วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เดอะคิงชื่อสมชาย ตอนที่ 3 : ก่อร่างสร้างอิทธิพล Xomxai 03



ฟังเสียง  :http://www.mediafire.com/?195mhs46rwtydp9
หรือที่ : http://www.4shared.com/mp3/uIBybfX5/The_Godfather_Named_Xomxai_03_.html 

 
เดอะคิงชื่อสมชาย
ตอนที่
3 : ก่อร่างสร้างอิทธิพล


การรัฐประหารของสฤษดิ์ได้สร้างความลิงโลดแก่วังเป็นที่สุด เพราะหลังจากขับเคี่ยวกันมา 25 ปี คนที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือ ปรีดีและป.พิบูลสงครามมีอันต้องกระเด็นออกจากประเทศโดยไม่เคยได้กลับมาอีกเลย
ยุคสมัยของพวกคณะราษฎรได้ถูกโยนทิ้งลงถังขยะ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เจ้าได้หวนกลับมาผงาดอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องดิ้นรนหาทางพึ่งบารมี การยึดอำนาจต้องได้รับการรับรองจากเจ้า เพราะแม้แต่ทูตสหรัฐก็ยังต้องรีบเข้าวังเพื่อขอคำยืนยันว่าคณะรัฐประหารยังคงอยู่กับฝ่ายอเมริกาและต่อต้านคอมมิวนิสต์

การรัฐประหารของสฤษดิ์ทำให้พูมลำพองเลิกฝันถึงระบอบเจ้าแบบเก่า และเลิกต่อสู้กับพวกทหาร แต่กลับมารับพวกขุนศึกขุนทหารเข้ามาเป็นพวก ในอีกหลายสิบปีต่อมา พูมลำพองกลับมาแนบแน่นกับเผด็จการทหาร ที่ส่วนใหญ่ได้ยึดอำนาจและอาศัยการรับรองของพูมลำพอง ทั้งรัฐธรรมนูญและรัฐสภาได้กลายเป็นอุปสรรคต่ออำนาจของพูมลำพอง สฤษดิ์ได้ช่วยทำการยกเลิกทั้งรัฐธรรมนูญและรัฐสภา

สิ่งที่พวกเจ้าพอใจมากที่สุด คือ สฤษดิ์ผู้ซึ่งไม่เคยไปเรียนเมืองนอก ยึดถือคติไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเชื่อฟังและสำนึกในบุญคุณของเจ้าและเป็นรัฐบาลที่จงรักภักดี สฤษดิ์ยกพูมลำพองไว้เหนือตนเอง และเคารพลำดับชั้นสูงต่ำ สฤษดิ์เข้าใจดี ว่าถ้าเชิดชูเจ้าแล้ว ตนก็จะได้อำนาจตามที่ต้องการ จึงต้องเป็นรัฐบาลของเจ้าและกองทัพของเจ้า สฤษดิ์เป็นพวกนิยมอำนาจ และเป็นเผด็จการผู้เหี้ยมโหด ที่สั่งประหารและฆ่าฟันศัตรูทางการเมืองเพื่อข่มขวัญให้เข็ดขยาด
สฤษดิ์รับอาสาจัดระเบียบสังคมอย่างจริงจังและรุนแรงโดยไม่ต้องมีใครมาคอยบอก

หลังจากสฤษด์ยึดอำนาจมาจาก ป.แล้ว ก็ตั้งนายกที่ดูเป็นกลางที่สุด คือ พจน์ สารสิน อดีตทูตไทยประจำสหรัฐ โดยสฤษดิ์กุมอำนาจในฐานะผบ.สูงสุด สภาเต็มไปด้วยคนของสฤษดิ์ และกำลังเสริมจากประชาธิปัตย์ โดยมีลูกน้องคนสำคัญในกองทัพ คือ ถนอมและประภาส พวกเขาจัดการกวาดล้างคนของป.และเผ่า ตัดงบและลดอาวุธของตชด.และตำรวจ ซึ่งเป็นขุมกำลังของเผ่า

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว สฤษดิ์ก็เดินทางไปสหรัฐเพื่อรักษาโรคตับอักเสบ พูมลำพองได้ประทานทานดอกไม้ช่อใหญู่ และอวยพรให้สฤษดิ์หายจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นข่าวใหญ่ที่พูมลำพองแสดงท่าทียกย่องชื่นชมอย่างเปิดเผย ตามด้วยการเลื่อนยศนายทหารฝ่ายสฤษดิ์กว่า 50 นาย และประทานยศพลเอกแก่ถนอม

โรเบิร์ตเคเนดี้พบสฤษดิ์ที่กรุงเทพ 1กพ.2505
สฤษดิ์ใช้เวลาอยู่ต่างประเทศนานเกือบแปดเดือน และตกลงเป็นแม่ทัพทำสงครามเย็นต่อต้านคอมมิวนิสต์ให้สหรัฐ โดยสรุปกันว่าประเทศไทยต้องการผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งพูมลำพองมีความคิดเห็นแบบเดียวกัน คือไม่ชอบรัฐบาลที่หย่อนยาน ความวุ่นวายที่ไม่จบสิ้นในสภา และความวุ่นวายในหมู่ประชาชนที่ไม่สงบเรียบร้อยและไม่เชื่อฟัง

สฤษดิ์เดินทางกลับไทยหลังจากสุขภาพดีขึ้นในเดือนตุลาคม 2501 และทำรัฐประหารอีกครั้ง โดยพูมลำพองลงนามออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 ยกเลิกสภานิติบัญญัติและประกาศใช้กฎอัยการศึก รวบอำนาจโดยผ่านสภาปฏิวัติ ปิดปากนักวิจารณ์ด้วยการจับกุมปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองเด่นๆ ไปกว่า 100 คน

สฤษดิ์อ้างความเสื่อมทรามทางศีลธรรมอันเป็นผลมาจากความคิดแบบตะวันตก ซึ่งมี ป. และปรีดีเป็นตัวแทน ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาใช้ไม่ได้ เพราะประชาชนขาดวินัยและไม่เคารพกฎหมาย ทำให้เกิดความระส่ำระสายไม่มั่นคง การเติบโตของคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามต่อชาติ ศาสนา และกษัตริย์ จึงจำเป็นต้องมีการรักษาสถาบันกษัตริย์ อันเป็นตัวแทนของคนทั้งชาติ

สฤษดิ์ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน 2502 ในเดือนกุมภาพันธ์ ให้อำนาจสั่งการเด็ดขาดตามมาตรา 17 แก่นายกและสภาปฏิวัติ คึกฤทธิ์ ได้เขียนบทความสับสนุนว่า คนไทยไม่ควรต้องกังวลเพราะสฤษดิ์ถือผลประโยชน์ของชาติเหนือสิ่งอื่นใด
ภารกิจสำคัญอันดับแรกของสฤษดิ์ คือการทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์เนื่องจากเหตุการณ์ในประเทศข้างเคียงกำลังรุนแรงขึ้น จีนได้ยึดครองทิเบต และในปี 2501 ก็ถล่มเกาะคีมอย ใกล้เกาะไต้หวันที่กองกำลังก๊กมินตั๋งยึดครองอยู่ คอมมิวนิสต์ชาตินิยมในลาวที่นำโดยเจ้าสุภานุวงศ์ กำลังทวีความเข้มข้นด้วยการสนับสนุนจากฮานอย พรมแดนไทยลาวที่ยาวเหยียด และชาวอีสานยากจนเชื้อสายลาวที่มีมากกว่า 10 ล้านคน เป็นภาระหนักที่สฤษดิ์ ต้องเชื้อเชิญสหรัฐเข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มที่ 

และในต้นปี 2505 สหรัฐและไทยทำข้อตกลงทางทหารโดยถนัดและดีน รัสก์ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ทำให้ไทยกลายเป็นแนวหน้าในการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ และกลายเป็นฐานทัพของอเมริกาเพื่อทำสงครามในอินโดจีน

ทหารอเมริกัน 10,000 นายพร้อมด้วยเครื่องบินรบและเรือบรรทุกเครื่องบิน มาถึงไทยในเวลาหนึ่งเดือนตามที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้ รับปากไว้ เป็นการเริ่มการไหลบ่าเข้ามาของเงิน อาวุธและที่ปรึกษาจากสหรัฐ สงครามเย็นต่อต้านคอมมิวนิสต์กลายมาเป็นฐานอำนาจของเจ้า ขุนศึกก็ได้กลายมาเป็นหุ้นส่วนกับเจ้า พูมลำพองเริ่มกล่าวเตือนถึงภัยคอมมิวนิสต์ สฤษดิ์สั่งจับกุมคุมขังผู้ต่อต้านรัฐบาลหลายร้อยคนตั้งแต่นักศึกษา นักการเมืองเสรีนิยม ไปจนถึงพระนักกิจกรรม ในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์และบ่อนทำลายเจ้า ขณะที่เศรษฐกิจของไทยขยายตัว ภายใต้แผนเศรษฐกิจที่ออกแบบโดยสหรัฐ และธนาคารโลก

เดือนมีนาคม 2501พูมลำพองและสิริเกียรติเดินสายภาคเหนือเป็นเวลาสองสัปดาห์ เช่นเดิมคือ หยุดแวะตามจังหวัดต่างๆ วัดดังๆ สถานที่ราชการ สถานที่มีชื่อเสียง หมู่บ้านบางแห่ง ประชาชนเรียงรายสองฟากถนน โบกธงต้อนรับขณะขบวนรถแล่นผ่าน และทำซ้ำอีกครั้งในปีถัดมาที่ภาคใต้ อันเป็นพื้นที่ของชาวมุสลิม 

ปี 2503 สฤษดิ์สั่งย้ายวันชาติจาก 24 มิถุนายนซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไปเป็นวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของพูมลำพอง เป็นการลบล้างความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ออกจากความทรงจำของผู้คน


มีการรื้อฟื้นพิธีกรรมบวงสรวงเพื่อความอุดมสมบูรณ์ประจำปี ให้เจ้าทำพิธีแรกนาขวัญ และพิธีเห่เรือทอดกฐินหลวงในแม่น้ำเจ้าพระยา พฤศจิกายน 2502 พร้อมทั้งเพิ่มบทบาทเจ้าในฐานะจอมทัพไทย ให้ทหารปฏิญาณตนต่อเจ้า และเพิ่มพิธีดื่มน้ำสาบาน ต่อหน้าเจ้าหรือต่อรูปถ่ายทุกๆปี 



ปี 2502 พูมลำพองประทานธงชัยเฉลิมพล ที่บรรจุเส้นผมของตนที่ปลายด้ามธง แก่ทหารกรมกองต่างๆ เรียกว่าราชวัลลภ หรือทหารรักษาพระองค์  พูมลำพองไปเปิดอนุสาวรีย์ยุทธหัตถีพระนเรศวร ที่ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี ในวันกองทัพไทย  สฤษดิ์ให้วังควบคุมทหารรักษาพระองค์ ในวันฉลองวันเกิดพูมลำพองปี 2502 กรมทหารราบที่ 21 ถูกย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ให้วัง เรียกว่าทหารเสือราชินี จากค่ายนวมินทรชลบุรี และสิริเกียรติเป็นผู้บังคับการกิตติมศักดิ์ 

รัฐบาลสฤษดิ์ทำหน้าโฆษณายกย่องพูมลำพองว่ามีความปรีชาสามารถและใส่ใจงานบริหารประเทศ ทั้งแนะนำตักเตือนผู้นำรัฐบาล และผู้อื่นให้ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์เพื่อพัฒนาประเทศ  โครงการราชดำริก็ล้วนเป็นประโยชน์ การเดินสายเยือนชนบททำให้เกิดความสามัคคีภายในชาติ ชาวต่างชาติต่างสรรเสริญในปรีชาญาณของพูมลำพอง เป็นที่ระบือไกลไปทั่วโลกว่าประเทศไทยโชคดีที่มีพูมลำพองที่ควรค่าแก่การเทิดทูนบูชาเป็นอย่างยิ่ง

สฤษดิ์เพิ่มงบประมาณให้วังอีกเกือบ 28 ล้านบาทในปี 2501 และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหลังจากนั้นทำให้วังมีฐานะทางการเงินมั่นคงขึ้น และสนับสนุนการปรับปรุงวังจิตรดา 
ในเดือนมกราคม 2502 สฤษดิ์ได้ยกเลิกกฎหมายการปฏิรูปที่ดินปี 2497 ของ ป. ทำให้พวกเจ้าและชนชั้นสูงไม่ต้องสูญเสียการถือครองที่ดิน โดยไม่มีใครกล้าต่อต้าน 

เมื่อได้โอกาสเพิ่มอำนาจสร้างบารมี ทางวังก็ส่งเสริมงานพิธีและกำหนดการต่างๆ รวมทั้งการพบปะกับนักธุรกิจ บุคคลสำคัญและหน่วยงานต่างประเทศ ทั้งขยายเครือข่ายลงในชนบท
หลังจากที่ได้เดินสายเยี่ยมเยียนประชาชนต่างจังหวัดแล้ว พูมลำพองก็แทบจะไม่เคยไปต่างจังหวัดอีกเลย โดยหันมาเล่นบทพ่อบ้านที่มีครอบครัวต้องดูแล

ต่อมาพูมลำพองกลับมาเริ่มการตระเวนเยือนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2503-2506 เนื่องจากพูมลำพองไม่ได้ไปต่างประเทศเลยตั้งแต่ปี 2494
การเยือนต่างประเทศครั้งนี้ ช่วยกลบเกลื่อนโฉมหน้าเผด็จการสฤษดิ์ ทำให้วงศ์จักราวีได้รับการยอมรับเคียงบ่าเคียงไหล่กษัตริย์ในอารยประเทศ

เริ่มจากการเยือนเวียดนามใต้ อินโดนีเซีย ไปเยือนพม่า ทั้งๆเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้าในสมัยป. พูมลำพองเคยปฏิเสธที่จะไปร่วมงานฉลอง 2500 ปีพุทธศาสนาโดยอ้างว่าเพราะต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าวัด แต่คราวนี้พูมลำพองกลับถอดรองเท้าเข้าวัดพม่าอย่างเต็มใจ

ตามด้วยการเยือนตะวันตก 15 ประเทศเป็นเวลาเจ็ดเดือน เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2503 โดยใช้เวลาหนึ่งเดือนเต็มในสหรัฐฯ ไปกรุงวอชิงตัน เป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ โบกมือให้ฝูงชนขณะนั่งบนรถลิมูซีนเปิดประทุนบนถนนเพ็นซิลเวเนีย กล่าวสุนทรพจน์แก่สภาคองเกรส ยกย่องหลักการทางการเมืองแบบอเมริกันและชื่นชมการที่สหรัฐห่วงใยประเทศเล็กๆ ที่ถูกรุกราน 

การเยือน 14 เมืองหลวงในยุโรปมีการปูพรมแดงต้อนรับ  ราชวงศ์ในยุโรปต้อนรับอย่างสมเกียรติ พอกลางเดือนมกราคม 2504 ก็กลับไทยโดยมีการต้อนรับอย่างมโหฬาร ประชาชนราวหนึ่งล้านคนเรียงรายสองฟากถนนตั้งแต่สนามบิน พระสงฆ์สวดพุทธมนต์ มีการย่ำระฆัง จุดพลุดอกไม้ไฟ

สองสามปีหลังจากนั้น ทั้งสองคนได้ไปเยือนอีกหลายประเทศ รวมทั้งอังกฤษและสหรัฐ ทั้งหมดคือเป็นพันธมิตรสำคัญที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ส่วนประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงก็ถูกข้ามไป เช่น อินเดีย เวียตนามเหนือ กัมพูชา ลาว และจีน รวมถึงโซเวียต
 
สหรัฐได้ช่วยเผยแพร่สถาบันเจ้าเต็มที่ โดยสำนักข่าวสารอเมริกัน (USIS) ให้งบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ และป้อนรายการโทรทัศน์และวิทยุที่มีเนื้อหาต่อต้านคอมมิวนิสต์ และเชิดชูเจ้า การเยือนต่างประเทศของเจ้าได้รับการบันทึกลงเป็นภาพยนต์และนำออกฉายทางโทรทัศน์ รวมทั้งในโรงภาพยนตร์และสถานที่อื่นๆทั่วประเทศ

องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ  หรือยูเสด (USAID) กับสำนักข่าวสาร อเมริกัน (USIS) ได้พิมพ์โปสเตอร์และปฏิทินหลายแสนแผ่นที่มีรูปพูมลำพองและสิริเกียรติในแต่ละปี เพื่อแจกจ่ายไปทั่วชนบท จนกลายเป็นสิ่งประดับฝาผนังอย่างเดียวที่ชาวบ้านจนๆจะมีได้ ที่เรียกว่ารูปที่มีทุกบ้าน ซึ่งนับเป็นการโฆษณาที่ได้ผลมาก

วังได้ขยายกลุ่มสมาชิกคนรักเจ้าเปิดโอกาสให้ชนชั้นสูงผู้บริจาคเงินและอาสาสมัครต่างๆที่คัดเลือกแล้วได้เข้าพบ ขยายบริการเป็นเจ้าภาพงานศพหรือประทานเพลิงศพ  งานแต่งงานหรือประทานน้ำสังข์สมรส มีเครื่องราชย์ แจกจ่ายผู้ที่อุทิศตนแก่วัง และผู้ทำงานรับใช้หรือบริจาคเงินให้วัง ผู้หญิงจะได้เป็นคุณหญิง หรือ ท่านผู้หญิง มีการรื้อฟื้นราชาศัพท์ โดยใช้คำว่า พระ กำกับตลอดเวลา ทำให้เกิดความรู้สึกทั้งเลิศหรูอลังการ และศักดิ์สิทธิ์   

สามัญชนต้องพูดกับพวกเจ้าด้วยราชาศัพท์ ผู้พูดจะแทนตัวเองว่า ข้าพระพุทธเจ้า แล้วเรียกเจ้าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แปลว่า  เท้าอันประเสริฐของพระเจ้าอยู่เหนือหัวของฉัน  คือ เป็นเกียรติสูงส่งที่ได้เอาอวัยวะสูงที่สุดของผู้พูดไปวางไว้ใต้อวัยวะที่ต่ำที่สุดของเจ้า
คำขึ้นต้นและลงท้ายในการพูดต่อเจ้าอย่างเป็นทางการ คือ ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม แปลว่า ขออำนาจละอองฝุ่นใต้ฝ่าเท้าของท่านปกป้องศีรษะและกระหม่อมของข้าพเจ้า ความหมายคือวางศีรษะของผู้พูดไปไว้ใต้ละอองของฝุ่นฝ่าเท้าของเจ้าอีกที  ซึ่งแม้แต่กษัตริย์ต่างประเทศหรือพระพุทธเจ้า ซึ่งมีเชื้อสายกษัตริย์ก็ยังไม่ได้รับการยกย่องเทิดทูนสูงส่งอย่างที่เจ้าไทยได้รับ

ที่ฟื้นคืนชีพมาพร้อมกับราชาศัพท์ ก็คือการหมอบกราบ ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปอย่างเป็นทางการในสมัยจุฬา แต่ก็ยังคงถือปฏิบัติตามความเคยชินเรื่อยมาจนกระทั่ง ป. ขึ้นมามีอำนาจ ลูกหลานของเจ้าและคนรับใช้ต้องหมอบคลานต่อเจ้าในที่สาธารณะ พอคณะรัฐมนตรีและนักการเมืองหัวแถวต้องทำแบบเดียวกัน ทุกคนจึงควรจะทำเช่นเดียวกัน 



ราชาศัพท์และการหมอบกราบเป็นวัฒนธรรมที่ตอกย้ำความต่ำต้อยที่สุดของประชาชนและความสูงส่งราวพระพุทธเจ้าของกษัตริย์ ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กลืนกินสังคมไทยมากขึ้นทุกที โดยอาศัยกลไกรัฐด้านการศึกษาและศาสนาที่มี ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีศึกษาที่ทำงานรับใช้วังอย่างถวายหัว โดยจัดบทเรียนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้มุ่งเน้นแต่การเทิดทูนเจ้าวงศ์จักราวี โดยลบเรื่องราวการปฏิวัติ 2475  

นับตั้งแต่ปี 2503 สฤษดิ์ได้ใช้กฎหมายหมิ่นเดชานุภาพอย่างไม่มีความปราณี เพื่อสำแดงความสูงส่งของเจ้าและมักจะพ่วงข้อหาฝักใฝ่คอมมิวนิสต์เข้าไปด้วย นักเขียนชื่อดัง รพีพันธุ์ และภรรยา จันทร์ศรี ชื่นชูศรี ถูกจับขังคุกข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์เพราะเดินทางไปประเทศจีนและหมิ่นเดชานุภาพเพราะไปตั้งชื่อสุนัขสองตัวว่าพูมลำพองและสิริเกียรติ

สฤษดิ์ใช้วิธีเผด็จการพ่อขุน ที่มีทั้งความโหดและทุจริตฉ้อฉลที่ไม่เป็นปัญหาสำหรับวัง
พูมลำพองแสดงความเชื่อมั่นในตัวสฤษดิ์อย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ ให้ของขวัญสฤษดิ์ ไปเยือนฟาร์มของสฤษดิ์ และประกาศว่าประเทศชาติเป็นหนี้บุญคุณสฤษดิ์มาก สฤษดิ์ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนทอดกฐินหลวงที่ขอนแก่น  เจ้าได้บารมีตามต้องการ ส่วนสฤษดิ์ก็ได้รับการรับรองความชอบธรรมจากเจ้าในฐานะนายกของเจ้า  ศรีวิสารลาออกจากองคมนตรีในปี 2505 เพื่อมาเป็นที่ปรึกษาให้สฤษดิ์ เชื่อมวังกับรัฐบาลจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2511

ประวัติสฤษดิ์ ธนะรัชต์

สฤษดิ์เกิดที่บ้านท่าโรงยา ตลาดพาหุรัด กรุงเทพมหานคร เมื่อ 16 มิถุนายน 2451  เข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบกอยู่ 10 ปี จึงสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2471 เข้ารับราชการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์  ปี 2476 ขณะติดยศร้อยตรี ได้เป็นผู้บังคับหมวดปราบปรามกบฏบวรเดช เข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อำนาจของป.เสื่อมถอยลงจากการที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม  แต่สฤษดิ์ ได้เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังสำคัญเข้าร่วมรัฐประหาร 2490 นำโดยผิน ล้มรัฐบาลหลวงธำรง โดยมี ป. อยู่เบื้องหลัง 

ต่อมาสฤษดิ์ได้เป็นแม่ทัพปราบกบฏวังหลวง คราวที่นายปรีดีแอบกลับไทย ยึดวัดพระแก้วเป็นกองบัญชาการแต่ถูกสฤษดิ์ยิงปืนจากรถถังทำลายประตูวิเศษไชยศรี จนนายปรีดีต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 รองผู้บัญชาการทหารบก  รัฐมนตรีช่วยกลาโหม
2497 ได้เป็นผบ.ทบ. ติดยศ จอมพล

ในคืนวันที่ 16 กันยายน 2500 สฤษดิ์ นำทหารยึดอำนาจโค่นล้ม ป.
สฤษดิ์ เห็นว่า ไม่เหมาะที่ตนเองจะขึ้นครองอำนาจ ประกอบกับมีปัญหาสุขภาพ จึงตั้งพจน์ สารสิน เป็นนายก หลังจากรัฐบาลพจน์ จัดการเลือกตั้งแล้ว ถนอม ก็รับตำแหน่งนายก ต่อมาเกิดความวุ่นวายระหว่างส.ส.กับรัฐมนตรี สฤษดิ์จึงเดินทางกลับร่วมกับถนอมยึดอำนาจตนเองโดยสฤษดิ์เป็นนายกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 ประกาศยกเลิกพรรคการเมือง ปรับปรุงการบริหารและพัฒนาประเทศ 

สฤษดิ์ในฐานะพ่อขุนได้แสดงความเมตตาต่อประชาชนผู้เปรียบเสมือนลูกๆ หลังการปฏิวัติไม่กี่วัน คณะปฏิวัติสั่งให้ลดค่ากระแสไฟฟ้า ให้แต่ละครอบครัวได้รับน้ำฟรีเดือนละ 30 ปี๊บ (ปี๊บละ 20 ลิตร) ลดค่าโทรศัพท์ ค่ารถไฟ และค่าเล่าเรียน สั่งกองทัพเรือจัดหามะพร้าวราคาถูกขายให้ประชาชนในราคาต้นทุน ทำให้ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

สฤษดิ์มีคำสั่งให้จัดการอันธพาล อย่างเฉียบขาดเพื่อความความสงบเรียบร้อยของประชาชน รวมถึงการปฏิเสธวัฒนธรรมตะวันตก กวดขันแหล่งอบายมุขและสถานเริงรมย์ ออกกฎหมายห้ามการค้าประเวณี ห้ามอาชีพสามล้อในกรุงเทพ จัดการเรื่องเพลิงไหม้อย่างเด็ดขาด ด้วยการยิงเป้าผู้ต้องสงสัย หรือจับได้ว่าวางเพลิง ณ บริเวณที่เกิดเหตุ ให้ถือว่าการเสพฝิ่นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โรงยาฝิ่นถูกปิดอย่างถาวร และจัดตั้งศูนย์บำบัดรักษาให้เลิกยาเสพติด

สฤษดิ์ออกเดินทางเยี่ยมเยียนประชาชนในภาคต่าง ๆ มีการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และแผนพัฒนาส่วนภูมิภาคโดยการสนับสนุนของสหรัฐ 

ประกาศคณะปฏิวัติ ให้อำนาจตำรวจ กักขังผู้ต้องหาตลอดระยะเวลาสอบสวน ให้โอนคดีที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ไปขึ้นศาลทหารตามกฎอัยการศึก ปัญญาชน นักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ นักการเมืองจำนวนมากที่วิพากษ์วิจารณ์สฤษดิ์และสังคมไทย ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง การปกครองในสมัยสฤษดิ์ เป็นการปกครองระบอบเผด็จการทหารโดยแท้จริง เป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปีเต็ม สฤษดิ์ฟื้นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อเจ้า เช่น จัดงานวันเกิดเจ้าหรืองานเฉลิม การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ การประดับไฟบนถนนราชดำเนินในวันเฉลิม

สฤษดิ์ ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครอง 2502 สภามีมติให้สฤษดิ์เป็นนายกพร้อมอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ คือ ม.17 ตามธรรมนูญการปกครอง ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีอย่างไม่มีขอบเขต สามารถสั่งจับกุมคุมขังหรือประหารชีวิตใครก็ได้ที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งการกวาดล้างศัตรูทางการเมือง ทั้งปัญญาชน นักคิด นักเขียน จำนวนมาก 
ในเดือนมิถุนายน 2504 ครอง จันดาวงศ์ ส.ส.สกลนคร อดีตเสรีไทย ถูกจับกุมและประหารชีวิตตามมาตรา 17 ด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์
สฤษดิ์เชื่อว่ารัฐบาลควรมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทน ระบบพรรคการเมืองไม่เหมาะสมกับสังคมไทย พวกผู้แทนเป็นพวกไร้สมรรถภาพ ไม่มีวินัย และพวกนักหนังสือพิมพ์ก็มักจะยึดผลประโยชน์ของตน มีแต่จะนำไปสู่ความวุ่นวาย ระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะจะทำให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีและนำไปสู่ความวุ่นวายไร้ระเบียบ การปกครองเป็นเรื่องของเจ้านายผู้มีบุญวาสนา และผู้นำที่มีความเที่ยงธรรมและสุจริตใจ โดยต้องเอาใจใส่ในทุกข์สุขของราษฎร และใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อความสงบสุขและเรียบร้อยของสังคม 

ในปี 2506 สฤษดิ์เป็นทั้งนายก หัวหน้าคณะปฏิวัติ  ผบ.สูงสุด ผบ.ทบ. อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีพัฒนาการแห่งชาติ
สฤษดิ์สนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติโดยในปี 2503 ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ห้ามการประท้วงและการชุมนุมเรียกร้องใดๆ  จึงดึงดูดทุนจากต่างประเทศเข้ามามาก ต่อต้านคอมมิวนิสต์ นำไปสู่แถลงการณ์ร่วมรัสค์ถนัด ที่สหรัฐพร้อมให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์และการก่อการร้าย มีการสร้างถนนมิตรภาพยาว 720 .. จากกรุงเทพฯ ถึงหนองคาย ที่มีเป้าหมายยุทธศาสตร์ทางทหาร

สฤษดิ์ เสียชีวิตด้วยโรคตับ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506 โทรทัศน์ได้แพร่ภาพพูมลำพองแตะหน้าผากของสฤษดิ์ก่อนตาย มีประกาศไว้ทุกข์ 21 วัน อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน วังรับเป็นเจ้าภาพงานศพสฤษดิ์ 100 วัน บรรจุศพในโกศทองคำใต้ฉัตรห้าชั้น พูมลำพองและสิริเกียรติไปเป็นประธานเผาศพในวันที่ 17 มีนาคม 2507 

เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังสฤษดิ์เสียชีวิต มีการเปิดเผยว่า สฤษดิ์สะสมทรัพย์สมบัติไว้ถึง 2,800 ล้านบาท กับที่ดินอีก 20,000 ไร่ โดยยักยอกจากรัฐบาลและงบช่วยเหลือจากต่างประเทศ สฤษดิ์เลี้ยงผู้หญิงไว้ปรนเปรอมากกว่า 100 คน มีการฟ้องร้องแย่งชิงทรัพย์สินมรดกเป็นข่าวอื้อฉาว ทำให้รัฐบาลถนอมต้องเริ่มสอบสวน เพียงสองวันก่อนการประทานเพลิงศพ


ถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อมา ได้สืบทอดความคิดและระบบการเมืองของสฤษดิ์ซึ่งก็คือ ระบบผู้นำแบบโบราณ ที่เน้นความเด็ดขาดขณะที่มีความตั้งใจทำประโยชน์ให้เกิดแก่ประชาชนโดยตรง โดยไม่สนใจระบบการเมืองการปกครองว่ามีความถูกต้องชอบธรรมเพียงใด ถือว่าการเมืองเป็นเรื่องวุ่นวายยุ่งยาก เน้นการบริหารและการพัฒนา คือมีรัฐบาลและระบบราชการทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนก็เพียงพอแล้ว 

จักราวีไล่ขยี้ผีคอมมิวนิสต์
 
พคท.ขยายตัวอย่างช้าๆ โดยได้รับการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยจากฮานอยและปักกิ่ง จากฐานที่มั่นบนเทือกเขาในภาคเหนือ และอิสาน ปลายปี 2505 จีนเริ่มกระจายเสียงวิทยุจากสถานีเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ( สปท ) ใช้ความถื่คลื่นสั้น รับฟังได้ทั่วประเทศ   การปะทะกันครั้งแรก เกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ที่หมู่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร สกลนคร แปดเดือนต่อมา ( 5 พฤษภาคม 2509 ) จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวออกจากคุก ก็ถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ในบริเวณใกล้ภูพาน

พวกขุนศึกนิยมเจ้าพยายามกระพือข่าวว่าประเทศไทยจะเป็นโดมิโนตัวต่อไปเหมือนที่เกิดในประเทศเวียตนามและลาว เพื่อเป็นข้ออ้างเพื่อของบประมาณจากสหรัฐและจัดตั้งกองอำนวยการปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอปค.) บัญชาการโดยรองนายกประภาส พร้อมที่ปรึกษาชาวอเมริกัน เพื่อสร้างกองทัพมหึมาขึ้นมา โดยมีสหรัฐเป็นพี่เลี้ยง

ทหารอเมริกันและไทย มีปฏิบัติการกองโจรในลาว โจมตีลาวและเวียตนามทางอากาศ จากฐานทัพในไทย เมื่อถึงปี 2508 มีทหารและหน่วยข่าวของสหรัฐอยู่ในไทยถึง 14,000 คน ปีถัดมาจำนวนเพิ่มเป็น 34,000 คนและเครื่องบินกว่า 400 ลำ สหรัฐฯยังได้ทุ่มเททรัพยากรเพื่อชนะใจประชาชนไทยด้วยการพัฒนา โดยหวังว่าจะไม่ให้ซ้ำรอยเวียตนาม แต่งบประมาณหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐส่วนใหญ่รั่วไหลเข้ากระเป๋าพ่อค้าใหญ่เจ้าที่ดินและพวกขุนศึกนายทหารที่ใช้งบซื้ออาวุธ ถึงสามเท่าของงบการศึกษา 

การปะทะระหว่างกองกำลังพคท. กับฝ่ายรัฐบาลมีเพิ่มมากขึ้น  ขณะที่กองทัพเอาแต่ทุจริตคอรัปชั่นและไร้ประสิทธิภาพ พูมลำพองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าไม่ได้ทำหน้าที่อย่างจริงจัง แต่ใช้เวลามากมายไปกับดนตรีแจ๊ส การแล่นเรือใบ การประลองความเร็ว และพิธีรีตองต่างๆสารพัด

พูมลำพองจึงต้องลดงานอดิเรกลง และมุ่งเข้าสู่สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ด้วยการออกงานพิธี และพบปะผู้คนบ่อยขึ้น แจกเครื่องราชให้กับผู้บริจาคเงิน รวมทั้งนายทหารและข้าราชการระดับสูง  เน้นเรื่องความสามัคคีของคนในชาติ เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามต่อชาติ ศาสนาและกษัตริย์ เริ่มโครงการแจกจ่ายพระพุทธนวราชบพิตรแทนตัวเจ้าทั่วประเทศ ให้พูมลำพองเป็นทั้งเจ้าและพระพุทธเจ้าหรือพระเจ้าไปพร้อมๆกัน กรมการศาสนาพยายามตั้งวัดหลวง เพื่อเป็นตัวแทนวงศ์จักราวีในแต่ละจังหวัด โดยพยายามสร้างเรื่องยกเมฆว่าท้องถิ่นนั้นๆมีความผูกพันกับวงศ์จักราวี

พูมลำพองยังได้แสดงความเป็นชายชาติทหารนักรบในมาดใหม่ ในบทบาทของจอมทัพไทยอย่างจริงจัง และได้ร้องขอให้สหรัฐเพิ่มความช่วยเหลือมากขึ้นในการรับมือกับคอมมิวนิสต์ รวมทั้งขอเครื่องบินทำฝนเทียม และเครื่องบินที่นั่ง ไว้สำหรับใช้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์
 ในปีเดียวกันพูมลำพองก็โน้มน้าวให้สหรัฐเร่งถล่มฮานอย ถึงกับตำหนิวอชิงตันที่ชะลอการโจมตีเวียตนามเหนือทางอากาศ ทั้งยังกำชับรัฐบาลถนอมให้ส่งกำลังทหารไปปราบปรามพคท.ในภาคอีสานให้มากขึ้น และให้รัฐบาลถนอมเรียกร้องการสนับสนุนจากสหรัฐฯมากขึ้น เนื่องจากไทยได้ตกลงยินยอมส่งกำลังทหารจำนวนมากไปสู้รบในเวียตนามตามคำขอของวอชิงตัน

พูมลำพองพยายามชี้ให้เห็นว่าว่ารากเหง้าของปัญหาคอม มิวนิสต์ นั้นมาจากภายนอก โดยเฉพาะชาวจีนที่เป็นแหล่งใหญ่ของพวกคอมมิวนิสต์ แถมยังประนามว่าคอมมิวนิสต์เลวร้ายกว่าเผด็จการทหาร หรือพวกนาซีและฟาสซิสต์เสียอีกและโจมตีนักศึกษาอเมริกันที่ออกมาประท้วงสงคราม ว่าเป็นพวกโง่เขลาที่ถูกคอมมิวนิสต์ปั่นหัว พูมลำพองพยายามผูกสัมพันธ์กับทหารและแสดงความเป็นผู้นำในภาวะสงคราม ไปเยี่ยมค่ายทหารและทหารบาดเจ็บตามโรงพยาบาล สวมชุดพรางของทหาร โดยมีสิริเกียรติอยู่เคียงข้างในชุดทหารเหมือนกัน วชิราพองก็ได้เข้าไปร่วมด้วย ก่อนจะถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษในเดือนมกราคม 2509 เมื่ออายุ 13 ปี 

พูมลำพองให้การทุ่มเทมากขึ้นต่อโครงการพัฒนาต่างๆ โครงการที่สำคัญคือพื้นที่หุบกะพงใกล้หัวหิน แม้ว่าได้สร้างถนนและแหล่งเก็บน้ำแล้ว แต่การเพาะปลูกยังไม่ได้ผล พูมลำพองอ้างว่าเป็นเพราะตัวชาวบ้านไม่ขยันพอและมักขายที่ให้กับนักเก็งกำไรที่ดิน แล้วย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองหรือกลับเข้าไปบุกรุกที่ดินของรัฐอีก ในปี 2510 พูมลำพองจึงต้องริเริ่มสหกรณ์เกษตรหมู่บ้านที่หุบกะพง เริ่มด้วยการจัดหาที่ดินให้เป็นกองกลางใช้เงินของวังและรัฐบาล ซื้อที่ดินเพิ่มเติม แล้วจัดสรรเป็นแปลงๆ สำหรับการเกษตรแบบรวมกลุ่ม 120 ครอบครัว ร่วมเป็นเจ้าของที่ดินราว 10,000 ไร่ แต่ไม่ให้ขายที่ดิน 

เจ้าหน้าที่จากวัง รัฐบาลและกองทัพปรับปรุงดิน ทำชลประทาน สอนการทำเกษตรวิธีใหม่ วางระบบสินเชื่อและสหกรณ์ ติดตั้งไฟฟ้าประปา มีทั้งนักธุรกิจและรัฐบาลอิสราเอลก็ช่วยระดมการสนับสนุนให้โครงการสำเร็จจนได้ แม้จะไม่คุ้มการลงทุน เพียงเพื่อสร้างภาพและไม่ให้พูมลำพองต้องขายหน้าเท่านั้นเอง 

โครงการแรกๆ อีกโครงการหนึ่งคือ โครงการนมโคเดนมาร์ก ก็ขยายเป็นสหกรณ์หนองโพราชบุรีในลักษณะเดียวกัน โดยวังแจกจ่ายแม่วัวแก่เกษตรกร ศูนย์รวมน้ำนม โรงงานแปรรูปและจำหน่าย ถูกสร้างขึ้นด้วยเงินจากวังและการบริจาค มีการจัดการเรื่องสินเชื่อ การดำเนินงานสหกรณ์ ทั้งยังจัดการและอุดหนุนการแจกจ่ายผลิตภัณฑ์นมไปยังโรงเรียนต่างๆ ซึ่งทำได้เพียงที่เดียว เพื่อเอาไว้อวดอ้างความสำเร็จของโครงการตามดำริ

วังยังได้เร่งโหมโครงการพัฒนาชาวเขาของตชด. โดยมีสังวอนทำหน้าที่ระหว่างที่กลับมาพักผ่อนประจำปีในประเทศไทย โดยให้ความช่วยเหลือทางสาธารณสุขแก่หมู่บ้านชาวเขา เดินทางไปในชุดพรางของตชด.

โดยเฮลิคอปเตอร์ของตชด. ลงมายังหมู่บ้านชาวเขา ขนาบด้วยทหารติดอาวุธครบมือ ในนามแม่ฟ้าหลวง ผู้เป็นตัวแทนของเจ้าเหนือหัวที่ปกป้องคุ้มครองประชาชน ซึ่งเหนือชั้นกว่ารัฐบาล หรือพวกคอมมิวนิสต์ ที่แทบไม่ได้ทำอะไรให้พวกเขาเลย
แพทย์ที่ติดตามจะให้การรักษาชาวเขา และทีมงานของสังวอน ก็จะแจกผ้าห่ม ยาและเงิน จากนั้นสังวอนก็จะอธิบายหลักพระพุทธศาสนา และแจกบทสวดมนต์ กับเครื่องรางของขลัง แล้วก็กลับขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินจากไป 
พูมลำพองได้มีบทบาท เรื่องนโยบายเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติมากขึ้น ระหว่างการเยือนอเมริกาเหนือ 25 วันในเดือนมิถุนายน 2510

ต้นปี 2510 สหรัฐฯขอให้ไทยส่งทหาร 20,000 นาย ไปเวียตนามใต้ สมทบกับกำลังพล 200,000 นายของสหรัฐฯ ไทยตกลง แต่ยังขอเจรจาเรื่องความช่วยเหลือของสหรัฐ
พูมลำพองเยือนสหรัฐเพื่อเจรจาเรื่องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐด้วยตนเอง
พูมลำพองให้สัมภาษณ์นักข่าวเน้นย้ำภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ทั่วโลก และย้ำว่าคนอเมริกันที่ต่อต้านสงครามเวียตนามได้ตกเป็นเหยื่อของการล้างสมอง 

พูมลำพองขอให้สหรัฐจัดการฝึกฝนและติดอาวุธทันสมัยให้ทหารไทยที่ไปช่วยรบเวียตนามและเพิ่มค่าตอบแทน ทั้งขอให้อเมริกายืนยันปกป้องประเทศไทย เพราะพูมลำพองรู้ว่ารัฐบาลสหรัฐต้องดำเนินนโยบายตามเสียงเรียกร้องของประชาชนอเมริกัน

พูมลำพองยังเข้าไปยึดคุม ตชด. ซึ่งดูแลการปราบปรามความไม่สงบ สังกัดกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย มีเฮลิค็อปเตอร์ 23 ลำได้จากสหรัฐฯ พร้อมมอบปืนเอ็ม-16 ใหม่เอี่ยมยังได้เงินสนับสนุนจากสำนักงานความปลอดภัยของรัฐ โดยพูมลำพองขัดขวางไม่ให้มีการโอนกองบินของตชด.ไปขึ้นกับกรมตำรวจ เพราะต้องการกันเอาไว้เป็นกองกำลังส่วนตัว รัฐบาลวอชิงตันได้เพิ่มงบประมาณและอาวุธให้ทหารไทยตามที่พูมลำพองร้องขอ ไทยส่งทหารงวดแรก 10,000 นายไปถึงไซ่ง่อนเป็นการตอบแทนในเดือนกันยายน 2510

นิวสวีค ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2510 ลงข่าวว่าพูมลำพองหวาดกลัวไม่กล้าลงจากเฮลิค็อปเตอร์ในการไปเยี่ยมค่ายทหารที่แม่สอด ตากใกล้ชายแดนพม่าในเดือนตุลาคม โดยเลือกที่จะอยู่แต่ในเฮลิคอปเตอร์ และให้ผู้ตามทำหน้าที่แจกจ่ายสิ่งของแทน 
ถนอมตั้งข้อหาว่าเป็นการหมิ่นเดชานุภาพ นิตยสารนิวสวีคได้กล่าวคำขอโทษ  ถนอมยืนยันว่าพูมลำพองได้ลงจากเฮลิคอปเตอร์ แต่เอกอัคราชทูตไทยประจำวอชิงตันเขียนชี้แจงถึงนิวส์วีค ว่าเหตุที่พูมลำพองต้องอยู่ในเฮลิคอปเตอร์เพราะไม่ต้องการให้ทหารต้องถอนจากแนวรบมาคุ้มกันตน  เวียตนาม ที่กำลังลุกลามอยู่ในอเมริกา และมีผลทำลายพันธกรณีที่สหรัฐฯมีต่อไทย สื่อมวลชนอเมริกันได้โจมตีประเทศไทยว่ามีผู้นำทหารเผด็จการที่ทุจริตคอรัปชั่นและไร้ความสามารถ วิลเลียม ฟุลไบร์ท วุฒิสมาชิกนักต่อต้านสงครามคนสำคัญกล่าวประณามไทยว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่สมควรจะได้รับความช่วยเหลือ ประธานาธิบดีจอห์นสันก็พูดว่าถนอมควรประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดให้มีการเลือกตั้ง

พูมลำพองบอกแก่นักศึกษาในปี 2510 ว่า ถ้าจับคนโกงไปประหารชีวิตให้หมด ก็คงจะเหลือคนอยู่ไม่กี่คน และ ตนเองก็หมดปัญญา พอกลับจากวอชิงตันก็เร่งให้ถนอมรีบประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้ง กำหนดประกาศใช้รัฐธรรมนูญในวันเกิด 5 ธันวาคม 2510 เพื่อสร้างภาพว่าตนเป็นผู้มอบประชาธิปไตย แต่ถนอมก็ดำเนินการอย่างเชื่องช้า เพราะกลัวว่าประภาสผู้เป็นรองนายกจะยึดอำนาจ ในที่สุดก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนได้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511

แม้จะเป็นประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบ คือได้ชื่อว่ามีรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญได้ให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลทหารของถนอม กำหนดให้มีสองสภา สภาล่างมาจากการเลือกตั้ง 219 คน สภาสูงมาจากการแต่งตั้งโดยเจ้า 164 คน พูมลำพองเห็นชอบรายชื่อวุฒิสมาชิกของถนอมที่มาจากทหารเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ถนอมคุมรัฐสภาได้โดยง่ายเพราะมีสว.ของตนในมืออยู่แล้ว ส..ห้ามเป็นรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา วุฒิสภามีอำนาจหน่วงเหนี่ยวร่างกฎหมายได้หนึ่งปี รวมทั้งอำนาจยับยั้งของเจ้า 

ให้รับรองกฎหมายทุกฉบับที่ออกโดยรัฐบาลชุดก่อนๆ รวมทั้งกฎหมายเผด็จการที่สฤษดิ์ใช้ปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วย เช่น กฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ถนอมมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการประกาศกฎอัยการศึกในภาวะฉุกเฉินเหมือนสฤษดิ์

วอชิงตันและวังเข้าช่วยรัฐบาลทหารในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2512 ทำให้คนของถนอมชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลวอชิงตันพอใจแค่รูปแบบการมีรัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้ง 

ในขณะที่พูมลำพองเริ่มเปลี่ยนท่าทีหันมาเป็นนักประชาธิปไตยอย่างชนิดผิดหูผิดตา เพราะกลัวความยิ่งใหญ่ของครอบครัวกิตติขจรและจารุเสถียร โดยมีข่าวว่า ประภาสกุมความลับกรณีการตายของอานาน และไม่ค่อยจะเกรงใจพูมลำพอง ดังนั้นพูมลำพองจึงต้องกลับลำหันมาแสดงบทบาทของนักประชาธิปไตย ต้องการให้มีการเลือกตั้งและยึดหลักนิติธรรมอย่างที่ไม่เคยมีวี่แววมาก่อน ทำให้คนไทยจำนวนมากกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล 

ฝ่ายค้านในสภาก็ถล่มรัฐบาลในเรื่องการทุจริตและเป็นลูกสมุนให้สหรัฐมากเกินไป และมีการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น การพิจารณางบประมาณประจำปี ต้องล่าช้านับเดือนเนื่องจากมีผู้ต้องการตัดงบประมาณของกองทัพ ถนอมและประภาสตอบโต้ด้วยการจับกุมผู้วิพากษ์วิจารณ์บางคน และสั่งปิดหนังสือพิมพ์ 

สื่อของสหรัฐได้โจมตีรัฐบาลเผด็จการถนอมรวมทั้งฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศที่อ้างว่าพูมลำพองอยู่ข้างเดียวกับพวกตน ทำเอาพูมลำพองวางตัวไม่ถูก เพราะพูมลำพองหวาดหวั่นต่อการเติบโตของคอมมิวนิสต์และเหตุการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมากและยังต้องหวังพึ่งพวกทหารขวาจัด ที่ชอบแก้ปัญหาด้วยวิธีการใช้กำลัง  

ปี 2510 พคท. ขยายงานถึงบริเวณเทือกเขาภาคเหนือ แถบเชียงรายและน่าน ยึดเขาค้อเป็นฐานที่มั่น มีการต่อสู้กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ  มีการโจมตีฐานทัพอากาศของสหรัฐ ที่อุดร  แต่พคท.ก็ยังเป็นแค่กองกำลังขนาดเล็กที่อยู่แต่ในป่าเขาโดยไม่พร้อมจะสู้รบกับรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบ

แต่หลังต้นปี 2511 เมื่อฮานอยโจมตีไซ่ง่อน แบบสายฟ้าแลบในช่วงเทศกาลตรุษญวน กองอำนวยการปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอปค.) ก็เลิกใช้นโยบายเกลี้ยกล่อมชักชวน และหันมาใช้วิธีกวาดล้างชาวบ้านที่ถูกสงสัยว่าสนับสนุนคอมมิวนิสต์ กองทัพและตชด.เริ่มเข่นฆ่าคุกคาม สร้างความสยดสยอง จับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์โยนลงมาจากเฮลิค็อปเตอร์  จับชาวบ้านยัดเข้าไปเผาในถังแดง  ตชด. บุกโจมตีหมู่บ้านชาวเขา โดยไม่เสียเวลาทำงานมวลชนสัมพันธ์อีกแล้ว ใช้วิธีบังคับอพยพชาวเขาลงมาพื้นราบ 

ในปี 2511 ประธานาธิบดีจอห์นสันสูญเสียความนิยมจากนโยบายสงครามเวียตนาม และประกาศไม่ลงสมัครอีก ขณะที่ฮัมฟรีย์และนิกสัน หาเสียงชูนโยบายถอนทหารจากเวียตนาม
เมื่อนิกสันชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ในเดือนมกราคม 2512 ได้ประกาศให้การดูแลป้องกันเวียตนามใต้เป็นเรื่องของคนเวียตนามเอง สองเดือนต่อมา ก็ประกาศแผนลดกำลังทหารสหรัฐในไทย ที่มีอยู่ 50,000 นาย วุฒิสมาชิกฟุลไบร์ท โจมตีประเทศไทยว่าเป็นประเทศบริวารของสหรัฐ ที่ทุจริตคอรัปชั่นและไม่เป็นประชาธิปไตย ชนชั้นนำของไทยวิตกว่าสหรัฐกำลังจะทิ้งไทย เหมือนที่ทิ้งเวียตนาม และไทยอาจถูกเวียตนามเหนือบุกเพราะไทยได้ส่งหทารไปช่วยรบกับเวียตนาม 

รัฐบาลถนอมเร่งมือปราบปรามคอมมิวนิสต์หนักขึ้นไปอีก ที่เขาค้อ เชียงใหม่ เชียงรายและพื้นที่อื่นๆ กองทัพระดมใช้อาวุธหนัก ทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิด ปืนใหญ่และเฮลิค็อปเตอร์โจมตีฐานที่มั่นของ พคท. ยิงขีปนาวุธ จรวดและทิ้งระเบิดนาปาล์มบริเวณป่าและหมู่บ้านที่ต้องสงสัย เหมือนที่สหรัฐเคยทำในเวียตนาม แต่กองทัพกลับประสบความสูญเสียมาก และผลักดันให้ชาวบ้านเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ 

ปี 2512 พคท. ประกาศสถาปนา กองทัพปลดแอกประชาชน แห่งประเทศไทย  (ทปท.) แต่ก็เป็นแค่กองกำลังอาวุธที่ไม่มีกำลังพอที่จะเคลื่อนลงมาจากป่าเขาได้เลย เป็นได้แค่เคลื่อนไหวสร้างกระแส ทั้งพูมลำพองและสิริเกียรติยังคงทำงานพิธีและการกุศลต่อไป ฟื้นพิธีเห่เรืองานกฐินหลวงในปี 2510 แสดงการสนับสนุนกองทัพต็มที่ ด้วยการไปเยี่ยมทหารที่ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาลและในแนวรบ ให้ตั้งสหกรณ์ในหมู่บ้านชาวเขา มีโครงการปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่น ที่ริเริ่มโดยหน่วยงานสหรัฐและสหประชาชาติ แต่ต้องยกให้เป็นความดีความชอบของพูมลำพองว่าเป็นผู้ริเริ่มและเป็นหัวหน้าของโครงการทั้งหมดแต่เพียงคนเดียว รวมถึงการมอบสัญชาติไทยแก่ชาวเขาราว 200,000 คน แต่ชาวเขายังคงถูกจำกัดการเดินทาง และลูกๆ ที่เกิดใหม่ก็ยังคงไม่ได้รับสัญชาติไทยแต่อย่างใด

พูมลำพองสอนนักศึกษาว่า การบริหารประเทศแบบสมัยใหม่ไม่ดีเท่าการปกครองโดยเจ้าแห่งวงศ์จักราวีแบบที่เคยเป็นมาในอดีต เพราะระบบการปกครองสมัยใหม่เป็นสิ่งนำเข้าจากตะวันตก และไม่สอดคล้องกับคนไทย ในขณะที่กฎหมายก็เหมือนกับทุนนิยมที่กลายเป็นเครื่องมือของการเอารัดเอาเปรียบและทำให้ประเทศชาติอ่อนแอ เป็นหลักการของต่างชาติที่ไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตของประชาชน และมักยกตัวอย่างสหกรณ์หุบกระพง ที่ประจวบคีรีขันธ์ที่ตนเป็นผู้อุปถัมถ์ ขึ้นมาเป็นตัวอย่างของความสำเร็จเพราะไม่มีระบบราชการที่อืดอาดและไม่มีประสิทธิภาพ แต่โครงการของเจ้าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า ใช้ทุนไม่มาก ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ ไม่มีการรั่วไหลจากการทุจริตคอรัปชั่น กลายมาเป็นประเด็นหลักที่พูมลำพองมักนำมาอ้างเพื่อเปรียบเทียบความล้มเหลวของระบบราชการและระบอบทุนนิยม กับความสำเร็จของโครงการเจ้า พูมลำพองยังมองว่าคนไทยไม่คิดดิ้นรนขวนขวาย ไม่รู้จักทุ่มเทความพยายาม เพื่อความเจริญก้าวหน้าของตนเอง

ในเดือนมิถุนายน 2512 พูมลำพองได้แสดงความเห็นต่อผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา ว่าการใช้รถแทร็คเตอร์ในการทำนาทำไร่ จะทำให้พวกชาวไร่ชาวนาขี้เกียจและคอยแต่พึ่งพาเครื่องมือสมัยใหม่ เพราะชาวนาชาวไร่มีนิสัยเกียจคร้านอยู่แล้ว แม้แต่จะดายหญ้าในไร่สวน ก็ไม่อยากทำอยู่แล้วทั้งๆที่มีจอบเสียมที่ยังใช้ได้อยู่ และถ้าพวกชาวนาชาวไร่พวกนี้รู้จักทำงานด้วยมือของตนเอง ก็คงจะประสบความสำเร็จและความเจริญมากกว่าที่เป็นอยู่

และได้สาธยายเหมือนพระเทศน์ไปเรื่อยๆ ยกเหตุยกผลไล่เรียงอย่างยืดยาด เตือนให้ทุกคนยึดมั่นภาระหน้าที่ รักษาความสามัคคีและความสงบเรียบร้อย แต่ไม่เคยชี้ชัดให้ใครทำอะไร ปล่อยให้คนฟังไปตีความกันเอง  

คำสอนของพูมลำพองทำให้นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย นักศึกษาและผู้นำแรงงานที่ถูกกดหัวมานานพากันทึกทักเอาเองว่าเจ้าสนับสนุนการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาชน ในขณะที่ประชาชนไทยมีความตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยมากขึ้น ประชากรกรุงเทพและชนชั้นกลางก็เพิ่มขึ้นมากกว่าที่เคยมีมากว่า 200,000 คน และนักศึกษามหาวิทยาลัยเพิ่มจาก 20,000 คน เป็นกว่า 100,000 คน แรงงานนอกภาคการเกษตรของไทยมีกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านสงคราม และเชิดชูประชาธิปไตย สส.คัดค้านรัฐบาลถนอมเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณทางทหารจำนวนมาก

พูมลำพองออกโรงสนับสนุนให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทำให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลถนอมหนักขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเสนีย์และคึกฤทธิ์ วิจารณ์โจมตีรัฐบาลในปี 2513 โดยเขียนในหนังสือพิมพ์สยามรัฐว่า ประชาชนยิ่งจนลงและทุกข์เข็ญมากขึ้นเรื่อยๆ อาชญากรรมและโจรผู้ร้ายชุกชุม โจรการเมืองมีอยู่ทั่วไป โดยที่พวกตนมีความจงรักภักดีต่อเจ้า ทำให้นักเคลื่อนไหว เชื่อว่าเจ้าเข้าข้างพวกตน โดยมองข้ามความจริงว่าเจ้าได้สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารมาตลอด และเป็นที่ทราบกันดีว่าพูมลำพองโปรดปรานถนอมเป็นการส่วนตัวมาก แม้ว่าจะไม่ค่อยชอบประภาส เพราะประภาสกำความลับกรณีการเสียชีวิตของอานาน และมีการเปรยทำนองขู่ให้พูมลำพองได้ยินบ่อยๆ

ในขณะที่นักศึกษา ผู้ใช้แรงงานและนักการเมืองเคลื่อนไหวมากขึ้นทุกที ทำให้พูมลำพองวิตกว่า อาจเกิดความรุนแรงขึ้น ดังนั้นในปี 2513 พูมลำพองจึงเปลี่ยนมาเตือนนักศึกษาให้ระงับความร้อนแรง มีความอดทน ไม่ทำแบบต่างประเทศ ต้องเรียนให้จบก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนแปลงสังคมภายหลัง ควรปล่อยเรื่องของบ้านเมือง ให้เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจรับผิดชอบ

พูมลำพองได้ตำหนินักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ในเดือนมีนาคม 2513 ที่จัดการชุมนุมคัดค้านประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีเข้าไปแทรกแซงอำนาจของศาล ด้วยการให้คุณให้โทษต่อคณะผู้พิพากษาได้ การประท้วงทำให้คณะปฏิวัติต้องยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว โดยพูมลำพองได้ตำหนิว่าเรื่องในกระทรวงยุติธรรมต้องให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานแก้ไข ไม่ใช่หน้าที่ของนักศึกษา ปีถัดมาพูมลำพองก็ต่อว่านิสิตและคณาจารย์จุฬาที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับประภาส ผู้เป็นอธิการบดี ที่ขายที่ดินของมหาวิทยาลัยให้พวกพ้องในราคาถูก โดยตำหนิว่าไม่ควรประท้วง แต่ควรนำเรื่องไปหารือกับนายกถนอม 

รัฐบาลถนอมเริ่มหวั่นวิตกจากการที่ประธานาธิบดีนิกสัน หันมาสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในกลางปี 2514 เกรงว่าสหรัฐจะไม่เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นที่ไทยจะพึ่งพาอาศัยได้อีกต่อไป  นักศึกษาและผู้ใช้แรงงานประท้วงบ่อยขึ้น สส.จำนวนมากเห็นว่า ควรเปลี่ยนตัวผู้บริหารประเทศจากถนอมและประภาส

ถนอมตัดสินใจทำรัฐประหารตัวเอง เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 โดยอ้างภัยจากต่างชาติ และความไม่สงบของสถานการณ์ในประเทศ พร้อมทั้งประกาศจัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติเพื่อปกครองประเทศ โดยถนอมเป็นประธานสภาคณะปฏิวัติ มีผู้อำนวยการสี่ฝ่ายคือ 1.ประภาส  อำนวยการฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง 2. พจน์ สารสิน เป็นฝ่ายเศรษฐกิจและ การคลัง 3.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นฝ่ายเกษตรและคมนาคม 4. ประเสริฐ รุจิวงศ์ เป็นฝ่ายศึกษาและสาธารณสุข

รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีถูกยุบ ประกาศใช้กฎอัยการศึก อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือสภาบริหารคณะปฏิวัติ ถนอมเป็นนายก ผบ.สูงสุด และรัฐมนตรีต่างประเทศ

ประภาสเป็นรองนายก รัฐมนตรีมหาดไทย อธิบดีตำรวจ รองผบ.สูงสุด ผบ.ทบ.และผอ.อำนวยการปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอปค.) ตลอดจนเป็นประธานหรือรองประธานรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนอีกนับไม่ถ้วน 

ขณะที่ประภาสกำลังจะเกษียณเพราะอายุ 60 ปี แต่กลับต่ออายุตนเอง ขณะที่มีแต่ข่าวการทุจริตคอร์รัปชั่น สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน และมีเสียงเรียกร้องให้คณะปฏิวัติรีบประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยในปี 2515 เป็นปีสถาปนาวชิราพอง ซึ่งมีอายุครบ20 ปีขึ้นเป็นทายาท จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่ถูกต้องตามธรรมเนียม จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อ วันที่ 15 ธันวาคม 2515 โดยมีเพียง 23 มาตรา ให้มีสภาเดียว แต่ห้ามอภิปรายหรือเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี

ศิริ สิริโยธิน เป็นประธานสภานิติบัญญัติ ถนอมเป็นนายก เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อรุนแรง รัฐบาลลดรายจ่าย ทำให้นักศึกษาจบใหม่หางานทำยาก ผลผลิตข้าวตกต่ำ ในปี 2516 คนกรุงเทพต้องเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อซื้อข้าวสารปันส่วนที่ทางราชการนำมาขายในราคาควบคุมและซื้อได้คนละไม่เกิน 10 กิโลกรัม ตามด้วยการขาดแคลนน้ำตาลทราย มีการประท้วงของกรรมกรเพิ่มขึ้นอย่างมาก

การปะทะกับพคท. ทวีความเข้มข้นขึ้นเช่นกัน รัฐบาลถนอมได้ปฏิบัติการรุกครั้งใหญ่ เรียกว่ายุทธการภูขวาง หรือการฝึกร่วมประจำปี 2515 โดยมีณรงค์ กิตติขจรเป็นผู้อำนวยการ ใช้กำลังทหาร ตำรวจและพลเรือนรวม 15,510 นาย ในพื้นที่รอยต่อ3จังหวัด ( พิษณุโลก - เพชรบูรณ์ -เลย ) แต่รัฐบาลสูญเสียทหารไปถึงสองสามร้อยคน ขณะที่พคท. สูญเสียเพียงเล็กน้อย รัฐบาลปฏิบัติการรุกครั้งต่อมาในเดือนตุลาคม เรียกว่ายุทธการสามชัย หรือการฝึกร่วม 2516 ระดมนาวิกโยธินเข้าร่วม ใช้ปืนใหญ่และเครื่องบินทิ้งระเบิดปูพรมเพื่อเปิดทางให้ทหารราบเข้าโจมตี แต่ก็ล้มเหลวอีกเช่นกัน 

มีการรายงานกระจายข่าวผ่านสื่อถึงความล้มเหลวในการรุกทั้งสองครั้งของรัฐบาล เปรียบเทียบเหมือนความล้มเหลวของสหรัฐในเวียตนาม โดยตำหนิว่าเป็นความผิดพลาดของณรงค์ ลูกชายตัวแสบของถนอมและเป็นลูกเขยของประภาส  

14 ตุลา พูมลำพองฉลองชัย

ชนวนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 14 ตุลา 2516 เกิดขึ้นในวันที่ 29 เมษายน 2516 เมื่อเฮลิคอปเตอร์ทหาร เกิดอุบัติเหตุตก ที่ อ.บางเลน นครปฐม ในซากเฮลิคอปเตอร์นั้นพบซากสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก ที่ล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวร กาญจนบุรี นักศึกษารามคำแหงเก้าคนได้รวมกลุ่มกันออกหนังสือของชมรมคนรุ่นใหม่มีข้อความว่า สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกไม่เป็นที่ไว้วางใจ
 


ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์
อธิการบดีรามคำแหงได้สั่งลบชื่อนักศึกษาจำนวนเก้าคนออก ทำให้นักศึกษารามคำแหงรวมตัวประท้วง ต่อมามีการเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายในหกเดือน

วันที่ 13 ตุลาคม ประชาชนราว 400,000  คนชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและรัฐสภา รัฐบาลได้ปล่อยผู้ต้องหาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญทั้ง 13 คนในเช้าวันนั้นเพื่อลดการเผชิญหน้าบ่ายวันนั้น พูมลำพองให้ถนอมและประภาสเข้าพบและพวกเขารับปากว่าจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากนั้นพูมลำพองให้ตัวแทนนักศึกษาทั้ง 13 คนเข้าพบในวังจิตรดา ตัวแทนนักศึกษาก็ออกมารายงานว่ารัฐบาลยินยอมที่จะให้มีรัฐธรรมนูญภายใน 12 เดือน

วสิษฐ เดชกุญชร ผู้ประสานได้บอกว่าพูมลำพองไม่ได้มีใจให้กับข้อเรียกร้องของนักศึกษาเลย พูมลำพองบอกนักศึกษาว่าควรเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อาวุโส ไม่ควรประท้วงโดยเปรียบเทียบว่า 
กระทั่งลิงที่ฉลาดที่สุดก็ยังใช้เท้าเกาหัว มนุษย์ฉลาดกว่าลิง เพราะเราใช้มือเกาหัวและใช้เท้าเดิน ดังนั้นเวลาเรามีปัญหา เราควรใช้ปัญญาหาทางออกและไม่ควรใช้เท้า ” แต่ตัวแทนนักศึกษาก็ยังฮึกเหิมเพราะได้เข้าพบพูมลำพอง พวกเขาออกจากสวนจิตรประกาศชัยชนะ และบอกให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการความชัดเจนเพราะระยะเวลาสิบสองเดือนนั้นนานเกินไป และสามทรราชก็ยังคงอยู่ในอำนาจ โดยผู้ชุมนุม 50,000 คนยังคงค้างคืนที่หน้าสวนจิตรดา ตัวแทนนักศึกษาสองคนได้ขอเข้าวังเพื่อขอความชัดเจนจากพูมลำพอง และได้พบวสิษฐและทองน้อย ทองใหญ่ ที่บอกตัวแทนนักศึกษาว่าพูมลำพองไม่ให้พวกเขาเข้าพบอีกแล้ว พร้อมทั้งได้ย้ำต่อตัวแทนนักศึกษาถึงข้อตกลงระหว่างพูมลำพองกับถนอมและประภาส ...โดยได้เอาโอวาทของพูมลำพองมาอ่านให้ฟัง ความว่า..

 “ คนที่เป็นผู้ใหญ่นั้นเขามีประสบการณ์ ส่วนคนหนุ่มสาวมีพลังแรงทั้งร่างกายและทั้งความคิด ถ้าหากมาปรองดองสมัครสมานกัน ทำงานอย่างพร้อมเพียงไม่ผิดใจแคลงใจกัน การบ้านการเมืองก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี นิสิตนักศึกษาก็เป็นผู้ที่ผ่านการทดสอบเลือกเฟ้นมาเป็นที่แน่นอนแล้วว่า มีทั้งสติและปัญญาพร้อมมูล จึงควรจะได้รู้ถึง ความคิดผิดชอบชั่วดีทุกอย่าง เมื่อท่านนิสิตนักศึกษาได้ดำเนินการมาตรงเป้าหมาย และได้รับผลตามสมควรแล้ว ก็ขอให้กลับคืนสู่สภาพปรกติเพื่อยังความสงบเรียบร้อยให้เกิดแก่ประชาชนทั่วไป

เมื่อได้ฟังโอวาทแล้ว กรรรมการศูนย์นิสิตได้ขอให้ฝูงชนแยกย้ายกลับบ้าน จากนั้นฝูงชนก็เริ่มสลายตัว แต่มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น สั่งให้ตำรวจปราบปรามจลาจลปิดแนวกั้นให้ประชาชนถอยกลับไปออกทางเดิม ผู้เดินขบวนหลายคนเริ่มขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจเพื่อให้ตำรวจหลีกทางให้ แต่คอมมานโดใช้กระบองตีและดันกลุ่มผู้เดินขบวนให้ถอยไป ทำให้ประชาชนหันหน้ามารวมกำลังกันต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ นี่คือจุดเริ่มต้นของการนองเลือดและการจลาจล

จนกระทั่ง 19.40 น. พูมลำพองก็ออกรายการโทรทัศน์พูดว่า วันที่ 14 ตุลาคม เป็นวันมหาวิปโยค รัฐบาลถนอมได้ลาออกแล้ว และตนได้แต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกคนใหม่
เห็นได้ชัดว่าพูมลำพองออกโรงสนับสนุนเผด็จการทหารมาโดยตลอด และแทบไม่เคยสนองข้อเรียกร้องของนักศึกษาแต่อย่างใด ถนอมกับประภาสยังคงอยู่ในอำนาจ และมีการรับปากที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเวลาที่ยาวนานถึงหนึ่งปี ชี้ให้เห็นว่าพูมลำพองไม่เคยมองว่าถนอมกับประภาสเป็นปัญหา และยังพยายามสยบนักศึกษาด้วยเงื่อนไขที่เลื่อนลอย ซึ่งมีส่วนที่นำไปสู่ความรุนแรง หลังจากกองทัพสังหารผู้ชุมนุมไปแล้วหลายสิบคน พูมลำพองถึงได้ขยับมาจัดการสามทรราช ฉวยโอกาสโค่นอำนาจของขุนศึก แต่มิได้สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด พูมลำพองเอาแต่ตำหนิติเตียนการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นเรื่องวุ่นวายและไม่จำเป็น เพราะพูมลำพองมิได้มีปัญหากับเผด็จการทหาร แต่มีปัญหากับประชาชนต้องการประชาธิปไตยมากกว่า  

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ได้นำพูมลำพองมาเป็นผู้ทรงอำนาจที่สุดในระบบการเมืองของไทย สามารถทวงคืนอำนาจเจ้าแบบโบราณที่เคยมีก่อนปี 2475 หลายคนหลงเชื่อว่าพูมลำพองทำงานแบบปิดทองหลังพระ รวมทั้งพูดเกินจริงว่า แทบไม่มีหมู่บ้านใดที่พูมลำพองไม่ได้ไป และมีคนไทยน้อยคนนักที่ไม่เคยได้พบเห็นหรือเข้าพบพูมลำพองอย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่ง

พูมลำพองได้ทุ่มเททำงานอย่างจริงจัง จนดูจะเกินความจำเป็นในฐานะที่เป็นเจ้า ของประเทศที่มีแต่ความสงบและอุดมสมบูรณ์ ที่จริงยังมีหมู่บ้านอีกนับพันนับหมื่นแห่งที่ยังไม่มีโรงเรียนหรือสถานพยาบาล คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นพูมลำพองตัวเป็นๆ แต่ประชาชนก็ยังเรียกร้องต้องการเจ้าผู้สูงส่งที่จะเป็นหลักยึดและเป็นผู้นำในการต่อสู้กับความไม่สงบ และพวกคอมมิวนิสต์หรืออะไรก็ตามที่คุกคามความเป็นชาติไทย นิสิตนักศึกษาก็เชื่อว่าพูมลำพองสนับสนุนประชาธิปไตย เป็นที่พึ่งสุดท้ายของนักศึกษาและประชาชนในการต่อสู้กับสามทรราช 

เหตุการณ์ 14 ตุลา นำประชาชนผู้รักประชาธิปไตย มาร่วมกันขับไล่สามทรราช แต่หลังจากสามทรราชออกไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรยึดโยงพวกเขาไว้ด้วยกัน แม้จะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และรัฐบาลพระราชทาน แต่เจตนารมณ์ของประชาธิปไตยก็เสื่อมคลายลงเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น พูมลำพองได้แต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี เป็นนายก

สัญญาเป็นผู้พิพากษาที่ซื่อสัตย์ธัมมะธัมโม ใกล้ชิดกับวังตั้งแต่เมื่อทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะผู้พิพากษาคดีสวรรคต ดูแลเรื่องคำให้การของพูมลำพองที่ลงท้ายด้วยการตัดสินประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์สามคน เพียงเพื่อปิดคดีและให้พูมลำพองกล้าเดินทางกลับประเทศไทยอย่างผู้บริสุทธิ์  สัญญาเป็นแค่ที่ปรึกษาและตัวแทนของพูมลำพอง สัญญาได้เลือกคนของวังมาร่วมครม. และจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จในวันที่ 8 มกราคม 2517

โดยพูมลำพองคัดเลือกคน จากทุกอาชีพ มาประชุมกันในสนามม้านางเลิ้ง ให้แต่ละคนเสนอชื่อ 100 คนให้เลือกกันเองให้เหลือ 299 คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ  ได้คนมีชื่อเสียงอย่างคึกฤทธิ์ และป๋วย เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนี้คล้ายกับปี 2489 และให้มีการลงประชามติก่อน แต่กลุ่มนิยมเจ้าของเกษม จาติกวณิช ได้ล้มร่างและเขียนขึ้นใหม่โดยเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหาร และให้เจ้า มีอำนาจประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่งตั้ง และถอดถอนข้าราชการส่วนบนสุดทั้งกองทัพและข้าราชการ แต่งตั้งวุฒิสภา โดยประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนอง วุฒิสภามีอำนาจเหนือกว่าสภาผู้แทนราษฎร การยืนมติของสภายับยั้งเจ้าต้องใช้เสียงสองในสามของทั้งสองสภา รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ต้องลงประชามติ เพียงแต่ผ่านสภาสนามม้าเท่านั้น และได้ประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2517  นายกสัญญาถึงกับขอลาออก แต่ก็ถูกพูมลำพองยับยั้งไว้ ต้นปี 2518 ทางวังแก้ไขให้นายกเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งวุฒิสมาชิกแทนที่จะเป็นประธานองคมนตรี เพราะเป็นการเปิดเผยบทบาทของเจ้ามากเกินไป

เหตุการณ์
14 ตุลาได้เปิดทำนบความกดดันอัดอั้นที่สั่งสมมานานกว่า 20 ปี ในช่วงปี 2517 มีการประท้วงหยุดงานหลายแห่ง ตลอดปี 2517 กลุ่มชาวนาหลั่งไหลเข้ามากรุงเทพร้องเรียนสารพัดเรื่อง โดยมีนักศึกษาสนับสนุน


นักศึกษาเคลื่อนไหวเปิดโปงบทบาทของซีไอเอในการชักใยรัฐบาลและความโหดร้ายป่าเถื่อนของกองทัพที่กระทำต่อประชาชน เช่น กรณีถังแดง การเผาหมู่บ้านนาทราย  ปลายปี 2517 พระสายปฏิรูปอดข้าวประท้วงสังฆราชให้เปิดคดีพระพิมลธรรม ที่ถูกสฤษดิ์จับสึก ขึ้นมาพิจารณาใหม่ ทำให้พระพิมลธรรมพ้นข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ แต่ก็ไม่ได้ชั้นยศกลับคืน 
การประท้วงผ่อนลงก่อนการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2518 มีพรรคการเมืองเข้ามาในสภา 22 พรรค ประชาธิปัตย์ได้สส.มากที่สุด เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลผสม โดย เสนีย์ หัวหน้าพรรคเป็นนายก แต่ฝ่ายอนุรักษ์โค่นรัฐบาลเสนีย์ และตั้งรัฐบาลจากพรรคปีกขวากับพรรคกิจสังคมของคึกฤทธิ์ โดยคึกฤทธิ์เป็นนายก 

รัฐบาลคึกฤทธิ์ ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไป โดยเริ่มนโยบายที่ก้าวหน้า แข่งกับโครงการของเจ้า โดยประกาศกระจายความมั่งคั่ง แก้ไขระบบภาษี ปรับปรุงการบริหารงาน ประกาศการปฏิรูปที่ดิน การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของคนในชนบท ประกาศค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มงบพัฒนาชนบท กระจายอำนาจ ให้เลือกผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร บริหารดูแลท้องถิ่นด้วยตนเอง  

คึกฤทธิ์พยายามปฏิรูปที่ดินในนามของพูมลำพองโดยขอให้เจ้าที่ดินบริจาคที่ดินบางส่วน หรือขายรัฐบาลในราคาถูก เพื่อแจกจ่ายให้ชาวนาที่ไม่มีที่ทำกิน ผู้บริจาคที่ดินรายแรก คือจิตติ ติงศภัทิย์ ปรมาจารย์นักกฎหมายไทย โดยยกที่ดินกว่าสองหมื่นไร่ให้พูมลำพองอย่างเงียบๆ แล้วพูมลำพองก็บริจาคต่อในนามของตนเพื่อเป็นแบบอย่างแต่ไม่มีใครร่วมบริจาคที่ดินอีก แม้แต่พวกเจ้าที่ร่ำรวยก็ตาม ทำให้โครงการต้องล้มเลิกไป

ต่อมาวังไม่พอใจมาก เมื่อคึกฤทธิ์ให้สหรัฐถอนกำลังทหาร 25,000 นาย พร้อมเครื่องบินและเฮลิค็อปเตอร์ 350 ลำออกไปจากประเทศไทยภายในหนึ่งปี รัฐาลคึกฤทธิ์เปิดสัมพันธไมตรีกับเวียตนามและจีน และประกาศจะยกเลิกกฏหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ข่มเหงรังแกประชาชนมาตลอด
นโยบายของคึกฤทธิ์แม้จะได้รับความนิยม แต่ก็ไม่คืบหน้าเพราะกองทัพ และฝ่ายค้านในสภา รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นฝ่ายขวาจัดเอง โครงการช่วยเหลือเกษตรกรคั่งค้างอยู่ในระบบราชการ ค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่มีการบังคับใช้ รัฐบาลคึกฤทธิ์เสี่ยงต่อการถูกรัฐประหารตลอดเวลา และพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ร่วมมือกับกองทัพในการปกป้องกฏหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และขัดขวางความริเริ่มในนโยบายต่างประเทศของคึกฤทธิ์ 

รัฐบาลคึกฤทธิ์พยายามใช้ระบบรัฐสภา เพื่อสร้างสรรค์นโยบายใหม่ๆ แต่คนที่มีอำนาจจริงๆ พยายามทำให้ระบบรัฐสภาล้มเหลว เพื่อพิสูจน์ว่าระบบรัฐสภาใช้การไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อพูมลำพองส่งสัญญาณให้นายกคึกฤทธิ์ลาออก ในต้นปี 2519 เพราะเชื่อว่าประชาธิปไตยคงไปไม่รอด โดยพูมลำพองเลือกอยู่ข้างฝ่ายอนุรักษ์นิยมเผด็จการล้าหลัง ที่ปฏิเสธอำนาจของปวงชน พูมลำพองพยายามแสดงท่าทียึดมั่นในเจตนารมณ์ของวีรชน 14 ตุลา โดยไปร่วมพิธีรำลึกผู้เสียชีวิตที่สนามหลวงในวันที่ 14 ตุลาคม 2517 

หลังจากนั้น มีการแบ่งที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินของพูมลำพอง บริเวณสี่แยกคอกวัว ราชดำเนิน เพื่อสร้างอนุสาวรีย์วีรชน ในขณะที่พูมลำพองร่วมมือกับกลุ่มเผด็จการทหาร และกลุ่มขวาจัด จัดตั้งขบวนการขวาพิฆาตซ้าย ที่เชื่อว่าพวกนักศึกษา กรรมกรและชาวนาที่ทำการประท้วงเป็นสายจัดตั้งของพคท.และเวียตนามเหนือ

ขณะที่เรดการ์ดที่นำโดยนักศึกษาในจีนกำลังดำเนินการปฏิวัติวัฒนธรรม นักศึกษาอเมริกันประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีนิกสันและเรียกร้องให้สหรัฐถอนทหารจากเวียตนาม พวกอนุรักษ์ขวาจัดของไทยบอกว่า ฮานอยจะบุกไทย ทูตสหรัฐประจำไทยบอกว่านักศึกษาไทยเป็นพวกคอมมิวนิสต์ที่อันตราย การขยายตัวของพคท.ส่วนมากมาจากเจ้าหน้าที่ไปข่มเหงรังแกประชาชน แต่ผู้นำนักศึกษาส่วนใหญ่ยังคงยึดถือพูมลำพองเป็นเสาหลัก ทั้งๆที่พูมลำพองวิจารณ์นักศึกษาครั้งหลายครั้ง ทั้งอบรมนิสิตจุฬา ให้ตั้งใจเรียนและสงบเงียบ ตำหนิชาวนาที่ออกมาประท้วง พูมลำพองเอนเอียงใกล้ชิดสนิทสนมกับพวกทหารขวาจัดมากขึ้น สิริเกียรติก็แวดล้อมด้วยบรรดานายทหาร วชิรพองก็เข้าเรียนวิทยาลัยทหารออสเตรเลีย เวลากลับประเทศไทย ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่กับทหารพี่เลี้ยง 

วังกับกองทัพใกล้ชิดกันมาก ขณะที่กองทัพเป็นไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่นละหย่อนยานไร้ประสิทธิภาพ กองทัพไทยมีนายพลถึง 600 คน และมีพลเอกถึง 24 คน โดยหลายคนร่ำรวยจากการทุจริตคอรัปชั่นและแย่งอำนาจกัน 
เวลาที่พูมลำพองให้โอวาทเรื่องการทุจริตคอรัปชัน ก็จะพูดถึงแต่นักการเมืองโดยตั้งใจไม่พูดถึงการโกงกินที่ระบาดไปทั่วในกองทัพ 

หลังจากถนอมกับประภาสกระเด็นออกไปแล้ว กองอำนวยการปราบปรามคอมมิวนิสต์(กอปค.) ก็เปลี่ยนชื่อเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอรมน.) โดยมีนายพลคนสนิทของพูมลำพองเข้าไปเป็นที่ปรึกษา ที่กลับใช้ความรุนแรงมากขึ้น เดือนพฤศจิกายน 2516 กอรมน.เริ่มยิงระเบิดถล่มหมู่บ้านชาวเขา ในภาคเหนือเป็นเวลาหลายเดือน รวมทั้งปฏิบัติการร่วมกับกลุ่มขวาจัดบ่อนทำลายฝ่ายซ้ายในกรุงเทพและต่างจังหวัดด้วยการโฆษณาชวนเชื่อและใช้ความรุนแรง ในนามของขบวนการพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งพูมลำพองก็รู้เห็นและสนับสนุนปฏิบัติการทั้งหมดนี้

องค์กรมวลชนผู้รักชาติองค์กรแรก คือลูกเสือชาวบ้าน ที่ถูกปลูกฝังให้เชื่อมั่นในพูมลำพองและสิริเกียรติ ให้เชื่อว่าพวกคอมมิวนิสต์และนายทุนเป็นสาเหตุของความเดือดร้อน มีโปสเตอร์โฆษณาติดตามหมู่บ้านเป็นภาพเปรียบเทียบคอมมิวนิสต์เป็นผู้ชายคนจีนและชาวบ้านที่ยากจนทุกข์เข็ญ อีกข้างหนึ่งเขียนว่าสันติภาพ เป็นภาพพูมลำพองพบปะพสกนิกรที่ยิ้มแย้มอิ่มเอิบ คล้ายภาพฝาผนังตามวัดที่เปรียบเทียบนรกและสวรรค์

เมื่อการก่อการร้ายขยายตัว วังจำเป็นต้องสร้างมวลชนของตนในชนบท โดยอาศัยแบบอย่าง จากกองเสือป่าของราวุธ สมควร หริกุล นายตำรวจตชด.ได้ก่อตั้งลูกเสือชาวบ้านขึ้นมาเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในเดือนสิงหาคม 2514 โดยให้แต่ละครอบครัวส่งตัวแทนเข้าฝึกอบรมเข้มข้นเป็นเวลาสามวันโดยตชด. เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ความเป็นไทยผูกโยงความรักภักดี ความสามัคคี มีระเบียบวินัย ยึดมั่นชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยมีพูมลำพองและสิริเกียรติเป็นพ่อและแม่ของทุกคน ซึ่งยังคงมีการอบรมลักษณะนี้โดยกอ.รมน.มาจนถึงทุกวันนี้ 

ตชด.จะย้ำถึงภัยของคอมมิวนิสต์ โดยบอกลูกเสือชาวบ้านว่าเวียตนามเหนือกำลังใช้พคท.เป็นเครื่องมือที่จะยึดครองประเทศไทย โดยที่เวียตนามใต้ ลาวและกัมพูชาได้พ่ายแพ้ไปแล้วเนื่องจากไม่มีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ให้เผยแพร่ขยายเครือข่ายการต่อๆกันไป
เครื่องแบบของลูกเสือชาวบ้าน คือผ้าพันคอที่ได้รับการปลุกเสกโดยพูมลำพองเอง ในพิธีประทานที่ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งพูมลำพองก็มาประทานด้วยตนเอง

คนไทยหลายแสนคนผ่านการฝึกอบรมสามวัน ที่เต็มไปด้วยการประณาม พคท. เวียตนามและนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว ว่ากำลังทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เหมือนที่พม่าเคยทำลายกรุงศรีอยุธยา พูมลำพองและครอบครัวแจกผ้าพันคอกับธงลูกเสือชาวบ้าน รวมๆแล้วมากกว่าปริญญาที่แจกแก่นักศึกษาเสียอีก กอรมน.ได้เข้ามาจัดการควบคุมดูแลให้ลูกเสือชาวบ้านกลายเป็นมวลชนจัดตั้งของทหารขวาจัด มีการจัดตั้งมวลชนอีกสองกลุ่มเพื่อปฏิบัติการนอกระบบในนามของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ คือ กระทิงแดงกับนวพล

กระทิงแดงส่วนใหญ่เป็นอดีตทหาร ทหารรับจ้าง อดีตนักโทษและนักเรียนช่างกล ก่อตั้งเมื่อต้นปี 2517 โดยเจ้าหน้าที่ กอรมน.สุตสาย หัสดิน โดยอบรมว่านักศึกษาและนักเคลื่อนไหว เป็นคอมมิวนิสตที่คุกคามเจ้า กระทิงแดงกลายเป็นกองกำลังปฏิบัติงานก่อกวนการชุมนุม และคุกคามผู้นำฝ่ายซ้าย โดยออกโรงครั้งแรกเมื่อพูมลำพองไปทำพิธีรำลึกผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อปี 2517 ที่สนามหลวง รายล้อมพูมลำพองและครอบครัว พร้อมทั้งประกาศว่าพูมลำพองกำลังตกอยู่ในอันตรายจากการซุ่มยิงโดยนักศึกษา ที่ซ่อนอยู่ในธรรมศาสตร์

ส่วนนวพล เป็นขบวนการจัดตั้งของกอรมน. ในปี 2517  โดยอดีตเจ้ากรมข่าวทหาร วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ นวพลแปลว่า พลังเก้า หมายถึงพูมลำพอง โดยโฆษณาว่าเป็นองค์กรต่อต้านคอมมิวนิสต์เพื่อธำรงไว้ซึ่ง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์

นวพลได้ออกแถลงการณ์วันที่ 16 ธันวาคม 2518 โจมตีนายกคึกฤทธิ์ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะเดินทางไปเปิดความสัมพันธ์กับจีน คนสำคัญของนวพล คือกิตติวุฒโท ผู้กว้างขวางใหญ่โตในสายพระที่ช่วยโจมตีพระพิมลธรรม โดยเปิดจิตตภาวันวิทยาลัยเป็นสำนักอบรมพระสงฆ์ในชลบุรี นอกสังกัดมหาเถรสมาคม ฝึกอบรมพระให้เชิดชูระบอบเจ้าแบบไทยๆ ทั้งพูมลำพองและสิริเกียรติได้ไปทำพิธีเปิดจิตตภาวันในปี 2510 และได้ไปเยือนบ่อยครั้ง จิตตภาวันกลายเป็นศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการลับของนวพล ซึ่งรวมถึงปฏิบัติการการลอบสังหารด้วย 

ในเดือนธันวาคม 2517 คนของกองทัพและกอรมน.ได้นำถนอมกลับเข้าประเทศ นายกสัญญาและกฤษณ์ต้องใช้เวลาหลายวันบีบให้ถนอมออกนอกประเทศไปอีกครั้งหนึ่ง

ก่อนการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2518 เครือข่ายกอรมน. วังและพวกขวาจัดขัดขวางรัฐบาลคึกฤทธิ์ที่กำลังสร้างสัมพันธ์กับปักกิ่งและฮานอย พวกนิยมเจ้าและหน่วยข่าวกรองสหรัฐปล่อยข่าวว่าฮานอยวางแผนจะยึดครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย
เมื่อนายกคึกฤทธิ์เสนอให้มีการเลือกตั้งระดับอำเภอและหมู่บ้าน นวพลระดมผู้นำหมู่บ้าน 500 คนมาประท้วงที่รัฐสภา ประมาณรัฐมนตรีกลาโหมประกาศว่าเวียตนามกำลังวางแผนบุกยึดประเทศไทย นวพลปลุกระดมให้เกิดการจลาจลที่สกลนคร ที่มีคนเชื้อสายเวียตนามอาศัยอยู่มาก ผู้นำชาวนากว่า 20 คนถูกสังหารในระยะเก้าเดือนในปี 2518

กระทิงแดงก่อความวุ่นวายตามท้องถนน และในการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและกรรมกร รุมทำร้ายนักเคลื่อนไหวและบุกทุบทำลายสำนักงานหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้าย  
เดือนพฤษภาคม 2518 พนักงานโรงแรมดุสิตธานีที่พูมลำพองถือหุ้นอยู่ประท้วงหยุดงานอีก ผู้บริหารโรงแรมเรียกกระทิงแดงมาข่มขู่พนักงานจนสลายการชุมนุมและจ้างกระทิงแดงเป็นรปภ.ของโรงแรม
กรกฎาคม 2518 เมื่อนายกคึกฤทธิ์เดินทางไปเปิดสัมพันธไมตรีกับจีน กระทิงแดงเร่งมือโจมตี ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงในระหว่างการประท้วงของกรรมกร และก่อกวนกิจกรรมของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายโดยตำรวจยืนดูอยู่เฉยๆ นายกคึกฤทธิ์กล่าวตำหนิว่าตำรวจส่งเสริมกฏหมู่

พอ 19 สิงหาคม 2518 ตำรวจนับร้อย ที่เกี่ยวข้องกับกระทิงแดง ได้เดินขบวนไปพังบ้านนายกคึกฤทธิ์ที่ซอยสวนพลู วันถัดมา กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านและนวพลร่วมประท้วงนายกคึกฤทธิ์ โดยใช้รถและอุปกรณ์สื่อสารของตำรวจ ทั้งนายกคึกฤทธิ์และพลเอกกฤษณ์ ต่างหมดปัญญาจัดการด้วยกลัวว่าเหตุการณ์จะลุกลามและอาจเกิดการรัฐประหาร พอประเมินกันได้ว่าพูมลำพองไม่สนับสนุนคึกฤทธิ์แต่ยืนอยู่กับฝ่ายขวาจัดอย่างเหนียวแน่น

พูมลำพองและครอบครัวก็เข้าร่วมกิจกรรมของทหารและลูกเสือชาวบ้านบ่อยขึ้น และเข้าร่วมพิธีที่จิตตภาวันและค่ายฝึกของกระทิงแดง และแต่งตั้งทหารฝ่ายความมั่นคงสำราญ แพทยกุลเป็นองคมนตรีในเดือนมีนาคม 2518
การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในชนบทอย่างรุนแรง ทำให้ชาวบ้านเข้าร่วมกับพคท. มากขึ้น ขณะที่พูมลำพองไม่สนใจโครงการพัฒนาอีกแล้ว 

เมื่อก่อนพูมลำพองมักใช้วิธีลับลวงพรางตีสองหน้าไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจน แต่นักศึกษาเริ่มมองเห็นชัดเจนแล้วว่าพูมลำพองเป็นพวกเดียวกับพวกเผด็จการทหารขวาจัดและเป็นตัวขัดขวางระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด เป็นตัวแทนของความล้าหลังที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่นักศึกษาก็ไม่สามารถพูดเรื่องเหล่านี้ได้ในที่สาธารณะ เพราะไม่มีใครเอาด้วย 

พูมลำพองแสดงจุดยืนชัดเจนในปี 2518 เมื่อที่ดินที่วังแบ่งไว้ให้สร้างอนุสรณ์วีรชน 14 ตุลา ตรงสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน เกิดติดขัดหลังการวางศิลาฤกษ์ไปแล้วโดยสังฆราชและนายกคึกฤทธิ์ โดยสำนักงานทรัพย์สินของพูมลำพองประกาศว่า ที่ดินยังติดสัญญาอยู่กับผู้อื่นซึ่งเป็นเพียงข้ออ้างของพูมลำพอง ทำให้อนุสรณ์สถานต้องหยุดชะงักไปถึง 25 ปี

พูมลำพองมองว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกนั้นล้มเหลว และตนก็เลิกสนใจพวกแนวร่วมที่เป็นเสรีนิยม และที่สำคัญ คือพูมลำพองไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และได้ยืนเคียงข้างพร้อมสนับสนุนพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดเต็มที่ และเชื่อว่ารัฐบาลสัญญากับรัฐบาลคึกฤทธิ์ คือความล้มเหลวของประชาธิปไตยแบบตะวันตก ที่การเมืองมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ระบบราชการก็เฉื่อยชา และมีการชุมนุมประท้วงวุ่นวายมากในสมัยนายกคึกฤทธิ์ ยิ่งทำให้พูมลำพองสรุปว่าการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยมีแต่จะเอื้อให้ฝ่ายซ้ายได้ขึ้นมามีอำนาจ และเป็นอันตรายต่อระบอบเจ้า

เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้พูมลำพองและวังต้องตื่นตระหนก คือสัญญาณบ่งบอกถึงความไม่อยู่ยงคงกระพันของพูมลำพองเอง ในเดือนมกราคม 2518 ขณะที่รัฐบาลเสนีย์จะรับตำแหน่ง พูมลำพองป่วยหนักด้วยโรคไข้รากสาดที่ติดมาจากภาคเหนือ ปรอทขึ้นสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสเป็นเวลาสิบวันติดต่อกัน ทางวังวิตกว่าพูมลำพองอาจถึงเสียชีวิต พูมลำพองฟื้นขึ้นมาในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็กลับทรุดลงไปอีกในเดือนเมษายนจนต้องยกเลิกงานพิธีต่างๆ มากมายและได้หายเป็นปกติอีกหลายสัปดาห์หลังจากนั้น ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงความไม่แน่นอนของสังขารของพูมลำพอง

เป็นเรื่องประจวบเหมาะของสิ่งต่างๆ ที่บีบรัดมากขึ้นทุกที จากภัยคอมมิวนิสต์ สุขภาพของพูมลำพองเอง ลูกชายกับการสืบบัลลังก์ ความไม่สบอารมณ์กับระบอบทุนนิยม ที่กำลังขยายตัวและการพัฒนาชนบทที่ไม่ได้ดั่งใจ การถูกทิ้งโดยประเทศพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐ และการแผ่อำนาจของคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน
สถานการณ์ดังกล่าว ได้ผลักให้พูมลำพองและสิริเกียรติต้องขวัญผวาตื่นตระหนกจนต้องถลำไปสู่แนวอนุรักษ์นิยมที่รุนแรงและป่าเถื่อน ไม่ปรานีปราศรัย และนำไปสู่การสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ในที่สุด
ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พูมลำพองไม่สามารถทนต่อไปได้อีกแล้วก็คือการโค่นล้มกษัตริย์ในลาวโดยขบวนการประเทศลาว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2518 สามวันก่อนวันฉลองวันเกิดครบ 48 ปีของพูมลำพอง
ทำให้พูมลำพองและครอบครัว
ตกใจกลัวมาก เนื่องจากไทยมองลาวเป็นประเทศน้องที่มีประเพณีและสายลือดร่วมกัน ทำให้พูมลำพองตัดสินใจใช้กำลังของทหารขวาจัด เพื่อสกัดกั้นภัยจากคอมมิวนิสต์ที่พูมลำพองหวาดกลัวยิ่งกว่าอะไรทั้งหมดจากนั้นพูมลำพองปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อทัศนะของผู้เชี่ยวชาญ และรายงานข่าวกรองต่างๆ ที่ว่า พคท.ไม่มีความสามารถจะบ่อนทำลายรัฐบาลได้เลย และเวียตนามไม่มีความประสงค์จะบุกไทย

.................



ไม่มีความคิดเห็น: