้าได้ขึ้นครองราชย์ เท่ากับเป็นการรายงานตัวให้ทูตสหรัฐซึ่งเป็นลูกพี่ใหญ่ค้ำจุนราชวงศ์จักรีได้รับทราบความห่วงกังวลของพวกตน ทั้งๆที่เป็นเรื่องภายในของเครือข่ายกษัตริย์ที่มีรัฐบาลสหรัฐหนุนหลัง แต่ถ้าเป็นฝ่ายอื่นนำมาเผยแพร่ก็จะโดนข้อหาหมิ่นกษัตริย์ พวกแกนนำเสื้อแดงบางคนก็จะเอากฎหมายหมิ่นกษัตริย์ไปเล่นงานเครือข่ายของกษัตริย์ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลวไหลไร้สาระ เพราะกฎหมายเผด็จการของกษัตริย์เขามีไว้เล่นงานฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น นายเอกชัยโดนข้อหาหมิ่นกษัตริย์รวมทั้งได้ประกอบธุรกิจจำหน่ายแผ่นวีซีดีโดยไม่มีใบอนุญาต

เลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ ตำรวจจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นำตัวคุณเลอพงษ์ อายุ 55 ปี หรือ มิสเตอร์โจ ดับบลิวกอร์ดอน Mr.Joe W.Gordon อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชายไทยถือสัญชาติอเมริกัน ผู้ต้องหาคดีดูหมิ่นกษัตริย์ มาขออำนาจศาลฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2554 หลังถูกตำรวจของดีเอสไอนำหมายจับและหมายค้นบุกเข้าจับกุมตัวที่บ้านพักในนครราชสีมา
ผู้ต้องหารายนี้เคยอยู่รัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกานาน 30 ปี และกลับมาใช้ชีวิตอยู่ประเทศไทยเพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคเก๊าท์ประมาณ 1 ปีแล้ว โดยดีเอสไอกล่าวหาว่าระหว่างอยู่ในประเทศไทย ได้เขียนบทความและนำข้อความโพสต์ลงในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเข้าข่ายหมิ่นกษัตริย์และเผยแพร่ทางอินเตอรเนท ผิดตามมาตรา 112 และ 116

ผู้ต้องหายอมรับว่า เป็นคนโพสต์ข้อความทางอินเทอร์เน็ตจริง แต่ไม่มีเจตนาหมิ่นเบื้องสูง เพื่อนของคุณเลอพงษ์ได้นำโฉนดที่ดินมาเป็นหลักทรัพย์ยื่นขอประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาตโดยอ้างว่าเป็นคดีร้ายแรงเกี่ยวกับความมั่นคง
13 มิ.ย.54 เวลา 14.00 น. ทนายความและญาติของคุณ เลอพงษ์ ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลอาญา โดยอ้างถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเหตุอาการความดันโลหิตสูง และโรคเกาต์ของผู้ต้องหา ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและจากแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ ต่อมาเวลา 16.30 น.ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องโดยระบุว่า การกระทำของผู้ต้องหานำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันกษัติริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ หากให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

นายวอลเตอร์ เอ็ม. เบราโนห์เลอร์ ( Walter M. Braunohler ) โฆษกสถานทูตสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่จากสถานทูตสหรัฐฯ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมนายเลอพงษ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อเช้าวันที่ 27 พฤษภาคม2554 มีการเผยแพร่ข่าวนี้ในสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง เนื่องจากนายเลอพงษ์ ถือสัญชาติอเมริกันและใช้หนังสือเดินทางของสหรัฐในการเดินทางเข้าประเทศไทย และกำลังมีปัญหาสุขภาพจากโรคเก๊าท์และความดันโลหิตสูง ขณะที่องค์กรนานาชาติด้านสิทธิเสรีภาพฟรีดอมเฮาส์ได้แถลงเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 แถลงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวคุณเลอพงษ์ และยืนยันว่าประเทศไทยต้องให้ประชาชนสามารถวิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเปิดเผยและไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกลงโทษจากกฎหมายหมิ่นกษัตริย์และกฎหมายคอมพิวเตอร์

ประเทศไทยมาถึงจุดที่การใช้อำนาจที่ล้อมรอบสถาบันกษัตริย์นั้นขัดกับสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ตราบใดที่ยังมีข่าวในพระราชสำนักที่โฆษณาด้านเดียวทุกวันเวลาสองทุ่ม ตราบใดที่ทุกโรงเรียนยังมีการสั่งสอนแบบเดิม ต่อให้แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ได้ ก็ไม่มีผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และไม่มีทางที่จะให้มีการอภิปรายกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 หรือกรณี 6 ตุลา 2519 ได้อย่างเสรี เพราะอำนาจของกษัตริย์ไทยได้สะสมมาถึงจุดที่ต้องเลิกการสร้างรูปการจิตสำนึกนิยมกษัตริย์จึงจะแก้ปัญหาไปพร้อมๆกันได้ ที่สำคัญคือปัญหาเรื่องรูปการจิตสำนึกซึ่งต้องทำกันขนานใหญ่ เช่น เรื่องสถานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดกษัตริย์ และเรื่ององคมนตรี



คนเราไม่ควรติดคุกเพียงเพราะคำพูด ควรเหลือแค่โทษปรับก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่ตกยุคสมัยไปแล้ว มีวิธีเดียวที่กษัตริย์จะอยู่รอดต่อไป คือการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย สอดคล้องกับประชาธิปไตย




การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่เรื่องแปลก

ในฐานะพลเมืองของประเทศซึ่งปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่อนุญาตให้มีกษัตริย์เป็นประมุขโดยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือหาข้อพิสูจน์ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ต้องถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องเปิดให้พลเมืองสามารถตรวจสอบสถาบันทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ ตามสิทธิและเสรีภาพ โดยไม่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลในสถาบันทางการเมือง เช่น สถาบันกษัตริย์ ย่อมต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อการวิพากษ์วิจารณ์ให้สูงขึ้นกว่าพลเมืองธรรมดาทั่วไปเสียอีก เนื่องจากบทบาทหน้าที่ของกษัตริย์ ย่อมเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองอย่างขาดเสียมิได้


คุณงามความดี หรือกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะทำมามากเพียงใด ก็ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลหักล้างการวิพากษ์วิจารณ์บทบาททางการเมืองของบุคคลในสถาบันกษัตริย์ได้ เพราะย่อมไม่มีใครอยู่เลยพ้นการตรวจสอบ ด้วยเหตุผลของการทำงานหนัก หรือเป็นที่เคารพสักการะของพลเมือง

หลักการ อันล่วงละเมิดมิได้เพราะกษัตริย์ต้องอยู่นอกเหนือการเมือง กษัตริย์ไม่อาจทำผิดเพราะกษัตริย์ไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำสิ่งใดโดยตนเองตามลำพัง โดยต้องได้รับการอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี หรือประธานสภา เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ การกระทำใดในนามของกษัตริย์ด้วยตนเองตามลำพังย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมให้เกิดขึ้นได้ในระบอบประชาธิปไตยที่อนุญาตให้มีกษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หลักการนี้ยังครอบคลุมไปถึงบุคคลอื่นๆ ในสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ และองคมนตรี สถาบันกษัตริย์ย่อมต้องแสดงความเป็นเอกภาพของชาติ

แต่เมื่อบุคคลในสถาบันกษัตริย์เปิดเผยความรู้สึกนึกคิดของตน ไม่อาจเป็นตัวแทนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติได้ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพลเมืองทุกคน เมื่อนั้นหลักความละเมิดมิได้ของสถาบันกษัตริย์ย่อมถูกงดเว้นไปด้วย ถึงตอนนั้นบุคคลในสถาบันกษัตริย์ก็ไม่อาจเป็นสถาบันกษัตริย์ เพราะพวกเขาได้กลายเป็นเพียงบุคคลธรรมดาไปแล้ว

ซึ่งต่างจากหลักการอันล่วงละเมิดมิได้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งวางอยู่บนความคิดที่ว่า กษัตริย์เป็นสมมุติเทพในร่างมนุษย์ที่ล่วงละเมิดมิได้ สามัญชนผู้อยู่ใต้การปกครองต้องไม่ตั้งคำถามต่ออำนาจของกษัตริย์ และห้ามล่วงละเมิดโดยเด็ดขาด สามัญชนต้องมีหน้าที่ทำงานรับใช้กษัตริย์เท่านั้น ความคิดที่จะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือหาข้อพิสูจน์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถือเป็นความคิดที่ผิดปกติและการท้าทายเทพเจ้าเช่นนี้ ย่อมสมควรได้รับโทษทัณฑ์ ด้วยเหตุนี้ สถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช จึงไม่ได้ถูกเทอดทูนให้เป็นที่เคารพสักการะ และละเมิดมิได้ด้วยเหตุของความเป็นกลางทางการเมือง แต่ด้วยเหตุแห่งชาติกำเนิดที่เกิดมาโดยสืบทอดสายเลือดของเทพเจ้าบนพื้นพิภพ
หลักการอันล่วงละเมิดมิได้ที่ใช้กันในประเทศไทย ที่ครอบงำความคิดของบุคคลากรในกองทัพ รวมทั้งสังคมไทยจึงเป็นหลักการในระบอบสมบูรณาญาสิทธราชย์หรือราชาธิปไตยนั่นเอง

ในระบอบประชาธิปไตยที่อนุญาตให้มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่พลเมืองที่จะต้องระวังคำพูดของตนมิให้กระทบกระเทือนสถาบันกษัตริย์ แต่เป็นบุคคลในสถาบันกษัตริย์เองที่จะต้องระมัดระวังการปฏิบัติตนให้ดำรงอยู่ในความเป็นกลางทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกนึกคิดของพลเมืองและให้ประโยชน์แก่กลุ่มการเมืองบางกลุ่มย่อมเป็นการปฏิบัติที่ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์

สังคมไทยจึงควรส่งเสริมสนับสนุนการตรวจสอบการปฏิบัติตนของบุคคลในสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่เอาแต่จับตาเฝ้าระวังพลเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ คอยแต่ชี้หน้ากล่าวหาว่าเป็นบุคคลที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และต้องถูกลงโทษไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าประหลาดมากที่คนซึ่งมีสติสัมปชัญญะสมประกอบ และมีสติปัญญาจำนวนมากยังเห็นว่าการจับกุมคนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์นั้นเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย และในโลกสมัยใหม่ที่เห็นคุณค่าของสิทธิมนุษยชนมากกว่าสิทธิของอภิสิทธิ์ชน ทำไมจึงยอมรับให้มีอภิสิทธิ์ชนที่อยู่เหนือกฎหมาย และอยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ มีสิทธิที่จะแทรกแซงการเมือง และ สิทธิที่จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ผิด

เมื่อประชาชนพากันประท้วงอภิสิทธิ์อันนี้ พวกอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ก็พากันคิดว่าตนกำลังถูกละเมิดสิทธิ์อันมีมาแต่กำเนิดโดยชอบธรรม และพากันอ้างกฎหมายซึ่งปกป้องอภิสิทธิ์ของตนเอาไว้อย่างหนาแน่นเพื่อปิดปากประชาชน ถ้าประชาชนไม่มีทางออก ผลที่ตามมาอาจรุนแรงก็ได้

มาตรา 112 ที่ใช้กันอย่างเข้มงวดและรุนแรงย่อมขัดกับหลักการในระบอบประชาธิปไตย และไม่ใช่กฎหมายปกป้องสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นกฎหมายเผด็จการที่มีไว้ปกป้องระบอบเผด็จการกษัตริย์หรือกษัตริย์ที่เป็นทรราชเท่านั้นเอง

........
........

ไม่มีความคิดเห็น: