วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

รู้ทันเจ้าของคอกม้า ตอน เดินหน้าจำนำข้าว อวสานต์ของเจ้าไทย C2 SO 03



ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบที่ :  http://www.4shared.com/mp3/1ln0v1VN/See_Through_Stable_Owner_03.html
หรือที่ : 
http://www.mediafire.com/?ersgwwxucqad7q5

ภาพรวมเกษตรกรรมไทย

ภาคเกษตรมีรายได้รวมกันประมาณ 10-12% ของ รายได้ประชาชาติต่อปี คือ คนไทยผลิตสิ่งของมาขาย 100 บาท เป็นสินค้าเกษตร 10 กว่าบาท แต่ใน 10 กว่าบาทนั้น มีคนไทยแบ่งรายได้นั้นหรือใช้ชีวิตในภาคเกษตรประมาณ 40% ขณะที่บริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์เกือบทั้งหมดเป็นของกลุ่มเศรษฐีประมาณ 20 กว่านามสกุล และส่วนที่ใหญ่ที่สุดและมีเกือบในทุกที่คือทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ ของกษัตริย์ภูมิพล โดยผ่านบริษัทถือหุ้นเช่น ทุนลดาวัลย์ ระบบเศรษฐกิจของไทยจึงมีการผูกขาดอย่างมาก อยู่ในกลุ่มตระกูลเก่าๆ หากินด้วยกันมาเกือบร่วมร้อยปี
ในภาคเกษตร มีสินค้าเกษตรหลายตัว แต่ตัวสำคัญจริงๆ คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน แต่ในบรรดาพืชเหล่านี้ กลุ่มเกษตรกรที่เป็นกลุ่มใหญ่และมีความสำคัญในแง่เม็ดเงินคือ
ข้าว กับยางพารา ข้าวอยู่ในภาคกลาง เหนือ อีสาน ส่วนยางพารา หลักๆ อยู่ภาคใต้ ในบรรดาสินค้าเหล่านี้
จะมีกลุ่มทุนเกษตรเข้ามากินในลักษณะเป็นพ่อค้าคนกลางเกือบทุกตัวและมักดำเนินธุรกิจส่งออกด้วย
กลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญที่สุดในเรื่องข้าวคือ สมาคมผู้ส่งออก แม้จะมีพ่อค้าส่งออกข้าวของไทยเป็นร้อยบริษัท แต่มีพ่อค้ารายใหญ่เป็นล้านตันขึ้นไปต่อปี ไม่เกิน 10 บริษัท
ซึ่งเป็นพวกตระกูลเก่า ที่หากินกับทุนโบราณมานาน ตลาดส่งออกข้าวไทยจึงเป็นทุนผูกขาด ที่คุมการส่งออกข้าวของไทย และเป็นผู้กำหนดราคาข้าวในประเทศ ส่งออกในราคาเท่าใดก็หักต้นทุนลงมาเรื่อยๆ ข้าวสารหนึ่งตันราคาส่งออกประมาณสามหมื่น เหลือเงินลงมาถึงชาวนาได้แค่ตันละ
6-7 พันบาท
โครงการประกันรายได้สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในขณะที่ชาวนาขายให้พ่อค้าตามราคาตลาด 6,000-9,000 บาทต่อตัน ไม่เคยเกิน 10,000 บาทต่อตันสำหรับข้าวเปลือก
โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งราคาประกันไว้ที่ 10,000 บาทต่อตัน ถ้าชาวนาขายให้พ่อค้า 8,000 บาท รัฐบาลจ่ายให้อีก 2,000 บาท โดยส่งเช็คถึงบ้านเลย กำหนดไว้เลยว่าครอบครัวหนึ่งทำนาไม่เกิน 15 หรือ 20 ไร่ ไร่หนึ่งไม่เกิน 400 กิโลกรัม สามารถคำนวณได้เลยว่ามีส่วนต่างเท่าไร จับคูณเข้าไป ไม่ซับซ้อนอะไร
วิธีการประกันราคาข้าวไม่ทำให้พ่อค้าเสียผลประโยชน์เลย ยังคงรับซื้อข้าวจากชาวนาแบบกดราคาได้เหมือนเดิม ชาวนาก็ยังต้องขายข้าวให้พ่อค้าเพราะไม่มีรัฐบาลมาซื้อแข่ง และข้าวก็อยู่ในมือของพ่อค้า  ดังนั้นมันจึงให้ประโยชน์กับพ่อค้าโดยตรง การที่รัฐบาลตั้งราคาสูงไว้ที่ 10,000 บาทต่อตัน เป็นการส่งสัญญาณให้พ่อค้ารู้ว่าราคาตลาดต้องไม่เกิน 10,000 บาทต่อตัน ชาตินี้ทั้งชาติขายข้าวไม่มีทางได้เกินนี้ เรื่องอะไรพ่อค้าจะโง่ไปซื้อเกินจากนี้ เพราะรู้ว่าชาวนาไม่มีทางเลือก เลยกลายเป็นการกำหนดเพดานขั้นสูง หรือห้ามชาวนารวย


การที่รัฐบาลชดเชยส่วนต่างให้ชาวนา ก็มีปัญหาอีก เพราะรัฐบาลไม่รู้ว่าจริงๆ ชาวนาขายได้เท่าไร ตรวจสอบไม่ได้ รัฐบาลก็ใช้วิธีการง่ายๆ โดยตั้งราคาอ้างอิง โดยสมมติว่า ชาวนาทุกคนในพื้นที่นั้นขายได้เท่านี้ ส่วนจะขายได้จริงราคาเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ราคาที่สมมติมักจะสูงกว่าราคาที่ชาวนาขายได้จริง จึงชดเชยได้น้อย เช่น รัฐบาลตั้งราคาไว้ 10,000 ชาวนาขายได้จริง 6,000 แต่ราคาอ้างอิงดันเป็น 8,000  รัฐบาลก็จ่ายให้แค่ 2,000  ระบบนี้ชาวนาไม่เคยได้ตามราคาขั้นสูงที่รัฐบาลตั้งไว้เลย เพราะราคาอ้างอิงที่สมมติขึ้นมา ก็ตั้งโดยข้าราชการคุยกับพ่อค้า โดยมีคนที่อ้างตนว่าเป็นตัวแทนชาวนาไปนั่งอยู่บ้างเหมือนกัน
ชาวนาที่อยู่ในโครงการประกัยราคาข้าวก็จะไม่เคยได้เงินครบเต็มตามที่รัฐบาลบอกเลย ก่อนเลือกตั้ง ต้นปี 2554 ชาวนาในภาคกลางจึงออกมาปิดถนนทุกจังหวัด ออกมาประท้วงเรื่องประกันรายได้ว่ามันไม่ได้ผล แล้วเรียกร้องให้รัฐรีบรับจำนำข้าว
เพราะชาวนาเคยได้รับมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 แต่ไม่ค่อยเป็นข่าวดัง ชาวนาเขาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมาตลอด ถึงสมัยสมัคร สุนทรเวช สมัยสมชาย วงศ์สวัสดิ์ก็ยังทำอยู่ เพิ่งมายกเลิกในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ให้เปลี่ยนเป็นระบบประกันรายได้
ในเวลานั้นกำลังจะเลือกตั้ง ก็กลัวจะแพ้ยิ่งลักษณ์ ตอนปลายรัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงทำทั้งสองอย่าง คือ ประกันรายได้ด้วย รับจำนำด้วย  ซึ่งชาวนาจริงๆจำนวนมากไม่ได้ประโยชน์จากโครงการประกันรายได้
เพราะใช้วิธีการลงทะเบียนโดยยึดถือจากโฉนดที่ดิน คนที่จะได้ประโยชน์คือเจ้าของที่ดินที่ให้เขาเช่าทำนา ทั้งที่ไม่ได้ลงมือทำนาเองจริงๆ พอสิ้นฤดูกาลก็มีเช็คส่งถึงบ้าน
ส่วนต่างกี่พันบาทเขาคำนวณให้เสร็จ ทั้งที่ให้คนเช่าปลูกข้าว เจ้าของที่ดินจึงได้ทั้งค่าเช่านาและเงินชดเชยส่วนต่างราคาประกัน
ในหลายพื้นที่มีการเอาโฉนดมาลงทะเบียน ได้เงินชดเชยการประกันราคา ทั้งๆที่ไม่ได้ทำนา แถมเอาที่ดินเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น จนมีการพูดกันว่า ขี่เบนซ์ ขี่วอลโว มารับเช็ค
โครงการประกันรายได้เป็นโครงการที่รัฐบาลลงมือทำน้อยมาก ราคาอ้างอิงก็กำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญมานั่งทำกันเอง แล้วเอาเข้าครม.ให้อนุมัติ  สิ้นปีก็ส่งเช็ค ไม่ต้องลงไปดู เรียกว่า แจกเงินอย่างเดียว และไม่มีข้าวในมือแม้แต่เม็ดเดียว ถึงเวลาก็ตั้งงบประมาณมา สิ้นฤดูก็เซ็นเช็คไปก็จบ
ไม่มีข้าวในมือให้เอาไปขาย ไม่มีทางตรวจสอบได้ว่าเงินที่ออกไปใครจะได้บ้าง เป็นชาวนาตัวจริงหรือไม่ พ่อค้าก็ยังซื้อข้าวได้ในราคาตามใจชอบ
พวกนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาเรียกร้องให้กลับไปใช้ระบบประกันรายได้ก็เป็นพวกที่ไม่รู้เรื่อง หรือเป็นพวกที่ชอบหาเรื่องต่อต้านพรรคเพื่อไทย

แตกต่างจากโครงการรับจำนำข้าว ที่รัฐบาลตั้งราคาจำนำไว้สูง
โดยไม่จำกัดจำนวน ไม่ได้เข้าไปแย่งซื้อ แต่ให้ชาวนามาจำนำโดยมีระยะไถ่ถอน 60 วัน หรือ 90 วันแล้วแต่สัญญา ถ้าราคาตลาดสูงกว่าที่รัฐบาลตั้งไว้
ชาวนาก็สามารถไถ่คืนแล้วไปขายข้างนอกได้ แต่รัฐบาลเพื่อไทยตั้งราคารับจำนำไว้สูงมาก คือ 15,000 บาทต่อตัน  ขณะที่ราคาที่เปิดการซื้อขายกันในตลาดแค่ 6,000 - 8,000 บาท ช่วงที่ข้าวขาดแคลนก็อาจขึ้นถึง 10,000 บาทต่อตัน  ชาวนาก็เลยเอาข้าวไปจำนำกับรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่  ปี 2554 ทั้งปี มีข้าวเปลือกเข้าสู่โครงการรับจำนำข้าวประมาณ 17-19 ล้านตัน ทั้งที่ผลผลิตทั้งหมดประมาณ 30 กว่าล้านตัน  ที่เหลือบางส่วนชาวนาเก็บไว้กินเอง อีกส่วนก็ขายให้พ่อค้าบ้าง
ชาวนาจึงมีทางเลือกสองทาง คือเข้าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล หรือขายให้พ่อค้ากับโรงสีเหมือนเดิม
ชาวนามีทั้งหมดราว 3 ล้านครัวเรือน มีประชากรเกือบ 20 ล้านคน มีประมาณ 2 ล้านครัวเรือนที่เข้าโครงการรับจำนำข้าว โดยไปเก็บไว้ที่โกดังรัฐบาลหรือคลังส่วนกลาง ไม่ได้เก็บที่โรงสี เพื่ออุดช่องโหว่สมัยรัฐบาลทักษิณ ที่รับจำนำข้าวไว้ที่โรงสี เกิดกรณีข้าวหาย สต๊อกลม เอาข้าวคุณภาพต่ำมาแทนข้าวคุณภาพสูง หายเป็นแสนตัน ถูกโจมตีสารพัด รัฐบาลเพื่อไทยจึงหาทางอุดจุดอ่อน โดยเก็บข้าวไว้ที่คลังส่วนกลางของรัฐบาล ชาวนาที่เอาข้าวมาจำนำก็จะได้ใบประทวน แล้วเอาใบประทวนไปยื่นที่ ธกส. เมื่อธกส.ตรวจดูแล้วก็โอนเงินเข้าบัญชีชาวนาโดยตรง ตามที่คำนวณในใบประทวน โดยต้องหักลดค่าความชื้น ตามอัตราที่รัฐบาลกำหนด


ลักษณะการรับจำนำข้าวเช่นนี้ ชาวนาต้องมีข้าวจริงมาให้มาให้รัฐบาล แล้วรัฐบาลโอนเงินเข้าบัญชีชาวนาโดยตรง พ่อค้ากับโรงสีไม่เกี่ยวข้องเลย ชาวนาจึงได้ประโยชน์โดยตรงแน่ๆ ขอให้มีข้าวเท่านั้น ชาวนาที่เช่าที่ดินทำนาก็ได้ประโยชน์ด้วย จะมีที่ดินหรือไม่มีที่ดินก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์และนักวิชาการหลายคนโจมตีว่าชาวนาที่เข้าโครงการมีแต่ชาวนารวย ชาวนายากจนที่ไม่มีที่ดิน หรือมีที่ดินน้อยไม่ได้ประโยชน์
ข้อเท็จจริงก็คือชาวนาที่ไม่ได้เข้าโครงการก็ได้ประโยชน์ทางอ้อม เพราะรัฐบาลรับจำนำข้าวถึง 17-18 ล้านตัน เหลือข้าวที่ซื้อขายกับเอกชนอีก 10 กว่าล้านตัน ทำให้ข้าวในตลาดเอกชนหายไปเป็นจำนวนมาก พ่อค้าข้าวต้องแย่งซื้อข้าวที่มีจำนวนน้อยลง ทำให้ราคาข้าวเปลือกนอกโครงการก็แพงขึ้นตามไปด้วย ชาวนาที่ไม่เข้าโครงการก็พลอยได้ประโยชน์ด้วย อาจต่ำกว่าราคาจำนำอยู่บ้าง อยู่ที่ประมาณ 8,000 - 12,000 บาท ราคาโดยเฉลี่ยก็ยังถือว่าดีตามไปด้วย
ชาวนาจึงไม่จำเป็นต้องเข้าโครงการจำนำทั้งร้อยเปอร์เซนต์

โครงการรับจำนำข้าวนี้ทำให้พ่อค้าเสียผลประโยชน์โดยตรง เพราะต้องมาแข่งซื้อข้าวกับรัฐบาลในราคาที่สูงขึ้น
ข้าวมีในมือน้อยมาก ไม่พอส่งออก ประเทศไทยส่งออกข้าวปีหนึ่งประมาณ 8-10 ล้านตันต่อปี พ่อค้าจึงต้องตั้งราคาข้าวให้สูงขึ้นไปอีกเพื่อดึงข้าวจากชาวนา หรือไม่ก็ต้องไปประมูลซื้อข้าวจากรัฐบาล



คนที่จะเสียประโยชน์ค่อนข้างมากคือ พ่อค้าส่งออกโดยรวม โดยเฉพาะระดับกลางและระดับเล็กที่ต้องซื้อข้าวในราคาที่สูงขึ้น ทั้งยังต้องแข่งกับพ่อค้ารายใหญ่และรัฐบาลด้วย ส่วนพ่อค้ารายใหญ่ก็มีปัญหาบางส่วน เพราะซื้อในตลาดเปิดต้องซื้อในราคาแพงขึ้น ไม่มีข้าวจะส่งออก รายใหญ่ส่วนใหญ่มีสัญญาเป็นล็อตใหญ่ ต้องมาประมูลซื้อจากรัฐบาล รายใหญ่บางรายอาจจะประมูลได้ บางรายอาจจะประมูลไม่ได้ พ่อค้าที่ประมูลไม่ได้ก็เสียประโยชน์โดยตรงก็จะออกมาดิ้น ส่วนที่ประมูลได้ก็อาจไม่บ่นเท่าไรแม้ต้องประมูลในราคาสูงจากรัฐบาล


อีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ได้เสียประโยชน์และได้ประโยชน์ด้วยคือโรงสี  แต่เดิมพ่อค้าก็ต้องมาจ้างโรงสีสีข้าวอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ ก็มารับจ้างสีข้าวให้รัฐบาล ราคา 500 บาทต่อตัน ดังนั้น โรงสีไม่ได้เสีประโยชน์ โรงสีจึงไม่ได้ออกมาคัดค้านต่อต้านเลย คนที่คัดค้านหนักคือพวกพ่อค้าส่งออก และนักวิชาการที่ยืนข้างพ่อค้าส่งออก
อีกส่วนหนึ่งที่ได้ประโยชน์ทางอ้อมไปบ้างคือ พวกเจ้าของที่ดิน เพราะเมื่อราคาข้าวสูงขึ้น ก็จะมีความต้องการในการเช่าที่ดินทำนาเพิ่มขึ้น แต่ที่ดินมีจำกัด ค่าเช่าที่ดินจึงเพิ่มขึ้นแน่นอน ประโยชน์ที่ชาวนาได้ไปส่วนหนึ่ง เจ้าของที่ดินก็ต้องเพิ่มค่าเช่าที่ทำนา จะไปห้ามก็ไม่ได้ เพราะถ้าห้าม พวกเจ้าของที่ดินก็จะไม่ให้ชาวนาเช่า หรือทำเองดีกว่า พวกได้ประโยชน์ทางอ้อมอีกพวกหนึ่งคือพวกขายปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง ก็ต้องได้ตามไปด้วย อันนี้ห้ามไม่ได้ ผลประโยชน์จากโครงการจำนำข้าวจะกระจายไปในหลายกลุ่ม
ชาวนาเป็นกลุ่มใหญ่ที่ได้มากที่สุด แต่ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ได้
ปัญหาใหญ่ที่สุดของโครงการับจำนำข้าวแบบนี้คือ การขาดทุน เพราะ รัฐบาลรับจำนำคือรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงมากที่ 15,000 บาทต่อตันข้าวเปลือกและ 20,000 บาทต่อตันสำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิ ถ้าคำนวณเป็นข้าวสาร ราคาเกือบเท่าราคาส่งออกเลย ซึ่งถ้ารัฐบาลจะระบายข้าวออกไปไม่เก็บไว้จะต้องขายในราคาต่ำซึ่งก็สมเหตุสมผล ถ้ารัฐบาลรับจำนำข้าวจากชาวนาแล้วไปขายได้กำไร ก็ต้องถูกกล่าวหาว่าหาประโยชน์จากชาวนา โครงการลักษณะนี้ รัฐบาลจึงต้องยอมขาดทุนเพื่อช่วยชาวนา แต่ที่สำคัญคือจะขาดทุนมากแค่ไหน เป็นภาระงบประมาณหรือไม่ ทำให้รัฐบาลเป็นหนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่


โครงการแบบนี้ก็เหมือนโครงการอื่นๆ อีกมากมายที่รัฐบาลทำเพื่อช่วยคนจน เช่น รถเมล์ รถไฟ ที่ขาดทุนและรัฐบาลต้องอุ้มเป็นเงินหลายพันล้านบาททุกปี เป็นการช่วยคนจนในการเดินทาง
ฉะนั้น
โครงการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรทุกตัว รัฐบาลก็คงต้องขาดทุน แต่จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับฝีมือในการดำเนินโครงการ ที่ต้องลดความเสี่ยงจากการทุจริต ข้าวบูดเน่าเสียหาย และการระบายข้าวในราคาสูงหรือต่ำเพียงใด ปัญหาการทุจริต มีตั้งแต่เอาข้าวเปลือกข้ามพรมแดนเข้ามาแล้วมาสวมสิทธิ์เอาใบประทวนไปขึ้นเงิน  ชาวนาตัวปลอมมาลงทะเบียนปลอม  ข้าวในโกดังหายหรือถูกสลับด้วยข้าวคุณภาพต่ำกว่า หลักฐานการทุจริตที่สำรวจได้จริงก็ยังไม่มีข้อมูล
ที่กล่าวหาว่าจะเสียหายเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท ก็ล้วนเป็นการคาดเดาเอาเองทั้งสิ้น ที่มีหลักฐานชัดเจน คือ คดีที่ดีเอสไอทำเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว จะพบว่า มีการทุจริตประมาณ 16 จังหวัด ภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ ภาคเหนือมีเล็กน้อย ภาคอีสานแทบจะไม่มีเลย เป็นคดีจังหวัดละ 2-3 คดี รวมแล้วไม่ถึงร้อยคดี นับเม็ดเงินไม่ถึงร้อยล้านบาท เทียบกับโครงการปี 2554 ที่มียอดรวม 2.6 แสนล้านบาท ต้องถือว่าน้อยมากไม่ถึง 1% สมมติว่ามีการโกงกันจริง เป็นสิบเท่าของที่จับได้ ตัวเลขก็ยังเป็นแค่ร้อยล้านบาท ถ้าคิดร้อยเท่า ก็ตัวเลขเป็นพันล้าน ซึ่งเทียบกับขนาดโครงการก็ยังนับว่าเล็กน้อยมาก


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ต้องเอาจริงกับเรื่องนี้ แต่การทำเป็นคดีพิเศษก็พอวางใจได้ว่าไม่ได้ขึ้นกับอำนาจในท้องถิ่น ดีเอสไอจัดการเองโดยตรง ส่วนการทุจริตอื่นๆ เช่นเอาข้าวจากเขมรมาสวมสิทธิ์
ในทางปฏิบัติทำได้ยาก แล้วถ้าทำได้ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่พรมแดนร่วมมือด้วย มันไม่ง่าย และมันไม่คุ้มความเสี่ยงเมื่อเทียบกับการลักลอบขนสินค้าชนิดอื่น จึงเป็นการพูดกันจนเกินจริง
ส่วนการที่ชาวนาจะสวมสิทธิ์ ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ต้องเข้าร่วมจัดการ ซึ่งไม่น่าจะมีมาก ส่วนสต๊อกลม หรือสวมรอยคุณภาพต่ำ ก็คงทำได้ยากขึ้น เพราะได้แก้ไขจุดอ่อนที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ
ที่เคยเอาข้าวไปฝากไว้กับโรงสี จึงแก้ด้วยการฝากไว้ในคลังของรัฐบาล แล้วก็มีเซอร์เวเยอร์เอกชนหรือบริษัทตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคอยเข้ามาตรวจสอบตลอดเวลา ข้าวจะหายน้อยลงมาก ถ้าข้าวหาย ผู้บริหารคลังกลางก็จะมีความผิด


จุดอ่อนในสมัยรัฐบาลทักษิณก่อนการรัฐประหาร ที่มีการเอาข้าวเปลือกมาเก็บ 2-3 ปี จนบูดเน่าเสียหายเป็นแสนตัน แต่โครงการยังเล็ก ความเสียหายจึงไม่มากนัก แต่โครงการรับจำนำข้าวในปัจจุบันมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก มีข้าวถึง 17-19 ล้านตัน โดยรัฐบาลเพื่อไทยรีบสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารภายใน 5 วัน ออกมาเป็นข้าวสารได้ 10-12 ล้านตัน ซึ่งเก็บได้ง่ายกว่า ประหยัดพื้นที่การเก็บ เพราะข้าวเปลือกที่นำมาจำนำเป็นข้าวสด ความชื้นสูง แต่ข้าวสารก็ยังพอมีเวลาในการเก็บรัฐบาลก็ต้องหมุนเวียนข้าวให้ทัน ก็จะประหยัดไม่ต้องสร้างคลังเพิ่ม และข้าวก็จะเสียหายน้อยลง
กระทรวงพาณิชย์ได้ระบายข้าวเกือบ 1 ล้านตันข้าวสาร จากทั้งหมดประมาณ 10-12 ล้านตัน โดยทำเป็นข้าวถุง เป็นสวัสดิการให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ จำนวนหนึ่ง เปิดประมูลให้พ่อค้าเอาไปทำเป็นข้าวถุงขายในประเทศรวมกันแล้วประมาณ 1 ล้านตัน แต่ทำมากไม่ได้เพราะจะทำให้ข้าวสารราคาตก จึงต้องส่งออกเป็นหลัก



การส่งออกมี 2 วิธีคือ ให้พ่อค้ามาประมูลเป็นล็อตแล้วเอาไปส่งออก รัฐบาลไม่ต้องยุ่ง หรือทำจีทูจี คือรัฐบาลเอาข้าวไปแลกสินค้า หรือขายให้รัฐบาลประเทศอื่นโดยตรง  ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ประมูลข้าวให้พ่อค้าส่งออกไม่มากนัก  ประมาณ 1 ล้านตัน เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ยอมปล่อยให้ประมูลข้าวในราคาต่ำ เพราะถ้าปล่อยในราคาต่ำมาก รัฐบาลขาดทุนมาก พ่อค้าส่งออกก็จะได้กำไรมาก  พ่อค้ากับรัฐบาลจึงต้องสู้กันว่าใครมือฝีมือมากกว่ากัน
ที่ผ่านมาพ่อค้าส่งออกรวมหัวกันไม่ยอมซื้อข้าวจากรัฐบาลในราคาสูง รวมหัวกันประมูลโดยให้ราคาต่ำ สมัยรัฐบาลทักษิณก็ถูกโจมตีเพราะปล่อยให้ประมูลข้าวในราคาต่ำมาก แล้วคนที่ได้ก็มีอยู่หนึ่งหรือสองราย รัฐบาลเพื่อไทยจึงไม่ยอมปล่อยให้ประมูลในราคาต่ำ ประมูลไปได้สองหรือสามรอบแล้ว แต่ปล่อยออกไปน้อยมาก ทางออกคือทำจีทูจีหรือขายตรงแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งมีข่าวว่าทำไปได้ 7 ล้านตันข้าวสาร ทยอยส่งมอบแล้ว 4 ล้านตัน โดยหวังว่าจะเร่งระบายให้ข้าวปีที่แล้วออกไปให้หมด เพื่อรอรับข้าวในปีที่กำลังจะเข้ามา
มีข่าวว่า รัฐบาลขายแบบจีทูจีได้ที่ราคา 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ฉะนั้น รัฐบาลจะขาดทุน 3,000-5,000 บาทต่อตัน รวมประมาณ 10 ล้านตัน ขาดทุนรวมแล้ว 50,000 ล้านบาท ไม่ได้เสียหายถึง 200,000 ล้านอย่างที่พยายามพูดกัน ถ้ารวมที่เน่าเสีย บวกทุจริตอีกนิดหน่อย รวมแล้วราว 60,000 ล้านบาท ตามรายงานจากสมาคมโรงสีไทย จะขาดทุนรวม 60,000-80,000 ล้านบาทเท่านั้น


เทียบกับโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่เหมือนกับการเซ็นเช็คแจกให้คนขับรถเบนซ์ รถบีเอ็มจำนวนหนึ่ง โดยจ่ายให้เปล่าๆ ไม่มีข้าวสักเม็ด ใช้จ่ายไปปีละ 90,000 ล้าน
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ปีการผลิต
2554 ทั้งนาปีและนาปรัง ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการได้เงินไป  1.4 แสนล้านบาท จากประมาณ 2 ล้านครัวเรือน  ชาวนาที่ไม่ได้ร่วมโครงการ ก็ยังได้ประโยชน์จากราคาข้าวข้าวในตลาดเปิดที่ยังสูงกว่าสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ 2,000-3,000 บาทต่อตัน ชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมก็มีรายได้เพิ่มประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
รวมแล้วชาวนาทั้งหมดได้เงินจากโครงการนี้ 2.1 แสนล้านบาท เอา 3 ล้านครัวเรือนหารก็จะมีรายได้เพิ่มเฉลี่ยครัวเรือนละ 70,000 บาท    โครงการรับจำนำข้าวในราคาสูง มีข้อเสียอยู่ที่การใช้เงินจำนวนมาก โอกาสจะเสียหายจากการทุจริตก็มากตามไปด้วย มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่โครงการใดที่ทำมาก การทุจริตก็จะมากเป็นเงา
เรื่องที่จะกระทบตัวเลขการส่งออกก็คงไม่มีมากนัก เพราะเม็ดเงินจากการส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมของไทยเป็นสินค้าเกษตรแค่ 11-12% เอง ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมากกว่า  สินค้าเกษตรมีปริมาณมาก แต่เม็ดเงินนิดเดียว ไทยส่งออกข้าวสาร 8-10 ล้านตันต่อปี เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก แต่เม็ดเงินก็ยังไม่มาก มันกลายเป็นการเมืองใหญ่ เพราะไทยส่งออกในตลาดโลกมาก คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ชาวนาก็เป็นคนจำนวนมาก จึงเป็นสินค้าที่กระทบคนจำนวนมาก แต่เป็นเม็ดเงินไม่มากนักต่อภาพรวมทั้งหมด
โดยสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องส่งออกอยู่ดี ส่งออกด้วยจีทูจีระหว่างรัฐต่อรัฐบ้าง  หรือโดยการให้เอกชนประมูลไปส่งออกบ้าง ฉะนั้น ข้าวที่เกินมาจากการบริโภคภายในประเทศ ก็ต้องระบายด้วยการส่งออก เพียงแต่พอมีโครงการรับจำนำนี้ขึ้นมา การส่งออกด้วยจีทูจี จะเป็นรายการที่ใหญ่ขึ้นมา จากที่เคยมีแค่การส่งออกของเอกชนเท่านั้นเอง มันอาจกระทบในแง่ที่ว่าอาจไม่ได้เป็นอันดับหนึ่งของโลกอีกต่อไปในบางปี แล้วมันจะอย่างไรล่ะ ในเมื่อประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ชาวนายังยากจนตลอดมา แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรมากนัก มีแต่พ่อค้าข้าวที่รวยขึ้นๆ จริงๆ จากการได้เป็นที่หนึ่งในการส่งข้าวออก พบว่าพ่อค้าไทยเอาข้าวไทยที่มีคุณภาพดีไปขายตัดราคาในราคาเดียวกับเวียดนาม ที่ขายถูกแค่ 400 เหรียญต่อตัน ก็เลยได้ตำแหน่งส่งออกในปริมาณมากที่สุด ทั้งที่ความจริงข้าวไทยมีคุณภาพดีกว่า พอมีโครงการรับจำนำข้าว ข้าวไทยไหลไปต่างประเทศน้อยลง ปรากฏว่าข้าวไทยราคา 600 เหรียญ ข้าวเวียดนาม 400 กว่าเหรียญ ก็ยังมีคนซื้อข้าวไทย เพราะข้าวไทยมีคุณภาพสูง แม้แต่จะเป็นข้าวขาวธรรมดาก็ตาม คุณภาพก็ยังดีกว่า ข้าวเวียดนาม และอินเดีย  แต่พวกพ่อค้าส่งออกต้องการกดราคาข้าว
รัฐบาลคงต้องเตรียมการเรื่องข้าวระยะยาวคือการบริหารด้านการตลาด ด้านคุณภาพ ไม่ใช่แค่การจำนำข้าวเพียงอย่างเดียว
เมื่อชาวนาได้ประโยชน์ ก็จะทำให้ปัจจัยการผลิตทั้งหลายขึ้นราคาไปด้วย พ่อค้าก็ได้ด้วย คนเช่าที่ดินก็ได้ด้วย ตามกระบวนการของกลไกตลาด การกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องจำเป็นมาก รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ยังทำโครงการมิยาซาว่ากู้เงินจากญี่ปุ่นห้าหมื่นล้านบาทมาแจกประชาชนแบบไม่ค่อยมีประโยชน์ นายอภิสิทธิ์ก็เคยแจกเช็คสองพันบาทแก่ผู้มีรายได้ประจำ บางประเทศแจกเงินช่วยค่าเล่าเรียนแก่นักเรียนตอนเปิดเทอม โครงการจำนำข้าวราคาสูงก็คือโครงการช่วยเหลือชาวนา เพราะชาวนาเป็นผู้ทำงานหาเงินมาให้ประเทศ ขณะที่คนอื่นก็ทำมาหากินกับชาวนาอีกทีหนึ่ง ชาวนาจึงเหมือนต้นน้ำหรือต้นธาร

แต่นักวิชาการหลายคนที่ออกมาคัดค้าน พูดถึงปัญหาภาพรวมของประเทศว่าจะมีหนี้มีสิน มีการทุจริตมากมาย จับได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่กลายเป็นว่าพอจะมีโครงการที่ช่วยชาวนาบ้างทำไมต้องออกมาคัดค้าน แต่ไม่ได้พูดถึงทางออก ว่าจะมีวิธีไหนที่แก้ปัญหาชาวนาได้ก็ไม่พูด
แถมยังมีนักวิชาการไปลงชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา
84(1) เป็นการข้ามเส้นของการวิพากษ์วิจารณ์ที่จงใจเปิดประตูเชิญให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา เพื่อต้องการล้มโครงการรับจำนำข้าว และให้มีผลกระทบต่อเนื่องเป็นการล้มรัฐบาลในขั้นต่อไป
ทั้งๆที่โครงการรับจำนำข้าวมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาไทยโดยผ่านการแทรกแซงกลไกตลาดด้วยการพยุงราคาขั้นต่ำ เป็นมาตรการพยุงราคาสินค้าเกษตร ที่มีอยู่ในตำราหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานทุกเล่มและก็ปฏิบัติกันมานานแล้วในกลุ่มสินค้าเกษตรทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก รัฐบาลไม่ได้รวบซื้อข้าวหมด ข้าวครึ่งหนึ่งหรือ 2 ใน 3 เท่านั้นที่อยู่ในมือรัฐบาล และไม่ได้บังคับให้จำนำ ชาวนามีทางเลือก ไม่ได้สั่งห้ามให้พ่อค้าห้ามซื้อจึงไม่ใช่การประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน  ในขณะที่มาตรา 84 (8) บัญญัติให้รัฐบาลคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด


การอ้างเรื่องกลไกตลาดการแข่งขันเสรี แต่ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เป็นล้านตันมีไม่ถึงสิบราย และมีผลกระทบต่อราคาที่ชาวนาได้รับ รวมไปถึงสินค้าเกษตรตัวอื่นด้วย เป็นระบบเช่นนี้มาหลายสิบปี คนรวยคือพ่อค้ากับคนส่งออก ชาวนาก็จนมาตลอด ถ้ามันแข่งกันจริงทำไมชาวนาถึงจน ถ้าพ่อค้าแข่งกันซื้อข้าวจากชาวนาจริง ทำไมราคามันถึงต่ำมาตลอด แสดงว่ามันต้องมีปัญหาแล้ว เวลาชาวนาขายทำไมขายได้ถูก แต่พ่อค้าซื้อถูกกลับเอาไปขายแพงได้ แล้วส่วนต่างมันเยอะมาก มันจึงไม่ใช่ตลาดแข่งขันที่เสรีจริงในกรณีของตลาดข้าว
พรรคเพื่อไทยมักใช้วิธีจำนำเป็นหลัก จำนำข้าว จำนำมันสำปะหลัง จำนำยางพารา เพราะอยากจะให้เกษตรกรกับรัฐบาลมาตกลงกันโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้า คือข้ามกลไกของพ่อค้าไป แต่ถ้าเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคอื่น จะใช้วิธีประกันราคา ให้พ่อค้าและเกษตรกรยังซื้อขายกันเอง แล้วรัฐบาลเข้าไปอุดในส่วนที่เป็นส่วนต่าง ขึ้นอยู่กับแนวคิด และวิธีการ
นักวิชาการที่ออกมาคัดค้านโครงการนี้อ้างเหตุผลว่าในเมื่อเป็นการรับจำนำ ก็ต้องทำเหมือนโรงจำนำในเมืองคือ ต้องตั้งราคาจำนำที่ต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อบังคับให้ชาวนากลับมาไถ่ถอนคืน นักวิชาการพวกนี้แกล้งทำเป็นไม่เข้าใจว่า การจำนำสิ่งของมีค่าในเมืองมีจุดมุ่งหมาย เพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราว ในยามที่เงินขาดมือ เช่น ช่วงโรงเรียนเปิดเทอม หรือในช่วงตกงาน  เมื่อผู้จำนำมีสภาพคล่องดีขึ้น เช่น ได้รับเงินเดือน หรือได้งานทำ ก็นำเงินมาไถ่ถอนสิ่งของกลับไป ส่วนโครงการรับจำนำข้าวนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราวของชาวนา หากแต่เป็นการเพิ่มรายได้ในปีการเพาะปลูกนั้นๆโดยตรง ถึงแม้จะเป็นรูปแบบจำนำ แต่ในทางปฏิบัติคือ การพยุงราคาให้สูง หากรัฐบาลตั้งราคารับจำนำให้ต่ำกว่าราคาตลาดตามที่นักวิชาการพวกนี้เรียกร้อง ก็จะเป็นการทำร้ายชาวนาและเอื้อประโยชน์แก่พ่อค้าและผู้ส่งออกโดยตรง เพราะราคาตลาดจะตกต่ำลงมาใกล้เคียงกับราคาจำนำ เนื่องจากพ่อค้ารู้ว่า ชาวนาไม่มีทางเลือกอื่นและต้องขายให้พ่อค้าเท่านั้น การที่ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ สื่อมวลชนกระแสหลัก พ่อค้าผู้ส่งออกข้าว องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการปัญญาชนที่บูชาเผด็จการกษัตริย์นิยมต้องเคลื่อนไหวอย่างหนักก็เพราะ หากนิ่งเฉยปล่อยให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำโครงการนี้ต่อเนื่องได้สำเร็จ พรรคเพื่อไทยก็จะชนะเลือกตั้งรอบหน้าด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเพิ่มขึ้นอีกมากนั่นเอง

แต่การที่คนพวกนี้อ้างเอาโครงการรับจำนำข้าวเพื่อดึงศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา และหากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยทั้งที่ไม่มีอำนาจ เท่ากับกำลังเร่งนำความพินาศมาสู่พวกเผด็จการไทยให้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก คือการผลักให้ชาวนาทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวนาในภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ให้หันมาสนับสนุนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและเป็นแนวร่วมของคนเสื้อแดงอย่างรวดเร็วและได้ผลที่สุด ผลกระทบด้านค่าครองชีพหรือสินค้าขึ้นราคามีส่วนจากราคาข้าวน้อยมาก
แต่เหตุผลที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือการเมือง เพราะระบอบเผด็จการดักดานของไทยต้องการกดชาวนาไว้ให้สยบยอมต่อระบอบอุปถัมภ์ของตนตลอดไป ให้ชาวนาเป็นได้แค่พวกใช้แรงงานราคาถูก เพราะต้องเสียสละขายข้าวราคาถูกเพื่อเลี้ยงพลเมืองของโลกตลอดไป
โดยที่ชาวนาไทยไม่มีประสบการณ์ในการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองทางการเมืองมากนัก อันที่จริงชาวนาไทยถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดและเด็ดขาดเสียยิ่งกว่าความเคลื่อนไหวของกรรมกรเสียอีก หากเขาพยายามรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ของเขาในนโยบายสาธารณะ
โครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงของรัฐบาล จึงมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้แก่ชาวนาด้วย หากได้ทำต่อเนื่องไปอีกสักสองสามปี จะไม่มีรัฐบาลใดกล้าเลิกโครงการนี้เป็นอันขาด
แม้ว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว  แต่รัฐบาลต้องยินดีและน้อมรับฟังคำวิจารณ์ของทุกฝ่าย ส่วนหนึ่งของคำวิจารณ์นั้นอาจมาจากแรงจูงใจที่ไม่ดีทางการเมือง แต่รัฐบาลอย่าไปสนใจแรงจูงใจ หากควรฟังและทบทวนโครงการอยู่ตลอดเวลา แก้ไขปรับเปลี่ยนอย่าให้เกิดการรั่วไหล แต่ต้องชัดเจนในด้านเป้าหมายของโครงการ ทั้งแก่ตนเองและประชาชน เพราะรัฐบาลกำลังทำเรื่องที่มีความสำคัญสุดยอดในการเปลี่ยนประเทศไทย หนทางจึงย่อมไม่ราบรื่นเป็นธรรมดา
รัฐบาลควรต้องดำเนินโครงการให้ชัดไปเลยว่าโครงการรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงคือการปฏิรูปสังคม โดยต้องวางแผนการระบายข้าวให้ดีไปตามจังหวะเพื่อรักษาตลาดข้าวของไทยด้วยและเพื่อให้การระบายข้าวทั้งหมดที่รับจำนำมานั้นขาดทุนน้อยที่สุด มีนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งประมาณว่าไม่น่าจะขาดทุนเกิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งยังน้อยกว่าเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายออกไปในการประกันราคาซึ่งรั่วไหลมากกว่าเสียอีก

การจำนำข้าว
ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่ออาจารย์นิด้ายื่นขอให้ศาลรัดทำมะนวยตีความ โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลขัดต่อรัดทำมะนวยฉบับที่มาจากคณะรัฐประหาร 2550 มาตรา  84 (1) ข้อความว่า รัฐต้องดำเนินการตามนโยบายด้านเศรษฐกิจต่อไปนี้สนับ สนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน   โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบท บัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน  เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ...  แต่มาตรา 83 ของรัดทำมะนวยเขียนไว้ว่า รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อรัฐบาลไทยต้องดำเนินนโยบายแห่งรัฐทั้งสองมาตรา คือทั้งเศรษฐกิจพอเพียงและเสรีนิยมอยู่ด้วยกัน แล้วนโยบายการปฏิบัติจะออกมาอย่างไร ในเมื่อฝ่ายหนึ่งบอกให้พอเพียง กินใช้เท่าที่ไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน พอใจกับสิ่งที่มีอยู่ ไม่โลภ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เป็นหนี้ กับอีกฝ่ายที่ส่งเสริมการแข่งขัน การค้ากำไร โดยไม่มีเส้นจำกัดขีดกั้น
พวกเสรีนิยมเชื่อว่า เมื่อได้ลงแรงทำงานใดๆ ผลผลิตที่ได้มาจากแรงงานนั้นจะต้องตกแก่ตนผู้เป็นเจ้าของแรงงาน จึงเป็นทรัพย์สินที่ไม่พึงแบ่งปัน หรือกระจายให้กับใคร ความยุติธรรมของพวกเสรีนิยมแบบสุดๆ จึงเป็นเรื่องของการที่รัฐต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวแทรกแซงกับการจัดโครงสร้างการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงและเท่าเทียม

 
ในสายตาของพวกเสรีนิยมสุดขั้ว ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า สังคมไม่เป็นธรรม ในทางตรงข้าม มันเป็นธรรมดีอยู่แล้ว เพราะคนจนไม่มีความสามารถมากพอที่จะหารายได้หรือทรัพย์สินได้เท่ากับคนรวย  รัฐจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมาบังคับด้วยการจัดสรรงบประมาณ หรือจัดเก็บภาษีเพื่อให้นำเงินของคนรวยไปช่วยคนจน เพราะมันละเมิดสิทธิความเป็นเจ้าของทรัพย์สินเสมือนเป็นการขโมยแรงงานไปให้คนยากจนที่ด้อยกว่า

พวกเสรีนิยมสุดขั้วให้เหตุผลว่า การได้มาซึ่งทรัพย์สิน รายได้ เป็นการใช้แรงงานมันสมองของตนเองไปเพื่อแสวงหาทรัพยากรที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงและหยิบฉวยมาใช้ประโยชน์ได้ ภายใต้สิทธิที่สังคมเปิดโอกาสให้ทุกคนเท่าเทียมกัน  เพราะโดยเริ่มแรกแล้วไม่มีใครเป็นเจ้าของทรัพยากรเหล่านั้น ใครก็ตามที่มีความสามารถก็ย่อมหยิบฉวยเอาได้เท่าที่มีกำลังแรงงานที่จะไขว่คว้าหามาได้   และตราบเท่าที่ยังคงมีทรัพยากรเหลืออยู่ก็ไม่จำเป็นต้องจำกัดยับยั้งการแสวงหา  ขอเพียงอยู่ภายใต้การแข่งขันอย่างเสรีและได้ทรัพยากรเหล่านั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย วิธีอธิบายแบบนี้คือคำอธิบายของผู้มีอำนาจที่มั่งคั่ง ร่ำรวย และเป็นผู้เข้าถึงทรัพยากรโดยง่าย ซึ่งไม่ต่างจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เรียกกันว่าหลักสามห่วง สองเงื่อนไข  คือ หลักพอประมาณ  มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ส่วนสองเงื่อนไขได้แก่ เงื่อนไขคุณธรรม และเงื่อนไขหลักวิชาความรู้ แต่ต่อมามีการเพิ่มเงื่อนไขที่สามคือ เงื่อนไขการดำเนินชีวิต ด้วยความอดทน มีความเพียร แบบสังคมเกษตรกรรม ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ มีเหลือจึงขาย ผลิตสิ่งของใช้เอง และดำเนินชีวิตแบบสมถะเรียบง่าย ชีวิตแบบพอเพียง คือชีวิตของชาวนาที่ไม่เป็นหนี้เป็นสิน ไม่โลภ ใช้ชีวิตในถิ่นฐานบ้านเกิด ไม่อพยพเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาทำงานในเมือง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองเพราะมีความพอประมาณ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่คิดแสวงหารายได้จากโยกย้ายแรงงาน ไม่เป็นหนี้  และมีภูมิคุ้มกัน เพราะมีอาหารจากการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ส่วนเงื่อนไขคุณธรรมในคือการแบ่งปัน และแสวงหาความรู้ คือเข้าอบรมหรือเข้าโครงการพัฒนาจากหน่วยงานภาครัฐ
มีความพึงพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่โดยไม่ดิ้นรน แข็งขืน ต่อสู้ เพราะบอกให้ต้องอดทน และมีความเพียร ต้องพึ่งตนเองให้ได้ การพึ่งตนเองได้ ไม่พึ่งคนอื่น ไม่จำเป็นต้องให้ผู้อื่นมาช่วยเหลือ
  เมื่อฐานะดีขึ้นก็สามารถขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้นได้

เศรษฐกิจพอเพียงต้องการบอกเกษตรกรในชนบท ไม่ให้เข้ามาแข่งขัน แย่งชิงในระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม และให้ก้มหน้ายินยอมรับสิ่งที่ตนเองมีอยู่ และดำเนินชีวิตภายใต้ความพอเพียงในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งเหมือนกับหลักคิดของพวกเสรีนิยมสุดขั้วคือ
1. ไม่เห็นด้วยที่จะปรับโครงสร้างการกระจายรายได้ให้เป็นไปอย่างเป็นธรรม เสรีนิยมสุดขั้วเห็นว่า รัฐไม่จำเป็นต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวจัดการแทรกแซงราคาผลผลิต หรือกำหนดมาตรการภาษี  ขณะที่เศรษฐกิจพอเพียงมองว่า ชาวนาไม่จำเป็นต้องไขว่คว้าหารายได้ด้วยผลิตเพื่อขาย เพราะทำให้เป็นหนี้สิน แต่ควรหันมาผลิตเพื่อบริโภค


2. ทรัพยากรมีอยู่อย่างเพียงพอ แค่รอให้ประชาชนลงทุน ลงแรงเข้าไปแสวงหาครอบครอง โดยทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่จำเป็นต้องไปปรับโครงสร้างการกระจายทรัพยากรอีก เศรษฐกิจพอเพียงกล่าวถึงที่ดิน 5 ไร่ สำหรับทำการเกษตรผสมผสานเป็นต้นทุนตั้งต้น แต่ไม่เคยกล่าวว่าจะนำที่ดิน 5 ไร่ และแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตรมาจากไหน
3. ทั้งเศรษฐกิจพอเพียงและเสรีนิยมสุดขั้วไม่จำกัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  ถ้ามีเงินมีกำลังก็สามารถผลิตและบริโภคได้ตราบเท่าที่ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน

4. มีความเชื่อว่าโครงสร้างทางสังคมมีความเป็นธรรมอยู่แล้ว การผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดก็ย่อมได้ราคาสูง ส่วนการผลิตที่ขาดคุณภาพ ไม่เป็นที่ต้องการย่อมได้ราคาต่ำ สังคมไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ กดราคา ใช้อำนาจที่ทำให้สินค้าและบริการบางประเภทมีราคาต่ำ แต่บางประเภทมีราคาสูง เช่น ข้าวเปลือก กับข้าวสาร เมื่อสังคมมีความเป็นธรรมอยู่แล้วจึงต้องแก้ไขที่แต่ละตัวบุคคลเองไม่ใช่ไปแก้ไขที่โครงสร้าง

5. การแลกเปลี่ยน แบ่งปัน ช่วยเหลือ เป็นไปด้วยความสมัครใจเองของแต่ละบุคคล โดยที่รัฐไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว แต่ให้เป็นเรื่องของการสงเคราะห์ เยียวยา ด้วยจิตเมตตาของคนรวยที่จะช่วยเหลือคนจนตามหลักคุณธรรมที่ผู้ปกครองแต่ละบุคคลพึงมี เหมือนพวกโครงการพระราชดำริต่างๆ

6. เศรษฐกิจพอเพียงบอกให้มีศรัทธาเหมือนศรัทธาในศาสนา ห้ามสงสัยและห้ามโต้แย้ง ขณะที่พวกเสรีนิยมสุดขั้วบอกว่าเป็นสิทธิที่ติดมาตั้งแต่เราเกิด
สิ่งที่สอดคล้องเชื่อมประสานกันของเสรีนิยมสุดขั้วและเศรษฐกิจพอเพียงก็คือการโฆษณาความเชื่อเรื่องความไม่เท่าเทียม ช่วยรักษาสังคมของการเอารัดเอาเปรียบให้ฝ่ายผู้ครอบครองทรัพยากรมี สิทธิอำนาจที่อยู่เหนือกว่าให้อยู่ในสถานะตำแหน่งที่เหนือกว่าต่อไป โดยมีคำอธิบายสาเหตุของความยากจนที่คล้ายคลึงกันคือ เป็นเพราะคนยากจนไม่ดีเอง ฉะนั้นจึงต้องแก้ด้วยตนเอง อย่าไปเรียกร้องให้ใครมาหยิบยื่นช่วยเหลือ

เปรียบเทียบงบช่วยชาวนา
กับงบช่วยกองทัพ

เมื่อเปรียบเทียบงบช่วยเหลือชาวนาซึ่งเป็นประชากร 40% กับงบป้องกันประเทศ หรืองบรายจ่ายด้านการทหาร พบว่างบรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ของกระทรวงกลาโหม วงเงินราว 180,000 ล้านบาท เทียบกับปีงบประมาณ 2555 ที่ได้รับงบเงินราว 168,000 ล้านบาท กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณมากกว่าเดิมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท เป็นอันดับที่ 15 ของโลก มีกำลังพลประจำการราว 316,000 คน และกำลังพลสำรองอีกราว 200,000 คน
ถ้าประเทศไทยไม่มีกองทัพคงจะดีกว่านี้แน่
ขณะที่สถานการณ์ที่ตึงเครียดไปทั่วโลกล้วนเกิดขึ้นในประเทศที่มีกองทัพขนาดใหญ่

แต่หลายประเทศที่ไม่มีกองทัพยังอยู่อย่างสุข สบายดี เช่น เกรนาดา คอสตาริกา ซานมาริโน ซามัว โดมินิกัน ปานามา มัลดีฟส์ ลิกเตนสไตน์ วาติกัน หมู่เกาะโซโลมอน เฮติ  โมนาโก หมู่เกาะมาร์แซลล์ และไอซ์แลนด์ 

บางประเทศแม้ว่าจะมีกองทัพ แต่ก็ไม่มีการเกณฑ์ทหาร คือ กรีซ กายนา คาซัคสถาน แคนาดา โครเอเชีย ซิมบับเว ซูรินาเม ไซปรัส เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ บราซิล บัลแกเรีย เบลเยียม เบอร์มิวดา ปารากวัย โปแลนด์ โปรตุเกส ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ มอลโดวา มอลตา ยูเครน ยูโกสลาเวีย เยอรมัน รัสเซีย โรมาเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย สเปน สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเช็ก สโลวีเนีย ออสเตรเลีย ออสเตรีย อาเซอร์ไบจัน เอสโตเนีย แอฟริกาใต้ อังกฤษ อิสราเอล อิตาลี อุรุกวัย อุซเบกิสถาน และฮังการี
สภาพที่ประเทศไม่มีกองทัพ หรือมีกองทัพแต่ก็ไม่มีการเกณฑ์ทหาร อาจเป็นสิ่งที่น่าแปลกสำหรับคนไทยที่ถูกสอนมาตลอดให้เชื่อว่า กองทัพเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ต่อความมั่นคงของชาติ

แต่ถ้าประเทศไทยไม่มีกองทัพ

ก็ย่อมไม่มีการการรัฐประหารหรือกบฏที่ล้วนเกิดจากการใช้กำลังทหารทั้งสิ้น เมื่อไม่มีกองทัพก็ย่อมที่จะไม่มีการเกณฑ์ทหาร ก็จะไม่มีช่องทางทุจริตคอรัปชันในการเกณฑ์ทหาร พ่อแม่ผู้ปกครองของเยาวชนที่อายุครบเกณฑ์ทหารก็ไม่ต้องนอนผวาว่า ลูกหลานจะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร  เมื่อไม่มีกองทัพ งบประมาณเป็นแสนๆ ล้านในแต่ละปีย่อมถูกนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านอื่น ประเทศไทยก็คงจะเจริญรุ่งเรืองกว่านี้มาก เมื่อไม่มีกองทัพ พี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คงอยู่เย็นเป็นสุขขึ้นมาบ้าง เพราะหนึ่งในสาเหตุที่ความไม่สงบเกิดขึ้นในภาคใต้ก็เนื่องมาจากการมีกำลังทหารจำนวนมากเข้าไปอยู่ในพื้นที่ โดยบางส่วนไปจากพื้นที่อื่นซึ่งไม่ใช่กองกำลังในพื้นที่ ซึ่งมีแต่ไปเพิ่มปัญหามากกว่าไปแก้ปัญหา เพราะไม่รู้สภาพพื้นที่และขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น
เมื่อไม่มีกองทัพ ที่ทางต่างๆนับเป็นแสนหรือล้านๆไร่ก็ย่อมจะถูกนำไปใช้ประโยชน์พัฒนาทางเศรษฐกิจได้คุ้มค่า ที่สำคัญยังมีประชาชนที่ยังไม่มีที่ทำมาหากินอีกมาก

เมื่อไม่มีกองทัพก็ย่อมลดความบาดหมางกับประเทศเพื่อนบ้าน  เพราะการปะทะกันด้วยกำลังทหารตามชายแดนย่อมน้อยลงหรือหมดไป ที่ผ่านมา แม้ว่าศักยภาพของกองทัพไทยจะเหนือกว่ากองทัพกัมพูชาหลายเท่าตัว เครื่องบินรบไทยสามารถใช้เวลาบินไม่กี่นาทีถึงเมืองหลวงของกัมพูชา แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรกัมพูชาได้ เพราะมีกฎหมายระหว่างประเทศ มิหนำซ้ำกลับต้องเพลี่ยงพล้ำในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่ทำให้กัมพูชาสามารถนำคดีกลับไปสู่ศาลโลก เพื่อตีความคำพิพากษารอบใหม่ได้อีก ทำให้การมีกองทัพที่เหนือกว่าไม่มีความหมายแต่อย่างใด
จึงเห็นได้ว่า หากกองทัพไทยมีขนาดที่เล็กลง ไม่มีการบังคับขู่เข็ญให้ลูกคนจนต้องถูกเกณฑ์เป็นทหาร และจำกัดบทบาทของทหารที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองแล้ว ประเทศไทยต้องไปได้ดีกว่านี้ แม้ว่ากองทัพจะมีอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่ในมือที่พร้อมจะทำรัฐประหารได้ก็ตาม แต่หากประชาชนไม่เอาด้วยกองทัพก็ยากที่จะดำรงอยู่ได้
กองทัพไทยจึงเป็นได้แค่กาฝากที่หากินกับงบการทหารจำนวนมหาศาลและคอยปกป้องรักษาระบอบเผด็จการนิยมกษัตริย์มาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์


………………..

ไม่มีความคิดเห็น: