วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ประวัติศาสตร์ชาติเชื้อไทย ฉบับร้อยพ่อพันแม่ The Fact of Thai Race in Thailand

ประวัติศาสตร์ชาติเชื้อไทย
ฉบับร้อยพ่อพันแม่
The Fact of Thai Race in Thailand


ฟังไฟล์เสียง :
https://www.youtube.com/watch?v=ABKyhptf5rM&feature=youtu.be 
 
http://www.4shared.com/mp3/NzXd_soNba/The_Fact_of_Thai_Race_in_Thail.html
http://www.mediafire.com/listen/6c9vel38r8zdo1b/The+Fact+of+Thai+Race+in+Thailand++.mp3

ที่มาของรัฐชาติไทยหรือประเทศไทย

จอมพล ป พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
จอมพล ป. ได้เปลี่ยนชื่อประเทศสยามมาเป็นประเทศไทยเมื่อปี 2482 ขณะที่ประเทศไทยเริ่มก่อตัวเป็นประเทศขึ้นมาในช่วง 200 กว่าปีมานี้เอง โดยมีการปักปันเขตแดนเมื่อปี 2430-2452
ชุมชนบนที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีวิวัฒนาการมาหลายร้อยปีก่อนหน้านั้น เป็นภูมิประเทศเขตร้อนชื้น ผู้คนตั้งรกรากเป็นกลุ่มๆตามเมืองใหญ่ มีเจ้าครอบครองเป็นความสัมพันธ์แบบนายกับบ่าว มียุคสมัยของสงครามร่วม 400 ปี จากตั้งแต่ราว พศ. 1650 ถึง 2050 ที่มีการรบพุ่งกันบ่อยครั้ง เป็นยุคที่ระบอบกษัตริย์ชายชาติทหารได้มีอำนาจยิ่งใหญ่โดยได้รับการหนุนช่วยด้วยพิธีกรรมลัทธิพราหมณ์ สร้างความมั่งคั่งจากการค้าต่างแดนและระบบเกณฑ์แรงงานเพื่อการสงคราม แต่หลังจาก พ.. 2100
ทั้งภูมิภาคเริ่มสงบร่มเย็น การค้าระหว่างประเทศขยายตัวมากขึ้น

พระเจ้าอู่ทองสถาปณาอาณาจักรอยุธยาในปีพ.ศ. 1893
อยุธยากลายเป็นเมืองท่าใหญ่ของเอเซียแห่งหนึ่ง โดยมีเครือข่ายการค้าระหว่างประเทศที่กว้างขว้างจากเปอร์เซียถึงจีน ระบบการเมืองและเศรษฐกิจการค้าขยายตัว ระบบเกณฑ์แรงงานเริ่มเสื่อมสลาย ชนชั้นสูงก่อตัวแข็งแรงขึ้น ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทได้นำความคึกคักและพลังใหม่มาสู่ชุมชน


แผนที่สยาม พ.ศ. 2229
แผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือแหลมทองเป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพแห่งหนึ่งของโลก เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ และยังมีลมมรสุมพัดผ่านนำฝนมาตกชุกชุมปีละ 4-6 เดือน กลุ่มภาษาตระกูลไท หรือไตมาจากผู้คนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียงที่ถ่อยร่นกระจายกันลงมาจากการรุกไล่ของกองทัพฮั่น เป็นพวกที่มีความรู้เรื่องการปลูกข้าวและมีความสามารถเรื่องการรบจากการที่ต้องป้องกันตนเองจากพวกฮั่น กลุ่มมอญ-เขมรที่ตั้งถิ่นฐานมาก่อน บางส่วนก็ถอยร่นขึ้นไปอยู่บนภูเขาสูง กลุ่มอื่นๆก็ยอมอยู่ร่วมกับผู้มาใหม่ที่เป็นผู้นำชาวนาและนักรบ แล้วค่อยๆหัดพูดภาษาไทหรือภาษาไตไปด้วยกัน แม้ว่าจะได้มีกลุ่มต่างๆอพยพเข้ามาในที่ราบลุ่มเจ้าพระยาเป็นระยะๆ แต่ประชากรในย่านนี้ก็ยังเบาบาง แม้พื้นที่ที่ถูกถากถางจะอุดมสมบูรณ์แต่มีสัตว์ร้ายชุกชม รวมทั้งไข้ป่ามาเลเลีย ผู้คนจึงมักตั้งถิ่นฐานตามริมฝั่งแม่น้ำหรือชายฝั่งทะเล บริเวณนี้ส่วนใหญ่จึงยังคงเป็นป่าทึบจนกระทั่งเมื่อ 200-300 ปีมานี้เอง ต่อมาจึงมีผู้อพยพเข้ามาใหม่ มีชาวกะเหรี่ยงเข้ามาตั้งรกรากบนภูเขาทางตะวันตก ชาวมอญที่ลี้ภัยการเมืองข้ามภูเขาเข้ามาทางด้านตะวันตก ชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 พ่อค้าจีนเข้ามาอยู่ตามชุมชนเขตเมืองท่ารอบๆอ่าวไทย ชาวลาวและชาวกุยหรือพวกส่วยอพยพเข้าสู่ที่ราบสูงโคราชตั้งแต่ปี 2250 จากบริเวณน้ำโขงและที่ราบสูงทางเหนือที่มีชาวลาวภูเขาหรือลาวสูงขยับย้ายลงมาหลังจากพวกจีนฮั่นรุกไล่เข้ามาสู่จีนตอนใต้
สภาวะที่มีประชากรเบาบาง
 ทำให้มีการแย่งชิงคน เพราะการตั้งหลักแหล่งต้องการผู้คนเพื่อสร้างเมืองและป้องกันตนเอง  ผู้นำต้องการคนช่วยทำนา ทำการค้า สร้างบ้าน ผลิตของมีค่า และเป็นบริวาร ช่วงแรกๆมีการนำทาสมาจากจีนและมลายู มีการทำสงครามแย่งชิงทรัพย์สินและกวาดต้อนคนมาเป็นเชลย จนกระทั่งเมื่อ 100-150 ปีมานี้ก็ยังมีประเพณีตีข่าคือตีราคาพวกชาวเขาที่เรียกว่าข่าหรืออีก้อ เพื่อเสาะแสวงหาทาสและลักพาผู้คนจากชุมชนภูเขาหรือรัฐเพื่อนบ้านเพื่อพาไปขายตามเมืองในเขตที่ราบลุ่ม มีชุมชนกระจุกตัวกันเป็นกลุ่มๆล้อมรอบเมืองที่เป็นศูนย์กลาง เพื่อปกป้องเมืองจากศัตรู สัตว์ร้ายและโรคภัยไข้เจ็บ ผู้คนต้องส่งส่วยให้เจ้า ส่วนมากจะให้เป็นสิ่งของและบริการด้านแรงงาน แหล่งตั้งถิ่นฐานที่นิยมกันมากคือคุ้งน้ำคดเคี้ยวโดยจะมีการขุดคลองตรงส่วนที่แคบที่สุดเพื่อสร้างเป็นคูเมืองโดยรอบ
พวกคนไทยที่อยู่ตามที่อยู่ตามเชิงเขาเหนือที่ราบลุ่มเจ้าพระยาก่อตั้งกลุ่มเมืองที่สุโขทัยโดยพระร่วง ต่อมาตระกูลนี้ย้ายไปพิษณุโลกเพราะป้องกันเมืองได้ง่ายกว่าสุโขทัย ทางด้านล่างของที่ราบลุ่มเจ้าพระยามีเมืองสถาปนาขึ้นใหม่ 4 เมือง คือ เพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรีและอยุธยา ผู้นำที่อยุธยาสามารถเอาชนะเมืองอื่นๆ ซึ่งต้องยอมสวามิภักดิ์ โดยส่งลูกสาวหรือน้องสาวไปรับใช้หรือส่งลูกชายไปเป็นตัวประกัน บางกรณีเมืองใหญ่ก็ยกหญิงสาวสูงศักดิ์ให้ป็นภริยาเจ้าเมืองเล็กโดยให้ทำหน้าที่สืบข่าวไปด้วย เมืองเล็กต้องส่งบรรณาการเป็นสิ่งของมีค่าหรือหายาก ต่อมาจึงได้กำหนดมาตรฐานเป็นต้นไม้เงินต้นไม้ทอง เจ้าเมืองใหญ่ก็จะรับรองว่าจะปกป้องเมืองเล็กจากศัตรูโดยเมืองเล็กต้องส่งทหารไปช่วยรบ ใช้หลักพันธมิตรทางการเมืองเหมือนระบบบรรณาการของจีนที่จักรพรรดิจีนกำหนดให้รัฐเล็กส่งบรรณาการโดยขอให้จีนรับรองการแต่งตั้งเจ้าของตน จักรพรรดิจีนตอบแทนด้วยการส่งเครื่องสูงไปให้และรับที่จะปกป้องเมืองที่ส่งบรรณาการ ในทางปฏิบัติจักรพรรดิจีนแทบไม่เคยส่งกองทัพมาปราบเมืองบรรณาการที่กระด้างกระเดื่องหรือเพื่อปกป้องบ้านเมืองไหนเลย แต่บรรดารัฐเล็กก็โอนอ่อนตามความประสงค์ของจีนเนื่องจากได้ประโยชน์จากการค้าขายกับจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด
ในราวพ.. 1900 มีกลุ่มเมืองเกิดขึ้น 4 แห่ง ในบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยาได้แก่ ล้านนาหรือเชียงใหม่ ล้านช้างหรืออาณาจักรลาว เมืองเหนือคือพิษณุโลกและสยามคืออยุธยา ที่เริ่มแข่งขันแย่งชิงความเป็นใหญ่ระหว่างกัน ก่อสงครามเป็นครั้งคราวเป็นเวลาร่วมร้อยปี พวกเจ้าเกณฑ์ทหารเป็นจำนวนมากเพื่อสร้างกองทัพให้ใหญ่ขึ้น ชุมชนกลายเป็นสังคมทหารที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้น กองทัพขนาดใหญ่รุกไล่ทำลายเมืองและบังคับกวาดต้อนผู้คน ยึดทรัพย์สินมีค่าและพระพุทธรูปไป ทำลายพืชผลที่ปลูกไว้ ทำให้เกิดโรคระบาดกระจายไปทั่ว ลงท้ายไม่มีเมืองใดชนะอย่างชัดเจน จากนั้นสงครามก็เริ่มเบาบางลง
อยุธยาได้อาศัยทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบ เพิ่มการค้าทางทะเลพร้อมๆกับการต่อเรือที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจนมีอิทธพลครอบครองบริเวณด้ามขวานทองรวมทั้งด้านตัวขวาน เพื่อควบคุมสินค้าป่าและสินค้าแปลกที่จีนต้องการ เช่น ไม้หอม งาช้าง นอแรด ขนนกสีสดใส อยุธยาส่งบรรณาการให้จักรพรรดิจีนเป็นอย่างดี จึงเป็นเมืองคู่ค้าที่จีนพอใจ อยุธยาได้เข้าคุมเส้นทางการค้าที่ด้ามขวานทองที่เชื่อมทะเลทั้งสองด้านคืออ่าวไทยและอันดามัน ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางเดิมที่มีโจรสลัดชุกชุมบริเวณช่องแคบมะละกา อยุธยาจึงร่ำรวยขึ้นเพราะเป็นศูนย์กลางการค้าที่เชื่อมหลายแหล่งตลาดเข้าด้วยกัน ทั้งด้านตะวันออก อินเดียและอาหรับทางตะวันตก และหมู่เกาะมลายูทางใต้ กลายเป็นศูนย์กลางหนึ่งในสามมหาอำนาจของเอเชียเคียงคู่กับจีนและวิชัยนครของอินเดีย
อยุธยาแผ่ขยายอำนาจไปยังหัวเมืองทางเหนือโดยอาศัยกลไกทางสังคมและวัฒนธรรม จากความเป็นเมืองมั่งคั่งและเป็นศูนย์กลางการค้าจึงสามารถซื้อปืนจากโปรตุเกสและจ้างทหารโปรตุเกสได้ แต่เมืองเหนือมีประชากรมากจึงเกณฑ์ทหารได้มากและเชี่ยวชาญการรบจึงสามารถป้องกันตนเองได้ ในภาวะสงครามผู้คนจากเมืองเหนือถูกกวาดต้อนลงไปอยุธยาแต่บางคนก็เข้ามาเองเพราะเห็นโอกาสในเมืองที่กำลังรุ่งเรือง เจ้านายทางเหนือก็สร้างความสัมพันธ์กับอยุธยาผ่านการแต่งงาน นักรบทางเหนือก็มาเป็นแม่ทัพให้อยุธยา ขุนนางทางเหนือก็เข้ามาตั้งรกรากในอยุธยา พิษณุโลกทำหน้าที่เหมือนเมืองหลวงที่สองและพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิษณุโลกได้ขึ้นครองราชย์แทนกษัตริย์อยุธยาเดิมในปี 2112 ในช่วงที่มีการแข่งขันกับเมืองท่าทางด้านตะวันตก คือ ที่ราบลุ่มอิรวดีมีเมืองหงสาวดีและด้านตะวันออกที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงคือกรุงละแวกของเขมรอยู่ทางเหนือของพนมเป็ญที่ย้ายจากนครวัตซึ่งถูกปล่อยทิ้งร้าง โดยกษัตริย์ทั้งสามอาณาจักรต่างแก่งแย่งกันเป็นใหญ่เพราะต่างก็มั่งคั่งร่ำรวยจากการค้าและยังสามารถเกณฑ์ทหารได้จากบ้านป่าในแผ่นดินใหญ่พร้อมทั้งจ้างทหารรับจ้างชาวต่างประเทศ วัดวาอารามก็เต็มไปด้วยพระพุทธรูปและทองที่ได้มาจากการรุกรานเพื่อนบ้าน
สยามได้ยกทัพไปโจมตีละแวกเมืองหลวงของเขมรจนราบเรียบและแต่งตั้งกษัตริย์เขมรที่ยอมสยบต่ออยุธยา หงสาวดีซึ่งได้เปรียบกว่าเพราะคุมเมืองท่าตะวันตกที่เป็นแหล่งที่มาของปืนใหญ่และทหารรับจ้างจากโปรตุเกสได้เรียกร้องให้สยามยอมรับสภาพเป็นเมืองขึ้น โดยร่วมมือกับฝ่ายเหนือคือพิษณุโลกและยึดอยุธยาได้เมื่อ พ.. 2112 หงสาวดีได้กวาดต้อนผู้คนไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งช่างฝีมือ พระพุทธรูปและทรัพย์สินมากมาย ยึดเอาช้างและเครื่องบรรณาการอันมีค่าและจับสมาชิกราชวงศ์ไปเป็นคนรับใช้และตัวประกัน แต่การจะครอบครองเมืองที่อยู่ห่างไกลและมีวัฒนธรรมที่แตกต่างเป็นไปได้ยาก อิทธิพลของสยามต่อเขมรก็เริ่มเสื่อมถอยเมื่อญวนผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง  ขณะที่พระนเรศวรที่หงสาวดีจับเป็นตัวประกันได้หนีจากการควบคุมและประกาศไม่ขึ้นต่อหงสาวดี โดยใช้เวลา 15 ปี ตลอดการขึ้นครองราชย์ทำสงครามต่อต้านการรุกรานจากพม่าเพื่อสถาปนาอยุธยาให้เป็นใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างอีกครั้ง


ราษฎรล้วนต้องการสันติภาพ

หลังจากรัชสมัยพระนเรศวรผู้คนก็เริ่มเบื่อหน่ายละกลัวภัยสงคราม เพราะเมืองใหญ่ๆส่วนมากจะเคยถูกปล้นสะดมอย่างราบคาบอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ผู้คนเริ่มกระด้างกระเดื่องไม่ยอมร่วมมือกับกษัตริย์ในการสนองความต้องการทางอำนาจ เช่น ติดสินบนนายที่เกณฑ์ทหาร หนีไปบวชหรือหนีไปไกลๆ ดังนั้นพวกเจ้าจึงไม่สามารถเตรียมทัพได้ใหญ่โตเหมือนในอดีต หลายเมืองลงทุนก่อสร้างกำแพงเมืองด้วยอิฐ ขยายคูรอบเมืองให้กว้างขึ้น ติดตั้งปืนใหญ่ให้มากขึ้น ความพยายามตียึดเมืองต่างๆต้องล้มเหลวและกองทัพต้องสลายตัว

เมื่อสงครามสงบสังคมก็รุ่งเรือง อยุธยากลับมาเป็นราชธานีเป็นศูนย์อำนาจของที่ราบลุ่มเจ้าพระยา เป็นเมืองท่าเชื่อมเส้นทางการค้าระหว่างด้านตะวันออกและตะวันตก ทางตะวันออกมีโชกุนโตกุกาว่าที่ญี่ปุ่นเปิดทำการค้าด้วยแบบมีเงื่อนไข ทางตะวันตกมีจักรวรรดิซาฟาวิด ( Safavid ) ที่ครอบครองดินแดนอาหรับเปอร์เซียและจักรวรรดิโมกุล ( Mughal ) ที่ครอบครองชมพูทวีปหรือประเทศอินเดีย เป็นทั้งตลาดใหญ่และเป็นแหล่งสินค้ามีค่าหลายชนิด เส้นทางขนส่งสินค้าข้ามด้ามขวานทองเป็นที่นิยมของพ่อค้าแถบเอเชียมากขึ้นหลังจากที่พวกโปรตุเกสและดัตช์เข้ามาควบคุมเส้นทางสายใต้ที่ช่องแคบมะละกา อยุธยาจึงเจริญเติบโตจนอาจเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นเมืองที่มีความเป็นสากลมาก มีทั้งชุมชนจีน ญวน จาม มอญ โปรตุเกส อาหรับ อินเดีย เปอร์เซีย ญี่ปุ่นและชุมชนมาเลย์ต่างๆจากหมู่เกาะ มาตั้งถิ่นฐานอยู่รายรอบ พวกดัตช์เข้ามาเมื่อพ.. 2147 เพื่อแย่งส่วนแบ่งการค้ากับญี่ปุ่นและตั้งชุมชนเพิ่มขึ้น ฝรั่งเศสและอังกฤษก็ตามเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ราชสำนักอยุธยาก็อาศัยผู้คนเหล่านี้โดยเลือกรับเอาชาวมเลย์ อินเดีย ญี่ปุ่นและโปรตุเกสเข้ามาเป็นทหารรักษาวัง จ้างจีนและเปอร์เซียเป็นข้าราชการดูแลเรื่องการค้า จ้างชาวดัตช์ต่อเรือ จ้างวิศวกรฝรั่งเศสและอิตาลีออกแบบป้อมปราการและการชลประทาน จ้างอังกฤษและอินเดียเป็นผู้ว่าราชการหัวเมือง จ้างชาวจีนและเปอร์เซียเป็นแพทย์ มีชาวญี่ปุ่นคือยามาดะ นางามาสะได้เป็นออกญาหรือพระยาเสนาภิมุขเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยพระเจ้าทรงธรรม  ชาวเปอร์เซียคือเฉกอะหมัดได้เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายกดูแลกรมท่าในสมัยพระเจ้าทรงธรรมและพระเจ้าประสาททอง 


Constantine Phaulkon
และชาวกรีกคือคอนสแตนตินฟอลคอนได้เป็นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ในตำแหน่งสมุหนายกในสมัยพระนารายณ์มหาราช ซึ่งได้เปิดรับความรู้ใหม่ๆ ด้วยการส่งราชทูตไปแลกเปลี่ยนกับประเทศเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศสและเปอร์เซีย ทำให้อยุธยามีความเป็นเมืองสากลโดยยอมให้มีการเผยแพร่ศานาคริสต์จนนำไปสู่วิกฤติการณ์ต่อต้านพวกฝรั่งในปี พ.. 2231 จนฟอลคอนถูกประหารชีวิต ฝรั่งเศสถูกไล่ออกไปและอังกฤษต้องหนีออกจากสยาม
กษัตริย์อยุธยาตอนปลายได้กำไรมหาศาลจากการผูกขาดการค้าระหว่างประเทศ และมีรายได้จากภาษีที่เพิ่มขึ้นเพราะเศรษฐกิจในประเทศขยายตัว ค่าใช้จ่ายด้านการสงครามก็ลดลง ทรงใช้ทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นลงทุนสร้างพระราชวังใหม่ๆที่อลังการอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งอารามหลังใหม่และที่ปฏิสังขรณ์ใหม่รวมทั้งงานเทศกาลต่างๆที่เลื่องลือ มีการฟื้นฟูพิธีกรรมเขมรเพื่อทำให้กษัตริย์ดูลี้ลับและยิ่งใหญ่ สังคมแบ่งออกเป็นสองชนชั้น คือ กลุ่มขุนนางที่รับใช้กษัตริย์ประมาณสองพันคนกับครอบครัวของเขามีฐานะสูงต่ำตามศักดินาแบ่งการบริหารเป็นเวียง วัง คลัง นา กับอีกชนชั้นหนึ่งคือพวกไพร่ที่ถูกเกณฑ์ให้มารับใช้พวกคนชั้นนำ การขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าในยามที่สงครามเบาบางลง ทำให้ระบบเกณฑ์แรงงานอ่อนประสิทธิภาพลง คนจำนวนมากติดสินบนนายให้ลบชื่อพวกเขาออกจากบัญชีแรงงานเกณฑ์ บางคนก็ไปขึ้นอยู่กับนายที่ไม่เคร่งครัดมากนัก บางคนยอมขายตัวเป็นทาสเพื่อหาเงินมาทำการค้า บางคนหนีไปบวชเพื่อหนีเกณฑ์ หลายคนหนีไปอยู่ป่าลึก ในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงเริ่มตั้งแต่พระเพทราชา ที่มาจากบ้านพลูหลวง สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอยุธยา เกณฑ์คนมาเป็นทหารได้ไม่กี่พันคน กษัตริย์ต้องออกกฎหมายเพื่อปรับปรุงการลงบัญชี ลงโทษนายที่รับสินบน ห้ามไพร่ขายตัวลงเป็นทาส เปิดโปงพระปลอมและสืบหาผู้ที่แอบไปอยู่ภายใต้การปกป้องของขุนนาง
ส่วนพวกขุนนางที่ไม่ค่อยมีสงครามออกรบ ก็หันมาสร้างฐานะด้วยการทำงานกับพระคลังซึ่งดูแลด้านการค้า แต่กษัตริย์มักจ้างคนต่างชาติที่มีความรู้ความชำนาญและควบคุมได้ง่ายกว่า ขุนนางไทยที่รับราชการในพระคลังจึงมีจำนวนไม่มากแต่เด่นมากและร่ำรวยได้อย่างรวดเร็ว หนทางก้าวหน้าอีกทางหนึ่งคือการไต่เต้าจากการเมืองในราชสำนักโดยเฉพาะในช่วงของการสืบราชสมบัติที่การแก่งแย่งมักเริ่มด้วยการรบพุ่งกันที่ใจกลางเมืองหลวงแล้วจบลงด้วยการกำจัดขุนนางและสมาชิกราชวงศ์ที่เป็นชายของฝ่ายแพ้ผู้ซึ่งอาจจะแย่งชิงราชบัลลังก์อีกในกาลต่อมา ขุนนางที่ได้ช่วยให้กษัตริย์ครองราชย์ได้สำเร็จก็ได้รางวัลเป็นตำแหน่งและทรัพย์สิน ขุนนางมักจะสืบทอดตำแหน่งภายในตระกูลเดียวกัน และถวายลูกชายไปเป็นมหาดเล็กส่วนลูกสาวก็เข้าไปเป็นนางรับใช้ในวังโดยพยายามเลือกข้างที่จะได้ครองราชย์ แต่กษัตริย์ก็จะพยายามจำกัดอำนาจของขุนนางโดยเวียนตำแหน่งสำคัญไปตามตระกูลต่างๆ ไม่ยอมให้ให้ตระกูลใดสืบทอดตำแหน่งสำคัญได้นาน มีการเก็บภาษีเมื่อขุนนางตาย ควบคุมขุนนางอย่างเคร่งครัดมิให้สะสมทรัพย์ โดยกษัตริย์มักหาเหตุลงโทษขุนนางเรื่องการรับสินบน ผู้ตกเป็นจำเลยจะถูกประหารชีวิตในที่สาธารณะเพื่อประจานให้ตระกูลเสียหาย หลังจากนั้นก็จะจัดสรรเมียและทาสให้กับขุนนางอื่นๆและจะเปิดเรือนให้ผู้คนเข้าไปฉกชิงสิ่งของได้ พวกขุนนางผู้ใหญ่จึงไม่ค่อยสะสมสมบัติที่เปิดเผยและยึดได้ง่าย จึงมักนิยมสะสมเครื่องเพชรเพราะสะดวกในการเก็บและซุกซ่อน
ในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง หลังเกิดวิกฤติการณ์โค่นล้มพระนารายณ์มหาราชและขับไล่พวกยุโรปในพ.. 2231 พ่อค้าอังกฤษและฝรั่งเศสละทิ้งอยุธยา อยุธยาหันไปค้ากับจีนและมลายู สยามเป็นแหล่งข้าวที่จีนพอใจมาก ชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในสยามจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ถึงสองหมื่นคน ชาวจีนเข้ามามีบทบาทในการค้าขายทุกอย่าง เกิดตลาดค้าขายคึกคักรอบเมืองหลวง ที่ดินมีราคา มีสินค้านำเข้าหลากหลายชนิด เกิดมีพวกไพร่ร่ำรวยและติดสินบนขุนนางเพื่อให้ได้ยศฐาบรรดาศักดิ์ ทำให้พวกขุนนางร่ำรวยและมีอำนาจมากขึ้น การทำสงครามสืบราชสมบัติมีน้อยลงและจำกัดอยู่ในกลุ่มพระราชวงศ์ พวกขุนนางจึงไม่เสียหายมาก พวกตระกูลใหญ่จึงมีโอกาสได้สะสมไพร่พลและทรัพย์สิน


อลองพญา เจ้ากรุงอังวะ 2295-2303
และแล้วพม่าก็บุกโจมตีอยุธยาโดยพระเจ้าอลองพญาปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญาเริ่มยกทัพเข้ามาตั้งแต่ปี 2303 แต่สวรรคตกลางคันจึงถอยทัพกลับ ต่อมาพระเจ้ามังระที่สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้ามังลอกพระเชษฐาจึงได้บุกโจมตีเอาชัยชนะต่ออยุธยาได้สำเร็จ ในปี พ.. 2310 หลังจากจบศึกสงครามครั้งก่อนมาร่วม 150 ปี จากการที่ไม่มีความขัดแย้งที่รุนแรงต่อกันเพราะมีการแบ่งอำนาจและเขตอิทธิพลกันลงตัว แต่สาเหตุสำคัญของการบุกโจมตีครั้งนี้มาจากความทะเยอทะยานของกษัตริย์พม่าพระราชวงศ์ใหม่ที่ต้องการแผ่ขยายอิทธิพลไปทุกทิศทางและในครั้งนี้ถึงกับต้องการกำจัดอยุธยาออกไปจากสารบบของการเป็นเมืองคู่แข่ง ในช่วงปลอดสงคราม 150 ปีหลังจากการเสียกรุงครั้งแรก ทำให้อยุธยามั่งคั่งร่ำรวย กลายเป็นสังคมเมืองที่ห่างเหินเรื่องการศึกสงคราม เมื่อกองทัพพม่ารุกเข้ามา ชาวอยุธยาก็หลีกเลี่ยงที่จะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารโดยติดสินบนมูลนาย บางคนหนีไปอยู่ป่า เจ้าเมืองที่อยุธยาขอให้ช่วยก็มีไม่กี่แห่งที่ส่งทหารมา เมืองที่พม่าเดินทัพผ่าน ต่างก็ยอมจำนนต่อพม่าเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะ บางแห่งก็ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยร่วมไปกับทัพพม่า บางพวกก็เข้าร่วมกับพม่าเพื่อจะได้ฉกฉวยทรัพย์สิน ขุนนางอยุธยาก็พยายามต่อรองขอร้องพม่าให้เห็นแก่ความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎร เปรียบเทียบเหมือนช้างสารชนกัน หญ้าแพรกคือประชาชนก็มีแต่แหลกราญ พระเจ้าเอกทัศน์รู้ดีว่าไม่สามารถเกณฑ์ทหารได้เพียงพอจึงสร้างกำแพงให้สูงขึ้น และขยายคูเมืองให้กว้าง พร้อมทั้งซื้อปืนประเภทต่างๆไว้เป็นจำนวนมาก หวังรอฤดูน้ำหลาก แต่พม่ายกทัพมาถึงสามทัพโดยตั้งค่ายอยู่บนเนินกว่าสองปี ผู้คนจึงต้องหนีภัยความอดอยากออกมานอกเมือง พม่าทำลายกำแพงเมืองเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2310 โดยมุ่งทำลายทุกสิ่งเพื่อกำจัดอยุธยาให้สิ้นซากไม่ให้เป็นคู่แข่งอีกต่อไป อะไรที่เคลื่อนย้ายได้ก็เอาไปอังวะให้หมด  พม่าจุดไฟเผาเมืองจนวอดวาย พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่า มีพระบรมราชโองการให้จับพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ และรวบรวมสมบัติทั้งหมดของอยุธยาส่งกลับไปพม่า รวมทั้งกลุ่มขุนนาง ช่างฝีมือ พระพุทธรูป ตำรา อาวุธ โดยกวาดเอาพระราชวงศ์ไปถึงสองพันคน อะไรที่เอาไปไม่ได้ก็ให้ทำลายให้สิ้น พังกำแพงเมืองและระเบิดคลังสรรพาวุธเสียราบเรียบ วังและวัดถูกทำลายจนเหลือเพียงเถ้าถ่าน การสู้รบดำเนินต่อไปกว่า 40 ปี บริเวณรอบๆอยุธยาแทบจะปราศจากผู้คนอย่างสิ้นเชิง การโจมตีเริ่มมาจากทางล้านนาตั้งแต่ด้านเชียงใหม่ลงมา ระหว่างทางก็จับเชลย เผาเอาทองและหาเสบียงกรัง การโจมตีของพม่าในปี 2315 - 2319 สร้างความหายนะแก่ล้านนามากจนเชียงใหม่ถูกทิ้งเป็นเมืองร้าง พม่ายังได้กลับมาโจมตีอีกในปี 2328 – 2329 โดยยกทัพมากกว่าหนึ่งแสนคนแบ่งเป็นเก้าทัพ จากทางเหนือที่ล้านนาคือเชียงใหม่ ลงมาถึงจังหวัดระนอง เมื่อเดินทัพผ่านที่ใดก็จะสร้างความหายนะเป็นบริเวณกว้าง พิษณุโลกและหัวเมืองเหนืออื่นๆต้องถูกทิ้งร้าง ในที่สุดพม่าก็ถูกขับไล่ออกไป แต่เชียงใหม่ถูกทำลายจนเหลือสภาพเป็นเพียงหมู่บ้าน และบริเวณภาคเหนือก็ไม่ได้มีผู้คนกลับมาอาศัยอยู่เหมือนเดิมจนถึงทศวรรษ 2410 นครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางภาคใต้ก็ถูกทำลายจนแทบไม่มีทางฟื้นคืนอีกเลย มีคนน้อยมาก การค้าและทรัพยากรต่างๆก็ไม่ค่อยมี  แม้กระทั่งเมืองสำคัญในที่ราบลุ่มเจ้าพระยา เช่น เมืองราชบุรีที่ถูกเผาเมื่อปี 2310 ก็ยังถูกทิ้งเป็นเมืองร้างไม่ต่ำกว่า 30 ปี

จากอยุธยามาเป็นกรุงเทพ



พระเจ้าตากสิน ครองราชย์ 2310-2325
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองได้ไม่นานก็เกิดมีการตั้งกลุ่มก๊กต่างๆ พระเจ้าตากสินได้กลายเป็นผู้นำที่เข้มแข็งที่สุด เป็นบุตรชายของชาวจีนอพยพเชื้อสายแต๊จิ๋วมีแม่เป็นคนไทย พระเจ้าตากคงจะมีอาชีพเป็นนายเกวียนค้าขายตามหัวเมือง แล้วติดสินบนข้าราชการจนได้เป็นเจ้าเมืองตากที่อยู่ไกลโพ้น ไม่ได้มาจากตระกูลเจ้าหรือขุนนาง แต่เป็นคนมีความสามารถในการรวบรวมสมัครพรรคพวกจากพวกพ่อค้าจีน นักเสี่ยงโชคและขุนนางระดับล่าง แล้วจึงตั้งเมืองหลวงใหม่ที่ธนบุรี ที่ล้อมรอบด้วยบึงที่เหมาะสำหรับป้องกันตัวจากศัตรูและยังอยู่ตรงข้ามชุมชนจีนที่ทำการค้ามานานที่บางกอก ทรงใช้เส้นสายกับพ่อค้าจีนนำเข้าข้าวเพื่อประทังชีวิตในเขตที่เสียหายมากและเริ่มฟื้นฟูการค้าเพื่อหารายได้เข้าคลัง ทรงนำเอาประเพณีกษัตริย์ชาตินักรบกลับมา โปรดให้สักข้อมือชายที่ถูกเกณฑ์ และทรงเข้าร่วมทำสงครามในฐานะเป็นแม่ทัพ
เมื่อการรบพุ่งเบาบางลง ผู้คนเริ่มกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ

ตระกูลขุนนางที่เหลือรอดมาได้นั้น มีเพียงไม่กี่รายที่พร้อมจะรับใช้กษัตริย์ที่ไม่ได้มาจากเชื้อสายเจ้า ขณะที่พระเจ้าตากสินก็มีแต่ส่งเสริมพวกนักเสี่ยงโชคและนักรบที่ได้ช่วยเหลือพระองค์มาตั้งแต่ต้นให้ได้ตำแหน่งสูงทั้งที่เมืองหลวงและหัวเมือง มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง ที่สำคัญคือนายบุญมาที่มาจากตระกูลขุนนางมอญเก่าต่อมาได้นำพี่ชายคือนายทองด้วงเข้ามารับราชการด้วย พี่น้องทั้งสองได้กลายเป็นแม่ทัพเอกของพระเจ้าตากสิน พวกขุนนางเก่าจำนวนมากยอมรับนายทองด้วงหรือพระยาจักรีเป็นผู้นำของกลุ่ม

รัชกาลที่ 1 ครองราชย์ 2325-2352 
แต่พวกเขาไม่พอใจที่ถูกกีดกันไปจากตำแหน่งสำคัญ อีกทั้งพวกเขาก็ไม่ค่อยยอมรับพระเจ้าตากสินที่มีพื้นเพเป็นแค่สามัญชนที่มีพวกนักเสี่ยงโชคเป็นพวกและปฏิบัติตัวแตกต่างไปจากระบอบเจ้าที่พวกเขาคุ้นเคยซึ่งพวกเขารับไม่ได้ พวกเขาได้อ้างว่าพระเจ้าตากสินได้อวดอ้างพระองค์ว่ามีอำนาจอภินิหารเหนือพระสงฆ์ จึงได้ฉวยโอกาสก่อการยึดอำนาจและประหารพระเจ้าตากสินเมื่อต้นเดือนเมษายน 2325 และสถาปนานายทองด้วงเป็นต้นราชวงศ์จักรีที่มีที่มาจากตำแหน่งพระยาจักรีของนายทองด้วง ราชวงศ์ใหม่ได้หันกลับไปเลียนแบบประเพณีอยุธยาแล้วย้ายเมืองหลวงไปยังฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่กรุงเทพฯ สร้างเลียนแบบแผนผังของอยุธยาที่ตั้งอยู่บนเกาะที่เกิดจากการตัดคลองตรงคอคอดบริเวณคุ้งแม่น้ำ มีการนำซากอิฐจากวัดและวังสำคัญๆจากอยุธยามาใช้สร้างพระราชวังใหม่ที่กรุงเทพ โปรดให้สรรหาเอกสารที่หลงเหลืออยู่มาชำระเรียบเรียงใหม่และทำพิธีราชาภิเษกให้เหมือนกับสมัยพระเจ้าบรมโกศ


เจ้ากาวิละ ผู้ครองเชียงใหม่ 2325-2358
สังคมทหารที่ก่อตัวขึ้นใหม่เริ่มแรกเป็นไปเพื่อปกป้องตนเอง แต่กองทัพสยามได้ขยายอาณาจักรออกไปทุกทิศทางมากกว่าครั้งใดโดยเฉพาะในดินแดนต่างๆที่ถูกพม่ารุกรานจนระส่ำระสาย มีการกวาดต้อนผู้คนจากที่ต่างๆมารวมกันอยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาทำให้บริเวณนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ พวกขุนนางเก่าที่รอดชีวิตจากสงครามได้มาเป็นผู้นำสำคัญในการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ การค้ากับจีนที่เฟื่องฟูเมื่อสมัยอยุธยาตอนปลายก็ยังคงดำเนินต่อไปและยิ่งเพิ่มพูนขึ้นอีก การค้าขายขยายตัวอย่างรวดเร็วตลอดบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยาลงไปถึงแหลมมลายู พระเจ้าตากสินและรัชกาลที่ 1 ได้ช่วยเจ้ากาวิละขับไล่พม่าออกไปและสถาปนาเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้ง
เจ้าอนุวงศ์ ครองราชย์ 2348-2371
พระเจ้าตากสินโจมตีได้เมืองเวียงจันทน์และจับราชบุตรของเจ้าลาวคือเจ้าอนุวงศ์มาเป็นตัวประกันที่กรุงเทพ ทั้งยังเผากรุงละแวกเมืองหลวงของเขมรเป็นจุลและทรงแต่งตั้งเจ้าเขมรองค์ใหม่ให้เป็นหูเป็นตาแทนกรุงเทพฯ ทรงนำเอาระบบบรรณาการมาใช้เหนือเมืองขึ้นเหล่านี้โดยบังคับให้ส่งของป่าเป็นส่วยแก่กรุงเทพเพื่อขายเป็นสินค้าส่งออกไปจีน และยังแผ่ขยายแสนยานุภาพต่อไปอีกหลายสิบปี จากปลายสมัยรัชกาลที่ 2 เริ่มเข้าควบคุมที่ราบสูงโคราชที่ยังมีประชากรเบาบางและมีทรัพยากรสมบูรณ์ จึงต้องทำสงครามแย่งชิงกับเจ้าอนุวงศ์ที่เวียงจันทน์ กองทัพสยามได้เข้าทำลายเวียงจันทน์และราชวงศ์ลาวจนราบคาบในปี 2370 – 2371 อย่างเดียวกับที่พม่าเคยทำกับอยุธยาเมื่อ 60 ปีก่อน เชลยลาวถูกกวาดต้อนให้มาตั้งรกรากอีกฝากหนึ่งของแม่น้ำโขง เพื่อให้อีสานส่งส่วยของป่าให้กรุงเทพได้มากขึ้น ต่อมาในปี 2376 รัชกาลที่ 3 ก็ส่งกองทัพไปตีเอาดินแดนเขมร โดยสั่งแม่ทัพให้ไปยึดเอาเขมรเป็นเมืองขึ้นให้ได้ หรือให้ทำลายล้างให้สิ้น ให้กวาดต้อนครอบครัวมาไว้ที่เมืองไทยให้หมดอย่าให้เหลือ ให้จัดการกับเขมรเหมือนอย่างที่เคยจัดการกับเวียงจันทน์ในสมัยเจ้าอนุวงศ์
มีแต่เพียงด้านตะวันตกที่สยามไม่สามารถแผ่ขยายอิทธิพลได้สำเร็จ หลังจากส่งกองทัพไปตีทวายสองครั้งแต่ถูกพม่าตอบโต้
ยุคสมัยแห่งความวุ่นวายนี้ทำให้มีการโยกย้ายผู้คนไปทั่วบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยา กองทัพของพระเจ้าตากสินได้กวาดต้อนเชลยหลายพันคนจากยวนล้านนา ลาวเวียงจันทน์ ลาวพวน ไทยดำและเขมร รวมทั้งชาวมลายู ยังมีมอญอีกสามถึงสี่หมื่นคนก็ได้อพยพเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อสยาม ทัพสยามและล้านนาเชียงใหม่ยังบุกขึ้นเหนือเพื่อยึดเขินลู้และไทยใหญ่หลังจากรบชนะเวียงจันทน์เมื่อปี 2370 โดยได้กวาดต้อนเชลยมากกว่า 150,000 คน โดยให้มาตั้งถิ่นฐานในที่ราบลุ่มเจ้าพระยาราว 50,000 คน ทั้งนี้กรุงเทพได้ส่งกองทัพไปลาวถึง 6 ครั้ง กวาดต้อนเชลยจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงจนเมืองถูกทิ้งร้าง และนำพวกลาวพวนมาจากทุ่งไหหิน นำไทยดำจากสิบสองปันนา รวมทั้งคนเขมรและเวียตนาม เชลยที่ตั้งรกรากอยู่รอบๆกรุงเทพถูกใช้เป็นแรงงานสร้างเมืองหลวงใหม่ พวกที่ตั้งรกรากอยู่แถบที่ราบลุ่มภาคกลางก็ให้ทำนาเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว กลุ่มอื่นๆก็ถูกกวาดต้อนให้ไปอยู่อีสานเพื่อหาของป่าที่กรุงเทพต้องการส่งไปขายให้จีน
ตระกูลขุนนางไม่กี่รายที่รอดมาหลังจากการเสียกรุงและเกี่ยวโยงกับราชวงศ์จักรีได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว บางตระกูลรุ่งเรืองและอลังการเทียบเท่าพระราชวงศ์เลยทีเดียวโดยเฉพาะตระกูลบุนนาคที่สืบเชื้อสายไปได้ถึงต้นตระกูลชาวเปอร์เซียที่เข้ามาสยามในสมัยพระนเรศวร คนสำคัญในตระกูลบุนนาคได้เป็นเป็นเสนาบดีกลาโหม มหาดไทยและกรมท่าหนึ่งหรือสองตำแหน่งเสมอตลอดชั่วสี่อายุคน กษัตริย์จึงมีอำนาจมากกว่าพวกขุนนางตระกูลใหญ่ไม่มากนัก ตระกูลขุนนางใหญ่เพิ่มสมาชิกของครอบครัวด้วยการมีภรรยาหลายคนจะได้มีลูกชายที่เก่งกาจเพื่อสืบทอดตระกูลต่อไป และต้องมีลูกสาวมากพอที่จะไปแต่งงานกับครอบครัวชนชั้นนำอื่นให้เป็นเครือข่ายสัมพันธ์กัน เจริญรอยตามกษัตริย์ที่มีโอรสธิดาจำนวนมาก ตั้งแต่รัชกาลที่
1 จนถึงรัชกาลที่ 5  ตระกูลขุนนางใหญ่เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งบ้านเรือนรอบๆวังหลวงเปรียบเหมือนเมืองขนาดเล็ก ตระกูลบุนนาคได้รับพระราชทานที่ดินผืนใหญ่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่สำเพ็งจึงได้สร้างวัด 3 แห่ง ทั้งขุดคลองและสร้างบ้านเรือนให้ลูกหลานที่มีเป็นจำนวนมาก พวกพ่อค้าและช่างฝีมือก็พากันมาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆ กษัตริย์กรุงเทพองค์ใหม่ได้รับความชื่นชอบในฐานะเป็นผู้ปกปักพุทธศาสนาจากพม่าผู้รุกราน ชัยชนะในการทำศึกเหนือดินแดนลาวและเขมรเป็นความชอบธรรมเพราะทำให้ชาวลาวและเขมรได้เข้ามาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์ไทยผู้มีพุทธธรรมสูงกว่าเจ้าผู้ปกครองพวกเขาก่อนหน้านั้น เท่ากับได้ช่วยคนลาวและเขมรได้ก้าวเข้าสู่ความหลุดพ้นหรือพระนิพพานเพราะถือกันว่ากษัตริย์ไทยนั้นเป็นพระโพธิสัตว์ที่สั่งสมบารมีมาแต่ชาติปางก่อนที่จุติมาเพื่อช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากทุกข์และสืบทอดพระศาสนามิให้สูญหายไปจากโลก อีกทั้งยังทรงชำระคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์และมีการสังคายนาพระไตรปิฎกให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ ให้ราษฎรได้ประพฤติปฏิบัติธรรมเจริญรอยตามพระพุทธองค์ที่ได้ทรงบำเพ็ญบารมีมาถึง 500 ชาติ โดยเฉพาะการส่งเสริมทานบารมีโดยทรงจัดให้มีการเทศน์มหาชาติเรื่องพระเวสสันดรเป็นประจำทุกปีที่วัดพระแก้ว
รัชกาลที่ 1 มีแม่เป็นลูกสาวคนงามของตระกูลเจ้าสัวจีนที่ร่ำรวยของอยุธยาจึงได้ทรงสานต่อนโยบายของพระเจ้าตากสินได้ส่งเสริมให้ชาวจีนอพยพได้เข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีจีนอพยพหลั่งไหลเข้ามาตลอดช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นโดยมุ่งการค้าต่างประเทศไปทางตะวันออกโดยเฉพาะจีน แม่น้ำเจ้าพระยาเต็มไปด้วยสำเภาจีน คล้ายกับว่าชาวจีนได้กลายเป็นคนส่วนใหญ่ของกรุงเทพ เมื่อถึงปี 2378 ชุมชนจีนที่สำเพ็งได้กลายเป็นตลาดใหญ่ที่คึกคักมากตลอดเส้นทางที่ยาวถึงสามกิโลเมตรตามแนวถนนที่ปูด้วยอิฐเผา มีทั้งร้านขายสินค้าสารพัดทั้งของสดของแห้ง เหล้า ยา เครื่องมือสารพัด รวมทั้งบ่อนการพนันและซ่องโสเภณี
จีนอพยพรุ่นแรกส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันกับการค้าข้าวระหว่างสยามกับจีนที่กำลังรุ่งเรือง ตามมาด้วยพวกที่อพยพหนีความอดอยากยากจนและความวุ่นวายทางการเมืองในจีนตอนใต้ มีชาวจีนอพยพเข้ามาประมาณปีละ 7,000 คนทุกปีช่วงทศวรรษที่ 2360 และเพิ่มขึ้นเป็น 14,000 คนในปี 2413 ชาวจีนที่หากินอยู่ในสยามได้สักสองสามปี จะมีราวครึ่งหนึ่งที่เดินทางกลับเมืองจีน แต่มีชาวจีนที่ตัดสินใจตั้งหลักปักฐานในสยามเมื่อทศวรรษ 2390 มีรวมกันถึง 300,000 คน ส่วนมากรับจ้างเป็นกุลีแบกหามของที่ท่าเรือและที่อื่นๆในกรุงเทพ บ้างก็จับจองที่ดินชายขอบที่ราบลุ่มปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อปลูกผักขายในเมือง


กรุงเทพ 2367 ต้นรัชกาลที่ 3
ราวปี 2353 เริ่มมีคนจีนลงทุนปลูกอ้อย จนต่อมาอีกราว 40 ปี อ้อยก็ได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของกรุงเทพในการผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออก  คนจีนอพยพบางส่วนก็ล่องเรือไปตามลำแม่น้ำแล้วตั้งรกรากตามเมืองต่างๆ เป็นเจ้าของร้านชำ เป็นพ่อค้าส่งพืชผลไปกรุงเทพ เป็นเจ้าของกิจการสารพัด รอบอ่าวไทยเรื่อยลงไปทางแหลมมลายู ตามเมืองท่าใหญ่น้อยจึงมีคนจีนอยู่เป็นจำนวนมาก บ้างก็เข้าไปตั้งรกรากลึกเข้าไปจากชายฝั่งเพื่อปลูกยางพารา พริกไทยและทำเหมืองแร่ดีบุก กษัตริย์ก็เห็นความสำคัญของชาวจีนที่ช่วยบุกเบิกด้านเศรษฐกิจจึงยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน แต่เก็บภาษีรัชชูปการแทนการเกณฑ์แรงงานทุกสามปีที่เรียกว่าภาษีผูกปี้โดยผูกเชือกที่ข้อมือแล้วตีด้วยครั่ง และเก็บภาษีการค้าจากพวกชาวจีนด้วย โดยพบว่าเป็นวิธีเพิ่มรายได้ของรัฐที่ดีกว่าการผูกขาดการค้าต่างประเทศแบบเดิม รัฐบาลจึงจ้างพ่อค้าจีนให้ทำหน้าที่เก็บภาษีคือตั้งให้เป็นเจ้าภาษีนายอากรมากขึ้น จากเดิมที่สยามส่งสินค้าป่าไปขายจีนเป็นหลัก พอมาถึงทศวรรษ 2360 ก็มีสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นอีกหลายชนิด เช่น ข้าว น้ำตาล ปลา เนื้อแห้ง ภาชนะดีบุก ผ้า น้ำมัน สียอมผ้าซึ่งคนจีนเป็นผู้ผลิต ต่อมาคนอื่นๆก็เข้ามาผลิตด้วย ทำให้กลายเป็นสังคมการตลาดมากกว่าระบอบเกณฑ์แรงงานเดิม



พระยาโชฎึกราชเศรษฐี
(เล่าเตียน โชติกเสถียร)
ตระกูลเจ้าสัวจำนวนหนึ่งได้รุ่งเรืองขึ้นมาจากการอุปถัมถ์ของพระราชวงศ์ เริ่มจากเป็นพ่อค้าช่วยกษัตริย์และขุนนางค้าขาย หลายคนได้เป็นเจ้าภาษีอากร คือ ได้รับสัมปทานเก็บภาษีที่มีมูลค่าสูง เช่น ภาษีรังนก  ภาษีสุรา ฝิ่นและบ่อนพนันในเมือง กษัตริย์พระราชทานตำแหน่งและราชทินนามให้สถานะของพวกเขาสูงขึ้น  ผู้ที่ประสบความสำเร็จมากก็จะได้ตำแหน่งโชฎึกเศรษฐีเป็นหัวหน้าของชุมชนจีนที่เมืองหลวง บางครอบครัวประสบความสำเร็จสูง ก่อตั้งเป็นตระกูลใหญ่ สร้างเส้นสายด้วยการถวายลูกสาวให้เป็นนางรับใช้ของกษัตริย์หรือแต่งงานกับตระกูลใหญ่ของกรุงเทพและตระกูลพ่อค้าที่เป็นหุ้นส่วนการค้าที่เมืองจีนและที่อื่นๆ ตระกูลจีนใหญ่ๆทั้งหลายยกระดับสถานภาพทางสังคมของตนเองได้เพราะทำงานร่วมมือกับราชสำนักอาศัยระบบอุปถัมถ์จากสมาชิกเจ้านายชั้นสูงในพระราชวงศ์ โดยจะต้องถวายของขวัญมีค่าหรือเงินทองเพื่อจะได้รับราชทินนามที่สูงขึ้นเป็นการตอบแทน ขณะที่กษัตริย์ก็ชักจูงพวกเจ้าสัวให้สร้างและซ่อมแซมทั้งวัดไทยและศาลเจ้าจีน ให้ช่วยขุดคลองเพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินเรือ รวมทั้งสร้างโรงพยาบาลและโรงเรียน



ความเปลี่ยนแปลงของสังคมสยาม
ในสมัยรัตนโกสินทร์




ไพร่ คือสามัญชน ที่มักอยู่ตามป่าดงพงไพร
สยามในสมัยรัตน โกสินทร์ ตอนต้นมีสังคมเป็นสองแบบซ้อนกันอยู่ คือ ประชาชนส่วนหนึ่งยังอยู่ในระบบเก่า มีการฟื้นระบบแรงงานเกณฑ์ ผู้เป็นไพร่ต้องสังกัดมูลนาย ไพร่ถูกเกณฑ์เป็นทหารทำสงครามด้านตะวันออกในทศวรรษที่ 2380 มีการเกณฑ์ชายฉกรรจ์ได้ถึงหนึ่งในสิบจากที่ราบลุ่มเจ้าพระยาและที่ราบสูงโคราช และยังมีการใช้แรงงานเกณฑ์ในวังและตามบ้านขุนนางทั้งงานก่อสร้างโยธาและเก็บของป่าขายเป็นสินค้าส่งออก มีการควบคุมแรงงานอย่างเข้มงวดตามบริเวณหัวเมือง ผู้คนส่วนใหญ่มีสถานภาพเป็นเหมือนทาสแบบใดแบบหนึ่ง บางคนเริ่มแรกจากการเป็นเชลยที่ถูกกวาดต้อนมา หรือถูกเกณฑ์เป็นทหารเพื่อทำสงครามทางใต้และทางตะวันออก บางคนถูกจับเข้ามาขาย โดยมีคนที่มีอาชีพไปโจมตีหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลแล้วลักพาผู้คนเอามาขายในเมืองและบริเวณที่ราบลุ่ม บางคนตกเป็นทาสเพราะเป็นหนี้ บางคนก็ขายตัวเอง บางคนก็ขายลูก ขายญาติ หรือขายบ่าวคือคนรับใช้ แต่ห้ามขายพี่น้องท้องเดียวกันหรือหลานปู่ย่าตายาย แต่ขายผู้อื่นได้ตามกฎหมาย 2384 กฎหมายนี้กำหนดราคาซื้อ-ขายทาสตามอายุ เพศและสภาพอื่นๆ ให้ความเป็นทาสตกทอดถึงลูกหลาน ทั้งทาสและไพร่ถูกเกณฑ์และบังคับได้ จะล่ามโซ่ตรวนหรือทรมานจนตายโดยวิธีการใดก็ได้


จับกังหรือกุลีจีนที่อพยพเข้าสยาม

อีกสภาพหนึ่งเป็นสังคมเศรษฐกิจการตลาดที่อาศัยแรงงานและผู้ประกอบการจากชาวจีนอพยพ  กำลังก่อตัวและขยายตัวควบคู่ไปกับสังคมแบบเก่า ต่อมาจึงได้ดึงเอาคนในส่วนอื่นๆเข้าร่วมวงด้วย ชาวนาในภาคกลางหันมาปลูกข้าวเพื่อส่งออก หรือขายให้พ่อค้า บางคนปลูกอ้อยส่งโรงงานหีบอ้อยของคนจีน ตัดไม้ให้อู่ต่อเรือ เป็นช่างผลิตสิ่งของส่งตลาดที่กำลังขยายตัว พวกขุนนางก็หันมาเป็นผู้ประกอบการกันมากขึ้น บ้างก็ทำกิจการเอง บางคนก็เข้าหุ้นหรือเป็นผู้อุปถัมภ์ชาวจีน ตระกูลใหญ่ๆบางตระกูล เช่น ตระกูลบุนนาคจะมีกิจการค้าหลายประเภท ทั้งนำเข้าส่งออกและทำไร่ขนาดใหญ่

เศรษฐกิจแบบเก่าที่อาศัยแรงงานเกณฑ์และเศรษฐกิจการตลาดแบบใหม่ต่างก็แก่งแย่งกันทั้งเรื่องทรัพยากรและแรงงาน ค่าตัวของทาสเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่ทางการกำหนดในทศวรรษที่
2360 ไพร่หนีไปทำงานทางเศรษฐกิจการตลาดมากขึ้น กษัตริย์และขุนนางต้องแย่งแรงงานเกณฑ์ที่มีจำนวนน้อยลงโดยต่างเสนอแรงจูงใจมาแข่งกัน
สมัยรัชกาลที่
3 พวกหัวเก่าที่ต้องการควบคุมไพร่ทาสแบบดั้งเดิมเข้มแข็งมากและต้องการกันพวกฝรั่งออกไปห่างๆ ทรงเปลี่ยนจากการค้าผูกขาดในราชสำนักมาเป็นระบบเจ้าภาษีนายอากร ทรงปฏิเสธการเปิดค้าเสรีกับฝรั่ง และใช้ระบบเกณฑ์แรงแบบเดิมเพื่อทำสงครามกับเขมร แต่พวกหัวใหม่ที่นำโดยตระกูลบุนนาคต้องการขยายการค้ากับฝรั่งเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวและเพิ่มความมั่งคั่ง ขณะที่อังกฤษทำสงครามฝิ่นสยบประเทศจีนส่งผลให้การค้าสำคัญระหว่างสยามกับจีนต้องหยุดชะงักอย่างสิ้นเชิง อินเดียและจีนต้องอยู่ในการครอบงำของตะวันตก ชนชั้นนำของไทยจึงต้องหันมาค้าขายกับตะวันตก
เศรษฐกิจแบบตลาดที่รุ่งเรืองและกลุ่มสังคมใหม่ๆส่งผลให้เกิดวิธีคิดแบบใหม่ๆที่มาจากโลกตะวันออกและโลกตะวันตก ทำให้ผู้คนหันมาให้คุณค่ากับการอ่านออกเขียนได้และการเรียนรู้มากขึ้น พวกฝรั่งต่างชาติ ทั้งกลุ่มทูต หมอสอนศาสนาและพ่อค้าฝรั่งก็เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่สยามและนำความรู้และวิทยาการใหม่เข้ามา เจ้าฟ้ามงกุฏขณะบวชหนีราชภัยก่อนขึ้นครองราชย์ก็ได้มีการติดต่อพวกฝรั่งโดยเฉพาะพวกหมอสอนศาสนา ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งอื่นๆ รวมทั้งการพิมพ์หนังสือ การนำเข้าหนังสือและเครื่องมือจากต่างประเทศ เครื่องจักรไอน้ำ รวมทั้งวิชาการด้านต่างๆ

พวกฝรั่งได้กลับเข้ามาอีกพร้อมทั้งนำความคิดและวิชาการสมัยใหม่เข้ามารวมทั้งลัทธิเจ้าอาณานิคมที่เป็นตัวเร่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง


รัชกาลที่ 3 ครองราชย์ 2367-2394
จักรวรรดินิยมอังกฤษจากอินเดียเริ่มมาตั้งฐานที่มั่นที่ปีนังและสิงคโปร์ เข้าพัฒนาอุตสาหกรรมดีบุกและขยายอิทธิพลเข้าสู่แหลมมลายูโดยเริ่มดำเนินการเจรจาเรื่องการปักปันเขตแดนกับสยาม กองทหารอังกฤษที่อินเดียได้รุกเข้าพม่าเมื่อปี 2369 เข้ายึดครองยะไข่และชายฝั่งทะเลมอญด้วยอาวุธที่เหนือกว่าทั้งปืนและเรือปืนที่ทำด้วยเหล็ก พวกฝรั่งจึงกลายมาเป็นภัยคุกคามตัวใหม่ต่อสยามแทนพวกพม่าและญวน ภัยคุกคามอีกประการหนึ่งคือฝิ่นที่อังกฤษได้นำเข้าสู่จีนและกำลังขยายตลาดค้าฝิ่นในพื้นที่ที่มีคนจีนอาศัยอยู่ พวกฝรั่งและหมอสอนศาสนาก็แอบขนฝิ่นเข้าสยามที่ยังเต็มไปด้วยทาสที่ต้องทำงานทั้งๆที่มีโซ่ตรวนล่ามอยู่ มีการพนันดาษดื่นและการนับถือเคารพรูปภาพของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาชนถูกกดทับเป็นไพร่ทาสที่ดูป่าเถื่อนโง่เขลาและขลาดกลัว บนผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ มีสินค้ามีค่า ทั้งเหมืองแร่ ยางไม้ เครื่องเทศ พริกไทย ข้าวและน้ำตาลคุณภาพดีและถูกที่สุด รวมทั้งผลไม้นานาชนิดที่มีรสชาติดีที่สุดในโลก พวกฝรั่งได้เข้ามาทำการสำรวจและบันทึกข้อมูลและทำแผนที่สยาม กัมพูชาและลาว ราชสำนักสยามยอมเซ็นสัญญาทางการค้ากับฝรั่ง พ่อค้าต่างชาติก็จัดหาอาวุธและของใช้ฟุ่มเฟือยที่ราชสำนักต้องการ


ถนนเจริญกรุง ปี 2439
ในสมัยปลายรัชกาลที่ 3 กรุงเทพเป็นศูนย์รวมอำนาจรัฐ เป็นเมืองท่าส่งออกข้าวและไม้สัก มีประชากรหนาแน่นที่สุด เพียง 100,000 คน ประชากรส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่บนแพริมน้ำและใช้ทางน้ำเพื่อการสัญจรเนื่องจากถนนมักจะเป็นหล่มโคลน เดินทางแทบไม่ได้ ต่อมาจึงขยับขยายเป็นเมืองบก โดยมีการสร้างถนนเจริญกรุงเป็นถนนแห่งแรกในปี 2400 เพื่อให้ชาวยุโรปได้ตั้งบ้านเรือน เดินเล่นและใช้รถม้า บรรดาสถานทูต ธนาคารและสำนักงานของบริษัทฝรั่งล้วนกระจุกตัวอยู่ในย่านนี้ทั้งสิ้น หลังจากนั้น 33 ปี ก็มีถนนทั้งหมดเพียง 14 กิโลเมตรเท่านั้นในปี 2433 
ก่อนหน้านั้นชาวจีนก็มักนุ่งกางเกงและเสื้อกุยเฮงเป็นเสื้อคอกลมผ่าอกตลอดติดกระดุมมีกระเป๋าด้านล่างข้างละกระเป๋า ขณะที่คนไทยและอื่นๆยังนุ่งโสร่งหรือผ้าถุงหรือคาดผ้าข้าวม้า โดยพวกผู้หญิงจะมีผ้าคาด อกด้วย


ชาวบ้านที่มุกดาหาร 2443
สมัยก่อนนั้นคนไทยยังไม่นิยมสวมเสื้อ รัชกาลที่ 4 จึงทรงมีรับสั่งให้ผู้เข้าเฝ้าสวมเสื้อเพื่อความศิวิไลซ์จะได้ไม่อายฝรั่ง พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงให้หญิงชายในราชสำนักสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บให้พอดีตัวทั้งท่อนบนและท่อนล่าง ข้าราชการสมัยใหม่ที่มักต้องทำงานกับที่ปรึกษาชาวยุโรปก็จะเอาอย่างโดยสวมกางเกงและเสื้อแบบฝรั่ง กลายเป็นแฟชั่นของชนชั้นนำ แต่พวกคนงานชายก็ยังเปลือยอก คนงานหญิงก็ใช้ผ้าคาดอก ชาวเมืองสยามเริ่มมาสวมเสื้อผ้ากันทั้งตัวก็ในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกในปี 2426 พบว่าชาวสยามและจีนมีรวมกันถึง 97% ของประชากรกรุงเทพทั้งหมด โดยมีชาวจีนแค่ 1 ใน 4 ซึ่งต่ำกว่าที่ฝรั่งคาดการณ์ว่าจะมีชาวจีนราวครึ่งหนึ่ง อาจเป็นเพราะว่ามีลูกหลานจีนจำนวนมากรวมทั้งลูกหลานของเชลยชาวลาวเขมรและมาเลย์ถือว่าพวกตนเป็นคนไทยแล้ว คนจีนทำการค้าถึง 3 ใน 5 ส่วนคนไทยส่วนใหญ่ทำการเกษตร รับจ้างและรับราชการ มีชาวจีนอพยพหนีความยากไร้และปัญหาทางการเมืองที่จีนตอนใต้

รถลากหรือรถเจ๊กสมัยรัชกาลที่ 5
หลังปี 2400  ในช่วงทศวรรษที่ 2420 เริ่มมีเรือกลไฟวิ่งระหว่างเมืองท่าทางตอนใต้ของจีน ระหว่างปี 2425 ถึง 2453 มีชาวจีนอพยพเข้าสยามถึง 1 ล้านคน โดยมีชาวจีนประมาณ 3 แสน 7 หมื่นคนที่ตั้งหลักแหล่งอยู่เมืองไทยเป็นการถาวร จึงมีคนจีนถึงเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรกรุงเทพทั้งหมด  โดย 3 ใน 5เป็นจีนแต๊จิ๋ว ตามด้วยจีนแคะและไหหนำ ชาวจีนได้เข้ามาลงทุนซื้อหาเครื่องจักรและจ้างวิศวกรต่างชาติสร้างโรงสีข้าว โรงเลื่อยไม้ อู่ต่อเรือ ทำการค้าขายเอาชนะพวกยุโรป เพราะมีเครือข่ายพ่อค้าจีนที่ช่วยซื้อข้าวจากชาวนาตามหมู่บ้านและสามารถบริหารจัดการพวกกุลีจีนได้ดีกว่าและยังพัฒนาเคริอข่ายทางการค้ารอบๆภูมิภาคที่เป็นคนจีนด้วยกัน

ตระกูลเจ้าสัวใหญ่ดั้งเดิมจำนวนหนึ่งตัดสินใจกันก่อตั้งธนาคารและบริษัทเดินเรือ เพื่อแสวงหาธุรกิจใหม่ๆแทนธุรกิจเดิมให้เป็นแหล่งทุนของพ่อค้าจีนแข่งกับพวกพ่อค้ายุโรป จึงมีความต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อทำงานที่ท่าเรือ โรงสีข้าวและสาธารณูปโภคใหม่ๆ มีการจ้างจับกังหรือคนงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีนนับแสนคนหรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรกรุงเทพ เฉพาะกิจการโรงสีข้าวอย่างเดียวก็มีแรงงานระหว่าง 1 หมื่นถึง 2 หมื่นคน โดยมีคนไทยทำงานรับจ้างมากขึ้นภายหลังการเลิกทาสและเริ่มมีรัฐวิสาหกิจ เช่น การรถไฟ

จับกังหรือแรงงานรับจ้างจีนในสยาม
สภาพการทำงานและวิถีชีวิตที่ย่ำแย่ทำให้จับกังจำนวนมากหันมาสูบฝิ่นเพื่อลืมชีวิตที่ลำบากยากแค้น คนงานท่าเรือหยุดงานประท้วงสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ในปี 2426 ทำให้ท่าเรือเป็นอัมพาต ลูกจ้างโรงสีข้าวหยุดงานในปี 2427 และ 2435 จนรัฐบาลต้องส่งทหารไปสลายการชุมนุมแล้วเนรเทศพวกหัวโจก รัฐบาลได้ออกกฎหมายปราบปรามสมาคมลับหรืออั้งยี่ ในปี 2440 เพราะเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังขบวนการแรงงาน

วัยรุ่นกรุงเทพ 2453
มีการตั้งหน่วยตำรวจพิเศษเพื่อควบคุมย่านคนงานจีนด้วยความรุนแรง คนงานจีนในกรุงเทพได้นัดหยุดงานขนานใหญ่ในปี 2453 เพื่อประท้วงการที่รัฐบาลยกเลิกภาษีผูกปี้ที่ยกเว้นการเกณฑ์ทหารแก่คนจีนที่เคยเก็บทุกๆ 3 ปีเปลี่ยนมาเป็นการเก็บเป็นรายปีซึ่งสูงกว่าเดิมมากในปี 2452  พอเกิดการปฏิวัติล้มระบอบฮ่องเต้ราชวงศ์แมนจูเรียของจีนในปี 2454 หางเปียจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้าหลัง ชาวจีนส่วนใหญ่จึงเลิกไว้เปียและหันมานิยมสวมเสื้อผ้าแบบฝรั่งแทนที่จะเป็นแบบไทยหรือแบบจีน แต่ยังคงใช้ภาษาจีนในเอกสารทางธุรกิจทุกอย่างโดยมักมีการส่งลูกชายไปเรียนภาษาจีนที่เมืองจีน  เมื่อคนจีนต้องใช้นามสกุลไทยนับตั้งแต่ปี 2456 ก็ยังคงแซ่เดิมเอาไว้ในนามสกุลไทย
ชุมชนพ่อค้าจีนมักจะก่อตั้งสถาบันหรือสมาคมต่างๆเพื่อสนับสนุนการดำเนินชีวิตและธุรกิจของพวกเขา รวมไปถึงการออกหนังสือพิมพ์จีน สร้างโรงพยาบาลและมูลนิธิ รวมทั้งสมาคมต่างๆโดยมีพ่อค้าจีนระดับนำเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินและเป็นกรรมการ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้าจีนและราชสำนักที่เคยอุปถัมภ์กันมาเริ่มห่างเหิน เพราะราชสำนักหันไปสนใจด้านตะวันตกขณะที่ชาวจีนที่กรุงเทพก็ร่ำรวยขึ้นและมีสมาคมของพวกเขาเอง
หลังการปฏิรูประบบบริหารที่รวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลางสมัยรัชกาลที่ 5 มีการก่อตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนที่ต่อมาพัฒนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้กลายเป็นช่องทางสู่การเป็นข้าราชการระดับสูงของสมาชิกพระราชวงศ์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมายโดยอาศัยเงินเดือนข้าราชการในสมัยนั้นซึ่งมากพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้ รัฐบาลได้ชักจูงขุนนางและผู้ปกครองตระกูลใหญ่ตามหัวเมืองส่งลูกชายเข้าโรงเรียนและวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ ทำให้เกิดสามัญชนคนชั้นกลาง พวกข้าราชการชั้นผู้น้อย ครู นักวิชาชีพ


สยามยุคนักล่าอาณานิคม


บ้านแพริมน้ำ กรุงเทพ 2405
ในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 หรือเมื่อราวเกือบสองร้อยปีก่อน ที่ราบลุ่มเจ้าพระยาส่วนใหญ่ยังเป็นป่าที่เต็มไปด้วยสุมทุมพุ่มไม้และช้างป่า บริเวณใกล้ทะเลหรือแม่น้ำมีพื้นที่ชุ่มน้ำเต็มไปด้วยหญ้าคาและจระเข้ สองฟากฝั่งแม่น้ำส่วนมากยังรกร้างและเต็มไปด้วยป่าทึบ มีประชากรในที่ราบลุ่มภาคกลางประมาณ 5 แสนคนเท่านั้นในปี 2390 พอหนึ่งร้อยปีต่อมาจึงมีชาวบ้านเข้ามาตั้งบ้านเรือนเฉลี่ยปีละประมาณ  7 พันครัวเรือน ขยายที่นาเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนไร่ จนได้มีคลองตัดผ่านเป็นเหมือนตาหมากรุกมีที่นาผุดขึ้นทุกหนแห่งเมื่อปี 2493
มีชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์โดยนำเมล็ดพันธุ์พืชหลากหลายชนิดเข้ามาปลูก รวมทั้งพวกไพร่ที่หลีกเลี่ยงการเข้าเวรก็เข้าไปทำไร่บุกเบิก เริ่มแรกพากันปลูกอ้อยเป็นส่วนใหญ่ แต่ตลาดอ้อยซบเซาเพราะน้ำตาลจากยุโรปและชวาหรืออินโดนีเซียราคาถูกกว่าในช่วงทศวรรษ 2410 จึงหันมาปลูกข้าวกันเป็นหลัก ขณะที่ประเทศอาณานิคมของฝรั่งรอบๆเมืองไทยมีการขยายตัวของคนที่ทำงานในเมืองหรือในไร่ที่ปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารทำให้มีความต้องการข้าวมากขึ้น อีกทั้งมีการใช้เรือกลไฟขนส่งสินค้าหนักทางน้ำจึงช่วยลดต้นทุนการขนส่งข้าวได้มาก ขณะที่ชาวนาเข้าบุกเบิกจับจองที่ดินบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยาและชายฝั่งคลองที่ขุดขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางขนส่งทางเรือ กษัตริย์ก็เริ่มมีนโยบายขุดคลองนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2400 เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกราชวงศ์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วได้เข้าจับจองที่ดิน ทรงขุดคลองใหม่หลายแห่งและโปรดให้แบ่งที่ดินสองฝั่งคลองให้กับบรรดาพระญาติ พวกขุนนางก็เจริญรอยตาม เช่น ตระกูลบุนนาคซึ่งขุดคลองไปทางตะวันตก ตระกูลสนิทวงศ์ขุดคลองที่ทุ่งรังสิตเพื่อทดน้ำออกจากบริเวณที่กว้างใหญ่ถึง 1.5 ล้านไร่ โดยกษัตริย์เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนแบ่งที่ดินสองฝั่งคลองเป็นผืนใหญ่ราว 1,500 ถึง 3,000 ไร่ โดยมีไพร่ในสังกัดตระกูลขุนนางเป็นแรงงาน มีชาวบ้านอพยพมาจากอีสานเพื่อมาเช่าที่ดินและทำงานเป็นลูกนา รัฐบาลได้ออกกฎหมายที่ดิน มีการออกโฉนดที่ดิน ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นหลายเท่าตัว สร้างผลกำไรแก่พวกราชวงศ์อย่างมากมายมหาศาล


ขบวนของเจ้านาย 2443
จากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ทำให้ชาวบ้านสามารถผลิตได้เองและใช้ได้เองโดยเกือบจะไม่ต้องซื้อหาจากภายนอกและจะขายผลผลิตส่วนที่เหลือกินเหลือใช้โดยมีพวกพ่อค้าจีนเดินทางขึ้นล่องตามลำน้ำเป็นตัวเชื่อมชาวนากับตลาดภายนอก โดยจัดส่งเรือเอี่ยมจุ๊นขนส่งข้าวส่วนเกินของชาวนาไปส่งโรงสี จนกระทั่งข้าวได้กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สุดและเป็นรายได้หลักของรัฐบาล จนมีการส่งเสริมให้มีการบุกเบิกขยายการทำนา รัฐบาลได้ออกอากรค่านาในทศวรรษ 2440 กลายเป็นรายได้สำคัญ ในสมัยนั้นกรุงเทพยังดูเหมือนบ้านนอกมาก มีนาข้าวกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาเริ่มจากกำแพงวังเลย โดยมีป่าร่มครึ้มอยู่หลังตลาดสำเพ็งที่จอแจ เป็นเมืองที่มีสวนและป่าสลับกับบ้าน วัด และวัง


Sir John Bowring (2335-2425)
เมื่อขุนนางตระกูลบุนนาคมีบทบาทในการครองราชย์ของรัชกาลที่ 4 ในปี 2398 กลุ่มหัวใหม่ได้มีอำนาจมากขึ้น ทรงเชิญเซอร์จอห์นเบาริ่ง ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่ฮ่องกงเมืองหลวงการค้าฝิ่นของอังกฤษมาเจรจาสนธิสัญญาการค้ากับสยาม เพื่อเปิดเสรีทางการค้าปรับภาษีการเดินเรือจีนและอังกฤษให้เท่ากัน ให้คนของอังกฤษมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตคือไม่ต้องขึ้นศาลไทย ยอมให้อังกฤษนำฝิ่นเข้ามาขายผ่านรัฐบาลไทยและได้กลายเป็นแหล่งรายได้สูงสุดของรัฐบาลไทย รัชกาลที่ 4 สั่งจดทะเบียนไพร่หลวง 2398 มีการออกกฎหมายลงโทษขุนนางที่แอบเอาไพร่หลวงไว้ใช้เอง มีชายฉกรรจ์ราวสี่ในห้าที่หนีการเกณฑ์แรงงาน ในราวปี 2410 บางคนหนีไปอยู่ตามหมู่บ้านห่างไกลในป่า บางคนไปขออาศัยอยู่กับเจ้านายที่ไม่ใช้งานพวกเขาหนักเกินไป บางคนติดสินบนเจ้าพนักงานเพื่อให้ได้การยกเว้น  อ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานหลวง เป็นพระ เป็นทาส พิการหรือทุพพลภาพ เป็นขอทาน สติไม่ดีหรือถูกผีเข้า ขณะที่สมาชิกคนชั้นนำที่ค้าขายหรือโยงใยกับเศรษฐกิจการตลาดก็จะส่งเสริมให้ไพร่เป็นแรงงานอิสระมากขึ้น คนเริ่มจ่ายเงินทดแทนการถูกเกณฑ์ เมื่อถึงทศวรรษที่ 2380 รัฐบาลต้องจ้างกรรมกรจีนทำงานโยธา จนกระทั่งเงินที่ได้จากการจ่ายแทนแรงงานเกณฑ์กลายมาเป็นรายได้สูงสุดของรัฐในทศวรรษต่อมา ขุนนางที่ทำการค้าได้ขอให้รัชกาลที่ 4 ยกเลิกการเกณฑ์แรงงานรอบๆเมืองหลวงแต่ไม่สำเร็จ ขณะที่ทาสน้ำเงิน หรือผู้ที่ต้องเป็นทาสเพราะติดหนี้เพิ่มสูงขึ้นโดยมีไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของประชากร เมื่อขายตัวลงเป็นทาสที่เรียกว่าทาสน้ำเงินก็ยังมีสถานะที่ดีกว่าไพร่เพราะสามารถหาเงินจำนวนหนึ่งและหลีกเลี่ยงจากการถูกเกณฑ์แรงงาน บางคนทำงานชดใช้แทนหนี้สินหรือค่าน้ำเงิน บางคนก็ไปทำงานในตลาดการค้าเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ จึงกลายเป็นวิธีการปลดปล่อยไพร่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมรอบๆเมืองหลวงให้กลายมาเป็นแรงงานเสรีสำหรับระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด มีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของผู้หญิงที่เคยเป็นสมบัติของผู้ชาย โดยรัชกาลที่ 4 ได้โปรดให้ยกเลิกสิทธิของสามีที่จะขายภรรยาหรือลูกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภรรยา ในปี 2411 แต่ก็ทรงเพิ่มสิทธิแบบโบราณให้กับหัวหน้าครอบครัวคนชั้นสูง ขณะที่ทรงกำหนดว่าผู้หญิงที่มีสถานะต่ำหรือเป็นคนชั้นกลางสามารถเลือกสามีของตนเองได้ แต่ไม่ให้สตรีสูงศักดิ์เลือกสามีเองเพราะอาจส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล และกำหนดให้ครอบครัวที่มีศักดินาสูงเกินกว่า 400 ไร่ ให้บิดามีสิทธิ์ตามกฎหมายเหนือภรรยาและบุตรสาวมากขึ้น

สยามเปิดกว้างรับสิ่งต่างๆจากตะวันตกเพิ่มขึ้นหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง แต่ในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา มีทั้งเชลยจำนวนมากที่ถูกกวาดต้อนมาจากดินแดนรอบนอกและชาวจีนที่อพยพเข้ามา ทำให้สังคมมีความหลากหลายมาก พวกชนชั้นนำจึงต้องสร้างและปลูกฝังหลักการทางความคิดเรื่องชาติให้เป็นเอกลักษณ์เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและใช้การบริหารราชการแบบรวมศูนย์อำนาจเพื่อตั้งรับการคุกคามของเจ้าอาณานิคมและสร้างระบอบการปกครองและควบคุมทดแทนระบอบเก่าที่เสื่อมประสิทธิภาพและไม่อาจสนองตอบความต้องการใหม่ๆของระบบเศรษฐกิจการตลาด ขณะที่มีชาวจีนเข้ามาอยู่ในสยามถึง
3 แสนคนแล้ว เริ่มแรกรัฐบาลพยายามควบคุมคนจีนโดยรับเอาหัวหน้าชุมชนจีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ แต่ชาวจีนอยู่กันแบบกระจัดกระจายเป็นหลายกลุ่มหลายพวก ทำให้การควบคุมแบบเก่าไม่ได้ผล มีความวุ่นวายในแถบไร่อ้อยภาคตะวันออกของกรุงเทพจนทางการต้องส่งทหารไปกำราบ เมืองระนองทางตอนใต้เกือบถูกยึดเมื่อคนงานเหมืองแร่ก่อการจลาจล รัฐบาลส่งเรือรบไปปราบ แต่ม็อบคนจีนตอบโต้โดยเผาเมืองภูเก็ตแล้วฉกชิงข้าวของ คนงานจีนที่กรุงเทพนัดหยุดงานทำให้ท่าเรือเป็นอัมพาต แก๊งคนจีนที่เป็นคู่อริก่อการต่อสู้ทำสงครามกันกลางกรุงเทพเป็นเวลา 3 วันในปี 2432 พวกชาวจีนได้ก่อตั้งสมาคมเพื่อช่วยเหลือและปกป้องกันเอง แต่รัฐบาลมองว่าเป็นสมาคมลับหรืออั้งยี่ ทั้งยังเกรงกลัวว่าพวกอั้งยี่จะลักลอบนำฝิ่นเข้ามา ทั้งต้มเหล้าเถื่อน ตั้งบ่อนการพนันแถมยังติดอาวุธอีกด้วยถึงกับมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ด้วยปืนและปืนใหญ่ ขณะที่เริ่มมีปัญหาเรื่องโจรผู้ร้าย  บางแห่งตั้งขึ้นมาปกป้องตนเองเพื่อต่อสู้กับทางราชการ ในพื้นที่ห่างไกลในภาคอีสานก็มีพวกกบฏผู้มีบุญหรือกบฏผีบุญเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและอุดมสมบูรณ์แก่ชาวสยามเชื้อสายลาว
สนธิสัญญาเบาว์ริ่งและสนธิสัญญาที่ทำกับฝรั่งชาติอื่นๆได้กระตุ้นเศรษฐกิจระบบตลาดให้ขยายตัว ให้อำนาจทางศาลแก่คนในอาณัติของฝรั่งให้ไปขึ้นศาลกงศุลของประเทศที่ตนสังกัดแทนที่จะขึ้นศาลไทย พ่อค้าจีนหลายคนทำตัวเป็นคนในอาณัติของฝรั่งหรือเป็นคู่ค้ากับคนในอาณัติของฝรั่งเพื่อที่จะหลบเลี่ยงกฎหมายและการควบคุมของรัฐบาลไทย ชาวจีนบางคนก็หันไปเข้ารีตคือเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์เพื่อเป็นข้ออ้างขอความคุ้มครองจากรัฐบาลฝรั่ง หากเจ้าหน้าที่รัฐบาลพยายามปราบปรามกิจกรรมของคนเหล่านี้ก็เกรงว่าจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งซึ่งเจ้าอาณานิคมอาจจะถือเป็นเหตุเข้ายึดครองสยามได้

พิธีตรียัมปวาย ปีใหม่พราหมณ์รับพระอิศวรเยือนโลกมนุษย์
ขณะที่รัชกาลที่ 4 ก็ยังทรงยึดโยงอยู่กับวิธีบริหารราชการแผ่นดินแบบดั้งเดิม โดยทรงได้ฟื้นฟูพิธีกรรมหลวงจำนวนมากที่ได้ร่วงโรยไปตั้งแต่เมื่อคราวเสียกรุง รวมทั้งพิธีตรียัมปวาย หรือโล้ชิงช้าประจำปี พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาหรือดื่มน้ำสาบาน ทรงสร้างหลักเมืองใหม่ สร้างพระสยามเทวาธิราชให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องบ้านเมือง ทรงแต่งตั้งตัวแทน 27 คนเดินทางไปไปอังกฤษเพื่อรวบรวมข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์การขนส่งและสถาบันการเมือง ทรงจ้างฝรั่งเป็นที่ปรึกษารัฐบาลเพื่อมุ่งนำความเจริญมาสู่สยาม ทรงพยายามรวบรวมการเก็บภาษีไว้ที่ส่วนกลาง

ช่วง บุนนาค ( 2335-2415 )
รัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์เมื่อมีอายุเพียง 15 ปีในปี 2411 โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ( ช่วง บุนนาค ) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ร่างข้อเสนอให้ออกกฎหมายเลิกทาสอย่างสิ้นเชิง หรือให้ใช้วิธีการเก็บภาษีจนทำให้ระบบทาสต้องถูกยกเลิกไปเพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาของนางแอนนาเลียวโนเวนส์ที่วิจารณ์ถึงความล้าหลังและป่าเถื่อนของชนชั้นนำไทยและเพื่อเพิ่มจำนวนคนงานให้กับระบบเศรษฐกิจการตลาด

Anna Leonowens ( 2374-2458)
แต่รัชกาลที่ 5 ทรงเสนอให้ยกเลิกเฉพาะทาสบางประเภทและทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อเอาใจพวกขุนนางหัวเก่าที่ต่อต้าน ทรงออกประกาศเมื่อเดือนสิงหาคม 2417 ให้ผู้เป็นทาสในเรือนเบี้ยหรือลูกทาสตั้งแต่ปี 2411 ซึ่งเป็นปีที่ขึ้นครองราชย์ให้เป็นไทเมื่ออายุครบ 21 ปี และห้ามผู้ที่เกิดหลังปี 2411 ขายตัวเองหรือถูกขายเป็นทาสเมื่ออายุ 21 ปี แต่ทาสประเภทอื่นยังคงมีอยู่ คือ ทาสสินไถ่คือทาสที่เกิดจากการขายตัว ขายภรรยาหรือขายบุตร ซึ่งเป็นทาสที่มีจำนวนมากที่สุด รวมทั้งทาสเชลยศึกและการขายเด็กเป็นทาส โดยที่ไม่ทรงเปลี่ยนระบบเกณฑ์แรงงาน
รัชกาลที่ 5 ทรงก่อตั้งกรมพระคลังและทรงก่อตั้งศาลใหม่เพื่อพิจารณาคดีจำนวนหนึ่งเป็นการรวมศูนย์อำนาจการเก็บภาษีและอำนาจทางการศาลเป็นการลดรายได้และอำนาจของพวกขุนนาง ทรงควบคุมการปกครองไปถึงระดับท้องถิ่น โดยการส่งข้าหลวงไปกำกับหัวเมืองที่หลวงพระบาง หนองคาย โคราช อุบลและภูเก็ต มีกองทหารประจำการ เจ้าเมืองเดิมยังมีตำแหน่งอยู่แต่ไม่มีอำนาจที่แท้จริง และเมื่อเสียชีวิตก็จะมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองใหม่จากกรุงเทพและมักเป็นสมาชิกพระราชวงศ์ ทรงแต่งตั้งกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดีมหาดไทยนำระบบรวมศูนย์อำนาจจากกรุงเทพมาปรับใช้ในมณฑลชั้นใน ให้กรุงเทพแต่งตั้งเจ้าเมืองแทนตระกูลเจ้าเมืองเดิมที่สืบทอดตำแหน่งกันมา พอถึงปี 2457 กระทรวงมหาดไทยก็แต่งตั้งข้าราชการถึง 3,000 นายไปประจำตามหัวเมืองต่างจังหวัดโดยกินเงินเดือนจากกรุงเทพแทนระบบการกินเมืองแบบเดิมมีการสร้างที่ว่าการมณฑลแทนจวนหรือบ้านของเจ้าเมืองเดิม
พวกหัวเมืองรอบนอกออกไปหลายแห่งได้ก่อการกบฏ ทั้งที่ขอนแก่น เชียงใหม่ กบฏผีบุญที่อุบล รัฐที่ภาคใต้ การกบฏที่ภาคเหนือเข้ายึดเมืองแพร่ การกบฏที่ล้านนา กบฏที่อีสานเข้ายึดเมืองเขมราฐในอุบลที่ฝั่งแม่น้ำโขง แต่บรรดากบฏเหล่านี้ใช้เพียงอาวุธพื้นเมืองและเชื่อว่าน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ของผู้มีบุญที่เป็นผู้นำหรือผีบุญจะทำให้พวกเขาอยู่ยงคงกระพัน ขณะที่รัฐบาลมีทั้งปืนใหญ่และอาวุธปืนอื่นๆ  กองทหารได้สังหารฝ่ายกบฏที่อีสาน จับผู้นำกบฏที่ล้านนาประหารชีวิต จับเจ้าเมืองปัตตานีที่เป็นชาวมลายูขังคุก ทางราชสำนักได้ชะลอการปฏิรูปลงระยะหนึ่งโดยเฉพาะที่ล้านนาเพื่อลดกระแสความกระด้างกระเดื่องไม่พอใจ

อ้างชาติเชื้อไทยไว้หลอกฝรั่ง

John Bowring เข้าเฝ้าร. 4 พ.ศ.2398
เมื่ออังกฤ
ษเข้ายึดพม่าและมลายูซึ่งมีเขตแดนติดต่อกับสยาม ก็ได้ขอให้สยามปักปันเขตแดนระหว่างกันให้ชัดเจนแทนระบบเดิมที่ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้ครองนครทั้งหลายเป็นเรื่องหลัก อังกฤษค่อยๆรุกแย่งดินแดนทางตอนใต้จากสยาม และเข้ายึดดินแดนบางส่วนจากพม่า ฝรั่งเศสก็เข้าทางตะวันออกเพื่อยึดไซ่ง่อนและผนวกเขมรเข้ามาอยู่ในความดูแล ฝรั่งเศสพยายามหาข้ออ้างทางประวัติศาสตร์เพื่อแสดงว่าเวียตนามเคยครอบครองดินแดนที่อยู่ระหว่างฮานอย-ไซ่ง่อนและกรุงเทพ ในเมื่อฝรั่งเศสยึดเวียตนามได้แล้วก็ควรมีสิทธิ์เหนือดินแดนที่เวียตนามได้เคยครอบครองมาก่อน ขณะที่พวกนักธุรกิจฝรั่งก็เริ่มเข้ามาหาผลประโยชน์ในสยาม บริษัททำไม้อังกฤษหลายแห่งเริ่มทำไม้ที่พม่าแล้วขยายเข้ามาทางล้านนาแถวเชียงใหม่ บริษัทเหมืองแร่ดีบุกพยายามขยายจากแหลมมลายูของอังกฤษเข้าสู่ดินแดนสยาม บริษัทพวกนี้ได้รับสัมปทานจากเจ้าเมืองที่เป็นประเทศราชของสยาม พวกนักเก็งกำไรฝรั่งเสนอที่กรุงเทพให้ขุดคลองคอคอดกระ รวมทั้งการขอทำเหมืองแร่หลายชนิดและสร้างทางรถไฟ ทำให้สยามเริ่มมองเห็นความจำเป็นในการมีเส้นแบ่งดินแดนที่ชัดเจนโดยจ้างนักสำรวจชื่อเจมส์แมคคาร์ทีจากอินเดีย แต่ฝรั่งเศสก็มีการทำแผนที่ของตนเองพร้อมทั้งส่งทหารเข้าประจำการบนพื้นที่ที่มีการโต้แย้งกัน ฝรั่งเศสผนวกดินแดนตะวันออกแม่น้ำโขงเป็นของตน สยามตอบโต้โดยพยายามเกณฑ์ทหารให้ได้ 180,000 นาย แต่เกณฑ์ได้จริงไม่กี่หมื่นคน มีการสู้รบกันใกล้แม่น้ำโขง ฝรั่งเศสนำเรือรบสองลำมาปิดท่าเรือกรุงเทพ จนสยามต้องยอมทำสนธิสัญญาให้ใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสยามและฝรั่งเศส โดยตัดเอารัฐลาวที่หลวงพระบาง เวียงจันทน์ เขมรตอนเหนือ และส่วนใหญ่ของสิบสองปันนาและสิบสองจุไทยทางเหนือของลาวออกจากแผนที่สยามซึ่งแมคคาร์ทีเขียนขึ้น ขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสมีข้อตกลงกันแบบลับๆว่าจะบีบสยามให้ยกดินแดนด้านตะวันออกให้ฝรั่งเศส และแหลมมลายูทางใต้ให้อังกฤษ


ภาพประตูวัดโพธิ์ อธิบายลักษณะของชาวสยาม
การที่ฝรั่งเริ่มเข้ามาทำสนธิสัญญาหลายฉบับทำให้มีการพูดถึงเรื่องของชนชาติ มีการเรียกชาวต่างชาติทั้งหมดที่อยู่ในสยามว่าพวกสิบสองภาษาหรือ สี่สิบภาษา ที่บานประตูวัดโพธิ์สมัยรัชกาลที่ 3 มีภาพเขียนแสดงลักษณะคนแต่ละชาติ 27 ภาพ โดยบรรยายลักษณะของคนไทยว่าหมายถึงพวกขุนนางที่มีอำนาจเหนือผู้อื่น โดยมีกษัตริย์ที่เรียกตนเองว่าเจ้ากรุงสยามและสยามินทร์ สำหรับเมืองที่ไกลออกไปก็เรียกชื่อตามลักษณะเชื้อชาติ เช่น ลาวอีสาน ลาวพายัพ (ลาวตะวันตกเฉียงเหนือ) เขมร มลายู หรือแขกเป็นการตอกย้ำว่าจักรวรรดิสยามมีอิทธิพลเหนือผู้คนเชื้อชาติอื่นๆ รัชกาลที่ 5 ก็ได้แนะนำพระองค์เองเมื่อคราวเสด็จประพาสอินเดียในปี 2415 ว่าเป็นกษัตริย์สยามผู้ทรงพระราชอำนาจเหนือลาวและมลายู


ระบอบนายกับบ่าวสมัยรัชกาลที่ 4
ฝรั่งเศสได้ใช้ข้ออ้างทางเชื้อชาติว่าคนลาวเป็นอีกชนชาติหนึ่งที่ไม่ใช่ชาวสยามที่มีหลายชนชาติผสมปนเปกับชาวจีน คนสยามหรือคนไทยแท้ๆจึงเป็นแค่คนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มผู้ปกครองที่มีจำนวนน้อยนิดที่ครอบงำคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ใช่คนไทย ฝรั่งเศสได้ขยายขอบเขตให้ชาวอินโดจีนที่อยู่ในสยามมีสถานภาพเป็นคนในบังคับของฝรั่งเศสที่เป็นอิสระจากสยามโดยขยายรวมไปถึงลูกหลานของชาวลาวและเขมรทุกคน แม้แต่คนจีนที่ต้องการอยู่ในบังคับของฝรั่งเศสเพื่อความสะดวกในการทำการค้า ชาวสยามจำนวนมากยอมอยู่ใต้บังคับของฝรั่งเศสเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์แรงงาน ส่วนนักธุรกิจฝรั่งเศสก็วางแผนจะอาศัยคนในบังคับของตนมาช่วยทำกิจกรรมของตน
ราชสำนักสยามจึงต้องหันมาใช้วาทกรรมเรื่องเชื้อชาติโดยอ้างว่าเชื้อชาติหมายถึงคนที่พูดภาษาเดียวกันโดยตีความว่าคนที่พูดภาษาไทยทั้งหลายทุกกลุ่มทุกสำเนียงล้วนเป็นคนไทยทั้งสิ้น อีกด้านหนึ่งก็ให้คำจำกัดความว่าคนที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเดียวกันเป็นพสกนิกรและข้าราชบริพารของพระมหากษัตริย์องค์เดียวกันถือว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน
รัฐบาลได้ตั้งมณฑลใหม่หลังจากปี 2442 โดยไม่ใช้ชื่อเดิมที่เป็นการแบ่งแยกเชื้อชาติเป็นลาว เขมร มลายู หรือแขก แต่ตั้งชื่อเป็นภาษาบาลี-สันสกฤติ โดยบางชื่อมีความหมายเป็นชื่อทิศที่มีกรุงเทพเป็นจุดศูนย์กลาง เช่น  อุดร พายัพ บูรพา
สนธิสัญญาระหว่างประเทศในฉบับภาษาไทยนับตั้งแต่ปี 2445 ก็ใช้คำว่าประเทศไทยแทนคำว่าสยามโดยเรียกประชาชนที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยว่ามีสัญชาติไทย ให้ประเทศและชนชาติเป็นสิ่งเดียวกันเพื่อยืนยันให้ฝรั่งยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในอาณัติฝรั่ง แต่รัฐบาลไทยต้องยอมยกดินแดนจำนวนมากเป็นการชดเชยให้ฝรั่ง โดยยกดินแดนในมณฑลเขมร คือ เสียมเรียบ พระตะบองและศรีโสภณให้ฝรั่งเศสในปี 2450  ยกรัฐมลายู คือ ไทรบุรี (เคดาห์กลันตัน ตรังกานูและปะลิสให้อังกฤษในปี 2452 รัฐบาลไทยพยายามเสนอความเป็นไทยที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันต่อพวกฝรั่ง แต่ยังให้คงความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติภายในระหว่างกันเอง รัฐหรือประเทศไทยแบบใหม่ได้รวมเอาประชาชนที่มาจากหลากหลายภูมิหลังและความคิดให้มาอยู่ในกรอบวินัยเดียวกัน ใช้กองทัพประจำการที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่เพื่อควบคุมให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ มีการจัดตั้งตำรวจขึ้นใหม่เมื่อรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกบ่อนการพนัน โดยเริ่มแรกเพื่อใช้ตำรวจควบคุมอั้งยี่ รัชกาลที่ 5 ได้มอบหมายให้พระโอรสคือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์รพีพัฒณศักดิ์ที่จบจากออกซ์ฟอร์ดให้สร้างระบบตุลาการโดยให้ใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรเพราะเชื่อว่าจะเป็นที่พอใจของพวกฝรั่งมากกว่าระบบประเพณีของอังกฤษ จึงให้มีร่างประมวลกฎหมายอาญาเมื่อปี 2451 โดยรัชกาลที่ 5 ทรงนำเอาระบบตุลาการมารวมกันกับระบบราชการเพื่อต้องการควบคุมประชาชนให้เข้มข้นขึ้นตามแบบอย่างประเทศอาณานิคม ดังนั้นรัฐชาติหรือประเทศไทยจึงได้มีเครื่องมือที่พร้อมเพรียงเพื่อควบคุมพลเมืองพร้อมทั้งได้เตรียมหล่อหลอมประชาชนให้เป็นพลเมืองที่ดีของชาติในอุดมคติระยะยาว  โดยใช้ศาสนาพุทธมาเป็นเครื่องมือใช้สอนเพื่อสร้างวินัยแก่สังคม ทั้งรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งสมาชิกพระราชวงศ์ให้มาเป็นพระสังฆราชอย่างต่อเนื่องควบคุมมหาเถรสมาคมและการฝึกอบรมพระสงฆ์ ให้มีระเบียบปฏิบัติและมีวินัยเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยได้ออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2445 จัดลำดับการปกครองคณะสงฆ์ตั้งแต่ระดับบนสุดคือกษัตริย์และพระสังฆราชลงมา ให้พระสงฆ์ต้องเรียนจากหลักสูตรมาตรฐาน มีการจัดสอบระดับคุณวุฒิจากส่วนกลาง กำหนดการเทศนาสั่งสอนจากตำราซึ่งทางการอนุมัติแล้ว วัดใหม่ต้องสร้างตามแบบที่กำหนดเป็นมาตรฐาน กรมวชิรญาณทรงชักชวนพระสงฆ์ที่ล้านนาให้ยกเลิกประเพณีเดิมและทรงรวบรวมพระสงฆ์ที่มีชื่อจากอีสานและภาคใต้ให้เข้ามาอยู่ในธรรมยุต มีการจัดทำตำรามาตรฐานเพื่อใช้ในโรงเรียนตามพรบ.การศึกษาที่บังคับให้เด็กทุกคนต้องเรียนจบชั้นประถมศึกษาในปี 2464



มรว.เปีย มาลากุล 2410-2459
 บิดาของมล.ปื่น มาลากุล
เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (มรว. เปีย มาลากุล) ผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลขุนนางและเคยบวชในนิกายธรรมยุตและเคยเป็นเลขานุการของกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เขียนหนังสือสมบัติผู้ดีเพื่อเป็นหลักปฏิบัติของข้าราชการในอุดมคติและเป็นหลักการประพฤติตนให้กับนักเรียนและพลเมืองทั่วไป พร้อมกันนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของสถาบันกษัตริย์สู่ความทันสมัยอลังการ เริ่มด้วยการเปลี่ยนพระคลังข้างที่เป็นกรมพระคลังข้างที่ให้มีหน้าที่ลงทุนพระราชทรัพย์ของสถาบันกษัตริย์ในธุรกิจต่างๆโดยได้เงินงบประมาณ 5 - 20% ของรายได้รัฐขณะนั้น มีการลงทุนในโรงสีข้าว สร้างห้องแถวบนถนนตัดใหม่ของกรุงเทพฯ และสร้างตลาดในย่านการค้าต่างจังหวัด จนกลายเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่สุดของประเทศและยังร่วมทุนกับต่างชาติเพื่อก่อตั้งวิสาหกิจในกิจการรถไฟ ไฟฟ้า ธนาคาร ปูนซิเมนต์ เหมืองถ่านหินและกิจการเรือกลไฟ
รัชกาลที่ 5 ทรงก่อตั้งอภิรัฐมนตรี ประกอบด้วยเสนาบดี 12 คน โดยแต่งตั้งพระเชษฐาหรือพระอนุชาเป็นเสนาบดีถึง 9 ตำแหน่ง พร้อมทั้งส่งพระราชโอรสองค์โต 4 พระองค์ไปศึกษาที่ต่างประเทศและได้แต่งตั้งให้มีตำแหน่งระดับสูงหลังจบการศึกษา
ชนชั้นนำของไทยหันมานิยมชมชอบตะวันตก ขณะที่พยายามสร้างมรดกทางวัฒนธรรมของตนเองให้โดดเด่นโดยพยายามฟื้นฟูรักษาวัฒนธรรมราชสำนักสยามสมัยอยุธยาเอาไว้ทั้งการแสดงโขนรามเกียรติ์รวมทั้งการตั้งชื่อสถานที่ต่างๆเสียใหม่โดยใช้คำสันสกฤติหรือบาลีเพราะฟังดูแล้วไพเราะและมีระดับมากกว่าคำไทยหรือคำลาวของคนธรรมดาสามัญ
รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างชาติประเทศที่ต้องมีประวัติศาสตร์สืบย้อนหลังไปเป็นพันปีเหมือนนานาอารยประเทศจึงทรงจัดตั้งสมาคมโบราณคดีในปี 2450 เพื่อจัดรวบรวมประวัติศาสตร์ชาติสยาม ในปีต่อมารัชกาลที่ 6 ได้เสด็จประพาสสุโขทัยและทรงนำเนื้อหาในศิลาจารึกโดยทรงร่วมกับกรมพระยาดำรงราชานุภาพสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยให้คนไทยได้ภูมิใจว่าชาติไทยมีประวัติศาสตร์สืบต่อมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัยต่อเนื่องมาจนถึงอยุธยา ธนบุรีและรัตนโกสินทร์ กรมพระยาดำรงทรงนิพนธ์งานเขียนทางประวัติศาสตร์กว่า 50 เล่ม โดยเฉพาะเรื่องไทยรบพม่าที่กลายเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่ทำให้คนไทยได้เห็นว่าพม่าคือศัตรูของไทยตลอดกาล ให้กษัตริย์ไทยเป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์โดยเฉพาะพระนเรศวรและรัชกาลที่ 1 ที่เป็นวีรบุรุษผู้ปกป้องอิสรภาพของชาติอย่างกล้าหาญ โดยบรรยายถึงการเสียกรุงทั้งสองครั้งอย่างยืดยาวในปี 2112 และ 2310 ว่าเป็นความหายนะครั้งใหญ่ของชาติไทยที่เกิดจากการขาดความสามัคคีของคนในชาติโดยยกเอาสามัญชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยคือบ้านบางระจันที่ต่อสู้กับพม่าอย่างอาจหาญในปี 2310 กรมพระยาดำรงได้ให้คำจำกัดความของความเป็นไทยว่าหมายถึงความรักในอิสระ ความรักสงบและความฉลาดในการประสานประโยชน์หล่อหลอมขึ้นเป็นชนชาติไทยที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และใช้ภาษาไทย


กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2405-2486
ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 กรมพระยาดำรงฯทรงนิยามลักษณะของพระมหากษัตริย์ให้เป็นผู้นำความเจริญมาสู่สยาม กรมพระยาดำรงได้ทรงเรียบเรียงปรับแต่งพงศาวดารของรัตนโกสินทร์สมัยต้นๆอย่างพิถีพิถัน ทรงอธิบายว่ากษัตริย์ราชวงศ์จักรีจำเป็นต้องครอบงำรัฐบาลเพราะแต่ละพระองค์ล้วนได้รับการศึกษาด้านการปกครองและได้ทรงทำงานอุทิศพระองค์เพื่อราษฎรทำให้ได้รับความนิยมนับถืออย่างกว้างขวางจึงสามารถสืบต่อสถานภาพดังกล่าวสู่ผู้สืบราชสมบัติ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยึดการปกครองตามรัฐธรรมนูญซึ่งจะเท่ากับเป็นการถอยหลัง เพราะถ้าไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน บ้านเมืองก็จะเกิดจลาจลอย่างแน่นอน  การสร้างชาติไทยจึงไม่ใช่การรวมตัวของประชาชนหลากหลายประเภทและเผ่าพันธุ์ แต่เป็นเรื่องของความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวอันศักดิ์สิทธิ์ภายใต้สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


ขุนวิจิตรมาตรา 2440-2523
ในปี 2471 ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) พิมพ์หนังสือหลักไทยจากข้อมูลการศึกษาของชาวฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนอ้างว่าคนเชื้อสายไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไตอันเป็นถิ่นกำเนิดของพวกเชื้อสายมองโกลและได้แสดงแผนที่ของดินแดนที่สูญเสียไปจากการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสที่อินโดจีนซึ่งรวมทั้งเขมรและลาวเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่ของชนชาติไทย ต่อมาพลตรีหลวงวิจิตรวาทการได้ดัดแปลงไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์สากลในปี 2472 เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยให้มีที่มาที่ยาวนานในประวัติศาสตร์โลกเคียงบ่าเคียงไหล่ประเทศอื่นๆ 

Dr. Sun Yat Sen 2409-2468
ดร.ซันยัดเซ็นผู้นำจีนเยือนกรุงเทพฯในปี 2451 เพื่อเรี่ยไรเงินเอาไปรณรงค์ล้มจักรพรรดิจีนและก่อตั้งธารณรัฐจีน คนจีนในเมืองไทยสนับสนุนเขาเต็มที่ พรรคก๊กมินตั๋งของซุนยัดเซ็นอุดหนุนหนังสือพิมพ์จีนที่กรุงเทพฯให้สนับสนุนความคิดชาตินิยมและการปฏิวัติ รัฐบาลไทยเป็นกังวลที่ชุมชนจีนในไทยเข้าพัวพันกับการเมืองจีนและกลัวว่าแนวคิดระบอบสาธารณรัฐและการปฏิวัติจะชักนำให้คนไทยอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในสยามด้วย แม้แต่นายปรีดี พนมยงค์ก็ได้แรงบันดาลใจจากการโฆษณาของก๊กมินตั๋งที่ตลาดอยุธยา จากนั้นก็เกิดกบฏร.. 130 โดยกลุ่มทหารที่มีแผนการล้มล้างกษัตริย์ 4 เดือนหลังจากที่ซุนยัดเซ็นโค่นล้มราชวงศ์แมนจูในปี 2454
ราชสำนักเริ่มหวั่นวิตกจากการขยายตัวของชาวจีนกลุ่มใหม่ที่เข้าครอบงำการลุงทุนและเป็นส่วนใหญ่ของคนงานในเมือง คนจีนนัดหยุดงานครั้งใหญ่ทำให้กรุงเทพเป็นอัมพาตถึง 3 วันในเดือนมิถุนายน 2453 มีชาวจีนอพยพเข้ามาอีกระลอกใหญ่ในทศวรรษที่ 2460 และ 2470 อีกราว 500,000 คน รัชกาลที่ 6 ทรงเอาอย่างชนชั้นอภิสิทธิ์ชนในยุโรปซึ่งปราบชาวยิวและดูถูกคนจีน ทรงกล่าวหาว่าชาวจีนปฏิเสธที่จะปรับตัวรับวัฒนธรรมสยาม ขาดความจงรักภักดี อยากมีอภิสิทธิ์ บูชาเงินเป็นพระเจ้าและเป็นกาฝากทางเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลสยามผ่อนปรนต่อพวกเจ้าสัวขุนนางหรือพ่อค้าใหญ่ แต่ลูกจ้างชาวจีนที่นัดหยุดงานจะถูกจำคุกหรือเนรเทศ พรรคก๊กมินตั๋งมีกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำสนับสนุนโดยมีหอการค้าจีนอยู่หน้าฉาก มีสมาชิกก๊กมินตั๋งในสยามถึง 20,000 คน  เมื่อเจียงไคเช็กประกาศกำจัดฝ่ายคอมมิวนิสต์ออกไปจากก๊กมินตั๋งที่เซี่ยงไฮ้ในปี 2470 ได้มีนักเคลื่อนไหวหลายคนหนีมาอยู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งสยาม รัชกาลที่ 6 ทรงระบุชาวจีนเป็น 1 ใน 7 ปัญหาของสยามที่หลั่งไหลอพยพเข้ามาจำนวนมากมายโดยตั้งใจคงความเป็นจีนเอาไว้และยังได้นำความคิดใหม่ที่เป็นอันตรายเข้ามาเผยแพร่และยังมาแย่งการทำมาหากินของคนไทย



จอมพล ป.ต้อนรับน.ศ.จุฬาเรียกร้อง
ดินแดนคืนจากฝรั่งเศส 8ตค.2483
มาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 2472 และได้มีการวิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างรุนแรง จนนำไปสู่การปฏวัติของคณะราษฎรในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จอมพล ป.เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องการปลุกกระแสความเป็นไทย เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2481 ต่อมาได้ตั้งตนเองเป็นจอมพลในปี 2484 และเป็นท่านผู้นำในปี 2485 โดยมีหลวงวิจิตรวาทการรับหน้าที่ปลูกฝังความเชื่อว่าความเป็นไทยคือความเป็นอิสระเสรี เขียนบทละครเชิดชูพระนเรศวรและพระเจ้าตากสินรวมทั้งสามัญชนและผู้หญิง ทั้งเรื่องเลือดสุพรรณ ท้าวเทพกษัตรีย์และท้าวศรีสุนทรในศึกถลาง 

ศ.ศิลป์ พีระศรี 2435-2505
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ( Corrado Feroci ) ประติมากรชาวอิตาเลียนได้สร้างสรรค์ปั้นรูปอนุสาวรีย์เชิดชูสามัญชนทั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ท้าวสุนารีและชาวบ้านบางระจัน พร้อมทั้งบทละคร เพลง ภาพยนต์และวิทยุเพื่อปลูกฝังความรักชาติไทย กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศจีนในเดือนกรกฎาคม 2481 เกิดการจัดตั้งองค์กรและหนังสือพิมพ์ต่อต้านญี่ปุ่นในสยาม ชาวจีนร่วมกันขายพันธบัตรสงครามส่งข้าวและสิ่งของไปช่วยก๊กมินตั๋งรบกับญี่ปุ่น เกิดการคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่น  แต่รัฐบาลจอมพล ป. ไปผูกมิตรกับญี่ปุ่นจึงต้องพยายามจำกัดบทบาทของชาวจีน โดยเพิ่มค่าธรรมเนียมคนจีนอพยพเข้าไทยเป็นสองเท่า ปิดธนาคาร 2 แห่งที่ส่งเงินกลับไปประเทศจีน จับกุมอั้งยี่ ปิดหนังสือพิมพ์จีนแทบทุกฉบับ เข้มงวดกวดขันและปิดโรงเรียนจีนไปหลายแห่ง รัฐบาลหันมาสร้างเศรษฐกิจนิยมไทยเพื่อรับภาวะสงคราม ฝ่ายทหารในคณะราษฎรวางแผนจะทวงคืนดินแดนที่เสียไปกับตะวันตก กระทรวงกลาโหมพิมพ์ชุดแผนที่แสดงเรื่องราวการอพยพของชาวไตหรือไท หลวงวิจิตรวาทการเริ่มรณรงค์เรียกร้องดินแดนที่เสียไปโดยเฉพาะในเขมรและลาว รายการวิทยุของทหารพูดถึงการสร้างมหาอาณาจักรไทยเลียนแบบฮิตเลอร์เพื่อสร้างตนให้เป็นมหาอำนาจในภูมิภาค กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติ รัฐบาลได้ออกแบบแผนให้ประชาชนพึงยึดถือปฏิบัติเรียกว่ารัฐนิยมมี 12 ประการเพื่อสร้างชาติและวัฒนธรรมขึ้นใหม่ในปี 2482 และเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทยเพื่อให้ถูกต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของชาวไทย มีการสวนสนามและการแสดงทางวัฒนธรรม รัฐบาลผ่านพ.ร.บ.สงฆ์ในปี 2485 ลดบทบาทธรรมยุตินิกาย ลดอำนาจของพระสังฆราชที่กษัตริย์แต่งตั้งและเพิ่มอำนาจของสภาสงฆ์ ให้คนไทยต้องแสดงความเคารพต่อสัญลักษณ์ของชาติ เช่น ธงชาติ และเพลงชาติ ทักทายกันด้วยคำว่า สวัสดี มีการก่อตั้งสภาวัฒนธรรมเพื่อให้นิยามและเผยแพร่ขยายวัฒนธรรมไทย ให้ชาติไทยเป็นหนึ่งเดียว ลบคำว่าลาว เงี้ยวและคำบรรยายอื่นๆเกี่ยวกับเชื้อชาติที่ไม่ใช่ไทย คนไทย จัดการโฆษณาเรื่องความมั่นคงของชาติผ่านรายการวิทยุ เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่ฮิตเลอร์ และญี่ปุ่นบุกเข้าอินโดจีน จอมพล ป. ได้ฉวยโอกาสส่งทหารข้ามชายแดนไปยึดครองบางส่วนของเขมรที่ฝรั่งเศสครอบครองอยู่ จอมพล ป. ประกาศชัยชนะเหนือฝรั่งเศสและจัดพิธีสวนสนามเฉลิมฉลองการก่อสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิโดยศิลป์ พีระศรี

สฤษดิ์ใช้ ม.17 จับครอง จันดาวงศ์(บน)
และทองพันธุ์ สุทธิมาศ(ล่าง)
ฝ่ายนิยมระบอบกษัตริย์ได้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในสมัยจอมพลสฤษดิ์ที่รุ่งเรืองขึ้นมาจากการอุปถัมภ์ของสหรัฐ เป็นพวกนิยมระบอบเผด็จการทหารเบ็ดเสร็จที่ปฏิเสธระบอบรัฐสภาและสยบฝ่ายค้านอย่างราบคาบด้วยข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ มีโครงการให้ประชาชนยอมรับความเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นไทยทั้งด้านภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมอย่างแข็งขันด้วยการบังคับให้ประชาชนต้องมีการปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันโดยเฉพาะภาคอีสานที่ประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาลาว ที่อิสานใต้ก็พูดเขมร


หะยีสุหลง ประธานก.ก.อิสลามปัตตานี
หายสาบสูญ 13 สค.2498
ส่วนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็นับถือศาสนาอิสลามและพูดภาษามลายู แต่รัฐบาลตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พยายามให้คนใต้เหล่านี้พูดภาษาไทย แต่งตัวแบบไทย บังคับให้ปิดโรงเรียนปอเนาะและเลิกใช้ศาลอิสลาม ทำให้เกิดการต่อต้านจากผู้นำศาสนาอิสลาม โดยมีประชาชนลุกขึ้นสู้ที่ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส มีผู้เสียชีวิตราม 600 คน ที่ภาคเหนือบริเวณภูเขาสูงมีชาวเขาประมาณ 250,000 คน ก็ถูกฝ่ายรัฐบาลปราบปรามโดยทิ้งระเบิดนาปาล์มเหนือหมู่บ้านชาวเขา
รัฐบาลทหารต้องการสร้างชาติไทยที่เป็นหนึ่งเดียว โดยทุกคนต้องพูดภาษาไทยกลาง จงรักภักดี นับถือศาสนาพุทธ ร่วมกันมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจ นายพลไทยและสหรัฐร่วมกันฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์เพื่อให้เป็นศูนย์รวมความสามัคคี และส่งเสริมบทบาทในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนจังหวัดต่างๆทั่วทุกภาคของประเทศ ฟื้นฟูพระราชพิธีทอดผ้าพระกฐิน สหรัฐอุดหนุนโครงการผลิตพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อแจกจ่ายแก่พสกนิกรทั่วประเทศ แก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
2484 ของจอมพล ป.ที่จำกัดบทบาทของกษัตริย์ในสถาบันสงฆ์หวนกลับไปสู่ระบบการจัดองค์กรสงฆ์สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2445 ยกสถานะของนิกายธรรมยุติขึ้นควบคุมมหาเถระสมาคม


มล.ปิ่น มาลากุล ( 2446-2538 )
แต่งตั้งม.ล. ปิ่น มาลากุลเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ มีการชำระแบบเรียนให้เน้นกษัตริย์เป็นศูนย์รวมของชาติและเป็นผู้บริหารจัดการเผยแพร่ภาพยนต์พระราชกรณียกิจการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนพสกนิกรผ่านสื่อโทรทัศน์สร้างภาพของกษัตริย์ที่ทรงงานเหนื่อยยากเพื่อราษฎร ขณะที่กษัตริย์ก็เปิดโครงการรับเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยพร้อมทั้งการฟื้นฟูการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สร้างความสัมพันธ์ทั้งกับข้าราชการและนักธุรกิจที่กำลังรุ่งเรืองและสร้างบุญคุณแก่ประชาชน รวมไปถึงการพระราชทานน้ำสังข์สมรสและการพระราชทานเพลิงศพ
ขณะที่จีนก็กลับมาผงาดเป็นเจ้าทางเศรษฐกิจในต้นทศวรรษที่
2530 เศรษฐกิจของไทยไม่ได้พึ่งการเกษตรเป็นหลักอีกต่อไป เศรษฐกิจที่เฟื่องฟูโดยเฉพาะที่กรุงเทพทำให้นักธุรกิจในเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนทายาทรุ่นที่ 3 เป็นอย่างน้อย ได้มีบทบาทนำทั้งในแวดวงธุรกิจ ข้าราชการและนักวิชาชีพ นักธุรกิจเชื้อสายจีนพวกนี้ได้กลายมาเป็นพลเมืองของชาติไทยโดยสมบูรณ์และได้หล่อหลอมให้มีวัฒนธรรมแบบใหม่ผสมผสานระหว่างไทยกับจีน
จะว่าไปแล้วคำว่าชาติเชื้อไทย ก็คงเป็นเพียงวาทกรรมหรือการโฆษณาชวนเชื่อของชนชั้นที่คุมอำนาจของรัฐไทยเพื่อไว้หลอกลวงให้ประชาชนในประเทศให้ยอมสยบอยู่ภายใต้อำนาจของพวกตนตลอดไปเท่านั้นเอง
..........





ไม่มีความคิดเห็น: