วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

112 สยองพระเกียรติ ตอนที่ 1 : กษัตริย์ไม่ใช่บิดาของเรา Section 112 01

ฟัง  : http://www.mediafire.com/?cawdr0fiqqrv9n7

112
สยองพระเกียรติ
Section 112 The Royal Threat

ตอนที่
1 : กษัตริย์ไม่ใช่บิดาของเรา


ใครก็รู้ว่ากษัตริย์ไม่ใช่พ่อของประชาชนแม้แต่น้อย แต่เป็นแค่การครอบงำทางความคิดหรือรูปการจิตสำนึกโดยทำให้ประชาชนเชื่อว่ากษัตริย์คือพ่อของพวกเขา เพื่อให้เกิดความผูกพันพึ่งพิงทางความคิดและจิตใจ และเสริมสร้างความรู้สึกในหมู่ประชาชนผู้เป็นลูก ว่าการคิดเท่าทัน การวิจารณ์ หรือไม่รักไม่เทิดทูนเคารพสักการะกษัตริย์ ผู้เปรียบเสมือนพ่อแท้ๆนั้น จึงเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม เป็นการกระทำที่เลว อกตัญญู ดังนั้น มาตรา 112 จึงกลายเป็นกฎหมายที่คุ้มครอง พ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าของพวกเรานั่นเอง

การครอบงำทางความคิดเช่นนี้ มีอานุภาพมากกว่าการใช้กฎหมายอันไม่เป็นประชาธิปไตยและป่าเถื่อนอย่างกฎหมายหมิ่นเจ้าเสียอีก เพราะการตอกย้ำเปรียบเทียบแบบนี้ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกซาบซึ้งถึงระดับอารมณ์และจิตใจ และจะโกรธแค้นมากหากใครมาวิจารณ์หรือตั้งคำถามกับพ่อของพวกเขา แถมมันยังช่วยตอกย้ำว่า มาตรา 112 นั้นชอบธรรมแล้ว และทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ยังมีลูกอยู่จำนวนหนึ่งที่ต้องการวิจารณ์พ่อของพวกเขาแม้กฎหมายจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ความรู้สึกแบบพ่อกับลูกนั้น หยั่งรากลึกถึงก้นบึ้งของจิตใจ และเมื่อประชาชนเชื่อว่าเป็นจริงแล้ว มันเปลี่ยนแปลงแทบไม่ได้ เหมือนความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งของพ่อลูกที่แท้จริงทางสายเลือด

สื่อกระแสหลักและกระแสรองส่วนใหญ่ บริษัทห้างร้านต่างๆ สถาบันการศึกษา หน่วยราชการ องค์กรเอ็นจีโอ มักมีบทบาทสำคัญในการตอกย้ำความเป็นพ่อของกษัตริย์ต่อสังคมจนเห็นเป็นเรื่องปกติ เหมือนเป็นเรื่องจริง อย่างไม่ควรต้องสงสัยใดๆทั้งสิ้น
หากคุณเชื่อว่ากษัตริย์คือพ่อ คุณก็จะไม่รู้สึกอยากตั้งคำถามกับพ่อ แถมหน้าที่ของลูกที่ดีก็คือ การเชื่อฟังพ่อ คือกษัตริย์ และแม่ คือราชินี และหากลูกคนใดไม่เชื่อฟัง ก็ดูผิดธรรมชาติ ผิดศีลธรรม ควรถูกประณาม ลงโทษ จองจำ หรือตัดออกจากการนับญาติอย่างถาวร โดยอาจถูกกล่าวหาว่า พวกเขาไม่ใช่คนไทย และเป็นคนที่ต้องการทำลายหรือล้มล้างพ่อแม่ ดูกรณีเข่นฆ่านักศึกษาในธรรมศาสตร์เมื่อ
6 ตุลา 2519 และเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนบริเวณแยกคอกวัวและแยกราชประสงค์ช่วงเดือน เมษา-พฤษภา 2553 เป็นตัวอย่าง เพราะคนเหล่านี้ถือว่าเป็นพวกลูกอกตัญญู หรือทรพี เพราะไม่ว่าพ่อจะดีหรือไม่ ลูกก็ควรเชื่อฟังและเคารพรัก และในทางตรงข้าม การทำอะไรเพื่อกษัตริย์ หรือพ่อหลวง จึงกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายขึ้นและสนิทใจขึ้น เหมือนกับการบูชาคุณของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดแท้ๆ

การเปรียบกษัตริย์เป็นพ่อของประชาชน ยังทำให้ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครอง ซึ่งมีความไม่เท่าเทียมและมีความขัดแย้งทางชนชั้น ถูกกลบเกลื่อน ลบเลือนให้มองเห็นได้ยากยิ่งขึ้น เกิดการพร่ามัวและกลายเป็นความสัมพันธ์เชิงครอบครัวแบบสมมติ ซึ่งเต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่นและความห่วงใยระหว่างพ่อกับลูกขึ้นมาแทนที่ โดยไม่จำเป็นต้องสงสัยในเรื่องชนชั้น หรือความไม่เท่าเทียม แล้วยังไม่จำเป็นต้องคิดเท่าทันหรือเรียกร้องความโปร่งใสเพื่อการตรวจสอบใดๆ เพราะทัศนะการมองแบบพ่อกับลูก ไม่เปิดให้ประชาชนรู้สึกหรือคิดเป็นอื่น ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ประชาชนอีกมากยากจน แต่กษัตริย์หรือพ่อหลวง ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน มีบางคนสงสัยว่าทำไมสำนักงานทรัพย์สินของกษัตริย์จึงยังคงเก็บค่าเช่าที่จากประชาชนอยู่ และเป็นเจ้าของกิจการและศูนย์การค้าขนาดยักษ์หลายแห่ง รวมทั้งโรงแรมและสวนน้ำขนาดใหญ่ในต่างประเทศ และเป็นกษัตริย์ที่ร่ำรวยมั่งคั่งที่สุดในโลกหลายปีติดต่อกันมาตลอด
ทั้งนี้ยังรวมถึงการพึ่งพาทางสติปัญญาของประชาชนหรือลูกๆต่อกษัตริย์ผู้เป็นพ่อ โดยเห็นได้จากการนำคำพูดหรือคำสอนของพ่อ มาเผยแพร่ซ้ำๆ และเป็นแนวทางปฏิบัติยึดถือของผู้คนจำนวนมากในสังคม ความเห็นของกษัตริย์จึงกลายเป็นคำสอนของพ่อไปโดยปริยาย

ลูกๆไม่ต้องคิดอะไรเองมากมาย เพียงแค่ยึดถือคำสั่งสอนของพ่อที่พวกตนยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะในทุกๆด้าน ก็เพียงพอแล้ว
จะเห็นได้ว่า การปลูกฝังความสัมพันธ์แบบพ่อกับลูกแทนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ถูกตอกย้ำเป็นพิเศษในวันที่
5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งวันเกิดของกษัตริย์ให้กลายเป็นวันพ่อ เพื่อตอกย้ำความเป็นพ่อของกษัตริย์ คนไทยไม่น้อยถือว่า 5 ธันวา เป็นวันที่พวกเขาจะใช้เวลากับพ่อบังเกิดเกล้าของพวกเขา รวมถึงอาจให้ของขวัญกับพ่อหรือกินอาหารมื้อพิเศษเพื่อทดแทนบุญคุณและเฉลิมฉลองวันพ่อ

สถาบันกษัตริย์
ในฐานะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ

ในแง่หนึ่ง การเคารพนับถือสถาบันกษัตริย์ก็เหมือนกับเป็นความสบายใจด้านจิตวิทยา โดยเป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวด้านจิตใจโดยเฉพาะในหมู่นิยมกษัตริย์ หรือพวกนิยมกษัตริย์แบบล้นเกิน ที่ต้องการหาที่พึ่งทางจิตใจจากความเกลียดชังที่มีต่อนักการเมือง จึงจำเป็นจะต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ไว้ และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จึงทำหน้าที่นั้นเพื่อไม่ให้มีการวิจารณ์ต่อสถาบัน นอกจากนี้ ในฐานะที่สถาบันกษัตริย์มีความศักดิ์สิทธิคล้ายกับศาสนา จึงต้องมีพิธีกรรมมาประกอบ เช่น ดนตรีพระราชนิพนธ์ เพลงขับร้อง หนังสือ และงานต่างๆ เพื่อเชิดชูเกียรติสถานะของสถาบัน ยังรวมถึงการใส่เสื้อสีเฉพาะต่างๆ และสติ๊กเกอร์ที่แปะอยู่ตามท้ายรถ เพื่อแสดงความจงรักภักดี

พระสงฆ์อย่าง อย่าง ว. วชิรเมธี ก็มีส่วนในการเผยแพร่คำสอนของพระมหากษัตริย์เพื่อมาเสริมให้เข้ากับคำสอนทาง ศาสนาผ่านทางสื่อกระแสหลักได้เป็นอย่างดี และเพื่อให้พล็อตเรื่องนี้สมบูรณ์ จึงต้องมีผู้ร้ายหรือซาตาน อยู่ด้วย ซึ่งในขณะที่สมัยก่อนผู้ร้ายคือคอมมิวเนิสต์ แต่ปัจจุบันซานตาน ก็จะเป็นทักษิณ และผู้สนับสนุนคือคนเสื้อแดงนั่นเอง
และสำหรับฝั่งที่มีทัศนคติวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันกษัตริย์ หรือเป็นฝ่ายสนับสนุนซาตาน จึงมักจะเห็นว่า ชีวิตของฝ่ายนี้จึงต้องประสบกับอุปสรรคมากเกินกว่าคนปกติทั่วไป

สิ่งที่เป็นปัญหาอีกข้อหนึ่ง ก็คือ สื่อกระแสหลักของไทยเองก็ยังอยู่ในสภาวะที่ปฏิเสธการถกเถียงเรื่องนี้ โดยเซ็นเซอร์ตนเอง และกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากชนชั้นนำที่จะได้ประโยชน์จากการขาดการตรวจสอบและความโปร่งใส เรื่องนี้มีความสำคัญเพราะเกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานและเสรีภาพในการแสดงออกของ ประชาชน ซึ่งในอนาคตก็คงขึ้นอยู่กับว่าสังคมไทยจะมีวุฒิภาวะมากแค่ไหน เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา มาถึงจุดที่ย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว สถาบันกษัตริย์ที่เหลือในโลก 27 ราชวงศ์ หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของประเทศในสหประชาชาติ ในหมู่สถาบันกษัตริย์ที่มีความเข้มแข็งและน่าจะอยู่รอดได้อย่างยืนยาว มีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากแต่ในปัจจุบันนี้ แทบจะไม่ได้ถูกนำเอามาใช้เลย อย่างในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ในประเทศอังกฤษ ก็มีมุกตลกเสียดสีราชวงศ์ที่แสบสัน แต่สถาบันกษัตริย์อังกฤษก็เข้มแข็งมากพอที่จะปล่อยคนที่อยากจะหัวเราะให้หัวเราะไป น่าสังเกตว่า การเพิ่มขึ้นโทษของกฎหมายหมิ่น จะสูงขึ้นเมื่อสถาบันเกิดความกลัว

ตัวอย่างเช่นในยุโรป ประเทศที่มีกฎหมายหมิ่นแรงสุดก็คือสเปน เนื่องจากมีข่าวในทางลบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์สเปน จนกระทั่งถึงจุดที่ทำให้นักข่าวและนักการเมืองออกมาพูดว่าถึงเวลาที่กษัตริย์ต้องสละราชย์แล้ว นั่นก็เป็นวิธีที่ดีในการหาทางออกหากสถาบันมีสมาชิกและปัญหาที่ไม่พึ่งประสงค์ แต่สเปนก็ยังไม่กล้าเอาคนเข้าคุกมากนัก เพราะข่าวเสียๆหายๆมันไกลออกไปมากแล้ว



ปัญหาล่าสุดของกษัตริย์สเปน คือการไปล่าสัตว์ป่าที่บอตสวานาของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสที่สอง ในขณะที่สเปนกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจอย่างสาหัสและมีประชาชนว่างงานจำนวนมาก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากเศรษฐีซีเรียผู้เป็นมือขวาของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์เรื่องการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในกรุงเมกกะ การที่กษัตริย์สเปนเป็นประธานกิติมศักดิ์ของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก ยิ่งทำให้สื่อมวลชนยิ่งขุดคุ้ยเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นและส่งผลเสียแก่สถาบันกษัตริย์มากขึ้น สิ่งที่ต้องระลึกไว้คือ สถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศไม่ได้อยู่รอดตลอดไป เพราะย่อมถึงเวลาที่สมาชิกในราชวงศ์จะหมดไป ช่วงหลังนี้เหล่าราชวงศ์จึงต้องปฏิบัติตนให้ดีเป็นพิเศษ เพราะมิเช่นนั้น หากประสบอุปสรรคจากหลายด้าน ประเทศก็อาจต้องกลายเป็นสาธารณรัฐในที่สุด สถิติจาก นสพ. บางกอกโพสต์ ชี้ว่าเมื่อสิบปีที่แล้วมีชายไทยบวชเป็นพระหรือเณรราวหกล้านคน แต่เมื่อปี 2554 เหลือเพียงหนึ่งล้านห้าแสนคน โดยหายไปประมาณ 70% ในระยะสิบปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสื่อ ความเป็นเมือง และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ของความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้มีมากเท่าเดิมอีกต่อไป เช่นเดียวกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์  แต่ประเทศไทยมีป้ายรูปภาพของสถาบันกษัตริย์ตามท้องถนนและที่สาธารณะมากมายกว่าเดิม ราวกับว่าสถาบันกษัตริย์กำลังทำการหาเสียงในการเลือกตั้ง เป็นปรากฎการณ์ที่มีแต่ในประเทศไทย  โดยปกติแล้ว ถ้าสถาบันกษัตริย์ยิ่งมีความกลัวมากเท่าไร กฎหมายหมิ่นก็จะรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งการรณรงค์ขนานใหญ่โดยข้าราชการและตำรวจ ที่ระดมติดป้ายภาพต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์ตามถนน และร้านค้าต่างๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นการทุ่มเททรัพยากรที่หาสาระประโยชน์ไม่ได้เลยและไม่มีที่ไหนในโลกที่เขาทำกัน หากเป็นในอังกฤษหรือสวีเดน จะไม่เป็นแบบนี้ เพราะมันเยอะเกินไป และไม่มีเหตุผล



สมัยช่วงปี 2500 เมื่อเข้าไปดูหนังในโรงที่อังกฤษ หลังหนังฉายจบจะมีคลิ้ปสั้นๆ ของพระราชินีอลิซาเบทกำลังขี่ม้า แต่ผู้ชมไม่พอใจมาก อีกสิบปีถัดมาจึงเปลี่ยนเอาคลิ้ปมาฉายก่อนภาพยนตร์จริง คู่กับโฆษณาขายช็อคโกแลต ป๊อบคอร์น ฯลฯ ซึ่งคนดูก็จะรอให้โฆษณาจบก่อนแล้วถึงเข้าไปดู โดยไม่จำเป็นต้องดูหนังสั้นของสถาบันกษัตริย์ ราชสำนักได้ยกเลิกการฉายหนังสั้นดังกล่าวในโรงภาพยนตร์ เพราะประชาชนตั้งคำถามมากขึ้นว่าทำไมต้องมีพิธีกรรมเหล่านี้ ในเมื่อประชาชนก็ได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันอยู่บ้างแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกที่ทุกเวลาแบบยัดเยียดกัน

มาตรา 112 กับความหมายที่แท้จริง 


เรื่องมาตรา 112 เป็นปัญหาในสังคมประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิ์แก่บุคคลที่มีความคิดความเห็นที่แตกต่างออกไป ไม่ใช่บังคับให้ทุกคนต้องคิดและต้องเชื่อเหมือนกัน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือหรือไม่นับถือศาสนาเลยก็ได้ แต่กลับบังคับและยัดเยียดให้ประชาชนต้องยกย่องเทิดทูนกษัตริย์และราชวงศ์อย่างเดียวเท่านั้น ห้ามวิพากษ์วิจารณ์แม้จะกระทำด้วยความสุจริต เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
กษัตริย์เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของรัฐ ที่อาศัยงบประมาณจากภาษีอากรของประชาชน ซึ่งควรต้องถูกวิจารณ์ได้ในเชิงระบบ เหมือนในประเทศอื่นๆ แต่กฎหมายไทยบังคับให้พูดถึงกษัตริย์ในด้านเดียว หรือทางที่ดีก็คืออย่าไปพูดถึงเลย ซึ่งขัดต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในเชิงการเมืองการปกครอง ในเมื่อกษัตริย์ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างในรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย



ระหว่างปี 2548 - 2552 มีการส่งฟ้องคดีมาตรา 112 ต่อศาลถึงกว่า 500 คดี ศาลตัดสินว่าผิดแล้ว 247 คดี โดยมีการลงโทษหนักกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยไม่มีเหตุผลที่จะอธิบาย ต่อให้กระทำความผิดจริง ว่าทำไมถึงต้องจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี มันจะรักษาเกียรติของกษัตริย์ได้อย่างไร นอกจากอ้างว่าจะทำให้เกิดการหลาบจำ ขู่คนอื่นไม่ให้ทำอีก แต่ทำไมจึงเกิดการทำผิดซ้ำขึ้นอีก หลังรัฐประหารปี 2549 สถิติของคดีเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่มีปัญหาจริงๆ และหนักหน่วงรุนแรงขึ้น เมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ จะแก้แบบไหนอย่างไรก็ต้องมานั่งคุยกัน ไม่ใช่ปิดกั้น 
สื่อของรัฐหรือแม้แต่สื่อของเอกชนที่ครอบงำความคิดความเชื่อของสังคมอยู่ ต้องเปิดใจให้กว้าง การต่อสู้ทางความคิดที่ดำเนินอยู่ในสังคมไทยช่วงหลายปีมานี้ ไม่เป็นเพียงแค่การต่อสู้กันของกลุ่มผลประโยชน์ระดับบนของสังคม ระหว่างกลุ่มของทักษิณตัวแทนกลุ่มทุนสมัยใหม่กับกลุ่มอำนาจโบราณ แต่มันเป็นการต่อสู้กันในแง่ของความคิด ความเชื่อ ในแง่ของรูปแบบการปกครองว่าเราจะอยู่กันอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย สถานะของกษัตริย์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นอย่างไร แต่การต่อสู้นี้ดำเนินไปภายใต้การปิดล้อมของสื่อมวลชนกระแสหลัก
ปัญหาของหลักการหรืออุดมการณ์แก้ยากที่สุด เพราะเป็นเรื่องของหลักคิด ที่ต้องรื้อถอนถึงรากถึงโคน คุ้ยหาหลักการและเหตุผล ไม่ใช่ใช้อารมณ์หรืออำนาจเหนือเหตุผล นี่คือปัญหาในเชิงระบอบ ที่ต้องถามว่าตอนนี้เราอยู่ในระบอบไหน ถ้าเป็นประชาธิปไตย เคารพหลักนิติรัฐ ที่ถือเอาการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่การปกครองโดยมนุษย์บางคนเป็นใหญ่กว่ากฎหมาย เราก็ต้องยึดหลักการในระบอบประชาธิปไตยให้มั่นและชัดเจน ไม่ใช่มั่วนิ่ม บิดเบี้ยวอย่างที่เป็นอยู่ เราต้องคิดแบบมีเหตุมีผล มีเสรีภาพทางความคิด กฎหมายต้องมีความชัดเจนว่าห้ามทำอะไร และการห้ามนั้นต้องมีความชอบธรรม มิใช่อ้างว่ากฎหมายก็คือกฎหมาย ทุกคนต้องเชื่อฟัง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ กฎหมายมีที่มาอย่างไร มีเนื้อหาอย่างไร ใช้หลักการอะไร
รัฐต้องไม่กำหนดกฎหมายที่ไปทำให้ประชาชนเดือดร้อน ไปกำหนดความคิดหรือไปจำกัดว่าห้ามคิด หรือห้ามแสดงออก เท่ากับว่าเป็นรัฐเผด็จการที่เห็นประชาชนเป็นศัตรู

มาตรา 112 เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ของพวกที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่มักชอบอ้างคาถาเรื่องความเป็นไทย อ้างถึงอดีตอันน่าภาคภูมิใจของไทย มองว่าคนที่ต้องการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เป็นพวกคิดตามแบบฝรั่ง เพราะไม่สามารถ หาเหตุผลอื่นมาโต้แย้งได้แล้ว



ตอนที่กัดดาฟี สู้กับประชาชนลิเบีย เขาก็บอกว่าคนอื่นอย่ามายุ่ง วัฒนธรรมอื่นๆใช้ไม่ได้ ต้องเป็นวัฒนธรรมแบบลิเบีย แล้วก็กดขี่ข่มเหงประชาชนต่อไป แม้ว่ารูปแบบการกดขี่ข่มเหงมันแตกต่างกันไป เพราะกษัตริย์ใช้การกดขี่ข่มเหงที่แนบเนียนที่สุด คือการทำให้คนที่ถูกกดขี่ข่มเหงไม่รู้ว่ากำลังถูกกดขี่ข่มเหง และยินยอมพร้อมใจให้กดขี่ข่มเหง
ในการพิจารณาตัดสินคดีมาตรา 112 ศาลมักจะอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ที่ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาเป็นการลับโดยอ้างประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อความปลอดภัยของประเทศ โดยศาลตีความเอง เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาลับ เพราะมาตรา 112 เป็นเรื่องกระทบต่อกษัตริย์ ทำให้เราไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการของศาล ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตย สังคมไทยควรเปิดเสรีทางการวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ เพื่อสร้างวุฒิภาวะหรือฝึกความแข็งแกร่งทางสติปัญญาของสังคม เหมือนการเลือกตั้งที่ต้องการฝึกฝน เพื่อการเรียนรู้และพัฒนา เราจะไม่มีวันพร้อมถ้าไม่ทดลองเดิน เหมือนเด็กที่กำลังจะเดิน ต้องตั้งไข่ ต้องล้มบ้าง ลุกบ้าง ปัญหาของประเทศไทยคือ มีคนที่ไม่อยากให้ประชาชนปกครองตนเอง ไม่ยอมให้ประชาชนลองเดิน อยากให้นั่งอยู่อย่างนั้น ให้อยู่เฉยๆ แล้วเขาจะดูแลเอง แต่เอาความชอบธรรมมาจากไหนไม่รู้ จะให้บ้านเรามีประชาธิปไตยแบบมีผู้อนุบาล เพราะมีคนคิดว่าประชาชนไทยยังไม่บรรลุวุฒิภาวะในทางสติปัญญา เป็นง่อยในทางสติปัญญา ต้องมีคนซึ่งเป็นคนชั้นนำ ที่ฉลาดกว่า อายุมากกว่า แก่กว่า ผ่านโลกมายาวนานกว่า คนพวกนี้คือคนที่บอกว่าสังคมต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ มันต้องเป็นอย่างที่ข้าบอก ต้องเป็นอย่างที่ข้าสอน ศีลธรรมจริยธรรมต้องเป็นแบบนี้ ห้ามเป็นอย่างอื่น พยายามตีกรอบ โดยพวกผู้หลักผู้ใหญ่จำนวนไม่กี่คน


มาตรา112 กับการปิดกั้นข้อมูลต่างๆ
เกี่ยวกับกษัตริย์

หนึ่งในปัญหาสำคัญของมาตรา 112 คือการปิดกั้นข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับกษัตริย์ มีการปิดหูปิดตา และยัดเยียดข้อมูลด้านเดียวขนานใหญ่เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว
ข่าวและบทความวิเคราะห์เชิงเท่าทันจำนวนมาก ที่เขียนโดยสื่อต่างประเทศ ทั้งสำนักข่าวและหนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ เช่น เอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ นิวยอร์กไทมส์ เดอะการ์เดียน ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการแปลและนำเสนอต่อประชาชนคนไทยเลย ในขณะที่สื่อกระแสหลักของไทยกลับผลิตและป้อนข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับกษัตริย์เกือบทั้งหมด มากขึ้นเรื่อยๆ ตามการเพิ่มขึ้นของความรู้สึกไม่มั่นคงต่ออนาคตของกษัตริย์  นักข่าว นักวิชาการ และนักคิดที่เห็นต่างเกี่ยวกับกษัตริย์ มักไม่มีพื้นที่ในสื่อกระแสหลัก
มาตรา 112 ยังมีมาตรการทำโทษอย่างชัดเจนต่อผู้ที่พยายามเสนอข้อมูลต่างๆ เช่น กรณีการตัดสินจำคุก นายโจ กอร์ดอน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2554  เพียงเพราะเชื่อว่านายโจ แปลหนังสือ เดอะคิงเนเวอร์สไมล์ (The King Never Smiles) และเผยแพร่ลิงก์สู่เนื้อหาคำแปลนั้น ใครที่เผยแพร่ลิ้งค์ของหนังสือเล่มนี้ ก็อาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมาตรา 112 เท่ากับเป็นการปิดกั้นการรับรู้ของสังคม ทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก ไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลต่างๆอย่างถูกต้องตามกฎหมาย


อีกตัวอย่างของการลงโทษเพื่อปิดกั้นข้อมูล คือการจับกุมคนเสื้อแดงคนหนึ่งที่เร่ขายวีซีดีสารคดีกษัตริย์และการสืบราชบัลลังก์ ซึ่งจัดทำโดย สำนักข่าว Australian Broadcasting Corporation ซึ่งเผยแพร่ออกอากาศเป็นปกติทั่วประเทศออสเตรเลียในปี 2553
สื่อกระแสหลักก็เผชิญแรงกดดันที่ทำให้ไม่กล้าเสนอข่าวที่เท่าทันกษัตริย์ เพราะอาจถูกพวกคลั่งเจ้ามองว่ามีเจตนาล้มเจ้า และอาจออกมาประณาม ขู่ บอยคอต และอาจกระทบถึงราคาหุ้น และธุรกิจของสื่อนั้นอย่างรุนแรงได้

Top of Form
Bottom of F
เมื่อความจริงถูกดำเนินคดี
ในยุคกษัตริย์นิยมล้นเกิน

ประเทศไทยมีระบอบกษัตริย์นิยมมาช้านานจนเป็นเรื่องปกติและเป็นกษัตริย์แบบนิยมล้นเกิน ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาประชาชนอยู่ในภาวะผิดปกติที่กลายเป็นปกติ มีสภาวะที่ไม่ปกติบางอย่างซึ่งทำให้หลักนิติธรรมถูกแขวน ถูกยุติ หรือถูกจำกัด ไม่สามารถใช้ได้ตามปกติ และให้อำนาจแก่รัฐ หรือผู้มีอำนาจ ผู้วิเศษ เข้ามาเป็นผู้จัดแจง ตามกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษลงมาล้วงลูกได้ โดยทำให้การใช้อำนาจพิเศษที่ผิดปกติให้กลายเป็นเรื่องปกติ นับตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ เป็นต้นมา ประเทศไทยก็อยู่ในภาวะไม่ปกติที่เป็นปกติมานานกว่า 50 ปี หรือกว่าครึ่งศตวรรษไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าเรายึดหลักกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องถือว่านี่มันสภาวะผิดปกติ คือภาวะที่ผู้พิพากษาทั้งหลายสามารถยอมรับกฎที่ออกโดยคณะปฏิวัติทุกฉบับว่าเป็นกฎหมายที่ยอมรับได้ เอากฎและระเบียบหรือคำสั่งที่เกิดขึ้นในภาวะไม่ปกติให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปกติ ขณะที่มีกลุ่มนักกฎหมายที่ใช้ชื่อว่านิติราษฎร์ต้องการให้สังคมไทยกลับไปสู่ภาวะปกติให้เลิกเพี้ยน เพราะสังคมไทยอยู่ในภาวะเพี้ยน แล้วยังไม่รู้ตัวว่าเพี้ยน มามากกว่า 50 ปีแล้ว เรื่องหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 ก็เป็นเรื่องผิดปกติมากเช่นกัน เพราะโดยหลักกฎหมายแล้ว การหมิ่นประมาทต้องพิสูจน์ว่าได้พูดจริงหรือไม่จริง  ถ้าพูดจริงแต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่คนๆ นั้นก็ไม่ถือว่าผิด ขณะที่บุคคลสาธารณะควรจะต้องถูกตรวจสอบมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป จึงต้องมีการพิสูจน์ความจริง และพิสูจน์ระดับความเสียหาย นี่เป็นหลักของกฎหมายหมิ่นประมาท แต่สังคมไทยได้กลายเป็นสังคมวิปริต ที่ผู้มีอำนาจกลายเป็นผู้ที่ห้ามตั้งคำถามและห้ามโต้แย้ง แปลว่าไม่ต้องการให้มีการพิสูจน์ความจริง ว่าจริงหรือไม่ ไม่มีการพิสูจน์ว่าสิ่งที่พูด สิ่งที่เขียนจริงหรือไม่ พิสูจน์อย่างเดียวคือระดับของการละเมิด โดยที่ตัวผู้ถูกละเมิดไม่สามารถมาบอกเองด้วยซ้ำไป เป็นการเดาเอาเองของศาลว่าผู้ถูกละเมิดนั้นถูกละเมิดขนาดไหน เป็นการเดาว่าประชาชนทั่วไปถูกกระทบความรู้สึกมากแค่ไหน ไม่มีบรรทัดฐานใดๆในเรื่องเช่นนี้แม้แต่น้อย เป็นการใช้เกณฑ์กฎหมายหมิ่นประมาทในภาวะวิปริตที่ทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ

คดีหมิ่นประมาท คดีอาชญากรรม จะต้องใช้ระบบกฎหมายที่ทั่วโลกยอมรับโดยตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง มิใช่ยึดถือเรื่องโกหกตอแหล เช่น การยืนยันว่ากษัตริย์ไม่ยุ่งการเมือง
ซ้ำร้ายสังคมไทย ยังถือว่าผู้พิพากษามีความสามารถที่จะล่วงรู้เจตนาภายในของผู้ถูกกล่าวหา เพราะท่านอยู่ในสถานะเป็นคนที่สูงกว่า และยังได้รับพระราชโองการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนกษัตริย์เพื่อทำหน้าที่ดำรงความยุติธรรม พวกเขาถึงภูมิใจกันนักหนา

สังคมไทยได้เดินหน้าสู่ประชาธิปไตยแต่เป็นประชาธิปไตยแบบคลั่งกษัตริย์ คือมีความนิยมกษัตริย์เพิ่มสูงด้วยในเวลาเดียวกัน นับตั้งแต่การการใช้ลัทธิคลั่งกษัตริย์ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ประมาณต้นทศวรรษ 2500 ท่ามกลางบรรยากาศที่จะสู้กับคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อเสนอแนะในการใช้ลัทธินิยมกษัตริย์เป็นปัจจัยทางวัฒนธรรมที่ใช้สู้กับคอมมิวนิสต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยกลัวคอมมิวนิสต์สูงที่สุดประมาณปี 2518 ช่วงที่มีการเปลี่นแปลงในประเทศเพื่อนบ้านแถบอินโดจีน ทำให้ยิ่งต้องเพิ่มความเข้มข้นของลัทธิคลั่งเจ้าเข้าไปอีก กลายเป็นลัทธิคลั่งกษัตริย์ที่ล้นเกิน มีการสร้างประเพณีต่างๆขึ้นมาใหม่เพื่อโหมพิธีการเฉลิมฉลองที่เกี่ยวกับกษัตริย์ ที่มันมีมากขึ้นและใหญ่โตมโหฬารมากขึ้นทุกที

จุดเริ่มของการเฉลิมฉลองอย่างเรียกว่ามโหฬารนับเป็นแบบฉบับก็คือ การฉลอง
200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากนั้นมาก็จะมีการฉลองวาระครบ 10 ปี ครบรอบ12 ปี 50 ปี 60ปี ซึ่งไม่เคยมีในสมัยโบราณ ที่เป็นเรื่องส่วนตัวของกษัตริย์และครอบครัว ไม่ใช่เรื่องสาธารณะแต่เกณฑ์ข้าราชการ และเอกชนไปเข้าร่วมให้เอิกเกริกอย่างที่ทำกันเป็นประจำในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังเพิ่มความขลังความศักดิ์สิทธิ์เข้าไปอีก เพราะพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์ถูกทำให้เป็นธุรกิจของโลกทุนนิยมไปแล้ว  ทั้งราชการ หน่วยงานรัฐ และเอกชนทำตัวยิ่งกว่ากษัตริย์เองเต็มบ้านเต็มเมืองกันไปหมด ทั้งสื่อทั้งนักวิชาการพ่อค้าหันมาหาประกอบธุรกิจหากินกับการโฆษณาชวนเชื่อให้กษัตริย์ มีธุรกิจแซ่สร้องเฉลิมเกียรติตลอดระยะเวลาร่วม
20-40 ปีมานี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน หนักหนาสาหัสกว่าในยุคศักดินาสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก โดยผ่านสื่อ กลายเป็นเรื่องทางธุรกิจเกี่ยวโยงไปถึงการโฆษณาสินค้าและบริการกับการขยายตัวของทีวีและสื่อสมัยใหม่ กลายเป็นว่าใช้รูปแบบทันสมัยและกว้างขวางแต่เนื้อหากลับดักดานย้อนยุคล้าสมัยหนักกว่าเดิม ลัทธิคลั่งกษัตริย์จนล้นเกินจึงเติบโตไปคู่ขนานไปกับการเปลี่ยนแปลงของระบบโทรคมนาคมการสื่อสารฝ่ายเดียวหรือการโฆษณาด้านเดียว ที่สำคัญคือสื่อทีวี ที่มีให้เห็นทุกบ้านเรือน ทั้งภาพและเสียง ที่สมจริงและด้านเดียว อย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพ ตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมาควบคู่กับการปราบปรามคนที่ไม่เห็นด้วยอย่างหนัก

ระบอบทางสังคมและการเมืองของไทยที่ปกครองด้วยการปลูกฝังยัดเยียดและบังคับควบคุมความคิด คือ ควบคุมประชาชนด้วยความจงรักภักดี ครอบงำความคิดหรือรูปการจิตสำนึก ทั้งการปลูกฝังอุดมการณ์ และจัดการควบคุมทางสังคม ทำให้สังคมไทยปัจจุบันเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความตอแหลหรือหน้าไหว้หลังหลอกแบบเหลือเชื่อ มีการบังคับว่าอะไรพูดได้ อะไรที่พูดไม่ได้ เราทุกคนจะอยู่รอดได้ต้องช่วยกันตอแหล ไม่ตอแหลอยู่ไม่ได้ ความตอแหลกลายเป็นความจำเป็น เป็นเอกลักษณ์ไทย การใช้ชีวิตทางสังคมไทยต้องตอแหล คือ ต้องหน้าไหว้หลังหลอก จะไม่ตอแหลก็ไม่ได้ ทุกคนช่วยกันตอแหล ทุกคนรู้ว่าคนอื่นก็ตอแหล ทุกคนเชิดชูการตอแหล ไม่ลงโทษ ไม่ห้ามปราม ไม่บอกว่าการตอแหลเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ เชิดชูกันเข้าไป ตั้งแต่บนสุดจนถึงล่างสุด ตอแหลหมด นี่คือปรากฏการณ์ของระบอบทำลายล้างที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย เราทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนเรียนรู้ที่จะต้องรู้จักหน้าไหว้หลังหลอก ปากอย่างใจอย่าง ปากว่าตาขยิบ  มันยุติธรรมแล้วหรือที่ไปเที่ยวกล่าวหาลงโทษคนที่คิดต่างออกไปเพียงเพื่อยืนยันว่าสังคมไทยต้องตอแหลถึงจะได้ดิบได้ดี กลายเป็นการหลอกตัวเอง หลงตัวเอง เป็นสังคมคับแคบที่เอาแต่อ้างว่าสังคมไทยมีลักษณะพิเศษซึ่งไม่เหมือนใคร กลายเป็นสังคมที่ปิดกั้นตนเอง วงการสื่อมวลชนไทยทั้งสิ่งพิมพ์และวิทยุทีวี ได้กลายเป็นพวกทรยศต่อวิชาชีพ คือนอกจากตอแหลแล้ว ยังพยายามเสริมสร้างอาณาจักรของความหวาดกลัวเข้าไปอีก
ลักษณะตอแหล หลอกตัวเอง หลงตัวเอง ที่เห็นกันเป็นระบบชัดเจน คือ กระบวนการยุติธรรมของไทย ที่ได้กำหนดให้เสรีภาพของประชาชนคือความเป็นทาสที่ต้องอยู่ในกรอบที่ถูกกำหนดให้คิดและเชื่อตามที่พวกเขากำหนด  ถ้ายังอยากจะมีชีวิตที่เป็นปกติสุขในประเทศไทย ก็ต้องยอมตาบอดต่อไป อย่าคิดมาก อย่าแสวงหาเสรีภาพ อย่าคิดต่อสู้ ยอมเป็นแค่เฟืองตัวเล็กๆ ที่สามัคคีกันทำตามหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด คิดถึงส่วนรวมให้มาก ลดความขัดแย้ง เกิดบูรณาการ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ มีการสั่งสอนและข่มขู่ว่า เมื่อเป็นคนไทย อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย อันมีกษัตริย์เป็นประมุข ท่านได้มีความเมตตากรุณาต่อชาติบ้านเมือง และราษฎรเป็นล้นพ้น ทุกคนจึงต้องสำนึกในความกรุณาของกษัตริย์ อย่าได้บังอาจแสดงอาการไม่เคารพเทิดทูนหรือดูหมิ่นโดยเด็ดขาด โดยที่ประชาชนชาวไทยไม่อาจให้อภัยได้ และสมควรได้รับโทษสถานหนัก ห้ามประกันตัว เพราะเป็นความผิดร้ายแรง อันป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 


สหประชาชาติแถลงข่าวกรุงเจนีวา 
จี้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ



วันที่ 9 ธ.ค. 2554 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ราวินา แชมดาซานิ ( Ravina Shamdasani ) รักษาการโฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights) ได้แถลงข่าวเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากมองว่ากฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออก ของประชาชน
แชมดาซานิ ระบุว่า บทลงโทษร้ายแรงที่เป็นอยู่ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุ  เป็นการละเมิดพันธกรณีทางด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี
  "เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และในระหว่างนี้ ควรมีการกำหนดแนวทางการดำเนินการให้แก่ตำรวจและอัยการ เพื่อยุติการจับกุมและดำเนินคดีบุคคลด้วยกฎหมายดังกล่าวที่มีความคลุมเครือ นอกจากนี้ เรายังมีความกังวลต่อการลงโทษที่เกินกว่าเหตุโดยศาล และการคุมขังผู้ต้องหาซึ่งมีระยะเวลานานต่อเนื่องในช่วงก่อนการไต่สวนคดีด้วย




ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2554 แฟรงค์ ลา รู ( Frank La Rue )ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติได้แถลงข่าวย้ำถึงความจำเป็นของทางการไทยในการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง 
ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข ไม่ใช่กษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ วันรัฐธรรมนูญของไทยก็ยังตรงกับวันปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญสำคัญกับประเทศไทย ส่วนสิทธิมนุษยชนนั้นสำคัญสำหรับคนทั้งโลก แต่เมืองไทยในขณะนี้ไม่มีเคารพทั้งรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชนสากลเลย
กฎหมายหมิ่นฯ มาตรา
112 คือ กฎหมายที่ขัดต่อหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นกฎหมายที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชน และเป็นกฎหมายที่อยุติธรรมต่อประชาชนอย่างยิ่ง เนื่องจากว่า มันทำลายเสรีภาพในการตรวจสอบบุคคลสาธารณะที่ใช้ภาษีของประชาชน มันสามารถลงโทษประชาชน เนื่องจากการกระทำความผิดด้วยคำพูดเพียงไม่กี่คำ โดยการจำคุกได้ ถึง 20 ปี มันเปิดช่องโหว่ให้ใครไปแจ้งความก็ได้ ก่อให้เกิดการใช้กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ทำลายล้างกันทางการเมือง เป็นเงื่อนไขของการอ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อทำรัฐประหาร เป็นเครื่องมือล่าแม่มดหรือคนที่มีความเห็นแตกต่างจากตน สร้างบรรยากาศของความขัดแย้ง และความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนที่รักเสรีภาพ และความยุติธรรม  เสรีภาพที่แสดงออกมาแล้วเท่านั้น จึงนับได้ว่า คือเสรีภาพที่แท้จริง และเสรีภาพที่แท้จริงนั้น ไม่มีอำนาจใดๆ ทำลายได้ ประเทศไทยจะต้องไม่มีนักโทษทางความคิด 

เสรีภาพภายใต้
ระบอบกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ

สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ลักษณะพิเศษของสังคมไทย เพราะในโลกนี้มีสังคมมากมายที่มีสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่สวาซีแลนด์ เดนมาร์ก อังกฤษ ไปจนถึงญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มหาอำนาจทางการเมือง หรือมหายาจก ต่างก็มีสถาบันกษัตริย์กันทั้งสิ้น 
แต่ถ้าหากเราจะอยู่กันอย่างประเทศอารยะแล้ว เราควรจะนับเอาประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ที่วางอยู่บนหลักมนุษยนิยมมาเป็นตัวอย่าง ขณะที่ความนิยมที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยหรือลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆที่กำลังคุกคามสิทธิเสรีภาพในสังคมไทยนั้น มีลักษณะพิเศษ คือ ไม่นิยมการใช้เหตุผลซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญของการวัดความเป็นมนุษย์ ทำลายหลักการพื้นฐานเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าใครจะกล่าววิจารณ์อะไรต่อกษัตริย์ ก็จะเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกินไปเสียทั้งสิ้น ไม่ยอมรับความเท่าเทียมกันของมนุษย์ อันเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แต่ศาลของไทยจะมุ่งพิทักษ์สถาบันกษัตริย์เหนือกว่าการพิทักษ์สิทธิมนุษยชน เป็นการทำลายมนุษย์เพื่อปกป้องลัทธิบูชากษัตริย์ของพวกตนเองเท่านั้น
กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ยอมให้มีลัทธิกษัตริย์นิยมแบบเดียว คือแบบไทยๆ ที่วางอยู่บนระบอบอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ของชนชั้นนำกลุ่มน้อย แต่ไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตยสากลที่ต้องแยกสถาบันกษัตริย์ออกจากการเมืองโดยเด็ดขาด ไม่ยอมรับข้อเสนอของกษัตริย์นิยมแบบประชาธิปไตยสากล เนื่องจากพวกเขาได้ประโยชน์จากช่องว่างในการแอบอิงสถาบันกษัตริย์ ขณะที่กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ก็จะพิทักษ์อำนาจและเครือข่ายของการอุปถัมภ์ค้ำชูพวกพ้องที่แอบอิงสถาบันกษัตริย์ 

กษัตริย์นิยมแบบไทยๆไม่มีมนุษยธรรม ยอมให้มีการประหัตประหารกันได้ หากแม้นว่าใคร หรืออ้ายอีคนใด ไม่นิยมลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ของพวกตน กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จึงไม่เคยห้ามปรามการกระทำรุนแรง การมุ่งอาฆาตมาตร้ายเพื่อนมนุษย์ในนามของกษัตริย์นิยม ประหนึ่งว่า การสังหารคนนอกลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ นั้นชอบแล้ว กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ไม่เคยประณามชนวนของการเข่นฆ่าอย่างรุนแรง แต่กลับไปร่วมยุยงให้เกิดการทำร้ายผู้คนที่วิจารณ์เจ้านายชั้นสูง  การไล่ล่าทุบตีคนที่ไม่ยืนฟังเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ น่ายกย่องเสียยิ่งกว่าการให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย
ในที่สุด ลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จึงสร้างความกลัวไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่นักการเมืองผู้สู้เพื่อประชาชนตั้งแต่พฤษภาคม 2535 ยังเกรงกลัว ต้องออกโรงมาตักเตือนให้นิติราษฎร์และ ครก.112 หยุดการเคลื่อนไหว ทำให้แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยยังต้องกลัว ลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ในปัจจุบันจึงดำเนินมาถึงขั้นที่มันไม่ต้องทำงานเองอีกต่อไป มันไม่ต้องออกแรงมาทำร้ายผู้คนอย่างบ้าคลั่งเหมือนเมื่อเช้าวันที่ 6 ตค. 2519 อีกต่อไป แต่มันทำงานด้วยการทำให้คนยอมรับเอาความกลัวเข้ามา การข่มขู่เพียงเล็กน้อยประกอบด้วยภาพหลอนความรุนแรงในนามของกษัตริย์นิยมที่สถาบันการศึกษาไม่สามารถพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาได้ ก็มีพลังเพียงพอที่จะบีบให้สถาบันการศึกษารับความกลัวเข้ามาเป็นเหตุในการ ปิดปากตนเอง 
เมื่อศาลก็ทำงานในนามกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จนไม่อาจพิทักษ์สิทธิเสรีถาพของพลเมืองไทยได้แล้ว แล้วจะมีใครที่ไหนที่จะมาปกป้องความเป็นมนุษย์อยู่อีกต่อไป

สิ่งที่น่ากลัว ยิ่งกว่า ม.112
 

กฎหมายจะไปบังคับจิตใจมนุษย์ไม่ได้ สิ่งที่กฎหมายถือว่าเป็นความผิด ต้องเป็นการกระทำทางกาย จะกล่าวหาว่าใครผิดกฎหมายมาตรา 112 เพราะไม่จงรักภักดีนั้นไม่ได้ ยิ่งมีปฏิกิริยาจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา จากสหประชาชาติและสหภาพยุโรป  ยิ่งน่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลและสังคมไทย จะเพิกเฉยต่อเรื่องเหล่านี้ไปได้อีกนานแค่ไหน  รัฐบาลต้องตอบนานาชาติให้ได้ มากกว่าที่จะบอกว่าไม่ขอยุ่งเพียงอย่างเดียว
กฎหมายหมิ่นกษัตริย์หรือมาตรา 112 กลายเป็นเครื่องมือทำลายคน ใช้ตามล่าตามล้างเหยื่อให้ต้องประสบชะตากรรม เช่นเดียวกับคนที่ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นแม่มดในยุคมืด การเผาแม่มดในยุคนั้น มีคนมองว่าเป็นการทำลายคนชั่วที่แก้ไม่ได้ คนที่โดนมาตรา 112 ในวันนี้ ก็คงไม่ต่างจากพวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดและถูกเผาทั้งเป็นในยุคโน้น มันเป็นเรื่องที่น่าสลดใจว่ามาถึงยุคนี้แล้ว ไฉนจึงยังมีกฎหมายป่าเถื่อนอย่างนี้หลงเหลืออยู่ บางคนแสดงความสะใจที่ได้ทำลายคนที่ถูกกล่าวหาว่าไม่รักกษัตริย์ แต่ในขณะเดียวกันมันก็สร้างความคับแค้นเกลียดชังขึ้นในใจของอีกฝ่าย รอวันบ่มเพาะจนได้ที่และประทุออกมาเป็นปฏิกิริยาที่อาจจะรุนแรงจนเอาไม่อยู่
ลำพัง ม.
112 หากผู้แจ้งความและระบบยุติธรรมใช้ดุลยพินิจดำเนินการตรงไปตรงมาตาม ความหมายจริงๆ ของคำว่า หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายก็ยังไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเกินไปนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของการล่าแม่มดและระบบยุติธรรมของไทยที่ผ่านมาคือ ไม่มีการแยกแยะอย่างชัดเจนว่า อะไรคือหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย อะไรคือการแสดงอารมณ์ความรู้สึกหรือการกล่าวหา การพยายามหาเรื่องแบบเด็กๆ และอะไรคือการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ 
เมื่อใครมาแจ้งความ ตำรวจก็ไม่กล้าปฏิเสธที่จะดำเนินการต่อ เมื่อส่งเรื่องไปยังอัยการ อัยการก็ต้องส่งต่อให้ศาล เพราะอัยการเองก็ไม่อยากรับผิดชอบเรื่องที่ถือกันว่าละเอียดอ่อนแบบนี้ และเมื่อถึงชั้นศาลก็ยากที่เหยื่อจะรอด แม้แต่กรณีอากง ที่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย หลายคนคิดว่าอากงน่าจะพ้นผิด แต่ก็ไม่รอด แถมยังโดนลงโทษหนักอย่างเหลือเชื่อ เพราะมาตรา
112 เปิดโอกาสให้ใครไปแจ้งความเอาผิดก็ได้ คนที่ไม่ชอบความคิดความเห็น หรือมีจุดยืนทางการเมืองต่างกัน สีต่างกัน หรือประเภทคลั่งเจ้าอย่างไร้เหตุผล ก็สามารถไปแจ้งความกล่าวโทษได้ ม.112 จึงกลายเป็นเครื่องมือของใครก็ได้ โดยเฉพาะคนที่มีวิธีคิดที่รุนแรง พวกที่มักใช้วิธีการดุด่าสาดเสียเทเสีย ยุยงให้ทำร้ายหรือไล่ไปให้ไปอยู่ต่างประเทศ โดยอ้างขนบจารีตเก่าแบบไทยๆ มาทำลายเสรีภาพทางการเมืองโดยไม่สนใจว่าอะไรคือปัญหาหรืออุปสรรคของความเป็นประชาธิปไตย เป็นภาพสะท้อนวัฒนธรรมการเรียนรู้และระบบการศึกษา ที่ไม่ได้สร้างคุณลักษณะของพลเมืองที่รักสิทธิเสรีภาพทางการเมือง แต่เน้นการปลูกฝังให้รักให้ซาบซึ้งสิ่งอื่น และยอมให้สิ่งนั้นสำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน จนกระทั่งอ้างสิ่งนั้นเพื่อสังหารประชาชนที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า
อันตรายหรือสิ่งที่น่ากลัวกว่า ม.112 จึงได้แก่การไม่สามารถเข้าถึงความหมายและคุณค่าของเสรีภาพทางการเมือง และการพร้อมที่จะทำลายผู้ออกมาเรียกร้องร้องหรือยืนยันเสรีภาพทางการเมืองได้ทุกเมื่อทุกวิถีทาง การที่มีคนออกมาตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องมาตรา 112 ควรจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าจะถูกตำหนิ แต่สื่อ นักวิชาการ และบุคคลที่มีชื่อเสียงกลับออกมาวิเคราะห์ว่า ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูป ม.112 และการแก้รัฐธรรมนูญคือ ระเบิดเวลา ที่อาจก่อความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมือง แทนที่จะร่วมกันรับผิดชอบ ด้วยการเสนอเหตุผล ความคิด จุดยืนของฝ่ายต่างๆ อย่างลงลึกในรายละเอียดให้รอบด้านมากที่สุด เพื่อให้ความขัดแย้งและความรุนแรงแบบที่เคยเป็นมาไม่เกิดขึ้นอีก แต่สังคมไทยก็ยังไม่มีความกล้าที่จะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์เรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างรอบด้าน ขณะที่สื่อกระแสหลักกลับละเลยที่จะนำเสนอความคิดที่กล้ายืนยันหลักการประชาธิปไตย และอธิบายประเด็นปัญหาระดับรากฐานพร้อมทั้งหลักการและเหตุผลอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด แต่สื่อกระแสหลักกลับพร้อมใจกันนำเสนอและเป็นกระบอกเสียงให้ฝ่ายอ้างหลักการและอุดมการณ์ที่ขัดต่อหลักการสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นความน่ากลัวเนื่องจากเสียงของหลักการ เหตุผลเป็นเสียงที่ไร้กระบอกเสียง แต่เสียงของพวกคลั่งเจ้าที่ไม่มีเหตุผลกลับเป็นเสียงที่สื่อหลักพร้อมจะเป็นกระบอกเสียงให้ ทำให้คนทั่วไปที่ไม่เห็นคุณค่าของเสรีภาพทางการเมืองก็พากันเฮโลตามกันอย่างง่ายๆ
ถ้าหากมั่นใจในคุณงามความดีของสถาบันกษัตริย์แล้ว ถึงใครจะพูดไม่เหมาะสมก็คงไม่กระทบกระเทือน เปรียบเสมือนมดโยกไม้ใหญ่ โยกอย่างไรก็ไม่สะเทือน และยิ่งกว่านั้นหากมีใครหมิ่นสถาบันกษัตริย์ กษัตริย์ก็เปี่ยมไปด้วยอภัยทานอยู่แล้ว เมื่อทรงให้อภัยทุกอย่างก็จบ แต่ถ้ายังดื้อดึงที่จะใช้แต่อำนาจบังคับจำกัดสิทธิเสรีภาพก็จะเป็นชนวนความขัดแย้งที่จะบานปลายออกไป

การไล่ล่าคนที่เห็นแตกต่าง
ด้วยมาตรา
112



-2 ธันวาคม 2554 ตำรวจนอกเครื่องแบบได้นำหมายเรียกให้นายสุรพศ ทวีศักดิ์ ไปพบ พนักงานสอบสวน ในข้อหาหมิ่นกษัตริย์ เพราะโพสต์แสดงความเห็นต่อท้ายบทความชื่อจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร ของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เผยแพร่ในประชาไท

จากการแจ้งความของผู้ใช้นามแฝงว่า ไอแพดหรือนายวิพุธ สุขประเสริฐ ซึ่งได้แสดงความเห็นข่มขู่ให้เตรียมตัวเข้าคุก ทั้งๆเป็นข้อเสนอในการแลกเปลี่ยนท้ายบทความ ว่า

ต่อไปเป็นความคืบหน้าเรื่องคดี
เรียน ข้าทาส/ขี้ข้า/สาวก
@ประชาไท.com ตัวใดที่ได้แสดงข้อความที่เข้าข่ายผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผมขอแจ้งให้ทราบว่าผมได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ พวกคุณไว้เรียบร้อยโรงเรียน สภอ. เมืองร้อยเอ็ดแล้ว ส่วนคดีก่อนหน้าผมก็ได้สอบถาม จนท. แล้ว เขาบอกว่าขณะนี้เรื่องอยู่ที่ สตช. แล้ว ซึ่งขอแสดงความยินดีสำหรับผู้ที่หลุดรอด (ใครบ้างไม่บอก อิอิอิ) และขอแสดงความยินดียิ่งขึ้นสำหรับผู้ที่ไม่รอด เพราะนับแต่นี้ชีวิตพวกคุณก็จะไม่เงียบเหงาต่อไป เพราะหลังบอลโลก 2010 จบ คุณยังมีเรื่องให้ลุ้นต่อไป น่าอิจฉานิ อิอิอิ อ้อ! นังด๊อก ของเอ็งน่ะ เอ!!! จำไม่ได้จริงๆ ว่ะ ว่า รอด หรือ หลุด ช่วงนี้ความจำเสื่อม



คือเมื่อนายวิพุธ สุขประเสริฐมีความเห็นต่างและเถียงสู้คนอื่นไม่ได้ ก็ไปแจ้งความจับดะไปหมด
อาจารย์สุรพศโดนคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ จากคนที่คิดต่างเห็นต่างในเรื่องการปกป้องสถาบัน การที่นายวิพุธไปแจ้งความไว้ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ก็เพื่อให้เสียเวลาเดินทาง เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี เห็นได้จากที่มีการตามโพสต์ด่าท้ายบทความของอาจารย์มาตลอด แล้วก็โพสต์เอกสารแจ้งความขึ้นเว็บประชาไท และเยาะเย้ยทำนองว่ามึงเตรียมกระเป๋า เตรียมค่ารถเดินทางมาพบตำรวจที่ร้อยเอ็ดหรือยัง คนเดียวกันนี้ไปแจ้งคดีหมิ่นฯ กับคนอื่นๆ อีกถึง 6 คดี นี่คือปัญหาของ ม.112 ที่ใครจะไปแจ้งความไว้ที่ไหนก็ได้ เขาต้องการให้กลัว และหยุดคิด หยุดเขียน หยุดพูด หยุดอภิปรายถกเถียง
และสำหรับสังคมไทย ก็มักจะมองว่าผู้ต้องหาในคดีหมิ่นฯ ไม่เพียงแต่เป็นผู้ถูกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายเท่านั้น หากแต่ยังเป็นความผิดบาป ที่ทำให้ครอบครัว คนรอบข้าง ญาติมิตรต่างหวาดกลัวและเครียดไปตามๆ กัน ผู้ต้องหาก็อาจถูกเพื่อนร่วมงาน ถูกสังคมที่เขาสังกัดพิพากษา สังคมไทยจำเป็นต้องเรียนรู้จากบทเรียน ที่ผ่านมาว่า 14 ตุลา 6 ตุลา และ พฤษภา 53 นักศึกษาและประชาชนถูกฆ่าตายมามากเกินไปแล้ว ด้วยข้อกล่าวหาล้มเจ้า สังคมไทยเรายังไม่มีหลักประกันว่า จะเกิดรัฐประหารและการนองเลือดขึ้นอีกหรือไม่ เพราะเราไม่ได้สร้างกติกา ให้ทุกสถาบันอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพและความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงสถาบันกษัตริย์ไทยต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 และควรแก้ไข ม.112 ให้สอดคล้องกับหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย จึงจะเป็นแนวทางปกป้องสถาบันกษัตริย์ที่ดีที่สุด เพราะเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนผ่านสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตย คือต้องไม่ให้มีการอ้างสถาบันกษัตริย์มาทำรัฐประหารได้อีก ไม่มีการใช้ ม.112 ทำลายกันในทางการเมือง ไล่ล่าคนเห็นต่างในทางการเมือง หรือคุกคามเสรีภาพทางวิชาการได้อีก  แต่ระบบกฎหมายและวัฒนธรรมทางความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของสังคมไทยทำให้เราต้องหวาดกลัวที่จะถกเถียงปัญหาพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ เป็นการเสี่ยงที่จะพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ไทยทั้งๆที่กษัตริย์เป็นบุคคลสาธารณะในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นความจำเป็นแม้จะต้องเสี่ยงเพื่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ที่ต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อมิให้กลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งที่รุนแรงนองจนไม่อาจควบคุมได้ ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรเลิกหลอกตนเอง และยอมรับความจริงว่า สังคมเราได้เดินมาถึงจุดที่ต้องร่วมกันสร้างกติกา ให้ทุกสถาบันอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพและเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ความรุนแรงของ
สถานการณ์
112



เกิดทั้งจากตัวกฎหมายเอง รวมถึงอุดมการณ์และวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 กล่าวคือ
1. ตัวบทกฎหมายที่มีนิยามคลุมเครือ โดยเฉพาะการดูหมิ่น ทำให้การใช้และตีความกฎหมายเป็นไปในลักษณะที่กว้างขวางเกินกว่าที่ควร
2. อัตราโทษที่กำหนดสูงเกินไป และไม่มีความได้สัดส่วนกับหลักประชาธิปไตย
3. การตีความกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้เกี่ยวกับความมั่นคง ส่งผลให้กระบวนการพิจารณาคดีมักเป็นไปโดยลับ ทำให้ไม่อยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการได้ ผู้ต้องหามักไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีทางอาญาที่มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา และให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถสู้คดีได้อย่างเต็มที่
4. การบังคับใช้กฎหมายซึ่งสามารถให้ใครฟ้องร้องใครก็ได้ ทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
5. อุดมการณ์กษัตริย์นิยมซึ่งรายล้อมกฎหมายได้ครอบงำทัศนคติของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ทำให้การพิสูจน์ว่าคำพูดหรือข้อความนั้นเป็นจริงหรือเท็จดังกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปไม่ถูกนำมาปฏิบัติ คำพิพากษาในหลายกรณีที่มาจากความจงรักภักดีที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้
และมีการทุ่มเงินงบประมาณจำนวนถึง
242,998,800,000 บาท หรือคิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมดให้แก่หน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ มีการโหมกระหน่ำผลิตซ้ำวาทกรรม ไม่รักเจ้าไม่ใช่คนไทย ที่ผลักไสให้คนที่คิดต่างไปอยู่ขั้วตรงข้าม ตลอดจนการเกิดขึ้นของกลุ่มล่าแม่มด หรือตามไล่ล่าพวกหมิ่นเจ้าหรือพวกที่มีความคิดต่างไปจากตน ตามโลกออนไลน์หรืออินเตอร์เนทซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
รัฐบาลทั้งที่มาจากรัฐประหารและมาจากการเลือกตั้งต่างพากันทำแต้มแสดงความจงรักภักดีผ่านการใช้กฎหมายหมิ่นฯ จับกุมลงโทษอย่างเมามัน
ก่อนรัฐประหารมีคดีหมิ่นฯที่เข้าสู่ศาลชั้นต้นปีละไม่ถึง
5 คดี แต่ก่อนเกิดรัฐประหารในปี 2549 ไม่นาน มีคดีหมิ่นฯจาก 33 คดีในปี 2548 มาเป็น 478 คดีในปี 2553 ยังไม่นับรวมผู้ที่ถูกกล่าวหาและตกเป็นจำเลยทางสังคมก่อนถูกศาลพิพากษา ทำให้สังคมไทยตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะ ทั้งๆที่เป็นสิทธิ เสรีภาพโดยชอบของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่จะแสดงความเห็นในเรื่องการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ บทบาท และสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ความอัปลักษณ์จากการใช้กฎหมายหมิ่นฯจึงไม่ควรเก็บไว้ใต้พรมแห่งความจงรักภักดีอีกต่อไป แต่ควรออกนำมาแสดงอย่างเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องตรงประเด็นต่อไป
เจ้านิยมแบบไม่พอเพียง

-สถานะของสถาบันกษัตริย์ไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีอำนาจมากเกินควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย มิได้เป็นมาแต่ไหนแต่ไรตามที่หลายๆคนแอบอ้าง ความจริง สถาบันกษัตริย์ถูกยกระดับให้มีอำนาจเท่าที่เป็นในปัจจุบันตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นต้นมา เป็นเวลาเพียง 40-50 ปีของการช่วงชิงเพื่อครอบงำทางความคิดที่มีมาตลอด
กษัตริย์ไทยเป็นความภาคภูมิใจ หรือเป็นความน่าละอายกันแน่ การที่พวกคลั่งเจ้าเรียกร้องให้ถอยหลังเข้าคลองย้อนยุคกลับไปสู่อดีตของยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นหัวเราะเยาะของชาวโลกยุคอินเตอร์เนทความเร็วสูง ทำไมจึงต้องเป็นพสกนิกรกันทุกคนที่ขอเป็นรองพระบาททุกชาติไป เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพหรือเป็นแค่อุปาทานหมู่ที่คนบางคนพยายามสะกดจิตคนไทยทั้งประเทศ เราจะเป็นคนไทยและเป็นคนที่มีเหตุผลพร้อมกันไปได้อย่างไร ทำไมประชาชนต้องใช้ราชาศัพท์ และทำไมต้องหมอบคลาน
คดีอากงทำให้นานาอารยะประเทศต้องหันมาจับจ้องประเทศไทยด้วยดวงตาลุกโพลงมากขึ้นสมกับที่ฝันใฝ่กันมานานที่จะอวดเป็นอเมซิ่งไทยแลนด์ ที่ความเป็นไทยได้ทำให้โลกตะลึง

คดีอากงได้กลายเป็นคดีตัวอย่างสมบูรณ์แบบของความเป็นเหยื่อบริสุทธิ์ เพราะโดยมาตรฐานความยุติธรรมสากลแล้ว ต่อให้จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความจริง ซึ่งถูกห้ามเผยแพร่ราวกับเป็นข้อความที่มีเวทมนต์ ก็ไม่ควรต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษตามมาตรฐานไทยอย่างที่เป็นอยู่ ที่ลงโทษคนที่ถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความส่วนตัวไปถึงคนอีกคนหนึ่งด้วยการจำคุกยี่สิบปี


ปัญหาใหญ่ที่ถูกกลบเกลื่อนคือความจริงที่ว่าการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์และอุตสาหกรรมวัฒนธรรมโฆษณาชวนเชื่อดังที่เป็นอยู่ ขัดหลักการแห่งระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและหลักเสรีประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก ต้องยอมรับความจริงว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีอำนาจล้นเกินแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ต้องรับผิด และไม่ถูกจำกัดอำนาจด้วยกฎเกณฑ์ข้อบังคับของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามครรลองประชาธิปไตย ฝ่ายนิยมเจ้าต้องการจะบอกเพียงแค่ว่าทุกอย่างที่เป็นอยู่นั้น ดีแล้ว ประเสริฐแล้ว พวกที่ไม่เข้าใจประเพณีวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้งอย่ามาสะเออะเสนอหน้า ไม่มีอะไรจะน่าทึ่งไปกว่าความเป็นไทยอันมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ประวัติศาสตร์ไทยอันเก่าแก่โบราณ ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมไทยอันล้ำเลิศประเสริฐศรี ความวิกลจริตแบบไม่มีเหตุผลหรือการงดเว้นการใช้หลักเหตุผลในเรื่องที่เกี่ยวกับกษัตริย์ในฐานะบุคคลและสถาบัน เป็นลักษณะเด่นขงวัฒนธรรมการเมืองของฝ่ายกษัตริย์นิยมไทยในปัจจุบันโดยแท้

กฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้มีสถานะที่เป็นเพียงกฎหมายอาญามาตราหนึ่ง แต่กำลังยึดครองสถานะเป็นป้อมปราการและเป็นอาวุธสำคัญทางจารีตประเพณี ที่ฝ่ายคลั่งเจ้าต้องปกปักรักษายิ่งชีพ เมื่อโต้แย้งหักล้างกันด้วยเหตุผลไม่ได้ ฝ่ายนิยมเจ้าจะยกข้ออ้างจารีตประเพณี หรือ อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว มาเป็นไม้ตายเพื่อยุติการถกเถียง แท้จริงแล้วการเลิกกฎหมายหมิ่นฯ ที่มีบทลงโทษรุนแรงที่สุดในโลกก็คล้ายกับการเลิกทาส เลิกประเพณีหมอบคลาน เลิกการทรมานนักโทษ และการลงโทษแบบโหดร้ายทารุณ หรือเลิกจารีตปฏิบัติที่ไม่ดีงามต่างๆนั่นเอง

แม้ว่าสังคมกระแสหลักจะพากันมุ่งไปที่เรื่องการปกป้องสถาบันกษัตริย์ แต่ประเด็นหลักที่ต้องไม่ลืม คือการเชิดชูปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ยึดถือสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ทุกคนเป็นตัวตั้ง ซึ่งย่อมรวมถึงกษัตริย์ซึ่งก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องของความจงรักภักดีที่เป็นกรอบปิดกั้นสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมของประชาชน และต้องไม่มีการข่มขู่คุกคามกันแบบพวกป่าเถื่อนด้อยพัฒนา ต้องไม่ยกประเด็นความจงรักภักดีมาประจบประแจงสถาบันกษัตริย์ หรือใส่ร้ายป้ายสีเสรีชน ต้องลดความชอบธรรมหรือถอดถอนอุปาทานและโวหารของความจงรักภักดีออกจากประเด็นสาธารณะ ที่มักจะยึดโยงกับความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ ความเป็นไทย และ การอ้างกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย  ประเทศไทยต้องอนุญาตให้มีคนมีความเห็นแตกต่าง

ในเมื่อระบอบการปกครองของไทยปัจจุบันมิใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้นความไม่จงรักภักดีจึงย่อมมิใช่อาชญากรรม และไม่ได้นำไปสู่การก่ออาชญากรรม ตรงกันข้าม คนที่จงรักภักดีอย่างท่วมท้นต่างหากที่มีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมและกระทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรมสูงกว่าหลายเท่า ที่กระทำในนามของความจงรักภักดี ตั้งแต่ยิงให้ตาย, ใช้เก้าอี้ฟาด, หัวเราะดีใจที่เห็นคนมากมายถูกสังหารหมู่, ส่งเสียงเชียร์หรือเข้าร่วมกลุ่มรณรงค์ให้กวาดล้างกำจัดคนเห็นต่างจากพวกตน, ตะเพิดคนให้ออกจากประเทศ, แสดงความเกลียดชังและอาฆาตมาดร้าย , แต่งเรื่องโกหกให้ร้ายคนอื่น, พาดหัวข่าวด้วยข้อมูลเท็จเพื่อทำลายกันทางการเมือง, สอดส่องเป็นหูเป็นตาหาเรื่องจับคนเข้าคุก, หรือกระทั่งอยากให้ประหารชีวิตคนที่กระด้างกระเดื่องให้หมดแผ่นดิน ฯลฯ

ความหมายของการไม่จงรักภักดีก็คือการมีทัศนะความคิดคนละแบบกับผู้ที่จงรักภักดีเท่านั้น ดังนั้นการไม่จงรักภักดีจึงไม่ควรถูกใส่ร้ายป้ายสีให้เห็นว่าเป็นภัยอันน่าสะพรึงกลัว ที่จะทำร้ายประเทศชาติ
วัฒนธรรมการเมืองที่มีวุฒิภาวะต้องเลิกอ้าง เลิกกล่าวหา เลิกพาดพิง เลิกตอแหล เลิกเล่นลิ้นเรื่องความจงรักภักดีราวกับเป็นสังคมที่อยู่กันแบบชนเผ่าโบราณ แต่ล้าหลังและดัดจริตยิ่งกว่าสังคมชนเผ่าโบราณจริงๆเสียอีก และควรหันมาถกเถียงอภิปรายในเนื้อหาสาระ ของสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหา ความจงรักภักดีต้องถูกจำกัดให้เป็นความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละบุคคลที่ไม่ใช่ข้อบังคับในกฎหมายหรือข้อผูกมัดทางจารีตสังคม



นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติของคมช.อ้างถึงประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน และต้องไม่นำเอาความรู้สึกของประเทศอื่นมาเป็นมาตรฐาน เพราะแต่ละประเทศย่อมมีประเพณี วัฒนธรรม หรือความอ่อนไหวแตกต่างกันไป
นายสุเมธ ตันติเวชกุล, เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาของเจ้าออกมาปกป้องมาตรา112 ว่ากฎหมายคือกฎหมาย ถ้าเราไม่ทำผิด เขาก็อยู่ในกระดาษเท่านั้นเอง ก็อย่าทำผิดก็เท่านั้น
ข้อเท็จจริงก็คือ ผู้พิพากษาไม่สามารถจะให้ความยุติธรรมโดยการอ้างกฎหมายที่อยุติธรรม และยังเป็นอาชญากรรมต่อสิทธิมนุษยชนในระบอบประชาธิปไตย

บรรดาผู้พิพากษาที่ได้ให้คำวินิจฉัยที่ขัดแย้งกับหลักปฏิบัติต่อมนุษยชาติจักต้องถูกดำเนินคดีในที่สุด


ข้ออ้างที่พวกนิยมเจ้ามักจะหยิบยกขึ้นมาปกป้องมาตรา 112 คือขนบธรรมเนียมประเพณี โดยปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องความชอบธรรมของกฎหมาย และระบอบการปกครองตามหลักสากล แต่หันไปยกเอาประเพณี วัฒนธรรม ความรู้สึก ความอ่อนไหวแบบท้องถิ่น มาเป็นตัวตัดสิน ถ้าเอาอย่างนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนกฎหมาย เพราะเรียนแล้วก็เอาแต่อ้างจารีตประเพณี สังคมไทยต้องร่วมกันหาข้อสรุปที่ชัดเจนว่าหลักการใดที่สำคัญ ชอบธรรม เป็นธรรม และให้สิทธิเสรีภาพมากกว่ากัน และเป็นสิ่งที่สังคมที่เจริญแล้วยอมรับนับถือ
พวกคลั่งเจ้ายืนยันว่ามาตรา
112 คือกฎหมายของบ้านเมืองที่ทุกคนต้องเคารพอย่างเข้มงวดแม้จะมีบทลงโทษรุนแรงเฉียบขาดโดยไม่ต้องแยแสเรื่องสิทธิเสรีภาพเพราะถ้าเราไม่เชื่อฟังไม่เคารพกฎหมาย บ้านเมืองก็จะอยู่กันไม่ได้ สถาบันกษัตริย์ก็จะต้องถูกทำลายลบหลู่เหยียบย่ำ ผู้อยู่ใต้การปกครองจึงต้องเชื่อฟัง ยำเกรงและเข็ดหลาบ แต่มาตรา 112 มันเป็นกฎหมายจริงๆ หรือไม่ตามมโนธรรมสำนึกว่าด้วยความยุติธรรมในสังคม เพราะคำพิพากษาซึ่งวางอยู่บนฐานของความไร้มนุษยธรรมย่อมไม่มีสถานะและศักดิ์ศรีที่จะเป็นกฎหมายตั้งแต่แรก ความอยุติธรรมอย่างรุนแรงไม่ใช่และไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย สังคมที่เห็นดีเห็นงามกับการดำเนินคดีและการลงโทษอย่างป่าเถื่อน อันถือเป็นความอยุติธรรมที่ถูกบัญญัติให้เป็นกฎหมาย ก็คือสังคมที่ล้มละลายทางศีลธรรม
ความผิดปกติที่กลายเป็น
เรื่องปกติของสังคมไทย

นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 จวบจนถึงปี 2554  อันเป็นช่วงของปรากฏการณ์อำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย และ ตุลาการภิวัตน์ อาจถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาพิเศษหรือไม่ปกติ คือเป็นช่วงเวลาที่บทบัญญัติทางกฎหมาย และอุดมการณ์วัฒนธรรมการเมือง ที่กำกับการใช้กฎหมาย มีลักษณะที่ขัดกับหลักความยุติธรรมอย่างใหญ่หลวงในระดับที่สุดจะทนทานได้ จนถือได้ว่าผิดพลาดและเลวร้ายอย่างรุนแรง จนถือได้ว่ากฎหมายนั้นปราศจากสถานภาพความเป็นกฎหมาย และเราต้องใช้ดุลยพินิจที่อิงกับหลักความยุติธรรมแทนตัวบทกฎหมาย รวมทั้งประเพณีและการเมืองของการใช้กฎหมายที่อยุติธรรมและชั่วช้าสามานย์
ฉะนั้นเฉพาะในกรณีเช่นนี้ ที่มีลักษณะสุดขั้วที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เราจำเป็นต้องใช้มโนธรรมสำนึกทางศีลธรรมแทนการเชื่อฟังกฎหมาย และต้องร่วมตระหนักโดยทั่วกันว่า กฎหมายไม่ใช่กฎหมายอีกต่อไป รวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมที่เลวระยำทั้งระบบ ตั้งแต่การฟ้องร้องไปจนถึงคำพิพากษา
แต่ในความเป็นจริงการสถาปนาหลักการแห่งความเป็นธรรมขึ้นใหม่ ย่อมกระทำได้ก็ต่อเมื่อระบอบเผด็จการล่มสลายไปแล้ว เพราะในห้วงเวลาที่เผด็จการครองอำนาจ การวิพากษ์วิจารณ์และเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบเผด็จการกษัตริย์นิยม แม้จะเป็นความจริงแท้ที่สุด ก็เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายของกษัตริย์ ถูกบรรดาสาวกคลั่งเจ้านำไปฟ้องร้อง และถูกศาลตัดสินจำคุกในยุคราชาธิปไตยของไทยที่กษัตริย์เป็นใหญ่กว่าความถูกต้อง
มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่เข้าใจได้ง่ายมาก ว่ากฎหมายที่ดีจะต้องตราขึ้นเพื่อผดุงหลักความยุติธรรมและความเสมอภาค มิใช่ผดุงหลักผู้นำเผด็จการหรือผู้นำศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน
ความยุติธรรมแบบสากลซึ่งยึดหลักการสูงสุดว่า มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย ที่ไม่มีอุดมการณ์วัฒนธรรมแบบไทยๆ ซึ่งยึดหลักการสูงสุดว่า คนไม่มีวันจะเท่ากัน ไม่ว่าในด้านกฎหมาย หรือด้านไหนๆเข้ามาปนเปื้อนเท่านั้น จึงจะเป็นหลักประกันความปลอดภัยของการพูดความจริง ส่วนความยุติธรรมแบบครึ่งๆ กลางๆ แบบประนีประนอมหรือแบบปลอมๆ อาจเป็นการผ่อนหนักมากเป็นหนักน้อย แต่มิใช่ความยุติธรรมตามมาตรฐานสากลที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง เพราะความยุติธรรมแบบสากลจะลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงก็ด้วยการเปลี่ยนอุดมการณ์ความคิดจิตใจ คุณค่า และค่านิยมของทั้งสังคมเท่านั้นความไม่เสมอภาคเป็นโครงสร้าง ระเบียบแบบแผน และหลักการสูงสุดและสำคัญที่สุดในสังคมไทย ความเชื่อในระเบียบสังคมแนวดิ่งหรือชนชั้นวรรณะอันเป็นหัวใจของวัฒนธรรมไทยนี่เอง ที่เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดของความคิดสากลเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และความยุติธรรม เพราะเมื่อคนไม่เท่ากัน สิทธิก็ต้องไม่เท่ากัน เสรีภาพไม่เท่ากัน อำนาจไม่เท่ากัน ได้รับการปฏิบัติไม่เท่ากัน ถูกขังฟรีและตายฟรีไม่เท่ากัน ความยุติธรรมในสังคมไทยคือความยุติธรรมที่อยู่บนฐานของความไม่เท่ากันของมนุษย์ เช่น คนที่มีสถานะทางวัฒนธรรมสูง ทำอะไรผิดก็ไม่ผิด ส่วนคนที่มีสถานะทางวัฒนธรรมต่ำ ไม่ต้องทำอะไรเลยก็ผิด ทั้งหมดนี้เราจะเห็นแบบโจ่งแจ้งบ้าง ปิดบังอำพรางบ้าง และแนบเนียนจนเกือบไม่เห็นเพราะเคยชินบ้าง
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว วัฒนธรรมของกระบวนการยุติธรรมของไทยจึงอยู่ในภาวะที่ไม่ค่อยปกติ มาตั้งแต่แรกแล้ว และมีการเพิ่มขึ้นของระดับขั้นความไม่ปกติ กลายเป็นความราบรื่นของการด้อยพัฒนาที่ไปไม่ถึงมาตรฐานสากลและเต็มใจที่จะอยู่กับความพิกลพิการ โดยไม่รู้สำนึกว่าเป็นความพิกลพิการ แต่กลับถือกันว่าเป็นลักษณะพิเศษแบบไทยๆ ที่ควรทนุถนอมสืบต่อไป ภาวะของความไม่ปกตินี้ จะขึ้นลงแปรผันตามระดับของความเป็นไทย ยิ่งเป็นไทยมากเท่าไหร่ คือไม่ฟังเสียงท้วงติงและกระเหี้ยนกระหือจะต่อสู้กับโลกสากล เพื่อโชว์ว่าไทยเจ๋งสุดในจักรวาลทางช้างเผือกมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสำแดงอาการไม่ปกติหรือวิปริตวิตถารมากเท่านั้น
อุดมการณ์และโครงสร้างวัฒนธรรมอนุรักษนิยมในสังคมไทยได้ครอบงำเหนือหลักการสากลทั้งปวงที่ไทยรับจากตะวันตก จึงทำให้หลักการสากลต้องกลายเป็นทุพพลภาพเมื่อถูกใช้ในเมืองไทย และต้องหลีกทางให้กับวัฒนธรรมหลายมาตรฐาน วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนาย วัฒนธรรมคลั่งเจ้า วัฒนธรรมอุปถัมภ์ วัฒนธรรมผู้ใหญ่-ผู้น้อย วัฒนธรรมเอาหน้า-หน้าใหญ่-ไม่ยอมเสียหน้า วัฒนธรรมประจบและให้อภิสิทธิ์คนใหญ่คนโต วัฒนธรรมนักเลงโต วัฒนธรรมใต้โต๊ะ วัฒนธรรมตอแหล-มือถือสากปากถือศีล ฯลฯ วงการยุติธรรมไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะไม่ปกป้องความเป็นธรรม แต่มุ่งปกป้องอำนาจของตนเองเป็นหลัก ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับสถาบันทุกชนิดในสังคมไทยโดยเฉพาะสถาบันทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับการปกป้องอำนาจและสถานภาพของตน โดยไม่ยอมรับคำวิจารณ์หรือข้อเท็จจริงในทางลบใดๆ ให้มาสั่นคลอนสถานะอำนาจของตนเองได้
 
เราควรเจรจาหาทางประนีประนอมกับความอยุติธรรมและความป่าเถื่อนหรือไม่ บรรทัดฐานที่ถูกต้องของการกระทำที่ไม่ควรต้องติดคุก ย่อมไม่ควรถูกประนีประนอมด้วยการลดจำนวนปีที่ติดคุกหรือรอรับการอภัยโทษ เพราะการลดโทษหรือลดการฟ้องร้องพร่ำเพรื่อก็ไม่ได้ทำให้เรามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น
ไม่ว่าการปฏิรูปหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 จะทำได้หรือไม่เพียงใด จะมีการประนีประนอมหรือบิดเบือนหรือไม่เพียงใด แต่องค์ประกอบของที่มา อุดมการณ์ เจตนารมย์ วัฒนธรรมการตีความและบังคับใช้ของมาตรา 112 ก็ยังคงเป็นกฎหมายเผด็จการที่โหดร้ายสามานย์และเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชนที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และความอยุติธรรมอย่างรุนแรงที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกทำให้บทบัญญัติมาตรา 112 นี้ไม่สมควรมีสถานะเป็นกฎหมายตั้งแต่แรก นั่นคือการ ยกเลิก สิ่งที่ควรต้องยกเลิก ที่ขัดหลักการที่กษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ  ถ้าจะยึดหลักนิติธรรมสากลที่ว่าบุคคลย่อมความเสมอภาคมาตรฐานเดียวภายใต้กฎหมาย ที่ถือกันว่าเป็นแก่นของความเป็นกฎหมายแล้ว ก็ต้องกล่าวว่าประเทศไทยนอกจากไม่มีความยุติธรรมแล้วที่สำคัญคือ ประเทศไทยเป็นประเทศป่าเถื่อนที่ไม่มีกฎหมายที่เป็นมาตรฐานสากลจริงๆ

มาตรา 112
คือกฎหมายเผด็จการแท้ๆ

ที่จริงมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมมาตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว เป็นกฎหมายที่สนับสนับสนุนระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยตรง กลายเป็นกฎหมายที่ใช้ปิดปากประชาชนไม่ให้พูดความจริงที่จำเป็นและสำคัญยิ่งต่อการพิทักษ์ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยรวม และเป็นเครื่องมือของระบอบราชาธิปไตยที่ล้าหลังเพื่อใช้ทำลายพรรคการเมืองในฝ่ายประชาธิปไตย
ไม่ว่ากษัตริย์หรือประมุของประเทศไหนๆ ก็ย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเหมือนกับประชาชนทั่วไป ซึ่งก็มีข้อยกเว้นความผิดถ้าสิ่งที่พูดหรือวิจารณ์นั้นเป็นความจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งนี้เพื่อพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของคนทุกคนในระบอบประชาธิปไตย มิใช่มีไว้เพื่อสิทธิพิเศษให้ประมุขของประเทศทำผิดโดยห้ามผู้ใดวิจารณ์

ข้อเท็จจริงที่ต้องย้ำก็คือมาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายในระบอบประชาธิปไตย ถ้ายังยืนว่ามาตรา 112 ถูกต้องดีแล้ว ก็ต้องประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบเผด็จการโดยกษัตริย์ กษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและความถูกต้องทั้งปวง ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ควรจะทำประชามติไปเลยว่าประชาชนต้องการระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่ามาโกหกประชาชนว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย ทั้งๆที่มีกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายและความถูกต้อง
พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. กล่าวเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่
2555 ว่า ข้อสำคัญคือถวายพระพรให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแข็งแรงโดยเร็ว และ สถาบันปลอดภัย ประเทศชาติมั่นคงแข็งแรง ตอนนี้ต้องค่อยๆทำกันไปแก้กันไป หลักการของบ้านเมืองมีอยู่แล้วไม่มีใครเปลี่ยนแปลงประเทศชาติได้ เพราะว่าประเทศชาติเจริญเติบโตมาถึงวันนี้ได้

ที่ว่าประเทศไทยมีระบอบกษัตริย์ดีอยู่แล้ว ต้องถามพลเอกประยุทธ์ว่าเอาอะไรมาตัดสิน เอาหลักสากลในระบอบประชาธิปไตย หรือเอาหลักการในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบไทยโบราณ
ทั้งๆที่มาตรา 112 ทั้งๆที่เป็นกฎหมายเผด็จการล้าหลังที่ขัดหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากล นานาอารยะประเทศก็ได้แสดงความเป็นห่วงว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เหมาะสมและล้าหลังป่าเถื่อน โดยจะมีผลเสียอย่างร้ายแรงต่อสถาบันกษัตริย์ของไทย แต่บางคนก็ยังทำตัวเหมือนกบในกะลาที่ไม่ยอมรับความเป็นจริง หลักรัฐศาสตร์ที่สำคัญก็คือหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเที่ยมกัน ไม่ใช่การลำเลิกบุญคุณดั้งเดิมทั้งๆประชาชนเป็นผู้โอบอุ้มเลี้ยงดูที่แท้จริง


การไม่เปิดกว้างรับฟังเหตุผลของคนที่ต้องการให้แก้ ม.112 ถ้าไม่รับฟังแล้วยังไล่ให้ไปอยู่ประเทศอื่น ถ้าไม่เห็นด้วยและมีเหตุผลที่ดี ก็ต้องโต้แย้ง แม้แต่มาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้กษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ก็จำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์ เพื่อหาข้อยุติว่าสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบ


ประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างไร
แล้วเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์จะมีแค่ไหน และการวิพากษ์วิจารณ์กับการหมิ่นประมาทต่างกันอย่างไร  เพื่อคนในสังคมจะได้วางระเบียบให้ตนเอง ซึ่งถ้าแก้ไขกันแบบเงียบๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ สังคมประชาธิปไตยต้องให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อทำให้เกิดการปรับตัว ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชน ในแนวที่ไม่ใช่เป็นแนวดิ่งถึงขนาดต้องบังคับให้เคารพเชื่อฟัง แต่ต้องสามารถสื่อสารกันได้ ต้องไม่อยู่ในระนาบสูงเกินไป จึงจะทำให้เกิดความมั่นคง มีการความปรับตัวมากขึ้น เราแยกแยะชัดเจนได้หรือยัง ระหว่างวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน กับการหมิ่นประมาทดูแคลนอาฆาตมาดร้าย ถ้ามาหมิ่นประมาทด่าสาดเสียเทเสีย แน่นอนก็น่าจะผิดและต้องแจ้งความฟ้องร้อง คำว่าจงรักภักดีไม่ได้หมายความว่าต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไรเลย ในทางรัฐศาสตร์  ถ้าจะจงรักภักดีก็ต้องมีเหตุผลและความชอบธรรม ไม่ใช่มืดบอดหลับหูหลับตาจงรักภักดีหรือด้วยความเกรงกลัวอย่างไพร่ทาสที่กลัวนาย แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นต่างได้อธิบายเหตุผลของเขา  ให้มาโต้เถียงกันอย่างเสรีด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง แต่ถ้ายิ่งมีกฎหมายไปห้าม ไปปิดกั้นก็ยิ่งเท่ากับไปยืนยันว่าเป็นระบอบราชาธิปไตยที่กดขี่และเป็นเผด็จการ การวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครอง ที่ต้องการให้เป็นระบอบที่ดีต่อประชาชน แก้ปัญหาและตอบสนองประชาชนได้ ย่อมเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ 

พวกนิยมเจ้าบางคนโต้แย้งว่าสถาบันกษัตริย์ในประเทศด้อยพัฒนามีปัญหามากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะกษัตริย์ในประเทศที่เจริญแล้วไม่ต้องลงมาดูแลโครงการพัฒนาชนบทเหมือนประเทศด้อยพัฒนาแบบประเทศไทย ถ้ากษัตริย์ในประเทศด้อยพัฒนาแบบไทยถ้าไม่ทำอะไรเลยก็คงถูกด่าเหมือนกันว่านั่งกินนอนกินไปเฉยๆ ถ้าทำก็หาว่าไปแทรกแซง หาว่าสร้างอิทธิพลสร้างอำนาจบารมีขึ้นมา  คือถูกด่าทั้งขึ้นทั้งร่องถ้าคนจะหาเรื่องด่า

ความจริงก็คือ กษัตริย์ในประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่มาก้าวก่ายทางการเมืองมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะเขาเป็นเพียงประมุขแต่ในนามและไม่มีหน้าที่บริหารประเทศ แต่ของไทยทั้งก้าวก่ายทั้งแทรกแซงกระทั่งเชื่อได้ว่าแอบสั่งการหรือบงการในสิ่งที่ขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีหลักการสำคัญในการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและอำนาจสูงสุดต้องเป็นของปวงชน
พวกนิยมเจ้าบางคนก็อ้างแบบข้างๆคูๆว่าประมุขที่สืบสายโลหิต ย่อมไม่จำเป็นต้องพึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง จึงสามารถที่จะวางตัวเป็นกลาง ไม่จำเป็นต้องเข้าข้างพรรคใดพรรคหนึ่ง สามารถถ่วงดุลรัฐบาลได้ ทั้งๆที่หลักการของประชาธิปไตยคืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญย่อมไม่มีปัญหามากนักถ้าประชาชนสามารถควบคุมกษัตริย์ให้อยู่ในกฎเกณฑ์ แต่ในประเทศที่ประชาชนไม่ต้องการกษัตริย์ก็ไม่ได้มีปัญหายุ่งยากอะไร เพราะไม่ใช่สิ่งจำเป็น และถ้ากษัตริย์ไม่ยึดหลักการประชาธิปไตยก็ยิ่งเป็นอุปสรรคหรือศัตรูสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย

พวกนิยมเจ้าที่เอาแต่อ้างความจงรักภักดี พยายามปิดหูปิดตาและปิดปากประชาชน รวมทั้งโจมตี ด่าทอ หาเรื่อง ทุกคน ทุกประเทศ ไม่เว้นกระทั่งสหรัฐอเมริกา สหประชาชาติ และสหภาพยุโรป ที่เสนอความเห็นเรื่องมาตรา 112  ด้วยอาการเกรี้ยวกราดดุเดือดเลือดพล่านซึ่ง เท่ากับเป็นการเผยจุดอ่อนให้เห็น แทนที่จะใช้หลักเหตุผล พิจารณาและหาทางแก้ปัญหา ไม่ใช่แก้ที่ผล หรือ ปลายเหตุ การข่มขู่ด่าทอ ปิดเว็บไซด์ หรือจับกุมคุมขัง ย่อมไม่มีทางแก้ปัญหาได้
ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ซึ่งทั่วโลกในขณะนี้อยู่ในกระแสเสรีประชาธิปไตยที่เน้นความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน แม้แต่ในแวดวงการค้าระหว่างประเทศยังกำหนดมาตรฐานสากลทั้งในด้านคุณภาพสินค้า และการเคารพสิทธิมนุษยชนของคนงาน
ประเทศไทยยังเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ (UN) ได้ร่วมให้สัตยาบรรณในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และยังเป็นภาคีในอนุสัญญาสิทธิพลเรือน และสิทธิทางการเมืองอีกด้วยจึงไม่อาจปฏิเสธแรงกดดันจากนานาชาติที่เห็นว่าประเทศไทยยังมีกฎหมายล้าหลังละเมิดสิทธิมนุษยชนดังที่นาย Frank La Rue ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกได้ส่งแถลงการณ์ให้รัฐบาลไทยแก้ไขมาตรา 112 และให้ปล่อยนักโทษการเมืองซึ่งถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การมีกฎหมายล้าหลังละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ การกีดกัน การเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม การใช้ดุลยพินิจของศาลที่ใช้บทลงโทษรุนแรง ทำให้นานาชาติดูถูกประเทศไทยว่ายังป่าเถื่อน ล้าหลัง

มาตรา 112 คือ การต่อสู้ระหว่าง
เหตุผลกับความไม่มีเหตุผล


การรณรงค์เรียกร้องให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 เป็นเรื่องของอุดมการณ์และข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนหลักของเหตุผล ที่ต้องการเห็นสังคมไทยก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่แบบที่กลุ่มคลั่งเจ้าหลอกตัวเองไปวันๆ โดยดัดจริตนิยามประเทศตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อในก็เป็นเผด็จการแท้ๆ
ขณะที่ฝ่ายคลั่งเจ้าต้องการชี้นำสังคมในประเด็นเรื่อง 112 อย่างโง่เขลาและไร้เดียงสา ที่ต้องการปกป้องความคิดและอุดมการณ์แบบเก่า ที่เอาแต่อ้างการปกป้องสถาบันกษัตริย์แบบลอยๆ ทั้งๆที่การเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 เป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง  


พวกคลั่งเจ้าพยายามใช้วาทกรรมเดิมๆ ในการลดความน่าเชื่อถือของพวกที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยการด่าทอว่าไม่ใช่คนไทย ไม่รักพ่อ ไม่มีความเป็นไทย  เป็นทาสรับใช้คุณทักษิณ ถูกจ้างโดยคุณทักษิณ เป็นทาสฝรั่ง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และองค์การสหประชาชาติ ไม่สำนึกบุญคุณแผ่นดิน ไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์ไทยในอดีตที่ทรงรักษาเอกราชของไทยเพื่อให้ลูกหลานได้มีเสรีภาพเยี่ยงทุกวันนี้  ไปจนถึงการถูกกล่าวหาว่าต้องการทำลายสถาบันและล้มเจ้า แต่ไม่สามารถหาเหตุผลมาให้การสนับสนุนความคิดเห็นของตนได้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา
การต่อสู้กับกลุ่มที่ขาดความเคารพต่อเหตุผลเป็นเหมือนการต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย เพราะกลุ่มผู้ก่อการร้ายมักไม่ใช้เหตุผลในการกระทำการหนึ่งๆ นอกไปจากความต้องการเห็นฝ่ายตรงข้ามต้องเจ็บปวดและพ่ายแพ้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถคาดหวังกลุ่มที่ออกมาต่อต้านการแก้ไขมาตรา
112 ว่าจะหาวิธีกล่าวหากลั่นแกล้งหรือใช้มาตรา 112 ลงโทษผู้คิดต่างทางการเมือง ในความเป็นจริง การเรียกกลุ่มคลั่งเจ้าที่ไร้เหตุผลว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายก็ไม่น่าจะผิดนัก เพราะสิ่งที่กลุ่มคลั่งเจ้ากำลังทำอยู่ คือใช้มาตรา 112เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ก็เท่ากับได้ก่อการร้ายต่อสถาบันกษัตริย์ ยิ่งใช้สถาบันเป็นตัวประกันทางการเมืองมากเท่าไร ก็เท่ากับทำร้ายสถาบันมากเท่านั้น

การอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ที่ว่ากษัตริย์นั้นเป็นที่เคารพสักการะอยู่เหนือการติชมการหมิ่นประมาท แล้วจะอ้างข้อแก้ตัวตามที่บัญญัติสำหรับคนธรรมดาหาได้ไม่ รวมทั้งการกล่าวอ้างว่ารัชทายาทและราชินีนั้นเป็นเครื่องประกอบสำคัญ การตีความแบบนี้ทำให้ไม่สามารถนำเอาเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษได้ เป็นการตีความที่เกินตัวบท ดังนั้นหากบุคคลธรรมดาตีความอย่างไร การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็ต้องตีความอย่างเดียวกัน


ความเข้าใจแบบนี้ ทำให้เกิดการตีความอย่างกว้างและบิดเบือนตัวบท ตัวอย่างคำพิพากษา จ.นครสวรรค์ อัยการบรรยายฟ้องว่าการหมิ่นพระเทพ ผิดตาม 112 ขณะที่ตัวบทคุ้มครอง กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ โดยศาลชั้นต้น ขยายความคุ้มครองไปถึงพระบรมวงศ์ที่อาจสืบสันตติวงศ์ โดยระบุว่ารัชทายาทแห่งบทบัญญัติมาตรา 112 หมายรวมถึงพระราชโอรส พระราชธิดา ที่อาจสืบสันตติวงศ์ แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยเห็นว่าพระเทพ นั้นไม่ใช่รัชทายาทตามมาตรา 112 เพราะตามกฎมณเฑียรบาลมีตำแหน่งเดียวคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช น่าสงสัยว่าผู้พิพากษาตีความกฎหมายในระบอบการปกครองใด ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การตีความมีเกณฑ์ ผู้พิพากษาจะเอาทัศนะต่างระบอบกันมาตีความไม่ได้ การตีความต้องชัดเจนว่าตำแหน่งกษัตริย์คือหมายถึงกษัตริย์พระองค์ปัจจุบันเท่านั้น ดังนั้นการคุ้มครองจึงต้องเป็นกษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐไม่ใช่ในฐานะพระเจ้าอยู่หัวแบบในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ประเด็นเรื่องความมั่นคงนั้นต้องเกี่ยวข้องกับการมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของรัฐ คือนิติรัฐนั่นเอง

ข้อโต้แย้งที่ว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรมหรือขนบธรรมเนียมเป็นพิเศษ แต่ในเรื่องคุณค่าสากล ก็ไม่ควรจะเอาลักษณะเฉพาะไปอ้างให้มีการกดขี่ ลักษณะเฉพาะเช่นนั้นไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีที่จะเอามาอ้างเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ การปกป้องกษัตริย์ควรปกป้องด้วยความจริง เพื่อให้สถาบันอยู่กับประเทศไปได้อย่างยาวนาน กษัตริย์เป็นผู้แทนรัฐ แต่ไม่สามารถเป็นตัวแทนปวงชนได้ เพราะการใช้อำนาจอธิปไตยคือ ประชาชนใช้อำนาจโดยตรง หรือใช้อำนาจผ่านองค์กรรัฐ การใช้อำนาจโดยตรงคือการเลือกตั้งและการลงประชามติ การเลือกตั้งจึงสำคัญเพราะเป็นวันที่เจ้าของอำนาจใช้อำนาจของตนเอง องค์กรนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารนั้นจะมีความชอบธรรมเพราะเชื่อมโยงกับประชาชน ส่วนองค์กรตุลาการนั้นมีปัญหาความเชื่อมโยงกับประชาชน

มีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีกฎหมายพิเศษที่ต้องคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ในฐานะที่เป็นประมุขเพราะเป็นบรรทัดฐานทางสากลที่มีในประเทศอื่น แต่ประเทศอื่นๆ เขาไม่ได้มีกษัตริย์แบบประเทศไทย ที่มีการอนุญาตให้กษัตริย์พูดสดในที่สาธารณะออกทีวี สามารถควบคุมทรัพย์สินของรัฐเป็นหมื่นๆล้านบาท  และมีรายการโฆษณาด้านดีเพียงด้านเดียวของสถาบันกษัตริย์ การอ้างว่าประมุขต้องได้รับความคุ้มครองมากกว่าปกติซึ่งไม่จริงเสมอไป ต้องใช้บรรทัดฐานเดียวกับประชาชนทั่วไป รวมทั้งประมุขของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ

.................

ไม่มีความคิดเห็น: