วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รู้ทันชั้น16/2 : กฎหมายของใคร C2 1604



ฟังเสียง :  http://www.mediafire.com/?vthk5t8aex2180k
หรือที่ : http://www.4shared.com/mp3/qUzLsFFe/See_Thru_Floor_16_-1604_.html
......................


รู้ทันชั้น 16
ภาคที่ 2 : กฎหมายของใคร

นิติรัฐ กับ นิติธรรม (Rule of Law)



นิติรัฐ หรือรัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมาย หมายถึงรัฐที่ยอมลดตนเองลงมาอยู่ภายใต้ระบบกฎหมาย ให้องค์กรผู้ใช้อำนาจแทนปวงชนทั้งหลายจะใช้อำนาจได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายกำหนด ที่เรียกว่า ไม่มีกฎหมาย ก็ไม่มีอำนาจ และเมื่อใช้อำนาจก็ต้องใช้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย เป็นการเปลี่ยนจากอำนาจดั้งเดิมที่ไม่มีข้อจำกัด ให้กลายเป็นอำนาจตามกฎหมาย คือ ก่อนใช้อำนาจ ฝ่ายปกครองต้องพิจารณาว่ามีกฎหมายให้ใช้อำนาจหรือไม่ และเมื่อใช้อำนาจนั้นก็ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยมีองค์กรตุลาการตรวจสอบว่าฝ่ายปกครองกระทำการตามเช่นนั้นหรือไม่ การตรากฎหมายขององค์กรนิติบัญญัติก็ต้องเป็นไปตามกรอบและเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขข้ออ้างของรัฐเผด็จการซึ่งอ้างว่ากระทำการในนามของกฎหมาย หลักนิติรัฐจึงได้ขยายเข้าไปสู่เนื้อหาและคุณภาพของกฎหมาย กล่าวคือ กฎหมายในนิติรัฐต้องมีเนื้อหาที่แน่นอนชัดเจน ไม่มีโทษย้อนหลัง ได้สัดส่วน มีความเป็นธรรมและเสมอภาค คือหลักนิติรัฐเริ่มขยับเข้าใกล้กับหลักนิติธรรมมากขึ้น

หลักนิติธรรมหรือ Rule of Law คือกฎหมายที่เป็นธรรม มีเนื้อหาหลัก 3 ประการ ได้แก่
1.) บุคคลจะถูกลงโทษก็ต่อเมื่อกระทำผิดกฎหมายที่ตราขึ้นด้วยกระบวนการปกติธรรมดา และศาลปกติธรรมดาวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายนั้น
2.) ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายปกติธรรมดา และอยู่ภายใต้ระบบศาลปกติธรรมดาอย่างเท่าเทียมกัน การสร้างระบบศาลเฉพาะสำหรับใช้ต่อฝ่ายปกครองหรือนักการเมืองจึงไม่เป็นธรรม
3.) สิทธิและเสรีภาพต้องรับรองโดยกฎหมายปกติธรรมดาหรือศาลปกติธรรมดา คือใช้ได้จริงไม่ใช่เพียงแค่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเฉยๆ

รูปธรรมของนิติธรรมหรือกฎหมายที่เป็นธรรม ต้องประกอบด้วย
-กฎหมายต้องมีผลไปข้างหน้า ไม่มีผลย้อนหลัง
-กฎหมายต้องมีความมั่นคงและแน่นอน ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงบ่อย
-กฎเกณฑ์และกระบวนการในการตรากฎหมายต้องชัดเจนแน่นอน
-ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระขององค์กรตุลา
-มีหลักประกันความยุติธรรมตามธรรมชาติ มีกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และการฟังความจากทุกฝ่าย
-องค์กรตุลาการมิใช่มีอำนาจไม่จำกัด แต่มีอำนาจแค่ควบคุมการกระทำขององค์กรอื่นให้อยู่ในกรอบของกฎหมายเท่านั้น
-ประชาชนมีสิทธิ์เข้าถึงองค์กรตุลาการได้โดยง่าย มิใช่อ้างว่าตัดสินในพระปรมาภิไธย ห้ามผู้ใดวิจารณ์ ไม่อย่างนั้นจะถูกศาลลงโทษจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาล

-องค์กรในกระบวนการยุติธรรมอาญาไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจ เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดให้ใช้ดุลยพินิจได้ ตุลาการจะตัดสินตามใจชอบไม่ได้ หรือตัดสินตามใบสั่งแล้วค่อยหาเหตุผลมารองรับอย่างข้างๆคูๆไม่ได้ ยังไงก็ได้
การที่วงการกฎหมายไทยและศาลไทยยอมรับคำสั่งของคณะรัฐประหารทั้งปวงว่าเป็นกฎหมายทั้งๆที่มีเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรมเท่ากับว่าประเทศไทยไม่ใช่นิติรัฐมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว เพราะนิติรัฐต้องไม่ยอมรับอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร

หลักนิติรัฐ

-หลักการแบ่งแยกอำนาจต้องมีการแบ่งแยกหรือกระจายการใช้อำนาจของรัฐ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลย์และคานอำนาจกัน โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็นนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
-หลักความชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติจะตรากฎหมายเกินกรอบที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ไม่ได้ ฝ่ายบริหารมีอำนาจเท่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น และตุลาการต้องผูกพันต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้บังคับจริง

-รัฐต้องประกันสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง โดยยุติธรรมคือ ต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่เหมือนกันให้เหมือนกัน มีความเสมอภาคของพลเมือง ให้พลเมืองมีส่วนร่วมแสดงความคิดและก่อตั้งเจตจำนงในทางมหาชน เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงได้ตามความสามารถของตน พระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นเพียงประมุขของรัฐ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนของรัฐ ไม่ได้มีฐานะแตกต่างในความเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่าประชาชนทั่วไป ประชาชนมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องสาธารณะ โดยไม่มีข้ออ้างอื่นมาจำกัดได้


เนื้อหาของนิติรัฐ

-กฎหมายต้องมีความชัดเจนและแน่นอนเพียงพอที่ราษฎรจะเข้าใจได้ น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ ห้ามตรากฎหมายย้อนหลังที่เป็นผลร้ายแก่บุคคลไม่ว่าจะเป็นโทษทางแพ่งหรือทางอาญา เพราะบุคคลไม่สามารถหวนกลับไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำของตนในอดีต จึงห้ามตรากฎหมายไปกำหนดความผิดขึ้นใหม่ กำหนดโทษขึ้นใหม่ในขณะที่ได้กระทำการไปแล้ว
-ต้องบัญญัติสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลไว้ในรัฐธรรมนูญและต้องให้เป็นกฎหมายโดยตรงอีกด้วย เป็นการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง
-มีหลักความพอสมควรแก่เหตุ ให้ใช้อำนาจโดยพอเหมาะพอประมาณที่ชอบธรรม ห้ามการกระทำตามใจชอบ โดยเคารพต่อความเสมอภาค คือ ต้องปฏิบัติต่อเรื่องสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันให้เหมือนกัน และปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกัน ให้แตกต่างกัน มิใช่เลือกปฏิบัติที่เรียกกันว่าสองมาตรฐาน คือเรื่องเดียวกันถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามกระทำให้ถือว่าผิด แต่ถ้าเป็นพวกของตนกระทำถือว่าไม่ผิด

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีความเป็นนิติรัฐหรือนิติธรรมแม้แต่น้อย เช่น

-ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.มีอำนาจวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลก่อนประกาศผลการเลือกตั้งและให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด ซึ่งเท่ากับให้อำนาจองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการการเลือกตั้งเป็นศาลได้ในตัวเอง

-ให้การกระทำความผิดของบุคคลคนเดียวนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองทั้งพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลที่เป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย แม้บุคคลนั้นจะไม่ได้กระทำความผิดก็ตาม เท่ากับเป็นการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล

-มีบทบัญญัติให้รับรองการกระทำที่เกี่ยวเนื่องของของคณะรัฐประหารแม้จะกระทำต่อไปในอนาคตว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่ากับเป็นการทำลายความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
รัฐไทยที่มีกษัตริย์ผูกขาดการใช้อำนาจ ได้นำหลักนิติรัฐมาเป็นวาทกรรมหรือข้ออ้างทางการเมือง



 
เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครอง และต้องการให้นานาอารายประเทศยอมรับ โดยการประกาศตนเป็นนิติรัฐ ที่ปกครองประเทศด้วยกฎหมาย กฎหมายและศาลถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากขึ้น ให้ทุกอย่างสิ้นสุดชี้ขาดที่ศาล ศาลถูกต้องเสมอและห้ามผู้ใดวิจารณ์ กกต. ปปช.และศาลต่างๆ มีอำนาจสารพัดเหนือการเมืองและเหนือเจตนารมณ์ของประชาชน ศาลมีความชอบธรรมในการปลดนักการเมืองออกจากตำแหน่ง ศาลสามารถล้มกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภา ศาลมีอำนาจไปล้มโครงการและขัดขวางอำนาจบริหารที่มีฐานความชอบธรรมมาจากประชาชน

นิติรัฐจึงกลายเป็นเพียงข้ออ้าง เพื่อครอบงำสังคม การใช้และการตีความกฎหมายที่พยายามทำให้เป็นหลักวิชาการ แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นการกระทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจเท่านั้น
การแทรกแซงการเมืองในนามของกฎหมายกฎหมายได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นของการปกครองในรัฐสมัยใหม่ ในฐานะตัวแทนของความชอบธรรม ที่เรียกว่านิติธรรมแทนที่วิธีล้าสมัยแบบเดิมๆ เช่น การใช้อาวุธ การลอบฆ่า การลักพาตัว การยึดทรัพย์โดยคณะรัฐประหาร

เมื่อคณะรัฐประหารเข้ามายึดอำนาจได้สำเร็จ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อรับรองความชอบด้วยกฎหมายของการรัฐประหาร ด้วยการล้มรัฐธรรมนูญเก่าเพื่อลบล้างความผิด และ เสกรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเปลี่ยนอำนาจนอกรัฐธรรมนูญให้กลายเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ตรากฎหมายต่างๆ และแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่ง เมื่อการรัฐประหารเป็นไปเพื่อกำจัดรัฐบาลเดิม จึงต้องสร้างกลไกปราบปรามให้มีความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ด้วยการซ่อนกลไกนั้นให้อยู่ในรูปของกฎหมาย

อำนาจนอกรัฐธรรมนูญอาจเขียนกฎหมายกำหนดโทษแรงขึ้นและให้มีผลย้อนหลัง เขียนกฎหมายแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆเพื่อทำหน้าที่จัดการทำลายรัฐบาลเดิม และปราบปรามฝ่ายตรงข้ามโดยใช้องค์กรตุลาการ จึงต้องสนับสนุนเรื่องตุลาการภิวัฒน์ คือให้ตุลาการมีอำนาจมากกว่ากว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยสร้างความเชื่อว่านักการเมืองเป็นคนเลว การเลือกตั้งเป็นเรื่องสกปรก แต่องค์กรตุลาการเป็นคนดี มีคุณธรรม มีความเป็นกลาง ปราศจากผลประโยชน์ จึงต้องให้อำนาจองค์กรตุลาการควบคุมนักการเมือง และขยายบทบาทของตุลาการไปคุมการเมือง

การยืมมือ องค์กร ตุลาการ ในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม นับเป็นอุบายที่แนบเนียน เพราะอำนาจนอกรัฐธรรมนูญสามารถอ้างได้ว่าตนเป็นนิติรัฐต้องเคารพกฎหมายและคำตัดสินของศาล โดยมีกฎหมายห้ามหมิ่นห้ามวิจารณ์ศาลและห้ามพาดพิงกษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายราชาธิปไตย

องค์กรตุลาการกับประชาธิปไตย

รัฐใดที่เป็นนิติรัฐต้องยอมรับบทบาทขององค์กรตุลาการ ในการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารให้เป็นไปตามกฎหมาย ควบคุมรัฐสภาให้ออกกฎหมายสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดอำนาจหลักการและหน้าที่องค์กรตุลาการให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย 6 ประการ คือ

-ความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ

การจัดตั้งศาลต้องทำโดยกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา การจัดตั้งศาลเฉพาะเพื่อคดีใดคดีหนึ่งไม่อาจกระทำได้ การโยกย้ายผู้พิพาษาต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษานั้นด้วย การแต่งตั้งโยกย้ายและดำเนินการทางวินัยเป็นอำนาจของคณะกรรมการตุลาการ การบริหารงบประมาณของศาลเป็นไปอย่างอิสระ เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษาสูงกว่าอาชีพอื่นๆองค์กร
ตุลาการ ต้องไม่ให้ฝ่ายการเมืองแต่งตั้งโยกย้ายหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ และตำแหน่งผู้พิพากษาไม่ได้มาโดยการเลือกตั้งของประชาชน แต่องค์กรตุลาการรับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยการให้สังคมได้วิจารณ์คำพิพากษาอย่างเต็มที่ มิใช่การใช้กฎหมายปิดปากห้ามวิจารณ์คำพิพากษา แต่รัฐไทยถือว่าผู้พิพากษาเป็นข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัวผู้กุมอำนาจสูงสุดที่สามารถให้คุณให้โทษได้ ศาลไทยจึงทำหน้าที่เหมือนทหารไทยคือทำตามคำสั่งของในหลวงไม่ว่าจะผิดกฎหมายหรือผิดหลักความยุติธรรมใดๆก็ตาม เพราะถ้าใครไม่ทำก็จะต้องกลายเป็นจำเลยเหมือนอย่างที่กกต.สมัยพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภที่ต้องถูกตีตรวนเข้าคุกเพราะไม่ดำเนินการตามที่ตัวแทนของกษัตริย์ต้องการ

-ความเป็นกลางขององค์กรตุลาการ
และคำพิพากษาที่น่าเชื่อถือ


องค์กร ตุลาการต้องดำรงตนอย่างเป็นกลางและปราศจากอคติ ต้องให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ผู้พิพากษาต้องถอนตัวถ้ามีส่วนได้เสียกับประเด็นแห่งคดี ผู้พิพากษาต้องไม่เข้าไปเล่นการเมืองด้วยการไปดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ไปร่างรัฐธรรมนูญ ไปร่างกฎหมาย หากเข้าไปแล้วก็ไม่ควรกลับมาเป็นผู้พิพากษาอีก คำพิพากษาต้องไม่เกิดจากการตั้งเป้าไว้ล่วงหน้าแล้วค่อยหาเหตุผลไปอ้างทีหลัง ตัวคำพิพากษาต้องมีเหตุผลสามารถทำให้บุคคลที่ไม่พอใจก็ยังคงยอมรับนับถือคำพิพากษาได้ คำพิพากษาต้องสนับสนุนความชอบด้วยกฎหมายและความแน่นอนชัดเจนของกฎหมายไปพร้อมๆกัน ด้วยความสมเหตุสมผลทางกฎหมายและส่งเสริมการเคารพกฎหมาย สร้างความเชื่อถือไว้วางใจต่อระบบกฎหมาย และบุคคลสามารถคาดการณ์ได้ว่าการกระทำของตนและผู้อื่นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นการส่งเสริมหลักนิติรัฐที่แท้จริง
แม้แต่ในห้องพิจารณาคดีก็ยังมีรูปของกษัตริย์ภูมิพลซึ่งเป็นผู้ก่อการและสนับสนุนการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ศาลไทยจึงต้องทำหน้าที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวที่ผู้พิพากษาได้ถวายสัตย์ปฏิญญาณไว้ และมีหลายครั้งที่พระเจ้าอยู่หัวเรียกไปกำชับและแอบสั่งการโดยผ่านองคมนตรีของพระองค์
คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ใช้กฎหมายย้อนหลังอันเป็นผลร้ายแก่บุคคลโดยไม่ได้มีการอธิบายเหตุผลทางกฎหมายเพียงพอ จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมตามที่กษัตริย์ภูมิพลต้องการนั่นเอง

-ความเชื่อถือไว้วางใจของสังคม
ต่อองค์กรตุลาการ


ความน่าเชื่อถือและความศรัทธาต่อศาล ไม่ได้เกิดจากการที่มีกฎหมายห้ามหมิ่นศาลหรือห้ามละเมิดอำนาจศาล หรือการอ้างว่าตัดสินในพระปรมาภิไธย แต่เกิดจากความจริงและความสมเหตุสมผลในคำพิพากษา ความเป็นอิสระและการดำรงตนอย่างปราศจากอคติของผู้พิพากษา ทำให้วิญญูชนยอมรับในเหตุผลที่ประกอบคำพิพากษานั้น และเห็นว่าคำพิพากษานั้นมีคุณภาพได้มาตรฐาน เช่น รู้ขอบเขตอำนาจและข้อจำกัดของตน ยอมรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ และการรับฟังความคิดเห็น ไม่ทะนงว่าตนยิ่งใหญ่กว่าใคร

-การตระหนักถึงขอบเขตอำนาจของตนเอง

องค์กร ตุลาการต้องตระหนักอยู่เสมอว่าตนเองมีอำนาจเชิงรับ ศาลไม่อาจควบคุมฝ่ายบริหารได้ในทุกกรณี เรื่องจะขึ้นไปสู่ศาลได้ก็ต่อเมื่อมีการริเริ่มคดีโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องก่อน ศาลไม่อาจลงมาหยิบยกเรื่องใดขึ้นพิจารณาได้ด้วยตนเอง
การพิพากษาของศาลมิใช่กระทำได้อย่างพร่ำเพรื่อหรือปราศจากกฎเกณฑ์ ต้องผ่านขั้นตอนตั้งแต่เงื่อนไขการฟ้องคดี เช่น ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิหรือมีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีหรือไม่ ฟ้องภายในอายุความหรือไม่ ศาลมีเขตอำนาจพิจารณาหรือไม่ จากนั้นยังต้องผ่านกระบวนพิจารณาที่เป็นธรรม คำพิพากษานั้นมีผลเป็นการทั่วไปหรือมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความ มีผลย้อนหลังหรือมีผลไปในอนาคตหรือไม่โดยต้องคำนึงถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจและการรักษาดุลย์อำนาจ

องค์กร ตุลาการต้อสงวนท่าทีและควบคุมการใช้อำนาจของตนเองในเรื่องที่เกี่ยวพันกับแนวนโยบายของรัฐบาล เช่น การยุบสภา การประกาศสงคราม การเลือกนายกรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี ในบางกรณี รัฐบาลดำเนินนโยบายตามที่รณรงค์หาเสียงกับประชาชนไว้ในช่วงเลือกตั้ง เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ได้รับอาณัติจากประชาชนในการดำเนินนโยบายดังกล่าว องค์กรตุลาการอาจเข้าไปควบคุมได้แต่เพียงเฉพาะเรื่องความชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่อาจเข้าไปก้าวล่วงถึงความเหมาะสมของนโยบาย
แต่ศาลไทยที่มีมากมายหลายชื่อก็ใช้อำนาจตัดสินแบบไม่มีขอบเขต ทำตัวเป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการกษัตริย์อย่างเดียวโดยไม่สนใจกลักนิตรัฐหรือนิติธรรมใดๆทั้งสิ้น

-คำพิพากษาสาธารณะ

กฎหมายคือตัวกำหนดคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาที่ดีจึงต้องสามารถให้การศึกษาแก่สังคมได้ ต้องเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสวิจารณ์

-การยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์

เนื่องจากองค์กร ตุลาการเป็นองค์กรปิด และมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน น้อยกว่าองค์กรของรัฐอื่นๆ จึงจำเป็นต้องเปิดให้มีการวิจารณ์คำพิพากษาเพื่อประกันความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ ทำให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบชี้แจงได้ มิใช่ลำพองใจว่าตนปฏิบัติหน้าที่ในนามของกษัตริย์ ตนมีพระราชดำรัสสนับสนุนและให้กำลังใจ การเปิดโอกาสให้คนในวงการกฎหมาย สื่อมวลชน บุคคลทั่วไปได้วิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ต่อคำพิพากษาเท่านั้น จึงจะทำให้คำพิพากษาและศาลได้รับการยอมรับนับถือ ช่วยสร้างกระบวนการประชาธิปไตยให้เข้มแข็งและลึกซึ้งขึ้นตามแนวทางปรึกษาหารือ

การใช้ หรือการข่มขู่ว่าจะใช้ข้อหาหมิ่นศาล หรือ ละเมิดอำนาจศาล ต่อคนที่วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา จึงล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการอำนาจและความอิสระที่นิติรัฐมอบให้แก่องค์กรตุลาการนั้น ก็เพื่อให้นำมาใช้ปกป้องนิติรัฐและระบอบประชาธิปไตย มิใช่ให้เพื่อนำมาใช้ทำลายนิติรัฐและประชาธิปไตย องค์กรตุลาการไม่ได้อยู่เหนือองค์กรอื่นๆ ต้องสำนึกอยู่เสมอว่าตนเป็นส่วนหนึ่งในประชาธิปไตยและมีหน้าที่พิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย

กฎหมายและกลไกอำนาจรัฐ


ประวัติศาสตร์ได้สอนว่า ผู้ที่สามารถถือครองอำนาจรัฐได้อย่างถาวรต้องยึดครองกลไกรัฐและครอบงำรูปการจิตสำนึกของสังคมไปพร้อมๆกัน การต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจึงจำเป็นต้องยึดทั้งกลไกอำนาจรัฐรวมไปถึงการเปลี่ยนรูปการจิตสำนึก ที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการให้ความรู้และความเข้าใจ







กลไกรัฐทางการปราบปราม
ได้แก่ รัฐบาล กองทัพ ตำรวจ ค่าย คุก ที่ต้องมีเอกภาพและผูกขาดอยู่กับรัฐ

กลไกรัฐทางอุดมการณ์หรือความคิด คือ โรงเรียน สถานศึกษา สื่อต่างๆ สิ่งที่เป็นกฎหมาย จะมาพร้อมกับความคิดและความเชื่อ เช่น ความเชื่อว่าข้อพิพาทยุติได้ด้วยกฎหมาย กฎหมายเป็นกลาง กฎหมายต้องมีการบังคับ กฎหมายเป็นบรรทัดฐาน ศาลเป็นกลางและอิสระ กฎหมายเป็นที่มาของความชอบธรรม ต้องเคารพคำพิพากษาของศาลเสมอ เป็นต้น


รูปการ จิตสำนึก หรือ อุดมการณ์เป็นตัวครอบงำกฎหมายอีกชั้นหนึ่ง โดยมีผู้บังคับใช้กฎหมายไปในทางสอดรับกับอุดมการณ์ เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด โดยนำกฎหมายไปเป็นอุดมการณ์ และนำอุดมการณ์มากำกับกฎหมายอีกที

เช่น ผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาหมิ่นกษัตริย์ หรือ กระทำความผิดอันเกี่ยวกับการชุมนุมซึ่งฝ่ายนิยมกษัตริย์ไม่สนับสนุน คือเป็นคนละพวกกับพวกนิยมกษัตริย์ ขณะที่ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่รัฐต่างก็มีอุดมการณ์นิยมกษัตริย์เหมือนกัน โดยเจ้าของกลไกรัฐที่นิยมกษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งให้มาตัดสินคดี ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่จึงย่อมมีอคติอยู่แล้ว การตัดสินคดีของศาลก็ดำเนินการไปตามรูปการจิตสำนึกนิยมกษัตริย์ของผู้พิพากษา

ในทำนองเดียวกันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่สมาชิกรัฐสภาของไทยในระบอบราชาธิปไตยคิดจะเสนอร่างแก้ไขหรือยกเลิกพระราชบัญญัติหมิ่นพระมหากษัตริย์ คณะรัฐมนตรีไม่มีวันเสนอแผนตัดลดงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักพระราชวัง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่กล้าเสนอปฏิรูปรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์

ศาลจะไม่พิพากษายกฟ้องจำเลยหรือลงโทษจำเลยเพียงเล็กน้อยหรือรอลงอาญาในคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ศาลจะไม่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งประกาศใช้เพื่อจัดการกลุ่มคนที่ตรงกันข้ามกับฝ่ายราชาธิปไตย ฯลฯ

ในทางกลับกัน ถ้าจะมีการเอาผิดผู้รับผิดชอบ 91 ศพได้ ก็ต้องเกิดการปฏิรูประบบยุติธรรมไทย โดยต้องยกเลิกสถานะสถาบันกษัตริย์และอุดมการณ์ราชาธิปไตยเสียก่อน ถ้าจะเกิดการเอาผิดผู้รับผิดชอบ 91 ศพ ได้ ไม่ว่าจะระดับนายอภิสิทธิ์-นายสุเทพ-พลเอกอนุพงศ์-พลเอกประยุทธ์-พลเอกดาวพงษ์ หรือระดับสมาชิกราชวงศ์จักรี ก็จะต้องมีการปฏิรูประบบยุติธรรมของไทย

แต่จะปฏิรูประบบยุติธรรมไทยได้ ก็จะต้องยกเลิกอุดมการณ์ราชาธิปไตยที่เป็นอุดมการณ์หลักที่ครอบงำวิธีคิดและวิธีปฏิบัติของบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมไทยตั้งแต่ระดับตุลาการ อัยการ รวมทั้งพนักงานสอบสวน ซึ่งอุดมการณ์ราชาธิปไตยนี้เป็นส่วนหนึ่งของสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ราชวงศ์จักรีในปัจจุบัน

ศาลไทยตัดสินภายใต้พระปรมาภิไธยและยังตัดสินภายใต้อุดมการณ์ราชาธิปไตย และถ้าไม่มีอุดมการณ์ราชาธิปไตย ไม่มีสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็จะไม่มีขบวนการตุลาการภิวัฒน์ที่เข้ามาทำลายระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่แรก

แต่ตราบใดที่อุดมการณ์ราชาธิปไตยยังครอบงำระบบยุติธรรมไทย การปฏิบัติของบุคคลากรของระบบตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิจฉัยตัดสินของศาล ก็จะไม่เป็นไปในทางที่ลงโทษผู้กระทำผิดในกรณีอย่าง 91 ศพ รวมถึงกรณียึดอำนาจทำรัฐประหาร ภายใต้อุดมการณ์ราชาธิปไตย และภายใต้สถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นอยู่แบบนี้ ก็จะไม่มีการลงโทษในการทำความผิดที่กล่าวมานี้เป็นอันขาด

ปัจจุบันและในอนาคตที่เห็นได้ ยังไม่มีกลุ่มการเมืองกระแสหลักใดเลย รวมทั้งพรรคเพื่อไทยและ นปช.(คงไม่ต้องพูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ หรือกลุ่มนิยมกษัตริย์อื่นๆ) ที่มีนโยบายที่จะยกเลิกอุดมการณ์ราชาธิปไตย และยกเลิกสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่ อนาคตของ 91 ศพ ก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายๆศพ เมื่อ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519, 17 พฤษภา 2535 และอนาคตของผู้รับผิดชอบ 91 ศพ 2553 ก็จะเหมือนกับกับอนาคตของผู้รับผิดชอบศพการเมืองก่อนๆ และการรัฐประหารก่อนๆที่ผ่านมาที่หาตัวคนผิดหรือคนที่ต้องรับผิดชอบไม่ได้ตามเคย

ดังนั้นหากต้องการให้สังคม เป็นประชาธิปไตย เป็นรัฐที่เคารพกฎหมายจริงๆ หากต้องการให้มีความเสมอภาคและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่มีความเสมอภาค ก็จำเป็นต้องปลูกฝังอุดมการณ์ที่เคารพกฎหมาย และเป็นประชาธิปไตยจริงๆให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางกฎหมาย เพราะตราบใดที่ผู้ปฏิบัติการทางกฎหมายยังมีอุดมการณ์แบบเก่าที่นิยมระบอบราชาธิปไตยแล้ว ต่อให้เรามีกฎหมายที่ดีเพียงใด ต่อให้เรามีรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยมากเพียงใด และมีองค์กรทางกฎหมายที่ทันสมัยเพียงใด ก็ไม่สามารถทำให้มีระบอบที่เคารพกฎหมายและเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้

ยกเว้นว่าจะใช้ศาลอื่นที่ไม่ได้ขึ้นกับระบอบราชาธิปไตย เช่น ศาลอาญาระหว่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลทักษิณได้มีมติให้สัตยาบรรณต่อกฎบัตรที่เรียกว่าธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statue) แต่กษัตริย์ภูมิพลสั่งห้ามไว้ เพราะตามตามธรรมนูญกรุงโรม ประมุขของรัฐไม่ได้รับเอกสิทธิคุ้มครองไม่ถูกดำเนินคดี ไม่เหมือนศาลไทยที่มีกฎหมายให้เอกสิทธิ์แก่กษัตริย์

ดังนั้นถ้ารัฐบาลไทยลงนามให้สัตยาบรรณและนำเรื่องการสังหารหมู่ประชาชนเมื่อวันที่ 10 เมษายนและ 19 พฤษภาคม 2553 เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ หากการสอบสวนของศาลอาญาระหว่างประเทศพบว่ากษัตริย์ภูมิพลและพระราชวงศ์มีส่วนรู้เห็นและสนับสนุนหรือกระทั่งสั่งการ ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก กษัตริย์ภูมิพลและพระราชวงศ์ก็ต้องรับผิดชอบและรับโทษโดยไม่มีการยกเว้น นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ระบอบราชาธิปไตยต้องสกัดกั้นไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลโดยเด็ดขาด เพราะจะเป็นอันตรายต่อหัวหน้าอาชญากรและหัวหน้ากบฏทรยศชาติตัวจริง นั่นเอง

ความเสมอภาคคือรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย จะไม่มีใครบังคับประชาชนให้เคารพนับถือบุคคลใดได้ มนุษย์ย่อมเสมอภาคกันคือมีฐานะเท่าเทียมกัน จะผิดกันก็แต่ตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่มีอะไรที่จะมีเกียรติยิ่งไปกว่าการเป็นพลเมืองของประเทศ เพราะประชาธิปไตยย่อมยอมรับหลักเกณฑ์ในทางธรรมชาติที่แต่ละคนมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน แต่ในทางรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เขาย่อมเสมอภาคกับบุคคลอื่น มีความเท่าเทียมกัน ประชาธิปไตยเปิดทางให้ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเอง ประชาธิปไตยไม่มีคุณพ่อรู้ดี ไม่ใช่ระบบการเมืองของปัญญาชนหรือคนกรุงผู้ฉลาดที่คิดว่าตนรู้ดีกว่าคนในชนบท หรือมีพระเจ้าอยู่หัวที่ฉลาดไปทุกเรื่อง ทำถูกทำดีไปทุกอย่างแต่เพียงผู้เดียว หรืออวดอ้างว่าพวกตนเป็นคนดีมีจริยธรรมอยู่ฝ่ายเดียว หลักกฎหมาย หลักนิติรัฐ ความยุติธรรม มิได้มีไว้เพื่อให้ผู้พิพากษาและตุลาการใช้เทศนาสั่งสอนผู้อื่น หากมีไว้ใช้กับบรรดาผู้พิพากษาและตุลาการทุกระดับชั้นให้มีสำนึกนั่นเอง

นับแต่วิกฤตประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 สังคมไทยประสบความขัดแย้งรุนแรงอย่างไม่มีที่ท่าจะจบลงได้โดยง่าย จากบรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายได้เข้ามามีบทบาททั้งทางตรง และทางลับ ทั้งด้วยวิธีการปกติ และไม่ปกติ ท่านผู้ใหญ่ทั้งหลายท่านก็อยู่ในโลกนี้มานานพอแล้ว และท่านก็มีเวลาอีกไม่นานนักที่จะอยู่ต่อไป พวกเด็กๆ พวกเยาวชนรุ่นหนุ่มสาว เขามีเวลาข้างหน้าอันยาวนานที่จะต้องอยู่ในโลกนี้ต่อไป เพราะฉะนั้นก็เป็นการชอบธรรมอย่างยิ่งที่เขาควรจะมีความคิดเห็นในการจัดแจงสังคมและโลก ให้เป็นที่ผาสุกตามรสนิยมและทัศนะของเขา มากยิ่งกว่าบุคคลที่ใกล้จะอำลาโลกไปแล้วมิใช่หรือ จงปล่อยให้เขาเป็นอิสระที่จะเลือกวิถีชีวิตของเขาเถิด แต่จะยอมปล่อยหรือไม่ปล่อยก็คงมีค่าเท่ากัน เพราะพวกเขาคงแสวงหามันจนได้
รัฐประหารคือรัฏฐาธิปัตย์ จริงหรือ

ในการรัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมาของไทย พวกนักเนติบริกรและนักรัฐศาสตร์บริการพยายามอธิบายว่าคณะรัฐประหารคือรัฏฐาธิปัตย์ ย่อมมีอำนาจสูงสุด แม้แต่ศาลก็มิอาจก้าวล่วงไปพิจารณาพิพากษาเอาผิดแก่คณะรัฐประหารได้ ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าคณะปฏิวัติ คณะปฏิรูป รสช. คมช. ฯลฯ ที่ยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดก็ตาม มิหนำซ้ำยังยอมรับประกาศหรือคำสั่งและรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารเหล่านั้นตราออกมา ไม่ว่าจะผ่าน สสร.หรือไม่ก็ตามว่าชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผิดจากหลักการปกครองในนานาอารยประเทศทั้งหลายที่ไม่ยอมรับกฎหมายของคณะรัฐประหาร รวมทั้งไม่ให้การรับรองรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

คำว่ารัฏฐาธิปัตย์ (sovereign) ในทางรัฐศาสตร์หมายถึงผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินที่มีอำนาจสูงสุด ซึ่งขึ้นกับระบอบการปกครอง ถ้าเป็นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฏฐาธิปัตย์ คือพระมหากษัตริย์ แต่ในระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และมาจากประชาชนโดยผ่านทางสภา ไม่มีใครมีอำนาจสูงสุดด้วยตนเอง



ระบอบประชาธิปไตย ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือที่เรียกว่าสัญญาประชาคม จากหลักความคิดที่ว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างรัฐ โดยที่ประชาชนตกลงยินยอมให้ผู้ปกครองใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนตามเจตจำนงของประชาชน หากผู้ปกครองละเมิดเจตจำนงของประชาชน ประชาชนมีสิทธิถอดผู้ปกครองได้ตามวิถีทางประชาธิปไตย ปฏิเสธการแย่งชิงอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชนโดยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจแล้วออกกฎหมายมาบังคับเอากับประชาชน

แต่นักกฎหมายหรือศาลไทยกลับยอมรับว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ตามพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ที่มีว่า ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติใด้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้ จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามประกาศฉบับนี้ทำการจับกุมควบคุมโจทก์ได้โดยชอบ และได้ถือเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายที่เชื่อถือสืบต่อกันมาจนปัจจุบันว่าศาลไทยยอมรับการเป็นกบฏ และยอมเชื่อฟังศิโรราบต่อคำสั่งของกบฏที่เป็นอาชญากรรมร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม นายกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย ได้ออกมาปฏิเสธการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2552 นายกีรติ กาญจนรินทร์ ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตัวในคำพิพากษาที่ อม.9/2552 ว่า “การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย...

หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ….

คปค.เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย ดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์ไม่……
ถึงแม้ว่าคำวินิจฉัยส่วนตัวนี้จะไม่มีผลต่อคำพิพากษาเพราะเป็นเสียงข้างน้อย แต่มีผลกระทบมหาศาลต่อมุมมองของนักกฎหมายและผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย

ฉะนั้น ผู้ที่กำลังคิดที่จะทำรัฐประหารหรือผู้ที่โหยหาการรัฐประหารพึงสำเหนียกว่า ผู้ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารมิใช่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ในมุมมองนักรัฐศาสตร์และมีแนวโน้มที่จะมิใช่รัฏฐาธิปัตย์ในมุมมองของนักนิติศาสตร์อีกต่อไป แต่จะเป็นได้ก็เพียงโจราธิปัตย์ เท่านั้นเอง และอาจถูกลงโทษถึงประหารชีวิตได้ทุกเมื่อ แม้ว่าจะทำรัฐประหารสำเร็จก็ตาม

กฎหมายไม่ใช่คำสั่งของรัฎฐาธิปัตย์

ประเทศไทยต้องล้มลุกคลุกคลานและมีการรัฐประหารถึง 12 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญมากถึง 18 ฉบับ และคงจะมีการรัฐประหารต่อไปอีก ตราบใดที่ยังเชื่อกันว่า กฎหมายคือคำสั่งของรัฎฐาธิปัตย์ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ ความเชื่อเช่นนี้ ย่อมเป็นอันตรายต่อระบบกฎหมายหรือนิติรัฐ ทำให้ระบบกฎหมายเอื้ออำนวยต่อการรัฐประหารเพราะเมื่อสามารถยึดอำนาจสูงสุดได้ ก็สามารถออกกฎหมายบังคับใช้กับประชาชนได้ โดยไม่ต้องสนใจวิธีการได้มาซึ่งอำนาจ ไม่ต้องคำนึงถึงเนื้อหาของกฎหมาย หรือกระบวนการออกกฎหมายแต่อย่างใด

1.ความหมายของกฎหมาย
ความหมายของคำว่ากฎหมายในมาตรา 6 ของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 (พศ.2332) บัญญัติว่า กฎหมายคือเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชน พลเมืองทุกคนมีสิทธิออกกฎหมายโดยตนเองเข้ามีส่วนร่วมโดยตรงหรือผ่านผู้แทน กฎหมายต้องเป็นสิ่งที่เหมือนกันสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองหรือลงโทษ พลเมืองทุกคนย่อมเสมอภาคเท่าเทียมกันตามกฎหมาย.....

กฎหมายในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การแสดงออกของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่เป็นการแสดงออกของกลุ่มสังคม กฎหมายเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชน การออกกฎหมายหรือบทบัญญัติใดๆจะต้องได้รับความยินยอมของประชาชนหรือผู้แทนของประชาชน ไม่ใช่เป็นคำสั่งหรือคำบัญชาของผู้คุมอำนาจ ประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหาร จึงเป็นเพียงคำสั่งของคณะบุคคลที่ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจการปกครอง ล้มล้างรัฐธรรมนูญ และแม้จะได้เข้ามาเป็นรัฎฐาธิปัตย์ หรือผู้คุมอำนาจสูงสุดแล้วก็ตาม ก็หาได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของประชาชนไม่ และมิได้ผ่านกระบวนการในทางนิติบัญญัติแต่อย่างใด จึงไม่ควรค่าแก่การนับถือว่าเป็นกฎหมาย

2. กฎหมายกับความยุติธรรม

กฎหมายคือเครื่องมือที่จะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้ โดยถือเอาความเห็นของบุคคลธรรมดาทั่วไปเป็นเกณฑ์ บางประเทศจึงใช้ระบบลูกขุนในการตัดสินคดี กฎหมายต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีความยุติธรรมตลอดไป มีเหตุผลสอดคล้องกับธรรมชาติ


3. กฎหมายในสังคมไทย

วงการกฎหมายไทยเชื่อกันมาโดยตลอดว่ากฎหมายคือ คำสั่ง คำบัญชาของรัฎฐาธิปัตย์ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ มีคำพิพากษาฎีกาที่ยอมรับว่าประกาศ หรือคำสั่งของคณะปฏิวัติเป็นกฎหมาย ทั้งๆที่ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดเลยที่รับรองความเป็นกฎหมายของประกาศ หรือคำสั่งของคณะปฏิวัติ
แม้กระทั่งคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553 (คดียึดทรัพย์คุณทักษิณ) ก็ได้นำประกาศ คปค.มาใช้บังคับแก่คดีด้วย แสดงว่าศาลไทยได้ยอมรับว่าประกาศของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย

ทั้งๆที่ประกาศ หรือคำสั่งของคณะรัฐประหาร ไม่มีคุณลักษณะที่เป็นกฎหมายแต่อย่างใด เพราะมิได้เป็นผลผลิตของสภานิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนของปวงชน แต่เป็นคำสั่งของคณะบุคคลที่ใช้กำลัง ใช้อาวุธ ยึดอำนาจการปกครอง จึงไม่ใช่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของประชาชน เป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งมิอาจกลายเป็นความชอบด้วยกฎหมายไปได้ ตามหลักที่ว่า อำนาจหรือสิทธิย่อมไม่บังเกิดขึ้นจากการกระทำผิด ประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยจึงไม่เคยยินยอมว่าประกาศ หรือคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย

เพราะการรัฐประหารเปรียบเสมือน โรคร้าย หรือเป็นศัตรูต่อระบอบประชาธิปไตย หากยอมรับนับถือว่าประกาศ หรือคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมายแล้ว ก็เป็นที่คาดหมายได้ว่าระบบกฎหมายไทยจะเป็นระบบกฎหมายที่ติดเชื้อโรคร้ายไปด้วย และอาจจะทำให้การบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดี ต้องติดเชื้อโรคร้ายนี้ไปด้วยอย่างแน่นอน แต่ก็ยังมีคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการ และผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยบางท่านในบางคดีที่ยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อวงการนิติศาสตร์ไทย ที่อาจจะเป็นวัคซีนป้องกันโรคร้าย ให้กับระบบกฎหมายไทยต่อไปได้

ตัวอย่างคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการและผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย

คำวินิจฉัยของส่วนตนของ นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยในคดียุบพรรคไทยรักไทย (คำวินิจฉัยที่ 3-5/2550) ที่เห็นว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษกับประชาชนได้ “...บรรดาบทบัญญัติของประกาศหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองเช่นว่านั้น ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบหรือหลักเกณฑ์แห่งกฎของกฎหมาย หรือ Rule of Law อย่างนั้นด้วย หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองจะออกกฎหมายมาบังคับแก่ประชาชนตามอำเภอใจ โดยไม่คำนึงถึงกฎของกฎหมาย หรือ Rule of Law ไม่ได้

การรับรองว่าคณะปฏิรูปหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินซึ่งเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจเด็ดขาดที่จะออกกฎหมายมาอย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎของกฎหมาย หรือ Rule of Law เลย เช่น ตีความยอมรับรองให้คณะปฏิรูปหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปออกกฎหมายย้อนหลังไปเป็นผลร้ายแก่บุคคลได้..
เช่นนี้แล้ว เราจะมีหลักประกันความมั่นใจได้อย่างไรว่าในวันข้างหน้า จะไม่มีการยึดอำนาจโดยการทำรัฐประหารซ้ำซ้อนขึ้นมาอีกและคณะผู้ก่อการได้สำเร็จซึ่งเป็นรัฏฐาธิปัตย์คนใหม่จะไม่ออกกฎหมายย้อนหลังมาเพื่อแก้แค้นเอาคืนบ้าง เข้าลักษณะทีใครทีมัน อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตวงจรความไม่สงบสุขในบ้านเมืองเนื่องจากการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือข่มเหงรังแกกันไม่มีที่สิ้นสุดหมดหนทางที่จะแก้ไขเยียวยาให้ชาติบ้านเมืองพ้นวิกฤติกลับคืนสู่ความสงบสันติสุขและความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติได้.

...ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ที่บัญญัติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ..มีคำสั่งให้ยุบพรรค เฉพาะในส่วนที่ให้มีผลย้อนหลังไปบังคับแก่การกระทำของพรรคการเมืองก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นกฎหมายที่ขัดต่อกฎของกฎหมายหรือ Rule of Law จึงไม่มีผลใช้บังคับ…..
คำวินิจฉัยนี้แม้จะไม่ได้ปฏิเสธผลทางกฎหมายของประกาศ หรือคำสั่งของคณะปฏิวัติ รัฐประหารทุกกรณีไป และยอมรับว่าคณะปฏิวัติดำรงอยู่ในฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่ก็ไม่สามารถออกประกาศ หรือคำสั่งให้ขัดกับหลักเกณฑ์แห่งกฎของกฎหมายได้ เป็นการยืนยันว่ารัฎฐาธิปัตย์ไม่อาจออกคำสั่งใดๆตามอำเภอใจได้ นับเป็นแสงสว่างที่ยังพอมีอยู่บ้างในระบบกฎหมายไทย

อีกตัวอย่างหนึ่งในคดีของนายยงยุทธ ติยะไพรัช จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ (คดีหมายเลขแดงที่ อม.9/2552) ซึ่งนายกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย ได้วินิจฉัยปฏิเสธการได้มาซึ่งอำนาจโดยการรัฐประหารและปฏิเสธความเป็นรัฎฐาธิปัตย์ของคณะรัฐประหาร โดยมีเนื้อความส่วนหนึ่งในคำวินิจฉัยว่า

ผู้ร้องประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(คปค.) แต่ คปค.เป็นคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย.. ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์ ผู้ร้องประกอบด้วยคณะบุคคลที่เป็นผลพวงของ คปค. ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่... ด้วยเช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ...ปัญหาว่าผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย จึงวินิจฉัยให้ ยกคำร้องของผู้ร้อง
คำวินิจฉัยส่วนตนของท่านผู้พิพากษาท่านนี้นับเป็นคำวินิจฉัยเดียวในประเทศไทยในขณะนี้ที่ไม่ได้ติดเชื้อโรคร้ายจากการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะไม่ได้ยอมรับว่าคณะปฏิวิติเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังแล้ว ก็ไม่ก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะเป็นคำวินิจฉัยที่เป็นเสียงข้างน้อย แต่ก็เป็นเสียงข้างน้อยที่ยิ่งใหญ่และเป็นเสียงที่ดังกึกก้องแวดวงกฎหมายไทยไปตลอดกาล

ประชาชนไทยคงไม่หวังให้ฝ่ายตุลาการหรือนักหมายไทยต่อสู้หรือตอบโต้การรัฐประหาร เพราะเข้าใจดีว่า เมื่อใดเสียงปืนดัง เมื่อนั้นกฎหมายก็หมดเสียง แต่เมื่อใดเสียงปืนสงบเงียบไปแล้ว กฎหมายก็ต้องฟื้นคืนกลับมามีเสียงอีกครั้งหนึ่งได้ และประกาศ หรือคำสั่งของคณะรัฐประหารก็จะกลายเป็นเพียงเศษกระดาษไม่ได้มีคุณค่าเป็นกฎหมายที่ควรยอมรับ เพราะกฎหมายเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนในสังคมไม่ใช่คำสั่งของพวกยึดอำนาจ

ปัญหาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 การแบ่งแยกอำนาจในรัฐธรรมนูญเป็นการแบ่งแยกการใช้อำนาจของรัฐให้องค์กรนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา องค์กรบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี และองค์กรตุลาการ คือ ศาลยุติธรรม(และศาลทหาร)


แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ได้มีการจัดตั้งองค์กรต่างๆขึ้นใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาแต่เดิมหลายองค์กร ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา องค์กรทั้ง 8 ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 นี้ สื่อมวลชนบุคคลทั่วไปและแม้แต่นักวิชาการเรียกขานกันว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยถือว่าองค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ..

ทั้งๆที่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ จึงต้องถือเป็นองค์กรของรัฐประเภทศาล ไม่ใช่องค์กรอิสระ สำหรับองค์กรอิสระที่เหลืออีก 6 องค์กรนั้น แม้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และนักวิชาการบางคนเห็นว่าเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

แต่องค์กรทั้ง 6 นี้ใช้อำนาจของรัฐในลักษณะใดกันแน่ ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า กกต. สามารถใช้อำนาจเสมือนดังอำนาจตุลาการได้ คำวินิจฉัยของ กกต. เกี่ยวกับการเลือกตั้งจึงเป็นที่สุด ไม่สามารถฟ้องร้องโต้แย้งต่อศาลได้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเองก็เคยวินิจฉัยว่า ปปช.ใช้อำนาจกึ่งนิติบัญญัติ กึ่งบริหาร กึ่งตุลาการ รวมอยู่ในองค์กรเดียว บางคนเห็นว่าองค์กรอิสระเหล่านี้ใช้อำนาจทั้งสามอำนาจในองค์กรเดียว องค์กรอิสระบางองค์กร เข้าใจว่าอำนาจของตนเป็นอำนาจอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของใครทั้งสิ้น ซึ่งขัดหลักการในระบอบประชาธิปไตย

ตามหลักแล้วองค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริงย่อมได้แก่ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นองค์กรอิสระอื่นๆตามรัฐธรรมนูญ 2540 คือ กกต. ปปช. คตง. กสม. และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น โดยลักษณะของการใช้อำนาจแล้ว เป็นอำนาจในทางบริหารที่เป็นอำนาจปกครอง คือ อำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย หรือการให้คำแนะนำในทางบริหาร ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภานั้นถือว่าเป็นองค์กรผู้ช่วยรัฐสภา การบัญญัติให้องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่ไม่มีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญโดยตรง ไม่ได้มีภารกิจหรือใช้อำนาจที่เกี่ยวกับการนำรัฐโดยตรง จึงทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรเหล่านี้กับองค์กรอื่นๆของรัฐ

สำหรับกรณีของศาลถือว่าเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพราะระบบกฎหมายจัดให้มีระบบศาลยุติธรรมและระบบศาลปกครองแยกออกต่างหากจากกัน ศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีศาลเดียว ใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญโดยตรง ต่างจากศาลยุติธรรม

แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 กลับสร้างองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ถูกหลักการเพิ่มขึ้นอีก โดยในหมวด 11 ได้แยกองค์กรออกเป็น 2 ประเภท คือ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ โดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมี 4 องค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ส่วนองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญมี 3 องค์กร คือ องค์กรอัยการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้มีปัญหาอย่างน้อยสี่ประการ คือ



1.ไม่มีความชัดเจนว่าองค์กรเหล่านี้การใช้อำนาจอธิปไตยในลักษณะใดกันแน่ ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจในมาตรา 3



2.อำนาจขององค์กรเหล่านี้บางองค์กรไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ เช่น อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ในการเพิกถอนสิทธิเลือกก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญ 1550 มาตรา 239 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เป็นที่สุด และศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่าผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวไม่สามารถฟ้องร้องคดีต่อศาลโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายในการใช้อำนาจของ กกต.ได้ ซึ่งเท่ากับว่า กกต.ใช้อำนาจวินิจฉัยเสมือนว่าตนเองเป็นศาลได้ ทั้งๆที่มีอำนาจในการออกกฎระเบียบ และบริหารจัดการการเลือกตั้งได้ด้วย

และ กกต.ไม่ใช่องค์กรที่อยู่ในหมวดศาล ทั้งยังมีอำนาจในการประกาศผลการเลือกตั้ง แม้ว่าจะทราบผลการลงคะแนนของประชาชนแล้ว กกต. จะยังมีอำนาจไม่ประกาศผล และอาจสั่งให้เลือกตั้งใหม่ก็ได้ ซึ่งเท่ากับว่า กกต. สามารถหน่วงเจตจำนงหรือแม้แต่ปฏิเสธเจตจำนงค์ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้โดยอ้างว่าต้องการให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์และยุติธรรม ทั้งๆที่การแก้ปัญหาดังกล่าวควรจะเป็นการดำเนินคดีกับผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้งในเวลาต่อมาเท่านั้น หากปรากฏว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งจริง

3.บุคคลในองค์กรอิสระหลายองค์กรไม่ได้มาตามวิถีทางประชาธิปไตย เพียงแค่อ้างการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา ซึ่งแทบจะไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาซึ่งมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเพียงครึ่งเดียวเพราะวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งราวครึ่งหนึ่ง
4.องค์กรตามรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งมีแนวโน้มที่จะสร้างระบบราชการขึ้นใหม่ ที่จะมีขนาดใหญ่โต เนื่องจากอาจจะกระจายไปในทุกจังหวัด และจะเทอะทะมากขึ้นในอนาคต สวนทางกับความพยายามปฏิรูประบบราชการ ที่จะทำให้ระบบราชการเล็กลง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น



นอกจากนี้บุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรเหล่านี้มักจะเป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระโดยปกติแล้วจะดำรงตำแหน่งได้ถึงอายุเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ จึงปรากฏบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งระดับสูงในระบบราชการมักจะพยายามสมัครเข้าสู่ตำแหน่งในองค์กรเหล่านี้หลังเกษียณอายุราชการ เมื่อดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งแล้ว ก็อาจอ้างตำแหน่งที่ตนเคยครองนั้น เป็นคุณสมบัติไปสมัครเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นต่อไปได้อีก

แม้ว่าผู้ที่มีอายุมาก จะมีประสบการณ์สูง แต่ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะอนุรักษ์นิยม ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ยึดถือขนบธรรมเนียมที่ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเสรีนิยม บางคนยังขาดความรู้ใหม่ๆที่จำเป็นต่อการตัดสินใจในวงงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์ตามรัฐธรรมนูญที่ขัดหลักการจึงต้องใช้หลักการบัญญัติรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง คือต้องยุบเลิกหรือถอดรื้อบรรดาองค์กรเหล่านี้ออกจากรัฐธรรมนูญ

ถ้าต้องการให้มีองค์กรที่เป็นอิสระจากการบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรี เช่น การตรวจเงินแผ่นดิน ก็สามารถบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้เป็นองค์กรอิสระในทางปกครอง แต่การได้มาซึ่งบุคคลในองค์กรเหล่านี้ ต้องมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย และอำนาจหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้จะต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับหลักนิติรัฐหรือกฎหมายที่เป็นธรรม

รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยของไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎเกณฑ์ในทางกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ การปฏิรูปโครงสร้างขององค์กรตุลาการและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ การปฏิรูปกองทัพ การจัดวางความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้เหมาะสม และการผลักดันให้สิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมีผลเป็นกฎหมายผูกพันองค์กรต่างๆของรัฐให้ได้โดยตรง รวมทั้งการปฏิรูปโครงสร้างขององค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งหมายถึงการยกเลิก การยุบรวม การทำให้องค์กรเหล่านั้นเป็นองค์กรอิสระในทางปกครอง หรือองค์กรช่วยเหลืองานของรัฐสภา เพื่อไปให้พ้นจากระบอบราชาธิปไตยแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

กฎหมายหรือกฎหมู่
วัฒนธรรมการเมืองไทยปัจจุบัน มักอ้างกฎหมายกันเป็นสรณะ หากต้องการเสริมสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของตน ก็ต้องอ้างว่าทำตามกฎหมาย หากต้องการทำลายความชอบธรรมของการกระทำของศัตรู ก็ต้องอ้างว่าการกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

บางคนชอบหยิบยกคำใหญ่ๆโตๆ เช่น นิติรัฐ นิติธรรม เคารพกฎหมาย กฎหมายเป็นใหญ่ ปกครองโดยกฎหมาย ศาลตัดสินแล้วเป็นที่สุด ทุกคนต้องยอมรับ เพื่ออ้าง กฎหมาย-กระบวนการยุติธรรม-คำพิพากษา ไว้ปิดปากฝ่ายตรงข้าม และสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายตนเอง โดยจงใจไม่พูดถึงที่มาอันไม่ชอบธรรมของกฎหมาย ปัจจัยรอบด้านของกฎหมาย เนื้อหาของ กฎหมาย ไม่สนใจต่อการใช้กฎหมายแบบไม่เสมอภาค



การที่มีคนจำนวนมากไม่ยอมรับกระบวนการทางกฎหมายที่เกิดจากคณะรัฐประหาร ไม่ใช่เรื่องการเมืองมารังแกกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการโต้แย้งว่าสิ่งที่อ้างว่าเป็นกฎหมายนั้น ที่แท้มันคือกฎหมู่ที่มาในร่างของกฎหมาย






การรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นกฎหมู่ หรือไม่

คณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 เป็นกฎหมู่ หรือไม่



คณะรัฐประหารรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของตนเองและการกระทำต่อเนื่อง ตามมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ 2549 เป็นกฎหมู่ หรือไม่
คณะรัฐประหารนิรโทษกรรมตนเองและพรรคพวกทั้งที่ผ่านมาและในอนาคตตามมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญ 2549 เป็น กฎหมู่ หรือไม่

คณะรัฐประหารออกประกาศ คปค ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ที่เอาผิดย้อนหลังให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบเป็นเวลา 5 ปี เป็นกฎหมู่ หรือไม่
กฎหมายทั้งหลายที่เกิดจากน้ำมือของคณะรัฐประหาร เป็น กฎหมู่ หรือไม่
ที่มาและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2550 เป็น กฎหมู่ หรือไม่

มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ให้รับรองรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมู่หรือไม่


กระบวนการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจนนำมาสู่การยุบพรรคการเมืองหลายพรรค ตัดสิทธินักการเมืองหลายคน เป็นกฎหมู่ หรือไม่



คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร เป็นกฎหมู่ หรือไม่
ขบวนการตุลาการภิวัฒน์ เป็นกฎหมู่หรือไม่

ทุกคนก็คงได้เห็นได้รู้กันอยู่ ตลอดระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่กฎหมายถูกนำไปใช้อย่างฉ้อฉล ทั้งการบัญญัติตัวบทกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ทั้งการใช้และการตีความกฎหมายไปในทิศทางที่ไม่สนับสนุนนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่การรัฐประหาร 19 กันยา 2549 โดยไม่มีมาตรฐาน ไม่มีความเป็นธรรม บางเรื่องอ้างนิติรัฐเต็มที่ แต่บางเรื่องกลับไม่พูดถึงนิติรัฐเลย

คนพวกนี้นิ่งเฉยต่อการต้านรัฐประหาร เพิกเฉยต่อกระบวนการทางกฎหมายที่ฉ้อฉลมาตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยา 2549 ไม่มีจิตสำนึกของความผิดชอบชั่วดีแม้แต่น้อย

-คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553 เรื่อง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 …

ภายหลังศาลฎีกาฯได้พิพากษาให้ยึดทรัพย์ ราว 46,000 ล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ และมีคนบางคนพยายามนำแต่ละท่อน แต่ละส่วน แต่ละวรรค แต่ละตอนของคำพิพากษานี้มาขยายผล เพียงเพื่อต้องการจะเอากันให้ตาย จะไล่ขยี้ให้ไม่เหลือที่เดิน จะต้อนเขาให้จนมุมจนไม่อาจผยองได้อีก โดยอ้างว่าต้องทำตามนิติรัฐ ทั้งๆที่คำพิพากษาฉบับนี้มีจุดกำเนิดมาจากความไม่ปกติ การนำคำพิพากษานี้มาใช้เป็นบรรทัดฐาน นำเนื้อความในคำพิพากษามาใช้บางท่อนบางตอนเพื่อประโยชน์ในการจัดการศัตรูทางการเมือง จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง หากต้องการนำคำพิพากษานี้มาใช้ คงใช้ได้แต่เพียงการศึกษาและวิจารณ์ถึงความไม่ถูกต้องตามหลักวิชาเท่านั้น

แต่นายแก้วสรร อติโพธิ ได้ปกป้องการกระทำของ คตส.ว่าใช้อำนาจตามกระบวนการกฎหมายปกติและมีมาตรฐานไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการพิจารณาแบบเดียวกับคดีของนายรักเกียรติ เป็นมาตรฐานเดียวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันว่า คตส.ตั้งโดยมาตรฐานเดียวกับป.ป.ช. และคดีที่คตส.เข้าไปตรวจสอบก็ไม่ใช่คดีใหม่ มีอยู่แล้วที่ปปช. สตง. เป็นการใช้กฎหมายตามปกติ

โดยความเป็นจริงแล้ว กระบวนการยุติธรรมสำคัญทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการสืบสวนสอบสวนอันเป็นต้นธาร จนถึงคำพิพากษาที่เป็นปลายธาร ซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานในนิติรัฐ-ประชาธิปไตย เมื่อกระบวนการทางกฎหมายไม่ถูกต้อง ผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการนั้นก็ย่อมไม่ถูกต้องไปด้วย ต้นธารของกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้เริ่มต้นจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นที่มาของการแต่งตั้ง คตส. เป็นที่มาของการให้อำนาจมากมายในการตรวจสอบทรัพย์สินแก่ คตส. เป็นที่มาของการแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.
เมื่อ คปค.ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ และการรัฐประหารก็เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดทางอาญา มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต และเป็นสิ่งแปลกปลอมในรัฐเสรีประชาธิปไตย คดีที่ คตส.เลือกขึ้นมาพิจารณาก็ล้วนแล้วแต่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ และรัฐบาลทักษิณ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในคดีนี้เริ่มต้นจากความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

หากยอมเชื่อกันว่า เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เมื่อนั้นคณะรัฐประหารก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจออกรัฐธรรมนูญใหม่หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่า ตลอดจนการออกกฎหมายและยกเลิกกฎหมายได้ แต่เมื่อมีการจัดตั้งระบบกฎหมายชุดใหม่ผ่านการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ องค์กรผู้ใช้บังคับกฎหมายทั้งหลาย ก็ต้องพิจารณาใช้และตีความกฎหมายของคณะรัฐประหารเสียใหม่ให้เกิดความเป็นธรรม โดยต้องปฏิเสธรัฐประหารและผลผลิตของคณะรัฐประหาร ด้วยการไม่นำประกาศ คปค.มาใช้บังคับและไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมที่ริเริ่มจากคณะรัฐประหาร

คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังขัดหลักความเป็นกลางขององค์กรที่ทำหน้าที่ไต่สวน ที่ไม่ให้คู่กรณีเป็นผู้พิจารณาคดี คตส.แต่งตั้งโดย คปค.หลังจากที่การรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ในครั้งแรก คปค.แต่งตั้ง คตส.(ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 23) โดยมีนายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธาน และกรรมการอีก 7 คนประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งตามหน่วยงานต่างๆ แต่ 6 วันต่อมา คปค. กลับออกประกาศยกเลิก คตส. ชุดดังกล่าว และแต่งตั้ง คตส. ชุดใหม่ โดยกำหนดชื่อตัวบุคคลเป็นกรรมการ คตส. รวม 12 คน (ตามประกาศ คปค ฉบับที่ 30) เมื่อพิจารณาถึงรายชื่อกรรมการแต่ละคนเป็นการเฉพาะเจาะจง เป็น คตส. ชุดใหม่ เมื่อ คตส. กำเนิดจากการแต่งตั้งของ คปค. และ คปค.เป็นผู้ก่อการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ในขณะที่ คตส. เลือกพิจารณาตรวจสอบเฉพาะเรื่องของคุณทักษิณ ย่อมแสดงถึงความไม่เป็นกลางของ คตส. ต่อการพิจารณาเรื่องของคุณทักษิณ

พฤติกรรมและทัศนคติของคตส.และอนุกรรมการไต่สวนทั้งสามคน ได้เคยให้ความเห็นเป็นปฏิปักษ์กับคุณทักษิณหลายครั้งทั้งก่อนและระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ คตส. การร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีอภิปรายกับกลุ่มพันธมิตรฯเสื้อเหลืองซึ่งต่อต้านคุณทักษิณ การอภิปรายและเขียนบทความวิจารณ์การดำเนินนโยบายของรัฐบาลทักษิณ รวมทั้งเอกสารความยาว32 หน้าในชื่อ หยุดระบอบทักษิณ ที่นายแก้วสรร อติโพธิ เป็นหนึ่งในผู้จัดทำ โดยเฉพาะในหัวข้อ ระบอบทักษิณ โกงกินชาติบ้านเมือง การจัดงานเลี้ยงอำลาในโอกาส คตส.หมดวาระ โดยจัดทำชื่อรายการอาหารล้อเลียนนโยบายของรัฐบาลทักษิณ หากลองสมมติว่าถ้าตนเองถูกกระทำอย่างนั้นบ้าง ยังจะว่าเป็นความยุติธรรม ยังจะยอมรับว่าเป็นกฎหมายอีกหรือไม่

ลองสมมติดูว่า คณะรัฐประหารได้ตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อสอบสวนคดีของนายแก้วสรร กรรมการแต่ละคนล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่ไม่ชอบนายแก้วสรรทั้งสิ้น แม้คณะรัฐประหารจะกำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการชุดนี้สอบสวนแล้วเสร็จให้ส่งเรื่องไปยังศาลเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไปก็ตาม ถามว่านายแก้วสรรยังคิดว่ายุติธรรมหรือไม่ หรือ ถ้านายแก้วสรรถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการที่เคยทะเลาะเบาะแว้งกับนายแก้วสรร ไม่ชอบนายแก้วสรร มีทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนายแก้วสรรชัดเจน เช่นนี้ นายแก้วสรรจะว่ากระบวนการสอบสวนทางวินัยนี้มีความเป็นกลางและจะมอบความยุติธรรมให้นายแก้วสรรฯได้หรือไม่

หลักนิติรัฐของการนิรโทษกรรม

มีการนิรโทษกรรมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้น โดยไม่ถูกต้องตามหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตย เพราะการนิรโทษกรรม คือ มีการกระทำที่เป็นความผิดแล้วมีการตรากฎหมายในภายหลังเพื่อกำหนดว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดแล้ว ในเมื่อเดินหน้าเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แล้ว การกระทำใดที่ถือเป็นความผิดอันเนื่องมาจากกฎหมายของคณะรัฐประหาร ไม่ควรถือว่าเป็นความผิด เมื่อไม่เป็นความผิด ย่อมไม่มีอะไรให้นิรโทษ
ในขณะเดียวกันผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของอำนาจรัฐตลอดช่วงเวลาเกือบ 5 ปี พวกเขาต้องได้รับการเยียวยาควรต้องพิจารณากันอย่างจริงจังให้การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และผลิตผล ของคณะรัฐประหาร เป็นการกระทำที่เป็นโมฆะ หรือเป็นการกระทำที่ไม่เคยปรากฏขึ้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่กระทบคนจำนวนมากและ คงไม่อาจลบล้างเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นแล้วได้ครบถ้วน แต่ก็สามารถกำหนดได้เป็นรายกรณี แต่หลักการสำคัญคือ ต้องประกาศให้เป็นสัญลักษณ์ชัดเจนว่ารัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ต้องไม่ให้การรัฐปรหารดำรงอยู่ต่อไปในระบบกฎหมาย
คดีความต่างๆที่เริ่มต้นหรือเป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยา 2549 เป็นสิ่งที่ขัดหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตย คดีเหล่านี้จึงไม่มีผล ความผิดในสมัยรัฐประหาร ไม่ถือเป็นความผิดในสมัยประชาธิปไตย เมื่อไม่ผิด ก็ไม่ต้องนิรโทษ

การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ไม่ใช่วิธีการเดียวในการนำประเทศไทยออกจากวิกฤตความขัดแย้งและเดินหน้าเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ แต่ยังมีภาระที่ต้องทำอีกมากมายหลายประการ เช่น การปฏิรูประบบกฎหมาย การปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ทันสมัยสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย การพิจารณาสอบสวนเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่าใครเป็นผู้สั่งทหารให้ยึดอำนาจ ใครสั่งศาลให้ตัดสินแบบไม่เป็นธรรม ใครสั่งสังหารหมู่ประชาชน เป็นต้น

การเลือกตั้งครั้งนี้อย่างน้อยเป็นโอกาสอันดีของบุคคลที่ต้องการแสดงออกว่า ไม่เอารัฐประหาร 19 กันยา 2549 ไม่เอาคณะรัฐประหาร ไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เอาขบวนการตุลาการภิวัตน์ ไม่เอาอำนาจมืดของระบอบราชาธิปไตย ไม่เอาการสังหารหมู่กลางกรุงเทพมหานครเมื่อ 10 เมษาและ 19 พฤษภา 2553 ประชาชนสามารถแสดงออกอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมต่อการไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวได้ด้วยการไม่ลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง-สนับสนุน-ได้ประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้

ผลการเลือกตั้งอันแสดงให้เห็นเด่นชัด ย่อมเป็นสัญญาณส่งไปถึงทุกคน-ทุกชั้น ในสังคมไทยว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศคิดอย่างไร ผลการเลือกตั้งอันเป็นที่ประจักษ์ชัดอย่างยิ่ง ย่อมกระตุ้นเตือนให้บุคคลบางกลุ่มได้ฉุกคิดบ้างว่า หากปรารถนาให้สังคมนี้เดินหน้าต่อไปข้างหน้าได้ ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ก็ต้องนำผลการเลือกตั้งนี้ไปพิจารณาปรับปรุงตัวเอง แต่หากพวกเขาไม่สังเกตเห็นสัญญาณที่สะท้อนผ่านผลการเลือกตั้ง ยังคงดึงดันคิดใช้วิธีแบบเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็คงจะต้องเกิดวิกฤที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริงๆ

...........
...........

ไม่มีความคิดเห็น: