วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

112 สยองพระเกียรติ ตอนที่ 3: อากง เหยื่อบริสุทธิ์ Section 112 03



112 สยองพระเกียรติ
ตอนที่
3  อากง เหยื่อบริสุทธิ์

3 สิงหาคม 2553 เวลา 7.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ 15 นาย นำโดย พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมด้วยสื่อมวลชน เข้าจับกุม นายอำพลหรืออากง ที่ห้องเช่าซอยวัดด่านสำโรง สมุทรปราการ พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือ จำเลยปฏิเสธข้อหา โดยกล่าวว่าไม่รู้จักวิธีการส่งข้อความสั้นบนโทรศัพท์มือถือ ไม่เคยส่งเอสเอ็มเอส เพราะส่งไม่เป็น มีโทรศัพท์ไว้สำหรับโทรอย่างเดียว
พล.ต.ท.ไถง กล่าวว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งข้อความตามที่ถูกกล่าวหา แต่ยอมรับว่า โทรศัพท์ทั้งหมดเป็นของตนจริง แต่ได้เลิกใช้ไปนานแล้ว ทั้งนี้ผู้ต้องหาไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง จึงไม่เชื่อว่าจะทราบเบอร์โทรศัพท์มือถือของบุคคลสำคัญของประเทศและส่งข้อความที่ไม่เหมาะสมได้ จึงเชื่อว่าจะมีผู้สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลัง และยังเชื่อว่าจำเลยเป็นฮาร์ดคอร์กลุ่มคนเสื้อแดง จ.สมุทรปราการ ที่ กอ.รมน. ขึ้นบัญชีดำไว้แล้ว


จำเลยถูกจับกุมโดยไม่ได้รับการประกันตัวเป็นเวลา 63 วัน จากนั้นในวันที่ 29 ก.ย.2553 ทนายความยื่นประกันตัวครั้งที่สอง โดยใช้ที่ดินของญาติเป็นหลักทรัพย์ และเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2553 ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าเชื่อได้ว่าจำเลยจะไม่หลบหนี
18 ม.ค. 54 อัยการมีคำสั่งฟ้องตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทนายความยื่นขอประกันตัวอีกครั้งโดยผู้ร้องไม่มีพฤติการณ์ในการหลบหนีใดๆ เลย เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเพียงชายสูงอายุธรรมดาอาศัยอยู่กับภรรยา ลูกสะใภ้ และหลาน 3 คนในห้องเช่า ไม่ได้ประกอบอาชีพ เพราะอายุมากแล้ว ยังชีพด้วยเงินที่ลูกส่งให้เดือนละประมาณ 3,000 บาท และใช้สิทธิการรักษาตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และยังเป็นโรคมะเร็งช่องปากซึ่งต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลราชวิถีอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 2550 ก่อนถูกจับกุมผู้ร้องมีหน้าที่รับส่งหลานๆไปยังโรงเรียน ผู้ร้องไม่มีพฤติการณ์หลบหนีหรือขัดขืนการจับกุมใดๆ เมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนก็มารายงานตัวต่อศาลอย่างสม่ำเสมอ
แต่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันโดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและองค์รัชทายาท นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบความรู้สึกของปวงชนชาวไทย หากให้จำเลยปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี

ทนายความยื่นเรื่องขอประกันตัวอีกหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต



23 พฤษจิกายน 2554 ศาลอาญารัชดานัดพิพากษาคดีโดยนายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ขึ้นนั่งบัลลังก์พิพากษา ใช้วิธีอ่านคำพิพากษาผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอรเรนซ์ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เนื่องไม่สามารถนำตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาได้เพราะน้ำท่วมเรือนจำ จำเลยถูกกล่าวหาว่าใช้โทรศัพท์มือถือ ส่งข้อความดูหมิ่นกษัตริย์และราชินี ทั้งหมด 4 ครั้ง

ไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ  ครองวัฒนสุข  เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553
ศาลพิพากษาว่า
...ประเด็นที่จำเลยอ้างว่าหมายเลขอีมี่ หรือรหัสประจำเครื่องโทรศัพท์อาจถูกปลอมแปลงได้นั้น จำเลยไม่สามารถหาตัวผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ ส่วนข้ออ้างของจำเลยที่กล่าวอ้างว่า ส่งSMS ไม่เป็น และไม่รู้จักเบอร์โทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์นั้น มีแต่จำเลยเท่านั้นที่รู้เห็น เป็นการง่ายที่จะกล่าวอ้าง แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาซึ่งอยู่ภายใน ซึ่งจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดนั้น ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมดซึ่งบ่งชี้อย่างใกล้ชิดและสมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อพิรุธใดๆ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดประกอบกันจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความตามฟ้อง...ซึ่งข้อความดังกล่าวมี ลักษณะที่เป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท โดยประการที่จะน่าทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง...ข้อความดังกล่าวล้วนไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งประเทศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์ ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา...จำเลยจึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง "

พิพากษาว่า อำพลมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
112 กับทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  2550 การส่งข้อความสี่ฉบับไปในวันเวลาต่างกันเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายสี่กรรม ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นบทหนักที่สุดเพียงบทเดียว เรียงกระทงไปทุกกรรม โดยลงโทษจำคุกกระทงละห้าปี รวมเป็นจำคุกทั้งสิ้นยี่สิบปี





หลังฟังคำตัดสิน ครอบครัวนายอำพล ซึ่งประกอบด้วยภรรยา บุตรสาว 3 คน หลานสาว 4 คน อายุตั้งแต่ 4-11 ปี ได้เดินทางไปเยี่ยมนายอำพลที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ความว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ไม่มีอำนาจควบคุมผู้ต้องขังที่โทษสูงกว่า 15 ปี จึงต้องส่งตัวผู้ไปเรือนจำคลองเปรม ซึ่งเป็นที่คุมขังนักโทษเด็ดขาด ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยม ยกเว้นญาติและทนายความ ที่น่าสนใจมากเพราะอากงเป็นคนแก่ที่ไม่ได้ถนัดเทคโนโลยี แกบอกว่าแกไม่เคยส่ง SMS แกส่งไม่เป็น อากงไม่ได้ประกันตัว แกมีโรคประจำตัวและแกก็เครียดจนไม่สบายหนัก ตามสื่อว่าแกเคยไปชุมนุมกับเสื้อแดง และเสื้อเหลือง แกดูแก่มาก เดินช้า หลังค่อม ผมขาว สายตาฝ้าฟาง พูดจาสุภาพกับทุกคน พูดภาษาไทยไม่ชัดติดสำเนียงจีน เหมือนชาวบ้านที่ใสซื่อ ยากจนและหวาดกลัว แกยิ้มแย้มอย่างมีกำลังใจเสมอเมื่อพบคนที่มาเยี่ยม แต่ข่าวทุกสายบอกว่าอากงไม่สบายและก็แอบนอนร้องไห้บ่อยๆ ในห้องขัง
อากงไม่รู้เรื่องอะไรเลย แกบอกว่าไม่รู้ว่าใครเป็นคนส่งข้อความ ไม่รู้ว่าทำไมตำรวจมีหลักฐานทางคอมพิวเตอร์โยงมายังมือถือของแกได้   ไม่รู้จักเบอร์โทรศัพท์ที่ส่งถึง ไม่รู้ๆๆๆๆ รู้แต่ว่าไม่ได้ทำ
แต่ต่อให้อากงทำจริง ก็เป็นการเกินไปที่คนอย่างอากงต้องเผชิญหน้ากับโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี หลายคนอาจรู้สึกว่าคดีนี้ไร้สาระทีเดียว เพราะไม่มีทางที่จะมีใครเห็นอากง หยิบโทรศัพท์มากดส่ง SMS ไปเบอร์นั้นเบอร์นี้ เมื่อผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้ยินว่าเป็นคดีหมิ่นฯ ก็ไม่มีใครกล้ามาเบิกความเป็นพยานเข้าข้างจำเลย
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 กันยายน 2554 ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญารัชดา เวลา 9.00 น. เป็นวันที่อากงขึ้นเบิกความต่อศาล หลังจากที่พยานหลักฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีและกระบวนการสืบสวนที่อากงฟังไม่เข้าใจได้ถูกนำสืบไปหมดแล้ว
ในวันสืบพยานทุกวัน อากงจะนั่งมองศาลอย่างเหม่อลอย และร้องไห้กอดกับหลานๆ ก่อนถูกนำตัวกลับเรือนจำ


ตอนที่สาบานตัว อากงมองไม่เห็นแผ่นคำสาบานจึงต้องให้ทนายอ่านให้ เมื่อศาลถามชื่อ ที่อยู่ และถามอาชีพ
แกก็ตอบเต็มปากเต็มคำ เลี้ยงหลานครับ แกอธิบายว่าเคยขับรถขนส่งแต่สุขภาพไม่ดี เลิกทำงานมาสิบกว่าปีแล้ว จึงมีหน้าที่เลี้ยงหลาน ไปส่ง ไปรับ ไปโรงเรียน
ทนายความถามว่ากรณีที่ถูกฟ้องนี้แกทำจริงหรือเปล่า
ผมไม่ได้ทำครับอากงเงยหน้ามองศาล พูดอย่างฉะฉาน
ทนายความถามว่าเบอร์โทรศัพท์ของเลขาฯนายกนี้อากงรู้ไหมว่าเป็นเบอร์ของใคร ผมไม่รู้ครับ


อากงตอบฉะฉานเช่นเดิมฅ
ทนายความเอาข้อความที่ถูกฟ้อง ซึ่งเป็นถ้อยคำหยาบคายมาเปิดให้แกดู แล้วถามอากงว่าพยานเห็นข้อความนี้แล้วรู้สึกอย่างไร
อากงตอบไม่ฉะฉานแล้ว เสียงแกสั่นเครือ ผมเสียใจมากครับ ... ก็เค้าด่าในหลวง มองจากข้างหลังเห็นคอแกแดงก่ำ  แกร้องไห้ นาทีนั้นทั้งห้องเงียบกริบ
ทนายบอกว่า ใจเย็นๆ ค่ะ แล้วพยานมีความรู้สึกอย่างไรต่อในหลวงคะ
ผมรักในหลวงครับ อากงยังร้องไห้อยู่ ตอบเต็มปากเต็มคำอย่างช้าๆ
หลังจากนั้นอากงยังเล่าให้ศาลฟังว่า ตอนในหลวงป่วยก็ไปเยี่ยมที่ศิริราช เคยไปลงชื่อถวายพระพร ไปร่วมงานฉลองวันเกิดห้าธันวา และ งานที่วางดอกไม้จันทร์ ผมก็ไป อากงเสียใจมากที่ถูกฟ้องคดีนี้เพราะอากงรักในหลวง
คนแก่อายุ 61 ยังคงร้องไห้ต่อหน้าบัลลังก์ศาลและต่อหน้าทุกคน
อากงเบิกความจบอย่างรวดเร็วมาก เพราะไม่ได้มีประเด็นข้อต่อสู้อะไรนอกจาก ผมไม่ได้ทำครับและ ผมไม่รู้ครับอากงลุกขึ้นยกมือไหว้ศาลทั้งสามคนที่อายุคราวลูกแล้วบอกว่า ขอบคุณมากครับแกยังเชื่อมั่นของแกเสมอ หลานๆ วิ่งเข้าไปคุกเข่ากอดอากง ศาลนัดฟังคำพิพากษา 23 พฤศจิกายน 2554
ก่อนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะพาอากงขึ้นรถกลับไปยังเรือนจำ อากงเดินเข้าไปไหว้ลาอัยการอายุคราวลูก บอกว่าขอบคุณครับ ขอบคุณมากครับ
อากงยกมือไหว้กองเชียร์ที่ไม่เคยรู้จักกัน ก่อนอากงจะเดินอย่างเชื่องช้าไปไหว้ทนาย

ทั้งสามคน หลานๆ เดินไปส่งแกถึงประตูทางลงไปยังห้องขังใต้ถุนศาล

รัฐบาลสหรัฐหนักใจ
กับการตัดสินคดี อากง


6 ธ.ค. 54 โฆษกหญิงกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฝ่ายเอเชียตะวันออก แดร์เรจ พาราดิโซ Darragh Paradiso ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า สหรัฐรู้สึกหนักใจ กับการตัดสินของศาลในคดีของนายอำพล หรือ อากง ที่ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 20 ปี ในข้อหาหมิ่นกษัตริย์ รัฐบาลสหรัฐมีความเคารพยำเกรงต่อกษัตริย์ไทยอย่างที่สุด อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริการู้สึกหนักใจ กับการตัดสินคดีของศาลไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ในคดีของนายอำพล ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลด้านเสรีภาพในการแสดงออก

ในขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อคดีของนายอำพล โดยเรียกร้องรัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับพันธะผูกพันของรัฐบาลไทยด้านสิทธิมนุษยชนที่มีต่อสหประชาชาติ และจำกัดการยื่นฟ้องไม่ให้ใครก็ได้สามารถกล่าวหาได้ เนื่องจากฮิวแมนไรท์ วอทช์มองว่ากฎหมายหมิ่นกษัตริย์ของไทย ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างแพร่หลาย อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ศาล และเจ้าหน้าที่เองก็ไม่กล้าปฏิเสธการรับฟ้อง เพราะเกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี และยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ถูกดำเนินคดีและจับกุมด้วยกฎหมายหมิ่นกษัตริย์และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ทั้งหมด รวมถึงเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการยื่นฟ้องในคดีหมิ่นฯ ทั้งที่ยื่นฟ้องโดยปัจเจกบุคคลและเจ้าหน้ารัฐ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนต่อสาธารณะเกี่ยวกับคดีดังกล่าว

แบรด อดัมส์ ( Brad Adams ) ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์ วอทช์ ฝ่ายเอเชียกล่าวว่า การมัดคอประชาชนด้านเสรีภาพในการแสดงออก ถูกกระทำในนามของการพิทักษ์กษัตริย์ การบังคับใช้ที่รุนแรงของกฎหมายหมิ่นกษัตริย์ส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย รัฐบาลต้องเปิดการพูดคุยเรื่องนี้อย่างกว้างขวางเพื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และทำให้แน่ใจว่ากฎหมายหมิ่นฯ จะสอดคล้องกับพันธะผูกพันของไทยที่มีต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล
แต่รัฐบาลไทยชุดไหนๆก็จัดการเรื่องมาตรา
112 เหมือนกันหมด คือ ไม่กล้าทำอะไรกับมาตรา 112 ทั้งที่รู้ว่าการใช้การตีความมีปัญหา คำสัญญาว่าจะทำให้สถานการณ์มันดีขึ้น หรือการมองปัญหาเรื่องนี้ในสมัยที่ตัวเองเป็นฝ่ายค้าน จะเปลี่ยนไป ทันทีที่ตนเองเป็นรัฐบาล ก็จะเริ่มกลัวไปหมด  กลัวคนด่า กลัวหาว่าไม่จงรักภักดี  ทุกรัฐบาลต่างแย่งกันโชว์ผลงาน แย่งกันแสดงความจงภักดีด้วยการใช้ มาตรา 112 ทำร้ายประชาชน  ซึ่งมิใช่การรักษาสถาบันกษัตริย์ที่ถูกต้องแต่อย่างใด

โดยเฉพาะคดีอากงส่งเอสเอมเอสเป็นคดีที่สะเทือนขวัญไม่น้อย อากง อายุ
61 ปี มีโรคประจำตัว ต้องเลี้ยงดูหลาน ๆ แต่กลับถูกตัดสินจำคุก 20 ปี แบบไม่มีเหตุอันควรปราณีใด ๆ  หรือรอลงอาญาเพียงเพราะการส่งข้อความสั้น 4 ข้อความผ่านมือถือ  เป็นโทษที่หนักกว่าคดีฆ่าคน หรือทำร้ายร่างกายสาหัสบางคดีเสียอีก  ทำให้หลายคนรู้สึกตกใจ  และมันเป็นกับคนทุกฝ่ายไม่ว่าจะคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อสีอะไร ก็รู้สึกได้เพราะถึงแม้คุณไม่ได้คิดทำผิด  หรือเขาพิสูจน์ไม่ได้ว่าคุณทำ คุณก็อาจติดคุก 20 ปีได้เหมือนกัน เพราะไม่มีใครรู้ว่าอากงทำหรือเปล่า หรือว่าใครทำ  แต่ที่สำคัญกว่าคือ  หลักการต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัย  การยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือหลักการในเรื่องภาระการพิสูจน์ของโจทย์ในคดีอาญาว่าอากงเป็นคนกดส่ง SMS เอง 
แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงทางเทคนิคว่า ข้อความ SMS ถูกส่งจากโทรศัพท์มือถือที่น่าจะมีเลขหมายประจำเครื่องหรืออีมี่  (เลข IMEI) หรือ International Mobile Equipment Identity ซึ่งเป็นรหัสประจำตัวเครื่องโทรศัพท์สามารถเช็ครหัสอีมี่ได้ด้วยการกดแป้น *#06# จะมีตัวเลขปรากฏขึ้นมาซึ่งแต่ละเครื่องก็จะมีจำนวน 15 หลัก  โดยมีหมายเลขตรงกับมือถือที่อากงใช้อยู่  และส่งออกมาจากย่านที่อยู่อาศัยของอากง  ก็ฟังได้ว่าอากงผิด  แต่เหตุประกอบเพียงเท่านี้ เพียงพอหรือที่จะลงโทษจำเลยให้จำคุกถึง 20 ปี ยิ่งถ้าพิจารณาจากเหตุแวดล้อมอื่น ๆ เช่น พฤติกรรมจำเลย ก็กลับปรากฏว่า อากงเคยพาลูกพาหลานไปลงนามถวายพระพรในหลวง

รวมทั้งสิทธิการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือได้รับประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย ที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (7)  หากจะไม่ให้ประกันตัวก็ต้องมีเหตุพิเศษมากๆ เช่น กลัวหลบหนี  คดีร้ายแรง เกรงจะไปยุ่งเหยิงกับพยาน  แต่กรณีอากง เป็นคนแก่อายุ 61 มีโรคประจำตัว  มีหลานต้องเลี้ยง  เคยได้ประกันตัวในชั้นตำรวจมาครั้งหนึ่งแล้ว ก็ยังกลับมาขึ้นศาล  แต่ทำไมในชั้นศาลอากงกลับไม่ได้ประกันตัว   ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112เกือบ 90% จะไม่ได้รับการประกันตัวถ้าไม่ใช่คนมีชื่อเสียง ด้วยเหตุผลเดียวกันคือกลัวหลบหนี และเป็นคดีที่มีโทษสูง ไม่ว่าผู้ต้องหาจะมีสถานภาพแตกต่างกันอย่างไร  ต้องถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังบริสุทธิ์อยู่ จนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลนั้นกระทำผิด  ซึ่งรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 39  ถ้าอ้างว่าเป็นคดีที่มีโทษสูงจึงไม่ควรปล่อย ทั้งที่ลักษณะของจำเลยคงหลบหนีหรือยุ่งกับพยานไม่ได้ ก็เท่ากับละเมิดสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน  แล้วเหตุใดคดีที่ร้ายแรงกว่านี้เช่นฆ่าคนตาย หรือคดีที่จำเลยเป็นผู้มีอิทธิพลบางคดี จึงได้รับการประกันตัว
คำพิพากษาคดีอากง ก็ขัดกับหลักพิสูจน์จนสิ้นสงสัย ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ที่ได้วางหลักไว้ว่า การจะตัดสินว่าจำเลยกระทำผิดนั้น ต้องมีการพิสูจน์พยานหลักฐานจนสิ้นสงสัย ถ้ายังมีข้อสงสัย ก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามภาษิตกฎหมาย ที่ว่า ปล่อยคนผิด 10 คน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว
จากข้อสงสัยทางเทคนิคที่ว่าข้อความนั้นส่งจากมือถือของอากงจริงหรือไม่ เพราะมีข้อเท็จจริงว่า เลขหมายประจำเครื่องหรืออีมี่เป็นสิ่งที่ปลอมแปลงกันได้
  ข้อความที่ส่งอาจมาจากโทรศัพท์เครื่องอื่นที่ปลอมแปลงเลขอีมี่และมาตรงกับของอากงพอดี ถ้าแม้จะพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าข้อความมาจากเครื่องโทรศัพท์ของอากงแน่ๆ  แต่อะไรคือ พยานหลักฐานที่ชี้ได้ว่า อากง คือคนกดส่งข้อความนั้น  พยานแวดล้อมแค่เพียงว่า ข้อความส่งมาจากย่านที่อากงอาศัยอยู่ หรือข้อเท็จจริงที่ว่าอากงเป็นเจ้าของเครื่องโทรศัพท์  เท่านี้ยังไม่อาจเพียงพอ ที่จะบอกว่าอากงเป็นคนส่งเองหรือเป็นคนทำผิด  เปรียบเหมือนเรามีปืน ที่จดทะเบียน ต่อมามีคนเอาปืนเราไปยิงคนตาย ตำรวจยึดปืนได้ มาสืบดูพบว่าเราเป็นเจ้าของปืน กรณีนี้จะมาตัดสินลงโทษทันทีว่าเจ้าของปืนทำผิดย่อมไม่ได้  การสืบได้ถึงความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ตัวชี้โดยอัตโนมัติ ว่าเจ้าของเป็นผู้กระทำความผิด 
ถึงแม้ว่าคดีนี้มีความซับซ้อนยุ่งยาก เพราะมีประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี
  ที่แทบจะหาประจักษ์พยานไม่ได้เลย จึงต้องใช้พยานแวดล้อม แต่พยานแวดล้อมเหล่านั้นก็ควรต้องแน่นหนาพอสมควรเช่นกัน ต้องอยู่ภายใต้หลักต้องฟังจนสิ้นสงสัย ไม่ใช่พยานเบื้องต้นที่ชี้วัดอะไรไม่ได้ ที่สำคัญคดีนี้มีโทษจำคุก ไม่ใช่แค่เพียงโทษปรับเล็ก ๆ น้อย ๆ
ในทางคดีอาญานั้นโจทก์หรือผู้กล่าวโทษ เป็นผู้มีภาระพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำผิด ซึ่งต่างจากคดีแพ่ง ที่ศาลจะต้องกำหนดภาระพิสูจน์ตามข้อเท็จจริง แต่ในคดีอาญานั้นภาระการพิสูจน์จะตกอยู่ที่โจทก์เป็นหลัก หมายความว่า
  ถ้าจำเลยปฏิเสธเสียแล้วว่าตนไม่ได้กระทำตามที่โจทก์กล่าวหา แม้จำเลยไม่ได้ลงมือสืบแก้ต่างอะไรให้ตัวเองเลย หรือไม่ต้องหาอะไรมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองเลย  โจทก์ก็มีหน้าที่หาพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลสิ้นสงสัยให้ได้ว่าจำเลยทำผิดจริง  ถ้าพิสูจน์ไม่ได้  ศาลก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ในทางปฏิบัติทนายฝ่ายจำเลยเองก็ต้องหาพยานมาหักล้างโจทก์ แต่จะหักล้างได้แค่ไหนไม่สำคัญเท่าฝ่ายโจทก์สืบได้สิ้นสงสัยหรือไม่ แม้ในกรณีที่ผู้ต้องหารับสารภาพก็ยังต้องมีการทำแผนประทุษกรรมเพื่อให้สิ้นสงสัยว่าได้กระทำผิดจริงแต่ศาลในคดีอากงกลับพิพากษาในทำนองว่า เมื่อจำเลยคืออากง ไม่สามารถแสดงความบริสุทธิ์ให้ศาลเห็นได้ ก็ต้องมีความผิด   ซึ่งขัดหลักภาระการพิสูจน์อย่างชัดเจน กฎหมายไทยนั้นต้องอิงอยู่กับหลักของกฎหมายสากล  ไม่มีกฎหมายอาญาแบบไทยๆ  ยิ่งกว่านั้นกฎหมายของไทยเราเป็นแบบแบบซีวิลลอว์  คือต้องยึดถือตามกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัด มิใช่ถือตามคำพิพากษาที่เคยมีมา 
แต่ในทางปฏิบัติ กลายเป็นว่าศาลของไทยมักตัดสินคดีทางการเมืองโดยขัดหลักการและขัดต่อตัวบทกฎหมาย โดยอ้างตนเป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิดที่เรียกใช้ดุลยพินิจส่วนตัวเพียงอย่างเดียว และยังห้ามผู้ใดวิจารณ์คำตัดสินของตน โดยไม่มีองค์กรตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพตามหลักการถ่วงดุลอำนาจ มีแต่การอ้างว่าให้จำเลยไปอุทธรณ์ได้ และมีคณะกรรมการตุลาการหรือ ก.ต.ซึ่งมาจากตุลาการด้วยกันเป็นองค์กรตรวจสอบกันเอง มีแต่การอ้างว่าศาลต้องการความเป็นอิสระสูง อิสระจากทุกสิ่ง ทั้งๆที่อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชน และศาลมีอำนาจหน้าที่เพียงการพิจารณาคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้นเอง

ถ้าตัดประเด็นปัญหาเรื่องสิ้นสงสัยออกไป แล้วยอมรับว่าอากงกระทำผิดจริง ก็ต้องถือว่าโทษหนักมากๆ สำหรับการเขียนข้อความแล้วส่ง SMS ให้บุคคลที่สามเพียงคนเดียว ถ้าพิจารณาพื้นๆ จาก อายุของจำเลย เป็นการกระทำความผิดครั้งแรก ซึ่งน่าจะมีเหตุบรรเทาหรือลดหย่อนโทษให้ได้บ้าง  แต่มาตรา 112 มีอัตราโทษสูงเกินไป  จนไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุอากงเป็นแค่ประชาชนสามัญธรรมดา ไม่ใช่ผู้นำการเมืองและไม่ใช่แม้กระทั่งนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ความรู้ในเครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็จำกัด เป็นเพียงชายในวัยเริ่มชราคนหนึ่งที่เจ็บปวดกับความไม่ถูกต้องของบ้านเมือง ข่าวอากงได้แพร่สะพัดไปตามสื่อระดับโลกอย่างรวดเร็ว ไปทั่วโลก ทุกรายงานข่าวเน้นที่ความรุนแรงในคำพิพากษาคดีอากง ที่ทำให้นานาอารยะประเทศ ต้องหันมาจับจ้องประเทศไทย ที่ทำให้โลกตะลึง

คดีอากงกลายเป็นคดีตัวอย่างสมบูรณ์แบบ ของความเป็นเหยื่อบริสุทธิ์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าใครก็ได้อาจตกเป็นเหยื่อโดยการฟ้องของใครก็ได้  เมื่อใดก็ได้ โดยมีพยานหลักฐานชี้ชัดหรือไม่ก็ได้ การมีอธิปไตยทางการศาลของประเทศไทย จะมีความหมายอะไรในเมื่ออำนาจอธิปไตย ยังไม่ได้เป็นของประชาชน ในยุคสมัยที่ความเป็นคนไทย กำลังกลายเป็นอาการโรคจิตคลั่งเจ้าอย่างรุนแรง ที่เที่ยวไปชี้หน้าคนอื่นว่าไม่ใช่คนไทย เป็นคนไทยอกตัญญูเนรคุณ

โฆษกศาลฯชี้แจงเหตุ 5 ข้อคดีอากง
หลังกระแสสังคมแรง


14 ธ.ค.2554 นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ  โฆษกศาลยุติธรรมได้ออกบทความชื่อเรื่องอากงปลงไม่ตก เพื่อกล่าวถึงในคดีของนายอำพลหรืออากง เนื่องจากกระแสสังคมเรียกร้องในการแก้ไขปรับปรุงรวมทั้งยกเลิกกฎหมายหมิ่นกษัตริย์
1. อากงไม่ได้กระทำความผิด เหตุใดศาลจึงพิพากษาลงโทษจำคุก 
เป็นความเชื่อส่วนบุคคลของคนบางคนว่าอากงมิได้กระทำความผิดเป็นการตัดสินกันเองโดยกลุ่มบุคคลนอกศาลและกระบวนการยุติธรรม เป็นการคิดเอาเองโดยปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน
 ในขณะที่คดีนี้ผ่านกระบวนการสอบสวน การกลั่นกรองจากอัยการ แล้วเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีในชั้นศาลอย่างเต็มที่ อันเป็นหลักการสากลและหลักกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อสู้คดี อย่างเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยศาลชั้นต้นได้ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องของอัยการโจทก์จริง แต่ถ้าจำเลยไม่เห็นด้วยไม่พอใจในผลคำพิพากษา ก็ยังสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ ฎีกาได้ตามกฎหมาย


2. ศาลลงโทษจำคุก 20 ปี เป็นโทษที่หนักเกินไป 
สำหรับคดีนี้ มีการใช้ถ้อยคำหยาบคายแสดงความอาฆาตมาดร้าย จาบจ้วงล่วงเกินพระมหากษัตริย์และพระราชินีด้วยถ้อยคำภาษาที่ป่าเถื่อนและต่ำทรามอย่างยิ่ง เกินกว่าวิญญูชนคนทั่วไปจะพึงพูดจาดูหมิ่นเหยียดหยามกัน
  โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้กระทำต่อพระเจ้าอยู่หัวองค์พระประมุขของประเทศ อันเป็นที่เคารพยกย่องเทิดทูนของปวงชนชาวไทยและทั่วโลก ในหลวงทรงครองสิริราชย์มาเป็นเวลากว่า 65 ปี ทรงครองแผ่นดินด้วยหลักทศพิธราชธรรม ห่วงใยทุกข์เข็ญของอาณาประชาราษฎร์ตลอดเวลา แม้ในยามประชวร ก็ยังทรงงานเพื่อแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชนเช่นอุกทุกภัยน้ำท่วมในปลายปี 2554

พระเจ้าอยู่หัวได้ทุ่มเทพระวรกายตลอดพระชนม์ชีพ ทรงงานเพื่อความผาสุกของประเทศชาติและประชาชนทุกหมู่เหล่า ในกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ก็บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงมิใช่คู่กรณีที่มีความขัดแย้งสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่จำเลยแม้แต่น้อยนิด รวมทั้งพระองค์ท่านทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองจากมวลชนทุกหมู่เหล่า จึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยหรือบางคนจะพยายามบิดเบือนว่า คดีนี้มาจากมูลฐานทางการเมือง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่เป็นธรรมและห่างไกลจากความเป็นจริง
3.อากงอายุมากแล้วควรได้รับการลดโทษ ปล่อยตัวไปหรือได้รับการประกันตัว
คดีนี้มีข้อเท็จจริงบางประการที่ผู้วิจารณ์อาจยังรู้ไม่ครบถ้วนและเข้าใจ คลาดเคลื่อนคือ นอกเหนือจากพฤติการณ์แห่งคดีหรือข้อความหมิ่นประมาทที่มีความรุนแรงและร้ายแรงอย่างมากแล้ว   ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า ผู้กระทำไม่ได้กระทำความผิดแค่ครั้งเดียว แต่มีการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ  ด้วยถ้อยคำดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายถึง 4 ครั้ง มีถ้อยคำที่แตกต่างกันทุกครั้ง แสดงถึงเจตนาที่จงใจกระทำผิดกฎหมายอย่างท้าทายไม่ยำเกรงอาญาแผ่นดิน ไม่มีจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี
เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธมาตลอดจนถึงในชั้นศาลจึงไม่มีเหตุลดโทษ บรรเทาโทษตามกฎหมาย ซึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา
112 กฎหมายระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี

การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในความผิดแต่ละครั้งจำคุกกระทงละ
5 ปี ตามมาตรา 112  ซึ่งเป็นโทษบทหนักนั้น เป็นการลงโทษสูงกว่าโทษขั้นต่ำของกฎหมายเพียง 2 ปี ยังเหลืออัตราโทษอีก 10 ปี ที่ศาลมิได้นำมาใช้ เมื่อนำโทษทั้ง 4 กระทงมารวมกันเป็น 20 ปี คนทั่วไปที่ไม่รู้จึงเข้าใจผิดคิดว่าศาลลงโทษครั้งเดียว 20 ปี เห็นว่าโทษหนักไป แต่ถ้าเทียบกับพฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งคดีแล้ว หลายคนที่รู้จริงเห็นตรงข้ามว่าโทษเบาไปหรือเหมาะสมแล้วก็มี




แม้สังคมทั่วไปจะเรียกจำเลยว่าอากง ฟังดูประหนึ่งว่าจำเลยชราภาพมากแล้ว แต่ตามฟ้องจำเลยอายุ 61 ปี มิได้แก่ชราจนต้องอยู่ในความอนุบาลดูแลของผู้ใด สามารถเข้าใจและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้  แสดงว่าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และมิได้แก่เฒ่าคราวปู่ทวด
สำหรับบุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคม สถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความหลงผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง คงไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่อง หรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้ มาตรการที่เหมาะสมจึงควรตัดโอกาสในการกระทำผิด ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ที่กระทำความผิดคิดวางแผนไตร่ตรองในการกระทำความผิด อย่างแยบยลแนบเนียนด้วยแล้ว ก็ยิ่งสมควรใช้วิธีการที่เหมาะสม ในการคุ้มครองรักษาความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนด้วย จึงไม่แน่แท้เสมอไปว่าชราชน ที่กระทำความผิดจะต้องได้รับการลดโทษ ลงโทษน้อย หรือปล่อยตัวเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อหาความผิด ความเสียหายและพฤติการณ์การกระทำแต่ละคดีที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป
ส่วนการจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ข้อเท็จจริงแห่งคดีเป็นเรื่องๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
108
4. ประเด็นที่ว่าศาลไทยไม่มีมาตรฐานสากล ควรรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล แม้การแสดงความคิดเห็นถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่กติการะหว่างประเทศให้การยอมรับ แต่ในขณะเดียวกัน กติการะหว่างประเทศก็ได้กำหนดไว้ด้วยว่าการใช้สิทธิดังกล่าวต้องทำด้วยความสำนึกรับผิดชอบ และไม่ล่วงละเมิดสิทธิของบุคคล  เนื่องจากบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในการรักษาชื่อเสียงและเกียรติภูมิของตนและต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต และมาตรา 421ก็บัญญัติว่า การใช้สิทธิ  ซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีมาตรฐานเช่นเดียวกับหลักการสากลข้างต้น  อันแสดงว่าประเทศไทยให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน มีกฎหมายที่มีความก้าวหน้าทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ เพียงแต่ภายใต้ระบอบการปกครองบ้านเมืองที่แตกต่างกัน ทุกประเทศจึงควรที่จะต้องให้เกียรติเคารพในความต่างที่เป็นจุดแข็งทางวัฒนธรรมและสังคมของแต่ละประเทศ

หากผู้วิจารณ์คนใดยังศึกษาภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ไม่ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ หรือมีข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนเพียงพอ ไม่เข้าใจในขนบธรรมเนียม ประเพณี สังคมประเทศใดแล้ว การแสดงความเห็นว่าศาลหรือกระบวนการยุติธรรมของประเทศอื่นในทำนองห่วงใยว่า จะไม่มีมาตรฐานสากลนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง และหมิ่นเหม่ต่อการกล่าวหากันอย่างไม่เป็นธรรม  อาจทำให้คิดไปว่าผู้วิพากษ์วิจารณ์เจือปนด้วยอคติที่หลงผิดมีวาระซ่อนเร้น ประเทศไทยมีเอกราชทางการปกครองและการศาลมาช้านาน  และประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
5. สำหรับข้อเรียกร้องให้ยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายคอมพิวเตอร์  กฎหมายทุกฉบับออกหรือตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นผู้แทนมาจากปวงชนชาวไทย สามารถแก้ไขปรับปรุงและยกเลิกได้ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าล้าสมัยไม่เหมาะสม ศาลเป็นเพียงผู้ใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ที่สภานิติบัญญัติตราขึ้น มีกฎหมายหลายฉบับเขียนให้ศาลแทบใช้ดุลพินิจไม่ได้หรือ ต้องลงโทษสถานหนักในบางข้อหาเช่น ผลิตนำเข้ายาเสพติดให้โทษประเภท 1 แม้เพียง 1 เม็ดหรือ ข้อหาฆ่าบุพการี ต้องประหารชีวิตสถานเดียว เป็นต้น แม้การแก้ไขยกเลิกกฎหมายจะกระทำได้ก็ตาม  แต่ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน ความสงบเรียบร้อยของสังคมและผลกระทบข้างเคียงอื่นที่อาจตามมาด้วย อย่าให้อารมณ์หรือกระแสแห่งการปลุกปั่นยั่วยุชักจูงไปในทางที่เสียหายได้
คดีอากง เป็นแค่ปฐมบทในการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลย
  ตามครรลองแห่งเสรีภาพที่กฎหมายเปิดช่องไว้ตราบใดที่คดียังไม่ถึงที่สุด  การด่วนรวบรัดตัดความกล่าวโทษบุคคลหรือองค์กรที่ทำหน้าที่รักษากติกาสังคม อาจยังไม่เป็นธรรมนัก อย่างไรก็ตาม คนทุกชาติ ทุกภาษา ต่างหวงแหนรักในแผ่นดินเกิดของตนเองเคารพและศรัทธาในศาสดาที่เป็นผู้นำทาง ศาสนาของตนเอง ความแตกต่างทางความคิดเชื้อชาติศาสนาการปกครองบ้านเมืองศิลปวัฒนธรรม ประเพณี  มิใช่สิ่งผิดปกติในสังคมโลก แต่การกล่าวร้ายใส่ความ แสดงความอาฆาตมาดร้ายศาสดาของศาสนาอื่น เป็นพฤติการณ์ที่ผู้เจริญมิสมควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะน้ำผึ้งหยดเดียวอาจกลายเป็นความหายนะของชาติได้

ดังนั้น  หากท่านผู้อ่านอยากรู้ปัจจุบันและอนาคตของชาติใด ขอจงศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น สำหรับชาติไทยดำรงคงเอกราชมีเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย เป็นที่ชื่นชมยกย่องของคนทุกชาติทุกภาษา  เพราะผู้คนในสังคมไทยยังมีความรักสามัคคี  มีน้ำใจ เอื้ออาทรผ่อนปรนเข้าหากัน ไม่ก้าวร้าวรุนแรงโดยขาดสติไร้เหตุผลรักหวงแหน เทิดทูนในชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์จากรุ่นสู่รุ่น และปลูกฝังถ่ายทอดเป็นมรดกสู่ลูกหลานจนถึงปัจจุบันหากคนไทยยังรักและภูมิใจในแผ่นดินเกิด ขอได้โปรดช่วยกันรักษาสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ การจะติชมวิพากษ์เป็นเสรีภาพที่กระทำได้ ขอเพียงมีจิตเป็นกลาง ไม่มีอคติ และบนฐานคติที่สร้างสรรค์ พึงอย่าได้ใช้สิทธิส่วนตนเกินส่วนจนเกินขอบเขตก้าวล้ำสิทธิเสรีภาพผู้อื่น อย่าได้แสดงความพยาบาทอาฆาตมาดร้าย ประหัตประหารด้วยอาวุธลมปากและความเท็จต่อผู้อื่น โดยอ้างเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุอื่นมาสร้างความชอบธรรมแก่ตนเอง อย่าให้ลูกหลานในอนาคตเหลือแค่ความทรงจำแห่งความภาคภูมิในอดีตบนซากปรักหัก พังของชาติไทย ที่ผองชนรุ่นปัจจุบันได้ทำลายล้างไปอย่างตั้งใจและมิได้ตั้งใจ


ข้อสังเกต ในตอนต้นโฆษกศาลยุติธรรมอ้างหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด  แต่ต่อมาเขากล่าวว่าเขากล่าวว่า อากง เป็นบุคคลที่ เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคม สถาบันหลักของประเทศชาติ และองค์พระประมุข ฉะนั้น จึงควร ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น เท่ากับเป็นการพิพากษาอากงซ้ำอีกหน โดยที่ยังก้าวล่วงไปถึงตัวตนของอากง เกินกว่าหลักสากลที่อนุญาตให้ศาลหรือผู้พิพากษาจะกระทำได้   
โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวว่าผู้วิจารณ์ผลการตัดสินคดี อากง ยัง มิได้รู้เห็นพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงในสำนวนความอย่างถ่องแท้ เขาจึง ขออนุญาตนำความจริงบางประการมาแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน แต่กฎหมายกำหนดให้การพิจารณาคดีหมิ่นกษัตริย์เป็นความลับและการเปิดเผยเนื้อหาหรือข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันถือเป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน ฉะนั้น บุคคลที่อยู่นอกแวดวงศาลหรือกระบวนการยุติธรรมจึงถูกกีดกันจากการเข้าถึงความจริงที่เกี่ยวข้องกับคดีตั้งแต่ต้น ทำได้แต่เพียงรับฟังความจริงที่บุคคลในแวดวงศาลหรือกระบวนการยุติธรรมนำมาเปิดเผยเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถคัดค้านความคิดเห็นหรือความเชื่อบางข้อเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งที่โฆษกศาลนำมากล่าวอ้างก็คือการมัดมือชกผู้อ่านที่ไม่เห็นด้วยโดยอาศัยอภิสิทธิ์ของตนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า มาดูแคลนผู้วิจารณ์การพิจารณาคดีและผลการตัดสินคดีอากง ว่าไม่เห็นพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเพราะกฎหมายที่เป็นปัญหาดังกล่าวต่างหาก ที่ส่งผลให้ผู้วิจารณ์มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้น และหากโฆษกศาลยุติธรรมต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมกันจริงก็จำเป็นต้องขจัดข้อจำกัดจากกฎหมายดังกล่าวทิ้งไปเสียก่อน หากไม่ทำหรือทำไม่ได้ก็ป่วยการจะมาพร่ำเพ้อเรื่องความยุติธรรมที่มีแต่จะชวนให้น่าสังเวช

โฆษกศาลอ้างว่าการเรียกร้องให้ยกเลิกความผิดตามมาตรา 112 และความผิดว่ากฎหมายคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเรื่องของรัฐสภา ศาลเป็นเพียงผู้ใช้กฎหมาย แต่โฆษกศาลได้แสดงความเห็นชัดเจนว่าไม่ควรยกเลิก และยังเตือนด้วยว่า ถ้ายกเลิกก็อาจถึงขั้น ซากปรักหักพังของชาติไทย และยังพูดถึงความรักหวงแหนในสถาบันกษัตริย์ โดยเปรียบเทียบกับความเคารพศรัทธาต่อศาสดาของศาสนา แต่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายห้ามดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อผู้นำศาสนา เป็นพิเศษกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปและการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลักการทางศาสนา วิถีปฏิบัติ หรือนักบวช ล้วนทำได้เต็มที่
ดังนั้นความรักเทิดทูนต่อสถาบันกษัตริย์ กับความเคารพศรัทธาต่อศาสดา ล้วนมีที่มาจากความรักเคารพเทิดทูนด้วยจิตใจบริสุทธิ์
 ซึ่งไม่ได้มาจากการห้ามวิพากษ์วิจารณ์ หรือกระทั่งห้ามจาบจ้วงดูหมิ่น เพราะด้วยคุณงามความดีที่ดำรงอยู่ ผู้จาบจ้วงดูหมิ่นย่อมแพ้ภัยตัวเอง  เพียงแต่ที่กฎหมายกำหนดห้ามจาบจ้วงดูหมิ่นเพราะเป็นการล่วงล้ำสิทธิของผู้ที่เคารพนับถือ ย่ำยีความรู้สึกอันอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม

ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ถือว่ากษัตริย์เป็นองค์กรหนึ่งของรัฐ ไม่เหมือนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กษัตริย์มีพระราชอำนาจโดยไม่จำกัด ประเทศประชาธิปไตยย่อมถือว่า สามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ ทั้งในแง่ของการปฏิบัติหน้าที่ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในแง่ของการประพฤติปฏิบัติพระองค์ให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ประมุขของชาติซึ่งต้องถูกเรียกร้องสูงเป็นธรรมดา

โฆษกศาลกล่าวว่า การจะติชมวิพากษ์เป็นเสรีภาพที่กระทำได้ ขอเพียงมีจิตเป็นกลาง ไม่มีอคติ และบนฐานคติที่สร้างสรรค์ พึงอย่าได้ใช้สิทธิส่วนตนเกินส่วนจนเกินขอบเขตก้าวล้ำสิทธิเสรีภาพผู้อื่น อย่าได้แสดงความพยาบาทอาฆาตมาดร้าย ประหัตประหารด้วยอาวุธลมปากและความเท็จต่อผู้อื่น โดยอ้างเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุอื่นมาสร้างความชอบธรรมแก่ตนเอง
ซึ่งเป็นการพูดที่กว้างเกินไปจนไม่แน่ใจว่าอะไรคือเสรีภาพ อะไรคือความผิด การใช้คำหยาบจาบจ้วงล่วงเกิน ก็ต้องถือว่าผิดแน่ และจะให้ลงโทษแค่ปรับเหมือนเนเธอร์แลนด์ คนไทยก็ยังทำใจไม่ได้ แต่การวิพากษ์วิจารณ์เชิงโครงสร้างของระบอบ เช่น ควรมีองคมนตรีหรือไม่ ควรมีมาตรา 112 หรือแก้ไข หรือยกเลิก ควรจัดวางสถานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อย่างไร เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องโครงสร้าง ซึ่งควรวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ในกระแสปัจจุบันเหมือนจะไม่ยอมให้วิพากษ์วิจารณ์
ประชาชนต้องมีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ความคิดราชาธิปไตยรวมถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องอันตราย เพราะมาตรา
112 ใครก็แจ้งความได้รวมถึงการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์องคมนตรี ข้าราชบริพาร หรือผู้ใกล้ชิดสถาบัน แต่คนไทยไม่ค่อยกล้า
การแสดงความเห็นต่างจากพระราชดำริ ซึ่งหากแสดงโดยตรงไปตรงมา สุจริต สุภาพ ไม่ประชดประเทียดเสียดสี ก็น่าจะกระทำได้ เช่นเดียวกับความเห็นแย้งต่อพิธีกรรมถวายความจงรักภักดี เช่น ส.ส.ฝ่ายค้านควรมีสิทธิ์เสนอความคิดเห็นตัดลดงบประมาณจัดงานพระราชพิธีที่ไม่จำเป็นและเกินสมควร ให้เป็นไปตามคำโฆษณาแนวทางพอเพียง
ประชาชนควรมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์หรือท้วงติงว่าสถาบันกษัตริย์ที่แสดงท่าทีที่ไม่เป็นกลางหรืออาจเกินเลยจากอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และการประพฤติปฏิบัติพระองค์ให้เหมาะสมกับการเป็นผู้แทนของชาติ
แต่ประเทศไทยยังมีความคลุมเครืออย่างมาก และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าโดยมีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน
โดยเฉพาะการใช้มาตรา
112 รวมถึงการวินิจฉัยของศาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพิจารณาลับ ห้ามเผยแพร่ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่น และการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมักไม่ได้รับการประกันตัว
คำถามสั้นๆถึงคนดีในระบอบตุลาการทั้งหลาย ก็คือจะต้องให้มีคนตายในนามประชาธิปไตยแบบไทยๆ อันมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใครในโลก อีกกี่ศพ จึงจะเลิกเฉไฉ บิดเบือนและหันมายึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างที่ชอบอ้างกันเสียที ตั้งแต่วันที่อากงถูกตัดสินด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) จนกระทั่งวันที่จากลาโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ บรรดาชนชั้นนำในระบอบตุลาการ หรือมนุษย์ที่ใครพากันเรียกว่าเป็นคนดี  ยังคงพากันเฉไฉและบิดเบือนข้อเท็จจริงตลอดมา ศาลไทยต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่กฎหมายสิทธิมนุษยชน ระหว่างประเทศระบุไว้ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองข้อ 19 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีมีข้อยกเว้น 2 ประการคือ 1. บุคคลสาธารณะย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ และ 2. ต้องมีการละเว้นโทษหากพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นจริง หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ มิใช่อาศัยเพียงความเชื่อและความคิดเห็นของผู้พิพากษาที่อ้างว่า"ข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเปี่ยมไปด้วยพระ เมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อปวงชนชาวไทย" 
ผู้ตรวจการพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่อง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ชัดเจนว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยถูกตีความกว้างเกินไป และโทษมีความรุนแรงและไม่ได้สัดส่วนกับการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์หรือความมั่นคงของชาติ
ในขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์หรือบุคคลในสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ส่งผลให้ประเทศชาติต้องล่มสลายหรือเกี่ยวโยงกับความมั่นคงปลอดภัยของชาติแต่อย่างใด อีกทั้งกฎหมายหมิ่นฯต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังอุดมการณ์เทิดทูนสถาบันกษัตริย์

การอ้างเรื่องศีลธรรมอันดีนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีบันทัดฐานที่ชัดเจน  การอ้างความเป็นไทยเพื่อกีดกันความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคมว่าเสมือนเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ต้องกำจัดให้สิ้นซากโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมใดๆก็ขัดกับหลักการประชาธิปไตยสากล ที่ไม่ต้องมีลักษณะเฉพาะใดๆพ่วงท้าย
การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของอากงจุดกระแสการประท้วงกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้ล่าสุดอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาต้องออกมาชี้แจงต่อสาธารณชน ประหนึ่งว่าการเสียชีวิตของอากงไม่เกี่ยวข้องกับตน โดยระบุว่า จำเลยได้ยื่นประกันตัวชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลอาญาจึงส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง แต่ระหว่างการพิจารณาชั้นอุทธรณ์ จำเลยได้ขอถอนอุทธรณ์ โดยจะยื่นถวายฎีกา แต่ความจริงก็คืออากงยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนเองมาโดยตลอด และได้ยื่นขอประกันตัวเพื่อสู้คดีและรักษาอาการเจ็บป่วยได้อย่างเต็มที่ แต่กลับถูกศาลปฏิเสธถึง 8 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดศาลให้เหตุผลว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี และเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องร้ายแรงประกอบกับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยถึง 20 ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างความป่วยเจ็บนั้นเห็นว่า จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวชอบแล้ว ยกคำร้อง


8 พฤษภาคม 2555 ในช่วงเช้า อากงเสียชีวิตหลังมีอาการปวดท้อง คาดว่าเป็นผลจากอาการป่วยด้วยโรคมะเร็ง  ต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม
กลุ่มแพทย์ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ชันสูตรพลิกศพยืนยันว่าอากงเสียชีวิต จากโรคมะเร็งตับ พบก้อนมะเร็งในศพยาวกว่า
7 เซนติเมตร แสดงว่าเนื้อร้ายได้ก่อตัวมาแล้วกว่า 6 เดือนและอยู่ในขั้นลุกลาม การดูแลรักษาของเรือนจำด้วยการให้ยาแก้ท้องอืดหลังจากที่อากงมีอาการปวดท้อง ครั้งแล้วครั้งเล่าย่อมไม่เพียงพอและเหมาะสม อีกทั้งตามสภาพศพไม่มีร่องรอยของการช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อช่วยชีวิตของอากงแต่อย่างใด 



นางรสมาลิน ภรรยาของอากง ได้ให้สัมภาษณ์หลังดูศพสามี โดยกล่าวว่า "แกเคยบอกว่าถ้าแกไปก็เอาไว้วัดด่านนะ แกจะดูแลหลานเอง เรื่องการเสียชีวิตดิฉันไม่ทราบ แต่ติดใจเรื่องอื่นมากกว่าว่าทำไมคนแก่อย่างอากงต้องมาติดคุกทรมานแบบนี้ " จากนั้นภรรยานายอำพลได้ทำพิธีเชิญดวงวิญญาณสามีกลับบ้าน โดยกล่าวว่า " กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เค้าปล่อยตัวลื้อแล้ว"
ขณะที่ลูกชายคนโตของอากง ยืนยันทุกคนในครอบครัวมีความจงรักภักดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่อากง จะส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นสถาบันกษัตริย์
ขณะที่ อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องหาคนผิดตัวจริงมาลงโทษ เพื่อคืนความยุติธรรมให้อากง

จดหมายจากสมยศ
ถึงอากงที่จากไป



 




  13 พฤษภาคม 2555
ร่างตัวเล็ก บอบบางในชุดกางเกงขาสั้น เสื้อสีเหลือง ของชายชราอายุ
61 ปี ชื่ออำพล หรือ อากง มาหาผมที่แดน 1 เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2555 เรานั่งคุยกันที่ใต้ต้นหูกวาง อากงบอกว่า เดินขึ้นบันไดเข้าห้องขังที่ชั้น 3 แดน 8 ไม่ไหวแล้ว ระยะนี้สามวันดีสี่วันไข้ คิดถึงลูกหลานเหลือเกิน ผมรับปากอากงว่าจะทำหนังสือถึงผู้อำนวยการส่วนควบคุมผู้ต้องขังให้ย้ายกลับมาอยู่แดน 1 ให้อยู่ห้องเดียวกับผมถัดมาเพียงสัปดาห์เดียว
 

วันที่ 17 เมษายน 2555 ผมเจออากงคราวนี้ร่างกายผ่ายผอม ซูบเซียวมากกว่าเดิม อากงบอกว่าออกกำลังกายมากจนเจ็บท้อง หลังจากนี้ผมพบอาจารย์สุดา รังกุพันธ์ ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ซึ่งมาฟังการไต่สวนคดีของผม จึงได้แจ้งให้อาจารย์สุดาให้ช่วยประสานงานการย้ายห้องขังของอากงให้ด้วย
วันที่ 21 เมษายน 2555 ผมเจออากงก่อนเยี่ยมญาติ อากงบอกว่าอยู่ในคุกนานแล้ว ทุกข์ทรมานเหลือเกิน ผมสอบถามว่าใครเล่าทำให้อากงติดคุกแบบนี้ อากงตอบด้วยแววตาซื่อสัตย์ว่าโทรศัพท์และยืนยันหนักแน่นว่า ผมส่ง SMS ไม่เป็นผมจึงถามอากงว่า เป็นคนจำพวกล้มเจ้าหรือเปล่า อากงบอกว่า ผมรักในหลวง ถ้าออกจากคุกจะไปถวายพระพร

ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของอากง โดยปราศจากข้อสงสัยทั้งสิ้น ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผมถูกจองจำได้พูดคุยกับอากงหลายครั้ง ได้รับคำตอบเหมือนเดิมทุกประการ นอกจากเป็นคนส่งข้อความโทรศัพท์มือถือไม่เป็นแล้ว ในชีวิต 60 ปีของอากง อากงไม่เคยรู้จักนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมาก่อน และแน่นอนที่สุด เป็นไปไม่ได้เลยที่จะรู้เบอร์โทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติอีกด้วย
การตัดสินลงโทษสถานหนักเป็นเวลา 5 ปี จำนวน 4 กระทง รวมจำคุกทั้งสิ้น 20 ปี สำหรับชายชราเงอะงะ ไม่ประสีประสาทั้งในเรื่องเทคโนโลยีและเหตุการณ์บ้านเมือง จึงค่อนข้างเป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับผู้รักความเป็นธรรมจนทำให้ข่าวอากง ถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปีโด่งดังไปทั่วโลก
ขณะที่ศาลตัดสินลงโทษอากง 20 ปี ผมถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดเพชรบูรณ์ ทนายความนายอานนท์ นำภา และครอบครัวของเขายื่นคำร้องขอสิทธิประกันตัวอยู่หลายครั้งเพื่อให้อากงได้รับการรักษาพยาบาล และใช้ชีวิตชราภาพอยู่กับครอบครัว แม้ยื่นหลักทรัพย์จำนวนมาก และยังมีคณาจารย์จำนวนมากร่วมกันขอประกันตัวออกมา แต่ปรากฏว่าศาลยุติธรรมปฏิเสธที่จะให้การประกันตัวเช่นเดียวกันกับคนอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 ด้วยเหตุผลเพียง 2 – 3 บรรทัด คือ มีโทษสูงกลัวการหลบหนี ในที่สุดอากงจึงสิ้นหวังต่อสิทธิการประกันตัวที่ถูกลิดรอนไปจากชีวิตของอากง
นี่คือความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานของอากง ที่ทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจของอากงทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว

อากงเป็นเสมือนพสกนิกรชาวไทยที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แม้กระทั่งต้องติดคุกทุกข์ทรมานแสนสาหัสด้วยข้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรม การตัดสินลงโทษถึง 20 ปี ย่อมเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ มาตรา 112 จึงขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพโดยสิ้นเชิง กระนั้นก็ตามสำหรับอากงที่กลายเป็นเหยื่อของมาตรา 112 ยังคงจงรักภักดีไม่มีเสื่อมคลายแม้แต่น้อย อากงจึงเชื่อว่าหากได้ขอพระราชทานอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์ แล้วจะได้รับความเมตตาให้ปล่อยตัวในที่สุด

วันที่ 4 พฤษภาคม 2555 ผมเจออากงเป็นครั้งสุดท้าย อากงบอกว่า ผมขอไปก่อนอากงมั่นใจเป็นอย่างมากว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษอย่างแน่นอน ในขณะที่มือกุมท้องที่บวมเปล่งด้วยความเจ็บปวด อากงมีอาการแบบนี้มา 3 เดือนแล้ว แต่ไม่มีโอกาสตรวจรักษาอย่างละเอียดเพียงพอ เพราะสำหรับนักโทษในทุกเรือนจำทั่วประเทศต่างรับทราบกันดีว่า หากไม่มีอาการปางตาย จงอย่าเยื้องกายไปสถานพยาบาลของเรือนจำ มิเช่นนั้นจะถูกไล่ตะเพิดเหมือนหมู หมา กา ไก่ เพราะพวกนักโทษในสายตาของหมอ พยาบาล คือ พวกสัตว์ชั้นต่ำที่ไม่สมควรได้รับการรักษาพยาบาล กระนั้นก็ตามแม้มีอาการปางตาย กว่าจะไปพบแพทย์ หรือได้รับยารักษาพยาบาลก็มีขั้นตอนยุ่งยาก ส่วนใหญ่อาจพิการ หรือไม่ก็สิ้นชีวิตไปเสียก่อน
วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ผมได้รับทราบข่าวว่าอากงสิ้นลมหายใจไปแล้ว  ผมขอไปก่อน ประโยคสุดท้ายที่ไม่ได้หมายถึงการได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ปล่อยตัว แต่หมายถึงความตายที่พรากวิญญาณของอากงจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ ชายชราผู้บริสุทธิ์เดียงสา ต้องตายจากไปด้วยมาตรา 112 ที่เป็นเครื่องมือการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การตายของเขาสะท้อนกระบวนการยุติธรรมที่ไร้มาตรฐานของไทยเราที่เกิดขึ้น ครั้งแล้ว ครั้งเล่าความตายของอากงคือความเหี้ยมโหดอำมหิตของมาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ทั้งหมดนี้คือความเป็นจริงที่เจ็บปวดรวดร้าวของนักโทษตามมาตรา 112 ที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานราวสัตว์เดรัจฉานในกรงขัง

อิสรภาพของร่างอันไร้วิญญาณ คือ เถ้าถ่านแห่งความทรงจำที่เจ็บปวดของสังคมเผด็จการภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย คือความเลวทราบต่ำช้าที่ถูกปิดบังซ่อนเร้นภายใต้การโฆษณาชวนเชื่อในเรื่อง บุญบารมี และความดีจอมปลอม เพื่ออำนาจที่ฉ้อฉลของพวกเหล่าอภิสิทธิ์ชนในสังคมไทย  ไปสู่สุคติเถิด...อากงได้รับอิสรภาพแล้ว

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เรือนจำพิเศษกรุงเทพ แดน
1
วันที่ 10 พฤษภาคม 2555



จดหมายของหนุ่มแดงนนท์
 
8 พฤษภาคม 2555
อำพล ติดต่อที่ทำการแดนครับ ปล่อยตัว เสียงประกาศผ่านไมค์ดังก้องไปทั่วแดน 8 ผมร้องขอให้เพื่อนช่วยประกาศให้เพื่อปลดปล่อยดวงวิญญาณของอากงให้เป็นอิสระ ท่ามกลางความแปลกใจ ตกใจ กับการจากไปอย่างกะทันหันของชายชราคนหนึ่ง ที่พวกเขาเห็นอยู่ทุกวัน ผม หมี สุริยันต์ ไมตี้ วุฒิชัย สายชล ทองสุข รวมถึงเพื่อนๆ ของอากง เดินเกาะกลุ่มกันไปยังประตูทางออกแดน 8 ที่เป็นประตูลูกกรงหนาแน่นบานใหญ่สูงตระหง่าน เราเปิดประตูทางออกแดนอย่างช้าๆ และต่างคนต่างกล่าวคำล่ำลากันให้กับอากง บ๊ายบายนะอาเจ๊ก ค่อยๆ เดินนะ เขาให้เจ๊กกลับบ้านแล้ว ป้าอุ๊คอยอยู่ตรงโน้น เจ๊กไปหาเขานะ ผมกล่าวออกมาเหมือนเป็นการลาครั้งสุดท้ายในความว่างเปล่า และจินตนาการไปว่า เห็นอากงค่อยๆ เดินอย่างช้าๆ ไปทางประตู 4 ที่เป็นทางออกเรือนจำ
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้อากงจากพวกเราไปเร็วขนาดนี้นะ เมื่ออาทิตย์ก่อนพวกเรายังใช้ชีวิตด้วยกันอยู่เลย นี่คือคำถามที่ผมอยากรู้มากๆ ในตอนนั้น มันไม่น่าเกิดขึ้นได้เลย มันไม่ควรเกิดขึ้นเลยจริงๆ
ผมกับอากงและเพื่อนๆ มักจะชวนกันออกกำลังกายด้วยกันทุกเช้า ผมกับอากงเราจะแกว่งมือด้วยกัน วันละประมาณ
15-30 นาที ก่อนกินข้าวเช้า ราวๆ ต้นเดือนเมษายน อากงมาบ่นให้ผมฟังว่าแกปวดท้องน้อยบริเวณเหนือสะดือ  ผมเลยคิดว่าอาการน่าจะปวดกล้ามเนื้อท้องเนื่องมาจากการออกกำลังกาย ผมจึงบอกให้อากงหยุดแกว่งแขวนไปก่อนจนกว่าจะหายปวด เพราะก่อนหน้านี้ราวๆ เดือนมกราคม ก็เคยมีอาการแบบนี้ หยุดแกว่งแขนก็หาย ครั้งนี้ก็คงเหมือนกับครั้งก่อนละมั้ง อากงจึงหยุดแกว่งแขนเพื่อรอดูอาการตั้งแต่วันนั้น
1 สัปดาห์ผ่านไป อากงยังคงมีอาการเจ็บอยู่ ผมจึงให้แกทำเรื่องออกสถานพยาบาลภายในเรือนจำ (พบ.) ในวันจันทร์ที่ 23 เมษายน แต่วันนั้นอากงไม่ได้รับการตรวจ เพราะช่วงเช้าทางสมาคมทนายความมาขอพบ และป้าอุ๊มาเยี่ยมพอดี จึงทำให้ต้องเลื่อนไปในวันถัดไปคืออังคาร 24 เมษายน อากงออก พบ.แต่เช้า แต่ไม่ได้รับการตรวจใดๆ อากงบอกว่า เขาถามว่าเป็นอะไร อากงก็ตอบว่าปวดท้อง พวกเขาก็บอกกลับได้ แล้วจะจัดยาไปให้ วันนั้นอากงก็กลับมาที่แดนและได้รับยา 1 ชุดในตอนเย็น ผมไม่รู้ว่าเป็นยาอะไร แต่บอกให้ลองกินดู ไม่หายค่อยทำเรื่องออกไปใหม่ ระยะนี้อากงกินข้าวได้ เดินเหินได้ปกติ
หลังจากกินยาชุดนี้ได้ 3-4 วัน อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ยังคงเจ็บท้องอยู่ และมีอาการท้องใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย และกดดูแล้วก็แข็ง เนื่องจากอากงเป็นคนมีพุงอยู่แล้ว เลยไม่มีใครคิดว่าเป็นอาการผิดปกติ ผมจึงทำเรื่องให้อากงออกไป พบ.อีกครั้ง ในวันจันทร์ ที่ 30 เมษายน อากงเล่าให้ฟังหลังจากกลับมาจาก พบ.ว่า วันนี้พวกเขาก็ทำเหมือนเดิม คือ ถามว่าเป็นอะไร แล้วก็ไล่กลับ แต่ครั้งนี้อากงทนไม่ไหวจึงโวยวายออกไปว่าตรวจอั๊วด้วยสิ อั๊วเจ็บท้องหลายวันแล้ว กินยาก็ไม่หาย ไม่ตรวจดูจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นอะไร จึงทำให้อากงได้รับการตรวจ และเย็นนั้นจึงได้ยามาอีก 1 ชุด
หลังจากกินยาชุดที่สองนี้แล้ว อาการเจ็บท้องก็ยังไม่หาย และท้องก็ใหญ่ขึ้น ตึงขึ้น และแข็งมาก จนพี่สมยศทักอากงว่าเป็นอาการเกี่ยวกับตับหรือเปล่า เพราะพี่สมยศเคยมีประสบการณ์กับโรคตับมาก่อน เมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้ว อากงจึงเกิดอาการวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด จนอากงร้องไห้กับผมแล้วบอกว่าทำไมไม่หายซักที ผมแย่แล้ว ให้ผมตายเหอะ พูดอยู่หลายครั้ง ผมจึงได้ปลอบใจว่าอากงไม่เป็นไรหรอกน่า เดี๋ยวอาทิตย์นี้ก็ไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว อดทนอีกหน่อยเถอะนะ พร้อมทั้งให้กำลังใจแกเหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะข่าวการช่วยเร่งรัดขออภัยโทษให้แก และเพื่อนๆ คดี 112 ทั้งหมดที่ทางทนายอานนท์มาแจ้งให้เราทราบในวันพุธ ที่ 2 พฤษภาคม คุณอานนท์ยังทักว่าอากงดูไม่ค่อยดี ผมจึงขอให้คุณอานนท์ช่วยแจ้งอาจารย์หวาน ช่วยประสานให้อากงออกโรงพยาบาลราชทัณฑ์ (รพ.รท) โดยด่วน คุณอานนท์รับปากและได้ช่วยประสานงานให้ โดยเราเชื่อว่าที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จะมีหมอเก่งๆ ช่วยรักษาให้อากงหายเจ็บได้
พฤหัสที่ 3 พฤษภาคม อากงเริ่มมีอาการทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด และปฏิเสธโจ๊กที่พวกเราสั่งซื้อให้แกกินอยู่ทุกวัน ผมจึงให้แกกินนมไวตามิลค์ เพื่อให้แกกินยา จากนั้นแกก็นอน อากาศเวลานั้นร้อนมากๆ ผมทายาหม่องให้แกที่หน้าอก หลัง คอ เพื่อให้หายใจสะดวก และคอยพัดให้แกอยู่เรื่อยๆ แกนอนรอป้าอุ๊มาเยี่ยมอย่างเช่นทุกวัน แต่วันนี้แปลกตรงที่ว่า พอมีเสียงประกาศเยี่ยมญาติของอากง ทุกทีแกจะรีบกุลีกุจอแทบจะวิ่งไปรับใบเยี่ยมญาติ แต่ครั้งนี้เราต้องพยุงแกขึ้นมา

อากงหันมามองหน้าผม ทำเหมือนจะร้องไห้แล้วพูดว่า หนุ่มไปด้วยนะ ไปกับผมด้วย ผมเดินไม่ไหว ผมไม่เคยได้ยินคำพูดและน้ำเสียงแบบนี้ของแกมาก่อนตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันมา เกือบ 2 ปี ผมจึงขออนุญาตเจ้าหน้าที่ออกไปส่งแกที่จุดเยี่ยมญาติเพื่อพาแกมาหาป้าอุ๊ และผมได้กำชับแกโดยเขียนลงกระดาษให้แกบอกป้าอุ๊ว่าให้โทรบอกอาจารย์หวาน เรื่องการส่งอากงไปโรงพยาบาลอีกครั้ง รวมถึงให้ป้าอุ๊ซื้อนมเปรี้ยวและผลไม้ที่ย่อยง่ายๆ ให้ด้วย เพราะอากงจะได้กินในช่วงที่ป่วยอยู่นี้
เยี่ยมเสร็จผมกับอากงได้เจอป้าอุ๊ไกลๆ ที่ช่องรับของฝาก ผมทำสัญลักษณ์มือที่กางนิ้วก้อยกับนิ้วโป้งและยกขึ้นข้างหู ให้ป้าอุ๊กับป้าน้อย (ภรรยาอาจารย์สุรชัย) เพื่อส่งภาษาใบ้ว่าอย่าลืมโทร (หาอาจารย์หวาน) ด้วยนะ ป้าอุ๊ก็พยักหน้าเข้าใจ แล้วผมก็ชี้นิ้วไปที่อากง แล้วโบกมือไปมาแทนความหมายว่า ไม่ต้องเป็นห่วง (อากง) นะ จากนั้นเราก็เดินกลับแดน
ใครจะรู้ว่าการพบกันในวันนั้นของอากงกับป้าอุ๊ จะเป็นการพบกันเป็นครั้งสุดท้ายของสามีภรรยาคู่นี้ที่ต่างเฝ้าประคับประคอง จิตใจกันมาอย่างยาวนาน

เช้าวันศุกร์ที่พฤษภา คม 2555 หลังจากอาบน้ำตอนเช้าด้วยกันแล้ว อากงก็หลบไปนอนในโรงอาหารอีก และไม่ยอมกินโจ๊กเหมือนเมื่อวาน ผมจึงปล่อยแกนอน โดยเตรียมนมไวตามิลค์ไว้ให้ วันนี้มีประกาศชื่ออากงให้ออกโรงพยาบาลราชทัณฑ์แต่เช้า ผมจึงดีใจเพราะวันนี้อากงจะได้ออกไปหาหมอเสียที เสียงประกาศชื่ออากงอีกครั้งเวลา 9.00 น. ผมปลุกแกให้ตื่นเพื่อให้แกกินนม และใส่เสื้อเพื่อเตรียมตัวไปโรงพยาบาล อากงกินได้ไม่ถึงครึ่งกล่องก็บอกว่ากินไม่ลงแล้ว ผมจึงพยุงแกลงมาจากโรงอาหาร ตอนนี้ผมสังเกตเห็นดวงตาของแกค่อนข้างเหลืองมาก ท้องก็ยังโตและแข็งอยู่เหมือนเดิม ผมขอให้อากงนั่งรถเข็นออกไปเพราะแกเดินไม่ไหวแล้ว อากงถูกเข็นออกไปอย่างช้าๆ และนี่เป็นภาพสุดท้ายที่ผมได้เห็นอากง โดยไม่เคยคิดว่าการจากกันครั้งนี้จะเป็นการจากกันตลอดไปโดยไม่ได้พบกันอีก เลย

ชายชราผู้ไม่จงรักภักดี

จากการพูดคุยกันตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมยืนยันได้เลยว่าอากงไม่ใช่ทั้งเหลืองทั้งแดง ไม่สลิ่มด้วย แกเล่าให้ผมฟังว่าแกชอบไปตามงานชุมนุมต่างๆ เพราะสนุกดี และบางครั้งก็มีของให้กินฟรีๆ ด้วย แกเริ่มไปงานชุมนุมครั้งแรกก็คือชุมนุมพันธมิตร ที่แกยังได้รับแจกเสื้อเหลืองพร้อมลายเซ็นจำลอง ศรีเมือง ติดไม้ติดมืดกลับบ้านด้วย หลังจากนั้นก็ไปงานชุมนุมของเสื้อแดงที่แกก็ได้เสื้อแดง ผ้าโพกหัวกลับบ้านมา โดยไม่ต้องเสียเงินเช่นกัน อากงมักจะใช้เวลาหลังจากรับหลานๆ กลับจากโรงเรียน แล้วช่วยงานบ้านป้าอุ๊เสร็จแล้วค่อยไปงานชุมนุม เมื่อหายเบื่อแล้ว
2-3 ชั่วโมงก็นั่งรถกลับบ้าน
อากงไม่มีพื้นฐานความรู้ทางการเมืองใดๆเลย อยู่บ้านทีวีเสื้อแดงก็ไม่รู้จัก ไม่เคยเปิดดู หนังสือพิมพ์ก็ไม่อ่าน เพราะสายตาไม่ดี ลำพังแค่เลี้ยงหลานอย่างเดียวก็หมดเวลาแล้ว ดังนั้น เวลาพวกผมคุยกันเรื่องการเมืองแกจะตั้งใจฟัง แล้วมีคำถามมาถามเราอยู่บ่อยๆ
ที่น่าสนใจคือ กับข้อหาที่แกโดนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กับการกระทำโดยธรรมชาติของแกมันขัดแย้งกันมาก เช่น แกจะยกมือไหว้พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงที่ตั้งอยู่ที่แดน
8 ทุกครั้งที่เดินผ่าน ผมแน่ใจว่าแกทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ อีกทั้งเรื่องที่อากงเล่าให้ฟังว่า แกพาหลานๆ ของแกไปลงนามถวายพระพรในหลวงที่ศิริราชอยู่หลายครั้ง เวลาไปช็อปปิ้งกับหลานๆ แล้วเห็นโต๊ะที่เปิดให้มีการลงนามถวายพระพร ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ อากงจะชวนหลานๆ ร่วมลงนามถวายพระพรทุกครั้ง ผมจึงแทบไม่เชื่อว่าชราคนนี้จะถูกกล่าวหาไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน
บุคลิกลักษณะภายนอกของอากง ใครเห็นก็จะรู้ว่าเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ยิ้มเก่งไหว้เก่ง และที่ชัดที่สุดคือ ร้องไห้เก่ง โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าอากงเป็นคนอ่อนแอทางจิตใจมากคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่แกถูกจับเข้ามาอยู่ในคุก แกยิ่งแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน ช่วงแรกที่อากงถูกจับเข้ามาและได้รับการประกันตัวออกไป แตกต่างจากครั้งที่แกถูกจับเข้ามาอีกครั้งมากในเรื่องกำลังใจ ผมว่าแกโชคดีที่มีพวกเราหลายคนคอยให้กำลังใจแกอยู่ตลอดเวลา
  นอกจากคนที่โดนคดีเสื้อแดงแล้วอากงยังได้รับความรักและความเข้าใจจากผู้ต้องขัง อื่นๆ ด้วย เป็นเรื่องจริงที่ผมมักจะบอกกับอากงว่า แกเหมือนเป็นพวกแบตเตอรี่เสื่อม เวลาห่อเหี่ยว ท้อแท้ เราคุยให้กำลังใจแก แกก็จะกลับมายิ้ม และชูกำปั้น สู้ได้อีกครั้ง แต่พอผ่านไปไม่ถึงชั่วโมงแกก็จะนั่งหน้าเศร้าอีก เราเลยต้องชาร์จกันใหม่ๆ เรื่อยๆ ผลัดกัน ช่วยกันไป พวกเราต่างคิดว่าอากงเป็นญาติพี่น้องของเราจริงๆ ดังนั้น เราจึงดูแลกันด้วยดีตลอดมา
อากงจึงอยู่ในคุกได้ด้วยกำลังใจล้วนๆ กำลังใจหลักคือมาจากป้าอุ๊ รองลงมาคือจากพวกเรา เพื่อนๆ ที่อยู่ร่วมแดนกันและกำลังใจจากมวลชนที่แวะเวียนมาให้กำลังใจ นึกไม่ออกเลยว่า 4 วัน 4 คืนในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่ขาดซึ่งกำลังใจใดๆ เลย อากงจะทนทุกข์ทรมานมากเพียงใด และเป็นไปได้หรือเปล่าที่สาเหตุของการจากไปอย่างกะทันหันของแก ส่วนหนึ่งมาจากการขาดกำลังใจ......


ความอยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์บางคน
ที่มอบให้กับอากง
โดยอ้างว่าตัวเอง รักเจ้า


ผมคิดอยู่หลายรอบว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีหรือเปล่า ท้ายสุดก็คิดว่าควรต้องเขียน เพราะมันคือความจริงที่เกิดขึ้นกับอากง จากการตั้งใจกลั่นแกล้งของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์บางคนในช่วงที่ข้อหาล้ม เจ้าของคนเสื้อแดงกำลังถูกโหมโรงจากสื่อกระแสนหลักอย่างกว้างขวาง ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ หลายคนจึงตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน คือการโดนข่มขู่ ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ และถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา ไม่ยกเว้นชายชราหรืออากงคนนั้น ซึ่งผมและสุริยันต์ คือหนึ่งในนั้นตามข่าวที่ปรากฏไปบ้างแล้วจากสื่อทางเลือก เรื่องนี้ผมจึงคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่คนภายนอกจะได้รู้ว่าอากงโดนปฏิบัติ อย่างไรบ้าง (ผมขอรับผิดชอบในสิ่งที่ผมเขียนทุกคำ พร้อมให้ตรวจสอบ)
แต่ก่อนอื่นผมต้องขอออกตัวก่อนว่า ปัจจุบันแดน 8 เป็นแดนที่ดีที่สุด แตกต่างจากแต่ก่อนฟ้ากับเหว เพราะได้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าฝ่ายคนใหม่ที่เป็นนักพัฒนาที่มีความเป็นกลาง มีความยุติธรรมกว่าคนเดิมที่ผมจะเล่าถึงการกระทำของเขาที่กระทำต่ออากง ซึ่งมีเรื่องราวดังนี้
อากงถูกจำแนกเข้ามาที่แดน
8 ภายหลังที่ผมและสุริยันต์โดนทำร้ายร่างกายด้วยความตั้งใจของหัวหน้าฝ่ายคนเก่าหัวขวาจัดที่แดน 8  และนอกจากผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ จะโดนทำร้ายแล้ว ผู้ต้องหาคดีเสื้อแดงที่ตอนนั้นถูกจับเข้ามา ถ้าถูกจำแนกมาแดน 8 ก็จะโดนเก็บยอดทุกคนโดยการตบต่อยที่ใบหน้า ร่างกาย จากนักโทษที่ได้รับสัญญาณมา และถูกด่าอย่างหยาบคายว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง แต่อากงโชคดีที่เป็นคนแก่จึงได้รับการยกเว้น ไม่ถูกประทุษร้ายทางร่างกาย แต่ถูกกลั่นแกล้งให้ทำงานอย่างหนักแทน
ด้วยสภาพของอากงและวัยที่มากแล้ว โดยมนุษยธรรมและความเมตตา ควรได้รับการยกเว้นไม่ให้ทำงานอย่างคนหนุ่มเขาทำกัน แต่อากงคือผู้ที่ถูกเลือกด้วยความตั้งใจให้มาอยู่แดน
8 ของหัวหน้าฝ่ายคนก่อน (ที่ปัจจุบันย้ายไปประจำอยู่ใต้ถุนศาลรัชดา) เพื่อสะดวกในการทำอะไรบางอย่าง


วันแรกที่เข้ามาอากงถูกสั่งให้เข้าไปอยู่ในกองงานปั่นถ้วย และรับยอดเติมในทันที คือวันละ
5 กิโล หรือ 2,500 ใบ อากงทำไม่ได้แน่นอน แต่ก็ถูกบังคับให้ทำ จนผู้ต้องขังด้วยกันทนไม่ได้ต่างเข้ามาช่วยแบ่งงานอากงไปทำ คนละนิดคนละหน่อยจนเสร็จ อากงต้องทำงานอย่างนี้มาโดยตลอดจนกระทั่งประกันตัวออกไปในครั้งแรก
อากงกลับเข้ามาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้หัวหน้าฝ่ายคนนี้คงเข็ดที่จะเอาคดี
112 มาไว้อีก อากงจึงถูกจำแนกไปแดน 3 โดยหวังว่าจะแยกผมออกจากอากง ปรากฏว่าด้วยความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ข้างนอกโดยผ่านคุณอานนท์ จึงทำให้อากงถูกย้ายมาอยู่แดน  8 กับผมอีกครั้ง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับหัวหน้าฝ่ายคนนี้อย่างมาก อากงจึงถูกคำสั่งให้ไปปั่นถ้วยอีก แล้วครั้งนี้ก็เหมือนเดิม ผู้ต้องขังก็ช่วยเหลืออากงเหมือนเดิม เพราะทนเห็นการถูกกลั่นแกล้งของหัวหน้าฝ่ายไม่ได้ ท้ายสุดแล้ว ด้วยความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่โดยผ่านคุณอานนท์เช่นเดิม จึงมีคำสั่งสายฟ้าแลบให้ย้ายอากงมาอยู่กองงานห้องสมุด โดยไม่ต้องให้แกทำอะไรเลย งานนี้ทำให้หัวหน้าฝ่ายคนนี้เสียหน้าอย่างมากทีเดียว เพราะไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจอีกแล้วกับคนเสื้อแดง
หากการเสียชีวิตของอากง เลขาอภิสิทธิ์ ผู้พิพากษา ตำรวจผู้จับกุม ควรต้องรับผิดชอบแล้ว หัวหน้าฝ่ายควบคุมแดน
8 คนนี้ (ที่ไม่ใช่คนปัจจุบัน) ก็ควรต้องถูกประณามด้วยเช่นกัน
สุดท้ายนี้ ผมขอไว้อาลัยกับการจากไปของเพื่อนต่างวันของผมคนนี้ที่ผมรักและห่วงใย เสมือนญาติแท้ๆ ของผมคนหนึ่ง แน่นอนการจากไปของเขาจะต้องไม่เสียเปล่า ขอให้อากงหรืออาเจ๊กที่ผมเรียก อย่าได้เป็นห่วงผมและเพื่อนๆ ทุกคนจะทำหน้าที่แทนอาเจ็กเองในการดูแลป้าอุ๊และหลานๆ ที่น่ารักของอาเจ๊กให้มีความสุขตลอดไป และหากชาติหน้ามีจริงขอให้เราได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง...
ผมรักเจ๊กนะครับ!!
 
ขอให้เจ๊กหลับให้สบายและอย่าได้กังวลอะไรอีกเลย


จดหมายอีกฉบับหนึ่ง จากผู้เขียนที่ขอสงวนชื่อ
 
เผยแพร่ครั้งแรก ในเฟซบุ๊ค
ของ
Nithiwat Wannasiri

กระผม อดีตนักโทษชายเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เป็นผู้หนึ่งซึ่งได้ร่วมชะตากรรมกับอากง ในเวลาที่ผมใช้ชีวิตในนั้น ได้เห็นการให้การรักษาพยาบาลในเรือนจำ ซึ่งจะมียาวิเศษอยู่หนึ่งตัว ชื่อ พาราเซตาม่อน ซึ่งยาขนานนี้ใช้รักษาโรคได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ปวดท้อง ท้องเสีย หรือแม้กระทั่งเบาหวานหรือโรคหัวใจ
ซึ่งหลังจากขึ้นเรือนนอนแล้ว ถ้านักโทษเจ็บป่วย อาการหนัก รับรองได้ว่า รุ่งเช้าจะได้ยินเสียง "ประกาศปล่อยตัว"อย่างเช่นอากงแน่นอน ซึ่งการปล่อยตัวจะเป็นไปอย่างพิเศษมากๆ คือคุณไม่ต้องเดิน แต่ต้องลอยตามกลิ่นธูปออกมา
ในช่วงที่กระผมได้อยู่ในเรือนจำนั้น เคยมีนักโทษสูงอายุ น่าจะรุ่นราวคราวเดียวกับอากง แกเป็นคนใต้ แกป่วยอยู่หลายโรค ซึ่งหลังจากขึ้นเรือนนอนแล้ว ประมาณสองทุ่มกว่าๆ ได้มีเสียงเคาะ ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีคนป่วยอยู่ในห้อง ซึ่งอาการของลุงคนนั้น ผมไม่แน่ใจว่าเป็นโรคหอบหืดหรือว่าโรคหัวใจ ซึ่งกว่าที่ผู้คุมจะขึ้นมาก็ประมาณ 10 นาที และก็ให้ยาพาราเป็นขั้นแรก หรือว่าก็ให้รอหมอแป๊บหนึ่ง ก็ประมาณ 30 - 60 นาที แต่พอหมอมาถึง คุณลุงคนนั้นก็ได้เสียชีวิตแล้ว แต่ผมไม่แน่ใจ ว่าเป็นผู้คุมหรือหมอ ที่ออกปากถามว่า ตายหรือยัง ทั้งๆที่ยังไม่ถึงประตูห้อง
คุณลุงคนนี้ถูกขังอยู่ที่ห้อง 10 ซึ่งห้อง 10 จะอยู่ชั้น 2 แต่ผมอยู่ชั้น 3 จึงมองไม่เห็น ซึ่งห้องเบอร์ 10 นี้ คุณก่อแก้ว และคุณขวัญชัย ก็เคยอยู่ ถ้าคิดจะออกไปพบหมอ ถ้าเป็นชาวต่างด้าว หรือบุคคลไร้ญาติ ก็ยากหน่อย ก็จะได้คำตอบว่า "กินพารา เดี๋ยวก็หาย" เมื่อมาถึงหมอ ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือ ถ้าคุณไม่ได้ถูกหามออกมาในสภาพหมดสติ ก็หมดสิทธิที่จะนอนรอดูอาการ ก็ต้องกลับไปนอนซมอยู่ในแดนตามเดิม
นี่หรือ ที่คุณบอกว่ามาตรฐานไม่ต่างกัน..

บุคคลแห่งปีสำหรับทนายอานนท์
นายธันย์ฐวุฒิ หรือ หนุ่ม เรดนนท์


 
30 ธันวาคม 2554





พี่หนุ่มเป็นคนเสื้อแดงขนานแท้ที่ร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงมาตลอด
พี่ หนุ่มถูกจับกุมในเดือนเมษายน 2553 ที่ห้องพักและถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยกล่าวหาว่าโพสข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นแอดมินของเว็ป นปชยูเอสเอ. ศาลพิพากษาจำคุกเขา 13 ปี โดยลงโทษข้อหมิ่นโพสข้อความหมิ่นฯ 2 กรรม กรรมละ 5 ปี และฐานเป็นแอดมินของเว็ปไซต์ 3 ปี
กระดาษที่ถูกปริ้นออกมาจากหน้าเว็ปไซต์ที่มีข้อความที่แสดงความคาดหวังว่าในหลวงจะ ออกมากอบกู้สถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงเหมือนเหตุกาณ์เดือนพฤษภา 35 และบทความที่ อ.ใจ ได้โพสในเว็ปไซต์ รวม 3 แผ่น คือการกระทำที่ทำให้เขาติดคุกถึง 13 ปี
อะไรที่ทำให้ผมคิดและเลือกให้พี่เขาเป็นบุคคลแห่งปีนะหรือ...
พี่ หนุ่ม นอกจากจะมีความเข้มแข็งมากๆ แล้ว พี่หนุ่มยังคงคอยแบ่งปันความเข็มแข็งและหัวใจนักสู้ไปยังเพื่อนๆผู้ต้องขังด้วยกันด้วย ก็นั่นแหละ ด้วยความมีน้ำใจของแกที่รับอาสาไปทั่ว หลายครั้งที่แกโดนซ้อมจากผู้คุมที่หัวขวาจัดที่ชื่อเสวียน หรือหัวหน้าเหวียน แดน 8 แต่แกก็ยังยืนหยัด และเป็นความหวังของเพื่อนๆในเรือนจำ
พี่หนุ่มจะคอยดูแลเพื่อนๆเสื้อแดงและเพื่อนๆคดีหมิ่น อากง , พี่หมี , สุรภัคดิ์ ,ณัฐ และอีกหลายๆคน คือครอบครัวของพี่หนุ่ม รวมทั้งยังคอยส่งข้อมูลผู้ต้องขังเสื้อแดงในเรือนจำออกมาเพื่อให้คนข้างนอก ได้รับรู้ข่าวคราวของคนข้างใน รายชื่อผู้ต้องขังเสื้อแดงทั้งหมดมาจากเขา
จดหมายนับร้อยถูกส่งออกมาบอกเล่าเรื่องราวร้อยพัน เขาทำไปทำไม...


" คุณอานนท์ หากผมพอจะช่วยพี่น้องเราได้ขอให้บอกผม ผมจะทำเต็มที่และทำด้วยชีวิตของผม และหากผมเป็นอะไรไป ช่วยบอกพี่นกให้ดูแลน้องเว็ปแทนผมด้วย ผมสู้มามาก เหนื่อยมามาก หากผมขอได้ ผมขอออกไปอยู่ดูแลลูกผม ผมอยากออกไปดูลูกชายวัยที่กำลังเติบโต ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด และหากคนข้างนอกสู้กันต่อไปไม่ไหว ให้บอกผม... อย่าปิดผมเลย"
พี่หนุ่มคือคน ที่คิดโครงการ "ของขวัญสีแดง" ที่ให้มีกิจกรรมเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทุกวันที่ 19 บัญชีเงินฝากเขาจะถูกใช้อย่างน่าตกใจเพราะเขาคือที่พึ่งเดียวของเพื่อนๆใน เรือนจำ...เขาไม่เคยบ่น แทนที่ผมจะเป็นคนที่ไปให้กำลังพี่หนุ่ม พี่หนุ่มกลับเป็นผู้ที่คอยให้กำลังใจผม และน่าจะรวมถึงเพื่อนร่วมงานของผมอีกหลายคนที่คอยเข้าไปแวะเวียนเยี่ยมเยือน พี่หนุ่มในเรือนจำ... เขาทำได้ไง...
เรื่องราวของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เดินทางมาถึงจุดนี้ได้ ความซับซ้อนและความกลัวที่ถูกทำลายลง ผมขอคารวะหัวใจ และน้ำใจอันงดงามของพี่หนุ่ม เรดนนท์
จนกว่าเราจะพบกันอีก....
อานนท์ นำภา
29 ธ.ค.2554
สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์


กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล

(Declaration of Justice)
แถลงการณ์ฉบับที่ 1


ณ ทางคนเดิน หน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก
เรื่อง การเสียชีวิตของนักโทษการเมือง อากง
 
จากการเสียชีวิตของนายอำพล หรืออากง ผู้ถูกกล่าวหาด้วย มาตรา
112  แล้วถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวขณะต่อสู้คดี  แม้จะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองตามหลักยุติธรรมสากลที่กำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญไทย นายอำพลถูกพิพากษาต้องโทษในอัตราสูงตามดุลยพินิจของตุลาการ นำมาสู่การคุมขังในทัณฑสถานอันแออัดและด้อยมาตรฐาน อาการเจ็บป่วยรุนแรงที่พึงได้รับการพิจารณาให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อเข้ารับการรักษาตามสิทธิพลเมือง กลับถูกเพิกเฉย ในที่สุด อากง ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555


กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล อันเป็นกลุ่มที่รวมตัวกัน เคลื่อนไหวให้ปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง ต้องการให้สถาบันหลักทั้ง 3 ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แสดงความรับผิดชอบดังต่อไปนี้


- สถาบัน นิติบัญญัติ ซึ่งเป็นต้นธารของการออกกฎหมายมาตรา 112 อันเป็นเหตุให้ประชาชนเช่นนายอำพลถูกคุมขังโดยมิชอบ ต้องทบทวนถึงการคงอยู่ของกฎหมายมาตรานี้อย่างเร่งด่วนและซื่อตรงต่อประชาชน
-สถาบัน ตุลาการ ซึ่งเป็นเครื่องมือของการใช้ตัวบทกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ต้องตรวจสอบตุลาการที่ใช้ดุลยพินิจเฉพาะกิจอยู่เหนือหลักการนิติธรรม จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตของประชาชน เพราะนอกจากไม่สามารถดำรงความยุติธรรมให้เกิดในสังคมไทยได้แล้ว ยังนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศในขั้นรุนแรงอีกด้วย

-สถาบันบริหาร ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการองค์กรของรัฐทุกองค์กร ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาล ต้องตรวจสอบส่วนงานราชการที่มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการดูแลรักษาโรคของผู้ถูกคุมขัง และตั้งคณะกรรมการสอบสวนแพทย์พยาบาลผู้ละเลยการให้การรักษาพยาบาลอย่างไร้จรรยาแพทย์โดยทันที
กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจะติดตามการแก้ไขปัญหา ของทุกสถาบันอย่างใกล้ชิดและจะเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนกว่านักโทษ การเมืองจะได้รับการปล่อยตัว และศักดิ์ศรีความเป็นคนของนักโทษการเมืองทั้งที่ได้วายชนม์แล้วและยังถูกคุมขังได้รับกลับคืนมา

ด้วยความคาดหวัง

กลุ่มปฎิญญาหน้าศาล

13 พฤษภาคม 2555


...................

ไม่มีความคิดเห็น: