วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

ตำนานรวมชุด 0902 : เจ้าอยู่หัวหรือหัวหน้าโจร Medley 0902

ฟังเสียงพร้อมดนตรีประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/f7SFI6Sg/Medley_Royal_Legend_0902_.html 
หรือที่ : http://www.mediafire.com/?cnmomcaw6g8p8kv
....................


ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ปกครองโดยพระเจ้าและเป็นถึงพระเจ้าอยู่หัวเลยทีเดียว แล้วก็สืบทอดความเป็นพระเจ้าชนิดผูกขาดมากว่าสองร้อยปีแล้ว ตั้งแต่พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งดูยิ่งใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าเสียอีก พวกขุนนางจอมสอพลอ ยังต้องค้นคิดภาษาพูดที่ผิดไปจากมนุษย์ทั่วไป เช่น คำว่า ข้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งแปลว่าประชาชนเป็นแค่ไพร่ทาสเสมือนฝุ่นใต้อุ้งเท้ากษัตริย์ ซึ่งคงจะแย่มากเพราะลำพังการเป็นแค่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็ลำบากมากอยู่แล้ว

ระบอบประชาธิปไตยของไทย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีอำนาจเหนือรัฐบาล ประชาชนไม่มีศักดิ์ศรี และยินดีเป็นแค่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ไม่มีความเสมอภาคทางสังคม มีการโฆษณาชวนเชื่อมานาน โดยที่ไม่มีใครกล้าต่อต้านและคัดค้าน หรือวิจารณ์ เพราะเป็นเรื่องผิดกฏหมาย สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เลยได้ใจ ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เปิดโอกาสให้กลุ่มอำมาตย์พัฒนาระบอบกษัตริย์ขึ้นมา จนกลายเป็นเทพเจ้าอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้

การโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพ คือการโฆษณาที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย จากการเป็นอภิสิทธิ์ชนไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์และหน่วยงานแห่งรัฐ ตลอดจนองค์กรเอกชน บริษัทห้างร้าน ต้องมีภาพในหลวง-ราชินี ติดทั่วประเทศ จนกลายเป็นกระแสนิยมของสังคม การถ่ายทอดข่าวในพระราชสำนักทุกวัน หนังสือพิมพ์ทุกฉบับสื่อทุกสื่อ ต้องรายงานสรรเสริญสดุดีพระเกียรติยศพระเกียรติคุณ

ราชวงค์ทุกพระองค์เมื่ออยู่ในวัยเรียน จะผูกขาดกับคำว่าเกียรตินิยม หรือแม้แต่การออกไปกินอาหารนอกวังสักมื้อ ก็จะต้องเป็นภาระของตำรวจในหลายท้องที่ ต้องทำหน้าที่อำนวยความสดวกตลอดเส้นทาง ทำให้การจารจรติดขัดมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอภิสิทธ์ชน ที่ผูกขาดตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงผลประโยชน์ระดับชาติ การยกกษัตริย์ขึ้นสูงเหนือพระเจ้า เป็นการแสดงถึงความไม่เข้าใจ เพราะกษัตริย์เป็นตำแหน่งที่สูงสุดในระดับประเทศเท่านั้น แต่พระเจ้าเป็นตำแหน่งสูงสุดในระดับโลก ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลย

ไม่เคยมีประเทศอื่นใดสถาปนากษัตริย์ขึ้นเป็นพระเจ้า อินเดียเรียกกษัตริย์ ว่าราชา จีนเรียกว่า หวังตี้ (ฮ่องเต้) ส่วนฝรั่งเรียกว่า คิง ตำแหน่งกษัตริย์และพระเจ้ามีที่มาที่แตกต่างกันลิบลับ การที่จะเป็นพระเจ้าได้นั้นต้องผ่านการบำเพ็ญภาวนา สร้างคุณงามความดี ปราศจากความมัวหมองทั้งปวงจนเป็นผู้บริสุทธิ์ และได้รับการเคารพนับถือ ยกย่องให้เป็นผู้ที่อยู่เหนือมนุษย์ทั้งปวง ด้วยความศรัทธาอย่างพร้อมใจโดยปราศจากข้อโต้แย้ง ซึ่งไกลเกินกว่าที่ใครก็ตามจะบังอาจอ้างตัวเองว่าเป็นพระเจ้า

ตำแหน่งกษัตริย์จากอดีตถึงปัจจุบันล้วนมีที่มาจากความรุนแรงทั้งสิ้น การแก่งแย่งช่วงชิงมีมาโดยตลอด มีการเสียเลือดเสียเนื้อ มากบ้างน้อยบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งกษัตริย์ พอหมดยุคแผ่อิทธิพลและการล่าเมืองขึ้น บทบาทกษัตริย์ที่จะยกทัพไปปล้นหรือตีเมืองขึ้นจึงไม่มี สถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศจึงยินยอมถอยห่างเปิดโอกาสให้มีการเลือกคนที่มีความสามารถขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศแทน ที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยอย่างเช่นประเทศอังกฤษและญี่ปุ่น แล้วรัฐบาลก็จัดสรรงบประมาณเลี้ยงดูกษัตริย์และราชวงค์ให้อยู่ดีมีสุขเป็นการตอบแทน ความเป็นมาของกษัตริย์ก็มีเพียงเท่านี้เอง ไม่มีกษัตริย์ที่เป็นผู้วิเศษเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สักการะบูชา ซึ่งเป็นแค่เรื่องโฆษณาหลอกลวงอีกต่อไป

ความชอบธรรมของกษัตริย์ไทย
ในฐานะประมุขของประเทศ


สถาบันกษัตริย์ในโลกตะวันตก ได้มีการปรับเปลี่ยนตนเองให้สอดรับกับระบอบใหม่ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ที่กำหนดสถานะของพระมหากษัตริย์ และมีหลักการห้ามฟ้องร้องกษัตริย์ ซึ่งไม่ได้ความว่ากษัตริย์ทำอะไรผิดไม่ได้ แต่การแสดงเจตนาของพระองค์ในทางกฎหมายจะมีผลได้ ก็ต้องมีคนลงนามสนองพระบรมราชโองการ ความรับผิดทั้งหลายทั้งปวงจึงไปอยู่ที่คนลงนามรับสนอง ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำการโดยพระองค์เองแล้ว การกระทำนั้นย่อมไม่มีผลในทางกฎหมาย ในที่สุดพระมหากษัตริย์ ก็ต้องทรงยอมปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี หรือมิฉะนั้นก็ต้องสละราชสมบัติ เพราะการไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ย่อมเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ และอาจถูกกล่าวหาว่ามิได้ทรงวางตนเป็นกลางแต่ไปเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายค้าน

หลักการมิต้องรับผิด รวมถึง พระราชดำรัสทางสื่อสาธารณะ โดยต้องทรงกระทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกษัตริย์จะไม่ทรงรับสั่งกับทูตานุทูต หรือข้าราชการอื่นใด โดยมิได้กระทำต่อหน้ารัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งจะไม่ทรงปรึกษากับหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นอันขาด ประเทศประชาธิปไตย จะไม่อนุญาตให้ประมุขรัฐที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พูดอะไรด้วยตัวเองต่อสาธารณะได้ เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิการเมืองขั้นพื้นฐานของประชาชนซึ่งมีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์ ตรวจสอบ กระทั่งรณรงค์ และ ลงมติให้ออกหรือขับไล่ผู้มีตำแหน่งสาธารณะ ที่ทำอะไรไม่เป็นที่พอใจได้

การเข้าสู่ตำแหน่ง พระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญแต่เดิมมาให้การขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์เป็นไปโดยความเห็นชอบของรัฐสภา คือสิทธิในการขึ้นครองราชย์เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล แต่จะได้ขึ้นครองราชย์หรือไม่อยู่ที่ความเห็นชอบของรัฐสภา หลักเกณฑ์นี้เปลี่ยนแปลงไปในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2534 คือการตั้งองค์รัชทายาทไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐสภาเพียงแต่รับทราบการจะขึ้นครองราชย์เท่านั้น และให้การแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ

ทั้งๆที่การสืบราชบัลลังก์ไม่ใช่เรื่องส่วนพระองค์อย่างแน่นอน เพราะผู้ที่เป็นพระมหากษัตริย์ มีฐานะเป็นประมุขของรัฐ และจะทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล เป็นเรื่องสาธารณะที่สำคัญอย่างยิ่ง และในระบอบประชาธิปไตยจะไม่ให้กษัตริย์สามารถทำอะไรด้วยพระองค์เองโดยเด็ดขาด อย่างเช่นในระบอบสมบูรณาญาสิทธราช โดยเฉพาะในแง่นิติบัญญัติ การตราและแก้ไขกฎหมายต่างๆย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของสภา ไม่ใช่ของพระมหากษัตริย์
แต่รัฐธรรมนูญของไทยกลับมอบอำนาจในการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ให้กับองค์พระมหากษัตริย์โดยเด็ดขาด รัฐสภามีหน้าที่เพียงรับทราบ ข้อกำหนดเช่นนี้ย่อม ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล
และยังให้อำนาจพระมหากษัตริย์ทรงตั้งรัชทายาท และเมื่อราชบัลลังก์ว่างลง ก็เพียงแต่เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบเท่านั้น ว่าพระมหากษัตริย์องค์ก่อนทรงกำหนดให้ใครเป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระองค์ รัฐสภาไม่ต้องให้ความเห็นชอบ เท่ากับ เป็นการมอบอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราช แก่พระมหากษัตริย์ในการกำหนดรัชทายาทโดยสิ้นเชิง เฉพาะกรณีที่ไม่ได้ทรงกำหนดรัชทายาทไว้ก่อน รัฐสภาจึงจะมีสิทธิ์ให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ แต่กรณีนี้ไม่มีความหมายอะไรในปัจจุบัน เพราะทรงแต่งตั้งรัชทายาทแล้ว
ทั้งๆที่การเลือกพระมหากษัตริย์ครั้งแรกหลัง 2475 คือ การที่รัฐสภาเลือกพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 8 นั้น ซึ่งไม่ได้รับเสียงเป็นเอกฉันท์จากรัฐสภาโดยมีผู้อภิปรายและลงคะแนนไม่เห็นด้วย 2 เสียง เป็นอำนาจในการกำหนดประมุขรัฐโดยองค์กรที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ซึ่งเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย คำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย จึงมีลักษณะเป็นคำเฉพาะที่มีลักษณะขัดแย้งกัน คือไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ที่ประมุขแห่งรัฐบังเอิญเป็นกษัตริย์ แต่เป็นระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบการปกครองอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป คือ “ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ” ที่เคยเป็นในสมัยหลังรัฐประหาร 2502 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รวมทั้งการแอบอ้างหลักการปกครองแบบพ่อปกครองลูก เพื่อทำให้ประชาชนไทยยอมจำนนสยบราบคาบต่อไป

พระมหากษัตริย์ทรงเถลิงราชย์ด้วยการสืบสันตติวงศ์ การที่จะบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมาก เหมือนประมุขที่มาจากการเลือกตั้งย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และจะทำให้ทรงอยู่ในขอบข่ายของการถูกวิจารณ์ พระมหากษัตริย์จึงต้องมีอำนาจน้อยกว่าสภาผู้แทนราษฎรเพราะทรงมีอำนาจเพียงแค่ทำให้รัฐกิจเป็นไปตามเจตจำนงของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งฝ่ายเสียงข้างมากเท่านั้น คือบัญญัติอำนาจให้กับกษัตริย์ต้องชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย

ประเทศสวีเดนมีรัฐธรรมนูญให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ โดยเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ตกทอดกันมาทางประวัติศาสตร์เท่านั้น โดยยกเลิกการลงพระปรมาภิไธยและการสนองพระบรมราชโองการ องค์กรผู้ทำหน้าที่ประกาศใช้กฎหมาย คือรัฐบาล ไม่ใช่กษัตริย์ ไม่ต้องมีกระบวนการทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชบัญญัติให้กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ให้ประธานสภาเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เป็นการตัดพระราชอำนาจของกษัตริย์ และให้ยุบองค์กรองคมนตรี หากกษัตริย์พักงานในหน้าที่เกิน 6 เดือน หรือล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ ประธานสภาอาจเสนอให้ที่ประชุมสภาพิจารณาว่าสมควรถอดกษัตริย์ออกจากบัลลังก์หรือไม่ ในกรณีกษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือไม่มีผู้ทำหน้าที่กษัตริย์ ให้สภาเลือกผู้สำเร็จราชการแทนชั่วคราว หากไม่มีผู้ใดได้รับความเห็นชอบ ก็ให้ประธานสภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน โดยปัจจุบันกษัตริย์สวีเดนทำหน้าที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะ เข้าร่วมพิธีการสำคัญ เข้าร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมสภา และเป็นผู้มอบรางวัลโนเบลเท่านั้น

กษัตริย์ กับ ระบอบรัฐซ้อนรัฐ
ปัจจุบันประชาชนไทยทั่วไปได้รู้เห็นแล้วว่า ความวุ่นวายทางการเมือง รวมทั้งขบวนการทำลายระบอบประชาธิปไตยในช่วง 4 ปีมานี้ (รวมการรัฐประหารปี 2549) นั้นได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากวังหรือกษัตริย์นั่นเอง เครือข่ายวังที่ประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ ตุลาการ นักวิชาการ สื่อมวลชน และกลุ่มอันธพาลจัดตั้ง ซึ่งมีกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเคยใช้อำนาจอย่างอำพรางซ่อนเร้นมาในอดีต ได้ประกาศตัวออกมายืนมาอยู่แถวหน้าสุดของขบวนการต่อต้านประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบ ทั้งหลอกลวง ใส่ร้ายป้ายสี และปราบปราม จนไม่อาจปิดบังอำพรางได้อีกต่อไป
กว่า 60 ปี ของการครองราชย์ที่นานที่สุดในโลก กษัตริย์ภูมิพลได้เปิดเผยตัวตน ว่าทรงกระหายอำนาจ ส่งเสริมเผด็จการ และอยู่ตรงข้ามกับผู้รักประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ทั้งๆที่โลกได้เปลี่ยนไปมากแล้ว

กษัตริย์ไทยเป็นแกนกลางที่สร้างระบอบรัฐซ้อนรัฐ ที่ผูกขาดอำนาจต่อเนื่องผ่านเครือข่ายเจ้าและพันธมิตร โดยชักจูงให้สังคมปฏิเสธความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง เพื่อสนับสนุนเผด็จการทหาร สลับด้วยการสนับสนุนประชาธิปไตยจอมปลอมผ่านพรรคการเมือง ที่จงรักภักดีต่อเจ้าให้ขึ้นเป็นรัฐบาลตัวแทนเจ้า เปรียบได้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ ที่มีกษัตริย์เป็นแกนกลางในนามประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่อ้างว่า ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด แต่ละประเทศต่างก็เป็นประชาธิปไตยตามแนวทางของตน เพราะมีสังคม ประเพณีวัฒนธรรมและจริยธรรมที่แตกต่างกัน

อย่างที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารฟาร์อีสเทิร์นอีโคโนมิครีวิว 12 ชั่วโมงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า : “ เราคือราชอาณาจักร คนไทยทั่วไปรักในหลวงมาก ถ้าคุณเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นวันที่ 9 มิถุนายน คุณก็จะเห็นได้ว่าเรารักพระมหากษัตริย์เพียงใด นี่คือสิ่งที่แตกต่างระหว่างประเทศของคุณกับผม ”


ประชาธิปไตยแบบไทยๆ
ของพลเอกเปรม
ก็คือ

1. ประชาธิปไตย ที่องคมนตรีมีอำนาจ แทรกแซงการเมือง ทั้งๆที่ องคมนตรีเป็นเพียงองค์กรที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ซึ่งไม่มีอำนาจทางการเมือง สเปนและญี่ปุ่นก็ไม่มีองคมนตรี ในหลายประเทศ องค์กรที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ในกิจการของวัง ก็คือ สำนักพระราชวังและราชเลขาธิการเท่านั้นเอง แต่รัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในระยะหลังๆ กลับบัญญัติให้มีองคมนตรีเสมอ

และการร่าง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ห้ามแตะต้องบทบัญญัติที่เกี่ยวกับองคมนตรีเป็นอันขาด หากจะแก้ไข ก็ต้องแก้ไปในทางที่เพิ่มอำนาจ ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ องคมนตรีมีบทบาททางการเมืองสูง แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ได้ให้อำนาจทางการเมืองแก่องคมนตรี หากในความเป็นจริง องคมนตรีสามารถเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้เสมอ ในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง รัฐบาลจำเป็นต้องส่งรายชื่อให้องคมนตรีบางคนพิจารณาก่อน นายกรัฐมนตรีต้องเข้าบ้านสี่เสาเทเวศน์เพื่อปรึกษาหารือ ถ้าไม่ปฏิบัติก็อาจถูกมองว่ากระด้างกระเดื่องต่อองคมนตรีและพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ต้องหลุดจากวงการการเมืองไปในที่สุด บารมีขององคมนตรีบางคน โดยเฉพาพลเอกเปรมสำคัญกว่ารัฐธรรมนูญ และเป็นคนที่แตะต้องมิได้ ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พลเอกเปรมประธานองคมนตรีได้เดินสายปาฐกถาทั่วประเทศ ปลุกทหารให้ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเมือง หลังรัฐประหาร พลเอกเปรมนำคณะรัฐประหารเข้าเฝ้าฯในหลวง การแต่งตั้งคณะรัฐบาลโดยคณะรัฐประหาร ก็ต้องผ่านการหารือกับประธานองคมนตรี และยังยืนยันรับรองว่าพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์นายกรัฐมนตรีของคมช.เป็นคนที่ดีที่สุด

2. ประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นได้ เพียงข้าแผ่นดิน ไม่ใช่ พลเมือง
การปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆนั้นสงวนให้กับคนชั้นสูงเท่านั้น และต้องการให้ประชาชนที่เป็นเพียงข้าแผ่นดิน ที่ต้องคอยรับคำสั่งของผู้ปกครอง แม้ไม่เห็นด้วยก็จำต้องอดทน จะลุกขึ้นโต้แย้งแสดงความเห็นต่างไม่ได้ ข้าแผ่นดินที่ดี ต้องเชื่อว่าคนชั้นสูงกระทำแต่สิ่งที่ดี มีความปรารถนาดีให้กับข้าแผ่นดิน สิ่งใดที่ผู้ปกครองคนชั้นสูงสั่งลงมา ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้น หากพวกเขาทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จงรู้ไว้ว่าที่คนชั้นสูงได้ทำลงไป เพราะพิจารณาแล้วว่าถูกต้อง ข้าแผ่นดินจึงไม่ควรมาต่อต้านหรือชุมนุมประท้วง แต่ควรตั้งใจฟังคำสั่งให้ดี จะได้ไม่ต้องย้ำว่า “ โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง

3.ประชา ธิปไตย ที่รัฐบาลเสียงข้างมาก จำต้องประนีประนอมกับพวกคนชั้นสูง รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่ไม่ขวางทางหรือขัดผลประโยชน์ของคนชั้นสูง ต้องไม่แสดงท่าทีก้าวร้าว หรือทำตัวเด่นเกินหน้าเกินตา คือเป็นรัฐบาลที่ไม่มีอะไรโดดเด่น หรือมีผลงานชัดเจน ก็จะช่วยให้มีเสถียรภาพอยู่ได้นานหน่อย แต่รัฐบาลใดที่ดำเนินนโยบายกระทบผลประโยชน์ของคนชั้นสูง ก็จะถูกกำจัด

4.ประชา ธิปไตย ที่เชื่อว่าการเลือกตั้ง ไม่ใช่ตัวชี้ว่าเป็นประชาธิปไตย พวกเขาเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ของจำเป็น เพราะมีแต่กลโกงสกปรก ซื้อสิทธิขายเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกชาวบ้านต่างจังหวัดไร้การศึกษา เลือกใครมาก็สันนิษฐานไว้ก่อนว่าโดนซื้อเสียงแน่ จึงต้องให้บรรดาชนคนชั้นสูงเป็นผู้มีบทบาททางการเมือง ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง หรือเป็นผู้แต่งตั้ง เพราะ พวกเขาเป็นผู้มีคุณธรรม เป็นคนดีมีความรู้ความสามารถมากกว่าประชาชนทั่วไป
นายกรัฐมนตรีคนไหนดีหรือไม่ดี ต้องให้คนชั้นสูงเท่านั้นที่จะเป็นคนกำหนด

5.ประชา ธิปไตย ที่มีกองทัพเป็นผู้พิทักษ์รักษา
กองทัพต้องเป็นผู้พิทักษ์รักษาการเมืองการปกครอง และต้องคอยสอดส่องว่าสถานการณ์การเมืองเป็นเช่นไร มีความขัดแย้งมากขนาดไหน ถึงเวลาที่ควรเข้ามาแก้ไขวิกฤตหรือยัง เมื่อกองทัพเห็นว่าถึงเวลาอันสมควร ก็จะเข้ามาจัดการไล่รัฐบาลออกไปแล้วยึดอำนาจไว้แทน กองทัพมีเหตุผลในการยึดอำนาจเสมอ หากนึกหาเหตุผลไม่ได้ ก็ให้ใช้สองเหตุผลหลัก คือ รัฐบาลมีพฤติกรรมไม่จงรักภักดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ และ รัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น

6.ประชา ธิปไตย ที่ปราศจาก การตรวจสอบ และความรับผิดชอบ เพราะเราต้องเชื่อว่าผู้ปกครองมีคุณธรรมสูงส่ง ต้องเชื่อและไว้ใจในการใช้อำนาจของผู้ปกครอง สิ่งใดที่ผู้ปกครองกระทำ ย่อมถือว่าถูกต้องและดีงามเสมอ เพราะผู้ปกครองมีคุณธรรมสูงอยู่แล้ว ในกรณีที่ผู้ปกครองทำผิดกฎหมายหรือกติกาไปบ้าง ก็อย่าใส่ใจและอย่าเรียกร้องให้รับผิด แม้จะผิดกฎหมายบ้าง แต่คุณธรรมก็อยู่เหนือกฎหมายอยู่ดี การตรวจสอบและความรับผิดชอบไม่ใช่สิ่งจำเป็น และ ผู้ที่จะบอกว่าสิ่งใดเป็นคุณธรรม ก็คือบรรดาผู้ปกครองผู้ทรงคุณธรรมนั่นเอง

พวกเจ้ายังได้สร้างเรื่อง หลอกสังคมไทยให้ย้อนกลับไปเชิดชูพระราชอำนาจ ว่า -หากไม่มีกษัตริย์ ประเทศไทยจะดำรงอยู่ไม่ได้ ประชาชนจะไร้ที่พึ่งพา ทั้งๆที่ประชาชนเป็นฝ่ายอุปถัมถ์เลี้ยงดูกษัตริย์และพระราชวงศ์ -เรียกร้องว่า ความสามัคคีจอมปลอมอยู่เหนือกว่ายุติธรรมของสังคม และแยกชาติออกจากประชาชน โดยอ้างความมั่นคงของชาติอยู่เหนือประชาชน -อ้างว่า รัฐบาลเผด็จการคนดี ที่พวกตนแต่งตั้งย่อมดีกว่ารัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งของประชาชน ทหารและกองทัพ คือผู้พิทักษ์ราชบัลลังก์ และประเทศชาติ และเป็นทหารของพระเจ้าอยู่หัวไม่ใช่ทหารของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน-โฆษณาว่า ในหลวงทำงานหนักเพื่อคนไทย ทั้งๆที่ประชาชนส่วนใหญ่ทำงานหนักกว่าในหลวง อีกทั้งยังต้องเสียภาษีให้กับรัฐ ในขณะที่พวกเจ้าแค่โฆษณาสร้างภาพ และร่ำรวยโดยไม่ต้องเสียภาษี
-เผยแพร่กิจกรรมของราชวงศ์ ผ่านสถานีโทรทัศน์ทุกช่องทุกๆวัน แต่ละครั้งจะมีคนติดตามเป็นจำนวนมาก มีค่าใช้จ่ายที่แพง ถ้าคนพวกนี้ฉลาด และต้องการทำงานเพื่อสังคมจริง ก็ควรรู้จักประหยัด เพราะพวกเขาเอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้จ่าย การเดินทางของคนพวกนี้ ก็ไม่ควรจะมีอภิสิทธิ์กว่าคนอื่น เช่น การปิดถนน ห้ามคนเดินข้ามสะพานลอย คนป่วย คนจะคลอดลูก คนที่มีธุระสำคัญต้องเสียเวลาไปกับขบวนเสด็จมากเกินไป สถาบันที่มีประโยชน์ต่อประเทศไม่ควรทำตัวแบบนี้ การติดรูปราชวงศ์ในที่ต่างๆมากมายทั่วประเทศ ทำไปเพื่ออะไร กลัวคนจะจำไม่ได้หรือ น่าจะใช้ประชาสัมพันธ์สิ่งที่มีสาระประโยชน์ต่อประชาชนจะดีกว่า

-มีการอวดอ้างแสดงความจงรักภักดี ที่ไม่มีประโยชน์ หรือแก้ปัญหาอะไรได้ และใช้ความเชื่อเก่าๆ ว่ากษัตริย์ต้องดำรงอยู่คู่สังคมไทย แถมมีการปลุกระดมให้มวลชนบ้าคลั่ง กระหายเลือดไล่ฆ่า ไล่ทำร้ายคน ตามท้องถนน ยึดทำเนียบรัฐบาล ปิดสนามบิน โดยไม่คำนึงถึงคนที่เดือดร้อน คนต้องตกงานเป็นแสน โดยข้ออ้างของความจงรักภักดีซึ่งเป็นข้ออ้างหลักของพวกทำลายประชาธิปไตยตลอดมา

-อ้างว่าสถาบันกษัตริย์มีบุญคุณกับคนไทย เพราะทำให้ไทยเป็นเอกราช ไม่ตกเป็นทาสเป็นเมืองขึ้นพม่า แต่ความจริงผู้ที่กอบกู้เอกราชของชาติจากพม่า คือ พระเจ้าตากสิน มหาราช ต่อมาถูกพระยาจักรี ยึดอำนาจ เมื่อ 6 เมษายน 2325 แล้วสถาปนาราชวงศ์จักรีมาจนถึงทุกวันนี้

และไทยเกือบเสียเอกราชอีกครั้ง ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่นายปรีดี พนมยงค์ นำประเทศไทยรอดพ้นสภาพการตกเป็นเมืองขึ้น หรือประเทศที่แพ้สงคราม โดยจัดตั้งขบวนการเสรีไทย แต่ต่อมานายปรีดีถูกกลุ่มนิยมเจ้าใส่ความกรณีสวรรคตของรัชกาล 8 ต้องลี้ภัยไปถึงแก่อสัญกรรมในต่างประเทศ-อ้างว่าสถาบันกษัตริย์มีบุญคุณต่อคนไทยอย่างใหญ่หลวง ในหลวงมีโครงการพระราชดำริมากมาย ช่วยคนไทยให้พ้นความลำบากยากจน
ความจริงก็คือ โครงการพระราชดำริไม่ได้ใช้เงินส่วนพระองค์ของในหลวง แต่เป็นหน่วยงานราชการคือ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. ใช้เงินงบประมาณของประชาชนดำเนินงาน
-อ้างว่าในหลวงเป็นแบบอย่างความพอเพียง คนไทยต้องเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท
ความจริงก็คือ นิตยสารฟอร์บได้จัดอันดับให้รัชกาลที่ 9 เป็นกษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลก เหนือกว่าสุลต่านบรูไนและกษัตริย์ของอาหรับที่มีบ่อน้ำมัน ส่วนสำนักข่าวบลูมเบอร์กได้จัดให้ในหลวงเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ในตลาดหุ้นไทย

ในด้านราชยานพาหนะนั้น ในหลวงและสถาบันไม่ได้มีเฉพาะโตโยต้าโซลูน่าคันเล็กๆ แต่ยังรวมถึง รถยนต์มายบั๊คคันละ 75 ล้านบาท ไม่น้อยกว่าสี่คัน และเครื่องบินอีกหลายลำ ซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดินจัดซื้อ และจัดซ่อมบำรุงทั้งสิ้น

-อ้างว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นของชาติ ไม่ใช่ของส่วนพระองค์ และเสียภาษีถูกต้องครบถ้วน ความจริงคือรายได้ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ให้นำทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงใช้จ่ายตามพระราชอัธยาศัย
-แอบอ้างว่าคนไทยต้องสำนึกในบุญคุณของในหลวงและสถาบัน เพราะท่านทำเพื่อคนไทยอย่างไม่เห็นแก่เหนื่อยยาก ความจริงคือมีการจัดสรรงบประมาณถวายแด่สถาบันเพื่อให้ได้รับความสะดวก ปีละไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท ยังไม่นับรวมกับที่อยู่ในหน่วยงานกระทรวง ทบวง กรม กองทัพต่างๆอีก ปีละไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท

ระบอบรัฐซ้อนรัฐของเครือข่ายเจ้า ที่ยึดอำนาจเหนือการเมืองไทย ทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก กษัตริย์และเครือข่ายเจ้าต้องการครอบงำสังคมและรัฐไทยอย่างเบ็ดเสร็จ โดยยังคงดื้อรั้น ไม่ยอมพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าคณะราษฎรจะทำการปฏิวัติผ่านไปแล้วกว่า 70 ปีแต่ก็ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ เพราะกษัตริย์และเครือข่ายเจ้าได้ยึดกุมอำนาจในทุกๆด้านไว้อย่างเหนียวแน่น


ทำไมต้องจงรักภักดี
ในระบบประชาธิปไตย การมีประมุขไม่ว่าจะเป็นกษัตรย์หรือประธานาธิบดี ไม่ได้แปลว่า พลเมืองจะต้องจงรักภักดีต่อประมุขแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ประมุขจะต้องจงรักภักดีต่อประชาชนผู้เป็นพลเมือง เพราะในระบบประชาธิปไตยประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุด ในกรณีที่ประเทศมีระบบประธานาธิบดีประมุขจะต้องได้รับการเลือกมาจากประชาชน ประชาชนจึงเป็นเจ้านายของประธานาธิบดี ในกรณีที่คนส่วนใหญ่อยากมีประมุขเป็นกษัตริย์ กษัตริย์จะต้องรับใช้ประชาชนและจะต้องสะท้อนความคิดของประชาชน จึงจะเป็นศูนย์รวมของชาติได้ กษัตริย์ต้องสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ถ้ากษัตริย์เข้าข้างคนส่วนน้อยที่มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตย ต้องถือว่ากษัตริย์ละเมิดอำนาจของประชาชน

ทำไมต้องบังคับให้ประชาชนต้องจงรักภักดี ต่อคนๆหนึ่ง ที่บังเอิญเกิดมา ในตระกูลหนึ่ง ทำไมสถาบันกษัตริย์ จึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
และยัดเยียดว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เคียงข้างสังคมไทย มาตั้งแต่มีโลกมนุษย์ และได้ทำให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขเสมอมาซึ่งเป็นเรื่องโกหก
เพียงเพื่อให้พลเมืองกลายเป็นไพร่ วิกฤติเศรษฐกิจที่นำไปสู่การปฏิวัติ 2475 และเผด็จการทหารที่ครองเมืองมานาน พร้อมกับการโกงกินมหาศาล หรือวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้น ได้ชี้ให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์ไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขให้กับประชาชน แถมยังทำตัวเป็นอุปสรรคและเอาเปรียบสังคม เพราะกษัตริย์ไม่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ห้ามคนที่เอาเปรียบประชาชน และเครือข่ายเจ้าใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อประโยชน์ส่วนตน ทั้งๆที่ตนร่ำรวยมากมายอยู่แล้ว

กษัตริย์พระองค์นี้เติบโตมากับเผด็จการโกงกิน สฤษดิ์ ถนอม ประภาส
กษัตริย์พระองค์นี้ปล่อยให้คนบริสุทธิ์ถูกประหารชีวิตในคดีสวรรคต รัชกาลที่ 8
กษัตริย์พระองค์นี้สนับสนุนเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 เพราะทรงมองว่ายุคนั้นไทยมีประชาธิปไตยมากเกินไป และทรงอุปถัมภ์อันธพาลลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล และตชด.ที่บุกเข้าเข่นฆ่านักศึกษาและประชาชนในธรรมศาสตร์

กษัตริย์พระองค์นี้ปล่อย ให้ คปค.ทำรัฐประหาร 19 กันยา 2549 และปล่อยให้ประชาธิปไตยของเราถูกปล้นไป โดยทหาร พันธมิตรฯเสื้อเหลือง และพรรคประชาธิปัตย์ ในนามของกษัตริย์


เห็นได้ชัดจากการที่พระราชินี เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ไปพระราชทานเพลิงศพน้องโบว์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551 โดยมีพระราชเสาวนีย์กับผู้เป็นพ่อของน้องโบว์ว่า “ ลูกสาวเป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ” และพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความแล้ว และเงินช่วยเหลือที่พระราชินีได้พระราชทานในครั้งนี้นั้น เป็นเงินพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัว เป็นหลักฐานยืนยันว่า กษัตริย์พระองค์นี้ ทรงสนับสนุนพวกอันธพาล ที่บ่อนทำลายและล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ประเทศไทย
ควรมีประมุขแบบใหน

กษัตริย์ไทยมีหน้าที่ต้องปกป้องประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ไม่ใช่ออกมาสนับสนุนการฉีกรัฐธรรมนูญ การทำรัฐประหาร และการทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หรือการรวมตัวกันอย่างสันติ เพราะนั่นไม่ใช่กรอบของประชาธิปไตย กษัตริย์ไทยไม่ได้ปกป้องระบอบประชาธิปไตยจากการทำรัฐประหาร ที่ฉีกรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 กันยายน 2549 และทรงสนับสนุนคณะทหารที่ละเลยหน้าที่ของตนเอง และละเมิดกฎหมาย และรัฐธรรมนูญปี 2540

คณะทหารที่ยึดอำนาจ และทำลายประชาธิปไตย ได้อ้างอิงความชอบธรรมจากกษัตริย์ เช่นการเสนอพระบรมฉายาลักษณ์ในจอโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องในวันแรกๆ การผูกโบสีเหลือง การไปเข้าเฝ้า และการที่ให้ผู้แทนของกษัตริย์ไปเปิดสภาเผด็จการที่ทหารแต่งตั้ง ประชาชนไทยควรได้รับรู้ข้อมูลและความจริง เพื่อความชัดเจน และเพื่อให้สังคมได้ตรวจสอบทุกองค์กรและสถาบันสำคัญๆ ในสังคม

ประชาชนไทยเราต้องการประมุขที่กล้าปกป้องสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย หรือเราต้องการประมุขที่สนับสนุนการทำลายประชาธิปไตยโดยทหาร ประชาชนไทยต้องการมีประมุขที่เป็นกษัตริย์ เพื่อให้มีบทบาทหน้าที่จำกัด ที่เน้นพิธีกรรม และอยู่ใต้กฎหมายในระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่

เมื่อมีกฎหมายบังคับให้มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของผู้ที่ดำรงตำแหน่งสาธารณะ หรือการบังคับให้คุณทักษิณและลูกหลานจ่ายภาษี ก็ต้องบังคับใช้กับทุกคนรวมถึงกษัตริย์ และพระราชวงศ์ ซึ่งต้องเปิดเผย และควรมีการเก็บภาษีเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป จึงจะนำไปสู่การรณรงค์ให้ทุกฝ่ายรู้จักความพอเพียง

ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระมหากษัตริย์จะแสดงบทบาททางการเมืองใดๆมิได้ พระมหากษัตริย์จึงเป็นสัญลักษณ์ที่แท้จริงของประเทศ ถ้ากษัตริย์ลงมาใช้อำนาจแทรกแซง ก็เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การเรียกร้องให้กษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจแบบรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ถือว่าเป็นการเรียกร้องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้กลับคืนมา
สถาบันกษัตริย์ ยังใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการโค่นล้มรัฐบาลด้วยการทำรัฐประหาร แล้วรุกคืบใช้องค์กรอำนาจตุลาการ ร่วมมือกับกองทัพ แต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นมา เขียนกฏหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนของตนเข้าไปยึดครองอำนาจนิติบัญญัติ และแต่งตั้งพวกพ้องตนเองเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์อิสระต่างๆทำหน้าที่ทำลายพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีคุณภาพ เพื่อให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองพรรคใดชนะการเลือกตั้ง ครองเสียงข้างมาก

ตราบเท่าที่เรายังยินยอมให้กษัตริย์เป็นประมุขที่มีอำนาจเหนือประชาชน ประชาชนก็จะไม่มีสิทธิและเสรีภาพ เพราะเพียงแค่กฏหมายหมิ่นฯเพียงฉบับเดียว ก็สามารถกดหัวคนไทยทั้งประเทศให้กลายเป็นใบ้ไปทั้งหมด ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่มีความเสมอภาค เป็นได้แค่ไพร่ทาส และยังถูกสอนแกมบังคับให้ยอมรับว่าทุกคนเกิดมาต้องเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน การแอบอ้างว่าปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั้นมีเนื้อหาสาระที่แท้จริงคือ การปกป้องสถาบันกษัตริย์เพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตย เพราะ ถ้าอ้างประชาธิปไตย ก็ต้องยอมรับเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค

กษัตริย์พระองค์นี้ จึงเป็นตัวแทนของระบอบเผด็จการล้าหลัง ที่คอยบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย มาโดยตลอด ประชาชนชนไทยจึงต้องเลือกระหว่าง ระบอบเผด็จการที่มีพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้า หรือระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนไทยเป็นเจ้าของประเทศ อย่างแท้จริง ทางอื่นนอกจากนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก เมื่อประเมินจากพฤติกรรมของพระเจ้าอยู่หัวตลอดระยะเวลา ไม่ต่ำกว่า 50 ปีที่ผ่านมา

พระมหากษัตริย์ต้องเป็น
ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ


รัฐธรรมนูญของบางประเทศที่ปกครองเเบบมีพระมหากษัตริย์ ได้บัญญัติ ให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือให้พระมหากษัตริย์ต้องปฎิญาณตน ก่อนเสวยราชสมบัติ ว่าจะปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงการเคารพ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญของกัมพูชาและบาร์เรนบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน การที่กษัตริย์ปฎิเสธที่จะลงพระปรมาภิไธยหากมีการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการปฎิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งพระองค์ได้ให้สัตย์ปฎิญาณเเล้ว ว่าจะทรงรักษา หรือปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เเละปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยใช้การสละราชย์สมบัติ เป็นวิธีการจัดการกับพวกที่จะมาล้มล้างรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญที่มีกษัตริย์มักจะบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ดำรงตำเเหน่งเป็นจอมทัพด้วย ซึ่งพระองค์สามารถใช้ตำเเหน่งนี้ สั่งให้พวกรัฐประหารกลับเข้ากรมกอง อย่างที่กษัตริย์ ฆวน คาร์ลอส ของประเทศสเปนเคยทำมาเเล้ว
หลังปฎิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ได้ไม่นาน รัชกาลที่ 7 ทรงเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะบัญญัติให้พระมหากษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นราชประเพณีอยู่แล้ว แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนเห็นว่า รัฐธรรมนูญควรบัญญัติให้กษัตริย์ต้องปฎิญาณตน มีการลงมติด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 7 ของสภา มีมติไม่ต้องบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ปฎิญาณว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญของไทยจึงไม่เคยมีบทบัญญัติเรื่องนี้อีกเลย แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 และ รัฐธรรมนูญฉบับคมช. รับรองว่าประชาชนมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีประโยชน์ในทางปฏิบัติ เพราะรัฐประหาร 19 กันยายนเป็นเครื่องยืนยันว่าประชาชนไม่สามารถอ้างสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ 2540 ได้

พื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยถือว่าพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพโดยธรรมชาติอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญมีขึ้นเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับสิทธิเสรีภาพที่พลเมืองมีโดยกำเนิดอยู่แล้ว เป้าหมายของรัฐธรรมนูญคือ การสร้างหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพพลเมือง โดยบทบัญญัติทางกฎหมาย พลเมืองไม่ได้มีหน้าที่ต้องเชื่อฟัง และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะพลเมืองจะมีหน้าปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญได้ให้หลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพแก่พลเมือง สิทธิเสรีภาพพลเมืองจึงเป็นเส้นแบ่งการเมืองสมัยใหม่ หรือระบอบประชาธิปไตยกับการเมืองระบอบเผด็จการแบบโบราณ การปกครองโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสำหรับปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง

เมื่อฆวน คาร์ลอส
(Juan Carlos I)

กษัตริย์สเปนปฏิเสธการรัฐประหาร


ทหารสเปนกลุ่มหนึ่งที่ยังภักดีต่อระบอบทหารฟรังโก ได้ก่อการรัฐประหาร วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2524 ในขณะที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่กำลังแถลงนโยบายต่อสภา โดยมีการถ่ายทอดสดออกทางโทรทัศน์ กองกำลังทหารราว 200 นาย ได้เข้ายึดสภาผู้แทนราษฎร ใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าและสั่งให้ผู้ที่อยู่ในสภาหมอบลงกับพื้น เพื่อยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อความสมานฉันท์ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้นำกองกำลังออกมาบนท้องถนน และประกาศกฎอัยการศึก แถลงว่ากำลังจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวภายใต้การสนับสนุนของกษัตริย์

ตีหนึ่งของวันถัดไป กษัตริย์ฆวน คาร์ลอส ตัดสินใจแถลง ผ่านโทรทัศน์และวิทยุ ไม่สนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้ และเรียกร้องให้กองทัพ และประชาชนร่วมมือกันปกป้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ทรงยืนยันว่าทหารมีหน้าที่ป้องกันรัฐบาลที่ชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย อย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น เมื่อขาดแรงสนับสนุนจากกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส การรัฐประหารก็ไม่สำเร็จ บรรดาผู้เข้าร่วมกลายเป็นกบฏโดนลงโทษจำคุก โดยเฉพาะแกนนำ ถูกศาลตัดสินจำคุก 30 ปี

เป็นอันว่า กษัตริย์ฆวน คาร์ลอส ได้ปลดปล่อยประชาธิปไตยสเปนให้พ้นจากการครอบงำของกองทัพพร้อมกับสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันกษัตริย์พระองค์ได้รับข้อเสนอ และมีโอกาสเผด็จอำนาจหรือมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่กลับทรงปฏิเสธ เพราะทรงตระหนักว่าไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ การดื้อรั้นดันทุรังใช้แนวทางเดิมๆโดยไม่รู้จักปรับตัวเข้ากับยุคสมัยย่อมมีแต่จะล้าหลังไม่พัฒนา หากปล่อยให้มีการรัฐประหาร ก็เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญที่ประชาชนลงมติเห็นชอบต้องถูกทำลาย และการปฏิรูปการเมือสู่ประชาธิปไตยต้องพังครืนลงทั้งหมด พระองค์จึงตัดสินใจอย่างกล้าหาญ ปฏิเสธระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จ และปฏิเสธการรัฐประหาร


สถานะของสถาบันกษัตริย์ไทย
ในปัจจุบัน


ประเทศอังกฤษและญี่ปุ่น ไม่มีกฎหมายห้ามหมิ่นสถาบันกษัตริย์ และไม่มีการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของกษัตริย์หรือการแสดงพระราชดำรัสอย่างเป็นทางการจนเป็นประเพณีทุกปี ซึ่งต่างจากประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง
สถาบันกษัตริย์ของไทยในปัจจุบันมีทั้งอำนาจบารมีและความสำคัญสูงสุดในระดับที่รัฐต้องให้การรับรองอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเป็นช่วงที่สถานะของสถาบันกษัตริย์ถูกกู้คืนมาในลักษณะที่เป็นการสร้างประเพณีใหม่ โดยอาศัยสถาบันกษัตริย์ในการสถาปนาอำนาจและความมั่นคงของระบอบเผด็จการทหาร ในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ได้มีการสร้างภาพให้กษัตริย์กลายเป็นหลักยึดของประชาธิปไตย และเป็นศูนย์กลางแนวคิดเรื่องชุมชน


การสิ้นพระชนม์ของราชวงศ์ถูกทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต
ขณะที่สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นแหล่งทุนของกษัตริย์ที่มีผลกำไรมหาศาลและเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ พร้อมทั้งองคมนตรีที่มีบทบาทในทางการเมืองในกองทัพและในระบบราชการอย่างชัดเจน




เงื่อนไขสำคัญในแง่กฎหมาย ที่ทำให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจ มากกว่าที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาจากข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญเองตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2475 ซึ่งบัญญัติไว้อย่างถาวร ว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ และ ในปี 2491 - 92 ที่บัญญัติเพิ่มเติมว่า ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้ ข้อความทั้งสอง มีความหมายที่กว้างมากคือ หากพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจใดๆ นอกเหนือ หรือไม่ตรงกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมทำได้และต้องถือว่าถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น เนื่องจากไม่มีผู้ใดสามารถจะกล่าวหาได้ ว่าทรงกระทำนอกเหนือหรือผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าในกรณีใดๆทั้งสิ้น

เช่น ในการยึดอำนาจของสฤษดิ์ต่อจอมพล ป. เมื่อเดือนกันยายน 2500 ในหลวงทรงมี พระบรมราชโองการ ตั้งให้สฤษดิ์เป็น ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร โดยไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเราไม่สามารถกล่าวได้ว่า ทรงทำนอกเหนือหรือผิดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามการกล่าวหาพระมหากษัตริย์ไม่ว่าในกรณีใดๆ



บทบัญญัติรัฐธรรมนูญลักษณะนี้ มีที่มาจากรัฐธรรมนูญสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของญี่ปุ่น บทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาที่รู้จักกันในนาม กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประมวลกฎหมายอาญา ร.ศ. 127 ( พ.ศ. 2452 ) มาตรา 98 ปัจจุบันคือมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา 2499 ความจริงกฎหมายนี้ไม่สามารถเรียกว่าเป็นกฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" อีกต่อไป เพราะคำว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" มีนัยยะว่าสถานะของพระมหากษัตริย์เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ใช่ในระบอบที่ทรงใช้อำนาจอธิปไตยแต่เพียงในนามเท่านั้น


แม้ว่าประเทศไทยจะมีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญทุกฉบับมีบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชอำนาจของความเป็นสมมุติเทพของกษัตริย์ รวมถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายห้ามการดูหมิ่น หรือแม้แต่วิจารณ์กษัตริย์ หรือพระราชวงศ์ โดยมีโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าสามปี ปกติคนไทยจะได้รับโทษที่รุนแรงมากกว่าชาวต่างชาติ

1.ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทำที่ครบองค์ประกอบ คือ ต้องหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
และ ต้องมีเจตนา หมิ่นประมาท ตามมาตรา 112 คือ เป็นการส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ไม่ว่าเรื่องที่เล่ามานั้นจะจริงหรือเท็จก็ตาม ถ้าพระมหากษัตริย์เสียหายก็ถือว่าหมิ่นประมาทแล้ว
ดูหมิ่น หมายถึงการแสดงการเหยียดหยาม อาจกระทำทางกริยา เช่น ยกส้นเท้า ถ่มน้ำลาย หรือกระทำด้วยวาจา เช่น ด่าด้วยคำหยาบคาย

การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต้องกระทำต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เท่านั้น ไม่รวมถึงเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ ไม่รวมถึงองคมนตรี ท่านผู้หญิง คุณหญิง ข้าราชบริพาร สิ่งของ หรือสัตว์เลี้ยง…

โดยทั่วไป การหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ผู้กระทำอาจยกเหตุตามมาตรา 329 มาอ้างว่าตนกระทำได้ เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม หรือในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมหรือการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
นอกจากนี้ผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทอาจอ้างเหตุยกเว้นโทษได้ตามมาตรา 330 หากพิสูจน์ได้ว่าที่หมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง แต่ห้ามพิสูจน์ในกรณีที่เป็นการใส่ความเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แต่คำพิพากษาฎีกายืนยันห้ามใช้บังคับกรณีพระมหากษัตริย์ เพราะทรงเป็นที่เคารพสักการะ มีสถานะแตกต่างจากบุคคลทั่วไป ดังนั้นหากใครหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และจะอ้างต่อศาลว่าตนติชมด้วยความเป็นธรรม ศาลก็ไม่รับฟัง

แต่ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ว่าแต่ว่าความจริงก็ต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน และก็ไม่กลัวว่าถ้าใครจะมาวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ตรงนั้นจะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัว ไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน... ฉะนั้น ก็ที่บอกว่าการวิจารณ์เรียกว่าละเมิดพระมหากษัตริย์ ละเมิด ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิด เขาก็ถูกประชาชนบอก เป็นเรื่องขอให้เขารู้ว่าวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูกก็ไม่ว่า แต่ถ้าวิจารณ์ผิด ไม่ดี แต่เมื่อบอกว่าไม่ให้วิจารณ์ ละเมิดไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น ลงท้ายพระมหากษัตริย์ก็เลยลำบาก แย่ อยู่ในฐานะลำบาก ถ้าไม่ให้วิจารณ์ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวนี้ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิด แล้วไม่ให้ละเมิด พระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี ” ปัญหาคือ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีเจตนาที่จะทำอย่างที่พระองค์มีพระราชดำรัสจริงๆหรือไม่ หรือแค่เป็นการพูดเพื่อสร้างภาพตามปกติเท่านั้น

ความผิดฐาน
หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

มีในระบบกฎหมายไทยจริงหรือ


ประมวลกฎหมายไทยในปัจจุบันไม่มีคำว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่แสดงถึงเดชานุภาพและบารมีของกษัตริย์ มีเพียงแต่ “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตามมาตรา 112 ซึ่งเนื้อหาเหมือนกับความผิดฐานหมิ่นประมาทคนธรรมดา แต่มีโทษหนักกว่า จะอ้างว่าเป็นความจริงหรือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไม่ได้และถือเป็นความผิดเกี่ยวด้วยความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐเป็นความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องมีเพื่อคุ้มครองสถาบัน แต่ในหลายประเทศ ไม่เปิดให้มีการฟ้องร้องอย่างพร่ำเพรื่อ หากแต่เจ้าหน้าที่จะสอบถามไปที่สำนักพระราชวัง หรือสำนักงานประธานาธิบดี ว่าเห็นควรจะให้ฟ้องร้องหรือไม่

พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2548 ทรงเปิดกว้างต่อการวิพากษ์วิจารณ์ และไม่สนับสนุนให้มีการฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ กันอย่างพร่ำเพรื่อ ทรงแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า และมีแปลกๆ คราวนี้นักกฎหมายก็ชอบให้ฟ้อง ให้จับเข้าคุก อันนี้นักกฎหมายเขาสอน สอนนายกฯ บอกว่าต้องฟ้อง ต้องลงโทษ ก็ขอสอนนายกฯ ใครบอกว่าให้ลงโทษ อย่าลงโทษเขา ลงโทษไม่ดี ไม่ใช่นายกฯเดือดร้อน แต่พระมหากษัตริย์เดือดร้อน แต่ในหลวงก็ไม่เคยแสดงความจริงใจตามพระราชดำรัสแต่อย่างใด
 เข้าใจในหลวงแค่ต้องการตำหนินายกทักษิณและให้ถอนการฟ้องร้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล เท่านั้นเอง

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสังคมไทย มี 4 ระยะ คือ

ระยะที่หนึ่ง ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ภายใต้ระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ โทษตามข้อหาที่เรียกว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" มีโทษสูงสุดเพียงจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม มาตรา 4 ของ "พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รัตนโกสินทรศก 118 (พ.ศ. 2442) หรือ จำคุก 7 ปี และปรับ 5 พันบาท หรือทั้งจำและปรับ ตาม มาตรา 98 ในกฎหมายลักษณะญา ร.ศ. 127 (พ.ศ.2451) ไม่ได้มีโทษหนักหนาสาหัสถึงขั้นประหารชีวิตตัดหัวเจ็ดชั่วโคตรอย่างที่พวกบ้าเจ้าบางคนเข้าใจไปเองแต่อย่างใด

ระยะที่สอง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 มีการเพิ่มเติมมาตราหนึ่ง ว่า “ผู้ใดที่กระทำการให้ปรากฎแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ ทำให้เกิดความดูหมิ่นต่อกษัตริย์หรือรัฐบาล มีโทษจำคุกและปรับ” แต่มีข้อยกเว้นที่น่าสนใจว่า การกระทำที่ทำให้เกิดความดูหมิ่นต่อกษัตริย์หรือรัฐบาล ถ้ากระทำไปภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นไม่ถือว่าเป็นความผิด” ทำให้มีการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.สามารถปราศัยโจมตีรัฐบาลได้แม้ไม่ได้วิจารณ์กษัตริย์โดยตรง แต่น่าจะเทียบเคียงได้ เพราะกษัตริย์และรัฐบาลได้รับการคุ้มครองในลักษณะเดียวกัน

ระยะที่สาม มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาปี 2499 โดยบัญญัติข้อความที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบันว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ต่อมามีการเพิ่มโทษในปี 2519 มีการเพิ่มคำว่า“ดูหมิ่น” และมีผลที่กว้างกว่ามากจนถึงปัจจุบัน

ตัวอย่างคดีที่เกิดก่อนปี 2499 ก่อนการเพิ่มคำว่าดูหมิ่น: มีบุคคลคนหนึ่งอวดอ้างเป็นหมอรักษาโรคทางอาคม พูดอวดอ้างกับประชาชนว่า มือขวาของตนมีมีดพับเป็นพระขรรค์แก้ว มือซ้ายเป็นจักรนารายณ์ เป็นหมอวิเศษ จะชี้ให้คนเป็นบ้าหรือตายหรือเป็นอะไรทั้งสิ้น ตนจะเรียกพระเจ้าแผ่นดินหรือรัฐธรรมนูญให้มากราบไหว้ก็ได้ ศาลตัดสินว่าการกระทำนี้เป็นแค่อวดอ้าง ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาทกับแสดงความอาฆาตมาดร้าย กรณีนี้ การพูดว่าจะเรียกให้พระเจ้าแผ่นดินมากราบไหว้ก็ได้ ไม่มีความผิดใดๆ

เปรียบเทียบคดีหลังปี 2499 หลังจากเพิ่มคำว่าดูหมิ่น เข้าไป : กรณีนายวีระ มุสิกพงศ์ กล่าวว่า ถ้าเลือกเกิดได้ จะเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวัง ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระ ไม่ต้องออกมายืนตากแดดพูดให้ประชาชนฟัง ถึงเวลาเที่ยงก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง ตกเย็นก็เสวยน้ำจันให้สบายอกสบายใจ คำพูดนี้ในทางกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท แต่เป็นการดูหมิ่น ถ้าคุณวีระ มุสิกพงศ์ พูดคำนี้ก่อน พ.ศ. 2499 ก็จะไม่ผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
การเพิ่มคำว่า ดูหมิ่น เข้าไป ทำให้ความผิดฐานนี้ขยายออกไปมาก การกระทำที่เป็นความผิดฐานดูหมิ่น ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะถูกตีความไปถึงเรื่องอื่นด้วย เช่น การพ่นสีสเปรย์ การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ฯลฯ

ระยะที่สี่ เมื่อปี2551 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยให้ขยายความคุ้มครองถึงพระราชโอรส พระราชธิดา ประธานองคมนตรี องคมนตรี และผู้แทนพระองค์ แต่ต่อมา ร่างนี้ได้ถูกถอนออกไป ในสังคมไทย มีการขยายถึงตัวบุคคลออกไปอีก เช่น การวิจารณ์ว่า พล.อ.เปรม อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เพราะกษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนองคมนตรี คือ พยายามให้กฎหมายขยายไปคุ้มครององคมนตรี

หรือกรณีคุณสมัคร สุนทรเวช ให้สัมภาษณ์แถลงเปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน ว่า ถึงจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เลว ก็ยอมเป็นนายกรัฐมนตรี มีผู้แจ้งความ เห็นว่าเป็นการใช้วาจาจาบจ้วงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จึงเข้าร้องทุกข์แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับนายสมัคร
ถ้าการกระทำของนายสมัครผิด แล้วการรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในพระปรมาภิไธย ทำไมไม่ผิด การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงเป็นการใช้กฎหมายที่เลอะเทอะมากขึ้นทุกที

ข้อเสนอเรื่อง
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


1.ควรปรับปรุงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 โดยตัดคำว่าดูหมิ่น ในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาออก

2.ควรเพิ่มข้อยกเว้นให้การแสดงความคิดเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นสิ่งที่กระทำได้

3.ควรปรับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปตามระบอบประชาธิปไตยตามแบบของประเทศอื่นๆ ในสังคมโลกสมัยใหม่ โดยการฟ้องร้องดำเนินคดี ควรทำได้เมื่อกษัตริย์มีพระบรมราชโองการ หรือโดยฉันทานุมัติจากกษัตริย์เท่านั้น ควรถือเป็นเรื่องส่วนตัวซึ่งกษัตริย์ย่อมมีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเองหากถูกกล่าวหา แต่ให้ดำเนินการฟ้องร้องคดีเอง โดยผ่านสำนักพระราชวังก็ได้ มิใช่ใครก็ฟ้องได้ ไม่ควรคิดแทนกษัตริย์ ควรเป็นสิทธิ์ของกษัตริย์เอง

4.เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ควรจะยกเลิกกฎหมายนี้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้เปลี่ยนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เปิดกว้างมากขึ้น แต่สังคมไทยกลับมีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้นมาก ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถพูดอะไรได้มาก กระบวนการยุติธรรมก็ลำบากใจต้องทำงานรับใช้เจ้าอย่างเต็มที่โดยไม่มีความปรานีใดๆ มันเป็นปัญหาที่สังคมไทยอยู่กับความผิดปกติ จนกระทั่งมันกลายเป็นเรื่องปกติไป หากไม่มีการแก้ไขปรับปรุง กฎหมายนี้ก็จะยังคงเป็นเครื่องมือทางการเมืองและสร้างความเสียหายแก่สถาบันกษัตริย์เองในที่สุด
หรือว่าเราจะไม่ยอมเป็นสังคมที่ทันสมัย

การใช้กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อปิดวิทยุชุมชน ฟ้องร้องเว็บไซต์ รวมถึงดำเนินคดีกับคนที่แสดงความเห็นตามเว็บไซต์ต่างๆ เป็นเครื่องชี้วัดปฏิกิริยา ของระบอบราชาธิปไตย ที่มีต่อการขยายตัวของกระแสประชาธิปไตย การที่ชนชั้นนำไม่สามารถทนดู ทนฟัง และอ่อนไหวต่อความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนอย่างมาก จนต้องหันไปใช้กลไกรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ศาล เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้กับสังคม โดยเชื่อว่าการทำเช่นนั้นจะสามารถหยุดยั้งคนไม่ให้คิดและทำในสิ่งที่แตกต่าง เพราะชนชั้นนำไทยยังเข้าใจว่า อำนาจรัฐอยู่เหนือประชาชน และการใช้อำนาจในทางลบที่เน้นการบังคับ และปราบปรามได้ผลกว่าการใช้อำนาจในทางบวกที่เน้นการสร้างสรรค์และร่วมมือ และทำให้ชนชั้นนำไทยเชื่อว่า ตนเองสามารถตรึงสังคมไทยให้เป็นอยู่อย่างสมัยโบราณได้ตลอดไป

กฎหมายหมิ่นฯ ก่อให้เกิดการความขัดแย้งในสังคมมากอยู่แล้ว เพราะบทลงโทษสูงและมีความคลุมเครือ ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เป็นผู้ฟ้องร้อง ผูกขาดอำนาจในตีความ และบังคับใช้กฎหมายเอาไว้ในมือกลไกรัฐ กลายเป็นเครื่องมือทำลายศัตรูทางการเมือง การที่รัฐบาลเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

ถ้ายึดหลัก สิทธิเสรีภาพพื้นฐาน ในเรื่องของความเชื่อของแต่ละบุคคล ก็ต้องเปิดทางให้ยกเลิก ข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เรื่องการบังคับให้ต้องเคารพสักการะพระมหากษัตริย์ และยกเลิกมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา พร้อมทั้งเลิกการประชาสัมพันธ์เชิดชูสถาบันกษัตริย์ โดยใช้งบประมาณสาธารณะ และการอบรมสั่งสอนด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์โดยสิ้นเชิง และปล่อยให้เป็นเรื่องของ การใช้วิจารณญาณของแต่ละบุคคล ตามหลักการของการเคารพในสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกันของทุกๆคน ตามข้อเสนอ 8 ข้อ เพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อทำให้สถาบันกษัตริย์ของไทย เป็นสถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ ในระบอบประชาธิปไตยแบบเดียวกับอารยประเทศ เช่น สวีเดน, เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น ดังนี้...

1. ยกเลิก รัฐธรรมนูญมาตรา 8 ในหมวดพระมหากษัตริย์ ที่บัญญัติว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ และให้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในการวินิจฉัยความผิดของกษัตริย์
2. ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
3. ยกเลิก องคมนตรี
4. ยกเลิก พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2491 ให้ถือว่ามีสถานะเดียวกับนิติบุคคลทั่วไป ทั้งในเรื่องการเสียภาษี การตรวจสอบและสถานภาพทางกฎหมาย

5. ยกเลิก การประชาสัมพันธ์ด้านเดียวทั้งหมด รวมทั้งการให้การศึกษาแบบด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด


6. ยกเลิก พระราชอำนาจ ในการแสดงความเห็นทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้งพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสทั้งหลายในโอกาสและวาระต่างๆ





7. ยกเลิก พระราชอำนาจ ในเรื่อง
โครงการหลวงหรือโครงการพระราชดำริ ทั้งหมด









8. ยกเลิก
การบริจาค และรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล ทั้งหมด




ข้อเสนอดังกล่าวเป็น
เรื่องปกติ และเป็นเรื่องจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย แต่อาจเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมในระบอบเผด็จที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่อาศัยระบบรัฐสภาที่ประชาชนเป็นได้แค่ไพร่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เท่านั้น....

.............
.............

ไม่มีความคิดเห็น: